ไฟในเตาถูกจุดขึ้น พร้อมแสงของตะเกียงที่ส่องสว่าง เมื่อแสงสุดท้ายของวันใกล้ลับขอบฟ้า ครอบครัวเล็กๆ กำลังเริ่มประกอบอาหารง่ายๆ เป็นครั้งแรกในชีวิตของเด็กๆ ที่จะได้ออกมาสัมผัสกับธรรมชาตินอกบ้าน ได้ใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์ที่มีคุณภาพร่วมกัน ต่างไปจากทุกวันในเมืองใหญ่ที่ต้องเสียไปกับการจราจรบนท้องถนน และเมื่อกลับมาถึงบ้าน ทุกคนก็ต่างวุ่นวายอยู่กับโลกสมมติส่วนตัวของแต่ละคน

ภาพเด็กๆ ที่ช่วยพ่อแม่กางเต็นท์ หัดทำกับข้าว และเรียนรู้การใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติอย่างเคารพในธรรมชาติ เคารพในสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่นที่มาใช้พื้นที่ร่วมกัน เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทุกวันนี้ตามลานกางเต็นท์ของอุทยานและลานกางเต็นท์เอกชน ซึ่งเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศไทยในช่วงระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมานี้

ประวัติศาสตร์การแคมปิ้งในเมืองไทย วัฒนธรรมกลางแจ้งที่คนไทยนิยมมากว่าครึ่งศตวรรษ
การพาเด็กๆ ออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งเป็นการปลูกฝังให้คนรักและเข้าใจธรรมชาติ โดยที่พวกเขาจะได้โอกาสพบเห็นและสัมผัสประสบการณ์ตรง ไม่ใช่แค่คำบอกเล่า หรือเพียงแค่ข้อมูลจากในโลกอินเทอร์เน็ต
ประวัติศาสตร์การแคมปิ้งในเมืองไทย วัฒนธรรมกลางแจ้งที่คนไทยนิยมมากว่าครึ่งศตวรรษ
ตะเกียงให้แสงสว่างจุดขึ้นในแคมป์ที่ห่างไกลจากแสงไฟฟ้าในช่วงเวลาพลบค่ำ วัฒนธรรมในการใช้ชีวิตกลางแจ้งนั้นได้ส่งผ่านจากรุ่นไปสู่รุ่นผ่านกิจกรรมง่ายๆ 

จริงอยู่ที่วัฒนธรรมการออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งในบ้านเรามีจุดเริ่มต้นมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ยาวนานพอๆ กับการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2504 (ปีเดียวกันกับที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม) หากวัฒนธรรมและความเข้าใจนั้นอาจจำกัดอยู่ในวงที่ไม่กว้างนัก มีเด็กในรุ่นของผมไม่มากนักที่ได้โอกาสออกไปสัมผัสกับธรรมชาติเหมือนทุกวันนี้ อาจด้วยความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง ที่ทำให้การออกไปตั้งแคมป์ในป่าเป็นเรื่องจับต้องได้ยาก เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ทั้งความพร้อมเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในยุคสมัยนั้น 

มองย้อนกลับไป ผมคิดว่ายุคแรกที่ทำให้การแคมปิ้งในประเทศเรา (ถ้าหากไม่นับยุคสมัยของนักนิยมไพรในยุคก่อนหน้านั้น) เฟื่องฟูขึ้นมา น่าจะอยู่ในช่วงยุคหลังจาก พ.ศ. 2523 หลังจากคำสั่งที่ 66/2523 ที่ทำให้มวลชนเคลื่อนไหวในป่านั้นกลับออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และพื้นที่สีแดงหลายๆ พื้นที่ก็ถูกจัดตั้งและประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามากมาย 

ในช่วงเวลานั้น นิตยสารรายเดือนหลายฉบับเริ่มนำเสนอเรื่องราวการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตกลางแจ้ง หรือแคมปิ้งท่องเที่ยวเกิดขึ้นมากมาย วัฒนธรรมในการแคมปิ้งแบบไทยๆ ในภาพรวมมักจะสะท้อนออกมาในรูปแบบความสนุกสนาน ร้องรำทำเพลง เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการย้ายที่กินเหล้าเพื่อผ่อนคลาย มากกว่าจะเป็นการออกไปสัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง

จนมาถึงยุคราว พ.ศ. 2535 หลังจากการเสียชีวิตของ คุณสืบ นาคะเสถียร ใน พ.ศ. 2533 กระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติก็กลายเป็นกระแสหลักของสังคมในยุคสมัยนั้น ผู้คนมากมายเริ่มให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับการเข้าป่าในมุมมองที่เปลี่ยนไป กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูนก การถ่ายภาพ และการดำน้ำ เริ่มเป็นที่นิยมในวงกว้าง ลานกางเต็นท์หลายแห่งของอุทยานแห่งชาติเริ่มเนืองแน่นไปด้วยผู้คน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด เราจะเห็นเต็นท์หลากหลายรูปแบบกางเรียงต่อกันเต็มพื้นที่ เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหลายแห่งเริ่มมีบริการเตาปิ้งย่างหมูกระทะมาบริการส่งให้ถึงหน้าเต็นท์  

ผมไม่แน่ใจว่า ทำไมอยู่ดีๆ กระแสการแคมปิ้งท่องเที่ยวในช่วงหลังจาก พ.ศ. 2545 จนถึง พ.ศ. 2550 ดูเหมือนจะแผ่วลงไปมาก แน่นอนว่ายังมีกลุ่มคนที่รักธรรมชาติออกเดินทางไปแคมปิ้งกันอยู่ แต่ก็ไม่ใช่กระแสหลักของสังคมอีกต่อไป การเดินทางท่องเที่ยวในยุคต่อมาของชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ คือการออกไปซื้อหาที่ดินปลูกบ้านตากอากาศหลังที่สองอยู่ตามชายป่า หรือไม่ก็ไปพักตามโรงแรม ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในยุคต่อมาเสียมากกว่า

ประวัติศาสตร์การแคมปิ้งในเมืองไทย วัฒนธรรมกลางแจ้งที่คนไทยนิยมมากว่าครึ่งศตวรรษ
พื้นที่ริมถนนข้างลำน้ำแห่งหนึ่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อนทางภาคเหนือ เป็นจุดแคมปิ้งที่ผมคิดว่างดงามและลงตัวที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศนี้ เลือนหายไปเพราะการตัดขยายพื้นที่ถนน จากถนนดินสายเล็กๆ ในป่าที่รถแทบวิ่งสวนกันไม่ได้ กลายเป็นถนนคอนกรีตเพื่อการคมนาคมสะดวกในช่วงฤดูฝนของหมู่บ้านอันห่างไกล 

มาจนถึงยุคที่เกิดการระบาดของ COVID-19 เมื่อปลาย พ.ศ. 2562 ทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยล็อกดาวน์ ห้ามคนเดินทางเข้าออกนอกประเทศ การแคมปิ้งกลับกลายมาเป็นกระแสอีกครั้งทั่วโลก ไม่ใช่เพียงเฉพาะในบ้านเรา พร้อมสิ่งตอบรับมากมาย ทั้งอุปกรณ์แคมปิ้งที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น การไปตั้งแคมป์ไม่ใช่การไปนอนกลางดินกินกลางทรายเหมือนเมื่อ 2 0- 30 ปีก่อน บวกกับพื้นที่กางเต็นท์ทั้งของเอกชนและภาครัฐได้ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้สะอาดและทันสมัยมากขึ้น การแคมปิ้งกลับมาแพร่หลายและเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มของคนชั้นกลาง ทั้งหนุ่มสาวสมัยใหม่ที่เติบโตมาพร้อมๆ กับวัฒนธรรมของกระแสโลก และครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นหนุ่มสาวในยุคสมัย 25 – 30 ปีก่อน ที่เคยใช้ชีวิตกลางแจ้งในยุคเฟื่องฟูของกระแสอนุรักษ์ ซึ่งต้องการพาลูกๆ ของตนออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ 

แน่นอนที่สุด เมื่อผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกันเป็นจำนวนมากก็ย่อมเกิดปัญหาตามมา ไม่ว่าความแออัดของจุดกางเต็นท์ยอดนิยมในบ้านเรา โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว หลายคนเริ่มบ่นถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป และในบางครั้งก็ไม่ค่อยจะปฏิบัติตามกฎของพื้นที่ ส่งเสียงรบกวนในยามค่ำคืน จนกระทั่งทางภาครัฐมีนโยบายจัดระเบียบการแคมปิ้งในอุทยานขึ้นใหม่ โดยเสนอแนวคิดห้ามไม่ให้ประกอบอาหารประเภทปิ้งย่างหรือแม้กระทั่งเจียวไข่ในแคมป์ แต่เสนอให้อุทยานแห่งชาติทุกแห่ง จำนวน 140 กว่าแห่ง จัดเตรียมร้านอาหารไว้ให้ในโซนบริการ และอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่มาแคมป์ทำได้เพียงแค่ชงกาแฟหรือต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินเองได้เท่านั้น

ประวัติศาสตร์การแคมปิ้งในเมืองไทย วัฒนธรรมกลางแจ้งที่คนไทยนิยมมากว่าครึ่งศตวรรษ
ดูเหมือนว่าในอนาคต การประกอบอาหารง่ายๆ เช่น การเจียวไข่ จะกลายเป็นสิ่งที่ต้องห้ามไปสำหรับพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศนี้

ผมไม่แน่ใจว่านี่คือการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่ เพราะปัญหามักเกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง หรืออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขณะที่อุทยานแห่งชาติเล็กๆ อีกมากมายยังคงมีพื้นที่เพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยว และการออกกฎห้ามประกอบอาหารเพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับสัตว์ป่าที่อาจเข้ามารบกวนพื้นที่แคมป์ ก็ใช่ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกแห่ง

ผมกลับเชื่อว่า แทนที่จะต้องมาออกกฎห้ามเจียวไข่ ห้ามผัดกะเพรา สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ การจัดพื้นที่แคมป์ให้เป็นสัดส่วน ผ่านระบบการจองพื้นที่ล่วงหน้าออนไลน์ ให้ระยะห่างในพื้นที่เหมาะสม ไม่แออัดจนรู้สึกว่าแต่ละกลุ่มรบกวนกัน ไม่ใช่ว่าในขณะที่เรากางเต็นท์ที่มีระยะห่างกันพอสมควร อยู่ดีๆ กลางดึกก็มีเต็นท์ของใครไม่รู้เข้ามากางแทรกกลางจนแออัดไปหมด รวมไปถึงการเพิ่มอัตรากำลังของผู้ตรวจตราดูแลความสงบให้นักท่องเที่ยวในกรณีที่เกิดข้อพิพาท รักษาความสงบ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าเรื่องนำขยะออกไปทิ้งนอกเขตอุทยาน หรือในรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ นานา

ประวัติศาสตร์การแคมปิ้งในเมืองไทย วัฒนธรรมกลางแจ้งที่คนไทยนิยมมากว่าครึ่งศตวรรษ
บรรยากาศการวางแคมป์ที่มีพื้นที่ว่างและระยะห่างที่เพียงพอ บริเวณพื้นที่นั่งพูดคุย เตรียมอาหาร รวมไปถึงประกอบอาหารนั้นอยู่ตรงใจกลางของแคมป์ ห่างออกมาจากเต็นท์ที่ใช้พักผ่อน ถ้าหากมีการจัดระบบที่ดี มีระบบจองพื้นที่ชัดเจนล่วงหน้า ไม่ใช่ว่าใครจะมากางเต็นท์ตรงไหน ก็กางแทรกกันตรงพื้นที่ว่างอย่างไม่มีกฎกติกา ก็จะไม่รบกวนกัน และไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง ว่าทำไมกลุ่มนั้นกลุ่มนี้มาปิ้งย่างหมูกระทะรมควันกัน ตรงบริเวณที่เราจะกางเต็นท์นอน 

ปัญหาใหญ่ที่ผมพบเห็นมาตลอดในบ้านเรา ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการออกกฎที่หยุมหยิมห้ามทุกสิ่งทุกอย่าง แต่คือเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หลายครั้งหลายหนเจ้าหน้าที่เองควบคุมและบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ดังเช่นในกรณีที่คนกลุ่มใหญ่มาตั้งแคมป์และส่งเสียงดังโวยวายในยามค่ำคืน และเมื่อไปตามเจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่ก็จะได้รับคำตอบว่าผมก็ไปเตือนแล้ว แต่เขาไม่เชื่อและเขามากันเยอะ ผมมีคนเดียวก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน

ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นกับอุทยานแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา เพราะเจ้าหน้าที่ Park Ranger หรือ Game Warden นั้นได้รับการฝึกใช้อาวุธและศิลปะการป้องกันตัวจากหน่วยทหาร หลายคนเป็นนาวิกโยธินเก่าที่ปลดประจำการหรือลาออกมาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ แม้ว่าทุกคนดูยิ้มแย้มแจ่มใส และทักทายผู้คนที่เข้ามาใช้พื้นที่ด้วยความสุภาพเรียบร้อย แต่แต่งเครื่องแบบและพกอาวุธปืนติดตัวตลอดเวลา พร้อมปฏิบัติหน้าที่ในการระงับเหตุฉุกเฉิน หากมีการกระทำผิดแม้ว่าเล็กน้อย ถ้าตักเตือนแล้วไม่เชื่อฟัง ก็จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดในการจับกุม ออกใบสั่ง รวมไปถึงควบคุมตัวผู้กระทำผิดไปส่งศาลได้ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สำหรับในบ้านเรา ผมคิดว่าถ้าเรารื้อระบบของตำรวจป่าไม้กลับขึ้นมาเป็นตำรวจอุทยาน โดยให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบและเรียบร้อยในอุทยานแห่งชาติ มีห้องขังและสถานีตำรวจเล็กๆ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเพื่อป้องปรามผู้กระทำความผิดอย่างเป็นรูปธรรม ก็อาจเป็นแนวคิดที่ดีในการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการสร้างส่งเสริมจิตสำนึกที่ดีของชาวแคมป์ ที่ดีไปกว่าการออกกฎห้ามไปเสียทุกอย่าง โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ และสร้างวัฒนธรรมกลางแจ้งที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นขึ้นมาเลย

ในสหรัฐอเมริกา แต่ละอุทยานแห่งชาติยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ทางอุทยานได้จัดสรร และเปิดโอกาสให้กับนักท่องเที่ยวทำได้ มากกว่าการตั้งแคมป์กันในบริเวณ Campground กันเฉยๆ โดยออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ในแต่ละอุทยาน เช่นที่ Yosemite มีการออกใบอนุญาตพิเศษที่จำกัดจำนวนคนปีนยอด Half Dome ได้ หรือการออกใบอนุญาตพิเศษให้เดินทางเข้าไปตั้งแคมป์ใน Widerness Area ในป่าห่างไกล มีกิจกรรมสื่อความหมายธรรมชาติให้กับเด็กๆ และผู้คนที่สนใจ รวมไปถึงกิจกรรมเช่นการขี่ม้า เพื่อเข้าไปสัมผัสธรรมชาติในเส้นทางที่จัดไว้ คนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ ก็มีกิจกรรม Photography Tour นำโดยเจ้าหน้าที่พาไปยังจุดต่างๆ ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม 

รวมไปถึงกิจกรรมทางน้ำ เช่น การพายเรือแคนูเพื่อไปแคมปิ้งตามลำน้ำได้ กระทั่งการตกปลาเพื่อการกีฬาในเขตพื้นที่อุทยาน แม้มีกฎระเบียบมากมายออกมาควบคุม เช่น การกำหนดขนาดและจำนวนของปลาที่จะเก็บ หรือว่าการกำหนดพื้นที่และช่วงเวลาการตกปลา ในบางพื้นที่จะต้องปล่อยปลาทุกตัวกลับลงไปในลำน้ำ กิจกรรมเหล่านี้ทางอุทยานก็มีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาดูแล เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ดังที่ Theodore Roosevelt เคยกล่าวไว้ว่า 

“There is a delight in the hardy life of the open. There are no words that can tell the hidden spirit of the wilderness that can reveal its mystery, its melancholy and its charm. The nation behaves well if it treats the natural resources as assets which it must turn over to the next generation increased and not impaired in value. Conservation means development as much as it does protection”

ผมอาจเป็นหนึ่งในไม่กี่คนในกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นที่ได้มีโอกาสออกไปตั้งแคมป์ในป่าหรือบนเกาะร้างห่างไกลกับพ่อตั้งแต่เด็ก ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าจะปลูกฝังให้คนรักและเข้าใจธรรมชาติ วิธีการที่ดีที่สุดคือ พวกเขาควรมีโอกาสได้พบเห็นและสัมผัสกับประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง ไม่ใช่จากคำบอกเล่า และอุทยานแห่งชาติคือพื้นที่ที่ดีที่สุด สำหรับการเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องราวธรรมชาติ และวัฒนธรรมกลางแจ้งสำหรับผู้คนในสังคม

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม