“A kiss on the hand may be quite continental, but diamonds are a girl’s best friend.”

มาริลีน มอนโร ยักย้ายส่ายสะโพกในชุดราตรีสีชมพูยาวขณะครวญเพลง Diamond are girl’s best friend ในหนังคลาสสิกเรื่อง Gentlemen Prefer Blondes (1949) รอบคอและข้อมือของเธอวิบวับด้วยเพชรพลอยอลังการ เพลงของเธอยืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าสิ่งใดจะทำให้สุขใจกว่าเพชรพลอยเงินทองนั้นเป็นไม่มี

เปิดกรุนิทรรศการเครื่องเพชรวินเทจของ Cartier ใน พระราชวังต้องห้ามแห่งปักกิ่ง

ฟังดูวัตถุนิยมจ๋าจัดเสียเหลือเกิน แต่เมื่อได้รับบัตรเชิญไปนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดของ Cartier ณ พระราชวังต้องห้าม หรือพิพิธภัณฑ์พระราชวัง (The Palace Museum) ใจกลางกรุงปักกิ่ง เราตระหนักได้ว่าเครื่องประดับมีคุณค่าลึกซึ้งกว่าแง่วัตถุมากนัก ยิ่งเวลาผ่านไป ของสวยงามที่ชายหนุ่มมอบให้หญิงสาวในวันสำคัญในครั้งกระโน้น เครื่องประดับที่บุคคลสำคัญใส่ในครั้งกระนั้น วันหนึ่งทุกอย่างจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 

นี่เป็นเหตุผลที่แบรนด์เครื่องประดับจากฝรั่งเศสอายุ 170 กว่าปี ประมูลเครื่องประดับโบราณของตัวเองกลับมาอยู่ในคอลเลกชันของคาร์เทียร์ เพราะประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมในอัญมณีเหล่านั้นประเมินค่าไม่ได้ บางครั้งคาร์เทียร์อนุญาตให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลกหยิบยืมไปจัดแสดง และบางครั้งก็จัดแสดงนิทรรศการด้วยตัวเอง 

เปิดกรุนิทรรศการเครื่องเพชรวินเทจของ Cartier ใน พระราชวังต้องห้ามแห่งปักกิ่ง

ปี 2019 นี้ คาร์เทียร์ร่วมมือกับพระราชวังกู้กงเพื่อจัดนิทรรศการ ‘ก้าวข้ามขอบเขต : หัตถศิลป์และการบูรณะของคาร์เทียร์และพิพิธภัณฑ์พระราชวัง’ (Beyond Boundaries: Cartier and the Palace Museum Craftsmanship and Restoration Exhibition) ในหอศิลป์ประตูอู่เหมิน (Meridian Gate Gallery) ทิศใต้ของพระราชวังใจกลางปักกิ่ง ขนาดนิทรรศการนี้ใหญ่กว่านิทรรศการ Cartier Treasures ที่จัดที่นี่เมื่อ 10 ปีที่แล้วถึง 3 เท่า 

การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน จัดแสดงของมีค่ารวมกว่า 830 ชิ้น จากช่วงราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 – 1644) จวบจนถึงปัจจุบัน ข้าวของเหล่านี้มาจากทั้งคอลเลกชันของคาร์เทียร์ หอจดหมายเหตุของคาร์เทียร์ คอลเลกชันวัตถุโบราณของพิพิธภัณฑ์พระราชวังและสถาบันต่างๆ ของภาครัฐ เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน (Metropolitan Museum of Art) นิวยอร์ก หอศิลป์แห่งชาติออสเตรเลีย (National Gallery of Australia) สำนักงานพิพิธภัณฑ์กาตาร์ (Qatar Museums) และพิพิธภัณฑ์นาฬิกานานาชาติ ณ เมืองลาโช-เดอ-ฟง (Musée international de l’horlogerie de La Chaux-de-Fonds) ตลอดจนคอลเลกชันส่วนตัวและราชวงศ์ต่างๆ 

นิทรรศการส่วนแรกเล่าเรื่องแรงบันดาลใจจากประเทศจีนในการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ กลิ่นอายจากตะวันออกเป็นแฟชั่นสุดเก๋ในศตวรรษที่ 20 ส่วนต่อมาเล่าเรื่องอัญมณีที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ คือพวกมงกุฎ เครื่องเพชรอะร้าอร่ามทั้งหลาย และส่วนสุดท้ายคือนาฬิกาที่นอกจากสวยหรู ยังมีกลไกอัศจรรย์สารพัด มีตั้งแต่ต้านแรงโน้มถ่วง ไร้เข็ม ไปจนถึงประวัติศาสตร์นาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลก

ขอยกตัวอย่างเครื่องประดับที่น่าสนใจ ดังนี้ 

สร้อยแห่งปาเตียลา

เปิดกรุนิทรรศการเครื่องเพชรวินเทจของ Cartier ใน พระราชวังต้องห้ามแห่งปักกิ่ง

สร้อยพระศอเพชรของมหาราชาจากเมืองปาเตียลา เมืองใหญ่ในอินเดีย เป็นสร้อยเพชรขนาดใหญ่ที่สุดที่เราเห็นในชีวิต เนื่องจากมหาราชา Sir Bhupinder Singh รวยมาก และมีเพชรพลอยของตัวเอง พระองค์จึงไม่ได้แค่สั่งให้คาร์เทียร์ทำเครื่องประดับให้เฉยๆ แต่ส่งวัตถุดิบเป็นอัญมณีให้ด้วย สร้อยนี้มีเพชร 2,930 เม็ด เม็ดเบิ้มตรงกลางคือ De Beers เพชรเม็ดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก ขนาด 234 กะรัต เนื่องจากสร้อยนี้เคยถูกขโมยไปจากกรุสมบัติหลวงของปาเตียลาเมื่อหลายปีก่อน อัญมณีของจริงเลยหายไปหลายเม็ด รวมถึงเม็ดกลางด้วย ต่อมาคาร์เทียร์จึงประมูลกลับมาเพื่อซ่อมแซมประกอบใหม่ 

ภาพที่เห็นคือ Sir Yadavindra Singh มหาราชาผู้เป็นพระโอรสทรงสร้อยพระศอเส้นนี้

สร้อยพระศอของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

คาร์เทียร์เป็นแบรนด์เครื่องประดับหลวงประจำหลายราชวงศ์ทั่วโลก รวมถึงราชวงศ์ไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯ ไปทรงซื้อเครื่องประดับในร้านคาร์เทียร์ที่กรุงปารีสเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป เพื่อมอบให้พระบรมวงศานุวงศ์ สร้อยเส้นนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงความนิยมเครื่องเพชรตะวันตกในประเทศตะวันออก และยังเป็นการแสดงพระราชอำนาจว่าเป็นประเทศอารยะทัดเทียมชาติเจริญแล้วทั้งหลาย

เปิดกรุนิทรรศการเครื่องเพชรวินเทจของ Cartier ใน พระราชวังต้องห้ามแห่งปักกิ่ง

เทียร่าของเจ้าหญิง Grace Kelly

เปิดกรุนิทรรศการเครื่องเพชรวินเทจของ Cartier ใน พระราชวังต้องห้ามแห่งปักกิ่ง

เกรซ เคลลี่ นักแสดงสาวชาวอเมริกันที่งดงามเสมือนเจ้าหญิงได้กลายเป็นเจ้าหญิงจริงๆ เมื่อเสกสมรสกับเจ้าชาย Rainier III แห่งโมนาโก พระองค์พระราชทานเครื่องประดับให้เธอเป็นของขวัญการเสกสมรส คาร์เทียร์ทำเทียร่าที่ปรับเป็นสร้อยคอได้นี้ใน ค.ศ. 1955 และเทียร่าแห่งราชวงศ์กรีมัลดีได้รับการจำลองขึ้นใหม่โดยคาร์เทียอีกครั้ง เพื่อให้ นิโคล คิดแมน ใส่เล่นในภาพยนตร์เรื่อง Grace of Monaco (2014)

เปิดกรุนิทรรศการเครื่องเพชรวินเทจของ Cartier ใน พระราชวังต้องห้ามแห่งปักกิ่ง

สำหรับคนชอบเครื่องประดับคงมีความสุขมากที่ได้มาเห็นเพชรพลอยสารพัดละลานตา เรียกได้ว่ามานิทรรศการนี้งานเดียวได้เห็นดีไซน์ของเครื่องประดับชั้นสูงจากทั่วโลก ตั้งแต่เข็มกลัดอันจิ๋ว สร้อยข้อมือบางๆ ไปจนถึงสร้อยเพชรใหญ่เบิ้ม มงกุฎสุดหรูหรา และนาฬิกางดงาม แต่เบื้องหลังความสวยงามข้ามกาลเวลาเหล่านั้น คือประวัติศาสตร์การออกแบบจิวเวลรี่ การแลกเปลี่ยนอารยธรรมระหว่างเมืองจีนกับยุโรป และความเป็นมนุษย์ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องราวของชนชั้นสูง

นิทรรศการก้าวข้ามขอบเขต : หัตถศิลป์และการบูรณะของคาร์เทียร์และพิพิธภัณฑ์พระราชวัง เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2562 ในวันอังคาร-อาทิตย์ (ยกเว้นวันจันทร์และวันหยุดประจำชาติ) เวลา 08.30 – 17.00 น. โดยเปิดให้เข้าชมได้รอบสุดท้าย เวลา 16.00 น. และผู้เข้าร่วมงานสามารถซื้อตั๋วสำหรับเข้าชมพิพิธภัณฑ์พระราชวังในราคา 60 หยวน หรือประมาณ 270 บาท (สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเสียครึ่งราคา และเด็กส่วนสูงต่ำกว่า 120 ซม. ไม่เสียค่าเข้า)

ขอขอบคุณ Cartier

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง