สารภาพ

หลายเดือนก่อน ผมติดต่อขอนัดสัมภาษณ์ พี่อ้ำ-ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ (ตอนนี้ต้องต่อท้ายชื่อเธอว่า เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง bonded เพจรวมเรื่องราวของเผ่าพี่น้องผองหญิง เพื่อเป็นแรงใจให้แก่กัน) พอถามถึงสถานที่นัดพบ พี่อ้ำเสนอให้ไปคุยกันที่สตูดิโอในคอนโดมิเนียมของครูเปิ้ล ผู้สอนเธอวาดรูป

พี่อ้ำสารภาพว่า อยากให้ผมเจอครูเปิ้ล และนำเสนอว่า ผมควรสัมภาษณ์ครูเปิ้ล

ครูเปิ้ลเป็นคนที่วาดรูปไม่เหมือน วันหนึ่งเธอเข้าไปถ่ายรายการโทรทัศน์เรื่องกิจกรรมดีๆ ในเรือนจำ แล้วก็แปลกใจว่า ทำไมเวลานำเสนอภาพผู้ต้องขังผ่านสื่อ ต้องเบลอหน้า แม้ว่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องดีๆ ที่ผู้บัญชาการเรือนจำกับผู้ต้องขัง ยินดีและอยากเปิดเผยใบหน้า

Call me by my name โปรเจกต์ชวนนักโทษวาดหน้าตัวเองแบบไม่เหมือน ไม่สวย แต่ทำให้พวกเขามีตัวตน

เธอก็เลยกลับไปทำโครงการชวนผู้ต้องขังวาดภาพตัวเองตามสไตล์เธอ คือวาดไม่เหมือน จนเกิดเป็นนิทรรศการภาพวาดใบหน้าตัวเองของผู้ต้องขังชื่อ Call me by my name เพื่อสื่อสารว่า คนเหล่านี้มีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้ และงานนี้กำลังจะได้ไปแสดงที่ต่างประเทศด้วย

พอสัมภาษณ์พี่อ้ำจบ ผมก็ขอนั่งคุยกับครูเปิ้ลต่อ

เรื่องราวของเธอเป็นเช่นนี้

อิสรภาพ

Call me by my name โปรเจกต์วาดภาพใบหน้านักโทษที่ไม่เหมือน ไม่สวย แต่ทำให้พวกเขามีตัวตน, ครูเปิ้ล-จาริณี เมธีกุล

ผนังภายในห้องของ ครูเปิ้ล-จาริณี เมธีกุล เต็มไปด้วยภาพวาดคนที่ใส่กรอบอย่างดีหลายขนาด จนไม่เหลือพื้นที่ให้แขวนรูปเพิ่ม ภาพเกือบทั้งหมดเป็นฝีมือของเธอ ส่วนที่เหลือเป็นภาพฝีมือครูโต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) และครูปาน (สมนึก คลังนอก) ครูของเธอ

ครูเปิ้ลขอร้องว่า อย่าเรียกเธอว่าครู เพราะเธอไม่เคย ‘สอน’ ใครวาดรูป สิ่งที่เธอเป็นช่างห่างไกลกับคำว่าครู หนำซ้ำฝีมือด้านศิลปะของเธอก็ยังแบเบาะมาก

ตั้งแต่เด็กจนเรียนจบจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนมาทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ที่รายการ ซูเปอร์จิ๋ว เธอไม่เคยสนใจงานศิลปะ ไร้ทักษะการวาดรูปใดๆ

ราว 10 ปีก่อน เธอเริ่มสนใจถ่ายรูป เมื่อครูโตมาทำฉากให้รายการ เธอจึงได้รับคำแนะนำว่า ถ้าชอบถ่ายรูปควรไปเรียนวาดรูปกับครูโต แม้ว่าเธอจะงงว่ามันเกี่ยวกันยังไง แต่เธอก็ไปสมัครเรียน

“ตอนนั้นครูสอนอยู่ในอาคารพรอมานาด ปาร์คนายเลิศ เปิ้ลไปสามสี่รอบแต่ไม่กล้าเข้า สถานที่มันหรู ครูก็ดูไฮโซ คนเรียนก็ดูดี เราใส่กางเกงขาดๆ ไปตามประสาคนทำงานกองถ่าย ดูแล้วไม่น่าเป็นที่ของเรา สุดท้ายก็ตัดสินใจเดินเข้าไป ครูก็ดูแลเราเหมือนนักเรียนปกตินนะ เรียนวาดรูปกับครูอยู่สิบปี” โปรดิวเซอร์วัย 50 กะรัต เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเรียนวาดรูป

เธอเล่าต่อว่า ครูโตไม่ได้สอนวาดรูป เพราะไม่เคยสอนทฤษฎี ไม่สอนผสมสี ไม่สอนเรื่องสัดส่วน

Call me by my name โปรเจกต์วาดภาพใบหน้านักโทษที่ไม่เหมือน ไม่สวย แต่ทำให้พวกเขามีตัวตน, ครูเปิ้ล-จาริณี เมธีกุล
Call me by my name โปรเจกต์วาดภาพใบหน้านักโทษที่ไม่เหมือน ไม่สวย แต่ทำให้พวกเขามีตัวตน, ครูเปิ้ล-จาริณี เมธีกุล

“ครูมักจะพูดว่า ศิลปะเป็นเรื่องกิน อยู่ หลับ นอน คุณต้องจัดบ้าน ครูถามว่ากินอาหารอะไรอร่อย เราคนกองถ่ายก็ตอบว่า กินได้หมด อร่อยไม่อร่อยก็กินได้ ครูบอกว่า ไม่ได้นะ จะกินข้าวในกล่องโฟมไม่ได้ ต้องเอาออกมาใส่จาน ต้องรู้สึกว่าอร่อยคืออะไร แต่งตัวก็ต้องรู้จักเลือกสี เวลามีคนเดินมาครูก็จะบอกว่า ดูสิเสื้อสีฟ้าสวยเนอะ เราก็เริ่มซึมซับเรื่องสี เรียนอยู่เจ็ดแปดปีแต่ก็ไม่ได้วาดดีขึ้นหรอก”

สิ่งที่เธอรู้สึกว่าดีขึ้นแน่ๆ คือบ้านของเธอสวยขึ้น เธอรู้จักจัดบ้าน ไม่ได้จัดด้วยของแพงๆ แต่จัดให้อยู่สบาย มีของสวยๆ งามๆ ในบ้าน

เปิ้ลพาไปดูภาพวาดเก่าๆ ของเธอที่เก็บไว้ในกล่อง ที่เธอว่าไม่สวยนั้นเห็นจะไม่จริง เพียงแต่อาจจะสวยแบบสูตร เอาสไตล์ของครูมาใช้จนไม่มีแนวทางของตัวเอง ช่วงเจ็ดแปดปีแรกเป้าหมายที่นักเรียนคนนี้อยากไปให้ถึงก็คือ อยากวาดรูปสวย วาดเหมือน ขายรูปได้แบบลูกศิษย์คนอื่นๆ ของครู

Call me by my name โปรเจกต์วาดภาพใบหน้านักโทษที่ไม่เหมือน ไม่สวย แต่ทำให้พวกเขามีตัวตน

“วันหนึ่งเปิ้ลวาดยังไงก็ไม่สวยซะทีก็โมโห ใช้ดินสอวาดรูปครูเละมาก หัวฟู กรามใหญ่ แต่ครูบอกว่าสวยมาก เราก็งงว่าแบบนี้เหรอสวย ครูก็บอกว่า เชื่อครูแบบนี้สวย เธอไม่ต้องวาดให้เหมือน” เปิ้ลมองว่านี่คือประโยคปลดล็อก เธอเลยตั้งฉายาให้ตัวเองว่า เปิ้ลวาดไม่เหมือน จากนั้นความกดดันทั้งหลายก็หายไป เธอวาดรูปอย่างเป็นอิสระจากความคาดหวังของตัวเอง จึงสนุกกับการวาดรูปเพื่อนแบบไม่เหมือน เอาไปให้เพื่อนดู พอเพื่อนด่าก็สนุก วาดเสร็จก็โพสต์ลงเฟซบุ๊ก เดี๋ยวก็มีเพื่อนกลุ่มใหม่มาขอให้วาดให้บ้าง

ตรวจสภาพ

Call me by my name โปรเจกต์วาดภาพใบหน้านักโทษที่ไม่เหมือน ไม่สวย แต่ทำให้พวกเขามีตัวตน

เปิ้ลมีโอกาสได้แสดงภาพรัชกาลที่ 9 พร้อมกับลูกศิษย์คนอื่นๆ ของครูโต ภาพแนววาดไม่เหมือนของเธอขายได้หลายหมื่น และหลายภาพ หนึ่งในคนที่ซื้องานของเปิ้ลคือ อินทิรา ธนวิสุทธิ์ เจ้าของเว็บไซต์ HiSoParty.com ซึ่งติดใจขนาดชวนเปิ้ลให้ไปวาดภาพเธอและเพื่อนๆ ของเธอต่ออีกหลายครั้ง นั่นทำให้เปิ้ลเริ่มสนุกกับการลองวาดภาพคนมีชื่อเสียงทั้งหลาย

“เรียกว่าหลงใหลได้เลย ต้องวาดทุกวัน กลับถึงบ้านสองสามทุ่มก็ต้องวาด ตอนหลังมาหาวิธีว่าทำยังไงให้วาดรูปได้ตลอดเวลา เลยเปลี่ยนมาวาดใส่สมุดเล่มเล็ก หากล่องสี จะได้ติดตัวไปวาดได้ทุกที่ ประชุมไหนที่เราแค่เข้าไปนั่งฟัง ก็วาดรูปไปด้วย วาดแบบแห้ง แล้วค่อยเก็บพู่กันไปล้างที่บ้าน” เปิ้ลเล่าต่อว่า เมื่อวาดภาพได้จำนวนหนึ่งก็ได้เจอ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เลยขอให้อาจารย์ช่วยวิจารณ์งาน

Call me by my name โปรเจกต์วาดภาพใบหน้านักโทษที่ไม่เหมือน ไม่สวย แต่ทำให้พวกเขามีตัวตน

“งานมึงไม่ธรรมดานะ แม่งโคตรสวย” อาจารย์เฉลิมชัยพูดมึงมาพาโวยตามสไตล์ ซึ่งเปิ้ลไม่เชื่อว่างานตัวเองสวย “กูเป็นใคร ทำไมกูต้องเลียมึง มึงวาดแบบไม่รู้อะไรสักอย่าง มึงมันโง่ที่ไม่รู้ว่ารูปที่มึงวาดน่ะสวย แล้วมึงก็มัวแต่ไปชมงานคนอื่น ต่อไปนี้มึงวาดแล้วไม่ต้องให้ใครดู มึงเอามาให้กูดูคนเดียว มึงไปวาดมายี่สิบเล่ม” ศิลปินแห่งชาติยืนยันในคำวิจารณ์พร้อมกับให้การบ้านเพิ่ม

นั่นทำให้เปิ้ลยังคงสนุกกับการวาดรูปแบบไม่เหมือนทุกวัน เธอเริ่มเข้าใจว่า คุณค่าที่แท้จริงของภาพไม่ได้อยู่ที่ความเหมือนหรือความสวย แต่อยู่ที่ความรู้สึกที่อยู่ในภาพต่างหาก

สุภาพ

เปิ้ลมีโอกาสได้พาทีมงานรายการไปถ่ายทำโครงการดีๆ ที่เกิดขึ้นในเรือนจำโดยผู้ต้องขัง เช่น การเล่นดนตรี หรือโยคะ ผู้ต้องขังหลายคนขอร้องว่า เวลาออกทีวีอย่าเบลอหน้าพวกเขาได้ไหม เพราะเขาอยากมีตัวตน ผู้บัญชาการเรือนจำเห็นด้วย เจ้าตัวก็เซ็นใบยินยอมเรียบร้อย แต่สถานีกลับไม่ยอม เพราะเคยประสบปัญหาเผยแพร่ภาพใบหน้าของนักโทษประหาร แล้วโดนครอบครัวของนักโทษฟ้อง โทษฐานที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

เปิ้ลเอาความติดค้างในใจนี้ไปปรึกษากับนักสิทธิมนุษยชน หน่อย-เพ็ญพร คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เลยชวนกันไปทำโครงการในเรือนจำกับผู้ต้องขัง

 หน่อย-เพ็ญพร คงขจรเกียรติ

“หนูเป็นคนวาดรูปไม่เหมือนค่ะ หนูอยากมาวาดรูปผู้ต้องขังในคุกค่ะ” เปิ้ลแจ้งผู้บัญชาการเรือนจำกลางราชบุรีอย่างสุภาพ ได้ฟังดังนั้น ผู้บัญชาการก็ตบโต๊ะด้วยความชอบใจ “เอาเลย ผมก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร ผมวาดรูปไม่เป็น อยากวาดมาตลอด ถ้าคุณบอกว่า วาดไม่ต้องสวยก็ได้ ไม่เหมือนก็ได้ โอเคเลย ถ้าให้วาดแบบที่คุณวาด ผมก็วาดได้ ผมเอาด้วย ผมจะให้คุณทำกับนักโทษดื้อด้านเลย”

ผู้บัญชาการมองว่า ที่ผ่านมามีกิจกรรมวาดรูปในเรือนจำเยอะ แต่มีแค่คนกลุ่มเดียวที่เข้าร่วม คือคนที่วาดรูปเก่ง การวาดรูปแบบเปิ้ลน่าจะช่วยให้คนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น เขาก็เลยจัดนักโทษดื้อด้าน หรือนักโทษที่ไม่ยอมเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ มาให้เปิ้ล

เปิ้ลดีใจที่ผู้บัญชาการอนุมัติ แต่ก็หนักใจเล็กน้อยเพราะผู้บัญชาการเข้าใจผิด เธอแค่อยากจะขอเข้าไปวาดภาพใบหน้าผู้ต้องขังแบบไม่เหมือนเอามาเผยแพร่กับโลกภายนอก แต่เขากลับเข้าใจว่าจะเข้าไปสอนวาดรูป สุดท้ายก็ต้องเลยตามเลย

มิตรภาพ

เปิ้ลผู้ไม่เคยสอนใครวาดรูปมาก่อนกับทีมงานอีก 3 คน เข้าเรือนจำไปพร้อมกับกระดาษอย่างดี และสีอะคริลิก สำหรับผู้ต้องขัง 40 คน และความกังวลก้อนใหญ่มาก เพราะไม่รู้เลยว่าจะเจอนักโทษประเภทไหน โดนคดีอะไรมา ไหนจะเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย และอะไรต่อมิอะไรที่จินตนาการไปเรื่อย เพราะภาพของผู้ต้องขังในการรับรู้ของเธอนั้นไม่ต่างจากคนทั่วไป คือ น่ากลัว และไม่น่าเข้าใกล้

เธอกังวลขนาดไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง ถ้าเล่าไป ทุกคนคงห้ามเธอแน่ๆ

แต่พอเธอเข้ามาถึงที่จัดกิจกรรมก็พบว่าไม่เหมือนที่คิดไว้

มันหนักหนากว่าที่จินตนาการไว้หลายเท่า ผู้ต้องขังที่เธอต้องทำงานด้วยมีรอยสักเต็มตัว จุดที่ไม่มีรอยหมึกเหมือนจะมีแค่ริมฝีปาก

ส่วนกลุ่มผู้ต้องขังเองก็มีความหวาดระแวง ไม่รู้ว่าทีมของเปิ้ลจะมาดีมาร้าย ต่างคนจึงต่างกลัวซึ่งกันและกัน

วิธีการสอนของเปิ้ลไม่มีอะไรซับซ้อน เธอเอารูปที่ตัวเองวาดมาให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วถามว่าใคร พอทุกคนตอบได้ว่า ไมเคิล แจ็กสัน ถือว่ามาถูกทาง

“วันนี้เปิ้ลจะให้พี่ๆ ที่อยู่คนละแดนจับคู่กัน หันหน้าเข้าหากัน แล้ววาดรูปเพื่อนที่นั่งตรงข้าม มีกฎสองข้อคือ ห้ามเหมือนกับห้ามสวย” เปิ้ลคิดว่า ระหว่างที่ผู้ต้องขังวาดรูป เธอจะหาโอกาสวาดรูปผู้ต้องขังด้วยความรวดเร็ว

จาริณี เมธีกุล คนสอนวาดรูปที่วาดรูปไม่เหมือน กับนิทรรศการที่สื่อสารให้คนไม่หลงลืมตัวตนของคนหลังกำแพงเรือนจำ Call me by my name
จาริณี เมธีกุล คนสอนวาดรูปที่วาดรูปไม่เหมือน กับนิทรรศการที่สื่อสารให้คนไม่หลงลืมตัวตนของคนหลังกำแพงเรือนจำ Call me by my name
จาริณี เมธีกุล คนสอนวาดรูปที่วาดรูปไม่เหมือน กับนิทรรศการที่สื่อสารให้คนไม่หลงลืมตัวตนของคนหลังกำแพงเรือนจำ Call me by my name

เปิ้ลนั่งคู่กับพี่เกริกนักโทษชายผู้มีรอยสักเต็มตัว เปิ้ลเกร็งมาก ไม่รู้จะคุยอะไร สุดท้ายก็พูดตรงๆ ว่า “เปิ้ลจะวาดรูปพี่ แล้วอยากจะเล่าเรื่องชีวิตของพี่ด้วย พี่อยากให้เปิ้ลเขียนว่าอะไร พี่จะอยู่ในนี้อีกกี่ปี”

“ผมเก็บเสื้อผ้าทุกวันเลย” พี่เกริกตอบเสียงจริงจัง

“พี่จะออกแล้วเหรอ” เปิ้ลถามแบบใสซื่อ ท่ามกลางเสียงหัวเราะลั่นของเพื่อนนักโทษ เปิ้ลถึงได้รู้ว่า พี่เกริกต้องอยู่อีกสามสิบปี

“แล้วพี่จะเก็บเสื้อผ้าทำไม”

“คุณไม่รู้จักความหวังเหรอ”

“แล้วพี่อยากให้เปิ้ลเล่าถึงพี่ว่ายังไง”

พี่เกริกเงียบไปพักใหญ่ แล้วตอบว่า “คุณไปบอกคนข้างนอกเลยว่า นับตั้งแต่วันนี้ เวลาของผมจะเดินเป็นปกติ” เปิ้ลไม่เข้าใจว่าเขาหมายถึงอะไร แต่ก็ไม่กล้าถาม กลัวโดนหัวเราะเยาะอีก ช่วงพักเที่ยงเลยเอาไปถามผู้คุม

“กิจกรรมของคุณเวิร์กมากนะ คุณเกริกอยู่มาแล้วสามสิบสี่ปี ชีวิตเขาเวลาไม่ปกติ เขาต้องอยู่อีกยี่สิบสามสิบปี แต่เก็บเสื้อผ้าทุกวัน ถ้าวันหนึ่งเขาพูดว่า นาฬิกาชีวิตจะเดินเป็นปกติ แสดงว่าเขาเข้าใจชีวิตแบบไม่เป็นทุกข์กับมันแล้ว” ผู้คุมแปลความหมายให้แบบนั้น

กิจกรรมวันนั้น จบลงตรงที่นักโทษทุกคนถือภาพวาดหน้าตัวเอง เอามาบังหน้าแล้วถ่ายภาพ ส่วนเปิ้ลวาดภาพผู้ต้องขังไปได้แค่ภาพเดียว เพราะเธอสนุกกับกิจกรรม กับการคุยกับผู้ร่วมกิจกรรม จนลืมเรื่องการวาดรูปไปเลย

2 สัปดาห์ต่อมา เปิ้ลกลับเข้าไปทำกิจกรรมกับผู้ต้องขังกลุ่มเดิมเป็นรอบที่สอง โดยมี ป๊อก-ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินชื่อดังที่เคยตระเวนวาดภาพคนไร้บ้านในนิวยอร์ก มาแจมด้วย

“พี่เปิ้ลอย่าโกรธผมนะ ถ้าเอาแต่งานพี่เปิ้ลให้เขาดู เขาก็จะเห็นตัวอย่างแต่งานพี่เปิ้ล ผมอยากเอารูปของศิลปินระดับโลกไปให้เขาดู เป็นรูปปิกัสโซแล้วก็ศิลปินดังๆ แบบวาดไม่เหมือน” ป๊อกเสนอไอเดีย ซึ่งเปิ้ลเห็นด้วย

พอป๊อกเปิดสไลด์ภาพงานศิลปะชิ้นดังของโลก ก็ถามทุกคนว่า รูปนี้สวยไหม บางคนตอบว่า ไม่สวยเลย ป๊อกเล่าต่อว่า รูปนี้ขายได้พันล้านบาทนะ พี่ๆ วาดได้ไหม ทุกคนก็บอกว่าวาดได้

“งานศิลปะไม่จำเป็นต้องเหมือน แต่ขอให้วาดด้วยความสุข และมีสไตล์เป็นของตัวเอง วันหนึ่งพี่อาจจะออกไปขายภาพได้เป็นพันล้านบาทก็ได้นะ” ป๊อกให้คำแนะนำพร้อมปลุกใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลงานภาพวาดของผู้ต้องขังดีขึ้นกว่าสัปดาห์แรกมาก เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานดีๆ ระดับโลก

ครั้งที่สามซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย เปิ้ลไปทำกิจกรรมพร้อมกับพรินเตอร์สำหรับพรินต์ภาพถ่าย และช่างภาพ พวกเขาจัดฉาก เซ็ตไฟถ่ายภาพพอร์ตเทรตให้กับผู้ต้องขัง แล้วพรินต์ออกมาให้แต่ละคนวาดรูปตัวเอง

“บางคนเห็นรูปตัวเองแล้วร้องไห้เลยนะ เขาอยู่ในนี้มายี่สิบปี ไม่เคยมีรูปถ่ายเป็นของตัวเอง ไม่รู้เลยว่าตัวเองถ่ายรูปแล้วจะสวยขนาดนี้ ไม่เคยเห็นคุณค่าของตัวเอง” เปิ้ลเล่าถึงพลังของภาพถ่าย

จาริณี เมธีกุล คนสอนวาดรูปที่วาดรูปไม่เหมือน กับนิทรรศการที่สื่อสารให้คนไม่หลงลืมตัวตนของคนหลังกำแพงเรือนจำ Call me by my name

“จากวันแรกที่เราต่างคนต่างกลัว ถึงวันสุดท้ายยืนถ่ายรูปเซลฟี่กันเหมือนเพื่อน เปิ้ลถามเขาว่า เมื่อไหร่เปิ้ลถึงจะโพสต์รูปนี้ได้ บางคนบอกว่าอีกสามสิบปี บางคนอีกสี่สิบปี บางคนบอกว่า พี่ไม่ได้โพสต์หรอก ผมติดตลอดชีวิต” เปิ้ลหยุดกลืนก้อนความรู้สึกบางอย่างลงคอ “อย่างน้อย ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เขาอยู่กับกิจกรรมเรา เขาก็มีความสุข ได้ผ่อนคลาย”

กิจกรรมของเปิ้ลได้รับการตอบรับที่ดีมาก จนผู้บัญชาการชวนให้ทำต่อกับผู้ต้องขังกลุ่มใหม่ จนมาถึงรุ่นที่ 4

อานุภาพ

เปิ้ลมอบภาพถ่ายให้ผู้ร่วมกิจกรรมเก็บไว้ แล้วเก็บภาพวาดทั้งหมดกลับมาด้วย พร้อมกับถ่ายภาพผู้ต้องขังเอาภาพวาดใบหน้าตัวเอง ฝีมือตัวเอง บังหน้าตัวเองไว้

จาริณี เมธีกุล คนสอนวาดรูปที่วาดรูปไม่เหมือน กับนิทรรศการที่สื่อสารให้คนไม่หลงลืมตัวตนของคนหลังกำแพงเรือนจำ Call me by my name
จาริณี เมธีกุล คนสอนวาดรูปที่วาดรูปไม่เหมือน กับนิทรรศการที่สื่อสารให้คนไม่หลงลืมตัวตนของคนหลังกำแพงเรือนจำ Call me by my name
จาริณี เมธีกุล คนสอนวาดรูปที่วาดรูปไม่เหมือน กับนิทรรศการที่สื่อสารให้คนไม่หลงลืมตัวตนของคนหลังกำแพงเรือนจำ Call me by my name
จาริณี เมธีกุล คนสอนวาดรูปที่วาดรูปไม่เหมือน กับนิทรรศการที่สื่อสารให้คนไม่หลงลืมตัวตนของคนหลังกำแพงเรือนจำ Call me by my name

“ทุกคนมีตัวตน เวลาผู้ต้องขังเข้าไปอยู่ในนั้น เหมือนเขาหายไปจากโลกใบนี้ แต่เขายังมีตัวตนอยู่ในสังคมนะ” เปิ้ลพูดถึงคุณค่าของภาพวาดใบหน้าตัวเองชุดนี้ เธออยากนำมาจัดแสดง แล้วขอให้ผู้บัญชาการพาผู้ต้องขังที่ออกมาได้ มาดูผลงานของตัวเอง

“ภาพที่เปิ้ลอยากเห็น คือผู้ต้องขังอยู่ร่วมกับคนธรรมดา บางทีพอเรารู้ว่าเขาเพิ่งออกจากคุก เราก็ไม่อยากทำงานด้วย ไม่อยากอยู่ใกล้ ทำให้คนที่ออกจากคุกราวแปดสิบเปอร์เซ็นต์ต้องกลับเข้าไปใหม่ บางคนเข้าออกเจ็ดแปดครั้ง ส่วนหนึ่งก็เพราะเรารังเกียจเขา เราไม่ได้มองเขาเป็นคนคนหนึ่ง แต่มองเขาเป็นคนคุก ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่คุณไปเบลอหน้าเขาก็ได้ ตอนที่เขาอยู่ในคุก เราควรสนใจเขา เพราะเมื่อเขาออกมา เราก็ต้องอยู่กับเขา”

งานชุดนี้พี่อ้ำตั้งชื่อให้ว่า Call me by my name หมายความว่า เรียกฉันด้วยชื่อของฉัน อย่าเรียกฉันว่า คนคุก ทุกคนต่างก็มีตัวตนทั้งนั้น เธอได้สถานที่จัดแล้วคือ BACC แต่โชคร้ายที่ COVID-19 ทำให้งานของเธอต้องเลื่อนออกไปก่อน

“ในมุมของนักสิทธิมนุษยชน การช่วยยกระดับนักโทษ ไม่จำเป็นต้องหาอาชีพให้เขาอย่างเดียว กิจกรรมนี้ก็ช่วยเขาได้” เปิ้ลพูดถึงโครงการนี้ในสายตาของหน่อย ซึ่งเธอผลักดันจนได้ไปแสดงในงานประชุมนานาชาติขององค์การสหประชาชาติ The 14th UN Crime Congress ซึ่งจะจัดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ประเทศญี่ปุ่น

จาริณี เมธีกุล คนสอนวาดรูปที่วาดรูปไม่เหมือน กับนิทรรศการที่สื่อสารให้คนไม่หลงลืมตัวตนของคนหลังกำแพงเรือนจำ Call me by my name

สุขภาพ

นอกจากงานแสดงภาพผู้ต้องขังแล้ว เปิ้ลกำลังจะมีงานแสดงภาพของตัวเอง ชื่อ Ple Happiness หมายถึง ความสุขแบบเปิ้ล เป็นภาพพอร์เทรตขนาดสูง 120 เซนติเมตรราว 40 – 50 รูป เป็นภาพของคนที่ทำให้เธอมีความสุข งานนี้จะจัดวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ถึง 31 มกราคม พ.ศ. 2564 ที่สำนักงาน SPAFA ด้านหลังหอสมุดแห่งชาติ

“ตอนที่พี่ๆ ผู้ต้องขังออกมาโชว์รูปกันว่าทำไมถึงวาดรูปนี้ คนดูก็หัวเราะกันสนุกสนาน คนวาดก็ภูมิใจกับรูปของตัวเองมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้หยิบปากกามาสามสิบปี ไม่ว่ารูปจะเละแค่ไหน มันก็มีค่ามากสำหรับเขา เพราะรูปที่ดีไม่ต้องสวยก็ได้

“ทุกครั้งได้คุยกับเขา เปิ้ลจะบอกเขาว่า พี่ๆ ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง เรามีคุณค่ามากกว่าที่เราคิด อย่าไปคิดว่าเราไร้ค่าและทำอะไรไม่ได้ เปิ้ลอยากให้พี่ๆ รู้สึกแบบเปิ้ล ถ้าพี่ๆ มีโอกาสได้ออกไปข้างนอก ก็อย่าทำร้ายตัวเองด้วยการมองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า จนต้องกลับเข้ามาอีก”

ดูเหมือนความสุขจากการวาดภาพไม่เหมือนกำลังเดินทางจากปลายพู่กันของเปิ้ลไปสู่ผู้คนอีกมากมาย

จาริณี เมธีกุล, Call me by my name
ภาพ : กรรัตน์ เมธีกุล

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล