เมื่อเกิดสถานที่ใหม่ๆ คนย่อมชอบใจและชอบไปเป็นเรื่องธรรมดา แต่น่าคิดเช่นกันว่า ในวันที่พื้นที่มากมายถูกทำลายเพื่อสร้างสิ่งใหม่ การเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมบางอย่างอาจสร้างรอยแผลให้กับพื้นที่เดิมก็เป็นได้ ยิ่งเป็นสถานที่ที่ถูกทำลายเพียงครึ่งเดียว ทิ้งซากบ้านไม่สมบูรณ์เอาไว้ให้ดูต่างหน้า ช่างน่าเจ็บใจนัก
สถานที่ที่ว่าคืออดีตของ Can Sau. Emergency Scenery แห่งเมืองเก่าแก่นาม Olot (อูล็อต) ประเทศสเปน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดกะทัดรัดที่ถูกสร้างทับซากบ้านเดิมอย่างรวดเร็ว ฉุกเฉินเหมาะกับชื่อ
พื้นที่เล็กๆ แต่มีประโยชน์เหลือหลาย แถมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้กับชุมชนชาวอูล็อตได้อย่างไร เชื่อว่าถ้าลองไปทำความรู้จักต้นแบบทางสถาปัตย์สุดน่ารัก จะอยากให้เจ้าฉากโค้งไปช่วยเยียวยาพื้นที่ คน และชุมชน ในอีกหลายมุมเมือง

ครึ่งหนึ่งของบ้านนี้ โดนทำลายหายไป
ก่อนอื่นต้องขอเท้าความถึงเมืองรื่นรมย์อย่างอูล็อตที่ขึ้นชื่อเรื่องงานคราฟต์และศิลปะ ผสมผสานระหว่างยุคกลางและยุคสมัยใหม่เอาไว้ เลยไม่น่าแปลกใจหากเห็นที่นี่มีโรงเรียนการออกแบบหรือศิลปหัตถกรรมมากมาย
ไม่นานก็มีโครงการพัฒนาเมืองเพื่อสร้างทางเท้าใหม่ บ้านหลังหนึ่งตั้งขวางแผนการสร้างดังกล่าวอย่างเหมาะเจาะ รัฐบาลเลยซื้อ Can Sau House และรื้อถอนเพื่อจัดแนวถนนด้านหน้าโบสถ์อย่างที่ตั้งใจ แต่เรื่องนี้คงจะจบผ่านไปแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าพวกเขาไม่เหลือเศษซากแปลกประหลาดเอาไว้ครึ่งหนึ่ง แถมส่วนที่เหลือไว้เป็นเพียงโครงกำแพง 3 หยัก และฝาผนังร่วมของซากบ้าน
ไม่น่าดูเอาเสียเลย

กระทั่ง ค.ศ. 2018 เทศบาลเมืองอูล็อตคงคิดเช่นกัน ว่าจะปล่อยเมืองแห่งศิลปะมายาวนานมีซากปรักหักพังเช่นนี้ได้อย่างไร จึงมอบหมายให้ Unparelld’arquitectes สตูดิโอสถาปัตย์ชื่อดังในเมือง นำโดย เอดวร์ด คาลลิส (Eduard Callís) และ กิลเลม โมไลเนอร์ (Guillem Moliner) ลงมือปรับปรุงบ้านเว้าแหว่งตรงข้ามโบสถ์ให้กลับมาดูดีและมีประโยชน์ใช้สอยอีกครั้ง

พื้นที่สาธารณะเพิงโค้ง
โจทย์ที่ได้รับไม่ง่าย เพราะพวกเขาต้องจัดรูปแบบพื้นที่ใหม่ให้เข้ากับโครงสร้างเดิม และยังต้องคงเอกลักษณ์ให้เข้ากับถนนสายนี้ จึงเป็นที่มาของคอนเซปต์การออกแบบพื้นที่สาธารณะเปิดโล่ง ทำเป็นฉากอิฐโค้ง 3 ตอน เจาะช่องวงกลมด้านบน และเจาะช่องเล็กๆ ไว้ 4 ช่อง เพื่อใส่กระจก แล้วมาประกอบกันเป็นฟาซาด (Façade) แสนสวย


นอกจากความสวยงาม การก่ออิฐแดงเสริมเข้าไปในผนังเดิม และสร้างช่องเปิดเผยให้เห็นร่องรอยผนังเก่าด้านหลัง ส่วนร่องรอยการรื้อถอนก็ทิ้งไว้อย่างนั้น เพราะทั้งคู่ตั้งใจเก็บไว้เป็นความทรงจำของเมือง พวกเขาเลือกใช้โครงเหล็กสีแดง คู่สีที่กลมกลืนกัน ค้ำยันเพื่อรับน้ำหนักโครงสร้าง ส่วนกิมมิกด้านบนสุด คือ สถาปัตยกรรม Vault หลังคาโค้งเพิ่มความเก๋ไก๋ให้กับพื้นที่ 113 ตารางเมตร และเติมดวงไฟที่ห้อยลงมาจากเพดานโค้ง ทำให้พื้นที่สว่างขึ้นอย่างนุ่มนวล ส่องแสงสว่างไสวในยามค่ำคืน ฟื้นให้พื้นที่กลับมาคึกคัก
เพื่อไม่ให้เสียชื่อเมืองศิลปะ ควิม โดมีน (Quim Domene) ศิลปินผู้คร่ำหวอดด้านการสร้างงานในพื้นที่สาธารณะ เลยมาช่วยรังสรรค์ช่องกระจกด้วยการหยิบเอาองค์ประกอบรอบๆ พื้นที่มาแต่งแต้ม อย่างโมเสกลวดลายเรขาคณิตบนกระจกกลม เป็นแพตเทิร์นกระเบื้องสุดคราฟต์ หัตถกรรมขึ้นชื่อของสเปน และออกแบบช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ด้านล่าง 4 ช่อง เติมไอคอนสัญลักษณ์ของเมือง รูปจำลองพระแม่มารีย์ รายชื่อร้านดั้งเดิมที่เคยมี และผังเมืองเก่าแห่งนี้เข้าไป
ความน่ารักในการออกแบบอีกอย่างคือ ใช้วัสดุและช่างในท้องถิ่นทั้งหมด


หนึ่งปีผ่านไปไวเหมือนโกหก เริ่มเห็นเจ้าโค้งนี้เป็นรูปเป็นร่าง จะว่าปรับปรุงเสร็จแล้วก็ว่าใช่ แต่ก็ไม่เชิง เพราะเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่อยากให้พื้นที่นี้ปรับตามสถานการณ์และการใช้งานของแต่ละคน เขาจึงออกแบบอย่างเป็นกลางและกลมกลืนกับบริบทเดิม ให้เหมาะกับการใช้งานสำหรับกิจกรรมทุกประเภท

ลานละเล่น แล้วแต่ชาวเมือง
พื้นที่ใหม่ไฉไลแบบนี้ มีหรือชาวเมืองอูล็อตจะพลาด กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนถนนสายนี้จึงครึกครื้นเป็นพิเศษ จัดทั้งงานแสดงสินค้า คอนเสิร์ต และพิธีกรรมทางศาสนา เนื่องจากอยู่ห่างจากโบสถ์ Tura เพียงชั่วข้ามถนน ส่วนสมาคมในท้องถิ่นเอง ก็ใช้พื้นที่สำหรับงานเฉลิมฉลองต่างๆ ด้วย

ความเจ๋งของที่นี่คือเป็นพื้นที่อะไรก็ได้ตามใจนึก ขึ้นอยู่กับความสนใจและประสบการณ์ และก็แล้วแต่คนจะให้นิยามว่าคืออะไร มันจึงเป็นได้ทั้งเพิง ฉาก เวที และพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอย่างหลัง ในแง่การออกแบบเมืองเป็นตัวอย่างที่ดี ในการสรรหาพื้นที่มาสร้าง Public Space ให้ผู้คนได้ออกมาเจอกัน และเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ขนาดของพื้นที่ไม่สำคัญเท่าผลลัพธ์ เพราะเมื่อมีคนมาใช้งาน จะเป็นแว่นขยายให้เกิดโปรเจกต์สร้างสรรค์เช่นนี้ตามมาอีกมาก
ที่สำคัญ ยังเป็นการปรับโฉมใหม่โดยไม่ลืมคิดถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ พร้อมใส่จิตวิญญาณของเมืองไว้อย่างครบถ้วน
ไม่น่าเชื่อว่าอดีตซากปรักหักพังทิ้งร้าง จะสร้างก้าวสำคัญที่ส่งผลต่อบริบทของชุมชนเมือง อนาคต เราว่าโอกาสที่จะได้เห็นพื้นที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นทั่วหัวถนน คงไม่เกินจริงเกินไป สำหรับเมืองพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาก็ตาม
ข้อมูลอ้างอิง