บทสนทนาต่อไปนี้เป็นบทสนทนาจริง เป็นเรื่องของคนจริงๆ ไม่ใช่นักแสดง

“พี่คะ มีอะไรให้ใส่รองกันหมวกไหมคะ ถุงพลาสติกก็ได้ค่ะ” 

หญิงสาวได้กล่าวถามพี่คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขณะรับหมวกกันน็อกที่ส่งกลิ่นและเปียกชุ่มไปด้วยน้ำฝน

“ไม่มี ถ้าน้องไม่ใส่ พี่ก็จะเสี่ยงโดนตำรวจจับนะ” คนขับกล่าวตอบ 

บทสนทนาที่เล่าไปเป็นประสบการณ์จริงของเหล่าผู้ก่อตั้ง Capbage 

แต่นี่ไม่ใช่แบรนด์ขายกะหล่ำ (Cabbage)!

Capbage คือหมวกก่อนสวมใส่หมวกกันน็อกเพื่อแก้ Pain Point ที่มีมานานของผู้ใช้บริการมอเตอร์ไซค์สาธารณะ ในขณะเดียวกัน หมวกใบนี้ก็ยังสามารถเปลี่ยนเป็นกระเป๋าถือสะพายใส่ของได้ในทุกๆ วัน ตามสโลแกน Cap Meets Bag, Your Daily Essential ส่วนที่ชื่อคล้ายคำว่ากะหล่ำในภาษาอังกฤษนั้น เป็นเพราะว่าผู้ก่อตั้งทั้งสามมองว่ากะหล่ำมีรูปร่างคล้ายหมวกกันน็อก

ออเบรย์-เศรษฐิตา เลการัตน์, เติม-เติมศักดิ์ ลิ้มศิริรัตนกุล, ลูกขวัญ-วศินี มุสิกะโปดก

ออเบรย์-เศรษฐิตา เลการัตน์ อดีตนิสิตวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร มีประสบการณ์จากการผันตัวไปเป็นนักการตลาดให้ Samsung และ Project Planner บริษัท LINE รับหน้าที่เป็นมาร์เก็ตเตอร์ วางกลยุทธ์การตลาด สร้างตัวตนแบรนด์ ดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย

เติม-เติมศักดิ์ ลิ้มศิริรัตนกุล วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตสาขาเคมี ก่อนมาทำแบรนด์จริงจัง เคยทำงานสาย Sale Engineer ที่ Cal-Comp Electronics และ Business Development ในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ รับผิดชอบด้านการออกแบบฟังก์ชันให้กับผลิตภัณฑ์

ลูกขวัญ-วศินี มุสิกะโปดก บัณฑิตศิลปกรรมภาพพิมพ์ที่ผันมาทำงานสาย Merchandiser ในสายแฟชั่น โดยรับตำแหน่งเป็นดีไซเนอร์ คอยดูแลด้านอาร์ตเวิร์ก ไปจนถึงด้านสร้างสรรค์ต่างๆ

แม้จะยังเป็นเพียงแบรนด์เล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ก็มุ่งมั่นและตั้งใจจะแก้ไขปัญหาสังคม ภายใต้คอนเซปต์ Innovative, Practical และ Problem Solving

บางท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจมองว่า Capbage เป็นเพียงหมวกอีกแบรนด์หนึ่งในตลาด แต่กว่าจะออกมาเป็นหมวก (หรือกระเป๋า) ใบนั้น ทั้งสามทุ่มเทกับการออกแบบและพัฒนานับปี เพื่อให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง 

ต้องยอมรับว่ามีหลายครั้งที่ไม่คาดคิดว่าการพัฒนาหมวกเพียงใบหนึ่ง มีรายละเอียดที่ต้องใส่ใจมากขนาดนี้ เพราะฉะนั้น อย่าแปลกใจหากหลังอ่านบทความนี้ คุณจะกดสั่งซื้อทันที และไม่ต้องกลัวกลิ่นเหม็นหรือผมเสียทรงอีกต่อไป

ขัดแย้งคือดี

ก่อนที่จะเข้าเรื่องตัวสินค้า สิ่งแรกที่เราสนใจ คือแบกกราวนด์ของแต่ละคนที่ดูจะไม่ตรงสายสักเท่าไหร่

เอาอะไรจากที่เรียนมาใช้กับการทำธุรกิจมาบ้าง-เราถาม

ทุกคนหัวเราะพร้อมกัน

“เอาจริงๆ ใครก็ทำได้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่ามีความตั้งใจหรือเปล่า ซึ่งพวกเราอยากจะแก้ปัญหานี้จริงๆ แบกกราวนด์ก็ช่วยเล็กน้อย แต่คิดว่าความสนใจที่ตรงกันมากกว่า รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เรามีใจรัก เราอินกับมัน เรามีแพสชัน คิดว่าน่าจะทำได้ดี”

Capbage เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสามได้เห็นองค์ประกอบใหญ่ของการทำธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นได้เป็นอย่างดี พวกเขาแบ่งงานกันอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาว่าใครชอบอะไร อยากทำส่วนไหน ทำให้ก้าวข้ามปัญหาที่เข้ามาได้

“เราขัดแย้งกันทุกวัน ความขัดแย้งนี่เป็นปกติเลย แต่จริงๆ มันดีนะ เพราะเราพูดกันตรงๆ เลยดำเนินต่อได้ ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งไม่พอใจคนนี้แล้วเงียบ แล้วทุกอย่างจะไปต่อไม่ได้ ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นข้อดีของทีมเรา เพราะว่าทุกคนมีจุดหมายเดียวกัน มันสำคัญกว่าที่เราจะมานั่งทะเลาะกันเรื่องเล็กๆ เราจะคุยกันตลอด ติดปัญหาอะไรก็บอกกันเลย”

ออเบรย์-เศรษฐิตา เลการัตน์, เติม-เติมศักดิ์ ลิ้มศิริรัตนกุล, ลูกขวัญ-วศินี มุสิกะโปดก

ของหนึ่งชิ้น แต่ประโยชน์หลายอย่าง

เรื่องราวของธุรกิจเริ่มต้นขึ้นจากนิสัยช่างสังเกตของเติม 

“เราเห็นว่าชาวออฟฟิศส่วนใหญ่ เวลาเช้าๆ จะนั่งมอเตอร์ไซค์มาทำงาน แล้วทุกคนมักจะไม่ได้สวมหมวกกันน็อกเราเกิดคำถามว่า ทำไมทุกคนถึงไม่ใส่หมวกกันน็อกกัน เราก็มีสมมติฐานเบื้องต้นว่า มันคงสกปรกหรือเหม็น อย่างผู้หญิงออฟฟิศ เวลาเขามาทำงาน เขาอาจจะรู้สึกว่าแบบ โห ถ้าใส่เสร็จแล้ว จะต้องเหม็นไปทั้งวันแน่ๆ ผมเสียทรงอีก”

“จริงๆ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการไม่ใส่หมวกกันน็อกอันตราย แต่ถ้าจะเสี่ยงชีวิตเพื่อที่จะไม่ใส่ขนาดนั้น แปลว่ามันต้องมีเหตุผลอะไรที่ร้ายแรง” ออเบรย์เสริม 

หลังจากค้นคว้าเพิ่มเติม จากแบบสอบถามพบว่ากว่า 34 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ไม่ใส่หมวกกันน็อกเป็นไปตามที่คาดเดาไว้ และถึงแม้ในตลาดจะมีสเปรย์ดับกลิ่นผมหรือหมวกอาบน้ำที่ใส่แล้วทิ้ง แต่ทั้งสองอย่างก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างแท้จริง

แม้จะเห็นถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจ แต่วิศวกรรมศาสตรบัณฑิตทั้งสองไม่ได้มีหัวด้านการออกแบบ ออเบรย์จึงไปชวนขวัญซึ่งเป็นเพื่อนสมัยมัธยมมา ซึ่งก็เป็นจิ๊กซอว์ที่ลงล็อกต่อกันได้พอดี

Capbage จึงออกแบบให้เป็นทั้งหมวกก่อนสวมหมวกกันน็อกและกระเป๋าด้วยในเวลาเดียวกัน

ออเบรย์-เศรษฐิตา เลการัตน์, เติม-เติมศักดิ์ ลิ้มศิริรัตนกุล, ลูกขวัญ-วศินี มุสิกะโปดก

“ช่วงก่อน COVID-19 เขาเริ่มไม่แจกถุงพลาสติกกันแล้ว เราเลยมองว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ควรตอบโจทย์ชาวออฟฟิศในหนึ่งวัน ตอนเช้านั่งมอเตอร์ไซค์ ใช้ Capbage ก่อนสวมหมวกกันน็อก พอกลางวันสลับมาเป็นถุงซื้อของนิดหน่อยขึ้นไปกินบนออฟฟิศ ตอนเย็นก็เปลี่ยนกลับมาเป็นหมวก ใส่นั่งมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน แต่ที่น่าสนใจคือลูกค้านำไปใช้ในหลายรูปแบบที่สร้างสรรค์มากๆ

“จุดเด่นจริงๆ เลยกลายเป็น Multi-purpose หลังจากที่เริ่มขายไปแล้ว มีหลายคนรอบๆ ตัวเอาไปประยุกต์กับในสถานการณ์ต่างๆ ที่เราคิดไม่ถึง บางคนเขาเอาไปกันลมแอร์ในออฟฟิศ บางทีคนใส่ขึ้นเครื่องบินเพราะว่ากลัวเชื้อโรคจะมาโดนศีรษะ โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ที่ฮิตมาก เขารู้สึกว่ายังไงตอนนี้ Protective Equipment เป็นของสำคัญมาก เราก็เป็นหนึ่งในหมวดนั้น” 

ลูกค้าของพวกเขามีตั้งแต่พนักงานออฟฟิศ คุณหมอที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล ไปจนถึงกลุ่มคนวัยเกษียณ

ทั้งสามใช้กลยุทธ์ในการค่อยๆ ทดลองตลาด และขยายตลาดไปเรื่อยๆ จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะตั้งแต่ขั้นแรก แต่เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีในตลาดมาก่อน ส่วนที่ยากที่สุดคือทำยังไงให้ผลิตออกมาได้จริง 

ของดี แต่ไม่มีที่ไหนรับทำ

“พวกเราใช้เวลานานทีเดียว กว่าจะผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ การเลือกวัสดุต่างๆ ก็ไม่ใช่ง่าย ต้องไม่ให้ระคายเคืองเวลาสัมผัสกับใบหน้า ยังมีเรื่องของไซส์หมวกที่ต้องพอดีสำหรับศีรษะทุกๆ คน และพอสำหรับใส่ของได้ตอนเป็นกระเป๋า มีหลายปัจจัยที่ต้องใช้ความคิดสุดๆ”

ก่อนเริ่มผลิตสินค้าชิ้นนี้ออกมา ขวัญเริ่มลองเย็บจากผ้าเหลือใช้ด้วยมือของเธอเอง หลังจากล้มลุกคลุกคลานจนเกือบจะล้มเลิกไป ก็ต้องเจอกับอุปสรรคต่อไปที่ยากกว่านั้น ก็คือการหาช่างเพื่อขึ้นแพตเทิร์น 

Capbage หมวกใช้สวมก่อนใส่หมวกกันน็อก ขจัดปัญหาของคนนั่งมอเตอร์ไซค์สาธารณะ

“เอาง่ายๆ เราคิดว่าจะทำหมวกกับกระเป๋าให้มาเป็นของชิ้นเดียวกัน แค่คุยกันเองสามคนยังใช้เวลา กว่าจะไปคุยกับช่างขึ้นแพตเทิร์น ก็ต้องใช้เวลานาน ผิดแล้วผิดอีก

“ขนาดเราพยายามเอาของที่คิดว่าใกล้เคียงสุดไปให้ดู เขายังนึกไม่ออกเลย เพราะเป็นแพตเทิร์นที่แปลกใหม่และไม่เคยมีมาก่อน ช่างเลยปวดหัวกับเรามาก เขาปฏิเสธตั้งแต่แรกเลยว่าไม่ขึ้นแพตเทิร์นใหม่นะ เพราะเขาไม่อยากมานั่งคิดแพตเทิร์นให้” 

สิ่งที่ช่วยพวกเขาแก้ปัญหาในครั้งนี้คือคอนเนกชันจากเพื่อนๆ มีอาอี๊ของเพื่อนคนหนึ่งช่วยเริ่มขึ้นแพตเทิร์นในช่วงแรกให้ แล้วก็ใช้โรงงานของเพื่อนมาช่วยผลิตเช่นกัน

Capbage หมวกใช้สวมก่อนใส่หมวกกันน็อก ขจัดปัญหาของคนนั่งมอเตอร์ไซค์สาธารณะ
Capbage หมวกใช้สวมก่อนใส่หมวกกันน็อก ขจัดปัญหาของคนนั่งมอเตอร์ไซค์สาธารณะ

สื่อสารด้วยความจริงใจ

หลังจากเริ่มต้นออกแบบฟังก์ชันต่างๆ จากความต้องการของลูกค้าและหาโรงงานในการผลิตแล้ว ทั้งสามคนเริ่มต้นลองผิดลองถูกกับการตามหาวัสดุและการออกแบบให้ตรงใจลูกค้าด้วยเช่นกัน

“แรกเริ่มชวนกันไปดูผ้าที่สำเพ็ง ไปพาหุรัด โดยลองผ้าคอตตอนก่อน ปรากฏว่าไม่ค่อยโอเค ระบายอากาศได้ไม่ดีมาก และเย็บออกมาทรงไม่สวยเท่าไหร่ ลองผิดลองถูกจนสุดท้ายมาเจอร้านหนึ่งในเจริญรัถที่ขายผ้าไนลอนหลายแบบ เราก็ลองซื้อมาขึ้นตัวอย่างดู”

สุดท้ายทั้งสามก็เลือกใช้ผ้าไนล่อน เนื่องจากมีคุณสมบัติเบา กันน้ำ ซักง่าย และแห้งไว เมื่อได้วัสดุที่เหมาะสมที่สุดมาแล้ว รายละเอียดและความใส่ใจลงลึกไปจนถึงการทำ Laundry Tag ขึ้นมาเพื่ออธิบายวิธีการซัก และตลอดบทสนทนา หนึ่งในคำที่พวกเขาพูดบ่อยที่สุดเลยคือ อยากให้ลูกค้านำไปใช้ได้จริง

ออเบรย์-เศรษฐิตา เลการัตน์, เติม-เติมศักดิ์ ลิ้มศิริรัตนกุล, ลูกขวัญ-วศินี มุสิกะโปดก
ออเบรย์-เศรษฐิตา เลการัตน์, เติม-เติมศักดิ์ ลิ้มศิริรัตนกุล, ลูกขวัญ-วศินี มุสิกะโปดก

“ถ้าสุดท้ายมันใช้งานไม่ได้จริง ก็กลายเป็น Waste อยู่ดี เพราะฉะนั้น เลือกให้มันดีไปเลยดีกว่า คนจะได้ใช้งานนานๆ ไปเลย”

Capbage มี 2 รุ่น รุ่น Double Side ออกแบบมาให้มีฟังก์ชันครบถ้วน ด้วยผ้าสองชั้นเพื่อป้องกันการสัมผัสระหว่างศีรษะกับสิ่งสกปรกจากสิ่งของ พร้อมหน้ากากผ้ามัสลิน และรุ่น Single Side เหมาะสำหรับคนที่เร่งรีบ

ยากที่สุดคือการให้ความรู้

สิ่งที่ยากที่สุดในการทำธุรกิจในครั้งนี้คือการให้ความรู้แก่ลูกค้า

“เราต้อง Educate ลูกค้าว่าประโยชน์ของมันคืออะไร ใช้ยังไง คนรู้แหละว่ามันดี แต่เขาอาจจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องมี การโน้มน้าวให้คนซื้อเพื่อไว้พกติดตัวใช้ในยามที่จำเป็น กลายเป็นเรื่องยาก เราจึงพยายามเพิ่มคุณค่าให้กับมัน โปรดักต์เราไม่ใช่แค่หมวก แต่เป็นหมวกสารพัดฟังก์ชัน”

ยังรวมถึงการอธิบายถึงรายละเอียดเล็กๆ และข้อกังวลต่างๆ ให้ลูกค้าเข้าใจ อย่างตีนตุ๊กแกที่เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ แบรนด์จะย้ำกับลูกค้าว่าให้ติดก่อนซัก จะได้ไม่มีฝุ่นหรือเศษด้ายเศษผ้ามาติดให้เลอะเทอะ หรือแม้แต่ข้อจำกัดของการใช้งาน ทั้งสามก็เลือกบอกลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา 

“หมวกเราทำจากวัสดุกันน้ำ พอกันน้ำได้ ก็ไม่สามารถระบายอากาศได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ได้อย่างเสียอย่าง แต่เราเสาะหาจนเจอผ้ากันน้ำที่ระบายอากาศได้และไม่ทำให้ร้อนขนาดนั้น เราจึงแจ้งลูกค้าตลอดว่า ถ้าจะเอาไปใช้นานๆ คงไม่เหมาะ เพราะจุดประสงค์ของเราตั้งแต่แรกคือ ทำให้คนที่แค่นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์เดินทางไม่เกินสิบห้าถึงยี่สิบนาที เราจะบอกตรงๆ ไปเลย” 

Capbage หมวกใช้สวมก่อนใส่หมวกกันน็อก ขจัดปัญหาของคนนั่งมอเตอร์ไซค์สาธารณะ

หมวกทุกใบมาพร้อมกับคู่มือการใช้งานแบบละเอียดยิบ Step by Step วาดโดยขวัญ พร้อมวิดีโอสาธิตการใช้และอินโฟกราฟิกในช่องทางการสื่อสารของแบรนด์ เพื่อให้คนรับรู้และเข้าใจสินค้ามากยิ่งขึ้น

“เวลามีลูกค้าทักมาถามในไลน์ เขาไม่เข้าใจอะไร เราจะถ่ายวิดีโอส่งให้เขาดูเลย หรือตอนที่เอาไปวางขายตามร้าน เราจะสอนพนักงานเลยว่าสินค้าเราใช้ยังไง ทำอะไรได้บ้าง เราไม่อยากให้เขาซื้อไปแล้วต้องไปนั่งหาอีกว่าใช้งานยังไง ควรทำให้มันจบตั้งแต่เขาได้รับสินค้าไปเลยวันนั้น

“หลังจากที่เขาซื้อไปเราจะถามฟีดแบ็กตลอด มีอะไรติชมก็คอมเมนต์มาได้เลย คำถามหลักของเราคือ คุณเอาไปใช้ในสถานการณ์ไหน เพื่อจะได้นำมาพัฒนาฟังก์ชันของผลิตภัณฑ์ต่อไป”

การขอฟีดแบ็กของทั้งสามไม่ใช่การส่ง Google Forms ให้ลูกค้าตอบกลับมา แต่ต้องคุยตัวต่อตัวเพื่อที่จะเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้งมากกว่า

Next Step

เหตุใดจึงเลือกมาสร้าง SME แทนที่จะไปทำธุรกิจแนวสตาร์ทอัพ-เราถามสามผู้ก่อตั้งที่สองคนในนั้นเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ 

พวกเขามองว่า Capbage ไม่ใช่เพียงกระเป๋าอีกแบรนด์หนึ่ง

“เราไม่ได้หยุดแค่ว่าจะต้องเป็นสินค้า Core Business ของเราคือการนำนวัตกรรมมาช่วยสังคม ถ้ามันช่วยเหลือสังคมได้ ถ้ามีไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาอีกก็จะไม่หยุดแค่นี้ แต่ ณ ตอนนี้คือเป็นเพียงจุดเริ่มต้น”

ต่อจากนี้ พวกเขาจะพยายามทำให้สินค้าราคาถูกลง เพื่อให้ลูกค้าอีกกลุ่มจับต้องได้ ทำให้มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และพัฒนาฟังก์ชันตามคำแนะนำของลูกค้า ตามคอนเซปต์หลักของแบรนด์คือ Innovative, Practical และ Problem Solving

ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะได้เห็นสินค้าอื่นๆ ของ Capbage ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอื่นๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่หมวกหรือกระเป๋าแล้วก็ได้

ออเบรย์-เศรษฐิตา เลการัตน์, เติม-เติมศักดิ์ ลิ้มศิริรัตนกุล, ลูกขวัญ-วศินี มุสิกะโปดก

Lesson Learned

  1. รู้จักประโยชน์พื้นฐานของผลิตภัณฑ์ (Core Benefit) ของธุรกิจ ไม่ว่าจะคิดผลิตภัณฑ์หรือบริการอะไร ต้องมั่นใจว่าลูกค้าจะได้ประโยชน์และใช้งานได้จริง
  2. สร้าง Service Mind โดยการจินตนาการว่าเราเป็นลูกค้า มอบสิ่งที่ลูกค้าน่าจะอยากได้โดยไม่ต้องให้เขาร้องขอ และสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาด้วยความจริงใจ ผ่านคู่มือการใช้งานหรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ
  3. กล้าถามเพื่อนำฟีดแบ็กมาเรียนรู้และพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน

ติดตามได้ที่ Facebook : capbageofficial

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ