18 พฤศจิกายน 2022
2 K

‘เชียงราย’ เป็นเมืองขนาดกลางเหนือสุดในสยามที่เรามาเยี่ยมเยียนบ่อยครั้ง เท่าที่จำความได้ เชียงรายอุดมด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงาม แถมเป็นเมืองศิลปะที่มีศิลปินพำนักอยู่แทบทุกอำเภอ แต่น่าแปลกที่เมืองศิลปะแห่งนี้กลับไม่มีพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้เยาวชนและคนที่สนใจเข้าไปทิ้งตัวเท่าไหร่ ต่างจากเมืองศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ ที่เดินย่านไหนก็พบพื้นที่สร้างสรรค์เก๋ ๆ เต็มไปหมด 

เมื่อรู้ว่ามีคนทำหนัง 2 คนย้ายสำมะโนครัวจากกรุงเทพฯ มาตั้งรกรากที่เชียงราย พร้อมเปิด ‘พก

ร้านหนังสือและโรงหนังสารคดีเคลื่อนที่ในรถตู้ขนาดกะทัดรัด ขนสารพัดหนังสือและหนังสารคดีไปฉายตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกจังหวัด เราก็อดตื่นเต้นไม่ได้และอยากพกใจไปสนทนากับทั้งคู่ทันที

พก : ร้านหนังสือ-โรงหนังเคลื่อนที่ จ.เชียงราย เร่หนังและหนังสือดี ๆ ไปหาชาวเหนือ

พกไม่มีหน้าร้าน พกไม่มีวันหยุดหรือวันทำงานที่แน่นอน มีเพียงรถตู้คู่ใจที่พาคนทำหนังอย่าง เป๊ก-ธวัชชัย ดวงนภา และ ดา-สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ ไปทุกที่ พลันล้อรถตู้คันนี้หยุดหมุน พวกเขาก็ค่อย ๆ หยิบจอ เครื่องฉายหนังชั้นดี และกองหนังสือตั้งเล็ก ๆ ที่พกไปด้วยมาจัดวาง 

รอเวลาให้คนมานั่งหน้าจอ ดื่มด่ำกับหนังสารคดีที่คัดสรรให้เข้ากับสถานที่ แล้วปล่อยให้เสียงดนตรี ภาพฉาย และเรื่องราวที่นำเสนอทำงานกับหัวใจของผู้ชมในทุก ๆ พื้นที่ที่พกจะไปถึง

พกใจไปเชียงราย

จุดเริ่มต้นอาจแตกต่าง แต่ปลายทางคือฝั่งฝันเดียวกัน – ชีวิตของดาและเป๊กเป็นแบบนั้น
เป๊กคลุกคลีกับหนังสารคดีมานานกว่า 20 – 30 ปี เริ่มต้นตั้งแต่สารคดีจากรายการ กบนอกกะลา และรายการ คนค้นฅน แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เสพคืออะไร แต่ 2 รายการนี้ทำให้เขาเข้าเรียนด้านสื่อสารมวลชน อีกทั้งทำงานเกี่ยวกับหนังและวิดีโอจวบจนปัจจุบัน – ซึ่งตรงกันข้ามกับดา 

แต่เดิมดารู้จักมักจี่เพียงการทำหนังฟิกชันตามกรอบตามขนบ เมื่อได้โจทย์ให้ไปทำหนังสารคดีกับชุมชน ภาพที่เห็นและเรื่องราวที่ได้ฟังทำให้เธอจึงตกหลุมรักความเป็นสารคดีเข้าอย่างจัง

“สารคดีเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรารู้จักโลกอีกใบหนึ่ง เป็นโลกที่เราไม่อยากปรุงแต่งเยอะ เพราะเรื่องราวของเขามีคุณค่าอยู่แล้ว อีกอย่าง ถ้าไม่ใช่สารคดีใหญ่ ๆ แบบสารคดีสัตว์โลก สารคดีก็พาเรากลับไปมองเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัวที่เราอาจมองข้าม นี่แหละ คือเสน่ห์ที่ทำให้เราสนใจสารคดี” ดาอธิบาย

พก : ร้านหนังสือ-โรงหนังเคลื่อนที่ จ.เชียงราย เร่หนังและหนังสือดี ๆ ไปหาชาวเหนือ

เมื่อคนทำหนังสองคนที่คลุกคลีกับวงการสร้างสรรค์ในกรุงเทพฯ ตัดสินใจย้ายมาอยู่ในเมืองขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กอย่างเชียงราย แต่เต็มไปด้วยมวลบางอย่างที่ทำงานกับหัวใจ สายตาของทั้งคู่ก็เริ่มสอดส่ายหาเป้าหมายอะไรบางอย่าง และ 1 ปีหลังจากตกตะกอนกับจังหวัดแห่งนี้ ‘พก’ จึงเกิดขึ้น

“ไม่ว่าจะเป็นสารคดีในรูปแบบของหนังหรือหนังสือ เรารู้ว่ามันมีพลังของเรื่องจริงที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมทั้งวงเล็กและวงใหญ่ แต่ในจังหวัดเชียงรายและอีกหลาย ๆ จังหวัดกลับไม่มีพื้นที่อย่างโรงหนังหรือร้านหนังสืออิสระที่จะนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นได้ เราเลยอยากทำมันขึ้นมาเอง” 

เมื่อพวกเขาตกลงปลงใจว่าจะสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในจังหวัดเชียงราย เป๊กและดาต้องหาโมเดลที่ตอบโจทย์ทั้งความฝันและเงินในกระเป๋า การก่อตั้งโรงหนังที่ตั้งอยู่เฉย ๆ รอให้คนแวะเวียนเข้ามาอาจไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย แต่โมเดลของรถเคลื่อนที่ที่จะพาหนังไปหาคนดูจึงเข้าท่ากว่า

รถตู้คันมินิของพกจึงรับหน้าที่ที่สุดแสนจะบิ๊กตั้งแต่ตอนนั้น

พก : ร้านหนังสือ-โรงหนังเคลื่อนที่ จ.เชียงราย เร่หนังและหนังสือดี ๆ ไปหาชาวเหนือ
พก : ร้านหนังสือ-โรงหนังเคลื่อนที่ จ.เชียงราย เร่หนังและหนังสือดี ๆ ไปหาชาวเหนือ

พกหนังไปฉาย

แรกเริ่ม เป๊กและดาเน้นจัดฉายหนังโดยเก็บค่าเข้าชมในราคา 80 – 100 บาท เมื่อการมีอยู่ของพกเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น และเห็นว่าโมเดลนี้มีคุณค่ากับวงการสร้างสรรค์และประชาชนคนทั่วไป เจ้าของพื้นที่ต่าง ๆ ก็เริ่มเหมารอบหนังไปจัดฉาย เรียกว่าช่วยลดค่าตั๋วให้คนดูและช่วยให้พกอยู่ได้ด้วย 

“การที่เราฉายหนังแล้วมีคนยอมจ่ายค่าตั๋วมาดู ก็แสดงให้เห็นคุณค่าบางอย่างแล้ว แต่คุณค่าหลังจากนั้นคือ บางครั้งมีคนสนับสนุนเพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ถึงคนดูไม่เสียเงินแต่ก็เสียเวลาและอาจจะต้องเสียค่าเดินทาง แปลว่าภาพยนตร์มันทำงานกับเขาอย่างสุดหัวใจ” เป๊กเล่าถึงคุณค่าที่เขาพบ

วิธีการเลือกหนังไปฉายของพกไม่ได้ขึ้นอยู่กับเป๊กและดา แต่ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่นั้นคืออะไร เจ้าของพื้นที่ต้องการหนังรูปแบบไหน จากนั้นจึงจะคัดสรรหนังให้เจ้าของพื้นที่และตัวพื้นที่เลือกสรรอีกทีหนึ่ง  

พก : ร้านหนังสือ-โรงหนังเคลื่อนที่ จ.เชียงราย เร่หนังและหนังสือดี ๆ ไปหาชาวเหนือ

“เราไม่ทำแบบนี้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นแบบนั้นมันก็จะไม่ใช่พก” เป๊กบอก

“เราสองคนรู้สึกด้วยซ้ำว่าพกมีชีวิต ทุกครั้งที่เราขับรถออกไปฉายหนัง ไม่ใช่เราสองคน แต่มันคือพก ซึ่งอยู่เดี่ยว ๆ ไม่ได้ แต่คือการไปต่อปลั๊กอินกับพื้นที่นั้น ๆ เพื่อเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งให้กับพื้นที่นั้น ที่อยากจะสื่อสารหรือลดทอนประเด็นบางอย่างที่อาจเข้าถึงยาก” ดาขยายความ

เธอยกตัวอย่างให้เราฟังว่า พกเข้าไปต่อปลั๊กอินกับพื้นที่นั้น ๆ แบบไหน ครั้งหนึ่งพกไปฉายหนังที่เทศกาลศิลปะเพื่อชุมชนของเชียงใหม่ เข้าไปสนับสนุนชุมชนศิลปะด้วยการฉายหนังสารคดีเรื่อง Kusama: Infinity พาผู้ชมไปทำความรู้จักเรื่องราวของศิลปินหญิงเจ้าของศิลปะลายจุดอย่าง Yayoi Kusama หรือ ไปฉายหนังที่บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย ทั้งคู่ก็มีโอกาสหยิบหนังสารคดี Inside The Uffizi ที่เล่าถึงเบื้องหลังการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์เก่าแก่ที่สุดในโลกมาฉาย

“วันนั้นคนวงการศิลปะในเชียงรายมาดูเต็มเลย คิดดูสิว่าภาพงานศิลปะที่ผู้กำกับตั้งใจถ่ายทอดอย่างดีมันทำงานกับผู้คนแค่ไหน” เป๊กย้อนเล่าถึงภาพเหตุการณ์ที่ยังคงติดอยู่ในหัวเขาเสมอ

นี่คงเป็นชีวิตของพกที่ทั้งคู่ว่าไว้ 

สนทนากับ ‘พก ร้านหนังสือและโรงหนัง’ จ.เชียงราย ร้านหนังสืออิสระและโรงหนังเคลื่อนที่ ของคนทำหนังสารคดีที่เชื่อว่า สารคดีทำงานกับหัวใจคน

พกหนังสือไปเสิร์ฟ

แม้ในเพจเฟซบุ๊กของพกจะเล่าถึงหนังสารคดีมากกว่า แต่ความตั้งใจของทั้งคู่คือ ไม่ได้เป็นแค่โรงหนังเคลื่อนที่เท่านั้น แต่ยังเป็นร้านหนังสืออิสระขนาดมินิด้วย ความน่าสนใจคือหนังสือที่ทั้งคู่เลือกพกไปในแต่ละครั้ง สอดคล้องหรือเชื่อมโยงกับหนังสารคดีที่ทั้งคู่นำไปฉายเสมอ

“ทั้งหนังสือและหนังสารคดีมันคือเรื่องเล่าเหมือนกัน เพียงแต่มีวิธีการเสพแตกต่างกัน ในบางจังหวะ เราก็ต้องการเสพเรื่องราวในรูปแบบของหนังสือ เพื่อให้เรามีเวลาระหว่างบรรทัดในการเก็บเกี่ยวเรื่องเหล่านั้น แต่บางครั้งเราก็ต้องการการแพ็กรวมแบบหนัง แล้วค่อยใช้เวลาหลังจากนั้นเพื่อทบทวน 

“เราเอาหนังสือไปขาย เราไม่บอกว่าเล่มนี้ดีนะคะ เราวางหนังสือไว้เฉย ๆ ให้เขาสนทนากับหนังสือจนกว่าจะถามเรา เราเชื่อว่าถ้าหนังสือเรียกใครสักคนเข้ามา แสดงว่าหนังสือเล่มนั้นทำงานของมันแล้ว”

สนทนากับ ‘พก ร้านหนังสือและโรงหนัง’ จ.เชียงราย ร้านหนังสืออิสระและโรงหนังเคลื่อนที่ ของคนทำหนังสารคดีที่เชื่อว่า สารคดีทำงานกับหัวใจคน

ดายกตัวอย่างให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเป๊กและดาเคยฉายหนังเรื่อง The World Better Your Feet เล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่ออกเดินทางด้วยเท้าหลายหมื่นกิโลเมตร เป็นหนังที่นำเสนอแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับ ‘เมือง’ หนังสือที่ทั้งคู่จะหยิบไปวางไว้ในวันนั้นก็จะเป็นหนังสือที่ว่าด้วยเมืองเช่นเดียวกัน

ถ้าครั้งไหนพกไปฉายหนังในจังหวัดหรือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยร้านหนังสืออิสระที่คนเข้าถึงได้อยู่แล้ว ทั้งคู่ก็จะวางหนังสือไว้ที่บ้าน แล้วพกเพียงหนังไปฉาย เพื่อให้เกียรติเจ้าของร้านหนังสือในพื้นที่นั้น

สนทนากับ ‘พก ร้านหนังสือและโรงหนัง’ จ.เชียงราย ร้านหนังสืออิสระและโรงหนังเคลื่อนที่ ของคนทำหนังสารคดีที่เชื่อว่า สารคดีทำงานกับหัวใจคน

พกบทสนทนา

สนทนากับพกมาจนถึงตอนนี้ คอหนัง (ในโรง) อาจสงสัยแบบเราว่า คุณภาพของภาพที่ฉายคมชัดเพียงพอต่อความต้องการของผู้ชมมากน้อยแค่ไหน เป๊กอธิบายคร่าว ๆ ว่า โปรเจกเตอร์และเครื่องเสียงถูกคัดสรรมาเพียงพอที่จะฉายกลางแจ้งได้ และหลังพระอาทิตย์ตกดินคือเวลาฉายหนังที่เหมาะสมที่สุด

ตอนฉายแรก ๆ เรากังวลกันมาก” ดาบอกความในใจ “เรากังวลว่ามันต้องมืด ต้องเงียบ หรือต้องพยายามทำให้เป็นโรงหนัง แต่ท้ายที่สุด เราพบว่าไม่จำเป็นต้องมีขนบแบบโรงหนังก็ได้ เป็นอารมณ์เหมือนไปดูหนังบ้านเพื่อนที่ไม่มีคนมาบ่นว่าจอไม่มืด เสียงรถดัง และบรรยากาศคล้ายหนังกลางแปลงที่กินไป ดูหนังไปก็ได้ ล่าสุดเรากินราเมงนอนดูหนัง มันคือความอิสระที่อยู่บนฐานของความเคารพกัน” 

สนทนากับ ‘พก ร้านหนังสือและโรงหนัง’ จ.เชียงราย ร้านหนังสืออิสระและโรงหนังเคลื่อนที่ ของคนทำหนังสารคดีที่เชื่อว่า สารคดีทำงานกับหัวใจคน

ด้วยรูปแบบการดูหนังแบบนี้เองที่ทำให้การฉายหนังของทั้งคู่นำมาซึ่งบทสนทนาระหว่างผู้ชม เจ้าของพื้นที่ และตัวพกเอง เช่นครั้งที่จัดฉายหนังว่าด้วยศิลปะ หลังหนังจบ ทุกคนก็พูดคุยเรื่องศิลปะกันต่อ ดาบอกว่าทั้งคู่ไม่ได้ตั้งใจจัดกิจกรรมทอล์กแต่อย่างใด แต่บทสนทนาเหล่านั้นเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ จากการที่ผู้ชมตกตะกอนอะไรบางอย่างและต้องการพรั่งพรูความคิดของตัวเองให้ใครสักคนฟัง ซึ่งการนั่งดูหนังผ่านสตรีมมิ่งที่บ้านด้วยกันไม่กี่คนก็อาจทำให้บทสนทนาเหล่านี้ขาดหายไป 

“นอกจากทำให้เกิดบทสนทนาแล้ว เรากับดาเพิ่งค้นพบความหมายใหม่ของหนังว่า หนังสร้างตัวเลือกทางเศรษฐกิจได้ อย่างตอนที่เราจัดฉายหนังเรื่อง Come Back Anytime เล่าเรื่องของคุณลุงคนหนึ่งที่ทำร้านราเมง กลายเป็นว่าร้านราเมงแถวนั้นขายได้ 50 ถ้วย มันทำให้เราเห็นความงดงามที่หนังได้ทำหน้าที่บางอย่างกับชุมชนตรงนั้น” 

เป๊กเสริมต่อจากดา ชวนให้เราเห็นว่า นอกจากจะพกหนังสือและหนังไปเติมเต็มความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ พวกเขายังสร้างคุณค่าอื่น ๆ ให้กับผู้คนและสถานที่ด้วย

สนทนากับ ‘พก ร้านหนังสือและโรงหนัง’ จ.เชียงราย ร้านหนังสืออิสระและโรงหนังเคลื่อนที่ ของคนทำหนังสารคดีที่เชื่อว่า สารคดีทำงานกับหัวใจคน

แล้วพกกันใหม่

ตลอดการสนทนากับดาและเป๊ก ทั้งคู่ย้ำกับเราเสมอว่า พกมีชีวิตเป็นของตัวเอง จนทั้งคู่พยายามไม่เอาแง่มุมธุรกิจไปครอบงำมากเกินไป นั่นทำให้พกยิ่งอยู่ยากเข้าไปใหญ่ และตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2020 ทั้งคู่ยังคงทำงานส่วนตัวเพื่อทำให้พกอยู่ต่อได้ เพราะค่าใช้จ่ายสูงสุดของพกคือค่าน้ำมัน

ทั้งคู่จึงอาศัยว่าถ้าใครไปทำงานที่ไหน ก็จะพกพกไปด้วย ถ้าพื้นที่ไหนเห็นคุณค่าและเหมารอบหนังไปฉาย ก็ถือเป็นการสนับสนุนผู้ชมและพกไปในตัว ช่วยลดความเสี่ยงหากคนดูน้อยเกินกว่าค่าน้ำมันที่ทั้งคู่จ่าย และเพื่อให้ล้อของพกหมุนต่อได้ ทั้งคู่จึงต้องขายหนังสือที่นำไปจัดวางในราคาเต็มเสมอ  

“พกเลี้ยงตัวเองไม่ได้ แต่มันเลี้ยงใจเรา” ดาเล่าพลางหัวเราะ 

“เราเคยตั้งคำถามกับพกเยอะนะ แต่ทุกครั้งที่เราฉายหนัง มันมีคำตอบให้เราทำต่อ อาจจะไม่ได้ตอบเรื่องธุรกิจ แต่มันตอบคุณค่าบางอย่าง คุณค่าของพื้นที่ คุณค่าของตัวเรา แล้วสุดท้ายภาพที่เราอยากเห็นคือ ทุก ๆ พื้นที่ควรจะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้เท่า ๆ กัน” เธอพูดถึงสิ่งที่เธอปั้นมันขึ้นมา

“ถ้ามีคนทำสิ่งนี้ใกล้ ๆ บ้าน เราก็คงไม่ทำ เพราะอยากเป็นคนดูบ้าง แต่มันไม่มี เราเลยต้องทำ เพื่อวางรากฐานภาพยนตร์อิสระให้ค่อย ๆ งอกขึ้นมาในชุมชน เผื่อคนเห็นแล้วจุดไฟให้เขาอยากจัดฉายหนังเองบ้าง ซึ่งเรายินดีมาก สักวันมันจะเข้าไปหาผู้คน สุดท้ายก็จะส่งผลดีกับวงการภาพยนตร์อิสระและคนทำภาพยนตร์อิสระ” เป๊กบอกความตั้งใจ พร้อมเล่าว่ากระบวนการที่ทำให้พกอยู่ได้ด้วยตนเอง อาจต้องใช้เวลาและแรงกายมากกว่านี้  แต่เพราะพกเร่งรีบไม่ได้ ทั้งเป๊กและดาจึงค่อย ๆ ปั้นพกด้วยกัน

จุดเริ่มต้นอาจแตกต่าง แต่ปลายทางคือฝั่งฝันเดียวกัน – ชีวิตของดาและเป๊กเป็นแบบนั้น

สนทนากับ ‘พก ร้านหนังสือและโรงหนัง’ จ.เชียงราย ร้านหนังสืออิสระและโรงหนังเคลื่อนที่ ของคนทำหนังสารคดีที่เชื่อว่า สารคดีทำงานกับหัวใจคน

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

ประภพ แก้วใจ

คนทำซาวนด์ที่บันทึกเรื่องราวของ ภาพ เสียง ความทรงจำ