หนึ่งในโปรเจกต์ที่กระแสดีตั้งแต่ประกาศสร้างจนถึงช่วงซีรีส์พรีเมียร์คือ Cabinet of Curiosities ซีรีส์แนวลึกลับสยองขวัญ 8 เอพิโซด 8 เรื่องสั้นของ Netflix ที่สรรสร้างและคัดสรรโดยผู้สร้าง Guillermo del Toro จาก Shape of Water และ Hellboy ด้วยตัวเอง ทั้งเรื่องราวภายในตู้ลับกับผู้ถ่ายทอดเรื่องราวหรือผู้กำกับแต่ละเรื่อง

Cabinet of Curiosities เป็นอีกหนึ่งแพสชันโปรเจกต์ของผู้กำกับคนนี้ที่รอคอยมาตลอดเลยครับ ความคลั่งไคล้เรื่องสยองขวัญของผู้กำกับชื่อดัง ทำให้เขาหาอ่านหาดูทั้งเรื่องสั้น หนัง ซีรีส์ จนได้ค้นพบว่ามีเรื่องราวดี ๆ มากมายรอให้ดัดแปลงเป็นฉบับคนแสดงอยู่ และในขณะเดียวกันยุคสมัยใหม่นี้ ผู้กำกับหลายคนมีของและน่าดึงตัวมาให้พวกเขาได้ปล่อยของสักหน่อย 

เรื่องนี้จึงเป็นซีรีส์ที่โชว์ทั้งเรื่องสยองหลากหลายรสชาติและเนื้อหา และยังเป็นเวทีปล่อยของของผู้กำกับหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Guillermo Navarro ผู้กำกับซีรีส์ Narcos, Vincenzo Natali ผู้กำกับ Cube กับ Splice, Jennifer Kent ผู้กำกับ The Babadook และอีกมากหน้าหลายตา ด้วยการดัดแปลงเรื่องราวที่มีตั้งแต่คลาสสิกปี 1900 เรื่องสั้นของกีเยร์โม เดล โตโร เอง ไปจนถึงเรื่องราวของปรมจารย์สยองขวัญ H.P. Lovecraft ส่วนนักแสดงก็มีตั้งแต่สุดคุ้นหน้าไปจนถึงหน้าไม่คุ้น

**บทความต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของซีรีส์**

Cabinet of Curiosities เปิดตู้ลับพิศวง ชมซีรีส์สยองขวัญจากผู้สร้าง Guillermo del Toro

Cabinet of Curiosities เป็นชื่อเรียกตู้สะสมสิ่งของและวัตถุที่มีเรื่องราว มีที่มาหลากหลาย ตั้งแต่ของสะสมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ของสะสมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือประวัติศาสตร์ ของสะสมประเภทงานศิลปะ จนถึงของสะสมที่มีประวัติอันน่าสนใจ ประหลาด น่าทึ่ง บิดเบี้ยว ไปจนถึงสยองขวัญ (เสิร์ชคำนี้ในกูเกิล ก็จะพบว่ากูเกิลเองก็เป็น Cabinet of Curiosities รูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน) และมันยังเป็นชื่อหนังสือที่ เดล โตโร เขียนเกี่ยวกับของสะสมและความชื่นชอบส่วนตัวของตัวเอง รวมถึงเป็นคำจำกัดความบ้านที่เต็มไปด้วยของสะสมเหล่านี้จำนวนมากอีกด้วยครับ

รายการหนึ่งของ Nerdist ทำคลิปพาไปดูบ้านกีเยร์โม เดล โตโร ที่ L.A. นอกจากจะพบว่าบ้านทั้งหลังของเขาคือตู้ลับสุดหลอนอันฟุ้งไปด้วยกลิ่นของความโกธิกและพิศวงแล้ว บ้านหลังนี้ยังมีรูปปั้นของ H.P. Lovecraft ตั้งอยู่ ซึ่งพอจะบอกได้ว่าเขาเป็น FC ตัวยงงานของ Lovecraft แค่ไหน

ก่อนหน้าที่จะเป็น Cabinet of Curiosities เดล โตโร เคยต้องการสร้างหนังที่คล้ายคลึงกับซีรีส์เรื่องนี้ ชื่อว่า At The Mountains of Madness ดัดแปลงจากนิยายสั้นของ H.P. Lovecraft แต่ด้วยเนื้อหาและคอนเซ็ปต์ที่ค่อนข้างสยอง เลือดสาด แถมยังเรต R อีก ทำให้โปรเจกต์หนังเรื่องนี้ย้ายบ้านอยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายไม่ได้สร้าง 

จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่นักที่ Cabinet of Curiosities อุดมไปด้วยเรื่องราวที่มีทั้งความ Lovecraftian Horror และเต็มไปด้วยเรื่องราวสยองขวัญลึกลับแนว Gothic ตามสไตล์ถนัดของกีเยร์โม ผสมแนว Grand Guignol (อ่านว่า แกรนด์ กีญอล) หรือแนวที่บอกเล่าเรื่องราวเทา ๆ ของตัวละครที่ทำไม่ถูกศีลธรรม และมีการฆ่ากันตายเกิดขึ้น โดยเรื่องราวเหล่านี้ใช้อิสระและทุนสร้างมหาศาลจาก Netflix บอกเล่าในรูปแบบเรต R ถ่ายทอดความบ้าคลั่งสุดขีดเหนือจินตนาการในแบบที่กีเยร์โม เดล โตโร เคยต้องการบอกเล่าในหนังที่ไม่ได้สร้าง

Cabinet of Curiosities เปิดตู้ลับพิศวง ชมซีรีส์สยองขวัญจากผู้สร้าง Guillermo del Toro

รูปแบบการนำเสนอของ Cabinet of Curiosities คือแนว Anthology เป็นเรื่องราวจบในตอน โดยแต่ละเอพิโซด กีเยร์โมรับหน้าที่เป็นโฮสต์เดินออกมาเปิดตู้แนะนำให้คนดู ว่าเรื่องราวที่เรากำลังจะได้รับชมเกี่ยวกับอะไร ใครกำกับ พร้อมกับวางสิ่งที่หยิบออกมาจากตู้พร้อมรูปปั้นผู้กำกับอีพีนั้น ๆ หรือเรียกได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ค่อนข้างมีสไตล์คล้ายคลึงกับ The Alfred Hitchcock Hour หรือ The Twilight Zone ประมาณหนึ่งเลยครับ 

แต่ถึงอย่างนั้น ลายเซ็นของผู้สร้างคนนี้ก็ยังชัด (แม้ใช้ผู้กำกับต่างกันถึง 8 คน ทั้งยังปล่อยให้ทุกคนมีอิสระในการเป็นตัวเองให้มากที่สุด อยากเล่าแบบไหนเล่า อยากทำแบบไหนทำ) ตรงที่ทุกเรื่องมีความพิศวงอันมืดมิด ทำให้สองจิตสองใจว่าควรเดินเข้าไปหรือถอยห่างออกมาดี จึงกลายเป็นคนดูขอยืนดูในโซนริมประตูอย่างกล้า ๆ กลัว ๆ ไปก่อนแล้วกัน รู้ตัวอีกทีก็โดนดึงเข้าไปสู่ความมืดมิดนั่นแล้ว

อีกสิ่งที่มีความเป็น The Twilight Zone คือต่อให้บอกเรื่องย่อแล้ว ทุกเอพิโซดก็ยังน่าพิศวงและเป็นเรื่องราวที่หลากหลายตั้งแต่ติดดินจนถึงหลุดโลกครับ นั่นเลยทำให้หนึ่งในโปรดิวเซอร์มั่นใจว่า นี่จะเป็นซีรีส์สำหรับทุกคน และการเป็นเรื่องสั้นจบในตอนเช่นนี้ คนดูน่าจะเจอเรื่องราวที่ถูกจริตตัวเองบ้างล่ะ 

ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบของวัตถุดิบ ไดอะล็อก นักแสดง ฉาก เรื่องราว วิสัยทัศน์ผู้กำกับ หรือความน่ากลัวที่แตกต่างระดับกันออกไป ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ Cabinet of Curiosities เป็นซีรีส์ที่นอกจากจะคละรสชาติแล้ว ยังคละคุณภาพอีกด้วย การจะถูกใจซีรีส์เรื่องนี้จึงมีตั้งแต่องค์ประกอบในแต่ละอีพี จนถึงชอบทั้งอีพีในบรรดาทั้งหมด 8 อีพี

Cabinet of Curiosities เปิดตู้ลับพิศวง ชมซีรีส์สยองขวัญจากผู้สร้าง Guillermo del Toro

แม้ Cabinet of Curiosities ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ H.P. Lovecraft เพียงแค่ 2 เรื่อง คือ Pickman’s Model กับ Dreams in the Witch House แต่หลาย ๆ อีพีมีความ Lovecraftian สูง ชนิดที่ถ้าไม่บอกว่าใครเป็นคนเขียนเรื่องต้นฉบับ เราจะนึกว่าทั้ง Lot 36, The Viewing โดยเฉพาะอีพี The Autopsy 

ฉะนั้นคงต้องบอกว่านี่คงเป็นซีรีส์ที่น่าจะถูกอกถูกใจหรือทำให้แฟน ๆ ผลงาน Lovecraft หันขวับมาสนใจได้ไม่น้อยเลยครับ 

ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตต่างดาว หนวดปลาหมึก ความกลัวจนถึงก้นบึ้งของจิตใจ จนถึงความกลัวที่ทำตัวละครไม่ตายก็สติแตกเป็นบ้าต้องควักลูกตา กับตอนจบที่ไม่สวยหรู แต่ดูแล้วจดจำความสยองเหล่านั้นได้ไม่ลืม 

พอดูจบ ถึงแม้ Cabinet of Curiosities จะไม่ได้ทำออกมาได้ดีทุกอีพี หรือที่จริงต้องใช้คำว่าอีพีที่ทำภาพรวมออกมาได้ขั้นยอดเยี่ยมจะมีไม่มากเท่าไหร่นัก อย่างน้อย ๆ ก็ถูกจัดอยู่ในลิสต์ ‘ผลงานที่อยากแนะนำให้คุณดู หากชอบงาน Lovecraft’ ไปโดยอัตโนมัติไปแล้ว 

Cabinet of Curiosities เปิดตู้ลับพิศวง ชมซีรีส์สยองขวัญจากผู้สร้าง Guillermo del Toro

ซีรีส์เรื่องนี้ผสมผสานไปด้วยเอฟเฟกต์ทำมืออย่าง Animatronic หุ่นหนูยักษ์ กับมนุษย์ครีมทาผิว และทั้งใช้ Visual Effects หรือ CGI ซึ่งถึงแม้จะมีจุดขัดหูขัดตาไปบ้าง แต่ก็เป็นการ Pay Tribute ให้กับเรื่องเล่าคลาสสิกที่ถูกเอามาตีความอีกทอดด้วยการทำหนังสยองขวัญแบบคลาสสิก ตามสไตล์ของผู้สร้างหรือผู้กำกับคนนี้

ส่วนสาเหตุที่มีความเป็นกีเยร์โม เดล โตโร เช่นนี้ แม้ใช้ระบบผู้กำกับหลายคน ก็เพราะ Chet Hirsch ผู้กำกับศิลป์ซีรีส์ Cabinet of Curiosities เล่าว่าเขากับเดล โตโร อ่านเรื่องสั้นและนิยายแนว ๆ เดียวกันครับ ทั้งสองคนจึงค่อนข้างเห็นภาพตรงกัน เรื่องการสร้างสรรค์งานอาร์ตเลยแทบไม่ต้องพูดกันเยอะ 

Cabinet of Curiosities เปิดตู้ลับพิศวง ชมซีรีส์สยองขวัญจากผู้สร้าง Guillermo del Toro

ว่าด้วยเรื่องของทั้ง 8 อีพี แต่ละเรื่องนับว่ามีความน่าสนใจในแบบของตัวเอง 

ขอเริ่มจากอีพีที่ถูกใจที่สุดอย่าง The Autopsy (อีพีที่ดูจบแล้วงงว่า นี่ไม่ใช่งานของ Lovecraft หรอกเหรอ) เล่าเรื่องราวของเอเลี่ยนผู้บุกยืดร่างมนุษย์ปะทะหมอผ่าตัดชันสูตร นอกจากมีทุกองค์ประกอบที่กล่าวไป ยังเป็นอีพีที่ทั้งมีความ Lovecraftian ทั้งหลายแหล่ ผสม Reverse-Lovecraftian ในตัว ตรงที่ตัวเอกเผชิญกับความกลัว แต่กลับเลือกหาทางออกอย่างฮีโร่และจบชีวิตแบบเท่ ๆ

สิ่งที่น่าสนใจในอีพีนี้นอกจากเป็นบทสรุปแล้ว คือการดำเนินเรื่องที่สร้างความกลัวจากทั้งสองฝั่งด้วยบทสนทนาอย่างชาญฉลาด ลุ้นระทึก น่าจดจำ เป็นอีพีที่ใช้สถานที่เดียว (ห้องเก็บศพ) ในการเล่าเรื่องที่มีเดิมพันสูง และเกี่ยวข้องกับสเกลที่ใหญ่กว่านั้นได้อย่างเห็นภาพ และการมอบความสยองให้คนดูด้วยภาพก็ทำได้ดีมีชั้นเชิงไม่แพ้กัน ทั้งบรรยากาศเงียบสงัด การเมคอัพศพ และการที่ตัวละครต้องนอนนิ่งก็เป็นเหมือนการมัดคนดูให้รู้สึกกลัวและขยับไม่ได้ตามไปด้วย

The Autopsy จึงเป็นอีพีที่สอบผ่านทุก ๆ ด้าน ใช้เวลาราว ๆ 1 ชั่วโมงได้อย่างคุ้มค่า ถือเป็นตัวชูโรงของซีรีส์ Cabinet of Curiosities เลยก็ว่าได้ครับ

Cabinet of Curiosities เปิดตู้ลับพิศวง ชมซีรีส์สยองขวัญจากผู้สร้าง Guillermo del Toro

มาที่ Lot 36, Graveyard Rats กับ The Viewing เป็นกลุ่มของ 3 อีพีที่ขายความน่ากลัวได้อย่างตราตรึง และเป็น 3 เรื่องที่เน้นความสยองแบบสั้นได้ใจความ เล่นกับอารมณ์คนดูระหว่างทางอย่างได้ผล ด้วยสถานที่แคบและใช้สถานที่ไม่มาก ว่าด้วยเรื่องของการเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ค้นพบและไปปลุกความสยดสยองให้ตื่นขึ้นมา ทั้งปลุกปีศาจ ปลุกสิ่งมีชีวิตต่างดาว และนำตัวเองไปเผชิญหน้ากับหนูยักษ์ในโลกคนตาย แม้ตัวเองเป็นคนเป็น

พูดง่าย ๆ คือเป็น 3 เรื่องราวของการ ‘รนหาที่’ เราติดตามตัวละครเอกสีเทาที่พาตัวเองไปสะบักสะบอมจนเสียชีวิต เพราะไปแตะต้องสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรเข้า และยังเป็น 3 อีพีที่ใจหนึ่งเราเชียร์ตัวเอง แต่ใจหนึ่งก็ได้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์ของคน ความดิ้นรนมีชีวิตที่นำไปสู่การจบชีวิต กับความละโมบโลภมาก แสวงหาอะไรที่เกินตัว ผ่านตัวเอกที่รับซื้อของเก่า ตัวเอกที่ปล้นศพ และกลุ่มตัวละครที่อยากรู้อยากเห็นจนได้เรื่อง

เปิดตู้หลอน ชมความสยองขวัญสั่นประสาทในซีรีส์พิศวง 8 ตอนเต็ม ๆ โดยผู้สร้างที่รักความลึกลับ Guillermo del Toro

ซึ่งพูดถึงการทำอะไร ‘เกินตัว’ ก็ถือโอกาสโยงไปถึงอีกหนึ่งอีพีที่ตัวเอกมีตัวเลือกเช่นกันว่า จะเดินไปสู่หนทางมืดมิดหรือไม่ แต่ดูมี Safe Zone และทางเลือกมากกว่าตอนอื่น ๆ คืออีพี ‘The Outside’

The Outside พูดถึงการมีชีวิตอยู่ในฐานะสิ่งมีชีวิตในสังคมและระบบทุนนิยมได้อย่างน่าสนใจ แม้สไตล์การนำเสนอจะประหลาดพิลึก ด้วยการแสดงที่ผิดเพี้ยน กับการใช้เลนส์ที่ทำให้ภาพมีสัดส่วนผิดปกติ และบางฉากที่มีความเหนือจริง อย่างฉากทีวีพูดกับตัวเอก หรือฉากตัวเอกลอยได้ ทั้งหมดราวกับต้องการนำเสนอความบิดเบี้ยวของสังคมนี้ในเชิงสัญญะ และแสดงให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราตามกระแสไปกับสังคมที่นิยมความสวยงามและให้ค่าที่เปลือกนอก 

ความรู้สึกดูไปอึดอัดไปจากทั้งการแสดง จังหวะการเคลื่อนไหว และบทสนทนา เชื่อว่าเป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการขับเน้นใจความของเอพิโซดนี้

The Outside ยังเป็นอีพีที่ตั้งคำถามถึงความปกติกับผิดปกติอย่างน่าสนใจผ่าน 2 อย่าง คือทีวีพูดกับคนดูได้ ซึ่งมีความคลุมเครือระหว่างเป็นเรื่องจริงกับเรื่องหลอนไปเอง คิดไปเอง เหมือนที่ไม่มีใครต่อว่าหรือด้อยค่าตัวเองนอกจากตัวเอง จนกระทั่งสุดท้ายตัวเอกที่เอาตัวเองไปเจ็บจากการทาครีมจนผิวแสบได้หลอมรวมกับมนุษย์ครีมจนเธอดูดีขึ้น ถึงอย่างนั้นเธอก็ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก และสภาพที่เปลี่ยนไปยังเป็นสิ่งที่ต่อให้ไม่มีครีม ก็ดูแลตัวเองจนดูดีขึ้นเองได้อย่างดัดฟัน แต่งหน้า ทำผม แต่งตัว 

สุดท้ายแล้วแทนที่จะดูแลตัวเองและพอใจกับสามีหรือคนในบ้าน (ตัวแทนของ Inside) ที่รักเธอในแบบที่เธอเป็น เธอกลับพึงพอใจที่จะใช้ชีวิตแบบด้านนอก เพื่อคนข้างนอก ด้วยเปลือกนอก (Outside) และชีวิตเต็มไปด้วยบทสนทนาไร้แก่นสาร นี่เป็นอีพีที่ถึงแม้ความบันเทิงและสยองจะสู้อีพีอื่น ๆ ไม่ได้ แต่ก็นำเสนออย่างจิกกัดด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไป รวมถึงมีทั้งสีสันสดใสเกินจริงและมีเลือดสาดในเวลาเดียวกันครับ

เปิดตู้หลอน ชมความสยองขวัญสั่นประสาทในซีรีส์พิศวง 8 ตอนเต็ม ๆ โดยผู้สร้างที่รักความลึกลับ Guillermo del Toro

ขยับมาอีกหน่อย คือ Pickman’s Model กับ Dreams in the Witch House เป็น 2 อีพีที่เล่นกับความน่ากลัวก้นบึ้งจิตใจได้ดี แม้ก่อนหน้านี้จะบอกว่าแยกไม่ออกว่าเรื่องไหน H.P. Lovecraft เป็นผู้ประพันธ์หรือไม่ แต่การจับคู่ 2 เรื่องนี้ที่มาจากความบังเอิญ ก็พอจะบอกได้แล้วว่าแก่นความน่ากลัวสไตล์​ Lovecraft มีอิทธิพลชัดเจนขนาดไหน

Pickman’s Model พูดถึงความมั่นอกมั่นใจของตัวเอกที่ชื่อ Will Thurber เขามีทุกอย่าง ทั้งภรรยาสาวสวย ลูกสาวน่ารัก ผลงาน แกลเลอรี่ภาพ และบ้านหลังใหญ่โต แต่การที่ก่อนหน้านั้นเขามองภาพวาดของนาย Pickman ที่อาศัยในบ้านแคบ ๆ กลับทำให้เขาหลอนไปตลอดชีวิต และไม่ต้องการเห็นมันอีก อีพีนี้ให้น้ำหนักในเรื่อง ‘ความจริง’ และ ‘ความหลอนไปเอง’ ผ่านการวาดภาพแบบที่เห็นอะไรก็วาดไปตามนั้น 

Will เห็นสิ่งสวยงามทุกอย่างตรงหน้าอย่างชัดเจน แต่เลือกให้ความมืดมามีอิทธิพลต่อใจมากเกินไป ไม่เพียงแต่เขาที่มองเห็นมัน แต่ทุกคนเห็น และคนรอบตัวเห็นมันด้วยเช่นกัน เมื่อเขาโอบอุ้มความมืดแทนที่จะโอบกอดครอบครัว เมื่อนั้นแล้วความมืดมีตัวตนอยู่จริง ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว Pickman จะวาดมันขึ้นมาจากสัตว์ประหลาดที่มาจากมิติอื่นจริงหรือไม่

ความตลกร้ายอยู่ตรงที่ Ben Barnes นักแสดงผู้รับบทนี้เคยรับบทเป็น Logan ในซีรีส์ Westworld ที่มีเพื่อนชื่อ William (ตัวเอกของเรื่อง) ซึ่งเป็นตัวละครประมาณนี้ มีภรรยา ลูก เป็นคนที่แต่งงานกับหญิงมีชาติตระกูลเลยตกถังข้าวสาร แต่ชีวิตและครอบครัวพังเพราะความมืดในใจตัวเอง และเขายังเคยรับบทเป็น Dorian Grey ชายผู้ขายวิญญาณให้ภาพวาดอีกด้วยครับ แต่เรื่องนี้ต้องมาโดนหลอกหลอนด้วยภาพวาดซะเอง

เปิดตู้หลอน ชมความสยองขวัญสั่นประสาทในซีรีส์พิศวง 8 ตอนเต็ม ๆ โดยผู้สร้างที่รักความลึกลับ Guillermo del Toro

Dreams in the Witch House เป็นอีพีที่แม้จะเอื่อยช่วงต้น แต่ก็เพลิดเพลินและพูดถึงความกลัวอันไม่สิ้นสุด เป็นงานของ Lovecraft ที่เอ็นจอยได้ แม้ไม่ได้มีอะไรให้ตีความมากมาย และยังเป็นลายเซ็นที่ชัดแม้ไม่มีหนวดปลาหมึกยั้วเยี้ย เพราะอีพีนี้เต็มไปด้วยองค์ประกอบของการผจญภัย ผสมกับ Dark Fantasy และเกี่ยวข้องกับการท้าทายสิ่งเหนือความเข้าใจ โดยรวมแล้ว แม้จะไม่ใช่อีพีที่ดูแล้วชอบที่สุด แต่ก็ถือว่าสนุกไม่น้อยเลยครับ

เปิดตู้หลอน ชมความสยองขวัญสั่นประสาทในซีรีส์พิศวง 8 ตอนเต็ม ๆ โดยผู้สร้างที่รักความลึกลับ Guillermo del Toro

อีพีสุดท้ายที่อยากพูดถึง คือตอนสุดท้ายของซีซั่นแรก ‘The Murmuring’ ว่าด้วยสองสามีภรรยานักดูนก ซึ่งพบเรื่องสยองที่ผูกโยงกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติในบ้านพักบนเกาะแห่งหนึ่ง คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะพูดว่า The Murmuring เป็น 1 ใน 2 อีพีที่ดีที่สุดของซีรีส์เรื่องนี้ ควบคู่กับ The Autopsy 

The Murmuring มีสไตล์การเล่าเรื่องที่ชวนให้นึกถึงผลงานของ Mike Flanagan ผู้สร้าง The Haunting of Hill House กับ Bly Manor (ที่เพิ่งจะมีผลงานกับ Netflix ล่าสุดเหมือนกันครับ คือ The Midnight Club) การถ่ายทอดความสยองชวนขนลุกขนพองด้วยผี ปรากฏการณ์ หรือความมืดก็ทำได้ดีจังหวะและการกำกับทำให้แข็งแรงแบบออกนอกหน้านอกตาอีพีอื่น ๆ การบอกเล่าสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างความสัมพันธ์ก็ทำได้เด่น บาลานซ์ทั้งความน่ากลัวและการสื่อสารได้อย่างลงตัว 

ภายใต้เปลือกแห่งความสยอง ใจความพูดถึงการเปิดใจยอมรับความเจ็บปวดอย่างลึกซึ้ง (แม้ตอนท้าย ๆ จะรู้สึกว่าเร่งไปบ้างก็ตาม) ผ่านเรื่องของเจ้าของบ้านคนเก่า เป็นบทเรียนสำคัญว่าความสูญสลายมักทำให้เรามองข้ามความสวยงามที่มีอยู่ จนทำให้คนรักหรือสิ่งสวยงามที่เหลือเหี่ยวเฉาตายตามไปด้วย ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว และเคสนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับคู่สามีภรรยานักดูนกในทำนองเดียวกัน ถือเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ดูจบ ไม่เพียงฝากไว้ซึ่งประสบการณ์ ความบันเทิง ความหวาดผวา แต่ยังฝากอะไรให้คิดในใจไปอีกพักใหญ่เลยครับ 

เปิดตู้หลอน ชมความสยองขวัญสั่นประสาทในซีรีส์พิศวง 8 ตอนเต็ม ๆ โดยผู้สร้างที่รักความลึกลับ Guillermo del Toro

แม้บางอีพีโดนบ้าง ไม่โดนบ้าง หรือโดนมาก โดนน้อย บางคนอาจชอบทุกตอน บางคนอาจไม่ชอบเลย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ Cabinet of Curiosities เป็นซีรีส์ที่มาถูกที่ถูกเวลา ในยุคที่ Anthology กำลังบูมตั้งแต่การมาของ American Horror Story และ Black Mirror ซีรีส์เรื่องนี้เป็นการนำเรื่องราวจากฟอร์มการนำเสนอผลงานที่เก่าแก่ที่สุดรูปแบบหนึ่งอย่างหน้ากระดาษ มาดัดแปลงสู่ฟอร์มการนำเสนอผลงานที่มาแรงที่สุดอย่างสตรีมมิ่ง Netflix 

Cabinet of Curiosities เป็นซีรีส์ที่ใคร ๆ ก็น่าจะอยากดู ด้วยชื่อผู้สร้างมือฉมังคนนี้ กับความน่าสนใจด้วยตัวของมันเอง หวังอย่างยิ่งครับว่าจะมีซีซั่น 2 เพราะตู้ใบนี้ดูจะมีของสุดพิศวงและมีที่มาน่าสนใจอีกมากให้ได้บอกเล่า 

ข้อมูลอ้างอิง

www.themill.com

www.theguardian.com

www.nytimes.com

mashable.com

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ