ในที่ประชุม The Cloud ผู้เขียนได้รับโจทย์ให้ออกแบบคอลัมน์ที่ครอบคลุมความหมายของการทำงานที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารและการจัดการของฝั่งฟากธุรกิจ

‘ธุรกิจ พันธกิจ วิสัยทัศน์ การบริหารจัดการองค์กร’ อ่านทวน 4 รอบ ก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้ากับเมฆก้อนอื่นๆ ใน The Cloud สักเท่าไหร่ แต่ถ้าย้อนกลับไปพูดเรื่องการมุ่งมั่นทำงานออกมาให้ดี เราก็ต้องไม่ลืมว่า มีแค่ใจอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีทักษะในส่วนของการบริหารและจัดการ เราจึงควรมีต้นแบบดีๆ ในเรื่องการทำงานและความเป็นผู้นำ ซึ่งเรานำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้

เดิมทีผู้เขียนตั้งใจทำบทสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงในเชิงเข้มข้น เพื่อเจาะลึกการทำงานขององค์กรต้นแบบ แต่ก็เกรงว่าผู้อ่านทางบ้านอาจจะกด report เพราะคิดว่าเว็บโดนแฮ็ก ผู้เขียนจึงขอถือวิสาสะปรับการนำเสนอให้เข้ากับตัวตนของเราและผู้อ่าน ซึ่งอาจจะเป็นพนักงานบริษัทผู้รักษาระยะห่างระหว่างที่นั่งในห้องประชุมกับท่านประธานหัวโต๊ะ จนไม่อาจรับสารวิสัยทัศน์ที่มี, เจ้าหน้าที่ระดับกลางผู้ประทับใจในการทำงานของผู้นำองค์กร, ผู้บริหารฝึกหัดที่กำลังหาต้นแบบที่ดี หรือผู้ที่ทำงานนอกตึกสูงกลางย่านธุรกิจ แต่สนใจใคร่รู้เรื่องนี้

จึงเป็นที่มาของ ‘กัปตันทีม’ บทสนทนานอกตำราการจัดการ ว่าด้วยแนวคิดในการทำงานของผู้ทำหน้าที่นำทิศนำทางขององค์กรต่างๆ

กัปตันทีมคนแรกของเราคือ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หน่วยงานที่คนรู้จักดีว่าสนับสนุนการเติบโตของกิจการเพื่อความมั่นคง เสริมสร้างการแข่งขัน และการแสวงหาตัวเลขเชิงบวกอย่างไม่จบไม่สิ้น แต่ยังมีอีกหลายบทบาทที่เราอาจจะไม่เคยรู้ เช่นการเป็นแบบอย่างที่ดีกับภาคธุรกิจ อาจจะไม่ใช่กับทุกกิจการในระบบเศรษฐกิจ แต่อย่างน้อยก็กับ 665 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

โปรดลืมศัพท์คำสวยๆ ในบทวิสัยทัศน์และพันธกิจองค์กรไปก่อน เพราะบทสนทนากับ คุณเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในคราวนี้เรียบง่ายกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด

เกศรา มัญชุศรี, SET, ตลาดหลักทรัพย์

“สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำไม่ได้มีแค่เรื่องธุรกิจ แต่มีความคาดหวังของผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีหลากหลาย ดังนั้นคนที่เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องทั้งบู๊ทั้งบุ๋นเยอะ หน้าที่ของเราคือการ balancing power หรือการหาสมดุลของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

เราถามคุณเกศราถึงบทบาทหน้าที่ที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหากคุยเรื่องนี้กันอย่างลงลึกแล้ว คุณจะพบว่าภายใต้ภาพการแสวงหาความมั่งคั่งที่ฉายภาพให้ตลาดทุนดูเป็นสนามของผู้มีฐานะในสังคม แท้จริงมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นต้นแบบองค์กรที่ดีผ่านข้อกติกาและระบบระเบียบมากมาย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมความยั่งยืนแก่บริษัทจดทะเบียน ด้วยการออกแนวปฏิบัติและอบรมเรื่องการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน เพื่อให้บริษัทเห็นความสำคัญและนำหลักสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะเป็นรากฐานของกิจการให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนขยายวงกว้างไปสู่สังคม

“เมื่อเราจะบอกให้ธุรกิจต่างๆ ทำเช่นนั้น เราเองก็ต้องทำเองด้วย”

ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำเว็บไซต์ www.setsocialimpact.com เพื่อสร้างการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคม โดยแบ่งปันทรัพยากรทั้งที่เป็นเงินทุนและทรัพยากรอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงินของภาคธุรกิจสู่ภาคสังคมเพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact) ทั้งยังจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความพร้อมขององค์กรภาคสังคมให้เข้าใจและสามารถทำงานสอดคล้องกับภาคธุรกิจได้

การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว ไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงและความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจในระยะยาว จึงส่งเสริมการนำหลักการความยั่งยืนมาใช้กำหนดแผนงาน การทำงานต่างๆ รวมถึงคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเป็นสำคัญ

เกศรา มัญชุศรี, SET, ตลาดหลักทรัพย์

เราสงสัยว่าการดำรงตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในความฝันหรือจุดหมายของเส้นทางอาชีพนี้หรือเปล่า คุณเกศราก็ตอบในทันทีว่า “เราเป็นคนไม่ฝันนะ จริงๆ เราเป็นคนจริงจัง เราคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้เป็นโชคชะตา เพราะว่าเราทำมาหลายเรื่องเรื่อยๆ และสิ่งนั้นก็พาให้ชีวิตเรามาถึงจุดนี้”

ต่อให้สิ่งที่เป็นอยู่ไม่ได้เกิดจากการคิดฝัน เราก็ยังขอให้คุณเกศราเล่าถึงภาพองค์กรในฝันอยู่ดี

“เราเชื่อว่าองค์กรที่จะมีอายุยืนยาวต้องมีนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงโดยคำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน ยั่งยืนในที่นี้หมายถึง constantly growing เราเริ่มเห็นแล้วว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทันสมัยขึ้น คนทำงานจะมีความคล่องแคล่วและมองเห็นภาพรวมได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย แต่เป็นคนที่ตอบสนองความต้องการของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าโชคดีที่เปลี่ยนผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่บ่อยๆ ทำให้องค์กรเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ”

ก่อนหน้านี้เราแอบทราบมาว่าคุณเกศรามีความฝันเล็กๆ อยากพาพนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ไป outing แนว adventure และเมื่อได้ยินคำตอบ เราก็ไม่แปลกใจว่าทำไมจึงเห็นพนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกิจกรรมวิ่งหรืองานกีฬาใช้แรงอยู่ตลอดเวลา

“ต้องบอกก่อนว่าคนที่นี่ทำงานหนักมาก ขยันจนหามรุ่งหามค่ำ ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้ทุกคนสุขภาพดีและทลายกำแพงที่แบ่งกั้นแผนกต่างๆ เราก็คิดว่าถ้าจะรักกันต้องเสียเหงื่อ แต่หลายเสียงจากพนักงานบอกว่า ปีนี้ขอแบบเบาๆ นะ” คุณเกศราปิดท้ายด้วยเสียงหัวเราะ

เกศรา มัญชุศรี, SET, ตลาดหลักทรัพย์

ด้วยกระบวนการทำงานที่เต็มไปด้วยรายละเอียด คุณเกศราบอกเราว่า เธอเชื่อว่าขั้นตอนการระดมความคิดในช่วงเริ่มต้นเป็นสิ่งที่สำคัญ จะเริ่มทำอะไร ทำอย่างไร ทำเพื่ออะไร และต้องการความช่วยเหลือจากใครอย่างไร “ถ้าเริ่มขึ้นต้นมาไม่ถูกต่อไปก็จะแก้ยาก เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามบอกให้ช่วยระดมความคิดเห็น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเราคนเดียว แต่คนรอบข้างคุณหรือแม้กระทั่งคนในวงการที่คุณทำงานด้วย ลองไปสอบถามหาข้อมูลมา นี่จึงเป็นขั้นตอนที่สนุกดี เพราะแต่ละคนได้มีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้”

ถ้าคุณเคยทำงานกับคุณเกศราคุณจะรู้ว่าเธอเป็นคนชอบตั้งคำถาม และรอฟังความคิดเห็นจากทีมงานเสมอ “เราเองก็เคยมีเจ้านายเยอะแยะนะ ยุคก่อนเราจะเห็นนายที่เป็นแค่นายเฉยๆ เพราะว่าเขาอาจจะเคยทำเรื่องนี้มาก่อนหรือเป็นเพราะถึงวาระตามอายุงาน แต่ว่าวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปและเขาก็อาจจะไม่ได้ปรับตัวตาม นายอาจจะไม่ค่อยอ่านหนังสือ ไม่ค่อยดูไม่ค่อยเล่นมือถือก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น การแลกเปลี่ยนความคิด มุมมองกัน จึงสำคัญ ตอนนี้ไม่ใช่ยุคของ ‘ใช่ครับพี่ ดีครับท่าน’ แล้ว”

“ถ้าเช่นนั้นคุณมักจะทำอย่างไรเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญขององค์กร” เราถาม

“เราเชื่อว่าทุกเรื่องเป็นวิทยาศาสตร์ที่เมื่อจะทำอะไรก็ตามต้องหาข้อมูลเสมอ เวลาต้องตัดสินใจสิ่งใด เราอยากให้เอาเหตุผลมาคุยกัน ซึ่งบางเรื่องอาจไม่มีเหตุผล ข้อมูลที่มีไม่เพียงพอ หรือไม่ใช่เวลาที่ต้องตัดสินใจ และถ้าจำเป็นต้องตัดสินใจแต่ยังตัดสินไม่ได้ เราจะใช้วิธีออกจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่ ออกไปดูหนังสือแฟชั่นบ้าง ไปเดินดูสิ่งอื่นให้สมองไม่อยู่แค่ตรงนี้ บางทีเราก็ไปฟังสัมมนาดีๆ ที่มีมือหนึ่งของโลกในเรื่องนั้นๆ มาพูดซึ่งจะได้ไอเดียใหม่ๆ”

“ที่บอกว่าฟังสัมมนาดีๆ จากมือหนึ่งนั้นหมายถึงเรื่องเกี่ยวกับตลาดหุ้นหรือเรื่องอะไร” ช่างภาพของเราร้องถาม

“ไม่นะ เราฟังเรื่องเทคโนโลยี ฟังด้านที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต อย่างตอนไปพูดที่งาน Global Summit of Women ที่ญี่ปุ่น เป็นงานที่เราไม่เคยเห็นผู้หญิงจำนวนกว่า 1,300 คนอยู่ในที่เดียวกันแบบนี้เลย ถึงกับมีคนบอกว่ากลิ่นน้ำหอมตีกันวุ่นวายมาก (หัวเราะ) ในงานเขาพูดเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงและสิ่งที่เขาพยายามทำในญี่ปุ่น เราก็ได้เรียนรู้อะไรมาหลายอย่าง พอกลับมาดูที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรากฏว่าตลาดเราก็ทำไปแล้วเหมือนกันหลายเรื่องโดยไม่รู้”

เกศรา มัญชุศรี, SET, ตลาดหลักทรัพย์

สำหรับผู้บริหารที่ผ่านการทำงานมาหลากหลาย เราถามเธอถึงสิ่งที่ยังคงเหมือนและแตกต่างกันของการทำงานในช่วงอายุ 25 ปี 35 ปี และปัจจุบัน

“สิ่งหนึ่งที่ไม่แตกต่างก็คือยังต้องตื่นเช้าและทำงานถึงดึก แต่ที่แตกต่างอย่างชัดเจนก็คือประสบการณ์ที่มากขึ้นและหลากหลายมากขึ้น เราได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาในเส้นทางการทำงานที่ผ่านมา และทุกอย่างกลับมาสร้างผลบวกที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องหลายๆ เรื่อง สุขุมรอบคอบมากขึ้น”

คำแนะนำจากผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานและคนที่กำลังเบื่องานที่ทำ “สำหรับคนที่เริ่มต้นทำงาน หนึ่ง จงอยากรู้อยากเห็น อยากทำหลายๆ เรื่องโดยตั้งใจและไม่เกี่ยงงาน สอง อย่าเชื่อคนง่าย ต้องค้นคว้าอย่างจริงจังไปถึงรากถึงแก่น

“และสำหรับคนที่กำลังเบื่องาน เราบอกเสมอนะว่า ถ้าไม่สนุกให้เปลี่ยนงาน ตัวเราเปลี่ยนงานมาเยอะ เป็นข้าราชการอยู่ 3 ปี แล้วสอบได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำงานอยู่ 3 ปี ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทและกลับมาเป็นนักวิเคราะห์ ดูและเรียนรู้หมดทุกบริษัทแล้ว เราเป็นพวกอยากรู้เรื่องใหม่ๆ และงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะกว้าง แม้จะอยู่ที่นี่มาถึง 15 ปี แต่เราได้เปลี่ยนขอบเขตของงานอยู่ตลอดเวลา ที่บอกทำงานเพราะสนุก ทำงานเพราะยังอยากรู้ แต่เมื่อไหร่ที่ไม่สนุก เบื่อ และแน่ใจว่าเบื่อ ก็ย้ายไปทำงานอื่น มันไม่มีทางแก้ได้ถ้าเราคิดเบื่อไปแล้ว”

ก่อนจะหมดเวลานัดหมายที่มี เราไม่ลืมที่จะถามถึงคำถามที่พบบ่อยที่สุดหลังจากได้รับตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ถ้าเป็นเพื่อนๆ เขาจะถามว่า หุ้นตัวไหนดี ขอสักตัวหนึ่ง (หัวเราะ)”

“ซึ่งหุ้นตัวนั้นคือ..” ถ้าคุณอยู่ในวงสนทนานั้นด้วยกัน คุณจะจับได้ว่าคำถามสุดท้ายของผู้เขียนฟังดูกระตือรือร้นกว่าคำถามข้อไหนๆ

“ก็บอกว่า ถ้าบอกไปก็ผิด เพราะว่าผู้จัดการห้ามเล่นหุ้นอยู่แล้ว และจริงๆ ผู้จัดการไม่รู้หรอกว่าหุ้นตัวไหนดี ถ้าบอกไปแล้วคุณเชื่อฉัน คุณก็เจ๊ง” คำตอบทิ้งท้ายคำตอบนี้ ทำให้เรานึกถึงคำแนะนำการทำงานสำหรับน้องใหม่ในวรรคตอนด้านบน ใช่แล้ว! ข้อที่บอกว่า จงอยากรู้อยากเห็นนั่นเอง

LEADERSHIP

  1. โดยปกติแล้ว คุณจะถึงโต๊ะทำงานที่ออฟฟิศประมาณกี่โมง: ไม่เกิน 08.30 น.
  2. สไตล์การบริหารงานของคุณ: เป็นแนวพูดคุยกันให้เสร็จก่อน แล้วค่อยส่งหนังสือสั่งงาน
  3. ลักษณะของคนประเภทไหนที่คุณอยากทำงานด้วยที่สุด: คนที่จริงใจ ตรงไปตรงมา โต้เถียงคุยกัน
  4. พอแล้วกับคำว่า ‘นวัตกรรม’ เรามาพูดเรื่อง: realistic กันดีกว่า
  5. ให้เลือกระหว่างเป็นการคนทำงานที่ ‘เป็นที่รัก’ หรือ ‘เป็นที่น่านับถือ’: เป็นที่นับถือ เพราะรักมันก็เรื่องส่วนบุคคล เป็นที่นับถือ น่าจะมีเหตุมีผลกว่า
  6. กิจกรรมนอกเวลางานที่ไม่ว่าคุณจะยุ่งแค่ไหน คุณก็จะหาเวลาไปทำให้ได้คือ: เดินช้อปปิ้ง ตอบอย่างนี้ฟังดูไม่ดีใช่ไหม เขาเรียกคลายเครียด ก็ซื้อแบรนด์ธรรมดาเลย Massimo Dutti, Zara, Max Mara
  7. ชมรมสมัยเรียนมหาวิทยาลัย: ไม่ได้เข้าเลย มีแต่ไปขึ้นเขาลงห้วยกันเองที่ต่างจังหวัด นัดไปเขื่อนทุกเขื่อนเลย
  8. เหตุการณ์เปลี่ยนชีวิตคุณ: (หยุดคิด) ไม่มีนะ ไม่ได้รู้สึกว่ามีเหตุการณ์อะไรที่ให้ชีวิตเราเปลี่ยนได้
  9. เรื่องล่าสุดที่คุณได้เรียนรู้: เรียนรู้ว่าความเหงาเริ่มเกิดขึ้นแล้ว โลกปัจจุบันเป็นโลกของ individualisim เยอะไป และลูกเริ่มโตและไม่อยู่บ้านเลย
  10. คุณไปแข่งรายการ แฟนพันธุ์แท้ ตอนไหนได้บ้าง: ข่าวการเมือง

 

COMPANY VISIT

settrade cafe

“เป็นร้านกาแฟของเราเอง ไปดูเมนูได้เลย สนุกมาก ใช้ชื่อสินค้าของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นชื่อเมนูกาแฟด้วย”

ห้องสมุดมารวย

“ห้องสมุดเราเปิด 7 วัน ตั้งแต่ 08.30 – 21.00 น. น่าจะเป็นห้องสมุดแรกที่อนุญาตให้เอาเครื่องดื่มและขนมเข้าไปกินได้ วันเสาร์-อาทิตย์คนจะเยอะมาก เพราะแถวนี้มีคอนโดมิเนียมเยอะ”

INVESTORY

“พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่ชวนมาเรียนรู้เรื่องการลงทุน ผ่านมิติใหม่ในรูปแบบ Discovery Museum”

หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ

“มีที่มาของชื่อจากคุณศุกรีย์ แก้วเจริญ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 1 จึงใช้หอประชุมนี้จัดงานสำคัญๆ เช่น 1st Trading Day ของหุ้นที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันแรก หรือจัดงานเกี่ยวกับการเปิดตัวสินค้า บริการใดๆ ที่เป็นครั้งแรก”

TSD Counter Service

“ให้บริการโดยบริษัท Thailand Securities Depository (TSD) เป็นศูนย์ที่ให้บริการผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นคุณป้า คุณพี่ ที่ถือใบหุ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณและต้องการตรวจเช็กว่าได้เงินปันผลไหม หรือใบหุ้นหาย มาที่นี่ได้”

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan