ขวดน้ำผลไม้ Life Juice 3 รสชาติที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยแปะฉลากใหม่ไฉไลกว่าเดิม เพิ่มตัวการ์ตูนดังจาก 3 ศิลปิน ปังปอนด์ของ ต่าย ขายหัวเราะ น้องมะม่วงของ ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิต และเด็กสามตาของ Alex Face ตัวละ 3 ลาย ที่เป็นวัยแบเบาะ วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่

ตั้งแต่เปลี่ยนลายฉลากเป็นรุ่น Limited Edition นี้ ยอดขายก็พุ่งพรวดพราดอย่างเห็นได้ชัด

Greyhound

นี่เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Greyhound Life Juice Limited Edition ‘Power To Give’ ที่แบรนด์ตั้งใจทำเพื่อช่วยระดมทุนให้มูลนิธิรามาธิบดีฯ จัดซื้อเครื่องให้ความร้อนเด็กแรกเกิด สำหรับใช้ในสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ สถานรักษาพยาบาลแห่งใหม่ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ตั้งอยู่ไกลถึงบางปู

เคียงคู่กับน้ำผลไม้ทั้ง 9 ขวด ยังมีหนังโฆษณาที่เป็นสต็อปโมชันแอนิเมชันสั้นๆ 1 นาที เพื่อช่วยเล่าเรื่องที่แบรนด์ต้องการสื่อสาร

ในเมื่อเรื่องราวในหนังโฆษณาเดินถอยหลังกลับมาถึงเด็กทารกแล้ว เราจึงอยากพาถอยต่อลงไปอีกถึงจุดกำเนิดของแคมเปญทั้งหมด ผ่านการพูดคุยกับทีมเบื้องหลัง ประกอบด้วย 3 ฝ่าย Greyhound Cafe ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และหัวกลม

ตัวแทนจาก Greyhound Cafe คือ เบลล์-ชาคริยา อริยะสถิตย์มั่น และ เอ้-กฤชยา จันทรวัฒนาวณิช ผู้จัดการแผนกการตลาดทั้งสอง พร้อมกับ แวน-ภัทร พรหมมารักษ์ ผู้จัดการอาวุโสแผนกการตลาดดิจิทัล ในขณะที่ฝั่งชูใจเราได้เจอ กิ๊บ-คมสัน วัฒนวาณิชกร ครีเอทีฟไดเรกเตอร์และผู้ก่อตั้งบริษ้ท และมี ต้น-ยศศิริ ใบศรี ผู้กำกับ เป็นตัวแทนจากหัวกลม

ทั้งหมดพากันมานั่งล้อมโต๊ะประชุมกลางออฟฟิศของชูใจเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ความเห็น และความรู้สึก ที่ได้จากการทำงานนี้

Greyhound

03

สามมือที่ร่วมกันปั้นเรื่องราวออกมา

เริ่มต้นจากเบื้องหลังการถ่ายทำกันก่อนเลย ขอบอกว่างานทำสต็อปโมชันมีรายละเอียดเยอะมาก

อย่างแรกที่ต้องทำคือการคำนวณ โดยต้น ตัวแทนทีมทำสต็อปโมชันจากหัวกลม คำนวณให้เราฟัง “เมื่อ 1 เฟรมคือ 1 ขวด ขวดหนึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร เราจะต้องใช้พื้นที่ยาวมากในการวางขวดต่อกัน สุดท้ายเราเลยทำแอนิเมชัน 12 เฟรมต่อวินาที แล้วทำความยาวแค่ 1 นาทีกว่าๆ พอ ใช้ขวดไปทั้งหมด 730 ขวด”

หลังจากได้ตัวเลขแล้ว จึงวาดเฟรมทั้งหมด 730 เฟรมนั้นในคอมพิวเตอร์ แล้วค่อยพรินต์ออกมาแปะขวดทีละขวด

Greyhound

แค่นี้ฟังว่ายากแล้ว แต่ต้นบอกว่า ส่วนยากที่สุดอยู่ในวันถ่ายทำต่างหาก “เราต้องหาพื้นที่ที่มีความยาวพอ แล้วต้องอยู่ในร่มด้วย ก็บังเอิญไปได้ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์นี่แหละ” ต้นบอก ก่อนอธิบายต่อถึงข้อจำกัดด้านเวลาว่า หากแสงเปลี่ยน สต็อปโมชันที่ออกมาจะดูไม่ไหลลื่น เขาต้องบริหารเวลาให้ถ่ายทำเสร็จในช่วง 8 โมงเช้าถึงบ่าย 2 ให้ได้ เขาจึงต้องพาทีมไปซักซ้อมก่อน 1 วัน และทำไม้บรรทัดที่จะช่วยวัดและวางเรียงขวดให้เร็วที่สุดด้วย

Greyhound

Greyhound

ส่วนยากอีกอย่างคือฟุตเทจเด็กแรกเกิดในตอนท้ายคลิป เพราะไม่รู้ว่าเด็กที่คลอดออกมาคนไหนจะต้องใช้เครื่องให้ความร้อนบ้าง เมื่อมีโอกาสเข้ามา ก็ต้องรีบทำเรื่องขอทั้งโรงพยาบาลและพ่อแม่เด็ก หลังจากถ่ายมาแล้ว ก็ต้องนำฟุตเทจมาวาดเป็นรูปเพื่อเชื่อมกับแอนิเมชันอีกทีหนึ่งด้วย

งานยากขนาดนี้ หากไม่ใช่หัวกลมก็อาจไม่สำเร็จ กิ๊บจากชูใจบอกว่า “เราเลือกต้นเพราะคิดว่าต้นน่าจะเหมาะสมกับงานแบบนี้ เขาค่อนข้างถนัดและทำมาเยอะ รู้ว่าจะจัดการกับเทคนิคนี้อย่างไร”

ส่วนเพลงประกอบ กิ๊บคิดออกแบบว่าอยากให้เป็นเพลงเด็ก คล้ายว่าเป็นเสียงของเด็กน้อยในตอนท้ายคลิปนั่นเอง ซึ่งก็ได้ ดุ่ย-วิษณุ ลิขิตสถาพร นักดนตรีวง Youth Brush มาแต่งเนื้อประกอบทำนองง่ายๆ อย่าง ABC นั่นเอง

Greyhound

02

การผสมวิธีคิดแบบ Greyhound Cafe และวิธีทำแบบชูใจ

หลังจากได้ดูงานเบื้องหน้า และฟังเรื่องเบื้องหลังแล้ว คุณอาจเริ่มสงสัยว่า คิดอย่างไรถึงจับเอาขวดน้ำผลไม้มาผสมกับการบริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องทำความร้อนให้เด็กกัน

กิ๊บอธิบายโจทย์เริ่มต้นว่า Greyhound Cafe อยากทำแคมเปญเพื่อช่วยระดมทุนให้มูลนิธิรามาธิบดีฯ จะหยิบอุปกรณ์ไหนมาเป็นตัวดำเนินเรื่องก็ได้ ทีมชูใจจึงคิดว่าประเด็นเรื่องเด็กน่าจะสร้างความรู้สึกและทำให้คนอยากมีส่วนร่วมได้ง่ายกว่า พวกเขาหยิบเครื่องให้ความร้อนเด็กทารกมาเป็นตัวเล่าเรื่อง เมื่อพูดถึงเครื่องสำหรับช่วยเริ่มต้นชีวิต เนื้อหาก็ไปกันได้กับผลิตภัณฑ์ Life Juice ที่ Greyhound Cafe มีอยู่แล้วด้วย

Greyhound Greyhound

“พอได้โจทย์ตั้งต้นมาแล้ว เราก็คิดว่า Greyhound Cafe มันพูดกับคนสมัยใหม่ วิธีการคุยต้องร่วมสมัยหน่อย” กิ๊บเล่า “เราเลยนึกถึงคาแรกเตอร์ที่เป็นเด็ก เช่น น้องมะม่วง ปังปอนด์ และน้องสามตา แล้วก็จินตนาการว่าไม่ค่อยมีใครเห็นเขาโตเนอะ ถ้าได้เห็นเขาโตก็คงน่ารักดี”

ความคิดนี้จึงงอกเงยเป็นแผนการแรก คือสต็อปโมชันที่ทำให้ตัวการ์ตูนทั้งสามได้เติบโต แต่ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้แผนสุดท้ายกลายเป็นอย่างที่เห็น แม้รูปแบบจะเปลี่ยนไป แต่ยังคงแนวคิดเดิมไว้

กิ๊บกล่าวถึงเนื้อหาของแอนิเมชัน 1 นาทีว่า “เราเชื่อว่าถ้าเด็กได้โอกาสที่ดี เขาจะทำสิ่งที่ดี เลยเล่าผ่านพี่ๆ แต่ละคนที่ได้อุทิศเพื่อสังคมในมุมต่างๆ แล้วเดินถอยหลังลงมาจนกลายเป็นฟุตเทจเด็กทารก เพื่อสื่อสารว่าถ้าให้โอกาสเด็กคนหนึ่งได้เติบโตมาในโลก แล้วเขาจะมาดูแลสังคมของพวกเรา”

Greyhound

01

หนึ่งโรงพยาบาลที่เราอยากช่วยเหลือ

สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ นี่ไม่ใช่การร่วมมือกันครั้งแรกของ Greyhound Cafe และมูลนิธิรามาธิบดีฯ ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แบรนด์นี้ทำโครงการช่วยเหลือโรงพยาบาลมาตลอด ภายใต้โจทย์ที่เปลี่ยนไปตามสถานะของโรงพยาบาลในเวลานั้น

ตัวอย่างวิธีการช่วยระดมทุนหาเงินบริจาคในแบบ Greyhound Cafe เช่นแคมเปญ Hip Dining คือการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้บริจาคเงินผ่านปีกไก่ทอด เมนูเด็ดประจำร้าน ที่เมื่อลูกค้าสั่ง ทางร้านจะแบ่งเงินบางส่วนที่ได้จากการขายปีกไก่ไปบริจาค หรือแคมเปญ Bread for Breath ที่บริจาคผ่านขนมปังซื่งบริการแก่ลูกค้าทุกคนฟรีอยู่แล้ว แต่หากจ่าย 5 บาทให้เจ้าขนมปังก้อนน้อยนี้ ทางร้านก็จะสมทบเพิ่มไปอีก 5 บาท เมื่อรวมจากจำนวนขนมปังทั้งหมดแล้ว ก็ได้เป็นเงินเพื่อมูลนิธิอีกก้อนหนึ่ง

Greyhound Greyhound

“ปีนี้เราอยากจะระดมทุนให้ได้มากกว่าปีที่แล้ว เพราะตึกจักรีนฤบดินทร์ซึ่งสร้างเสร็จแล้วยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ทั้งหมดอยู่” เบลล์บอก “ถ้าเรายังทำแบบเดิม เราอาจระดมทุนได้แค่จากคนที่มาทานอาหารที่ร้านเท่านั้น ส่วน Life Juice มันซื้อง่าย แชร์ง่าย แล้วพอเป็นของที่มีจำนวนจำกัด วาดโดยศิลปินที่มีชื่อเสียง ก็ได้กลุ่มฐานแฟนคลับของศิลปินเหล่านี้ด้วย”

เอ้เสริมว่า “เราขาย Life Juice มาประมาณปีกว่าแล้ว เมื่อก่อนก็จะได้กลุ่มที่รักสุขภาพหรือกลุ่มที่ชอบน้ำผลไม้ แต่พอเรามีแคมเปญนี้ คนที่มาซื้อกลายเป็นมีทั้งคนมาตามหาลายน้องมะม่วง คนที่อยากช่วยทำบุญ ซื้อไปฝากลูกค้า เยี่ยมคน มันมีโอกาสให้ไปอยู่ในที่ต่างๆ ได้มากขึ้น พอยอดขายมากขึ้น ยอดบริจาคมันก็มากขึ้นไปด้วย”

หัวใจของทุกแคมเปญที่ Greyhound Cafe ทำ คือต้องสะดวกที่สุดสำหรับลูกค้า ยังคงตัวตนความเป็นแบรนด์ และในขณะเดียวกันก็ช่วยโรงพยาบาลให้มากขึ้นเรื่อยๆ

Greyhound

00

สิ่งสำคัญที่สถาบันการแพทย์ฯ ยังขาด

“การเกิดมันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องโอกาสมากกว่า” นี่คือสิ่งที่กิ๊บบอก เมื่อพูดถึงประเด็นที่แคมเปญต้องการสื่อสาร

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ฯ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 เมื่อทรงกางแผนที่แล้วมีพระราชดำริว่า บริเวณบางปูมีแต่เพียงทุ่งนาและโรงงานอุตสาหกรรม น่าจะมีคนเจ็บป่วยต้องการความช่วยเหลือไม่น้อย จึงจำเป็นต้องมีสถานรักษาพยาบาล เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่สร้างเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสาธารณสุขให้ประชาชนโดยตรง

“อย่างเครื่องนี้ มันไม่ใช่ว่าเด็กจะได้เข้าทุกคน มันมีคิวของมัน แล้วก็ต้องใช้เงิน บางคนต้องอยู่ในเครื่องนั้นเป็นวัน เป็นเดือน ลองนึกว่าถ้าเป็นคนจนๆ เขาจะทำอย่างไร” กิ๊บอธิบาย “แล้วพอไปที่สถาบันฯ มาเองเราก็รู้สึกเลยว่ามันแห้งแล้ง ไม่เหมือนโรงพยาบาลเอกชน มันขาดอะไรอีกเยอะ แต่ก็มีคนเข้าไปใช้บริการแล้วนะ เวลาเข้าไปแล้วจะรู้สึกเลยว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง”

แวนเสริมว่า “ปัญหาการเข้าถึงสาธารณสุขมันมีหลายมุม ทั้งมุมผู้ป่วย มุมแพทย์ มุมญาติผู้ป่วย ถ้ามันมีมุมไหนมุมหนึ่งที่เราพอจะช่วยได้ ถึงแค่เล็กน้อย เราก็อยากจะทำ”

Greyhound

Greyhound Life Juice Limited Edition ‘Power To Give’ มีจำหน่ายแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 30 พฤศจิกายน 2561 ที่ Greyhound Cafe และ Another Hound Cafe ทุกสาขา

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล