10 มิถุนายน 2022
5 K

พื้นที่รกร้างอันพิสุทธิ์ กับแคนู และคืนวันเหนือลำน้ำน่าน

เมื่อต้นปี บริษัทที่ผมทำงานอยู่นัดประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปีกันเป็นปกติ ที่คนอื่นอาจจะเห็นว่าไม่ปกติก็คือ บริษัทส่วนใหญ่เขานัดประชุมผู้ถือหุ้นกันตามโรงแรมบ้าง ตามร้านอาหารบ้าง หรือไม่ก็นัดกันไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศบ้าง

แต่บริษัทที่ผมทำงานอยู่เป็นบริษัท Outdoor นัดประชุมผู้ถือหุ้นที ก็มักจะมีอะไรไม่ธรรมดาเสมอ ๆ

อยู่ดี ๆ หุ้นส่วนคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า “ในบ้านเราทุกวันนี้จะหาพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติจริง ๆ ได้ยากขึ้นทุกที ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตกันอยู่ในพื้นที่ที่มีถนน รถยนต์เข้าถึง มีไฟฟ้า มีสัญญาณโทรศัพท์ มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกที่ แม้ว่าจะเป็นใจกลางป่าหรือในอุทยานแห่งชาติ ผมอยากพาพวกเราย้อนเวลากลับไปใช้ชีวิตที่สัมผัสกับธรรมชาติอันห่างไกล ไม่มีเสียงรถยนต์ ไม่มีถนน และไม่มีเสียงจากเครื่องยนต์กลไกสักที่หนึ่ง…”

แม่น้ำน่านในอดีตเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหลวงพระบางในอำเภอปัว จังหวัดน่าน ไหลลงมาผ่านตัวจังหวัดน่านไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ และไหลลงไปบรรจบแม่น้ำปิงที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนจะกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ในยุคสมัยที่ยังไม่มีถนน รถยนต์ หรือรถไฟ แม่น้ำน่านคือเส้นทางคมนาคมหลักที่ชาวน่านใช้ติดต่อกับโลกภายนอก ก่อนที่เส้นทางคมนาคมหลักนี้จะเลือนหายไป พร้อมกับยุคสมัยและการสร้างเขื่อนในยุคใหม่ที่เริ่มต้นเมื่อราว 50 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง

“เราจะเริ่มต้นลงเรือที่เวียงสา ล่องไปตามลำน้ำน่าน ผ่านแก่งหลวง ไปจนถึงบ้านปากนาย ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ เอาของไปเท่าที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต และต่อจากนี้ 4 วัน 3 คืน เราจะเดินทางไปด้วยกำลังของเราที่จะจ้วงพายลงไปกับสายน้ำ ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น หาปลาหาอาหารทำกินกันไปตามเรื่องตามราว แค่นี้แหละคือสาระของการประชุมประจำปีของพวกเรา”

จัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทโดยพายแคนูบนแม่น้ำน่าน ตั้งแคมป์แบบไร้ไฟฟ้าและคลื่นโทรศัพท์
ชาวกรุงและชาวบ้านเวียงสานั่งล้อมวงกินข้าวด้วยกันใต้แสงตะเกียงดวงเดียว ภายใต้แสงจันทร์เสี้ยวริมแม่น้ำน่าน

แคนูแคมป์ปิ้งลำน้ำน่านเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของชาวบ้านในอำเภอเวียงสา จากความร่วมมือของมูลนิธิธรรมชาติไม่จำกัด เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติรอบตัวได้อย่างยั่งยืน 

ชาวบ้านพาผู้คนท่องเที่ยวย้อนเวลาเข้าไปสัมผัสวิถีแบบดั้งเดิมด้วยแคนูแคมป์ปิ้ง ล่องเรือแคนูไปตามลำน้ำน่าน บนเส้นทางคมนาคมสายประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมเลือนไปแล้วหลาย 10 ปี โดยนักท่องเที่ยวไม่จำเป็นจะต้องมีเรือแคนูเป็นของตนเอง เตรียมแค่เต็นท์ เครื่องนอน และอาหาร สำหรับการใช้ชีวิตเท่าที่จำเป็นไปบนเส้นทางเพียงเท่านั้น ส่วนเรือแคนูที่ใช้เป็นของวิสาหกิจชุมชนที่ทยอยเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวด้วยเรือแคนู ที่เริ่มต้นมาหลายปีแล้วเป็นทุนสะสมเรื่อยมา

จัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทโดยพายแคนูบนแม่น้ำน่าน ตั้งแคมป์แบบไร้ไฟฟ้าและคลื่นโทรศัพท์
บรรยากาศแคมป์ยามเย็นริมสายน้ำน่าน อาบน้ำในลำธาร ส่วนสุขาต้องขุดหลุมเอาในป่า
จัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทโดยพายแคนูบนแม่น้ำน่าน ตั้งแคมป์แบบไร้ไฟฟ้าและคลื่นโทรศัพท์
แคมป์ในคืนแรกบนหาดทรายเล็ก ๆ ริมสายน้ำน่าน

เส้นทางในช่วง 2 วันแรกนั้น ก็ยังคงเป็นเส้นทางที่ผ่านไปตามชุมชน เราพบเห็นกับกลุ่มชาวประมง และชาวบ้านที่ออกมาใช้ชีวิตบริเวณริมน้ำ ตลอดเส้นทางมีแก่งเล็ก ๆ พอให้ตื่นเต้นอยู่เป็นระยะ ๆ เย็นวันแรกเราจอดเรือตั้งแคมป์นอนกันบริเวณชายหาดเล็ก ๆ ริมน้ำที่เงียบสงบ หุงหาอาหารและลงไปอาบน้ำชำระร่างกาย เพื่อล้างคราบไคลของคนเมืองกันในแม่น้ำ ก่อนที่จะเริ่มต้นทำอาหารง่าย ๆ ทั้งเสบียงอาหารที่เตรียมมาและปลาที่พวกพี่ ๆ ชาวบ้านลงข่ายจับมาได้ในช่วงเย็น ได้ถูกแปรรูปเป็นอาหารพื้นบ้านหลากหลายชนิด แล้วชาวบ้านจากเวียงสาและชาวเมืองจากกรุงเทพฯ ก็มานั่งล้อมวงกินข้าวรอบกองไฟร่วมกัน

จัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทโดยพายแคนูบนแม่น้ำน่าน ตั้งแคมป์แบบไร้ไฟฟ้าและคลื่นโทรศัพท์
เมื่อถึงที่หมายในการตั้งแคมป์เรียบร้อย ก็ถึงเวลาที่จะออกไปวางข่ายเพื่อหาอาหาร
จัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทโดยพายแคนูบนแม่น้ำน่าน ตั้งแคมป์แบบไร้ไฟฟ้าและคลื่นโทรศัพท์
ปลาสะนากยักษ์ที่ได้มาจากการวางข่ายในลำน้ำ นำมาย่างบนไฟ ปลาสารพัดชนิดเป็นหนึ่งในอาหารที่เราหาได้มาจากสายน้ำตลอดเส้นทาง

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผมและเพื่อน ๆ ได้ทดลองนำเรือแคนูแบบเดียวกันกับที่ชาวบ้านใช้ทุกวันนี้ มาทดลองล่องเรือแคนูแคมป์ปิ้งในลำน้ำน่านแห่งนี้เป็นครั้งแรก และเขียนเรื่องราวของการเดินทางนี้ตีพิมพ์ลงใน อนุสาร อ.ส.ท. แต่ในคราวนั้นเราไปจบทริปที่แก่งหลวง ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของเส้นทางที่เราจะไปกันในคราวนี้ 

หลายปีที่ผ่านมา เพื่อน ๆ ของผมได้สำรวจเส้นทางเพิ่มเติม และระดมทุนในหมู่เพื่อนฝูงเพื่อจัดหาทุนตั้งต้นสำหรับชาวบ้านที่พาเราล่องเรือในคราวนั้น จนกลายมาเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เลี้ยงดูตนเองได้ และบริหารงานโดยกลุ่มชาวบ้านอำเภอเวียงสา ผ่านเพจที่มีชื่อว่า ‘แคนูแม่น้ำน่าน’ ที่มีเรือแคนูนับ 10 ลำ บวกกับประสบการณ์อีกนับ 10 ปี ในการพานักท่องเที่ยวล่องแม่น้ำสายนี้เป็นประจำในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงต้นฤดูแล้ง ก่อนที่น้ำจะเริ่มแห้งลงจนเรือไม่สามารถล่องผ่านแก่งหลาย ๆ จุดไปได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม

จัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทโดยพายแคนูบนแม่น้ำน่าน ตั้งแคมป์แบบไร้ไฟฟ้าและคลื่นโทรศัพท์
พี่จรและทีมงานแคนูแคมป์ปิ้งลำน้ำน่าน กำลังช่วยกันโยงเรือแคนูที่เต็มไปด้วยสัมภาระให้ไหลลงผ่านแก่งหลวงซึ่งเป็นแก่งที่ใหญ่ที่สุดบนเส้นทางสายนี้

เราแวะพักอีกคืนหนึ่งในบริเวณไม่ห่างจากแก่งหลวง ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่มีทางรถยนต์เข้าถึง ก่อนที่จะค่อย ๆ โรยเชือกหย่อนเรือแคนูที่เต็มไปด้วยสัมภาระ ปล่อยผ่านแก่งหลวงลงมาทีละลำ บนเส้นทางถัดจากนี้ลงไป เป็นจุดเริ่มต้นของพื้นที่รกร้างอันพิสุทธิ์ที่เราจะไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ของรถ ไม่มีถนนตัดผ่านตลอดระยะเวลาอีก 2 วันที่เหลือ และตลอดเส้นทางที่ผ่านไป นอกจากพวกเราแล้ว ก็ไม่พบใครอื่นบนเส้นทางที่ถูกลืมนี้เลย

แคนูเป็นพาหนะที่วิเศษอย่างหนึ่ง ด้วยความเงียบของมันที่ปราศจากเสียงเครื่องยนต์ ทำให้เราพายเรือและจับกลุ่มคุยกันไปได้ตลอดทาง

“นัท รู้ไหมว่าปู่ของพี่เคยล่องเรือค้าขายอยู่บนลำน้ำสายนี้มาก่อน ในยุคสมัยที่น่านยังไม่มีถนน เวลาจะค้าขายอะไร ก็ต้องล่องเรือไปตามลำน้ำสายนี้จนถึงอุตรดิตถ์ พอซื้อของกลับขึ้นมา ต้องถ่อเรือสวนน้ำขึ้นมา ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน การเดินทางไม่ได้ง่ายอย่างทุกวันนี้ สมัยที่พี่ยังเด็ก ๆ ก่อนที่จะสร้างเขื่อนสิริกิติ์ พ่อของพี่กับเพื่อน ๆ ยังเคยมาล่องแก่งในลำน้ำน่านกันหลายครั้ง แต่พี่เองยังเด็กเกินไป พอโตขึ้นมาพอจะเที่ยวป่าได้ พื้นที่ในแถบนี้ก็กลายเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ การล่องแก่งในลำน้ำน่านจึงเป็นอะไรที่ฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้ ที่ชวนนัทมาครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน มันคือความฝันในวัยเด็กเลยนะ”

พี่ชายผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของพวกเราเล่าให้ฟังถึงที่มาของโปรเจกต์นี้ และหลังจากที่เริ่มต้นผลักดันให้ชาวบ้านจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้มาหลายปี จนสนิทสนมคุ้นเคยกันดีกับชาวบ้านที่มาพายเรือ ถึงได้ค้นพบเรื่องน่าอัศจรรย์ว่า คุณพ่อของลุงเสริม ซึ่งเป็นหนึ่งในพี่ ๆ ที่พายเรือบุกเบิกเส้นทางนี้มากับเราตั้งแต่แรก ก็เคยล่องเรือพานายห้างจากในตัวเมืองน่าน ลงไปค้าขายที่อุตรดิตถ์เมื่อหลาย 10 ปีก่อน ในสมัยที่ตัวลุงเสริมนั้นยังเป็นเด็กอยู่เช่นกัน

จัดประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทโดยพายแคนูบนแม่น้ำน่าน ตั้งแคมป์แบบไร้ไฟฟ้าและคลื่นโทรศัพท์
แคนู 1 ลำ นั่งได้ 3 คน คนที่คอยพายเรือทางหัวเรือ 1 คน ชาวบ้านที่คอยช่วยคัดท้ายเรือ 1 คน และผู้โดยสารที่นั่งตรงกลางอีก 1 คน

เส้นทางช่วงที่ล่องผ่านแก่งหลวงลงมานั้น สายน้ำจะพาเราตัดเข้าไปในป่าผืนใหญ่ เราจะผ่านแก่งใหญ่อีก 2 – 3 แก่ง เรือของผมล่มลงในบริเวณแก่งแห่งหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘แก่งขาม’ แต่โชคดีที่ผมแพ็กกล้อง อุปกรณ์เครื่องนอน และเสื้อผ้า ลงในกระเป๋ากันน้ำ จึงไม่มีอะไรเสียหาย เราใช้เวลาเก็บกู้เรืออยู่พักใหญ่ก่อนที่จะเดินทางกันต่อ การเดินทางในช่วงสุดท้ายนี้มีบางช่วงที่เราต้องเดินลุยน้ำและโยงเรือข้ามแก่งไป เพราะระดับน้ำในช่วงต้นเดือนมีนาคมเริ่มลดลงจนเรือแทบผ่านไม่ได้

คืนสุดท้ายเรามาพักแรมกันใจกลางป่า บนลานหินอันเงียบสงบในอ้อมกอดของขุนเขา บริเวณที่เรียกกันว่า ‘แก่งเจ็ดแคว’ ซึ่งหาดกรวดริมทรายน้ำแห่งนี้จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเฉพาะช่วงฤดูแล้งเท่านั้น ส่วนในช่วงฤดูฝน น้ำจากเขื่อนสิริกิติ์จะเอ่อท่วมขึ้นมาในบริเวณพื้นที่แห่งนี้

ชวนผู้ถือหุ้นบริษัท Outdoor พายแคนูแม่น้ำน่านกับชาวบ้าน ไปตั้งแคมป์หาปลาทำอาหาร และกางเก้าอี้ประชุมกลางน้ำ
ในช่วงสุดท้ายก่อนที่จะถึงแก่งเจ็ดแคว ในบางช่วงเราต้องลงเดินและจูงเรือข้ามแก่งที่น้ำลดลงจนแทบผ่านไปไม่ได้
ชวนผู้ถือหุ้นบริษัท Outdoor พายแคนูแม่น้ำน่านกับชาวบ้าน ไปตั้งแคมป์หาปลาทำอาหาร และกางเก้าอี้ประชุมกลางน้ำ
ภาพทางอากาศของอ้อมกอดแห่งขุนเขา ณ แก่งเจ็ดแคว ในรัศมี 30 กิโลเมตรรอบ ๆ ข้างนั้นไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง และไม่มีถนน นับได้ว่าเป็นพื้นที่พิสุทธิ์อันปราศจากการรบกวนของมนุษย์อย่างแท้จริงที่หาได้ยากขึ้นทุกวัน

“นัท แก่งเจ็ดแควนี้คือพื้นที่ที่พี่เคยอ่านเรื่องราวการเดินทางบนเส้นทางนี้เป็นครั้งแรกจาก ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ นักเขียน ช่างภาพ และนักเดินทางรุ่นบุกเบิก ที่เคยเขียนลงอนุสาร อ.ส.ท. เรื่องล่องแก่งลำน้ำน่านเมื่อสมัยที่พี่ยังเป็นเด็ก คุณปราโมทย์เคยล่องเรือมาบนเส้นทางเดียวกันกับเรา ในช่วงสุดท้ายก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ใน พ.ศ. 2511 และในบทความนั้นคุณปราโมทย์ก็มาจอดเรือพักกันในบริเวณแก่งเจ็ดแควนี่แหละ”

ผมมีโอกาสพบกับคุณปราโมทย์เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ในช่วงบั้นปลายชีวิตท่าน หลังจากที่ทำงานบุกเบิกแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยมาเนิ่นนานกว่า 30 ปี ในสมัยที่ผมไปขอสมัครเป็นนักศึกษาฝึกงานที่ อนุสาร อ.ส.ท. เมื่อ 30 ปีก่อน

คุณปราโมทย์ ได้เดินทางล่วงหน้าเราเพื่อไปสำรวจพื้นที่ในโลกแห่งใหม่ ซึ่งไม่ใช่โลกที่เรารู้จักมาเนิ่นนาน ผ่านเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว

ผู้คนที่เคยเดินทางบนเส้นทางนี้ก็เช่นกัน ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว ที่คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า เดินทางผ่านมา ฝากรอยเท้าไว้บนผืนทราย ก่อนที่มันจะค่อย ๆ เลือนหายไป

แต่ขุนเขายังคงปกคลุมไปด้วยป่าไม้ และสายน้ำยังคงไหลรินอยู่….

เรากางเก้าอี้แคมป์ตัวเล็ก ๆ นั่งประชุมงานกันในบริเวณริมน้ำ แผนงานประจำปีสำหรับปีนี้ไม่มีอะไรมาก

ชวนผู้ถือหุ้นบริษัท Outdoor พายแคนูแม่น้ำน่านกับชาวบ้าน ไปตั้งแคมป์หาปลาทำอาหาร และกางเก้าอี้ประชุมกลางน้ำ
แคนูเป็นพาหนะที่แสนวิเศษในการเดินทางล่องลำน้ำ เพราะมีขนาดเล็กพอจะเดินทางไปในลำน้ำสายเล็ก ๆ ได้ กินน้ำตื้น สร้างจากวัสดุที่ทนทานต่อการกระทบกระแทก และบรรทุกสัมภาระในการตั้งแคมป์ได้พอสมควร

“ขอให้มองไปรอบ ๆ ตัวของเรา จากจุดนี้ลากเป็นเส้นตรงไปในรัศมีอย่างน้อย 30 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยผืนป่า ไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีถนน ทางเดียวที่จะเข้ามาถึงได้ก็คือการล่องเรือลงมาจากแก่งหลวงอย่างที่เราทำ และสิ่งนี้แหละคือ Wilderness Area ที่ผมพยายามพูดถึงมาหลายปี พื้นที่ธรรมชาติอันพิสุทธิ์ที่ปราศจากสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ ปราศจากเสียงเครื่องยนต์กลไก ปราศจากไฟฟ้า และการพัฒนาในรูปแบบอื่นใดอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ 

“หากเป็นพื้นที่ที่เราจะเข้ามาใช้ได้ โดยที่เราไม่ไปเปลี่ยนแปลง พัฒนา หรือปรับปรุงให้มันเป็นแหล่งท่องเที่ยวในแบบที่หลาย ๆ คนเข้าใจ การจะเข้าถึงพื้นที่แบบนี้ได้ ถ้าไม่เดินเท้าเข้ามา ก็อาจจะขี่ม้า หรือล่องเรือแคนูเข้ามา เพื่อคงสภาพธรรมชาติอันพิสุทธิ์นี้ไว้ เป็นสมบัติให้คนรุ่นต่อไปได้เห็นและได้สัมผัส”

อย่างไรก็ตาม การพูดถึง การอธิบายด้วยตัวอักษร และรูปภาพ ไม่สามารถบรรยายถึงความรู้สึกแบบที่พวกเราได้มีโอกาสมานั่งอยู่ตรงนี้ด้วยกัน

และสิ่งนี้คือความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของการใช้ชีวิตกลางแจ้ง

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม