ความดิบ ความจน ความอดอยาก ความแห้งแล้ง ความล้าหลัง อาจเป็นภาพของแอฟริกาที่เรามีอยู่ในหัว แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนก็นึกถึงแอฟริกาเพราะสีสันสดมันจัดจ้าน และหลายคนอาจได้ยินเสียงทำนองกลองและเครื่องเคาะจังหวะดังระรัวแว่วเข้ามาในความรู้สึกนึกคิด
ดูเหมือนภาพของทวีปแอฟริกาจะเป็นภาพของความขัดแย้ง ย้อนแย้ง และผสมกลมกลืนไปด้วยความเก่าใหม่ วัฒนธรรมปนเปที่ทำซ้ำและนำเข้าหลายครั้งหลายครา ผ่านการค้าขายรอบมหาสมุทรอินเดียของแขกอาหรับ ตามด้วยฝรั่งตะวันตกที่เข้ามาตีเส้นแบ่งดินแดนแห่งทรัพยากรอันอุดม และนำคนแอฟริกาออกไปเป็นทาสใช้แรงงานในอาณานิคมทวีปอื่นๆ
แม้แอฟริกาในวันนี้ไม่ได้มีแต่ความดิบ ความจน ความอดอยาก และหลายๆ ภาพที่เราอาจคิดถึงในแง่ลบแล้ว ผมได้เรียนรู้และทำความเข้าใจทวีปนี้ผ่านผืนผ้าพิมพ์ลายของชาวแอฟริกา สิ่งใหม่ที่คนแอฟริกาทั่วทั้งทวีปเพิ่งรู้จักไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี่เอง
ผ้าของคนอื่นแต่กลายมาเป็นของตัวเอง
แม้ทวีปแอฟริกาจะใหญ่โตมโหฬาร แต่ไม่ว่าในประเทศไหนๆ ทั้งทางตะวันออกและด้านตะวันตก ผ้าพิมพ์ลายถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนแอฟริกาทั้งหญิงและชายตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
ว่ากันว่า ผ้า Wax Print นี้เข้ามายังแอฟริกาผ่านพ่อค้าชาวอาหรับตามมหาสมุทรอินเดีย ผู้เป็นนายหน้าขายทาสและของป่า ตั้งแต่ก่อนที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกจะรู้จักและครอบครองแอฟริกา จึงไม่แปลกใจที่หลายคนอาจสังเกตว่า ผ้าพิมพ์ลายของแอฟริกาคล้ายโสร่งของชาวมลายูและชาวอินโดนีเซีย
ผืนผ้าพิมพ์ลายแบบแอฟริกาหรือที่เรียกว่า African Wax Print มีเอกลักษณ์ที่หมึกพิมพ์ซึมผ่านผ้าผืนหนาเห็นเด่นชัดเท่ากันทั้งสองด้าน ผิดแผกจากผ้าพิมพ์ลายของที่อื่นที่เห็นลายชัดแค่เพียงด้านเดียว
น่าสนใจที่ว่าชื่อ Wax Print มาจากเทคนิคเริ่มแรกคล้ายผ้าบาติกของอินโดนีเซีย โดยใช้ขี้ผึ้งฉาบเป็นลวดลายป้องกันไม่ให้หมึกย้อยซึมเข้าไปในเส้นใยของผ้า ก่อนที่จะทำซ้ำไปซ้ำมาจนเป็นผ้าลายงาม ต่อมาเทคนิคสมัยใหม่แบบอุตสาหกรรมที่ใช้ลูกกลิ้งฉาบหมึกหมุนทาบไปบนผืนผ้า ซึ่งริเริ่มจากชาวดัตช์ได้เข้ามาแทนที่ และในช่วงหนึ่ง โรงงานในเนเธอร์แลนด์ถือเป็นผู้ผลิตผ้าแอฟริกาแบบ Wax Print รายใหญ่ส่งมาขายในแอฟริกาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
โรงงานผลิตผ้าพิมพ์ลายที่เคลือบด้วยไขขี้ผึ้งที่มีชื่อเสียงและประวัติอันยาวนานเห็นจะไม่พ้นโรงงานที่ชื่อ Vlisco (vlisco.com) ที่ผลิตผ้าพิมพ์ลายมาแล้วกว่า 170 ปี โดยออกแบบผ้าพิมพ์ลายลวดลายต่างๆ มากกว่า 350,000 ลาย ส่งออกไปขายในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก
ทุกที่ในแอฟริกาใช้ผ้าพิมพ์ลาย
ไม่ว่าไปที่ไหนในแอฟริกา เราคงได้เห็นผ้าพิมพ์ลายเคลือบไขผึ้งโดยทั่วไป
คนท้องถิ่นเรียกผ้าพิมพ์ในชื่อต่างๆ กัน ลวดลายบนผืนผ้าก็เป็นที่นิยมตามแต่กระแสและความชอบของคนในท้องถิ่น ในแอฟริกาตะวันออก เช่น เคนยา แทนซาเนีย เรียกผ้าพิมพ์ลายแบบนี้ว่าผ้า Kitenge และออกเสียงเพี้ยนเป็น Chitenge ในมาลาวี ส่วนในโมซัมบิกเรียกว่า Capulana ในแอฟริกาตะวันตก เช่น กาน่า ไนจีเรีย เรียกว่า Ankara
ในโมซัมบิก ทุกคนใช้ผ้า Capulana ในชีวิตประจำวัน ช่วยทำให้ถนนสีหม่นที่เต็มไปด้วยฝุ่นสีน้ำตาลปลิวคลุ้งมีสีสันสดใสขึ้นมาทันที ผู้หญิงใช้ผ้า Capulana คลุมสะโพกยาวไปถึงท่อนขาก่อนมัดเป็นปมที่ท้องเพื่อแสดงถึงความสุภาพ ป้องกันกระโปรงและกางเกงจากฝุ่นสกปรก ยามจะต้องนั่งนอนบนพื้น ผ้า Capulana ก็เป็นพรมรองนั่งนอนชั้นดี และบางทีก็นำมาใช้คาดไหล่ตะแบงลูกน้อยไว้บนหลัง ในแอฟริกาตะวันตก ผู้หญิงก็ใช้ผ้าพิมพ์ลายแบบนี้เป็นผ้าโพกหัวด้วย
ส่วนผู้ชายสมัยใหม่นำผ้ามาตัดเป็นเสื้อกางเกงเข้ารูป บ้างก็นำผ้าสีสันมาขลิบที่คอปก ปลายแขน หรือสาบเสื้อเชิ้ตทั้งแขนสั้นและยาว ในงานแต่งงานของญาติมิตรคนสนิท ทั้งหญิงชายต่างชวนกันไปตัดเสื้อกับช่างตัดเสื้อในหมู่บ้านโดยใช้ผ้าลายเดียวกัน
บ่อยครั้งที่ผมเชื้อชวนแขกที่เดินทางมาให้ไปซื้อผ้า Capulana และให้ช่างท้องถิ่นวัดตัวและตัดให้เดี๋ยวนั้น เทคนิคพิเศษที่ช่างตัดผ้าชาวแอฟริกันต้องมี คือสายตาการตัดต่อผ้าเพื่อให้ลายบนผ้าปรากฏออกมาสวยชัดเจน เพราะถ้าตัดผ้าผิดทางแล้ว เสื้อหรือกางเกงตัวนั้นก็อาจออกมาดูไม่ดี แม้ว่าใช้ผ้าผืนลวดลายสวยงามเพียงใดก็ตาม
ผ้าพิมพ์ลายเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น
คนแอฟริกาใช้ลวดลายผ้าแสดงถึงความเป็นพวกพ้องและแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิด เช่นเดียวกับที่เราสวมใส่เสื้อยืดพิมพ์ลายหรือข้อความบนหน้าอกเสื้อยืดแบบอเมริกันนิยม
ลวดลายและสีสันที่ปรากฏบนผืนผ้า มักแสดงออกสิ่งสวยงามและมีคุณค่าในแต่ละท้องถิ่นที่ผู้ผลิตนำผ้าเข้าไปขาย ผ้าที่เห็นในแอฟริกาตอนใต้และตะวันออกมักเป็นรูปสัตว์ป่าในทุ่งหญ้าสะวันนา เช่น กวาง Impala สิงโต หรือยีราฟ ภาพข้าวโพดและมะม่วงหิมพานต์ สื่อถึงอาหารและสินค้าเกษตรที่สำคัญ ผ้าในแอฟริกาตะวันตกอาจเป็นสิ่งที่ฉูดฉาดและร่วมสมัยกว่า ไม่ว่าลายกระเป๋าถือสมัยใหม่ของผู้หญิงหรือลายรองเท้าส้นสูง
ผมเคยไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในเคนยาและโมซัมบิก เห็นได้ชัดว่าผ้าเป็นของขวัญชิ้นล้ำค่าและมีความหมาย ผ้าถือเป็นของกำนัลชั้นเยี่ยมสำหรับแขกผู้มาเยือน และเป็นของฝากชั้นยอดสำหรับญาติสนิทมิตรสาย ครั้งหนึ่งในโมซัมบิก นายอำเภอที่เราไปร่วมทำงานพัฒนาหมู่บ้านด้วยมอบผ้าพิมพ์ลายหรือที่เรียกในภาษาท้องถิ่นว่า Capulana ให้กับท่านทูตและแขกผู้เยือนจากประเทศไทย
ในเคนยาและแทนซาเนีย ผ้าพิมพ์ลายท้องถิ่นที่เรียกว่า Kanga มีขนาดประมาณ 1 x 1.5 เมตร ซึ่งเป็นผ้าท้องถิ่นที่พิมพ์ลายเป็นกรอบสี่เหลี่ยมรอบขอบทั้ง 4 ด้านของผ้าและเขียนสุภาษิตท้องถิ่นไว้เป็นภาษาสวาฮิลี (ซึ่งเป็นภาษาราชการของเคนยาและแทนซาเนียที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาอาหรับ) และจะขายคู่กัน 2 ผืน และส่วนใหญ่เป็นของใช้ของสตรีชาวมุสลิม เมื่อนำมาตัดแบ่งครึ่งแล้ว ผืนหนึ่งจะนำมาไว้คลุมศีรษะ ไหล่และลำตัว ในหลายครั้งผู้สวมใส่จะเลือกใส่ผ้าที่แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกและความนึกคิดของตนที่อยากบอกให้คนใกล้ชิดหรือคนรักได้ทราบ
สุภาษิตที่พิมพ์บนผ้าพิมพ์ลายแบบ Kanga นี้มีอาทิ
Subira ina malipo ความอดทนย่อมให้ผล
Duniani kuna pepo, wawili wapendanapo ในโลกใบนี้ เมื่อสองคนตกหลุมรักกัน ผีและเทวดาย่อมรู้เห็น
Umekuja na lako usichunguze la mwenzako เราก็มีส่วนของเรา จงอย่าต่อว่าเพื่อนบ้านของเราเลย
Lisilo budi hutendwa อะไรที่ควรต้องทำให้เสร็จสิ้น ก็ต้องทำให้สำเร็จ
Hera pancha ya pajaro kuliko rafiki mwenye kero ยางรถยนต์แตกอาจดีกว่าเพื่อนที่มัวแต่สร้างปัญหา
Majivuno hayafa ไม่มีคุณค่าใดๆ ในการคุยโวโอ้อวด
สุภาษิตเหล่านี้เฉียบคมไหม
ลองนึกเล่นๆ กันว่า หากคุณเป็นสุภาพสตรี ถ้าวันหนึ่งคุณโกรธแฟนหรือสามี คุณจะหยิบผ้าชิ้นไหนขึ้นมาใส่ดี
เข้าเมืองมาซื้อผ้าในตลาด
เมื่อคนท้องถิ่นเข้าเมืองมาตลาด เขาอาจมีแผนไปซื้อผ้าพิมพ์ลายมาใช้เอง โดยเฉพาะในเทศกาลพิเศษและสำคัญ เช่น งานแต่งงาน งานเฉลิมฉลอง หรือแม้กระทั่งในงานศพของญาติสนิท
ผ้าท้องถิ่นเช่นนี้หาซื้อไม่ยาก มีทั้งคนซื้อมาขายต่อทั่วไป และร้านขายผ้าใหญ่ในเมืองหลวง เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ
ในแอฟริกาตะวันออก เจ้าของร้านขายผ้ามักเป็นครอบครัวชาวอินเดียที่มาตั้งรกรากในแอฟริกาหลายชั่วคน เจ้าของร้านปัจจุบันเป็นพ่อค้าแม่ค้ารุ่นที่ 4 รุ่นที่ 5 แล้ว
ในโมซัมบิก มีร้านชื่อดังในกรุงมาปูโตชื่อว่า Casa elefante ตั้งอยู่ที่หน้าตลาดกลางของเมือง ขายผ้า Capulana หลายร้อยลาย หญิงวัยกลางคนเจ้าของร้านรุ่นที่ 5 เล่าให้ฟังว่า ร้านของเธอนำเข้าผ้าพิมพ์ลายที่ขายๆ อยู่นี้จากอินเดียและจีน โดยสั่งผ่านแคตตาล็อกที่มีลายผ้าให้เลือก ทั้งครอบครัวใหญ่ของเธอช่วยกันเลือก โดยคาดเดาจากความนิยมของตลาด เมื่อผ้ามาเป็นม้วนใหญ่ ร้านนำมาตัดแบ่งขายเป็นชิ้นความยาวประมาณ 2 เมตร ของผ้าที่หน้ากว้าง 1 เมตร สนนราคาขายปลีกชิ้นละราว 100 – 130 บาทเมื่อคิดเป็นเงินไทย
ผ้าหนึ่งชิ้นตัดเสื้อเชิ้ตผู้ชายได้ตัวหนึ่งเหลือเศษผ้านิดหน่อย ตัดชุดกระโปรงของผู้หญิงได้พอดิบพอดี แต่อาจต้องพิถีพิถันในการซักครั้งแรกๆ และแยกซักไม่ยุ่งเกี่ยวกับผ้าซักอื่น เพราะสีตก เมื่อใช้ใหม่ๆ ผ้าแข็งเพราะโรงงานลงแป้งหนา แต่ยิ่งใช้ยิ่งซักยิ่งนุ่มละมุน
ลายผ้าพิมพ์แอฟริกัน รวมทั้งผ้า Capulana ของโมซัมบิก สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นลายรูปกลอง สะท้อนดนตรี ลายรูปข้าวโพด มะม่วง และมะม่วงหิมพานต์ สะท้อนข้าวปลาอาหาร ส่วนลายผ้าอีกแบบที่คนนิยม เห็นจะเป็นลายกราฟิกผสมรูปทรงเรขาคณิตกับสีสัดจัดจ้านที่ตัดกันควับ
ลายผ้าที่เตะตาผมเป็นพิเศษเห็นจะเป็นลายผ้าที่ผลิตขึ้นมาเพื่อโอกาสทางการเมือง เช่น ช่วงการเลือกตั้งทั่วไปในโมซัมบิกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ผ้าพิมพ์รูปถ่ายของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครัฐบาลบนพื้นหลังสีแดงสดซึ่งเป็นสีของพรรค เป็นลายที่ผู้คนสวมใส่กันทั่วเมือง หรือก่อนการเลือกตั้งไม่กี่สัปดาห์ เมื่อพระสันตปาปาได้เสด็จมาโมซัมบิก ก็มีผ้า Capulana ลายพระสันตปาปาออกมาขายฉลองศรัทธาของคริสตศานิกชนโมซัมบิกเช่นกัน
จับจ่ายซื้อผ้าแอฟริกาในกรุงเทพฯ
สงครามธุรกิจการแข่งผลิตผ้าเพื่อส่งไปขายให้ประชากรแอฟริกันทั้งทวีปซึ่งมีมากกว่า 1,200 ล้านคน ยังเป็นการต่อสู้ชุลมุนพัลวัน
โรงงานผลิตผ้าเก่าแก่ของเนเธอร์แลนด์ที่เต็มไปด้วยเทคนิคดั้งเดิมและลายผ้าสวยงามหลากหลาย ย้ายเข้ามาตั้งโรงงานเองในแอฟริกาฝั่งตะวันตกที่ประเทศกานา ในขณะเดียวกัน ก็มีคู่แข่งอย่างโรงงานผลิตผ้าพิมพ์แบบดิจิทัลที่ไม่ยอมน้อยหน้า เทคโนโลยีที่ทันสมัยและราคาถูกกว่าของจีนและอินเดีย กำลังครองตลาดในแอฟริกาฝั่งตะวันออก
ในประเทศโมซัมบิก ผ้าท้องถิ่นที่เรียกว่า Capulana แทบทั้งหมดล้วนนำเข้ามาจากโรงงานในจีนและอินเดียทั้งสิ้น ไม่มีผ้าจากฟากฝั่งยุโรปเลย และนำมาแบ่งขายที่ขนาดความยาว 2 หลา ในราคาเริ่มต้นที่เทียบเป็นเงินไทยแล้วไม่เกินผืนละ 100 บาท
ส่วนโรงพิมพ์ผ้าของไทยก็ไม่ใช่ย่อย ยังได้รับออเดอร์จากประเทศทางแอฟริกาตะวันตกสั่งพิมพ์ลายผ้าส่งออกไปขายบ้าง แต่ก็อาจยังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ ผมรู้สึกว่าน่าเสียดาย ถ้าคนไทยรู้จักและเข้าใจแอฟริกามากกว่านี้ เราก็อาจเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่พอไปวัดไปวากับเขาได้ จะไม่ได้อย่างไรล่ะ เสื้อผ้าตัดสำเร็จจากประตูน้ำและโบ๊เบ๊บ้านเราถือเป็นสินค้าคุณภาพดีในแอฟริกาทั้งตะวันตกและตะวันออก
แต่อย่างน้อย การที่โรงงานผ้าในบ้านเราผลิตผ้าพิมพ์ลายแบบแอฟริกัน ก็อาจเป็นข้อดีที่ทำให้เราไปจับจ่ายผ้าพิมพ์ลายแอฟริกามาตัดชุดได้ไม่ยาก ไม่ต้องเก็บลายแทงเป็นความลับ ขอให้ตรงปรี่ไปที่ซอยนานาเหนือ (สุขุมวิทซอย 3) หากเดินเข้ามาจากถนนสุขุมวิท ตรอกแรกทางซ้ายมือก่อนถึงธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ จะมีร้านขายผ้าชื่อ F.F.N. Trading ของชาวมาลี นำผ้าพิมพ์ลายแอฟริกันลายสวยๆ เท่ๆ ที่ผลิตในไทยมาขายปลีก
ผมซักคนขายที่เป็นชาวมาลีเสียยกใหญ่ เลยได้ข้อมูลว่า ผ้าแบบนี้เป็นที่นิยมของเหล่าแม่บ้านญี่ปุ่นในเมืองไทย ที่ซื้อไปตัดเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า และของใช้กระจุกกระจิก คนแอฟริกาตะวันตกนิยมสั่งผ้าพิมพ์ลายที่ผลิตในไทย โดยใช้แม่พิมพ์และลวดลายแอฟริกันเช่นนี้ไปขายทีละล็อตใหญ่ เพราะเนื้อผ้าและคุณภาพการพิมพ์ของไทยดีกว่า และราคาค่าขนส่งไปแอฟริกาตะวันออกก็พอๆ กันกับการนำเข้าจากจีนหรืออินเดียที่คุณภาพอาจไม่ดีเท่า
น่าเชียร์ให้โรงงานผลิตผ้าของไทยบุกตลาดแอฟริกาเสียจริง