“ภาพถ่ายสามารถหยุดเวลา เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นมีเวลาที่จะคิด นึกตอบโต้ รู้สึก และดื่มด่ำกับรายละเอียดของสถานการณ์ต่างๆ ที่ซับซ้อนได้” Renée C. Byer ช่างภาพข่าวผู้มีผลงานและรางวัลมากมายเคยกล่าวไว้


ภาพ : www.globalchin.org
ทุกวันที่ 1 มกราคมของแต่ละปี เชื่อว่าเกือบทุกท่านคงเคยผ่านประสบการณ์การตั้ง ‘ปณิธานปีใหม่’ (New Year Resolution) มาแล้ว หลายท่าน ‘ทำได้’ ขณะที่อีกหลายท่านได้ ‘แค่ทำ’
สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากเรื่องปณิธานปีใหม่แล้ว ทุกวันที่ 1 มกราคมของแต่ละปีถือเป็นวันเริ่มบังคับใช้ ‘กฎหมาย’ ฉบับใหม่ๆ ด้วย ทั้งนี้ ด้วยระบบการปกครองของสหรัฐฯ แบ่งเป็นกฎหมายระดับชาติ (Federal) กฎหมายระดับรัฐ (State) และกฎหมายระดับรองลงมา เช่น เคาน์ตี้ และเมือง การมีผลบังคับใช้ของกฎหมายใหม่ฉบับใดอาจเหมือนหรือแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาท้องถิ่น) ของพื้นที่นั้นๆ
ถ้ากฎหมายฉบับใหม่นั้นบังเอิญตรงกับปณิธานปีใหม่ของใคร ก็เท่ากับว่าคนคนนั้นทำปณิธานของตัวเองสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้ว เพราะแม้จะไม่อยากทำ แต่มันก็ถูกบังคับโดยกฎหมายอยู่ดี เช่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เมืองเบเวอร์ลีฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย (ใช่แล้วครับ เมืองเดียวกับที่เคยเป็นชื่อซีรีส์อันโด่งดังในยุค 90 ที่พระเอกสุดหล่อ ลุค เพอร์รี [Luke Perry] เพิ่งเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา) เพิ่งออกเทศบัญญัติเรื่อง ‘Multi-Unit Housing is Smoking Free’ ห้ามสูบบุหรี่ในอาคารที่มีผู้พักอาศัยอยู่รวมกันมากกว่า 1 ครอบครัว (เหมือนๆ คอนโดของบ้านเรา) แม้ว่าจะสูบในยูนิตของตัวเองก็ไม่ได้ รวมถึงที่ระเบียงห้องตัวเองด้วย ดังนั้น คนที่ตั้งปณิธานไว้ว่าจะเลิกสูบบุหรี่ก็น่าจะทำสำเร็จได้ไม่ยากนัก


สาเหตุที่ยกเอาทั้งรูปเต่าทะเลข้างต้น ปณิธานปีใหม่ และกฎหมายใหม่ๆ มาเกริ่นนำ ก็เพราะทั้งสามเรื่องนี้
ทำให้ผมคิดถึงบทสนทนาหนึ่งเมื่อปลายปี 2561 ระหว่างผมกับผู้บริหารของร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ที่มีอยู่แทบจะทุกหัวถนนในประเทศไทย ซึ่งใช้โอกาสการเดินทางมาท่องเที่ยวที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ มาเยี่ยมเยียนสถานกงสุลใหญ่ของไทยในนครลอสแอนเจลิสที่ผมทำงานอยู่ ในฐานะที่เราเคยเป็นเพื่อนร่วมงานกันเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ก่อนเขาลาออกจากกระทรวงการต่างประเทศไปทำงานในภาคเอกชน
“พี่ๆ ผมว่าเชนร้านสะดวกซื้อของพี่น่าจะเป็น ‘ผู้นำตลาด’ โดยการให้ลูกค้าต้องซื้อถุงพลาสติกเหมือนที่นี่ (แคลิฟอร์เนีย) นะ” ผมกล่าวขณะที่เราคุยกันถึงข่าวการพบถุงพลาสติกหนัก 8 กิโลกรัมในกระเพาะอาหารของวาฬครีบสั้นที่พบเป็นซากที่อำเภอจะนะ สงขลา เมื่อกลางปี 2561 ด้วยได้เคยเห็นถึงพลังของค่ายธุรกิจเจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อนี้มาแล้วว่าสามารถชี้นำสังคมไทยได้

ภาพ : สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม
“…เผลอๆ ถุงที่พบในท้องวาฬนั้น หลายถุงก็อาจเป็นของเชนร้านสะดวกซื้อพี่เอง!!!”
“แต่เราทำก่อนไม่ได้หรอก ถ้ารัฐบาลไม่ออกกฎหมายบังคับให้ทุกๆ เจ้าทำเหมือนกัน ธุรกิจนี้มันแข่งขันกันดุเดือดนะ และมีคน ‘รอเสียบ’ อยู่ตลอดเวลา แต่หลายๆ ฝ่ายก็พยายามทำกันอยู่”
“ที่ผ่านมา เราใช้การรณรงค์รวมถึงให้สะสมแต้มเมื่อไม่รับถุงพลาสติก ปรากฏว่าอะไรรู้ไหม เราเคยได้รับรายงานจากสาขาของเราในมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งว่า มีอาจารย์คนหนึ่งมาซื้อลูกอม 10 กล่อง แยกคิดเงิน 10 ครั้ง เช็กเงิน 9 ครั้งแรกไม่ขอรับถุงพลาสติกเพื่อจะได้สะสมแต้มเยอะๆ จากนั้นบิลที่ 10 ก็ขอรับถุงตามปกติ แล้วก็เอาลูกอมทั้ง 10 กล่องใส่ลงในถุงเดียวกัน!!!” พี่เขากล่าวตอบแกมให้ข้อสังเกตว่าการลดใช้ถุงพลาสติกของไทยมีความซับซ้อนอยู่พอควร และต้องใช้หลายๆ ปัจจัยร่วมกันถึงจะสำเร็จและยั่งยืน
หลังจากคุยกันวันนั้น ผมก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้อีก จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมารัฐแคลิฟอร์เนียได้บังคับใช้กฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับพลาสติก คือกฎหมายมลรัฐที่ 1884 ‘ห้ามร้านอาหารที่มีการให้บริการเต็มรูปแบบ (Full-service Restaurant) ให้หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยอัตโนมัติ หากลูกค้าไม่ได้ร้องขอ’ โดยตามนิยามของกฎหมาย ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบหมายถึงร้านที่มีพนักงานให้บริการรับจดออร์เดอร์ เสิร์ฟอาหาร และเช็กบิล



สมาชิกสภาของแคลิฟอร์เนียผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้ให้สัมภาษณ์ว่า ที่เสนอเรื่องนี้ก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของหลอดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ทำให้เกิดการฝังกลบขยะทางน้ำและมหาสมุทร ขณะที่ Ecocycle (NGO ด้านสิ่งแวดล้อม) ประเมินว่า ชาวอเมริกันใช้หลอดแบบนี้วันละ 500 ล้านหน่วย และหลอดพลาสติกเป็นขยะที่พบมากเป็นลำดับที่ 7 บนชายหาดทั่วโลกเมื่อเครือข่ายอาสาสมัครขององค์กรไปเก็บขยะในประเทศต่างๆ

ภาพ : Evening Standard
ท่านที่เคยอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ คงทราบดีว่าเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานนั้น สหรัฐฯ
ซึ่งเป็นสังคม ‘บริโภคนิยม’ ไม่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีเท่าไรนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหลายประเทศในยุโรป ดังนั้น
เมื่อกฎหมายฉบับนี้ของแคลิฟอร์เนียออกมาจึงเรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยครับ และทำให้แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ห้ามร้านอาหารให้หลอดพลาสติกโดยอัตโนมัติแก่ลูกค้า
จะว่าไปแล้ว รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นพื้นที่ ‘สีน้ำเงิน’ ที่พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมาก ถือเป็นขบถในเรื่องที่มีนโยบายและกฎหมายหลายๆ อย่างที่ก้าวหน้าและแตกต่างจากอีกหลายรัฐที่เป็นพื้นที่ ‘สีแดง’ ที่พรรครีพับลิกันของประธานาธิบดีทรัมป์มีเสียงข้างมาก โดยเฉพาะหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีสว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นมาทันตาเห็น
รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นขบถและไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลพรรครีพับลิกันขนาดไหน ก็คิดเอาครับว่าคุณทรัมป์แกเป็นประธานาธิบดีได้ 2 ปี รัฐแคลิฟอร์เนียยื่นฟ้องต่อศาลไปแล้ว 47 คดี (ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ) เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ยกเลิกนโยบายที่ออกโดยรัฐบาลทรัมป์เนื่องจากมิชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจำนวนการที่มลรัฐฟ้องรัฐบาลกลางมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ลบสถิติที่รัฐเท็กซัส (ฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน) ฟ้องรัฐบาลโอมาบา (พรรคเดโมแครต) 46 คดีในช่วง 8 ปีของการเป็นรัฐบาล
ขณะที่รัฐบาลทรัมป์ก็ไม่ลดราวาศอกครับ เพราะได้ฟ้องกลับอุนุงตุงนังว่ารัฐแคลิฟอร์เนียออกกฎหมายและนโยบายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเช่นกัน รวมนับสิบคดี และรวมถึงการขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกเป้าหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียในการลดก๊าซเรือนกระจกจากไอเสียรถยนต์ด้วย โดยให้เหตุผลว่าเพราะมันเข้มเกินไป!!! (เลยเป็นตัวอย่างไม่ดีให้รัฐอื่น)
นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุที่รัฐบาลทรัมป์ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายรักษ์สิ่งแวดล้อมของแคลิฟอร์เนียเป็นอย่างมาก ก็เพราะแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุด มีจำนวนรถยนต์สะสมและยอดจำหน่ายรถยนต์ต่อปีสูงที่สุดในสหรัฐฯ รวมถึงเป็นฐานการผลิตสินค้าหลายชนิด ซึ่งทำให้แคลิฟอร์เนียกลายเป็น Trendsetter ของสหรัฐฯ ในหลายๆ เรื่อง
นอกจากกฎหมายหลอดพลาสติกข้างต้นแล้ว กฎหมายเกี่ยวกับพลาสติกที่รัฐแคลิฟอร์เนียมีความก้าวหน้ากว่าอีกหลายรัฐ เช่น
– กฎหมายที่ห้ามร้านขายของชำและร้านค้าปลีกให้ถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษแก่ลูกค้าฟรีๆ หากต้องการ ลูกค้าต้องจ่ายค่าถุง ถุงละ 10 เซนต์ (3 บาท) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2558 หลังจากผ่านประชามติไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น และทำให้แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายห้ามเรื่องนี้ จากนั้นก็มีอีกหลายรัฐออกกฎหมายในลักษณะเดียวกัน


– กฎหมายที่ห้ามร้านค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่รัฐบาลแคลิฟอร์เนียเป็นเจ้าของ ใช้ภาชนะที่ย่อยสลายหรือรีไซเคิลไม่ได้ใส่อาหารและเครื่องดื่มให้ลูกค้า มีผลบังคับใช้ในปี 2562

– กฎหมายที่ห้ามขายผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีมาตรฐานการย่อยสลายได้ (Compostable) ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2555
– กฎหมายที่กำหนดให้ผู้ผลิตถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ต้องทำให้ถุงนั้นแตกต่างจากถุงพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้อย่างชัดเจน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2554

– กฎหมายที่กำหนดให้ร้านค้าปลีกต้องมีโครงการรีไซเคิลถุงพลาสติกที่ร้าน และถุงพลาสติกที่ใช้ต้องพิมพ์ที่ถุงว่า ‘Please Return to a Participating Store for Recycling’ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2549
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติของแคลิฟอร์เนียก็ถกกันเครียดเพื่อออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) โดยตั้งเป้าว่าต้องทำให้ได้ภายใน ค.ศ. 2030 ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้หรือไม่และเมื่อใด

ภาพ : greencitiesca.squarespace.com
ในภาพรวม การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับพลาสติกและกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกจากไอเสียรถยนต์ และกฎหมายเกี่ยวกับการใช้พลังงานทางเลือก ส่งผลให้แคลิฟอร์เนียลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายได้ก่อนเวลาที่กำหนดไว้ถึง 4 ปี
กล่าวคือ แคลิฟอร์เนียตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2563 จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเท่าที่เคยปล่อยได้ในปี 2533 (ปีฐานที่ใช้ในการอ้างอิงตามสนธิสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งแม้จะเป็นการตั้งเป้าหมายที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ในสหรัฐฯ แต่แคลิฟอร์เนียก็ทำได้ตั้งแต่ปี 2559 แล้ว
โดยจากข้อมูลของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐ อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนของแคลิฟอร์เนียลดลงถึง 13 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงที่เคยปล่อยไว้สูงสุด ขณะที่ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อคนต่อปีลดลงเหลือ 10.8 เมตริกตัน หรือปล่อยน้อยลง 23 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนของคนทั่วสหรัฐฯ
สำหรับผลในแง่การใช้ถุงพลาสติกหลังบังคับใช้กฎหมายห้ามแจกถุงฟรีได้เพียง 6 เดือน CalRecycle หน่วยงานของรัฐพบว่าร้านค้าปลีกและร้านขายของชำลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขการใช้ถุงพลาสติกที่ลดลงดังกล่าวสอดคล้องกับสถิติของขยะที่องค์กรอาสาสมัครเก็บได้ตลอดชายหาดและชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ยาวร่วม 3,000 กิโลเมตร
โดยถุงพลาสติกเคยเป็นขยะที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในปี 2553 (รองจากก้นบุหรี่และภาชนะใส่อาหารที่ใช้ได้ครั้งเดียว) คิดเป็น 7.4 เปอร์เซ็นต์ของขยะที่พบทั้งหมด แต่เมื่อบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไปได้ 1 ปี ถุงพลาสติกตกไปเป็นอันดับ 10 เหลือเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ของขยะที่พบ พูดง่ายๆ ก็คือ ถุงพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะลดไปถึง 72 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2553
ก็ลองคิดดูเอาครับว่า การที่ในปีๆ หนึ่งร้านขายของชำและร้านค้าปลีกในแคลิฟอร์เนียใช้ถุงพลาสติกถึง 13,800,000,000 ใบ กฎหมายฉบับนี้ช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้มากโข อย่างน้อยก็ร่วม 10,000,000,000 ใบต่อปี ดังนั้น นักสิ่งแวดล้อมทั้งภาครัฐและเอกชนจึงสรุปตรงกันว่า “กฎหมายห้ามแจกจ่ายถุงฟรีๆ นี้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจูงใจให้คนนำถุงที่รีไซเคิลได้มาใช้เอง”

อ่านถึงตรงนี้ ที่ผมยกบทสรุปข้างต้นมาไม่ใช่ว่าเพราะเห็นด้วยว่าประเทศไทยต้องมีกฎหมายก่อนถึงจะลดการใช้ถุงพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ เพราะอย่างที่ทราบกันว่าโครงสร้างการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ กับของไทยนั้นแตกต่างกันค่อนข้างมาก (ซึ่งอธิบายได้ว่าเหตุใดแม้ไทยเรามีกฎหมายหลายๆ อย่างทัดเทียมนานาอารยประเทศ แต่ก็บังคับใช้ไม่ค่อยได้ เช่น กฎห้ามแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร กฎห้ามขายบุหรี่และสุราให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กฎการใส่หมวกกันน็อกขณะขี่และซ้อนมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ)
โดยส่วนตัวแล้ว ผมยังเชื่อในพลังของเชนค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในไทยเจ้านี้ว่า สามารถขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปสู่เขตปลอดถุงพลาสติกได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายมารองรับ โดยเฉพาะหากทำควบคู่กับโครงการ ‘รณรงค์’ แรงๆ เพราะการลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติก รวมถึงการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์จากพลาสติกน่าจะเป็นปณิธานของใครหลายๆ คนอยู่แล้ว โดยอาจมีบางคนเคยตั้งเป็น ‘ปณิธานปีใหม่’ ไว้ด้วยซ้ำไป
พูดถึงตรงนี้ คนที่อายุ 40 ขึ้นไป (เช่นผม) ก็น่าจะคิดถึงเพลง “อ๊ะ อ๊ะ อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ” ซึ่งเป็น Theme Song ของโครงการ ‘ตาวิเศษ’ ที่โด่งดังมากเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ขึ้นมาตงิดๆ เพราะเป็นหนึ่งในโครงการ ‘รณรงค์’ ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของประเทศไทย น่าจะพอฟัดพอเหวี่ยงกับโครงการรณรงค์คุมกำเนิดและแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ (ถุงยางมีชัย)

สำหรับผู้ที่โตไม่ทันรู้จักโครงการ ‘ตาวิเศษ’ ตอนดังๆ ก็ให้นึกภาพตามเอาครับว่าก่อนหน้าจะมีโครงการนี้ นิสัยการทิ้งขยะไม่เลือกที่ ประมาณว่าแกะที่ไหนทิ้งที่นั่น ทำให้กรุงเทพฯ และประเทศไทยเป็นที่ที่สกปรกติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่หลังจากมีโครงการนี้ได้ไม่กี่ปี นิสัยเหล่านั้นก็ถูกแทนที่ด้วยความตระหนักรู้และการยับยั้งชั่งใจที่มากขึ้น และเหนืออื่นใด สะท้อนให้เห็นว่าการจะเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นเริ่มได้ที่ ‘ตัวเรา’ เอง
อันที่จริงเท่าที่ติดตามดูข่าวสารในไทยเรื่องการลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก ก็น่าจะพอมีความหวังอยู่มากครับ เพราะหลายฝ่ายก็ช่วยกันทำเท่าที่ตนเองจะทำได้ บริษัท ห้างร้าน และองค์กรต่างๆ ก็ออกโครงการรณรงค์มากมายเพื่อสร้างความตื่นตัวให้คนใช้ถุงรีไซเคิลหรือถุงผ้าแทน ขณะที่ภาครัฐเองก็มีนโยบายและโรดแมปในการเลิกใช้พลาสติกที่ชัดเจน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2580

ภาพ : www.chula.ac.th
ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยเราระบุว่า ในช่วง 8 เดือน ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ หลังจากการร่วมแรงร่วมใจกันของหลายฝ่าย ไทยเราใช้ถุงพลาสติกลดลงไปถึง 1,300 ล้านใบ! (แต่อย่าเพิ่งอิ่มใจไปครับ เพราะ ReReef องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลว่า คิดเป็นเพียงไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของยอดถุงพลาสติก 45,000 ล้านใบต่อปีที่คนไทยเราใช้กัน)
และในปี 2562 นี้ ภาครัฐยังมีแผนที่จะเลิกใช้พลาสติกอีก 3 ชนิดคือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารอ๊อกโซ และผลิตภัณฑ์ไมโครบีดจากพลาสติก (2 อย่างหลังนี้ไม่ควรใช้เพราะไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติ แต่จะแตกตัวลงไปสะสมในทะเล) ขณะที่ภายในปี 2565 จะเลิกใช้ถุงหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน และกล่องโฟมใส่อาหาร (ที่ร้านข้าวแกงชอบใช้) จากนั้นภายในปี 2568 จะเลิกใช้แก้วและหลอดพลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
ถือได้ว่าไทยเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนครับ และขอเอาใจช่วย แต่ก็อดกังวลไม่ได้ เพราะโครงการรณรงค์ที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นการขอความร่วมมือและปลูกจิตสำนึก ยังไม่ใช่ ‘ยาแรง’ รวมถึงยังไม่เป็นกฎหมาย ซึ่งนี่เองที่เป็นเหตุผลว่า เหตุใดผมถึงอยู่ฝ่ายที่อยากให้เชนร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดของไทยเราคิดเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้ซื้อแทนการให้ฟรีๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นครับ
ควบคู่ไปกับการทำให้สำเร็จตามเป้าหมายข้างต้น ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งที่ผมคิดว่าควรต้องส่งเสริมอย่างจริงจังให้เกิดขึ้นให้ได้ คือการทำให้ไทยเป็นแหล่งผลิตภาชนะธรรมชาติที่ใช้แทนพลาสติกป้อนชาวโลก โดยอาศัยจุดแข็งและศักยภาพของ ‘พืชเศรษฐกิจ’ ที่ไทยมีอยู่อย่างล้นเหลือ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวเจ้า ฯลฯ
มาบวกกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่คนไทยเราก็มีไม่น้อยไปกว่าใคร ขณะที่ถือเป็นเทรนด์ของโลกที่กำลังต้องการภาชนะวัสดุเหล่านี้ที่เคยเห็นว่าเริ่มมีคนใช้แล้ว เพียงแต่ยังไม่แพร่หลาย และยังทำเชิงพาณิชย์ไม่ได้มากนักจึงยังไม่มีการส่งออกอย่างจริงๆ จังๆ ก็เช่นหลอดจากก้านผักบุ้ง หลอดจากต้นตะไคร้ หลอดจากไม้ไผ่ กล่องใส่อาหารจากชานอ้อย จานมันสำปะหลัง ชามใบไม้ ภาชนะจากกาบต้นมะพร้าว กาบต้นหมาก กาบต้นกล้วย ฯลฯ

ภาพ : 1mall.win

ภาพ : www.salika.co
ถ้าทำได้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะหากสามารถสนับสนุนชุมชนต่างๆ ให้แปรรูปพืชเศรษฐกิจที่พบเจอในพื้นที่ของตนเองเพื่อการนี้ได้ ก็จะถือตัวอย่างเชิงประจักษ์ของการแปลงนโยบาย 4.0 ให้คนเดินดินกินข้าวแกงได้รู้จักมากขึ้นครับว่ามันเกี่ยวกับชีวิตเขาอย่างไร และในภาพใหญ่ สังคม 4.0 ที่ชอบพูดกันนั้น มันจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและ ‘แบรนดิ้ง’ ให้ประเทศไทยได้อย่างไร
ต้มยำกุ้งเอย ผัดไทยเอย สร้างชื่อให้ประเทศไทยเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วโลกแล้ว จะยิ่งดีกว่าไหมครับถ้าเรามาช่วยกันทำให้เป็นมาตรฐานว่า ถ้าจะห่ออาหารไทยเหล่านี้ หรือใส่กล่องไปกิน ต้องใช้ภาชนะที่ใช้แทนพลาสติกที่ผลิตจากพืชเศรษฐกิจของไทยโดยชาวบ้านตาดำๆ

ภาพ : www.matichon.co.th
กล่าวอีกนัยหนึ่ง อีกหน่อยเมื่อคนเห็นรูปภาพภาชนะและวัสดุที่ใช้แทนพลาสติกแล้ว อยากให้เขาคิดถึงประเทศไทยในลักษณะเดียวกับที่คนทั่วไปมักจะคิดถึงญี่ปุ่นเมื่อเห็นแพ็กเกจหีบห่อสวยๆ พิถีพิถัน คิดถึงฝรั่งเศสเมื่อเห็นน้ำหอม และคิดถึงเนเธอร์แลนด์เมื่อเห็นกังหันลม and so the story goes…