การคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ในการประกอบธุรกิจเป็นเรื่องที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลายมากในปัจจุบัน แต่กระแส ESG นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ธุรกิจหลายแห่งนำหลัก ESG มาใช้ในการดำเนินกิจการมายาวนานแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวที่มักให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการอยู่ร่วมกันกับชุมชน

Cadbury ธุรกิจครอบครัวที่มีแนวคิด ESG มากว่า 100 ปี ก่อนเป็นกระแสหลักของธุรกิจทั่วโลก

หนึ่งในผู้นำกระแส ESG ในวงการธุรกิจคือ ตระกูล Cadbury ที่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มายาวนานกว่าร้อยปีเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในการสร้างกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility : CSR) และการปฏิวัติบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ของธุรกิจทั่วโลกอีกด้วย

ธุรกิจช็อกโกแลต 200 ปี

ตระกูล Cadbury เป็นผู้ก่อตั้งกิจการช็อกโกแลตชั้นนำของโลก เจ้าของช็อกโกแลตหลายแบรนด์ เช่น Dairy Milk ในห่อสีม่วงที่หลายคนอาจจะคุ้นเคย หรือ Crunchie ในห่อสีม่วงทอง

ธุรกิจครอบครัวของตระกูลนี้เริ่มต้นในปี 1824 โดย John Cadbury จากร้านขายชากาแฟในเมือง Birmingham ในอังกฤษ พวกเขาเป็นสมาชิกของกลุ่มเคร่งศาสนาที่เรียกกันว่า Quakers ทำให้จอห์นตัดสินใจขายเครื่องดื่มโกโก้ในร้านของเขาด้วย เพราะเป็นเครื่องดื่มรสชาติดี ไม่ทำลายสุขภาพ และเป็นทางเลือกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจช็อกโกแลต

Cadbury ธุรกิจครอบครัวที่มีแนวคิด ESG มากว่า 100 ปี ก่อนเป็นกระแสหลักของธุรกิจทั่วโลก

ในปี 1847 Benjamin Cadbury น้องชายของเขาได้เข้ามาร่วมทำธุรกิจด้วย บริษัทจึงเปลี่ยนชื่อเป็น Cadbury Brothers และในอีก 7 ปีต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งจาก Queen Victoria ให้เป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตและโกโก้ให้ราชสำนักอังกฤษ

ในช่วงแรกธุรกิจ Cadbury ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ต่อเนื่องมาตลอด จนกระทั่งลูกชายของ John 2 คน คือ Richard และ George เข้ามารับช่วงต่อในปี 1861 แต่ถึงอย่างนั้น ธุรกิจก็ยังไปได้ไม่ค่อยดีนัก

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ธุรกิจเริ่มดีขึ้นจนทำกำไรได้ คือในปี 1864 ที่สองพี่น้องตัดสินใจเปลี่ยนโฟกัสของธุรกิจจากชาและกาแฟไปสู่ช็อกโกแลต และปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น

Cadbury เริ่มผลิตช็อกโกแลตแท่ง Dairy Milk ในห่อสีม่วงในปี 1905 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้มหาศาลและทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วน Dairy Milk ก็ได้กลายเป็นช็อกโกแลตยอดนิยมในอังกฤษที่ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 60% ในอีก 30 ปีถัดมา

Cadbury ธุรกิจครอบครัวที่มีแนวคิด ESG มากว่า 100 ปี ก่อนเป็นกระแสหลักของธุรกิจทั่วโลก

จากความหวานสู่ความขม

นอกจากการเติบโตจากผลิตภัณฑ์ของ Cadbury เอง ธุรกิจยังเติบโตจากการควบรวมหลายกิจการ เช่น ในปี 1919 Cadbury ควบรวมกิจการกับ J.S. Fry & Sons ผู้ผลิตช็อกโกแลตแท่งหลายแบรนด์อย่าง Crunchie ในห่อสีทอง และควบรวมกับบริษัทเครื่องดื่ม Schweppes จนกลายเป็นบริษัท Cadbury-Schweppes ในปี 1969

นอกจากนี้ ธุรกิจยังควบรวมกิจการอื่น ๆ ทั้งในอังกฤษยุโรปอเมริกาและออสเตรเลีย จนทำให้ขึ้นแท่นเป็นบริษัทช็อกโกแลตที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ในด้านหนึ่งนั้น การควบรวมกิจการต่าง ๆ ทำให้ Cadbury ขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์หลากหลายและครองส่วนแบ่งตลาดในหลายประเทศทั่วโลก

ขณะเดียวกัน การควบรวมก็ทำให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของธุรกิจของตระกูล Cadbury ลดน้อยลงไปจนในที่สุดไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการที่ธุรกิจอื่นจะเข้ามาทุ่มซื้อกิจการหรือ Takeover

ในที่สุดเหตุการณ์นั้นก็เกิดขึ้นในปี 2009 เมื่อบริษัท Kraft Foods จากสหรัฐอเมริกาพยายามเข้ามาทุ่มซื้อกิจการ Cadbury จนซื้อหุ้นรวมได้เกิน 75% ในปี 2010 และผนวก Cadbury เข้าไปเป็นบริษัทลูกของ Kraft ซึ่งถือเป็นการปิดฉากตระกูล Cadbury ในธุรกิจช็อกโกแลตที่ดำเนินมาเกือบ 200 ปี และส่งผ่านธุรกิจมาถึงทายาทรุ่นที่ 4

สาธารณชนในอังกฤษมีปฏิกิริยาต่อต้านการทุ่มซื้อกิจการครั้งนี้อย่างรุนแรง จนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะ Kraft เป็นธุรกิจต่างชาติจากอเมริกา ส่วน Cadbury เป็นธุรกิจครอบครัวสัญชาติอังกฤษที่ขึ้นชื่อเรื่องความเอาใจใส่ Stakeholders และกิจการสาธารณกุศลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาร้อยกว่าปี

ทุนนิยมเพื่อสังคม

หากย้อนหลังกลับไป John Cadbury ผู้ก่อตั้งธุรกิจในรุ่น 1 ได้ยึดหลักการทำธุรกิจในระบบทุนนิยมที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของ Stakeholders ซึ่งทายาทก็ซึมซับแนวคิดนี้สืบต่อกันมาทุกรุ่น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ Richard กับ George ทายาทรุ่นสองตัดสินใจย้ายโรงงานออกจากชุมชนแออัดในเมืองไปสร้างนิคมชื่อ Bournville นอกเมือง Birmingham ในปี 1879 ซึ่งต่อมา George ได้ออกเงินส่วนตัวซื้อที่ดินใกล้ ๆ โรงงานพัฒนาเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนงานให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและถูกสุขลักษณะ

Cadbury ธุรกิจครอบครัวที่มีแนวคิด ESG มากว่า 100 ปี ก่อนเป็นกระแสหลักของธุรกิจทั่วโลก
ภาพ : SWNS
Cadbury ธุรกิจครอบครัวที่มีแนวคิด ESG มากว่า 100 ปี ก่อนเป็นกระแสหลักของธุรกิจทั่วโลก
ภาพ : Birmingham Mail

Bournville ถือเป็นแบบอย่างของทุนนิยมเพื่อสังคม (Social Capitalism) ให้กับนักธุรกิจอื่น ๆ เช่น Milton Hershey ผู้ก่อตั้งบริษัทช็อกโกแลต Hershey ได้นำแบบอย่างนี้ไปสร้างนิคมคล้าย ๆ กันที่มลรัฐ Pennsylvania ในสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ Richard กับ George ยังเพิ่มค่าจ้างให้คนงานผู้หญิง 3 เท่า จัดระบบเรื่องการลาป่วย และให้การศึกษากับลูกจ้าง รวมถึงต่อต้านการใช้แรงงานเด็กอีกด้วย

เรียกได้ว่า Cadbury เป็นผู้นำเรื่อง Corporate Social Responsibility (CSR) และเรื่อง Environmental, Social, and Governance (ESG) ก่อนที่ประเด็นเหล่านี้จะกลายมาเป็นกระแสหลักของการประกอบธุรกิจมากกว่าร้อยปีเลยทีเดียว

ส่วนทายาทรุ่นสาม Barrow Cadbury ลูกชายคนโตของ Richard และ Edward Cadbury ลูกชายคนโตของ George ก็ต่างตั้งมูลนิธิของตนเองเพื่องานสาธารณกุศล

ถึงแม้ว่าต่อมาในช่วงทศวรรษ 2000 ผู้บริหารจะเป็นคนนอกครอบครัว ไม่ได้เป็นสมาชิกครอบครัวอีกต่อไปแล้ว แต่คุณค่าที่ยึดมั่นในครอบครัวของตระกูลยังคงอยู่ในการดำเนินกิจการของบริษัท เช่น กำไรของธุรกิจ 1% ก่อนหักภาษีจะใช้จ่ายไปในโครงการเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน

ในปี 2008 หรือเพียงไม่ถึง 2 ปีก่อนที่ Kraft จะเข้ามาทุ่มซื้อกิจการ Cadbury ได้ประกาศแผนการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงก่อตั้ง Cadbury Cocoa Partnership โดยสัญญาที่จะบริจาคเงินถึง 44 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวสวนโกโก้ขนาดเล็กในกานา อินเดีย อินโดนีเซีย และหมู่เกาะแคริบเบียน

จากตัวอย่างเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนอังกฤษจะมีปฏิกิริยาต่อต้านการเข้าซื้อกิจการของ Kraft ในปี 2010

The Cadbury Report

สมาชิกสำคัญอีกคนหนึ่งของตระกูลที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล คือ Adrian Cadbury ทายาทรุ่นสี่ หลานของปู่ George ผู้ก้าวมาเป็นประธานบริษัทในปี1965 ด้วยวัยเพียง 36 ปี และอยู่ในตำแหน่งถึง 24 ปีก่อนที่จะวางมือและส่งต่อธุรกิจครอบครัว Cadbury ให้แก่ Dominic น้องชายของเขาที่รับช่วงบริหารกิจการครอบครัวต่อมาจนถึงปี 2002

Cadbury ธุรกิจครอบครัวที่มีแนวคิด ESG มากว่า 100 ปี ก่อนเป็นกระแสหลักของธุรกิจทั่วโลก
ภาพ : Ben Smith/REX Shutterstock

Adrian ได้รับแต่งตั้งให้เป็น Sir Adrian Cadbury ในปี 1977 และเป็นนักธุรกิจชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เช่นเดียวกับบรรพบุรุษรุ่นก่อน ๆ ของตระกูล หลังวางมือจากการบริหารบริษัทแล้ว Sir Adrian ได้รับการแต่งตั้งโดย London Stock Exchange ให้เป็นประธานของคณะกรรมการว่าด้วยประเด็นทางการเงินของบรรษัทภิบาล (The Committee on the Financial Aspects of Corporate Governance)

คณะกรรมการชุดนี้รู้จักกันในชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ‘The Cadbury Committee’ ตามชื่อของ Sir Adrian ที่เป็นประธานและมีอิทธิพลอย่างมากต่อการปฏิรูปการประกอบธุรกิจในโลกสมัยใหม่

รายงานของคณะกรรมการที่เรียกกันว่า The Cadbury Report และเผยแพร่ในปี1992 นั้น ได้นำเสนอแนวทางในการประกอบกิจการแบบมีบรรษัทภิบาลได้เป็นรากฐานของการปฏิรูปบรรษัทภิบาลของธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการคณะกรรมการบริษัทและการจัดทำบัญชี เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดธรรมาภิบาลของธุรกิจ

Cadbury จึงเป็นครอบครัวที่ถึงแม้จะไม่ได้บริหารธุรกิจของตนเองอีกต่อไปแล้ว แต่ได้มอบมรดกสำคัญไว้ให้กับวงการธุรกิจทั่วโลก ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้นำที่วางรากฐานเรื่องการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาลมากว่าร้อยปี ซึ่งกลายเป็นกระแสหลักของการดำเนินธุรกิจทั่วโลกในปัจจุบัน

ข้อมูลอ้างอิง 

https://en.m.wikipedia.org/wiki/History_of_Cadbury

www.cadburyworld.co.uk/schoolandgroups/~/media/CadburyWorld/en/Files/Pdf/factsheet-cadbury-family

www.reuters.com/article/cocoa-ghana-cadbury-idUKL2863128120080128

www.theguardian.com/business/2015/sep/06/sir-adrian-cadbury

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต