คนที่อยู่ในสายงานออกแบบและการพิมพ์ น่าจะรู้จัก คัดสรร ดีมาก ในฐานะบริษัทออกแบบตัวอักษรที่พวกคุณใช้กันเป็นประจำ ส่วนคนที่คลุกคลีอยู่กับตัวหนังสือและดนตรีแบบฉันก็ได้ยินชื่อนี้มาบ้าง จนกระทั่งวันหนึ่งฉันเกิดความสงสัย เมื่อได้ไถแถบ Suggested Video ไปเจอเพลย์ลิสต์รวมเพลงจาก ‘Cadson Demak Records’ และเกิดเป็นความสับสนว่า นี่คือ ‘คัดสรร ดีมาก’ เดียวกันหรือเปล่า

ก็น่าจะใช่ เพราะศิลปินคนเดียวของค่าย ณ ตอนนี้ คือ นุ-อนุทิน วงศ์สรรคกร หนึ่งในดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ชวนให้ตั้งคำถามต่อว่า ทำไมจู่ๆ เขาถึงเลือกทำค่ายเพลง แต่ก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะก่อนหน้านี้ คัดสรร ดีมาก มีผลิตภัณฑ์หลากแขนงที่ต่อยอดมาจากฟอนต์ ผลิดอกออกผลกลายเป็นการทำแบรนดิ้ง บทความ หนังสือ เวิร์กช็อป การสัมมนา แต่ทุกสิ่งอันล้วนมีความเชื่อมโยงกันในกรอบของสิ่งที่เรามองเห็นได้ แล้วทำไมร่างแยกร่างใหม่ถึงเป็น ‘เสียง’ ที่ลักษณะพื้นฐานของมันอธิบายให้เป็นรูปธรรมไม่ได้ด้วยซ้ำ

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ เพลงของค่ายนี้ล้วนแต่ใช้เสียงสังเคราะห์และบีตอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียบเรียงมาอย่างซับซ้อน แต่บรรเลงออกมาผ่านทำนองเรียบง่ายติดหู ควบคู่ไปกับน้ำเสียงทุ้มและหนักแน่นของนุ (ซึ่งบางคนพอจะนึกออก หากเคยไปร่วมงานเสวนาที่เขาเป็นวิทยากร) ร้องเล่าถึงความคิด มุมมอง หรือการมองย้อนไปยังสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว แบบที่เพลงป๊อปสมัยนิยมคงไม่ทำ

เราบุกไปที่ Apollo Lab (2001) สตูดิโอทำเพลงย่านรามคำแหง คุยกับ นุ-อนุทิน วงศ์สรรคกร, วิน-วินัย กิจเจริญจิรานนท์, โจ้-ชาลี นิภานันท์ และ เต๊าะ-จามร วัฑฒกานนท์ เพื่อไขข้อข้องใจที่ทุกท่านคงสงสัยไม่แพ้กัน

Cadson Demak Records เมื่อบริษัทออกแบบตัวอักษรอยากลองเล่าเรื่องของตัวเองผ่านตัวโน้ต

ค่ายเพลงที่ไม่ใช่ค่ายเพลง

นี่ไม่ใช่เพลงใหม่ของ Getsunova แต่ Cadson Demak Records เกิดจากการที่ คัดสรร ดีมาก มีเพลงจำนวนมากสำหรับใช้เปิดคลอในงานสัมมนา Bits หรือใช้ประกอบวิดีโอสารคดี อักษรสัมพันธ์ ซึ่งแต่ละเพลงเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะนุมองว่า โปรดักต์ของ คัดสรร ดีมาก มีจุดร่วมเดียวกันอยู่ นั่นคือ ‘อัตลักษณ์’ และ ‘ทัศนคติ’ 

ในเมื่อตัวอักษรหรือภาษาที่ใช้เขียนบทความทั้งหมดมีลักษณะจำเพาะที่ดูนิ่ง เย็น มีเหตุผล ตรงไปตรงมา ดังนั้นแล้ว เพลงที่นำมาใช้เป็น ‘บรรยากาศ’ ก็ควรให้ความรู้สึกแบบนั้น เขาเลยมอบหมายหน้าที่ให้ จิม-กานต์ปพนธ์ บุญพุฒ หรือ The ███████ ศิลปินอิเล็กทรอนิกส์ปริศนาที่ไม่รู้ว่าจะออกเสียงยังไงดี (เฉลย อ่านว่า The Black Code) ผู้เป็นลูกศิษย์สมัยเขาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพมาสร้างสรรค์เพลงให้ จนได้เสียงที่มีคุณลักษณะตรงกับความต้องการแบบพอดิบพอดี

“เรานั่งคุยกับจิมเลยแหละ เขาก็รู้ว่าทั้งผมแล้วก็ ป่าน (พงศ์ธร หิรัญพฤกษ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง) เป็นเด็กเกิดยุค 70 โตมา 80 ฟังเพลงอิเล็กทรอนิกส์ หรือพวก Joy Division, New Order, Depeche Mode บ้าง แล้วเราก็ให้ Reference บรรยากาศที่เราอยากได้ จิมรู้ดีสุดเลยว่าอันนี้อาจารย์เอา อันนี้อาจารย์ไม่เอา” นุเริ่มต้นเล่า

เมื่อเพลงถูกใช้ในบทบาทของ Furniture Music ผู้มางานสัมมนาหลายคนอาจไม่ทันสังเกตถึงการมีอยู่ หรือตั้งใจฟังเพลงพวกนั้น เขาคิดว่าคงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากเพลงที่ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อเป็นน้ำเสียงของ คัดสรร ดีมาก โดยเฉพาะ จะไม่ถูกได้ยิน จึงนำมารวมเป็นอัลบั้ม The Sound of Cadson Demark โดยออกจำหน่ายภายใต้ Cadson Demak Records เพื่อเป็นพื้นที่ในการรวบรวมผลงานเหล่านั้นให้เป็นที่เป็นทาง

คิดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างที่เกริ่นไว้ว่าที่นี่ไม่ได้ทำแค่ฟอนต์ หัวใจในการทำงานของพวกเขาคือ คิดทำสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้ผลหลายๆ อย่าง เช่น เมื่อจัดเสวนา ก็จดบันทึกเพื่อทำเป็นบทความ เยอะเข้าก็รวมเล่มเป็นหนังสือ และบางทีก็อาจนำเรื่องราวในหนังสือกลับมาทำเป็นเวิร์กช็อป เช่นเดียวกันกับเพลงที่เมื่อทำออกมาแล้วมีแต่ทำนอง เขาก็ได้ไอเดียว่า ในห้องเสียงเหล่านั้นยังเหลือที่ว่างให้ใส่เนื้อร้องเข้าไปได้ ฟากเนื้อร้องเขาก็ได้ แต๊บ-ธนพล มหธร (D.U.M.B. Recordings) และ แอ้ม-อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์ นักแต่งเพลงชื่อดัง มาช่วยตีความจากงานออกแบบของ คัดสรร ดีมาก ออกมาเป็นเพลงที่มีเนื้อหาไม่ฟูมฟาย มองโลกในแง่บวก ดูเป็นผู้ใหญ่ ใช้ตรรกะและเหตุผลมากกว่าอารมณ์ ในเพลง ข้อความนั้น (luv.txt) เดิมทีตั้งใจส่งเป็นของขวัญมอบให้ลูกค้า และคนที่ถ่ายทอดคำขอบคุณได้ดีที่สุดก็คือตัวของเขาเอง

“เราไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ แต่เราก็เอางานอดิเรกมาขับเคลื่อนให้มันกลายเป็น Promotional Item กลับมาหาธุรกิจของเราในทางอ้อมได้”

เสียงที่มองเห็น

ความสนใจของนุค่อนข้างหลากหลาย ล่าสุดเขาเข้าคอร์สร้องเพลง เพียงเพื่อเวลาที่ไปคาราโอเกะ จะได้มีสักเพลงที่ตัวเองร้องได้เป๊ะ แต่เมื่อได้ใช้เวลาเรียนรู้ไปสักระยะ เขาเริ่มเห็นว่าการร้องเพลงให้ดีมีองค์ประกอบหลายอย่างมากกว่าที่เคยคิด ทั้งกรูฟ ไดนามิก การควบคุมเส้นเสียง ใช้เสียงยังไงให้กังวาน เขาถอดบทเรียนได้ว่าไม่ใช่แค่การร้องเพลง แต่ทุกๆ เรื่องมีความซับซ้อนและรายละเอียดมากไปกว่าที่ตาเราเห็น เพียงแต่เราต้องพยายามทำความเข้าใจ จึงจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้

“ในยี่สิบปีที่ผ่านมา ที่ผมบอกว่า Typeface อันนี้ออกแบบมาไม่ดี คือตาเราเห็น แล้วเราพยายามบอกคนอื่นว่าอันนี้มันต้องแก้ด้วยวิธีนี้ ก็มีคนที่ยังไม่เห็น แต่คนไหนที่เขาเห็นแล้ว เขาก็จะเห็นเลย เหมือนการร้องเพลง แต่ก่อนเราฟังหูหยาบๆ พอเราเรียนไปแล้วเข้าใจมากขึ้นว่าจุดนี้ควรร้องแบบนี้”

เมื่อเขาเห็นผลดีกับตัวแล้ว นุก็ไม่ลืมเชิญครูสอนร้องเพลงมาแบ่งปันความรู้ด้านอื่นๆ ให้กับพนักงานของ คัดสรร ดีมาก อย่างการฝึกใช้เสียง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่หลายคนมองข้าม ดีไซเนอร์ที่ต้องไปขายงานมักประสบปัญหากับเสียงของตัวเอง ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุจากสรีระที่ทำให้เสียงเบาหรือขาดความมั่นใจ บางคนกระแทกเสียงไม่น่าฟัง ก็อาจทำให้การไปพิตช์งานในครั้งนั้นขาดความน่าเชื่อถือ ส่งผลให้ลูกค้าไม่ซื้อก็เป็นได้

สื่อสารสัมพันธ์

หลังจากที่เขาไปเรียนร้องเพลง และได้ร่วมงานกับนักแต่งเพลงหลายต่อหลายคน เขาก็พบว่าโปรเจกต์ Cadson Demak Records ต่อยอดไปได้อีกหลายทิศทาง จากเพลงสื่อสารองค์กรที่จะมอบให้ลูกค้า ก็น่าจะหยิบยกเรื่องส่วนตัวมานำเสนอบ้าง เพื่อเน้นย้ำตัวตนหรือบรรยากาศภายในองค์กรของ คัดสรร ดีมาก ได้ดียิ่งขึ้น

จังหวะพบกันในงาน Bangkok Design Week เมื่อ ค.ศ. 2019 ระหว่างนุ โจ้-ชาลี นิภานันท์ (DCNXTR, Ghost Producer Club) และ วิน-วินัย กิจเจริญจิรานนท์ ผู้เป็นสมาชิกเบื้องหลัง Conceptual Band ที่ทำเพลงผ่านสายตาของปู่ย่าตายายในชื่อ The Charapaabs ช่วยทำให้เขาได้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น โดยร่วมกันเขียนเพลง Cache /kaSH/ ถ่ายทอดความสัมพันธ์ของคนในออฟฟิศ หรือการทำเพลงที่พูดถึงความทรงจำดีๆ เพื่อมอบให้พนักงานที่กำลังจะลาออกในเพลง Present Perfect (วันนี้และทุกๆวัน) ซึ่งทั้งสองเพลงก็ได้พนักงานของ คัดสรร ดีมาก มาช่วยเติมเต็มเสียงประสานให้สมบูรณ์ 

นอกจากนี้ นุยังคิดว่า Cadson Demak Records น่าจะเป็นพื้นที่ให้ศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์มาร่วมสนุกด้วยกัน อย่างเช่นการได้ทีม Hello Filmmaker มาทำมิวสิกวิดีโอให้ในเพลง ข้อความนั้น (luv.txt) หรือการร่วมงานกับวงอิเล็กโทรป๊อป จระเข้บัว ให้มาฟีเจอริ่งใน ไปกับใจ (ไปกับ JK Bua) และสนับสนุนโปรเจกต์ของนักศึกษา ด้วยการออกทุนให้น้องๆ จาก SCA (Superstar College of Arts) มหาวิทยาลัยสยาม มาร่วมแสดงศักยภาพที่พวกเขามีอย่างเต็มที่ ผ่านการทำมิวสิกวีดีโอเพลงนี้ ทั้งการกำกับและออกแบบท่าเต้น

CDR | PWL

การเดินทางใน ค.ศ. 2021 ของ Cadson Demak Records จะสนุกยิ่งขึ้น เมื่อพวกเขาได้วางแผนจะทำโปรเจกต์ล่าสุดที่อยากเจาะลึกลงไปถึงตัวตนและความสนใจของนุ กับการที่เขาเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาในยุค 80 จึงคุ้นเคยกับเพลงของศิลปินอย่าง Kylie Minogue, Rick Astley, Bananarama, Jason Donovan ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากค่ายเพลงดังของอังกฤษที่ชื่อว่า PWL ซึ่งเป็นค่ายของ SAW หรือ Stock Aitken Waterman 3 โปรดิวเซอร์ดังที่เป็นต้นฉบับของการทำเพลงป๊อปของยุคนั้น จนกลายมาเป็นที่มาของนิยามว่า ‘Hit Factory’ ที่จะให้แปลตรงๆ ก็คือ ไม่ว่าจะทำเพลงอะไรออกมาก็ดังทุกเพลง! ดังนั้นแล้ว นุ โจ้ และวิน ก็หยิบยืมกลิ่นอายของดนตรีป๊อปแดนซ์จากยุคที่ว่า มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำเพลงโปรเจกต์นี้

แต่การทำเพลงกลางยุค 80 ต้น 90 โดยที่ไม่มีคนของยุคในโปรดักชันเลยเห็นทีจะไม่ได้ พวกเขาเลยชักชวนให้ เต๊าะ-จามร วัฑฒกานนท์ อดีตมือเบสวง Kidnappers เเละโปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง Dojo City, Siam Secret Service, วงพราว และ เมย์-ภัทรวรินทร์ ทิมกุล ยุคที่เธอยังเป็นนักร้องมาเป็นหัวเรือใหญ่ในโปรเจกต์นี้ ซึ่งการที่เราได้ไป Apollo Lab ซึ่งเป็นสตูดิโอของ อู่-ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ หรือที่แฟนเพลงอิเล็กทรอนิกส์ยุค 90 รู้จักเขาในชื่อ อู่ Kidnappers รับหน้าที่มาสเตอร์เพลงเพื่อให้เหมาะกับการนำไปทำแผ่นเสียง (ใช่! เราจะได้ฟังเพลงที่มีกลิ่นอายย้อนยุคจากพวกเขา ด้วยวิธีแบบย้อนยุคอย่างการฟังไวนิลโดยใช้ Turntable เล่น) ทำให้เราได้มีโอกาสแอบฟัง 4 จาก 5 เพลงจากโปรเจกต์นี้แล้ว ต้องบอกว่าน่าตื่นเต้นมากๆ

Cadson Demak Records เมื่อบริษัทออกแบบตัวอักษรอยากลองเล่าเรื่องของตัวเองผ่านตัวโน้ต

“เราเป็นคนทำเพลง ไม่ค่อยสนใจเนื้อหาเท่าไหร่ แต่มาอันนี้ พี่ตั้งใจฟังเพราะมันไม่ค่อยเหมือนที่ผ่านๆ มา เราไม่ค่อยได้ยินเพลงป๊อปไทยที่ใช้ภาษาแบบนี้หรือนำเสนอความคิด ส่วนมากเราได้ยินเพลงลักษณะประมาณนี้ในเพลงเพื่อชีวิตเท่านั้น เพลงป๊อปสูตรส่วนมากนำเสนอเรื่องความรัก ซึ่งไม่ใช่ทั้งของคนร้องหรือคนแต่ง แต่เป็นเรื่องที่ทำขึ้นมาเพราะว่าคนฟังอยากที่ได้ยิน” เต๊าะพูดถึงความรู้สึกต่อเนื้อหาของเพลงในโปรเจกต์นี้

“แต่เมื่อกี้เราพูดถึง Stock Aitken Waterman 80 90 มันมีความป๊อปตลาด เนื้อหาเป็น ฉันรักเธอ เธอรักฉัน ฉันเกลียดเธอ อกหัก ร้องไห้ มันวนเล่าเรื่องประมาณเท่านี้ แต่อันนี้เรายืมกลิ่นหรือบรรยากาศที่เราประทับใจแบบที่ผมกับพี่เต๊าะโตมา คล้ายเป็นซาวนด์แทร็กของชีวิต แต่ถ้าถามว่าจะให้คนที่ชอบเพลงเหล่านั้น ที่โตมากับเพลงพวกนั้น มาเล่าเรื่องอะไรสักอย่างในวันนี้ คงไม่ได้เป็นเรื่องอกหักรักคุดเหมือนสมัยก่อน ภาษาที่ใช้ก็เลยโตมากขึ้น สะท้อนมุมมองของชีวิตมากขึ้น และแน่นอน ถ้า คัดสรร ดีมาก เป็นคน ก็คงจะแสดงออกแบบนี้ และคนฟังก็จะรู้สึกเชื่อที่ คัดสรร ดีมาก พูดคำเหล่านี้ออกมา”

ยิ่งไปกว่านั้น ซาวนด์ดีไซน์ก็ทำออกมาได้กลิ่นอายของเพลงป๊อปแดนซ์เหล่านั้นอย่างที่พวกเขาตั้งใจ แต่ออกมาในบริบทไทยๆ ที่ชวนให้นึกถึงงานของ Mr. Z หรือ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ที่เป็นแฟนตัวยงของค่าย PWL บางเพลงมีการเรียบเรียงในแบบที่เกินความคาดหมาย อาจจะฟังยากในช่วงแรก แต่พอปรับหูได้แล้ว จะพบว่าเป็นเพลงที่มีเสน่ห์และทำเราน้ำตาซึมได้ เพราะอารมณ์เพลงกับเนื้อร้องที่ถ่ายทอดโดย นท พนายางกูร อีกทั้งคุณภาพการมิกซ์ มาสเตอร์ อยู่ในระดับเนี้ยบกริบ คุ้มค่าแก่การรอคอยอย่างแน่นอน

หมุดหมายที่อยากให้ Cadson Demark Records ไปถึง

“ถ้าอนุทินพูดว่า โอ๊ย ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย จะฟังดูตอแหลเหมือนกับคนอื่นเวลาให้สัมภาษณ์ แต่อันนี้ไม่ได้คาดหวังถึงผลลัพธ์จริงๆ ไม่มีการพูดคุยเลยว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เอากี่วิว ทำเพราะว่าอยากทำ และรู้สึกว่ามีคุณค่า มันหล่อเลี้ยงจิตใจ จะมีก็แค่คาดหวังที่จะทำให้เสร็จ ให้สาแก่ใจทุกฝ่าย ให้ตรงตามโจทย์ เราจะมี Check Point ว่ามันตรงกับคาแรกเตอร์ของ คัดสรร ดีมาก ไหม ได้ซาวนด์แบบที่เราต้องการไหม จะบอกว่าสิ่งนี้เป็น KPI ก็ได้ เพราะเราลงมือทั้งเงินและเวลา มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมี Check Point ซึ่งก็แค่จุดนี้

“คนที่อยากฟังเรื่องที่เราอยากจะพูดมันก็ยังมีอยู่แหละ แต่คงไม่ใช่สองล้านคน ปกติเวลาผมให้สัมภาษณ์เรื่องดีไซน์ ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับผม หรือยิ่งอันนี้ที่ถูกแปลงเป็นเพลง มันก็คงเหมือนกันนั่นแหละ”

แผ่นเสียงของโปรเจกต์ดังกล่าว (ขณะนี้ยังไม่มีชื่อเรียก) จะถูกผลิตมาเป็นจำนวน 300 แผ่น โดยกำหนดระยะเวลาวางจำหน่ายในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พ.ศ. 2564 และจะตามมาด้วยการจำหน่ายแบบดิจิทัลในระบบสตรีมมิ่งและสโตร์

Cadson Demak Records เมื่อบริษัทออกแบบตัวอักษรอยากลองเล่าเรื่องของตัวเองผ่านตัวโน้ต

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่

Facebook : Cadson Demak Records

YouTube : Cadson Demak Records

Instagram : Cadson Demak Records

Writer

Avatar

มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์

อดีตบรรณาธิการ Fungjaizine ที่นอกจากเรื่องเหล้าแล้ว ก็ชอบเล่าเรื่อง ดนตรี ภาพยนตร์ และอาหาร เป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน