หมายเหตุ : บทความนี้เขียนขึ้นตอนกำลังนั่งรถไปแคมป์ปิ้ง เลยทำให้อินเป็นพิเศษ

ลองมองย้อนกลับไปในชีวิตที่เคยแคมป์ปิ้งมาบ้าง 

เห็นภาพตัวเองรีบตื่นเช้า รีบออกเดินทางให้ไปถึงลานกางเต็นท์ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้จุดกางเต็นท์ดี ๆ วิวสวย ๆ ครั้งหนึ่งแวะระหว่างทางจนไปสาย ก็ต้องยอมกางเต็นท์บนเนิน นอนตัวเกร็งทั้งคืนไม่ให้ตัวไหลไปด้านล่าง

ยิ่งเป็นลานกางเต็นท์ฮอตฮิตอย่างอุทยานแห่งชาติ ที่แน่นอนเรื่องความอุดมสมบูรณ์และวิวแบบพาโนราม่า ก็มักจะมีระบบการจองท้าทายความทุ่มเทของคนไป แบบที่ต้องเตรียมการล่วงหน้าเป็นเดือน ๆ

เช่นเดียวกับ อีฟ-อติชา ยิ่งศิริอำนวย ผู้ก่อตั้ง Campa แพลตฟอร์มจองพื้นที่กางเต็นท์แรกในประเทศไทย ซึ่งเคยเจอปัญหาเหล่านี้กับตัวเองเช่นกัน 

Campa แพลตฟอร์มจองลานกางเต็นท์แรกในไทย แก้ปัญหาให้แคมป์ปิ้งเป็นมากกว่าเทรนด์ที่มาแล้วก็ไป

อีฟเริ่มท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติจากการเดินป่า แล้วค่อยขยับมาตั้งแคมป์อย่างจริงจัง ตระเวนเดินทางไปจุดต่าง ๆ ในประเทศ ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทที่นิวยอร์ก ที่ที่เธอใช้วันหยุดส่วนใหญ่ไปกับการตั้งแคมป์นอกเมือง (บางครั้งก็นอกรัฐ) ได้เห็นระบบการจอดลานกางเต็นท์ที่ไม่มีในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์สำหรับอุทยานของภาครัฐ และลานกางเต็นท์อิสระของภาคเอกชน ระบบจ่ายเงินที่เสร็จสมบูรณ์บนหน้าจอ การจองจุดกางเต็นท์ที่เราเลือกได้เองแบบไม่ต้องรอลุ้นหน้างาน บางที่นำนวัตกรรมมาใช้จนไม่ต้องมีพนักงานเฝ้าลานเลยสักคน

Campa จึงเริ่มต้นจากคำถามว่า ‘ทำไมถึงไม่มีระบบการจองลานกางเต็นท์ในประเทศไทย’

ส่วนชื่อแบรนด์ ถ้าอ่านเสียงภาษาอังกฤษก็ฟังรื่นหู 

ถ้าอ่านเสียงภาษาไทยคือ แคมป์ปะ? แบบเวลาเราโทรชวนเพื่อนไปตั้งแคมป์นั่นแหละ

Campa แพลตฟอร์มจองลานกางเต็นท์แรกในไทย แก้ปัญหาให้แคมป์ปิ้งเป็นมากกว่าเทรนด์ที่มาแล้วก็ไป

01

สหรัฐอเมริกาคือที่ในฝันของคนสายแคมป์ เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติมากมาย รวมไปถึงเว็บไซต์หลายเจ้ารองรับอุปสงค์ของคนทั่วประเทศ บนเว็บไซต์อำนวยความสะดวกด้วยข้อมูลต่าง ๆ มีวิธีการจองและการจ่ายเงินที่ชัดเจน จนการแคมป์ปิ้งกลายเป็นวัฒนธรรมปกติ แบบที่ถ้าถามเพื่อนว่าเสาร์อาทิตย์นี้มีแผนไปเที่ยวไหน การตอบว่าแคมป์ปิ้งก็ไม่ต่างอะไรจากการไปห้างสรรพสินค้าหรือดูหนัง

หลังเรียนจบ อีฟวางแผนไป Road Trip ที่ Yellowstone แต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องยกเลิกทุกอย่าง 

Campa แพลตฟอร์มจองลานกางเต็นท์แรกในไทย แก้ปัญหาให้แคมป์ปิ้งเป็นมากกว่าเทรนด์ที่มาแล้วก็ไป

“เป็นช่วงตัดสินใจว่าจะกลับไทยหรือต่อวีซ่าทำงานอีกปีที่โน่น พอไม่ได้ไปทริปนั้นเลยนั่งไล่ดูเว็บไซต์ต่าง ๆ อยากไปจังเลยแต่ไม่ได้ไป สุดท้ายคิดขึ้นได้ว่า ทำไมที่ไทยไม่มีแบบนี้ ประเทศไทยก็ที่สวย ๆ เยอะแยะ แต่กลับไม่มีแพลตฟอร์มการจองที่เป็นระบบ คิดเสร็จก็โทรไปเล่าให้เพื่อนสนิท (ตั๊ก-ปวีณา คล้ายสุบรรณ) ฟัง แล้วก็ชวนมาทำด้วยกันเลย” 

เธอบินไปซิลิคอนวัลเลย์ แคลิฟอร์เนีย ซื้อกระดานไวท์บอร์ดมาหนึ่งแผ่น และเริ่มไล่เรียงเขียนแผนธุรกิจทั้งหมดในอพาร์ตเมนต์ของตั๊ก

 02

“ผีสตาร์ทอัพเข้าสิง” อีฟหัวเราะ

แม้การไปแคมป์จะไม่สะดวกสบายเท่าการนอนโรงแรม การจะไปแต่ละครั้งก็ไม่ควรต้องลำบาก โดยเฉพาะในเรื่องที่จัดการได้ล่วงหน้า เช่น การจอง การจ่ายเงิน การหาข้อมูลของลานกางเต็นท์ ความเบียดเสียด ความไม่แน่นอน หรือการตั้งตารอทริปหนึ่ง เพื่อพบว่าสิ่งที่เราคาดหวังไม่ได้เป็นอย่างนั้น

การไปแคมป์มันควรจะง่ายกว่านี้

จากความตั้งใจแรกเริ่มที่แค่อยากสร้างแพลตฟอร์มและระบบจองลานกางเต็นท์ในประเทศไทย อีฟพบว่านี่คือแนวคิดแบบสตาร์ทอัพที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยเทคโนโลยี

ปัญหาที่ว่ามีทั้งหมด 4 ข้อใหญ่ ๆ

Campa แพลตฟอร์มจองลานกางเต็นท์แรกในไทย แก้ปัญหาให้แคมป์ปิ้งเป็นมากกว่าเทรนด์ที่มาแล้วก็ไป
  1. คนไม่รู้ว่าจะไปแคมป์ปิ้งที่ไหน 

บางที่ต้องหาดูจากเพจ บางที่บอกกันปากต่อปาก การหาลานจองเต็นท์สวย ๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับมือใหม่หัดแคมป์ อีฟตั้งใจให้แพลตฟอร์มเป็นศูนย์รวมลานกางเต็นท์ทั่วประเทศไทย และมีระบบที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานทุกระดับ ตั้งแต่มือสมัครเล่นจนถึงมืออาชีพ แค่เสิร์ชชื่อจังหวัดก็มีขึ้นมาให้เลือกเหมือนแพลตฟอร์มจองโรงแรมที่คุ้นเคยกันดี พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับลานกางเต็นท์และสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องส่งข้อความหรือโทรไปสอบถามโฮสต์หรือลานกางเต็นท์อีกครั้ง

  1. การจ่ายเงินที่แตกต่างกันไปแต่ละลาน 

บางลานให้โอนล่วงหน้า บางลานเดินเก็บตามเต็นท์ หากมีระบบการจ่ายเงินที่ง่ายและเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ตอนจอง โฮสต์ก็ไม่ต้องจ้างคนมาคอยเก็บเงิน ส่วนลูกค้าก็ไม่ต้องเตรียมเงินไปจ่ายหน้างานให้ยุ่งยาก

Campa แพลตฟอร์มจองลานกางเต็นท์แรกในไทย แก้ปัญหาให้แคมป์ปิ้งเป็นมากกว่าเทรนด์ที่มาแล้วก็ไป
  1. ระบบ First come, First served ที่จริง ๆ แล้วอาจไม่ตอบโจทย์

ข้อนี้เราอินเป็นพิเศษ เพราะประสบการณ์น้อยนิดที่ผ่านมา ไม่เคยไปถึงลานกางเต็นท์ทันจุดที่อยากกางเลยสักครั้ง ต้องแก้ปัญหาด้วยระบบที่ไม่ได้แค่จองแค่พื้นที่ แต่จองจุดกางเต็นท์ได้เลยตั้งแต่แรก ลูกค้าก็ไม่ต้องรีบตื่นรีบไป ใครอยากแวะเที่ยว แวะดื่มกาแฟก่อน แล้วค่อยไปถึงแคมป์ตอนเย็น ๆ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเจอประสบการณ์แบบ ‘ไม่ตรงปก’ ไม่ได้วิวที่เราตั้งใจไปดูจริง ๆ

  1. ความเป็นส่วนตัวที่หลายคนมองหา

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว แม้เราไปถึงก่อนใครและได้กางเต็นท์ในจุดที่ต้องการแล้ว ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะไม่มีเต็นท์หลังอื่นมากางอยู่ข้างหน้า ในช่วงไฮซีซั่น โฮสต์บางลานรับคนแน่นมากจนเต็นท์อยู่ติด ๆ กันแบบที่อีฟบอกว่า ‘เชือกจะเกี่ยวกันอยู่แล้ว’ ลานกางเต็นท์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มนี้ จึงต้องแบ่งพื้นที่อย่างชัดเจน ระบุจำนวนคนสูงสุดต่อพื้นที่ ถ้าคนมากหน่อยก็ต้องเช่าพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น เพื่อที่ลูกค้าจะได้ไม่ต้องกังวลว่าเสียงของเต็นท์ข้าง ๆ จะรบกวน ไม่ต้องกลัวว่าสมอบกเต็นท์จะไปโดนเต็นท์ใคร และมีความเป็นส่วนตัวในบรรยากาศเอาต์ดอร์สบาย ๆ ได้เต็มที่

Campa แพลตฟอร์มจองลานกางเต็นท์แรกในไทย แก้ปัญหาให้แคมป์ปิ้งเป็นมากกว่าเทรนด์ที่มาแล้วก็ไป

03

อีฟเลือกไม่ต่อวีซ่าทำงานที่อเมริกาแต่กลับเมืองไทยเพื่อจัดตั้งบริษัท สิ่งที่เขียนกับตั๊กบนกระดานไวท์บอร์ดในอพาร์ตเมนต์ที่ซิลิคอนวัลเลย์ คือความเป็นไปได้ที่ทำให้เธอตัดสินใจอย่างแน่วแน่โดยไม่ลังเล

สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนธุรกิจมาตั้งแต่เริ่ม ทั้งคู่เริ่มจากการคิดตาม Pitch Deck หรือไฟล์นำเสนอของธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีโมเดลใกล้เคียงกันอย่าง Airbnb

“เราดูตามไปทีละจุดว่าต้องมีตัวเลขอะไรบ้าง แล้วเอาหัวข้อนั้นมาจดบนกระดาน”

ถ้าเล่าคร่าว ๆ พวกเขาเริ่มจากการสำรวจตลาดเพื่อหา Market Validation ว่าในประเทศไทยมีตลาดคนแคมป์ปิ้งอยู่จริงไหม และมากแค่ไหน ตามด้วย Traction ว่าโมเดลธุรกิจของ Campa จะดึงดูดลูกค้าได้หรือไม่ ก่อนวิเคราะห์ SWOT ว่ามีข้อได้เปรียบ ข้อด้อย อุปสรรค และโอกาสอะไรบ้าง 

Campa แพลตฟอร์มจองลานกางเต็นท์แรกในไทย แก้ปัญหาให้แคมป์ปิ้งเป็นมากกว่าเทรนด์ที่มาแล้วก็ไป

Campa จึงออกมาเป็นแพลตฟอร์มจองลานกางเต็นท์ ระบบคล้าย ๆ กับแพลตฟอร์มจองโรงแรมต่าง ๆ เป็นตัวกลางจับคู่ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้บริโภค รายได้หลักมาจากการแบ่งเปอร์เซ็นต์ค่าธรรมเนียมในการจองแต่ละครั้ง โดยทีมงานจะเข้าไปสำรวจพื้นที่ที่เข้าร่วม ให้คำปรึกษาเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องมี วัดพื้นที่จริงเพื่อกั้นล็อกกางเต็นท์ให้แยกเป็นสัดส่วน และถ่ายรูป 360 องศาของแต่ละล็อกให้เห็นวิวจริง ก่อนจะนำขึ้นเว็บให้ลูกค้าได้เลือกดู

อีฟบอกว่า จุดขายหลักของแพลตฟอร์มคือการจองล่วงหน้า ที่ดูยังไงก็เข้าท่าและคนน่าจะต้องการ และยังเป็นเหตุผลที่ทำให้อีฟกลับไทยเพื่อทุ่มเทให้กับธุรกิจนี้สุดตัว ทำเป็นงานหลัก ไม่ใช่ Side Project 

เธอหาข้อมูลอย่างหนัก คุยกับผู้มีประสบการณ์มากมาย ทั้งยังได้ที่ปรึกษาเป็นร้าน ThailandOutdoor Shop ผู้จำหน่ายอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง 

นักแคมป์ปิ้งผู้คร่ำหวอดในวงการบางคนติดเรื่องราคาของลานกางเต็นท์เอกชน ที่อาจไม่ย่อมเยาเหมือนลานกางเต็นท์ในอุทยานแห่งชาติ

แต่หลายคนกลับมองว่าแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาเปลี่ยนประสบการณ์แคมป์ปิ้ง และเชียร์สุดใจให้ทำต่อ 

“เขาบอกว่ามันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว อุปกรณ์ตั้งแคมป์มีแทบทุกอย่าง แม้แต่แอร์ในเต็นท์ยังมีแล้ว ทำไมระบบการจองจุดกางเต็นท์ถึงยังไม่พัฒนา ถ้าเราไม่ทำ วันหนึ่งก็ต้องมีคนทำแน่นอน”

Campa แพลตฟอร์มจองลานกางเต็นท์แรกในไทย แก้ปัญหาให้แคมป์ปิ้งเป็นมากกว่าเทรนด์ที่มาแล้วก็ไป

04

ฟังแค่นี้เหมือน Campa จะช่วยผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ แต่อีฟบอกว่าแพลตฟอร์มไม่ได้แก้แค่ปัญหาฝั่งผู้ใช้ เพราะจะเข้ามาแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน

“ปกติเวลาคนคนหนึ่งจะไปแคมป์ปิ้ง เขาจะมีคำถามมากมาย เช่น วันเสาร์ที่ 20 ว่างไหมคะ แล้ววันหนึ่งไม่ได้มีคนถามแค่คนเดียว ยังไม่นับคำถามอื่น ๆ อย่างมีน้ำอุ่นไหม มี Wi-Fi ไหม เจ้าของลานต้องตอบกี่คำถามในหนึ่งวัน”

ณ วันนี้มีลานกางเต็นท์บนแพลตฟอร์มกว่า 20 แห่ง ส่วนหนึ่งเป็นลานที่ทีมงานเดินไปหา อีกส่วนเป็นฝ่ายติดต่อเข้ามาก่อน แต่จำนวนโฮสต์ก็เป็นอีกเรื่องที่เหนือความคาดหมาย

“เรามองโลกไว้ในแง่ดีมาก ระบบมันเวิร์กขนาดนี้ ต่างประเทศเขาก็มีกัน และไม่ใช่แค่อเมริกา ที่ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรปก็มีด้วย แล้วเราเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย คิดว่ายังไงโฮสต์ต้องอยากมาร่วมกับเราแน่นอน 

“แต่เอาเข้าจริง การหาโฮสต์นั้นเหนื่อยสุด ๆ บางอาทิตย์เพิ่มมาแค่ 2 ที่ ตอนแรกเราคิดว่านี่จะเป็นเว็บไซต์ที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมคนแคมป์ สุดท้ายต้องยอมรับว่า มันเปลี่ยนพฤติกรรมโฮสต์มากกว่า”

โฮสต์บางคนตกลงเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มทันทีเพราะเฝ้ารอระบบแบบนี้มานานแล้ว แต่บางคนยังไม่สนใจเพราะ 2 เหตุผลที่เข้าใจได้

หนึ่ง แพลตฟอร์มของอีฟเป็นสิ่งใหม่ การจะขอพื้นที่ของเขามาอยู่บนนี้จึงต้องอาศัยความไว้ใจหรือตัวอย่างให้เห็นว่าจะประสบความสำเร็จ

สอง โฮสต์หลายคนรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่ปัญหา การหาแอดมินให้ข้อมูลหรือคนเก็บเงินก็เป็นสิ่งที่เขายินดีทำอยู่แล้ว รายได้ในแต่ละเดือนก็เพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้ใครเพื่อสร้างระบบขึ้นมา

ทุกการจองจะมีค่าธรรมเนียม 18 – 25 เปอร์เซ็นต์เข้าแพลตฟอร์ม ขึ้นอยู่กับราคาตั้งต้นที่โฮสต์เป็นคนกำหนด แต่ Campa จะแนะนำให้โดยเปรียบเทียบราคาของลานที่อยู่โซนใกล้เคียงกัน บรรยากาศใกล้เคียงกัน พร้อมส่งรายงานข้อมูลการจองให้ทุกวัน สัปดาห์ไหนยอดการจองลดลงจนผิดสังเกต ขณะที่ลานเพื่อนบ้านยอดขายดีเหมือนเดิม ก็จะนัดประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องโปรโมชัน การสื่อสารทางการตลาด หรือการปรับลดราคา

ส่วนรูปแบบการอยู่บนแพลตฟอร์มมี 2 แบบ คือ เข้าร่วมทั้งหมดหรือเข้าร่วมแค่บางส่วนของพื้นที่ก็ได้เช่นกัน 

ลานกางเต็นท์บนเว็บไซต์ได้ผ่านการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อย (Verified) และ Campa ตกลงว่าจะช่วยด้านการตลาดให้อีกแรง เช่น เชิญคนมารีวิวพื้นที่ หรือทำวิดีโอโปรโมตกิจกรรมและทิวทัศน์

พื้นที่ที่มองหาไม่จำเป็นต้องเป็นลานกางเต็นท์อยู่แล้ว และอาจจะไม่ต้องมีวิวพันล้าน เพราะทุกที่มีจุดเด่นแตกต่างกันไป

อีฟเล่าให้ฟังว่า มีที่หนึ่ง วิวไม่ใช่จุดเด่นที่สุด เพราะจุดขายคืออากาศหนาวตลอดปี ส่วนอีกที่เป็นสวนผลไม้ที่ลูกค้าชอบมาก เพราะเขาอนุญาตให้เก็บผลผลิตจากต้นมาประกอบอาหารได้ฟรี แถมย้ำว่าใครมีพื้นที่และอยากเข้าร่วมกับ Campa ก็ติดต่อมาได้เลย

แพลตฟอร์มจองพื้นที่กางเต็นท์แรกของประเทศไทย ที่ตั้งใจแก้ปัญหาเรื่องระบบการจองเพื่อทั้งผู้ใช้และผู้ประกอบการ

05

แพลตฟอร์ม Campa เปิดตัวในรูปแบบเว็บไซต์ตอนเที่ยงคืนวันที่ 1 เดือนตุลาคม ปี 2021 และมีคนเข้าจองทันที

แผนธุรกิจ 3 ปีแรกคือ รวบรวมลานกางเต็นท์ในทุกจังหวัดของประเทศไทยให้ได้เยอะที่สุด ขยายตลาดไปในส่วนของ Gamping ซึ่งนับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ เพราะต้องแข็งขันใน Red Ocean จัดอีเวนต์หรือเวิร์กชอปเกี่ยวกับกิจกรรมเอาต์ดอร์ เปิดตัวแอปพลิเคชันเพื่อเข้าถึงการใช้งานที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น และโปรเจกต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้คือ การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ให้บริการเช่าอุปกรณ์ตั้งแคมป์ เพื่อเสริมให้ธุรกิจครบวงจร และตอบโจทย์ความตั้งใจตามสโลแกน ‘The Infinite Outdoor Experience’

Campa ประกอบไปด้วยหุ้นส่วนที่มีจุดแข็งของตัวเอง ได้แก่

อีฟ ผู้ก่อตั้ง CEO และ Chief Marketing Officer

ตั๊ก ผู้ร่วมก่อตั้งและ Chief Design Officer

ต้า-จักรพันธ์ คล้ายสุบรรณ Chief Technology Officer 

ฟ้า-กนธิชา พุทธรักษา Chief Operation Officer และ Finance Manager

เต้-ศรุติ ยั่งเจริญ Chief Communication Officer

โจ้-กิตติธัช ธนพรรพี Chief Sales Officer

ต้า-วัฒนพล คำนวณศิลป์ Lead Developer

และจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดใครคนใดคนหนึ่ง 

แพลตฟอร์มจองพื้นที่กางเต็นท์แรกของประเทศไทย ที่ตั้งใจแก้ปัญหาเรื่องระบบการจองเพื่อทั้งผู้ใช้และผู้ประกอบการ

แม้จะออกตัวตลอดการสนทนาว่าไม่ใช่นักธุรกิจ และไม่มีหัวทางด้านนี้โดยตรง เธอกลับแนะนำบทเรียนธุรกิจข้อแรกที่ทุกคนควรถามตัวเองก่อนเริ่มลงมือทำอะไรก็ตาม

“ความชอบเป็นเรื่องสำคัญ”

เราพยักหน้าเห็นด้วยเต็มร้อย

“ทำอะไรที่ตัวเองชอบแล้วเราจะอิน เราจะอยากลุยกับมัน แต่สุดท้ายต้องอย่าเข้าข้างตัวเองจนลืมความเป็นไปได้ของตลาด อุปสรรคมันเยอะอยู่แล้ว แต่ต้องมองมันเป็นเรื่องที่เราต้องแก้ไปทีละปม อย่าใจร้อนหรือเครียดกับมันมาก มองภาพไกล ๆ แล้วเดินไปให้ได้ ”

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของ Campa และบริษัทสตาร์ทอัพเล็ก ๆ ส่วนใหญ่คือ เงินทุน 

“สายป่านเราไม่ได้ยาวพอ จากผลประกอบการในสามสี่เดือนที่ผ่านมา เราเห็นตลาด มันมีอุปสงค์ แต่สุดท้ายธุรกิจต้องขับเคลื่อนด้วยเงิน ตอนนี้เราเริ่มมีพนักงานประจำแล้ว มีพนักงานขาย 2 คน พนักงานบัญชี 1 คน และแอดมินอีก 1 คน มีค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เราคุยกันตลอดว่าถ้าถึงจุดที่ต้องรัดเข็มขัด จะรับมือกับมันยังไง จะไปยื่นขอทุนที่ไหนได้บ้าง ถ้าไม่ได้จะทำยังไง”

ทีมงานยังแก้ปมในการทำธุรกิจอยู่ทุกวัน และพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มและการบริการให้ง่าย สะดวก และดียิ่งขึ้น ให้ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้งานและผู้ประกอบการ เพื่อที่ว่าวันหนึ่งแคมป์ปิ้งจะกลายเป็นการท่องเที่ยวเหมือนกับที่คนไปเที่ยวทะเล เป็นกิจกรรมที่ใครก็ทำได้ อยากให้คนที่ไม่เคยลองทำได้มีประสบการณ์ดี ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนแรก จนกลายเป็นคนที่ชื่นชอบการไปแคมป์ในที่สุด 

ให้แคมป์ปิ้งไม่ใช่แค่เทรนด์ที่เข้ามาแล้วก็ผ่านไป

แพลตฟอร์มจองพื้นที่กางเต็นท์แรกของประเทศไทย ที่ตั้งใจแก้ปัญหาเรื่องระบบการจองเพื่อทั้งผู้ใช้และผู้ประกอบการ

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล