“ไปอัมพวาแล้วอย่าลืมแวะบางนกแขวกด้วยนะ” เพื่อนคริสตังคนหนึ่งของเราทัก 

“มีอะไรบางนกแขวก” (ถ้าอ่านแบบสำเนียงบางช้าง จะออกเสียงเป็น นกแฝก) 

“ก็มีอาสนวิหารแม่พระบังเกิดไง”

เรานั่งทบทวนไปมา ตั้งแต่อัมพวาค่อยๆ ขยายตัวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ พื้นที่โดยรอบก็เริ่มพัฒนาและยึดโยงตัวเองเข้ากับการท่องเที่ยวกระแสหลัก จากอัมพวาไปแค่ 8 กิโลเมตร ในอำเภอบางคนที มีโบสถ์คริสต์ที่สวยสุดๆ แห่งหนึ่งที่ใครต่อใครต้องแวะมาถ่ายภาพ นั่นคือ ‘อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก อาสนวิหารประจำสังฆมณฑลราชบุรี’ (สมัยก่อนโบสถ์อยู่ในเขตจังหวัดราชบุรีที่พื้นที่ติดกับจังหวัดสมุทรสงคราม) แต่เมื่อเราลองค้นๆ ดูแล้ว ข้อมูลศาสนสถานแห่งนี้ในอินเทอร์เน็ตค่อนข้างน้อย ทำให้หลายๆ คนแม้จะอยากเรียนรู้เรื่องราวของโบสถ์คริสต์ แต่ก็ทำได้แค่ถ่ายภาพข้างหน้าข้างในเท่านั้น 

แกะรอยสถาปัตยกรรมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
ด้านหน้าโบสถ์ ประติมากรรมตรงกลางคือรูปนักบุญอันนา มารดาของพระนางมารีย์กำลังโอบแม่พระในวัยเด็ก ส่วนนักบุญที่อยู่ด้านบนสุด 2 คือ นักบุญเปโตรและเปาโล ผู้เป็นเสาหลักของพระศาสนจักร 
แกะรอยสถาปัตยกรรมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
ภาพด้านหน้าของโบสถ์มีอักษรจีนแปลว่า บ้านของพระเจ้า หรือโบสถ์ เนื่องจากชุมชนคาทอลิกแห่งนี้มีเชื้อสายจีนเป็นส่วนใหญ่ 
แกะรอยสถาปัตยกรรมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
รูปนักบุญอันนา ผู้เป็นมารดาของพระนางมารีย์ กำลังสอนให้บุตรสาวอ่านพระคัมภีร์ 

ทำเลแสนคลาสสิก

บรรดาบาทหลวงฝรั่งเศสสมัยโบราณมีแนวคิดก้าวหน้า มักหาที่ดินตั้งโบสถ์ในพื้นที่ที่ต่อไปความเจริญจะตามมา ดังนั้น ที่ตั้งของอาสนวิหารแห่งนี้อยู่ที่ปากคลองดำเนินสะดวก อันขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พอดี คลองดำเนินฯ นั้นขุดคู่กับคลองภาษีเจริญเป็นสร้อยนามคล้องจองกัน เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำแม่กลอง-แม่น้ำท่าจีน เข้าด้วยกัน และเมื่อทางราชการขุดเสร็จแล้วก็อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าจับจองพื้นที่ทำนาทำสวน ดังนั้นถ้าใครนึกครึ้มขับรถเข้าไปตามแนวคลอง จะพบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นชุมชนชาวสวน และที่สำคัญเป็นชุมชนชาวจีน ดังปรากฏศาลเจ้าประจำชุมชนริมคลองมากมาย 

ขณะที่ชุมชนชาวไทยจะตั้งมั่นอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นสายน้ำโบราณ ชาวจีนที่มาทีหลังเมื่อต้องการที่ดินทำกินจึงจับจองพื้นที่บริเวณคลองขุดใหม่แทน แน่นอนว่า คริสต์ชนในชุมชนบางนกแขวกส่วนมากก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีนทั้งนั้น การตั้งโบสถ์บริเวณปากคลองติดริมแม่น้ำแม่กลอง จึงแสดงถึงวิสัยทัศน์ที่เล็งเห็นว่าต่อไปพื้นที่บริเวณนี้จะถูกพัฒนานั่นเอง 

ชุมชนคาทอลิกในเรือกสวนแห่งนี้จึงค่อยๆ ก่อกำเนิดขึ้นพร้อมกับลำคลองแห่งใหม่ โดยมี คุณพ่อเปาโล ซัลมอน ได้รวบรวมชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในสวนลึกให้มาตั้งชุมชนริมแม่น้ำแม่กลอง (ดังนั้นหากลองสังเกตดู จะพบว่าในเรือกสวนแถบอัมพวา-บางช้าง ยังมีโบสถ์คาทอลิกเล็กๆ แฝงตัวอยู่ในร่มสวนมะพร้าว) และลงมือก่อร่างสร้างโบสถ์ใหม่ในสไตล์ฟื้นฟูโกธิก (Gothic Revival) ขึ้นใน พ.ศ. 2433 (ช่วงรัชกาลที่ 5) 

โบสถ์หลังนี้ใช้เวลากว่า 6 ปีจึงสร้างสำเร็จ หลังจากผ่านอุปสรรคมากมาย ทั้งดินที่เป็นเลนอ่อนริมแม่น้ำทำให้ผนังของโบสถ์ทรุดตัวลง หรือการขาดแคลนทุนทรัพย์ ความห่างไกลจากเมืองหลวงทำให้ขนส่งวัสดุก่อสร้างได้ยากลำบาก แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็กลายเป็นแลนด์มาร์กขนาดใหญ่ริมแม่น้ำแม่กลอง และในเวลาต่อมาเมื่อโบสถ์พระหฤทัย ในอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนักเริ่มก่อสร้าง ก็ได้ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูโกธิกในรูปแบบที่สอดคล้องกับโบสถ์แห่งนี้ด้วย 

แกะรอยสถาปัตยกรรมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
อนุสาวรีย์คุณพ่อเป่า หรือเปาโล ซัลมอน ภายในบริเวณโบสถ์ ผู้สร้างอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก 

ตำนานแม่พระบังเกิด ต้นกำเนิดนามอาสนวิหาร 

บางคนอาจจะสงสัยว่านามของโบสถ์คือ ‘แม่พระบังเกิด’ คืออะไร มีในพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยหรือ เพราะที่เราทราบกัน พระธรรมใหม่นั้นเริ่มต้นตั้งแต่พระเยซูคริสต์ประสูติ แน่นอนว่าเรื่องราวการบังเกิดของแม่พระไม่ได้ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล แต่ชาวคาทอลิก (รวมทั้งชาวออร์โธดอกซ์) ถือว่าเรื่องราวนี้เป็นธรรมประเพณี (Tradition) ที่สืบทอดกันมายาวนาน และมีระบุลงไปในปฏิทินพิธีกรรมว่ามีวันฉลองการบังเกิดของแม่พระด้วย (ตรงกับวันที่ 8 กันยายนของทุกปี) 

จากหลักฐานทางเอกสาร เราพบว่าเรื่องราวของแม่พระบังเกิดปรากฏในคัมภีร์นอกสารบบ ชื่อ Protoevangelium of James ซึ่งถือเป็นหนังสืออ่านเสริมศรัทธาที่แต่งตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ทีเดียว โดยเรื่องราวการประสูติของแม่พระมีเนื้อความว่า 

 บิดามารดาของพระนางมารีย์คือนักบุญอันนากับนักบุญโจอาคิม เป็นผู้มีคุณธรรมและศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านทั้งสองแต่งงานกันมานานจนชรามากแล้ว อันนาก็ไม่มีบุตรเสียที ในสมัยนั้น ตามธรรมเนียมยิวถือกันว่า ผู้ที่ไม่มีบุตรนั้น เป็นผู้ที่พระเป็นเจ้าทรงละทิ้งไม่โปรดปราน แม้ว่าทั้งสองจะร่ำรวยด้วยฝูงสัตว์และบ่าวไพร่จำนวนมากก็ตาม 

วันหนึ่ง โจอาคิมเข้าไปถวายเครื่องบูชาต่อพระเป็นเจ้าในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่ถูกบรรดานักบวชห้ามมิให้ถวายเครื่องบูชา เพราะถือว่าการที่ท่านไม่มีบุตร จึงทำให้มีมลทินหรือพระเจ้าทรงสาปแช่ง โจอาคิมเสียใจมาก จึงมิได้กลับบ้าน แต่กลับไปเฝ้าฝูงสัตว์ในทุ่งหญ้า ฝ่ายอันนาไม่เห็นสามีกลับมาก็เฝ้าคอยอยู่ ขณะที่นางกำลังรอคอยนั้น ก็ถูกคนรับใช้หญิงเย้ยหยันทับถมในเรื่องที่ไม่มีทายาทอีกด้วย นางจึงก้มหน้าลงร้องไห้ และเมื่อเห็นรังนกบนกิ่งต้นรอเรลก็ยิ่งเสียใจหนัก เพราะคิดว่าพระเป็นเจ้ายังอนุญาตให้นกกระจอกตัวเล็กๆ มีลูกหลานได้ เหตุใดจึงทอดทิ้งนางเสีย 

ทันใดนั้น ทูตสวรรค์องค์หนึ่งก็ปรากฏต่อหน้านางกล่าวว่า “อันนา อย่ากลัวเลย ท่านจะให้กำเนิดบุตรีผู้หนึ่งที่จะเป็นมารดาของพระผู้ไถ่ ดูเถิด สามีของเธอก็ได้รับแจ้งข่าวอันน่ายินดีนี้เช่นกัน เขากำลังกลับมาบ้าน จงลุกขึ้นไปพบเขาที่ประตูเมืองเถิด” 

อันนาได้ยินเช่นนั้นก็ยินดี เธอรีบวิ่งออกจากบ้านไปยัง ‘ประตูทอง’ อันเป็นประตูเมืองของเยรูซาเล็ม เธอได้พบสามีที่นั่นและสวมกอดกันด้วยความยินดี และปีถัดมาเธอก็ให้กำเนิดพระนางมารีย์ ซึ่งเธอได้ให้สัญญากับพระเป็นเจ้าไว้ว่าจะถวายนางให้รับใช้พระเจ้าในพระวิหารจนตลอดชีวิต 

แกะรอยสถาปัตยกรรมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
ภาพไอคอนแสดงการบังเกิดของพระนางมารีย์ 
ภาพ : tomperna.org/2012/09/08/the-nativity-of-the-blessed-virgin-mary/

เรื่องราวการบังเกิดของพระนางมารีย์แสดงออกเป็นภาพกระจกสีตรงกลางของโบสถ์ ในภาพเป็นรูปนักบุญอันนากับโยอาคิมกำลังอุ้มแม่พระ มีเทวดาบินอยู่รอบๆ ถือแผ่นป้ายมีข้อความว่า “พระนางพรหมจารีคือแสงทองอรุโณทัย” เป็นการเปรียบเทียบว่าการบังเกิดของพระนางเป็นเสมือนเวลาเช้าของพันธสัญญาใหม่ หรือห้วงเวลาที่พระคริสต์กำลังจะเสด็จลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ 

แกะรอยสถาปัตยกรรมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
กระจกสีแสดงภาพนักบุญอันนามีสีหน้าทุกข์ใจ กำลังถือรังนกอยู่ แสดงเหตุการณ์ที่ท่านมองเห็นรังนกกระจอกบนต้นไม้แล้วน้อยใจว่าพระเป็นเจ้ายังอวยพรให้นกกระจอกมีลูกหลานสืบเผ่าพันธุ์ แต่ตัวนางกลับไร้ทายาท ซึ่งทันใดทูตสวรรค์ของพระเจ้าก็ปรากฏมาแจ้งว่าเธอจะตั้งครรภ์พระนางมารีย์ ผู้เป็นมารดาของพระแมสซียาห์ (กระจกสีจากวัดอัครเทวดามีคาแอล ดอนกระเบื้อง) 

ศิลปกรรมในวัดบางนกแขวก 

สองแถวคันหนึ่งบอกให้เราลง ถึงแล้ววัดบางนกแขวก เราแลเห็นยอดแหลมของอาคารแบบนีโอโกธิกโผล่ขึ้นมาท่ามกลางแมกไม้สีเขียวแบบเมืองร้อน นีโอโกธิก (Neo Gothic) ในสวนผลไม้นี่นะ เป็นทิวทัศน์ที่ออกจะแปลกตาพอสมควรทีเดียว ตัวอาคารหันลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ที่ผนังด้านหน้าตกแต่งด้วยสีฟ้าอันเป็นสีประจำของแม่พระ และสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น รูปสมอ อันหมายถึงศรัทธา เพราะสมอใช้ถ่วงเรือไว้มิให้ลอยออกไปตามกระแสน้ำ รูปดอกลิลลี่ อันเป็นดอกไม้ประจำตัวของแม่พระสื่อถึงพรหมจรรย์และความบริสุทธิ์ โดยเฉพาะลิลลี่สีขาว เพราะข้างในของดอกไม้นั้นมีเกสรสีทอง อันหมายถึงพระคริสต์ที่เคยประทับอยู่ในครรภ์ของพระมารดานั่นเอง 

หากไล่ดูเรื่อยๆ จะเห็นสัญลักษณ์รูปไตรมงกุฎเขียนว่าสมณสมัยของพระสันตะปาปาลีโอที่ 10 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มสร้างโบสถ์แห่งนี้ ที่ประตูโบสถ์ยังมีงานศิลปะแปลกตาอยู่ เป็นแผ่นโลหะดุนรูปเรื่องราวในพระคัมภีร์ ตั้งแต่พระเจ้าสร้างโลกจนวันพิพากษาครั้งสุดท้าย ติดอยู่ที่บานประตูทั้งสามด้วย 

เราก้าวเข้ามาในมุขหน้าหรือ Narthex ตรงกับหอระฆังกลาง มีสายเชือกสำหรับย่ำระฆังด้วย แต่ห้ามดึงเล่นนะ ปัจจุบันหลายๆ โบสถ์ก็ไม่ค่อยใช้ระฆังสดกันนัก มักจะเปิดเทปแทนจึงฟังแห้งๆ เพราะกี่ครั้งก็ทำนองเดียวกันไปหมด 

แกะรอยสถาปัตยกรรมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
แกะรอยสถาปัตยกรรมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
ภายในอาสนวิหาร พระรูปตรงกลางเป็นรูปแม่พระมหาชัย ด้านขวาคือรูปพระหฤทัยของพระเยซู ส่วนด้านซ้ายคือรูปนักบุญยอห์น บัปติสต์ ซึ่งในธรรมประเพณีเชื่อว่าเป็นผู้แก้ต่างแทนมนุษย์ในการพิพากษาครั้งสุดท้าย 

ด้านในโบสถ์ : เมื่อกระจกสีย้อมแสงภายในวิหาร 

ข้างในโบสถ์ตกแต่งแบบโกธิกอย่างเต็มที่ ยกเว้นชั้นเพดานหลังคาที่เป็นฝ้าไม้ มิได้ใช้ระบบ Rib Vault หรือหลังคาก่ออิฐเป็นซุ้มแหลมแบบยุคกลางแท้ เราจึงสะดุดตากับกระจกสีจำนวนมากที่เมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องลอดกระจกลงมาแล้วเกิดสีสันเปล่งประกายบนพื้นและผนัง บรรยากาศสลัวสลับกับเงาสว่างดูชวนศรัทธา 

กระจกเหล่านี้แบ่งเป็น 2 ตอน คือช่วงเหนือหน้าต่างแสดงภาพประวัติของพระนางมารีย์ พระมารดาของพระเยซูคริสต์ ตามนามของโบสถ์ โดยเริ่มตั้งแต่เหตุการณ์บังเกิดของแม่พระที่ตำแหน่งกลางโบสถ์ และถัดมาจึงเป็นฉากประสูติของพระคริสต์ และช่วงชีวิตของพระนางมารีย์ที่ติดตามลูกชายไปเทศนายังที่ต่างๆ จนกระทั่งจบที่เชิงไม้กางเขน และกระจกสองบานสุดท้ายคือเหตุการณ์การสิ้นชีพของพระนาง ก่อนจะพระเป็นเจ้าจะทรงรับพระนางขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกาย หรือที่เรียกเหตุการณ์การขึ้นสวรรค์นี้ว่า ‘อัสสัมชัญ’ นับว่าเป็นกระจกสีภาพประวัติของพระแม่มารีย์ที่ครบสมบูรณ์ที่สุดในไทย 

ส่วนกระจกด้านล่างนั้น แบ่งเป็น 2 ฝั่งซ้าย-ขวา ด้านขวาเป็นนักบุญอัครสาวกทั้ง 12 ซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด ขณะที่ด้านซ้ายเป็นภาพนักบุญสตรีที่สำคัญ โดยเฉพาะนักบุญหญิงในยุคแรกเริ่มของคริสต์ศาสนา เช่น นักบุญอากาธา นักบุญเยโนเวฟา นักบุญเซซีลีอา เป็นต้น เพราะในอดีตนั้นมีธรรมเนียมว่า ภายในโบสถ์จะต้องแบ่งแยกพื้นที่นั่งของชายและหญิงออกจากกัน ภาพกระจกสีที่แบ่งนักบุญชาย-หญิง คงจะสะท้อนธรรมเนียมนี้ 

แกะรอยสถาปัตยกรรมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
ภาพแม่พระบังเกิด ด้านซ้ายคือนักบุญอันนาและด้านขวาคือนักบุญโยอาคิม บิดามารดาผู้ชราของพระนาง ล้อมรอบด้วยเทวดาที่ถือแผ่นป้ายว่า “พระนางพรหมจารีคือแสงทองอรุโณทัย” 
แกะรอยสถาปัตยกรรมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
ภาพพระเยซูคริสต์ถูกตรึงกางเขน ด้านซ้ายคือพระมารดา นักบุญมารีย์ ชาวมักดาลากอดกางเขนไว้ ส่วนด้านขวาสุดคือนักบุญยอห์น อัครสาวกผู้เดียวที่ไม่ทอดทิ้งพระองค์ไป ที่เชิงกางเขนยังมีภาพกะโหลกมนุษย์ สื่อถึงชื่อของเนิน ‘หัวกะโหลก’ ที่ตรึงกางเขนพระคริสต์ 
แกะรอยสถาปัตยกรรมอาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
ภาพมรณกรรมของพระนางมารีย์ หรือเรียกว่า ‘แม่พระบรรทม’ (Dormation) บรรดาอัครสาวกมาชุมนุมกันเพื่อฝังศพแม่พระ ซึ่งสิ้นใจในวัยชรา
แกะรอยสถาปัตยกรรม อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
ภาพการรับสวมมงกุฎของแม่พระจากพระตรีเอกภาพ หลังจากที่ท่านสิ้นชีวิตลงแล้ว ด้านล่างมีคำจารึกผู้บริจาคคือบ้านเณรพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ 
แกะรอยสถาปัตยกรรม อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
ภาพเซนต์ปอลหรือนักบุญเปาโล สัญลักษณ์ของท่านคือดาบอันเป็นอาวุธที่ใช้ตัดศีรษะตัวท่านเอง มือขวาของท่านถือพระคัมภีร์ 
แกะรอยสถาปัตยกรรม อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
ภาพนักบุญลูกาหรือเซนต์ลุค ท่านถือภาพแม่พระไว้ เพราะเชื่อกันว่าท่านเป็นจิตรกรที่วาดภาพแม่พระเป็นคนแรก 
แกะรอยสถาปัตยกรรม อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก นีโอโกธิกกลางสวนผลไม้
ภาพนักบุญเยโนเวฟาหรือเยเนอวีฟ องค์อุปถัมภ์ของกรุงปารีส กำลังถือเครื่องปั่นด้ายขนแกะอันเป็นสัญลักษณ์ของท่าน กระจกสีของอาสนวิหารแม่พระบังเกิด นอกจากปรากฏภาพนักบุญสตรีจำนวนมากแล้ว ยังปรากฏภาพนักบุญที่เกี่ยวข้องกับประเทศฝรั่งเศสด้วย เพราะในสมัยโบราณ บาทหลวงที่ดูแลมิสซังสยามนั้นส่วนมากมาจากประเทศฝรั่งเศส 

พระแท่นและบริเวณศักดิ์สิทธิ์ 

พระแท่นนั้นตั้งอยู่ตรงกลางโบสถ์ ประกอบด้วยพระแท่นดั้งเดิมอยู่ด้านหลัง และพระแท่นใหม่อยู่กลาง ประดับด้วยภาพนักบุญหญิงจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของสตรีตามภาพพจน์ของนามอาสนวิหารที่อุทิศให้พระนางมารีย์ พื้นที่บริเวณพระแท่นเป็นยกพื้นสูงกว่าระดับของสัตบุรุษ มีรั้วกั้น ซึ่งเรียกกันว่าโต๊ะศักดิ์สิทธิ์ ในสมัยโบราณใช้สำหรับคุกเข่ารับศีลมหาสนิท โบสถ์ที่สร้างขึ้นในยุคสมัยใหม่ รั้วกั้นบริเวณพระแท่นเช่นนี้ไม่ปรากฏอีกต่อไปแล้ว 

ผนังด้านซ้ายของโบสถ์ มี ‘ธรรมาสน์’ หรือบรรณฐาน เป็นซุ้มไม้ทรงโกธิกที่แขวนลอยอยู่ แต่เดิมในยุคที่เครื่องขยายเสียงหรือไมโครโฟนยังไม่เกิด ธรรมาสน์ใช้ในการแสดงธรรมหรืออ่านพระคัมภีร์ บาทหลวงจะขึ้นไปเทศน์ด้วยเสียงอันดังฟังชัดบนที่สูง รับกันกับเพดานวงโค้งที่ออกแบบมาเพื่อขยายเสียง ดังนั้น แม้ว่าจะนั่งอยู่บริเวณใดของโบสถ์ก็ยังได้ยินคำเทศนาได้อย่างชัดเจน 

บัลลังก์สำหรับบิชอป 

ในอาสนวิหารทุกแห่งจะมีเก้าอี้พิเศษที่เรียกว่าบัลลังก์สำหรับบิชอปประจำสังฆมณฑลนั่นเอง คำว่าบัลลังก์นั้นมาจากคำว่า Cathedra ซึ่งก็เป็นรากศัพท์ของคำว่า Cathedral หรืออาสนวิหารนั่นเอง ถ้ามองจากด้านหน้าโบสถ์ จะเห็นบัลลังก์ตั้งอยู่ทางซ้ายมือของเรา มี Canopy หรือผืนผ้าบุเป็นเพดานเหนือเก้าอี้พิเศษนั้น และจะสังเกตเห็นตราประจำตัวของบิชอปประดับเอาไว้ด้วย 

วิธีการไปชมโบสถ์บางนกแขวก 

ท่านที่ต้องการไปเยี่ยมชมโบสถ์บางนกแขวก สามารถไปเยี่ยมได้ที่ หมู่ 7 ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที สมุทรสงคราม บนถนนเส้น 6002 จากตลาดน้ำอัมพวาขึ้นไปทางเหนือราวๆ 8 กิโลเมตร มีรถประจำทางเป็นสองแถว หรือจะปั่นจักรยานไปก็ได้ 

  • สามารถเข้าชมด้านในได้ด้วยความสงบและสำรวม ผู้หญิงควรใส่กระโปรงหรือชุดสุภาพ 
  • ชุมชนมีบริการล่องเรือชมสวนผลไม้ สามารถติดต่อได้กับเจ้าหน้าที่บริเวณหน้าโบสถ์ 
  • หากข้ามสะพานหน้าโบสถ์ไปอีกราว 5 กิโลเมตร สามารถไปเยี่ยมชมโบสถ์พระหฤทัย ในอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรีได้ ซึ่งมีศิลปกรรมสวยงามไม่แพ้อาสนวิหารเลย

Writer & Photographer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช