หากพลิกดูด้านหลังฉลากช็อกโกแลตบาร์รสขมเข้ม ซองเครื่องดื่มโกโก้ไซส์พอดีชง หรือเครื่องประทินผิวจาก Cacao Butter เรามักเห็นชื่อ เอกวาดอร์ หนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกโกโก้ที่ใหญ่และสำคัญของทวีปอเมริกาใต้ เป็นรองก็แต่โกตดิวัวร์กับกานาแห่งแอฟริกาตะวันตก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เอกวาดอร์มีศักยภาพในการผลิตโกโก้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องราว 340,000 ตัน ต่อปี

หากถามถึงการเดินทางสู่การเป็นเมืองช็อกโกแลต ก็ต้องเล่าย้อนไปปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อ Guayaquil กลายเป็นท่าเรือโกโก้แรกของโลก เมืองรอบ ๆ Guayas อย่าง Los Rios, Manabi, Esmeraldas และ El Oro จึงกลายเป็นแหล่งปลูกโกโก้ชั้นยอด

คำถามต่อมา เมื่อผลิตและส่งออกโกโก้มากมายขนาดนั้น ขยะหรือของเสียที่มาจากกระบวนการผลิตและแปรรูปจะมหาศาลแค่ไหน แล้วพวกเขาหาทางไปต่ออย่างไรให้กับมัน

นี่คือคอลัมน์หมู่บ้าน ฉะนั้นคุณคงเดาไม่ผิดว่า ก็เอาไปสร้างบ้านเลยสิ!

Cacao Eco Village

ไอเดียหมู่บ้านจากขยะโกโก้แห่งนี้มาจาก Valentino Gareri Atelier บริษัทออกแบบแห่งเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียและนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผู้ฝันจะใช้สถาปัตยกรรมสร้างอิมแพคเพื่อโลกที่ดีกว่า ร่วมมือกับโรงงานช็อกโกแลต MUZE Cacao และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Avanti ซึ่งทำโครงการนวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ชนบทและในเมืองเอกวาดอร์ พวกเขาตั้งใจทำให้ที่นี่เป็นเครือข่ายแรกของโลกในเรื่องหมู่บ้านที่ยั่งยืนและอัจฉริยะ เมืองแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และศูนย์นวัตกรรมสำหรับการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมโกโก้

เมื่อเอกวาดอร์สร้างหมู่บ้านสีสด ‘Cacao Eco Village’ จากขยะในอุตสาหกรรมโกโก้

Cacao Eco Village จะได้รับการสร้างขึ้นภายในปี 2022 ใน Pedernales เมืองชายฝั่งของ Manabi ที่เกษตรกรและครอบครัวหรือผู้ที่อยู่ในแวดล้อมอุตสาหกรรมการผลิตโกโก้อาศัยและทำงานอยู่ ซึ่งเมืองกลางโลกนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องชายหาดแบบพาโนรามาที่ยังไม่ถูกทำลาย อากาศดีตลอดปี เป็นแหล่งโบราณคดี คติชนวิทยา และประเพณีการทำอาหารอันโดดเด่น

สำหรับเป้าหมายหลักที่ทั้ง 3 วางไว้ให้แก่เมืองนี้ คือ เป็นพื้นที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากโกโก้ตามหลักจริยธรรมใหม่ ๆ ที่โปร่งใส ตรวจสอบย้อนกลับได้สูง ชดเชย Carbon Footprint ในขณะเดียวกันก็ช่วยเกษตรกรและครอบครัวให้พ้นจากความยากจน ปัญหาการถูกกดขี่ และบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก นั่นจึงไม่ใช่แค่การสร้างที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานร่วมกัน ยังรวมถึงโรงงานผลิตและแปรรูปโกโก้ สถานที่ศึกษาและวิจัยการผลิตด้วย

Valentino Gareri ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบเล่าว่า หลังจากได้ผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนไปมาก ทำให้เขาเข้าใจหลักการของมันอย่างแท้จริง กากของเสียจากการผลิต จะไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นเพียงทรัพยากรเท่านั้น แต่จะเป็นตัวสถาปัตยกรรมด้วยการขึ้นรูป 3D Printing แล้วนำมาสร้างอาคาร ซึ่งในอนาคตอันใกล้ เขาจะออกแบบอาคารที่ทำจากวัสดุธรรมชาติทั้งหมด และรีไซเคิลได้เมื่อสิ้นสุดวงจรชีวิต เพื่อนำไปสร้างอาคารใหม่หรือทำให้วัสดุเหล่านั้นกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อเอกวาดอร์สร้างหมู่บ้านสีสด ‘Cacao Eco Village’ จากขยะในอุตสาหกรรมโกโก้

5 Sustainable Architectural Design

เบื้องหลังแนวทางออกแบบหมู่บ้านโกโก้อย่างยั่งยืนมีอยู่ 5 หลักการ ได้แก่ Modular, Functional, Sustainable, Tech-enabled และ Connected 

อย่างแรกคือ Modular ต้องขยายได้ จำลองได้ และปรับให้เข้ากับพื้นที่ ขนาด และรูปทรงต่าง ๆ ได้ เจ้าโมดูลาร์นี้ประกอบด้วย 3 รูปแบบโครงสร้าง ซึ่งทำให้ก่อสร้างได้เร็ว พร้อมลดต้นทุน

เมื่อเอกวาดอร์สร้างหมู่บ้านสีสด ‘Cacao Eco Village’ จากขยะในอุตสาหกรรมโกโก้

ต่อมาคือ Functional หมู่บ้านจะเป็นทั้งโรงงานแปรรูปโกโก้ โรงงานช็อกโกแลต ศูนย์การศึกษาและวิจัย Co-living, Co-working เป็นศูนย์กลางการสร้างวัฒนธรรมและจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างใส่ใจ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น 

สำหรับความยั่งยืน ที่นี่จะเป็นหมู่บ้านแห่งความพอเพียงด้านพลังงาน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก และออกแบบอาคารเพื่อรองรับการเก็บน้ำฝน โดยรวมถังเก็บน้ำเข้ากับหลังคา ซึ่งรูปทรงนั้นก็ได้รับแรงบันดาลใจจากแพตเทิร์นศิลปะดั้งเดิมของชาวเอกวาดอร์

เมื่อเอกวาดอร์สร้างหมู่บ้านสีสด ‘Cacao Eco Village’ จากขยะในอุตสาหกรรมโกโก้
เมื่อเอกวาดอร์สร้างหมู่บ้านสีสด ‘Cacao Eco Village’ จากขยะในอุตสาหกรรมโกโก้

นอกจากนี้ยังสร้างอาคารให้มีการระบายอากาศตามธรรมชาติและใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ไม้ซุง และที่น่าจับตา คือ โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่ขึ้นรูป 3D Printed ด้วยเส้นใยชีวภาพจากของเสียจากเปลือกโกโก้ ปัจจุบันมีของเสียจากการผลิตและแปรรูปโกโก้เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 80 เลยทีเดียว 

ขออธิบายเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เส้นใยชีวภาพหรือ Bio Filaments นี้ โดยทั่วไปทำมาจากพลาสติกชีวภาพ ที่ได้จากแหล่งชีวมวลหมุนเวียน เช่น น้ำมันพืชและไขมัน พลาสติกเหล่านี้ไม่ได้ผลิตจากผลพลอยได้ทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังผลิตจากพลาสติกแบบดั้งเดิมที่ย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ด้วย

 เปลี่ยนเศษขยะจากอุตสาหกรรมโกโก้ เป็นทรัพยากรและวัสดุสร้างหมู่บ้านให้ชาวมานาบี เมืองชายฝั่งทะเลของเอกวาดอร์

แม้จะเป็นหมู่บ้านแห่งความยั่งยืน แต่ก็ปรับตัวเข้ากับโลกาภิวัตน์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Blockchain, IOT และ NFTs ผนึกเข้าไป โดยหมายมั่นปั้นมือจะเป็น ‘Silicon Valley*’ สำหรับนวัตกร ผู้คิดค้นนวัตกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นพื้นที่สำหรับนวัตกรรม AgTech, FinTech, FoodTech, Startups และบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จนถึงผู้ผลิตและนักวิจัยด้วย

(*Silicon Valley เป็นภูมิภาคในแคลิฟอร์เนียเหนือ บริเวณทางใต้อ่าวแคลิฟอร์เนีย เป็นที่ตั้งของบริษัทไฮเทคมากที่สุดของโลก จึงที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโลกเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรม ในที่นี้ ซิลิคอนแวลลีย์เลยใช้เรียกพื้นที่มีอัตราคนทำงานไฮเทคสูงสุดในเมืองต่าง ๆ บนโลก)

สุดท้ายพวกเขาหมายใจว่าที่นี่จะเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้และรับแรงบันดาลใจ ตลอดจนจุดประกายการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact) ขึ้นมา และไม่ลืมเชื่อมต่อชุมชนใหม่ให้กลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นเดียวกับเปลือกอาคารสีสันสดสวยที่เบื้องหน้าเทควิวชายฝั่งสุดลูกหูลูกตา ซึ่ง Valentino Gareri นำแรงบันดาลใจมาจากบ้านของชาวเอกวาดอร์และจากต้นโกโก้ ซึ่งมีหลากสีสันเหมือนกัน

 เปลี่ยนเศษขยะจากอุตสาหกรรมโกโก้ เป็นทรัพยากรและวัสดุสร้างหมู่บ้านให้ชาวมานาบี เมืองชายฝั่งทะเลของเอกวาดอร์

Reducing Environmental Footprint

อย่างที่ได้เกริ่นไปถึงเรื่องการเป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ และได้รับการวางแผนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเคารพสิ่งแวดล้อมและผู้คน เขาจึงวางเครือข่ายเส้นทางจักรยานขนาดใหญ่เอาไว้ พร้อมถนนคนเดิน กระตุ้นให้ผู้มาเยือนและผู้อยู่อาศัยได้สัมผัสกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ผ่านจักรยานหรือเดินเท้า

 เปลี่ยนเศษขยะจากอุตสาหกรรมโกโก้ เป็นทรัพยากรและวัสดุสร้างหมู่บ้านให้ชาวมานาบี เมืองชายฝั่งทะเลของเอกวาดอร์

และเพื่อให้ Cacao Eco Village เป็นเมืองที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ก็เลยเน้นให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วทั้งชุมชน และอนุญาตให้รถยนต์หรือรถบรรทุกขับได้เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดรอบโรงงานเท่านั้น

“หมู่บ้านแห่งนี้จะกลายเป็นวิธีแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของอุตสาหกรรมโกโก้อย่างยั่งยืน โดยใช้แบบจำลองเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นโซลูชันที่สร้างสรรค์ในการลดรอยเท้าทางสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ลดการพึ่งพาทรัพยากร และลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด” เจ้าของบริษัทสถาปัตยกรรมกล่าว

น่าดีใจเหลือเกินที่ได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการจัดการขยะอุตสาหกรรม และทำให้ยังกลมกลืนไปกับบริบทรอบด้าน หากในอนาคตก็อยากเห็นหมู่บ้านที่มีแนวคิดหรือนวัตกรรมเจ๋ง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศเราบ้าง เผื่อมันจะน่าอยู่ขึ้นอีกไม่มากก็น้อย

ภาพ : Valentino Gareri Atelier

ที่มาข้อมูล : 

valentinogareri.com

avanti.ec/about-cacao-ecovillage

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)