The Cloud x British Council

Carol Sinclair ออกแบบและดำเนินธุรกิจเซรามิกที่ประสบความสำเร็จมากว่า 30 ปี เธอเป็นศิลปินโดยแท้ แต่เธอรู้ว่าเธอเป็นได้มากกว่านั้น

ประสบการณ์หลายปีและผู้คนมหาศาลที่เธอพบพาน มอบความรู้ด้านธุรกิจงานคราฟต์ที่เธอคิดว่ามีประโยชน์แก่ช่างฝีมือทั้งหลาย ไม่ว่าจะใช้ชีวิตในสกอตแลนด์ อัฟกานิสถาน หรือประเทศไทย คนทำงานฝีมือและเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ก็ประสบความท้าทายใกล้เคียงกัน

‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์

สมาชิกผู้บริหาร Applied Arts Scotland ร่วมมือกับ British Council Thailand หลายครั้งใน Crafting Futures โครงการพัฒนาภาคงานฝีมือทั่วโลก เธอจัดเวิร์กช็อปให้นักออกแบบและช่างท้องถิ่นในไทย รวมถึงยินดีแบ่งปันบทเรียนและเครื่องมือที่ช่วยให้นักสร้างสรรค์ประสบความสำเร็จบนเส้นทางของตัวเอง

คุณมองว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจหรือศิลปินมากกว่ากัน

คิดว่าเป็นทั้งคู่นะ ฉันเป็นที่ปรึกษาธุรกิจมาสิบแปดปีแล้ว ฉันชอบทำงานกับช่างฝีมืออื่นๆ ฉันเริ่มทำงานในเมืองไทยในปี 2014 และก็ทำงานหลายรูปแบบกับ British Council เป็นทั้งศิลปินอิสระและผู้ดูแลหลายๆ โครงการ หลังจากนั้นฉันก็หาทางทำงานในเมืองไทยตลอดเพราะชอบงานที่นี่มาก

โครงการล่าสุดเป็นการร่วมมือในฐานะ Applied Arts Scotland องค์กรการกุศลที่ก่อตั้งมามากกว่ายี่สิบห้าปี จัดโครงการและนิทรรศการในธุรกิจงานคราฟต์ โดยช่างฝีมือเพื่อช่างฝีมือ เราต่างปรารถนาให้แต่ละคนทำงานได้ง่ายขึ้น 

คุณเชี่ยวชาญด้านธุรกิจและด้านศิลปะไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร ช่างฝีมือในเมืองไทยถนัดเรื่องสร้างสิ่งสวยงาม แต่มีไม่กี่คนที่ทราบวิธีดำเนินธุรกิจ

คนทำงานฝีมือทุกคนที่ฉันรู้จักมีปัญหานี้ทั้งนั้น เพราะคุณมีสิ่งต้องทำมากมายที่แตกต่างกัน คุณต้องมีทักษะ ต้องมีเวลาเรียนรู้วิธีทำงานฝีมือ ต้องออกแบบเป็น และต้องทดลองหลายๆ วิธีเพื่อหาวิธีที่ได้ผล แล้วคุณต้องขายงานเป็น ต้องรู้วิธีคุยกับลูกค้า แถมต้องรู้จักมาร์เก็ตติ้ง

ฉันว่าธุรกิจขนาดเล็กเจอเรื่องนี้ทั้งนั้น โดยเฉพาะงานคราฟต์ซึ่งอาศัยคนที่ใช้ใจทำงาน คนรักงานฝีมือใส่ใจวัตถุดิบและทักษะ ซึ่งต้องใช้เวลา แล้วช่างฝีมือจะหาเวลาทำงานที่แตกต่างกันทั้งหมดนี้ได้อย่างไร มันยากนะคะ คุณต้องมีวินัย และบางครั้งก็ต้องยอมรับว่าไม่มีเวลามากพอหรอก

งานที่ฉันทำหลายปีมานี้คือทำให้คนคิดหาวิธีจัดการเวลาของตัวเอง จะดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาที่สุดได้อย่างไร และจะทำให้ผลงานสะท้อนสิ่งที่คุณหลงใหลได้อย่างไร ไม่ใช่การแยกส่วนสร้างสรรค์ออกจากธุรกิจ แต่เป็นการตามหาวิธีที่จะทำมาร์เก็ตติ้งอย่างสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเพลิดเพลินด้วย

‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์

ตอนที่คุณเริ่มสร้างธุรกิจเซรามิกใหม่ๆ สังคมยอมรับงานคราฟต์เหมือนในปัจจุบันไหม

จากประสบการณ์ของฉัน ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะเป็นคนทำงานคราฟต์ ความเข้าใจงานฝีมือเพิ่มขึ้นมาก ฉันไม่คุ้นเคยกับระบบการศึกษาในเมืองไทย แต่ที่สกอตแลนด์ ปัญหาหนึ่งคือการศึกษาด้านงานฝีมือหายไป ฉันเรียนเซรามิกสี่ปีเพื่อจะพัฒนาฝีมือให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ จนได้ปริญญาด้านเซรามิก ตอนนี้ไม่มีหลักสูตรในสกอตแลนด์ที่ทำให้ได้ปริญญาด้านเซรามิกอีกต่อไปแล้ว เรียนเป็นวิชาหนึ่งได้นะ แต่ทุ่มเทเพื่อเซรามิกอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องไปเรียนที่ส่วนอื่นของโลก

เมื่อการศึกษาด้านงานฝีมือหายไป ความสนใจในงานคราฟต์กลับเติบโตขึ้น สังคมต้องการเรียนรู้เรื่องงานคราฟต์มากกว่าที่เคย เป็นโอกาสให้ช่างฝีมือสร้างรายได้ ไม่ใช่แค่จากการทำงานและขายงาน แต่จากการสอนด้วย ฉันคิดว่าในเมืองไทยเอง ความต้องการวิชางานฝีมือก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเรียนการสอนซึ่งๆ หน้า 

งานฝีมือเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีโอกาสทดลอง โดยเฉพาะเมื่อเราในยุคดิจิทัล งานช่างและทักษะมือจำเป็นมาก ฉันคิดว่าเด็กๆ ควรได้เรียนวิชางานฝีมือในโรงเรียน ปัญหาในสกอตแลนด์คือเราไม่มีวิชางานฝีมือในโรงเรียนประถมอีกต่อไปแล้ว พวกเขาเติบโตโดยไม่มีโอกาสลองงานคราฟต์ ทั้งที่ทักษะงานฝีมือนำไปปรับใช้ได้ ถึงคุณจะไม่เป็นช่างฝีมืออาชีพ ทักษะที่คุณได้รับก็มีประโยชน์กับคุณในชีวิตประจำวัน มีเรื่องเล่าว่านักศึกษาแพทย์ในสกอตแลนด์ซึ่งไม่เคยเรียนงานคราฟต์ในโรงเรียน ถูกมหาวิทยาลัยส่งตัวไปเรียนการทำเครื่องประดับเพื่อศึกษาทักษะการใช้มือ สมมติถ้าใครจะผ่าตัดฉัน ฉันก็อยากให้คนๆ นั้นมีทักษะการใช้มือที่ดีมาก (หัวเราะ)

หลายปีที่ผ่านมา ฉันเห็นหลายๆ คนหันมาทำงานฝีมือเป็นอาชีพทีหลัง พวกเขาอาจจะทำอาชีพอื่นก่อนแล้วในที่สุดก็ได้โอกาสทำสิ่งที่อยากทำมาตลอด คนเราทำงานคราฟต์ได้ในหลายช่วงชีวิต

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างคนทำงานฝีมือชาวสกอตกับชาวไทยคืออะไร

ความหลงใหลในงาน พวกเขาชัดเจนกับสิ่งที่ทำ และมักจะใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะนิยมใช้วัตถุดิบธรรมชาติ พวกเขาใส่ใจชุมชน คนทำงานคราฟต์มากมายดำเนินกิจการเพื่อสังคม เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการแค่ผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องการประโยชน์ส่วนรวมด้วย คนทำงานฝีมือใจดี ใจกว้างมาก และชอบแบ่งปัน พวกเขาชอบช่วยเหลือกัน และฉันดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในนั้น

คุณสมบัติอะไรที่คนทำงานคราฟต์ไทยยังขาดอยู่

นักธุรกิจไทยเข้าใจเรื่องการขาย แต่บางทีพวกเขาอาจยังไม่ได้เล่าเรื่องอย่างมีประสิทธิภาพ ฉันพยายามช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าคนทั่วไปน่าจะสนใจเรื่องราวของพวกเขาในแง่มุมไหน ไม่ได้สอนให้เขาทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิม แต่สอนให้ทำแล้วได้ผลดีขึ้น เล่าเรื่องได้เก่งขึ้น และบางทีก็สอนเรื่องการนำเสนอผลงาน 

ความท้าทายที่คนทำงานฝีมือชาวไทยเจอไม่ต่างจากคนทำงานฝีมือชาวสกอต บางครั้งเราไม่ต้องบอกโลกทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ต้องบอกสิ่งที่เข้าใจง่าย เป็นเหตุเป็นผล และเชื่อมโยงกับเขาได้ง่าย

‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์
‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์

ยกตัวอย่างให้ฟังได้ไหม

ตอนที่ฉันทำงานธุรกิจกระเบื้องเซรามิก ฉันมีกระเบื้องอย่างน้อยยี่สิบแบบในงานแสดงสินค้า ฉันตั้งใจแสดงทุกสิ่งทุกอย่างกับทุกคนอย่างไม่คิดชีวิต เล่าทุกอย่างที่ฉันสนใจ คนเข้ามาดูสิ่งที่ขายแล้วก็สับสน พวกเขาไม่เจอสิ่งที่ต้องการเพราะว่ามันยุ่งเหยิงเกินไป ดังนั้นฉันจึงเรียนรู้ว่าจะดีกว่ามาก ถ้านำเสนอเรื่องราวที่ง่ายขึ้น ประกอบด้วยความตั้งใจและสิ่งที่คุณชอบ ไม่ต้องพยายามเล่าทุกสิ่งที่คุณสนใจให้ลูกค้าฟัง

ปัญหาสำคัญคือมาร์เก็ตติ้งใช่ไหม

ใช่ มาร์เก็ตติ้งคือการเล่าเรื่อง และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกค้า ข้อเท็จจริงด้านธุรกิจข้อหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้คือการสร้างลูกค้าใหม่ยากกว่าการรักษาลูกค้าเดิมถึงสิบสองเท่า ถ้าคุณใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า พวกเขาจะกลับมาหาคุณเสมอ และคุณจะทำงานกับเขาต่อไปอีกหลายๆ ปี 

คุณทำให้คนเชื่อถือแบรนด์ของคุณได้อย่างไร

ประเทศฉันมีกระแสเรื่อง Slow Food และการทำสิ่งที่ใช้ทักษะและเวลาช้าๆ บางทีความชื่นชอบก็มาจากวิธีการเล่าเรื่อง ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตัวเองอีกครั้ง ตอนฉันเริ่มทำกระเบื้องเซรามิกใหม่ๆ ฉันคิดถึงราคาที่ตัวเองจะซื้อแล้วก็ตั้งราคาตามนั้น พอแสดงสินค้า คนเห็นก็บอกว่าแพง ฉันคิดว่า อ้าว จริงเหรอ แล้วฉันก็ตั้งราคาให้ถูกลงทันที แม้ว่าจะเป็นกระเบื้องทำมือที่ใช้เวลาผลิตนานก็ตาม

ฉันคิดว่าลูกค้ารู้ดีกว่าเสมอ แต่เมื่อพอมานั่งนึกว่าฉันใช้เวลาเท่าไหร่ ใช้วัตถุดิบไปเท่าไหร่ แล้วกระบวนการทำมากมายแค่ไหน ฉันคิดว่าควรจะคิดราคากระเบื้องมากขึ้นกว่าเดิมสองเท่าด้วยซ้ำ

ฉันกังวลมากเมื่อนำเสนอกระเบื้องอีกครั้ง ทุกคนบอกว่ามันแพงมาก แต่ลูกค้ามักคิดว่าแพงเสมอ ตอนนี้ฉันบอกพวกเขาได้ว่าจริงๆ มันไม่ได้แพงเลย คุ้มค่ากับเงินมากเพราะกว่าจะได้กระเบื้องนี้มา ฉันต้องลงสีด้วยมือ อบกระเบื้องหลายครั้ง ต้องทำนั่นทำนี่ จนพวกเขาก็เข้าใจ แล้วตกลงซื้อมากกว่าเดิมสองเท่าเพราะเข้าใจคุณค่าของงาน นี่เป็นตัวอย่างการเล่าเรื่อง ไม่ใช่แค่เล่าว่าสินค้าเป็นอย่างไร แต่เล่าว่าคุณมาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร และต้องผ่านอะไรมาบ้าง

สิ่งที่ใช้เวลาย่อมแพงกว่า แต่ก็คุ้มค่าเพราะของคุณภาพดีย่อมทนทาน มันคือการลงทุน มาร์เก็ตติ้งและการเล่าเรื่องมาด้วยกัน งานทั้งหมดที่ฉันทำร่วมกับคนทำงานคราฟต์ในอัฟกานิสถาน เม็กซิโก เมืองไทย หรือสกอตแลนด์เป็นเรื่องเดียวกัน คือทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า กว่าจะผลิตสิ่งที่สวยงามขึ้นมาได้ต้องใช้อะไรบ้าง

คุณเรียนรู้เรื่องเหล่านี้จากประสบการณ์ส่วนตัวหรือจากที่อื่น

ส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ตัวเอง ตอนที่ฉันได้โอกาสทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจและผู้ฝึกสอน ฉันอยากแบ่งปันประสบการณ์ที่มี แล้วฉันก็ได้เจอคนทำงานสร้างสรรค์ทุกประเภท นักดนตรี นักเต้น ช่างฝีมือ แล้วฉันก็เรียนรู้ว่าความท้าทายที่เรามีเหมือนกันคือการมีเวลามากพอที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้ดี

เพราะเราเป็นนักสร้างสรรค์ ส่วนใหญ่เลยชอบทำงาน ชอบนั่งประดิษฐ์สิ่งที่สวยงาม การได้พูดคุยกับคนก็ดีนะ ความกระตือรือร้นของคนที่เจอของสวยๆ นี่น่ารักมาก เมื่อพวกเขาได้เรียนรู้เรื่องราวและเจอคนที่สร้างผลงาน และเราได้สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยม แต่การนั่งลงทำงานมันช่างผ่อนคลายและบำบัด ดังนั้นบางทีเราก็ต้องบังคับตัวเองให้ก้าวไปอีกขั้น 

คุณใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะเข้าใจบทเรียนเหล่านี้ และสามารถสอนคนอื่นๆ ได้

ฉันเรียนรู้มาตลอด และยังมีอีกมากให้เรียนต่อไป ตอนมาเมืองไทยครั้งแรกในฐานะที่ปรึกษาธุรกิจ ฉันไม่เคยสอนคนว่าต้องทำอะไร ฉันแค่ช่วยให้พวกเขาพูดถึงสิ่งที่อยากทำ เป้าหมาย และงานที่อยากสร้าง ถ้าตอบคำถามทั้งหมดได้ การมุ่งไปในทิศทางเดียวจะง่ายขึ้นมาก คนอยากซื้อสินค้าที่ผลิตด้วยหัวใจ 

คนทำงานคราฟต์ไทยคนไหนบ้างที่เรียนกับคุณ

ฉันสอนคนทำงานคราฟต์ในปี 2014 หลายคนที่เรียนตอนนั้นกลายคนดังไปแล้ว พวกเขาประสบความสำเร็จด้านธุรกิจหรือกลายเป็นคิวเรเตอร์ เช่น แบรนด์ PiN metal art (ปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ) Thaniya, Mann Craft (แมน-ปราชญ์ นิยมค้า) , Varni (นัท-มนัทพงศ์ เซ่งฮวด) พวกเขาได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงสินค้าที่ลอนดอน ฉันได้ทำงานกับกลุ่มคนที่ยอดเยี่ยมที่สุดหลายปี การได้เห็นพวกเขาเติบโตและสร้างธุรกิจเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก 

‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์
‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์
‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์

คุณสอนอะไรพวกเขา

ฉันไม่ได้มีส่วนในชื่อเสียงและความสำเร็จของพวกเขา พวกเขาทำงานหนักมาจนถึงวันนี้ แต่สิ่งที่ฉันสอนแตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคย แทนที่จะสอนว่าต้องทำอะไร ฉันให้พวกเขาวาดรูปลูกค้าของตัวเอง ให้พวกเขาทำงานร่วมกันและตัดสินใจว่าเขาอยากทำอะไร การสอนแบบนี้เริ่มเป็นที่รู้จักแล้วตอนนี้ แต่ตอนนั้นมันค่อนข้างแตกต่างจากการเรียนอื่นๆ 

เมื่อสร้างความมั่นใจว่างานเขามีคุณค่า พวกเขาเริ่มตัดสินใจเองได้และผลักดันธุรกิจไปในทิศทางที่อยากไป ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญในการประสบความสำเร็จคือต้องคุมทิศทางธุรกิจให้ได้ การทำให้คนคิดถึงตัวเลือกของเขา คือแก่นที่เราพยายามสร้าง เราเลยทำ Digital Craft Toolkit เว็บไซต์ฟรีที่จะใช้เมื่อไหร่อย่างไรก็ได้แค่เข้าไปลงทะเบียนเท่านั้น

มีอะไรอยู่ในเว็บ Digital Craft Toolkit บ้าง

เราพัฒนาเครื่องมือนี้เป็นสี่ส่วน ส่วนแรกคือการตั้งเป้าหมาย ให้นั่งลงขบคิดว่าอยากทำอะไร ก่อนเจอกับข้อมูลจำเป็นต่างๆ มากมาย ถ้ารู้ว่าอยากทำอะไร ชัดเจนกับเป้าหมาย ก็บรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น 

ส่วนที่สองคือการคิดถึงการพัฒนาสินค้า เรามีเครื่องมือสนุกๆ ที่เรียกว่าเครื่องสุ่มสินค้า มันจะโยนโจทย์ส่งเดชอย่างสถานที่ สี หรือสถานการณ์มาให้ออกแบบ เราอยากให้คนคิดอย่างผ่อนคลาย สนุกที่จะได้พัฒนาสินค้าจากโจทย์เหล่านี้ เลยทำเกมเพื่อช่วยกระตุ้นความคิดแทนที่จะเป็นหัวข้อธุรกิจแห้งแล้ง 

ส่วนที่สามคือการเล่าเรื่อง เข้าใจว่าลูกค้าเป็นใคร มีแบบฝึกหัดให้วาดรูปลูกค้า ไม่ใช่แค่เพื่อให้ระบุลูกค้าเก่า แต่เพื่อให้หาลูกค้าในอุดมคติ สร้างความสัมพันธ์กับคนที่เข้าใจความหลงใหลของเราจริงๆ 

ส่วนสุดท้ายคือเรื่องเงิน เงินสำคัญมาก ต้องรู้ว่าในการขายสินค้า เราหาเงินได้มากพอที่จะสร้างกำไรและทำงานต่อได้

คนไทยคิดยังไงกับคลาสเรียนฟรีนี้บ้าง

เท่าที่ผ่านมาคนชอบมากนะ เราสอนคนมากกว่าร้อยคนในเดือนสิงหาคมที่แล้ว บางคนใช้เครื่องมือนี้เป็นกลุ่ม บางคนใช้คนเดียว จะใช้เพื่อหาคำตอบเฉพาะหรือทำทั้งหมดเพื่อสร้างแผนธุรกิจแบบง่ายๆ ขึ้นมาก็ได้ มันค่อนข้างสนุกที่จะใช้งาน เป็นส่วนผสมระหว่างงานที่เราทำ และประสบการณ์ที่ฉันได้เรียนรู้จากคนทำงานคราฟต์ในประเทศอื่นๆ 

สิ่งที่น่าสนใจคือแม้ประเทศจะต่างกัน สิ่งแวดล้อมต่างกัน บางครั้งวัตถุดิบหรือภาษาก็ต่างกัน แต่ความท้าทายเหมือนเดิมเสมอ คือทำยังไงให้คนเข้าใจคุณค่าของสิ่งที่คุณทำด้วยมือ 

‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์

อะไรทำให้เครื่องมือนี้ใช้งานได้ผลดี

นักพัฒนาเว็บชาวสกอตช่วยเราเรื่องนั้น แต่เราก็มาเมืองไทยตั้งแต่ปีก่อนเพื่อถ่ายทำคนทำงานคราฟต์ไทยและสัมภาษณ์พวกเขาเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ เราสัมภาษณ์คนทำงานคราฟต์ชาวสกอตด้วย ดังนั้นเครื่องมือนี้จึงมีชุดหนังสั้นของคนทำงานฝีมือเก่งๆ ผู้ชมจะได้แรงบันดาลใจจากคนที่ปฏิบัติจริง ไม่ใช่แค่เรียนทฤษฎี พวกเขาใจกว้างมากที่แบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้กับคนอื่นๆ เวลาท้อแท้ก็มีตัวอย่างให้เห็นว่าพวกเขาทำได้

เราอยากมั่นใจว่าเครื่องมือนี้เปิดตัวในเมืองไทยและปีหน้าเราจะเปิดตัวเครื่องมือนี้ที่สกอตแลนด์ด้วย โครงการ Crafting Futures ประเทศอื่นๆ ก็สนใจเช่นกัน เราอาจจะพัฒนาเครื่องมือนี้ในอินเดียและอาร์เจนตินา เราอยากแปลเครื่องมือและถ่ายทำการทำงานของช่างฝีมือ เพื่อจะได้มีตัวอย่างสำหรับทุกประเทศ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน การได้เห็นตัวอย่างประเทศอื่นเป็นแรงบันดาลใจและเห็นความคล้ายคลึงของกันและกัน รู้สึกเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ และไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเกินไป ถึงแม้ว่าช่างฝีมือจะพูดภาษาต่างกัน แต่พวกเขาสื่อสารกันผ่านมือและเข้ากันได้ดี

สมาชิก Wanita เรียนเวิร์กช็อปกับคุณด้วย การสอนช่างฝีมือชุมชนแตกต่างจากการสอนนักออกแบบไหม

เป็นหนึ่งในการสอนที่อ่อนไหวที่สุดที่ฉันเคยจัดมาเลย พวกเขาอยากให้คนเข้าใจว่าแม้ต่างศาสนากัน เราก็อยู่ร่วมกันได้มีความสุข เป็นเรื่องใหญ่ที่ฉันได้เรียนรู้และพกกลับบ้าน วันสุดท้ายทุกคนต่างร้องไห้ ฉันได้เรียนรู้ว่าชีวิตพวกเขายากแค่ไหน และถ้าฉันช่วยได้สักหน่อยก็คงดี

สิ่งที่ยอดเยี่ยมไม่ใช่แค่การเห็นสินค้า แต่คือการได้เห็นว่าช่างฝีมือมีความสุขแค่ไหน พวกเขามีความสุขและความมั่นใจ ตอนแรกที่เราเจอกัน พวกเขาไม่กล้ามองตาเราด้วยซ้ำ พวกเขาประหม่า ขี้อาย และไม่รู้สึกถึงคุณค่าตัวเอง เช้าวันนี้เรากอดกัน ทักทายกัน และดีใจที่ได้เจอกัน สุดยอดมาก พวกเขาภูมิใจจริงๆ ในสิ่งที่ทำ สินค้าของพวกเขาก็สวยงามมาก พวกเขามีทักษะที่ดีมากและทำงานที่มีกลิ่นอายร่วมสมัย สินค้าที่พวกเขาทำซ้ำๆ มาหลายปีได้รับการชุบชีวิตใหม่ พลังและความมุ่งมั่นที่พวกเขาเคยขาดไปกลับมา

เราคุยกับช่างจักสานคนหนึ่ง วันแรกที่เจอกันเขาหน้าตาเครียดมาก เขาค่อนข้างเศร้าเพราะขายของได้ไม่ดีและไม่ได้รายได้เยอะเท่าแต่ก่อน แต่ตอนนี้เขามีสินค้าชุดใหม่ที่ทำให้เขาภูมิใจและตื่นเต้น เห็นได้จากภาษากายเลย ตอนนี้เขายืนตรงสง่าผ่าเผย

‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์
‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์

กลุ่มย่านลิเภา (อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส) เคยทำกระเป๋าย่านลิเภาที่ใช้ในงานพิธี ซึ่งมีตลาดน้อยลงเรื่อยๆ จึงต้องหาสินค้าใหม่ พวกเขาทำกล่องขนาดเล็กลง เครื่องประดับ คัฟลิงก์ ที่คาดผม และปิ่นปักผมที่ใช้ทักษะชั้นสูงดั้งเดิม กลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านทุ่ง (อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี) และกลุ่มกระจูดโคกพะยอม (อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส) ทำภาชนะทรงสวย กลุ่มปาหนันปูลากาป๊ะ (อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส) ทำคอลเลกชันงานสานที่คิดมารอบคอบ เขาทำชุดจักสานชายหาดโดยใช้สีที่สื่อถึงท้องฟ้า ทะเล และธรรมชาติรอบตัว

‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์
‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก Carol Sinclair ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์
‘นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำงานคราฟต์’ คำแนะนำจาก c ศิลปินเซรามิกที่ผันตัวเป็นที่ปรึกษาธุรกิจงานคราฟต์อ

พวกเขาทำเลือกชุดสินค้าที่สัมพันธ์กัน ซึ่งคนเข้าใจและซื้อได้ง่าย เป็นการสร้างคอลเลกชันไม่ใช่แค่สินค้าเดี่ยวๆ จึงสนับสนุนให้ลูกค้าซื้อของได้มากกว่าหนึ่งชิ้น หรือกลับมาอีกครั้งและอีกครั้งเพื่อสะสม เป็นวิธีการสร้างลูกค้า

อะไรคือปัญหาของตลาดงานคราฟต์ในเมืองไทย และคนทำงานคราฟต์ไทยจะแก้ได้อย่างไร

มีงานคราฟต์สวยๆ มากมายในเมืองไทยให้ช้อปปิ้ง แต่ก็สับสนได้เพราะมีแต่ครามเยอะแยะเต็มไปหมด คุณจะทำให้สินค้าของคุณโดดเด่นได้อย่างไร มันต้องมาจากที่มาจริงใจ ซึ่งคุณรู้สึกภูมิใจและหลงใหล

คุณจะเชื่อมต่อเรื่องราวของคุณกับลูกค้าได้อย่างไร เวลาพูดถึงชายหาดที่บันดาลใจคุณในชีวิตประจำวัน ลูกค้าคุณต้องอยากไปชายหาดกับคุณ อยากเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว สิ่งที่คุณทำได้ดีและแตกต่างคืออะไร เวลาคิดถึงจุดขาย คนมักนึกถึงสิ่งเดียว แต่มันคือส่วนผสมระหว่างสถานที่ มรดก ตัวตน วัตถุดิบ และความคิดร่วมสมัย คือการนำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมารวมกันเพื่อเล่าเรื่องที่สวยงามของงานคราฟต์ของคุณ 

ถ้าสินค้าไหนเป็นที่นิยมมากๆ ก็มักมีการเลียนแบบตาม แล้วคนทำงานฝีมือควรทำอย่างไร

ยากนะ เวลาคนเห็นสิ่งที่เขาคิดว่าประสบความสำเร็จ เขาก็อยากเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่มันก็ไม่ช่วยใครเลย เพราะถ้าลอกใคร สิ่งเดียวที่คุณทำได้คือทำถูกกว่า แล้วราคาก็จะต่ำลงหมด ซึ่งไม่ช่วยคุณเท่าไหร่ เพราะมันเป็นเรื่องราวของคนอื่น ไม่ใช่ของคุณ เราต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่าเราต่างต้องหาจุดขายของตัวเอง ไม่มีเหตุผลที่จะลอกคนอื่น คุณต้องพยายามที่จะมีเอกลักษณ์ และคนที่เราทำงานด้วยตอนนี้ เราเห็นเลยว่าเขาพวกเขากำลังก้าวหน้า และจะมีสิ่งใหม่มานำเสนอเสมอ

Crafting Futures เป็นโครงการของ British Council ที่สนับสนุนงานคราฟต์ทั่วโลก โดยสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือดีไซเนอร์และชุมชนให้ทำงานคราฟต์ที่ดีขึ้น ขายได้มากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าของงานฝีมือมากขึ้น ถ้าสนใจกระบวนการพัฒนางานคราฟต์ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ หรือเลือกชมสินค้าจักสานจากคอลเลกชันใหม่ของ Wanita ได้ที่ Facebook : WANITA

Let’s try Craft Toolkit!

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย