ประเด็นการกินเค็มเท่ากับโรคไตไม่ใช่เรื่องใหม่

คนส่วนใหญ่คงรู้ว่าการกินเค็มเป็นเรื่องไม่ดี แต่เราต่างคุ้นเคยกับการกินอาหารรสจัดจ้าน จนหลงลืมไปว่า บางที รส ‘อร่อย’ นี่แหละที่แฝงไปด้วยอันตรายจากโซเดียมในปริมาณมาก จนเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอีกหลายโรคตามมา รวมไปถึงอาหารแช่แข็งจากร้านสะดวกซื้อที่เพิ่มโซเดียมเพื่อรักษาอาหารไว้ได้นาน หรืออาหารแปรรูปต่างๆ ที่ใช้โซเดียมในการปรุงรสและถนอมอาหาร

พฤติกรรมการกินโซเดียมนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญทำให้ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละเกือบ 40,000 คน และเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตมากกว่า 500,000 คน

เมื่อการกินโซเดียมอันตรายขนาดนี้จึงมีแคมเปญที่อยากเตือนสติทุกคนให้ลดการบริโภคโซเดียมลงผ่านหนังสั้น เรื่องราวเกี่ยวกับการสอบสวนนางกัลยวรรตที่ทำการฆาตกรรมอำพรางโดยใช้โซเดียมในเครื่องปรุงและสารปรุงแต่งอาหารเป็นยาพิษ ฆ่าสามีของตัวเองมาแล้ว 3 คนในระยะเวลา 30 ปี นำแสดงโดย นก-สินจัย เปล่งพานิช และ ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

เมื่อปล่อยหนังสั้นตัวนี้ออกไปแล้ว ผลตอบรับออกมาดีเกินคาดจนเครือข่ายลดเค็มเจ้าของโครงการถึงกับบอกว่านี่เป็นงานที่ตรงความต้องการและเหนือความคาดหมายที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งเครือข่ายมา

เราจึงนัดคุยกับ น.ท.หญิง พญ. วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี เลขาธิการเครือข่ายลดเค็ม เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ Creative Director จากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ พัด-พชร พิทักษ์จำนงค์ ผู้กำกับจาก Film Factory ถึงขั้นตอนก่อนจะออกมาเป็นแคมเปญนี้

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

กดดูหนังกันอีกสักรอบ และไปรับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมดพร้อมกัน

หมอโรคไตอยากให้คนไทยลดเค็ม

เครือข่ายลดบริโภคเค็มซึ่งเป็นเครือข่ายอิสระที่ได้รับทุนจำนวนหนึ่งจาก สสส. ก่อตั้งโดย ผศ. นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ คุณหมอโรคไต มีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้คนไทยลดการกินเค็ม คุณหมอเห็นว่าผู้ป่วยโรคไตมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีและไม่มีทีท่าจะลดลงเลย จากข้อมูลพบว่าคนไทยกินเค็มเกินค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกแนะนำอยู่ถึง 2 เท่า จึงเกิดเป็นแคมเปญแรกเมื่อปี 2555 ‘ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค’ มีการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในเชิงวิชาการมาตลอดจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ได้รับการตอบรับดีเท่าที่ควร

คุณหมอวรวรรณเห็นว่าในยุคสมัยที่สื่อบนโลกออนไลน์น่าจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งก็คือคนทั่วไปได้เป็นจำนวนมาก จึงเกิดมาเป็นแคมเปญนี้

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

เลือกเอเจนซี่ชูใจ กะ กัลยาณมิตร

ที่ผ่านมาการรณรงค์ในเชิงวิชาการไม่สามารถเข้าถึงคนทั่วไปในสังคมได้มากนัก เมื่อต้องการทำให้งานนี้เกิดประโยชน์อย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆ คุณหมอวรรวรรณจึงคิดว่าอะไรทำให้เธอสนใจเมื่อเล่นโทรศัพท์ และคำตอบก็มาในช่วงเวลาที่เธอเจอคลิปผลงานต่างๆ ของทางชูใจในเฟซบุ๊ก

คลิปที่ชูใจทำหลายอันกระแทกใจมาก เลยไปตามตัวมาช่วยออกความเห็น ถ้าบอกโต้งๆ ว่าเกลือไม่ดียังไง เป็นโรคอะไรได้บ้าง คงไม่ถูกพูดถึงเท่าไหร่ เพราะเราทำมาหลายปี ลงทุนหลายครั้งก็สูญเปล่า เลยอยากทำอะไรที่ได้งานจริงๆ ให้น้องตามหาเอเจนซี่ชูใจจนเจอ โทรไปขอร้องให้ช่วยทำให้เรา” หมอวรวรรณเล่า

คนที่รับงานนี้ของชูใจฯ คือ เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ เขาเล่าว่า “เพื่อนคิดว่าผมน่าจะอินที่สุด เพราะพ่อผมฟอกไตอยู่ แต่ผมก็ไม่คิดว่าจะทำได้นะ ที่ผ่านมาเราเคยทำงานกับ NGO เยอะ เราก็อยากได้คนที่อินเรื่องนี้จริง ตอนรับบรีฟผมถามหมอสุรศักดิ์ว่า คุณหมอทำไปทำไมครับ หมอตอบผมว่า ผมรักษาคนเป็นโรคไตมาเยอะนะ มันทรมาน ทุกวันนี้คนป่วยเยอะขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เลยต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้ ฟังแล้วก็ เราจะทำ เราจะช่วยเขา”

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

แนะนำโซเดียมให้ทุกคนรู้จัก

แพลนเนอร์อย่าง ยอด-บุญชัย สุขสุริยะโยธิน ทักมาว่า ถึงโรคจากความเค็มอาจไม่ใช่เรื่องใหม่มาก แต่จากการสำรวจก็พบว่าคนจำนวนมากก็ไม่รู้เรื่องนี้

โรคเกี่ยวกับความเค็ม คนรู้แค่ว่าอย่าใส่ซีอิ๊ว น้ำปลาเยอะ กลยุทธ์แรกเลยคือทำให้คนรู้จักโซเดียมก่อน คนทั่วไปรู้ว่าความเค็มอยู่ในเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว แต่หมอบอกว่ามันอยู่ในทุกอย่าง อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร การถนอมอาหาร อยู่ในการปรุงรสทั้งหมด

เราพยายามสื่อสารว่าโซเดียมเท่ากับตาย ป่วย โรค เพราะสุดท้ายโซเดียมที่บริโภคเข้าไปก็นำไปสู่ปัญหาโรคความดัน หรืออีกหลายๆ โรคที่อยู่ในหนัง พอได้อย่างนี้ก็มีหลายไอเดียที่ตามมา ตอนแรกคิดกันเร็วๆ ว่าถ้าแบบนั้นเวลาเราทำอาหารก็ฆ่าคนได้สิ งั้นก็ เฮ้ย เราทำหนังฆาตกรรมไหม เอาอาหารฆ่าคน” เม้งอธิบายกลยุทธ์

เมื่ออยากจะทำหนังฆาตกรรม ผู้กำกับที่เม้งนึกถึงคือ พัด-พชร พิทักษ์จำนงค์ ลูกศิษย์ของ ต้อม-เป็นเอก รัตนเรือง

ผมนั่งดู Showreel ของพัดตั้งแต่สมัยเขายังเป็นนักเรียน เขาทำหนังฆ่ากันเยอะมาก เป็นหนังดาร์กๆ เครียดๆ ถ่ายแบบเรียบๆ งานเขา พี่นก ฉัตรชัย เคยมาเล่นด้วย ก็เลยโทรหาเขา ตอนนั้นยังไม่มีพล็อต มีแต่ไอเดีย พัดกลับมาพร้อมไอเดียหลายๆ อย่าง วันหนึ่งเพื่อนผมถามว่า จำเรื่องสั้น ฆาตกรรมจากก้นครัว ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้มั้ย ที่เมียทำอาหารให้ผัวกินจนตาย เราก็เลยใช้พล็อตนี้ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของพัดในการเอาเรื่องสั้นไปปรับให้เป็นเรื่องโซเดียม แล้วลงรายละเอียด พัฒนาให้เป็นหนัง โดยที่เราไม่ได้หยิบมาใช้ทั้งดุ้น”

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

จากหนังโฆษณา 30 วินาที กลายเป็นหนังสั้น 9 นาที

ตอนแรกพัดคิดว่างานนี้คงจะเป็นโฆษณาความยาว 30 วินาที ที่บอกเรื่องความอันตรายของโซเดียม แต่ไอเดียกลายมาเป็นหนังสั้น เขาก็ยินดีร่วมพัฒนาไอเดียนี้ให้ออกมาดีที่สุด

ผมโชคดีมากที่เขามั่นใจมาตั้งแต่แรกว่ามันต้องเป็นหนัง ไม่ใช่โฆษณาที่ขายของมากเกินไป ตอนแรกผมพัฒนาออกมาเป็นหนังความยาว 30 วินาทีที่พูดถึงอันตรายของโซเดียมแบบเร็วๆ แต่พี่เม้งมั่นใจแต่แรกว่าต้องเป็นหนังสั้น ซึ่งคนจะอยากแชร์ด้วยตัวหนังเอง อาจไม่ต้องพูดถึงโซเดียมก็ได้ ถ้ามันน่าสนใจมากพอ

ผมถามพี่เม้งหลายรอบว่าแน่ใจนะว่าจะไปทางนี้ พอเขามั่นใจเราก็ไปสุดทาง เราทิ้งประสบการณ์การทำโฆษณา กลับไปมุ่งกับพล็อตกับเรื่องราวที่ใกล้ตัวคนที่เราอยากพูดถึงมากที่สุด ต้องขอขอบคุณ ม.ล.วิสุมิตรา ปราโมช ลูกสาวของท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่อนุญาตให้เรานำเรื่อง ฆาตกรรมจากก้นครัว มาดัดแปลงใช้ในโปรเจกต์นี้” ผู้กำกับเล่า

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

นักแสดงนำระดับตุ๊กตาทอง

เม้งเล่าว่า ในปัจจุบันมีหนังออนไลน์เยอะมาก นักแสดงก็เป็นกลุ่มเดิม ดูออกว่าเป็นหนังออนไลน์ตั้งแต่ไม่กี่วินาทีแรก แต่เมื่อทำงานนี้ให้เป็นหนังสั้น บทแม่บ้านที่ต้องทำอาหารเพื่อฆ่าสามีตัวเอง ถ้าเป็นนักแสดงที่คนดูแล้วไม่เชื่อ หนังคงไปได้ไม่รอด ส่วนพัดก็ยืนยันว่าต้องเป็น นก-สินจัย เปล่งพานิช ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นอย่างที่เห็น

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

สำหรับผม บทนี้มีแค่คนเดียวจริงๆ คือพี่นก สินจัย โชคดีที่ผมเองเคยทำหนังที่พี่นก ฉัตรชัย กำกับ พอนางเอกเป็นพี่นกแล้ว นักแสดงที่มาเล่นด้วยต้องหาเบอร์ที่เท่ากัน เดี๋ยวสู้ไม่ได้ ผมเลยชวน พี่ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม มา เขาก็ยินดีเล่น” พัดอธิบาย

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

เม้งเสริมถึงทีมเบื้องหลังว่า “ต้องขอบคุณทุกคนทุกฝ่ายที่มาช่วยกัน คนดูจะนึกว่างานนี้งบเยอะ จริงๆ คืองบไม่มากเลย แต่เพราะอยากทำให้มันดี บางคนเลยลดค่าตัวมาช่วยกัน ต้องให้เครดิตผู้กำกับ และทีมโปรดักชันที่หาวิธีนำเสนอให้มันดูดีขนาดนี้ โปรดักชันก็ใช้ทีมมืออาชีพที่ปกติทำหนังไทย ทุกคนมีความสุขกับการได้ทำ เรามาทำด้วยกันเพราะเชื่อในจุดประสงค์ที่ดีของงาน เลยช่วยกันทำให้ดีที่สุด”

ผลตอบรับที่น่าชื่นใจ

คุณหมอวรวรรณบอกว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาตรงกับความต้องการและความตั้งใจที่ทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

มันเหมือนโยนหินแล้วน้ำกระเพื่อมขึ้นมา มากกว่าที่เคยได้ทำมาตลอด  5 ปี ก็เลยรู้สึกดี ขอบคุณทุกไลก์ ทุกแชร์ ไม่รู้เป็นอะไร น้ำตาไหลกับยอดไลก์ ยอดแชร์ ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน อยากจะบอกว่าทางเครือข่ายขอบคุณมาก ขอบคุณแทนคนไทยทุกคน หมอไปทานข้าว โต๊ะข้างๆ คุยกันเรื่องหนังนี้ แล้วเขาก็ตีมือเพื่อนว่าไม่ให้เติมพริกน้ำปลาลงไป เราอยากแทบจะไปจ่ายเงินให้โต๊ะนั้นเลย” คุณหมอวรวรรณหัวเราะ

สำหรับเม้งเอง เขาบอกเราว่า นี่เป็นอีกข้อพิสูจน์ให้เห็นว่างานที่ดีไม่จำเป็นต้องสั้นเสมอไป การทำให้คนเกิดความตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้นก็เท่ากับงานของเขาส่งผลเรียบร้อยแล้ว

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

ผลตอบรับมันดีอยู่แล้วครับ แค่อาอี๊กับคุณแม่แชร์จนมาถึงผมเนี่ยคือตัวชี้วัดว่างานนี้เวิร์ก ผมนั่งอ่านคอมเมนต์ คนรู้จักโซเดียม บางคนกลัวสิ่งที่กินเข้าไป เพิ่งรู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ ผลจากหนังอาจจะวัดไม่ได้ตอนนี้ เพราะอาการป่วยของคนอย่างโรคไต ความดัน เป็นเรื่องสะสม ถ้าความรู้นี้ติดตัวเขา ถ้าในอนาคตเขาตระหนักเรื่องนี้บ้าง หรือถ้าสักครอบครัวทำอาหารด้วยวิธีคิดที่เปลี่ยนไป นี่คือฟีดแบ็กที่ดีที่สุด เพราะมันเป็นเรื่องของชีวิตจริงๆ”

พัดเองก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนช่วยให้ความไม่รู้หายไปไม่มากก็น้อย และยังทำให้เห็นว่าหนังออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเป็นตามแบบที่นิยมกันเสมอไป

ตอนแรกไม่มั่นใจกับความยาวเหมือนกัน ดีใจแทนทุกคนด้วยครับที่มันไปถึงคนเยอะขนาดนี้ แล้วก็ดีใจที่บ้านเรายังมีคนดูหนังแบบนี้อยู่ ผมเป็นคนทำหนัง ลึกๆ แล้วผมอยากทำหนังที่แตกต่าง และเป็นโอกาสที่ได้ทำหนังที่แตกต่างจากที่มีอยู่ในตลาด พอเราทำออกมาด้วยใจ ทำเต็มที่ แล้วมันไปถึงคน คนชอบ คนดูกันเยอะ เราก็ดีใจ เพราะมันทำให้คนเห็นว่าหนังมีหลากหลาย คนดูดูแล้วสนุก อินตาม ในความเป็นคนทำหนัง มันได้ความสำเร็จในเชิงนั้นจริงๆ รู้สึกว่าเราได้ทำหนังที่ไม่ได้แมส แล้วคนชอบ คนสนุก อินกับมัน แล้วเราก็ทำมันสำเร็จได้ ดีใจจริงๆ ครับ” พัดทิ้งท้าย

ลดเค็ม ลดโรค, มื้อพิษเศษ

ภาพ : ชูใจ กะ กัลยาณมิตร
เพื่อให้โครงการเกิดการเปลี่ยนแปลงระยะยาวที่ยั่งยืน เราจึงสร้างแคมเปญรณรงค์ผ่าน Change.org ขึ้นมาให้คนมาลงชื่อร่วมกัน เพื่อให้อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อลดปริมาณโซเดียมในผงปรุงรสลง 10% ภายใน พ.ศ. 2562 เราเลือกเจาะจงที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเนื่องจากเป็นอาหารใกล้ตัว และลด 10% เพราะเป็นปริมาณที่ลิ้นยังจับรสความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
เครือข่ายลดเค็มจะนำรายชื่อที่ได้มาไปเสนอที่ อย. เพื่อให้เกิดข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในอนาคตเราอยากเห็นเทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมอาหารที่แข่งกันหวังดีต่อผู้บริโภค และแข่งกันปรับสูตรให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากที่สุด
มาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหารกันได้โดยร่วมลงชื่อที่ change.org/ThaiLowSalt

Writer

Avatar

ณิชากร เอื้อสุนทรวัฒนา

อดีตนักเรียนโฆษณาที่มาเอาดีทางด้านอาหาร แต่หลงใหลการสัมภาษณ์และงานเขียน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ