28 กรกฎาคม 2020
22 K

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อมหาวิทยาลัยคอร์เนลมาบ้างไม่มากก็น้อย และหลายคนอาจใฝ่ฝันว่าจะมาเรียนที่นี่ เพราะมหาวิทยาลัยคอร์เนลแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของอเมริกา ก่อตั้งมากว่า 150 ปี อยู่ที่เมืองอิตากา (Ithaca-ออกเสียง อิ๊ต่ะก่ะ) ทางตอนเหนือ (หรือที่เรียกกันว่า Upstate) ของรัฐนิวยอร์ก

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุด มหาวิทยาลัยไอวี่ลีก ของสหรัฐฯ

เมืองเล็กๆ ในหุบเขาบนฝั่งทะเลสาบคายูกาแห่งนี้แวดล้อมไปด้วยทุ่งนาและป่าเขา เห็นเมืองเล็กๆ แบบนี้ แต่ก็เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงถึง 3 มหาวิทยาลัยเชียวนะคะ คือ Ithaca College, Cornell University และ Tompkins Cortland Community College ประชากรแท้ๆ ของเมืองนี้มีแค่ประมาณ 30,000 กว่าคน เป็นนักศึกษาของทั้งสามมหาวิทยาลัยอีกราวๆ 20,000 กว่าคน เมืองเล็กๆ แห่งนี้จึงคึกคักมากช่วงเปิดเทอม แต่พอปิดเทอมก็จะเงียบสงบทันที

เมืองอิตากามีภูมิประเทศเป็นแอ่ง มีภูเขาล้อมรอบ Ithaca College ตั้งอยู่บนเขาทางทิศใต้ บริเวณนั้นก็เลยเรียกกันว่า South Hill ส่วนมหาวิทยาลัยคอร์เนลอยู่บนเขาทางทิศตะวันออก หรือ East Hill มีสัญลักษณ์อันโดดเด่นคือหอนาฬิกาคู่บ้านคู่เมืองโดดเด่น มองเห็นได้จากตัวเมืองเลย และตรงหอนาฬิกานี่ล่ะค่ะเป็นที่ตั้งของห้องสมุดหลักของมหาวิทยาลัยคอร์เนลถึง 2 ห้องสมุด คือ ห้องสมุดยูริส (Uris Library) และห้องสมุดโอลิน (John M. Olin Library) ที่ผู้เขียนทำงานเป็นแคตตาล็อกเกอร์ (Cataloger) อยู่ถึง 21 ปี 

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุด มหาวิทยาลัยไอวี่ลีก ของสหรัฐฯ

จัดฉากแสงสีเสียงเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาเปิดตัวนางเอกแล้วนะคะ ขอเรียกตัวเองว่าพี่ก็แล้วกันนะ เพราะอายุอานามก็ไม่น้อยแล้ว น่าจะแก่กว่าอายุเฉลี่ยของผู้อ่านไม่มากก็น้อย จริงๆ ก็เป็นป้า เป็นน้า มาสักพักแล้ว แต่นักศึกษาไทยที่อยู่ที่นี่ส่วนใหญ่ยังเรียกว่าพี่ เพราะเรียกกันแบบนี้ต่อๆ มา จนไม่มีใครกล้าเปลี่ยนไปเรียกอย่างอื่น ฮ่าฮ่า

ป้า เอ๊ย! พี่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาโรคพืช แต่ไม่ได้ใช้วิชาที่เรียนมาเลย จับพลัดจับผลูย้ายมาอยู่ที่นิวยอร์ก ค.ศ. 1994 มาอยู่ได้ราวๆ 5 ปี บังเอิญว่าช่วงนั้นห้องสมุดของมหาวิทยาลัยคอร์เนลที่มีชื่อว่า โอลิน เปิดรับตำแหน่งแคตตาล็อกเกอร์ที่อ่านเขียนภาษาไทยได้คล่องแคล่ว  

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ

โอ้โห อะไรจะตรงกับเราขนาดนั้น เหมือนพระเจ้าจัดตำแหน่งนี้ใส่ถาดมาประเคนให้ จริงๆ แล้วเขาติดต่อพี่อีกคนหนึ่ง แต่พี่คนนั้นเขากำลังจะจบปริญญาเอกด้านภาษาศาสตร์ แน่นอนว่าเขาต้องไปเป็นอาจารย์ ไม่สนตำแหน่งแคตตาล็อกเกอร์ในห้องสมุด พี่เขาเลยเรียกมา บอกเธอสนใจไหม ไอ้เราก็ อ๊ายยยย สนมากค่ะพี่ เลยเข้าไปสัมภาษณ์ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ทางด้านห้องสมุดเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคำว่าแคตตาล็อกเกอร์คืออะไร แต่ ด้วยความที่เชื่อมาตลอดว่าปริญญาไม่สำคัญเท่าความสามารถและประสบการณ์ ต่อให้มีความสามารถมากเท่าไร ถ้าไม่มีโอกาสให้แสดงความสามารถหรือไม่เชื่อมั่นในตัวเองก็ไม่ได้เช่นกัน ก็เลยดุ่มๆ ไปคุยกับทางห้องสมุด และก็ได้ตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1999 

แต่ด้วยความที่เราไม่มีความรู้ด้านบรรณารักษ์ศาสตร์เลยแม้แต่น้อยนิด ก็ต้องมีการฝึกงานกันก่อน พอเริ่มงานเขาก็มีแคตตาล็อกเกอร์รุ่นพี่สอนงานให้เราแบบเข้มข้นอยู่ปีกว่า ระหว่างนั้นก็ค่อยๆ ขยับเพิ่มความรับผิดชอบ เขาต้องตรวจงานเราทุกชิ้นอยู่ 2 – 3 ปี กว่าจะปล่อยบินเดี่ยว

แล้วแคตตาล็อกเกอร์คืออะไร เหมือนบรรณารักษ์ไหม ความหมายของคำว่า บรรณารักษ์ คือผู้ดูแลรักษาหนังสือและสารสนเทศ ส่วนใหญ่มีสถานที่ทำงานในห้องสมุด ซึ่งงานห้องสมุดก็มีหลากหลายสาขา แคตตาล็อกเกอร์ก็เป็นแขนงหนึ่งของบรรณารักษ์นั่นเอง เพราะแคตตาล็อกเกอร์ทำหน้าที่จัดหมวดหมู่หนังสือและสารสนเทศในห้องสมุด ตามกลุ่มเรื่องเนื้อหาหรือตามผู้แต่ง แล้วจัดหมวดหมู่เลขเรียกหนังสือ เพื่อให้ผู้ใช้ห้องสมุดค้นหาหนังสือที่ต้องการได้ 

สมัยก่อนแคตตาล็อกเกอร์พิมพ์ข้อมูลของหนังสือและสารสนเทศลงในการ์ดแผ่นเล็กๆ เรียกว่า Card Catalog แล้วจัดเรียงตามตัวอักษรในตู้สูงๆ ที่มีลิ้นชักเล็กๆ ผู้ใช้ห้องสมุดก็จะมาเลือกหนังสือโดยดูข้อมูลจากการ์ดเล็กๆ เหล่านี้ (ผู้อ่านใครทันใช้ตู้แบบนี้หรือเคยเห็นบ้างไหมคะ) 

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุด มหาวิทยาลัยไอวี่ลีก ของสหรัฐฯ
แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุด มหาวิทยาลัยไอวี่ลีก ของสหรัฐฯ

สมัยนี้แคตตาล็อกเกอร์ไม่พิมพ์ในการ์ดแล้ว แต่ป้อนข้อมูลของหนังสือใส่ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์เลย ผู้ใช้ก็มาเปิดแคตตาล็อกเลือกหาหนังสือและสารสนเทศได้สะดวกมากขึ้น

ที่เมืองไทยแคตตาล็อกเกอร์คงแคตตาล็อกตามระบบระเบียบของสำนักหอสมุดแห่งชาติของไทย แต่ที่อเมริกา เราต้องทำตามระบบมาตรฐานของสำนักหอสมุดแห่งชาติของอเมริกา ซึ่งมีชื่อว่า The Library of Congress (LC) ตั้งอยู่ที่วอชิงตัน ดี ซี (เป็นห้องสมุดที่สวย อลังการงานสร้างมาก ใครมีโอกาสต้องไปดูนะคะ) 

พี่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเรียนรู้ระบบของการแคตตาล็อก งานแคตตาล็อกเป็นงานที่ละเอียดมาก วิธีป้อนข้อมูลใส่ในฐานข้อมูล มีกฎและมาตรฐานมากมายที่ต้องจำ ตอนเริ่มฝึกงาน พอแคตตาล็อกหนังสือแต่ละเล่ม ก็ต้องพิมพ์ผลงานออกมาเพื่อให้เทรนเนอร์ตรวจ มีเทรนเนอร์คนหนึ่งนางเก่งแต่โหดมาก พอเราเอางานที่พิมพ์ออกมาวางตรงหน้านางปุ๊บ นางจะกวาดสายตาอันเฉียบคมปร๊าดๆ แล้วก็คว้าปากกาสีแดงจิ้มตรงโน้น ตรงนี้ แป๊บเดียวแดงเถือกไปทั้งแผ่น จำได้ว่าตอนแรกๆ งานที่ให้เขาตรวจจะมีวงๆ สีแดงพราวไปทั่วแผ่นเพราะทำผิดเยอะมาก บางทีแค่ไม่มีจุดฟูลสต็อปจุดเดียวก็เป็นเรื่อง นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่างานแคตตาล็อกเป็นงานละเอียดแค่ไหน 

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุด มหาวิทยาลัยไอวี่ลีก ของสหรัฐฯ

เนื่องจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลเป็นที่ตั้งของ Southeast Asian Program ที่ใหญ่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของ North America เราจึงเป็นแหล่งสะสมวิทยาการสารสนเทศจากทุกประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เอื้ออำนวยให้กับการศึกษาวิจัย 

ทางเรามีนโยบายรับซื้อหนังสือทุกประเภทที่ทางนายหน้าจะหาได้จากทางสำนักพิมพ์ และยังรับบริจาคสิ่งพิมพ์จากบุคคลหรือหน่วยงานที่เอื้อประโยชน์กับการศึกษาวิจัย (ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่จบไป หรือนักวิชาการที่บริจาคหนังสือที่เขียน) 

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เรามีหนังสือไทยเยอะมาก และต้องมีแคตตาล็อกเกอร์เฉพาะทางรับผิดชอบทางภาษานี้

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ

ใครเคยยืมหนังสือจากห้องสมุด คงต้องเคยเดินเลือกหนังสือที่ชั้นหนังสือ แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักว่าก่อนหนังสือแต่ละเล่มจะขึ้นไปอยู่บนชั้นให้ผู้คนได้หยิบยืมต้องผ่านกรรมวิธีอะไรบ้าง มาค่ะตามพี่มา จะพาไปดูขั้นตอนที่หนังสือ (ไทย) หนึ่งเล่มจะขึ้นไปอยู่บนชั้นในห้องสมุดแห่งนี้

เริ่มจากการคัดเลือกหนังสือจากรายการที่ทางนายหน้าส่งมาให้ ซึ่งแต่ละภาษาก็จะมีนโยบายต่างกันไป ของไทย เราแค่เลือกดูว่ารายการที่สายส่งหนังสือส่งมาไม่ซ้ำกับของที่เรามีอยู่แล้วเป็นใช้ได้ จากนั้นสายส่งจะส่งหนังสือมาจากเมืองไทยตามรายการที่เราเลือกไป พอหนังสือมาถึง ทีม Shiping Room จะเข็นขึ้นมาให้ มีเจ้าหน้าที่เปิดกล่องเช็กรายการและเอาหนังสือวางเรียงบนชั้น เพื่อรอการจัดการขั้นต่อไป (งานนี้ส่วนใหญ่เราจ้างนักศึกษาที่ต้องการงานพิเศษมาทำ)

ถึงตอนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ตำแหน่ง Copy Cataloger เอาหนังสือพวกนี้ไปค้นดูฐานข้อมูลของคอร์เนลฯ ว่าเรามีหนังสือแล้วไหม ถ้ามีก็ถือว่าซ้ำ เขาจะแยกกอง ไว้เพื่อหาทางขายต่อให้ห้องสมุดอื่น แต่ถ้าไม่ซ้ำก็เข้าสู่ขั้นตอนแรกของการแคตตาล๊อก

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุด มหาวิทยาลัยไอวี่ลีก ของสหรัฐฯ

Copy Cataloger จะค้นข้อมูลพื้นฐานของหนังสือ เช่น ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ หรือเลขประจำหนังสือ (ISBN) จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Online Computer Library Center หรือ OCLC ซึ่งนับว่าเป็นชีวิตจิตใจของคนห้องสมุดเลยเชียว เพราะเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลหนังสือจากห้องสมุด 179,000 แห่ง จาก 123 ประเทศทั่วโลก ห้องสมุดต่างๆ ใช้ข้อมูลเหล่านี้ร่วมกันได้ หนังสือที่ได้รับการแคตตาล็อกแล้วจากห้องสมุดหนึ่ง อีกห้องสมุดหนึ่งก็ไม่ต้องแคตตาล็อกซ้ำ ดึงข้อมูลจาก OCLC มาไว้ในฐานข้อมูลของห้องสมุดเราได้เลย 

หนังสือที่มีข้อมูลสมบูรณ์ คือมีทุกอย่างตั้งแต่ ISBN ชื่อคนแต่ง ชื่อเรื่อง สำนักพิมพ์ จำนวนหน้า ขนาด และที่สำคัญคือ Subject Headings หรือข้อความสั้นๆ ที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร และท้ายสุดคือเลขเรียกหนังสือ หรือ Call Number ที่จัดตามหมวดหมู่ตามประเภทหนังสือ ถ้าข้อมูลครบถ้วน Copy Cataloger จะดึงข้อมูลจาก OCLC มาไว้ในแคตตาล็อกของคอร์เนลฯ จัดการติดบาร์โค้ด และเขียนเลขหมู่หนังสือลงบนหนังสือ จากนั้นก็ส่งไปแผนก Physical Processing ที่จะจัดการติดแถบเทปกันขโมย และพิมพ์สติกเกอร์เลขหมู่หนังสือติดที่สันหนังสือ ก่อนส่งขึ้นชั้นต่อไป

ถ้า Copy Cataloger ค้นข้อมูลของหนังสือใน OCLC แล้วไม่เจอ หรือเจอแต่ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ขาดเลขหมู่หนังสือ หรือ Subject Headings เขาจะรวบรวมไปวางไว้ที่ชั้นสำหรับแคตตาล็อกเกอร์ไปเลือกมาแคตตาล็อก 

กว่าหนังสือจะมาถึงมือแคตตาล็อกเกอร์นั้น Copy Cataloger ช่วยผ่อนแรงผ่อนเวลาไปได้มาก แต่เนื่องจากพี่เป็นคนเดียวในห้องสมุดนี้ที่อ่านภาษาไทยได้ จึงต้องเหมารับงานของ Copy Cataloger มาไว้เองด้วย 

อ้อ จริงๆ ก็ทำเองตั้งแต่เลือกหนังสือและทำใบเสร็จรับจ่ายเงินให้กับสายส่งด้วย ยังดีนะที่ไม่ต้องขนกล่อง เปิดกล่องหนังสือเองด้วยอีก

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ

สมัยก่อนการป้อนข้อมูลของหนังสือที่เป็นภาษาไทย เช่น ชื่อคนแต่ง ชื่อหนังสือ สำนักพิมพ์ เราต้องป้อนเป็นภาษาคาราโอเกะ หรือที่เรียกทางวิชาการว่า Romanization หรือ Romanisation ซึ่งปัญหาก็คือ การแปลงไทยเป็นคาราโอเกะไม่ใช่ว่านึกจะแปลงยังไงก็แปลง เราต้องมีมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจากทาง Library of Congress ซึ่งมาตรฐานนี้จะทำให้ข้อมูลในฐานข้อมูลมีความสม่ำเสมอ แต่มาตรฐานนี้ผู้ใช้ห้องสมุดคนไทยหลายคนไม่รู้จัก เวลานักศึกษาไทยมาค้นหาหนังสือจากทางห้องสมุด ก็จะใช้ภาษาคาราโอเกะแบบที่ต่างคนต่างคิดว่าควรจะเป็น หรือแบบที่เคยชินเคยใช้ที่ไทย ซึ่งบางทีโชคดีเหมือนกับมาตรฐานก็ดีไป หาข้อมูลเจอ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่เจอ เพราะใช้คาราโอเกะไม่ตรงกับมาตรฐาน 

ยกตัวอย่างเช่น ต้องการหนังสือที่แต่งโดย ทรงกลด บางยี่ขัน พอแปลงเป็นคาราโอเกะ บางคนอาจจะพิมพ์ Songklod Bangyeekan หรือ Songklot Bangyeekhan หรืออะไรต่างๆ หรือถ้าเอาชื่อจากอินเทอร์เน็ตจะเห็นว่าผู้แต่งใช้ Zcongklod Bangyikhan ตัว ส เสือ อาจจะเป็นได้ทั้งตัว s, z และ zc แต่ในการแคตตาล็อก เราต้องเขียนว่า Songklot Bangyikhan แน่นอนว่าถ้าผู้ใช้มาพิมพ์เป็นอย่างอื่นก็คงคิดว่าห้องสมุดเราไม่มีหนังสือของผู้แต่งคนนี้ แต่เราก็มีหลายเล่มอยู่ 

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ

น่าเสียดายที่หลายคนไม่รู้ แต่เป็นที่น่าดีใจว่าในช่วงเวลาประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราได้พัฒนาระบบแคตตาล็อกให้เพิ่มข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ และสำนักพิมพ์ เป็นภาษาไทยเลย (เย่ๆ) เพราะฉะนั้น ถ้าเราค้นหาหนังสือโดยการพิมพ์เป็นภาษาไทย ก็มีโอกาสสูงที่จะเจอหนังสือ (แต่เนื่องจากเราเพิ่งเริ่มเพิ่มภาษาไทย ทำให้หนังสือส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลภาษาไทย) นักศึกษาหลายคนก็ยังไม่รู้ความจริงในข้อนี้ ส่วนนักศึกษาที่รู้ก็จะเพลิดเพลินกับหนังสือต่างๆ ที่เรามีเสมอ 

เท่าที่เห็น น้องๆ นักศึกษาชอบอ่านหนังสือไทยที่เป็นพวกนิยายหรือหนังสือที่ให้ความเพลิดเพลิน พักผ่อนสมองจากการเรียนหนักทำให้หายคิดถึงบ้าน น่าเสียดายที่ยังมีน้องนักศึกษาอีกมากที่ไม่รู้แหล่งขุมทรัพย์นี้

นอกจากหนังสือวิชาการและบันเทิง หนังสือเก่าและหายากแล้ว ใบลานเก่าแก่ เราก็มีเยอะเช่นกัน หนังสือบางเล่มหาไม่ได้แล้วที่เมืองไทย แต่เรามีที่นี่ นักวิชาการหลายท่านต้องมาค้นข้อมูลจากห้องสมุดที่นี่ 

หนังสือเก่าและหายากเหล่านี้ไม่ได้วางบนชั้นทั่วไป แต่เก็บรักษาในแผนก Rare & Manuscripts ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่ในแผนกนั้นถึงจะเข้าไปได้ และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบในการจับการดูหนังสือเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ

ตัวพี่เองไม่ได้คลุกคลีกับส่วนนี้มากนัก นานๆ จะมีผ่านมือมาสักทีให้ตื่นเต้นเล่นๆ อย่างเช่นเมื่ออาจารย์ที่มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์ไทยเสียชีวิตลง ทางครอบครัวอาจารย์ได้บริจาคหนังสือส่วนตัวของอาจารย์ที่สะสมมาทั้งชีวิตการทำงานของท่านให้กับห้องสมุด ซึ่งมีเยอะมาก บางเล่มมีอายุมากกว่าเราเสียอีก นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยินดี 

อีกคราวหนึ่งก็ตอนที่มีกล่องหนังสือขนาดใหญ่ 2 กล่องมาวางไว้ที่โต๊ะทำงาน เป็นหนังสือบริจาคมาเช่นกัน พอเปิดดู ปรากฏว่าเป็นหนังสือและนิตยสารเก่าแก่ราวๆ ค.ศ. 1960 ที่น่าสนใจคือ เป็นหนังสือและนิตยสารภาพนู้ดผู้ชายทั้งหมด สิ่งตีพิมพ์เหล่านี้ทางเราสะสมในแง่ของการศึกษาค้นคว้าวิจัย เพราะเรามีคอลเลกชันด้าน Human Sexuality ด้วยเช่นกัน 

ตอนแคตตาล็อกเล่มแรกๆ ก็กระมิดกระเมี้ยนเพราะมันโจ่งแจ้งมาก หลังๆ ก็เริ่มชิน แต่ต้องระวัง ไม่วางหนังสือทิ้งไว้บนโต๊ะประเจิดประเจ้อ สงสารเพื่อนร่วมงาน ฮ่าฮ่า 

นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่ไม่สามารถเปิดเผยเนื้อหาในที่นี้ผ่านมืออีกชุดหนึ่ง แต่อยากกล่าวถึงให้รู้ว่า เราโชคดีที่ได้มีโอกาสสัมผัสข้อมูลเหล่านี้ 

น่าเสียดายว่า ตอนนี้ห้องสมุดไม่ได้เปิดให้บริการตามปกติ เนื่องจาก COVID-19 แม้แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็เข้าไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถ่ายรูปหนังสือหายากมาให้ชมค่ะ 

อ้อ ลืมบอกไปอีกอย่างหนึ่ง คือในส่วนของหนังสือไทย เรามีหนังสืออีกกลุ่มหนึ่งซึ่งค่อนข้างโดดเด่นและมีเยอะอยู่ คือ ‘หนังสืองานศพ’ เก่าๆ มีเยอะมากมายเลยค่ะ เวลาแคตตาล็อกหนังสือพวกนี้ พี่จะชอบเปิดอ่านประวัติของผู้ตาย เพลินดี

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ
โต๊ะทำงานพี่เองค่ะ คิดถึงมากๆ
แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ

มหาวิทยาลัยคอร์เนลมีห้องสมุดทั้งหมดเกือบ 20 แห่ง กระจายไปตามคณะต่างๆ แต่พี่ผูกพันวนเวียนอยู่กับ 3 แห่ง คือ โอลิน (Olin) ครอค (Kroch) และยูริส (Uris) ทั้งสามห้องสมุดนี้ตั้งอยู่บริเวณ Central Campus (ตรงจตุรัสหอนาฬิกา) ใครมีโอกาสผ่านมาแถวนี้ ขอแนะนำให้เข้าไปดูห้องสมุดกฎหมาย (Law Library) ซึ่งสวยขลังแบบโบราณมาก กับห้องอ่านหนังสือของยูริส ซึ่งมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า ห้องสมุดแฮรี่ พอตเตอร์ เพราะบรรยากาศเหมือนในหนังเลย 

ห้องสมุดโอลิน ครอค และยูริส เป็นห้องสมุดสำหรับงานวิจัย (Research Libraries) ด้านมนุษยศาสตร์ ภาษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง ปรัชญา ศาสนา และเศรษฐศาสตร์ 

ภายในห้องสมุดยูริสเป็นที่ตั้งของห้องสมุดเก่าแก่ที่สุดของมหาวิทยาลัย เรียกว่าห้องสมุด Andrew White ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1891 เป็นที่เก็บหนังสือส่วนตัวร่วม 30,000 เล่มของ แอนดรูว์ ดิคสัน ไวต์ (Andrew Dickson White) ซึ่งเป็นประธานคนแรกและหนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ร่วมกับ เอซรา คอร์เนลล์ (Ezra Cornell) ใน ค.ศ. 1865 (ว้าว 155 ปีมาแล้วค่ะ) 

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ
ห้อง A.D. White ในยูริส หรือที่รู้จักกันว่าห้องสมุดแฮรี่ พอตเตอร์
แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ
The A. D. White Reading Room in Uris Library.

ตอนนี้ห้องสมุดยูริสได้ปรับปรุงต่อเติม มีคอมพิวเตอร์แล็บถึง 3 แล็บ และพื้นที่สำหรับนักศึกษาให้ได้ทำงาน อ่านหนังสือ ที่ทันสมัยสวยงาม มีหน้าต่างขนาดใหญ่ เก้าอี้สีสันสดใส มองเห็นวิวทะเลสาบคายูกาได้และในช่วงเปิดเทอมเปิดตลอด 24 ชั่วโมง นับว่าเป็นหนึ่งในห้องสมุดที่นักศึกษานิยมใช้กันมาก

ตรงข้ามกับยูริส เป็นห้องสมุดโอลิน ก่อตั้งใน ค.ศ. 1961 ถึงแม้ว่าสภาพภายนอกจะสวยสู้ห้องสมุดอื่นไม่ได้เพราะเป็นแค่ตึกปูนสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่โอลินเป็นศูนย์กลางของห้องสมุดต่างๆ เพราะนอกจากตั้งอยู่กลางแคมปัสแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของ Central Technical Services หรือหน่วยปฏิบัติการกลางของห้องสมุดนั่นเอง ห้องสมุดโอลินมีขนาดใหญ่ 7 ชั้น มีพื้นที่สำหรับนักศึกษา และพนักงาน มีร้านกาแฟ มีห้องเก็บหนังสือ (เรียกกันว่า Stacks) ใหญ่มาก ตั้งแต่ชั้นใต้ดินไปจนถึงชั้น 7 หนังสือและสิ่งตีพิมพ์ที่สะสมในห้องสมุดทั้งสองแห่งนี้ประมาณ 2 ล้านเล่ม และไมโครฟิช ไมโครฟิลม์ วิดีโอต่างๆ อีกกว่า 2 ล้านชิ้น!

ตอนพี่เริ่มทำงานใหม่ๆ จะกลัวการไป Stacks มาก เพราะมันมืดวังเวงมีแต่ชั้นหนังสือเรียงเต็มไปหมด แต่ตอนนี้รักมันมากมาย กลิ่นหนังสือที่สะสมเป็นปีๆ ในห้องเย็นมันช่างน่าหลงใหล

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ
แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ

ภายในห้องสมุดโอลินยังมีห้องสมุดที่สำคัญและมีชื่อเสียงอย่างมากอีกแห่ง คือห้องสมุด Carl A. Kroch Library เปิดบริการใน ค.ศ. 1992 ห้องสมุดนี้มีความสำคัญมากต่อนักศึกษาและนักวิชาการด้านเอเชียศึกษา ซึ่งมี 3 คอลเลกชัน แบ่งเป็น Wason Collection เป็นสารสนเทศด้านเอเชียตะวันออก (East Asia Collection) คอลเลกชันเอเชียใต้ (South Asia Collection) และ Echol Collection ซึ่งเป็นคอลเลกชันเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น นอกจากคอลเลกชันหลักๆ แล้ว เรายังครอบคลุมไปถึงอิสลามในเอเชีย และเอเชียอเมริกันศึกษาอีกด้วย

ครอบคลุมซะขนาดนี้ ทำให้คอร์เนลขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งแหล่งวิชาการทางด้านเอเชียศึกษาที่ใหญ่ที่สุดใน North America เลยล่ะค่ะ เรามีทั้งหนังสือ สิ่งตีพิมพ์ หนังสือพิมพ์ชั้นนำเป็นร้อยๆ ฉบับ สารพัดภาษา จาก 20 ประเทศใหญ่ๆ ในเอเชีย 

ลืมบอกไปอีกอย่าง คือในห้องสมุดครอคมีแผนก Rare and Manuscript Collections สะสมหนังสือเก่าและหายากร่วม 400,000 เล่มจากทุกมุมโลก และยังมีเมนูสคริปต์ ภาพถ่าย และวัตถุสำคัญ อื่นๆ อีกราว 40,000 กว่าคิวบิกฟุต

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ

ห้องสมุด Asia/Kroch มีนโยบายสะสมหนังสือและสิ่งตีพิมพ์ทุกอย่างที่มีคุณค่าทางการวิจัย ทำให้เรามีหนังสือแทบทุกแนว ตั้งแต่วิชาการไปจนถึงนิยายทั้งเก่าและใหม่ นอกจากนั้น ทางห้องสมุดยังไม่ ‘หวง’ ของ ใครก็เข้ามาใช้ห้องสมุดและค้นคว้าข้อมูลได้ ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลเป็นที่ตั้งของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Southeast Asia Program-SEAP) ซึ่งเป็นศูนย์รวมนักวิชาการ อาจารย์ นักคิด นักเขียน และนักวิจัยทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมาย และทางมหาวิทยาลัยยังเปิดสอนภาษาหลากหลายภาษา เช่น ไทย พม่า เขมร เวียดนาม ให้นักศึกษาด้วย พี่ไปลงเรียนมาหมดละค่ะ ทั้งเขมร พม่า เวียดนาม เนื่องจากทางห้องสมุดสนับสนุนให้เรียนฟรีๆ เราก็เอาสิคะ โอกาสงามได้เข้าเรียนในคลาสของมหาวิทยาลัยชั้นนำฟรีๆ ใครจะไม่เอา ก็ไปนั่งเรียนกับนักศึกษา สนุกมาก แต่ต้องยกธงขาวให้กับเวียดนามและพม่า รอดมาได้อย่างเดียวคือเขมร เพราะมีความคล้ายภาษาไทยอยู่มาก 

ตอนนี้หน้าที่หลักของพี่ คือแคตตาล็อกหนังสือภาษาไทย (ขอเรียกรวมๆ ว่าหนังสือนะคะ คือรวมทั้งสิ่งตีพิมพ์ สารสนเทศทุกอย่าง) เขมร และลาว ทั่วทั้งอเมริกาก็มีไม่กี่คนล่ะคะ นับว่าโชคดีจริงๆ ที่ได้มาทำงานที่นี่ 

21 ปี ในการเป็นแคตตาล็อกเกอร์ หนังสือไทยทุกเล่มได้ผ่านตาผ่านมือ แต่ส่วนใหญ่มีเวลาแค่อ่านคร่าวๆ เพื่อแคตตาล็อก ที่อ่านจริงๆ ตอนนี้ก็มีไม่กี่เล่ม ส่วนใหญ่ชอบอ่านนิยายรุ่นเก่าๆ เช่น พล นิกร กิมหงวน, เสือใบ เสือดำ ของ ป. อินทรปาลิต, ทมยันตี นี่อ่านทุกเรื่องมาตั้งแต่วัยรุ่น, กฤษณา อโศกสิน รุ่นนั้นไปเลย ฮ่าฮ่า ไม่ก็นิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง เจ้าไล ของคุณ คึกเดช กันตามระ หรือนักเขียนรุ่นใหม่ อย่าง พงศกร นี่ก็ชอบซีรีส์ของเขาพวก กำไลมาศ, กุณฑลสวาท อ่านเพลินดี พี่ไม่ค่อยชอบนิยายรักหวานแหวว เพราะพ้นวัยมานานแล้วค่ะ 

อ้าวดูสิ เขียนไปเขียนมายาวเหยียดเลย หวังว่าผู้อ่านคงไม่เบื่อกันเสียก่อนนะคะ จริงๆ มีเรื่องอยากเล่ามากมาย การใช้ชีวิตในบ้านนอกของเมืองนอก มันก็มีเรื่องดีๆ สนุกๆ เยอะ การเป็นคุณแม่ของลูกที่เป็นอเมริกันมันก็มีทั้งเรื่องภูมิใจและเรื่องให้ทำใจ 

ใครสนใจก็ทักกันมานะคะ หรือบรรณาธิการอาจให้โอกาสเขียนเล่าประสบการณ์อื่นๆ ก็ได้นะ แต่ตอนนี้ขอพักไว้แค่นี้ก่อนนะคะ ก่อนจบขอฝากรูปสวยๆ ของแคมปัสให้ดูเล่นเพลินๆ สวัสดีค่ะ

แคตตาล็อกเกอร์สาวไทย กับชีวิต 21 ปีในห้องสมุดมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกของสหรัฐฯ

ขอบคุณรูปภาพจากเพื่อนร่วมงาน ห้องสมุดโอลิน

Writer & Photographer

Avatar

อภิกัญญา แมคคาร์ที่

แคตตาล็อกเกอร์ (ยัง) สาวแห่งห้องสมุดโอลิน มหาวิทยาลัยคอร์เนล ที่รับผิดชอบหนังสือหมวดภาษาไทย ลาวและเขมร ทำงานในตำแหน่งนี้มา 21 ปีเต็ม โดยไม่คิดจะขยับขึ้นหรือลงเพราะอยู่แบบนี้ก็สบายดี เป็นแม่ของลูกสาว 2 คน ชีวิตทุกวันนี้มีความสุขกับคนรัก แมว 2 ตัว การทำสวน และการโพสต์รูปอาหารบนเฟซบุ๊กทุกวันให้เพื่อนๆ น้ำลายสอเล่นๆ