เชื่อไหมคะว่า อาหารที่เรากินทุกคำต่างสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีส่วนทำให้โลกร้อน

แล้วเชื่อไหมคะว่า ถ้าเราดื่มนมไปหนึ่งแกลลอน แล้วอยากชดเชยปริมาณคาร์บอนฯ ให้กลายเป็นศูนย์ ต้องหยุดขับรถแล้วเดินเป็นระยะทาง 45 กิโลเมตร คือประมาณจากสยามพารากอนไปสวนสามพราน

ฟังดูบ้าใช่ไหมคะ ใครจะไปทำได้

แมท พลิช (Matt Plitch) ไม่คิดอย่างนั้นค่ะ

เขาบอกว่าอยากช่วยโลกไม่ต้องจ่ายแพงขนาดนั้นก็ได้ แค่จ่ายเงินเพิ่มอีกนิดหน่อย แล้วซื้อนม Carbon Neutral ก็ช่วยชดเชยคาร์บอนที่เราปล่อยไปได้เหมือนกัน

นม Carbon Neutral นมจากพอร์ตแลนด์ที่ดื่มแล้วช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
นม Carbon Neutral นมจากพอร์ตแลนด์ที่ดื่มแล้วช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

เรื่องนี้อุ้มไม่ได้ไปอ่านจากโฆษณาหรือฟังจากใครเขามาหรอกค่ะ แค่จะไปซื้อนมที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้าน แล้วเห็นกล่องนมหน้าตาสวยวางอยู่บนชั้น ก็เลยหยิบมาเพราะว่ามันออร์แกนิก แล้วก็ไม่ได้แพงกว่านมออร์แกนิกยี่ห้ออื่นๆ เท่าไหร่นัก

พอมาถึงบ้านนั่นแหละค่ะ ถึงได้มีเวลาอ่านที่กล่อง แล้วก็ถึงกับต้องเข้าไปอ่านต่อในเว็บไซต์ว่า Carbon Neutral Milk คืออะไร สุดท้ายก็เลยได้ความรู้เพิ่มเติมมาด้วยเรื่อง Carbon Footprint* ของอุตสาหกรรมนมและวิธีการที่จะ Offset หรือชดเชยปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาตั้งแต่แม่วัวจนถึงวินาทีที่บรรจุภัณฑ์ถูกกำจัดหมดสิ้น

เพราะนมกล่องเดียวแท้ๆ เลย

*Carbon Footprint คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน จนกระทั่งถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยทำการคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์

ขอเล่าหน่อยแล้วกันค่ะว่า คุณแมทเนี่ยแกเคยทำงานเป็นนักการตลาดดาวรุ่งอยู่ที่ Nike ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่แถวๆ พอร์ตแลนด์นี่เอง ด้วยความที่เป็น Product Innovation Director แกเลยต้องเดินทางไปทั่วโลก เพื่อประชุมหาข้อมูลใหม่ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วผลข้างเคียงจากการได้พบปะกับผู้คนจากหลายซีกโลก ก็คือการได้ยินคนพูดคำว่า Carbon Footprint และ Carbon Neutral บ่อยขึ้นทุกทีๆ และมีแต่คนอยากหาทางชดใช้ปริมาณคาร์บอนที่ตัวเองก่อ แต่ยังไม่รู้จะทำยังไงให้ได้ผลมากที่สุด โดยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองน้อยที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือ อยากช่วยโลก แต่ไม่อยากต้องลงทุนเยอะ ว่าอย่างนั้น

แมทบอกว่า ทำงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็สนุกตื่นเต้นดี แต่ผ่านไป 6 ปี เขากลับรู้สึกว่าอยากทำอะไรที่มีคุณค่าต่อโลกมากกว่าพัฒนารองเท้า ตอนนั้นเองที่ความคิดเรื่องอาหารที่มีค่าปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ก็ผุดขึ้นมาในใจของเขา

นม Carbon Neutral นมจากพอร์ตแลนด์ที่ดื่มแล้วช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
ภาพ : eatneutral.com

ทำไมต้องชดเชยคาร์บอนให้เป็นศูนย์… ฉันก็กินอาหารออร์แกนิก ไข่ไก่ฟรีเรนจ์ ไม่กินเนื้อสัตว์ รีไซเคิล ใส่เสื้อมือสอง ขับรถไฮบริด สลับกับขี่จักรยานไปทำงานแล้วนี่นา ยังไม่พออีกหรือไง แมทอธิบายว่า ทำสิ่งเหล่านี้น่ะดีมากอยู่แล้ว แต่เขาอยากกระตุ้นให้คนคิดถึงอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่อย่างอาหาร ที่ปรับพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย แต่ส่งผลกระทบต่อโลกได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ

นั่นเป็นที่มาของบริษัทอาหารคาร์บอนเป็นศูนย์บริษัทแรกของโลกชื่อ Neutral ที่แมทตั้งขึ้นจากบ้านตัวเองในพอร์ตแลนด์ (ซึ่งห่างจากบ้านอุ้มไปไม่เกิน 15 นาที) เมื่อปลายปี 2019 ที่ผ่านมานี้เอง

เขาบอกว่าเริ่มต้นจากนมก่อนเลย เพราะอุตสาหกรรมโคนมนั้นมีส่วนสร้างก๊าซเรือนกระจกให้กับโลกถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีนักวิชาการเก่งๆ ทำการศึกษามานาน มีข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ดร. เกร็ก โธมา (Dr. Greg Thoma) แห่งมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ ที่ทำวิจัยเรื่องนี้จริงจังมาเป็นสิบปี และเก็บข้อมูลจากฟาร์มโคนม 536 แห่งทั่วอเมริกา ทำให้ได้รู้ว่า Footprint ต้องคำนวณจากอะไรบ้าง

ขอเล่าด้วยความเนิร์ดว่ากว่าที่บนกล่องจะเขียนว่า “นมกล่องนี้ชดเชยคาร์บอนไป 12 ปอนด์” นั้น เขาต้องคำนวณการปล่อยคาร์บอนจากอาหารวัว น้ำ ปุ๋ยที่ใส่ในทุ่งหญ้า เรอและลมที่วัวปู๋ออกมา ขี้วัว แทร็กเตอร์ ไฟฟ้าที่ใช้ในฟาร์ม การรีดนม รถบรรทุกที่ขนนมมาส่งโรงบรรจุ การแปรรูป การบรรจุใส่กล่องหรือขวด รถบรรทุกไปส่งตามร้าน การแช่เย็น อัตราการรั่วไหลของความเย็นทุกครั้งที่มีคนเปิดตู้แช่ จนกระทั่งการแช่เย็นในตู้เย็นที่บ้านคน อัตราการใช้พลังงานในตู้เย็น ไปจนถึงกรณีที่นมขายไม่หมด ต้องทิ้ง และการทำลายกล่องนมหลังจากดื่มหมดแล้ว

ละเอียดขนาดนี้เลยค่ะ

นม Carbon Neutral นมจากพอร์ตแลนด์ที่ดื่มแล้วช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
ภาพ : eatneutral.com

แล้วอีกอย่าง คนก็บริโภคนมเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว โดยเฉพาะในสังคมอเมริกันดื่มนมกันแทนน้ำ บ้านหนึ่งยิ่งถ้ามีเด็กเล็กเด็กวัยรุ่น ซื้อนมอาทิตย์ละแกลลอนสองแกลลอนนี่เป็นเรื่องธรรมดาเลยค่ะ แล้วนอกจากตามบ้าน ยังมีคาเฟ่ ร้านอาหาร โรงอาหารตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย บริษัทต่างๆ อีก เรียกว่ามีตลาดใหญ่โตมโหฬารและมีข้อมูลมหาศาลอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณแมทจะตาแหลม มองเห็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงจากการเข้าไปจับเรื่องนี้ แทนที่จะต้องเสียเวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มาทดแทนนม

วิธีที่เขาเลือกชดเชยปริมาณคาร์บอนก็น่ารักค่ะ คือเขาเข้าไปสนับสนุนโครงการ Rainier Biogas Project ซึ่งเป็นฟาร์มโคนมเล็กๆ 3 แห่ง รวมตัวกันเอาขี้วัวมาผ่านกระบวนการ เพื่อแยกก๊าซมีเทนออกมาใช้เป็นพลังงานทดแทน แทนที่จะปล่อยกลับไปสู่ชั้นบรรยากาศ หรือโครงการ Cedar Grove Composting ที่รวบรวมเศษอาหารเหลือทิ้งจากบ้านเรือนและร้านอาหาร เอามาฝังเพื่อกักก๊าซมีเทนไว้ในดิน และปรับปรุงคุณภาพของดินไปในตัว โครงการแบบนี้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำ เกิดผลดีต่อสัตว์ และช่วยพัฒนาป่าไม้ด้วย

นม Carbon Neutral นมจากพอร์ตแลนด์ที่ดื่มแล้วช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
นม Carbon Neutral นมจากพอร์ตแลนด์ที่ดื่มแล้วช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

อุ้มเล่ามาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งคิดว่า “แหม… เป็นอเมริกาก็ทำได้สิ” นะคะ อุ้มมองเห็นภาพแบบนี้ค่ะ เมืองไทยเราเอง ถ้าเลือกผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่นๆ ที่คนบริโภคมาก และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเยอะๆ อย่างเช่น ข้าว แล้วแทนที่จะเน้นเรื่องข้าวอินทรีย์เพียงอย่างเดียว แต่ทำการศึกษาโดยใช้แนวทางแบบนี้เป็นตัวอย่าง (หรือจริงๆ อาจจะมีคนทำไว้แล้วก็ได้นะคะ) ว่า Footprint ของข้าวหนึ่งกิโลกรัมเป็นเท่าไหร่ จากนั้นหาวิธี Offset หรือชดเชยปริมาณคาร์บอน ด้วยการไปสนับสนุนโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยเอง เราก็จะได้ Carbon Neutral Rice ข้าวคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือทุเรียนคาร์บอนเป็นศูนย์ น้ำตาลโตนดคาร์บอนเป็นศูนย์ ฟังดูไม่เลวเลยใช่ไหมคะ ร้านอาหารเก๋ๆ เชฟดังๆ ถ้าช่วยกันสนับสนุนเรื่องนี้ ก็จะกลายเป็นที่พูดถึงต่อกันไปเรื่อยๆ

แมทบอกว่า คอยดูเถอะ อีกไม่นานตามซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีโซนอาหาร Carbon Neutral และเรื่องนี้จะกลายเป็นเทรนด์ มีคนเรียกตัวเองว่าเป็น Neutralist เหมือนกับที่มีคนบอกว่าตัวเองเป็น Vegan เป็น Vegetarian เป็น Gluten-free อย่างนั้นเลย

อุ้มเริ่มศึกษาเรื่องนี้แล้วก็รู้สึกว่ามีความเป็นไปได้มากเลยนะคะ และอย่างน้อยตอนนี้ บ้านอุ้มก็เริ่มจากนม Carbon Neutral มุมเล็กๆ ในตู้เย็น ด้วยความหวังว่าจะเห็นมันขยายพื้นที่ไปเป็นอาหารอื่นๆ เพราะนั่นหมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะลดน้อยลง เพื่อโลก เพื่อลูกหลานของเราทุกคนนะคะ

eatneutral.com

Writer & Photographer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์