01
อยู่อย่างเรียบง่าย เพื่อแข็งแกร่ง และแบ่งปันได้มากกว่า
เด็กนักเรียนในโซลบอกเราว่า เขาบอบบางเหมือนขนมปังอบกรอบ ที่พร้อมจะแตกเมื่อเปิดซอง แต่เพียงหนึ่งชั่วโมงบินมาที่โรงเรียนเล็กๆ บนเกาะเชจูนี้ เรากับพบว่าเด็กๆ แข็งแกร่งราวกับหินภูเขาไฟ เรามาที่นี่เพราะเห็นภาพโรงเรียนที่เด็กๆ ทำเองจากก้อนหินภูเขาไฟ
Byeopssi School โรงเรียนมัธยมเล็กๆ ในเกาะเชจู เกาหลีใต้
Byeopssi แปลว่า เมล็ดข้าวพื้นเมืองที่แข็งแรงมาก โยนไปตรงไหนก็จะงอก
เด็กๆ กำลังจะจบการศึกษาของภาคเรียนนี้อีกไม่กี่วัน โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำที่อยู่ด้วยกันแบบครอบครัว
คืนแรกที่เราเดินทางไปถึงโรงเรียน ผอ.ยังยีลี (Yang Yi Lee) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้ กำลังทำกิมจิกับเด็กๆ จากหัวไชเท้า หัวผักกาดที่เด็กๆ ปลูกกันเองและเพิ่งเก็บมาในวันนี้ในเรือนครัวอย่างสนุกสนานและเป็นกันเอง น่าอร่อย เราก็เพิ่งเห็นการทำกิมจิต้นฉบับออริจินัลของเกาหลีเป็นครั้งแรก
โรงเรียนระดับมัธยมเล็กๆ ที่ก่อตั้งมาเกือบ 20 ปี เริ่มมีการเคลื่อนไหวด้านการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพของเด็กนักเรียนเกาหลีที่เริ่มไม่มีความสุข เพราะกระแสเร่งพัฒนาชาติจากวิกฤตสงคราม ซึ่งกดดันผู้คนในประเทศเกาหลีใต้ให้พัฒนาตัวเองในทุกๆ ด้าน
ยังยีลี เคยเป็นครูในโรงเรียนที่โซล และต่อมาย้ายตัวเองมาที่เกาะเชจูเพราะปัญหาสุขภาพ
เธอตัดสินใจเปิดโรงเรียนทางเลือกที่เกาะเชจูนี้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ตอนแรกเปิดไม่มีใครมาสมัครเลยสักคน ในเวลานั้นยังไม่มีโรงเรียนประถมศึกษาทางเลือกในเกาะเล็กๆ แห่งนี้ พวกเขากลัวที่จะไปบนเส้นทางที่ยังไม่มีคนเดิน เธอจึงเดินไปเคาะประตูบ้านผู้ปกครองของเด็กทีละหลัง และคุยกับพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาเป็นกังวล
ผอ.เล่าให้ฟังถึงการเริ่มต้นเปิดโรงเรียน พร้อมกับนั่งจิบชาใบหัวตากแห้ง และฉีกใบบัวแห้งนั้นใส่กระปุกชาไปในที ต่อมาเราก็รู้ว่า ผอ. เป็นคนที่อยู่นิ่งๆ ไม่เป็นเลย
ผอ.เล่าต่อว่า เมื่อเธอ ผู้ปกครอง และเด็กๆ ใช้ความกล้าหาญและเขียนแบบฟอร์มใบสมัครด้วยกันได้ในที่สุด โรงเรียนนี้จึงเปิดทำการ เริ่มจากเด็กอายุ 11 ปีจาก 8 ครอบครัว และกิจกรรมแรกที่พวกเขาทำกัน คือไปเข้าค่ายอยู่ในป่าด้วยกัน 5 วัน 4 คืน เพื่อให้เข้าถึงแก่นหัวใจของปรัชญาในการก่อตั้งโรงเรียนนี้ก็คือ “อยู่อย่างเรียบง่าย เพื่อแข็งแกร่ง และแบ่งปันได้มากกว่า”
02
ความสัมพันธ์ที่ต้องเผชิญหน้า
เด็กๆ บอกว่ามีประเพณีปฏิบัติของโรงเรียนนี้ พวกเขาจะเขียนสมุดบันทึกประจำวันด้วยกันทุกวัน เวลาค่ำๆ เด็กๆทุกคนจะมารวมตัวกันเขียนสมุดบันทึกคนละ 20 นาที แล้วก็เอามาอ่านให้กันฟัง จากนั้นก็คุยกันถึงจากสิ่งที่ได้ฟังในบันทึก และประชุมงานตารางต่อว่าวันนั้นจะทำอะไรกันบ้าง
อาซูมินเล่าให้ฟังว่า เขาบันทึกเรื่องราวที่น่าจดจำของแต่ละวัน ทั้งสิ่งที่เราทำและอารมณ์ความรู้สึก พอได้เขียนบันทึกแล้วกลับสบายใจขึ้นมาเกือบทุกครั้ง เขาชอบเวลาที่เราแลกเปลี่ยนกันอ่านบันทึกประจำวันของแต่ละคน เพราะสามารถแบ่งปันความคิด ความรู้สึกของเรา และรับรู้ความรู้สึกของคนอื่น แก้ไขข้อขัดแย้งด้วยกัน ขยับไปในทิศทางเดียวกันในทุกๆ วัน
ยังจามูเล่าให้ฟังว่า ที่นี่โซเชียลมีเดียไม่มีความหมาย เธอรู้สึกว่าความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์แคบและผิวเผิน เราคุยออนไลน์กับผู้อื่นที่เห็นเพียงรูปโปรไฟล์ของเขา โดยที่เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นคนอย่างไร แต่ละคนสามารถปั้นปลอมบอกใครก็ได้ว่าฉันเป็นอย่างไรในนั้น และพวกเขาทำลายความสัมพันธ์ได้เพียงแค่บล็อกช่องทางการติดต่อของคนคนนั้น
ชเวซูบอกกับเราว่า หลายๆ ครั้ง เวลาหลังการแลกเปลี่ยนบันทึกของแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการอยู่ที่นี่แล้ว เพื่อนแต่ละคนจะวิจารณ์กันตรงๆ เธอได้พยายามในหลายๆ เรื่อง ในการทำงานหนักในฟาร์ม เรื่องการสร้างโรงเรียนจากก้อนหิน แต่การต้องรับฟังการวิจารณ์จากคนอื่นตรงๆ หนักยิ่งกว่าก้อนหินที่ต้องยกมาทั้งวันเสียอีก เธอค่อยๆ เริ่มที่จะเข้าใจและยอมรับฟังคนอื่นได้
คืนแรก คืนนั้น ที่เราได้อยู่ที่โรงเรียนนั้น นาฬิกาบอกเวลาว่า 5 ทุ่มกว่าๆ แล้วนะ
มีนักเรียนคนหนึ่งระบายออกมาว่า เขาไม่พอใจในวันนี้ แล้วก็ร้องไห้โฮออกมา ทุกคนก็เหมือนกับว่ายังพยายามที่จะอยู่ด้วยกัน
กายองแชร์ความรู้สึกจากบันทึกของเธอด้วยน้ำตา เธอบอกว่าเธอรู้สึกไม่ค่อยดีในการทำงานร่วมกับเพื่อนๆ สองสามวันที่ผ่านมาเธอจึงเปิดประเด็นคุยกับเพื่อนๆ ในช่วงอ่านบันทึกประจำวัน
เธอบอกว่า มีเพื่อนที่พูดไม่ดีกับเธอและเพื่อนบอกว่าเธอทำงานเอาเปรียบเพื่อนๆ การพูดคุยถึงเรื่องความรู้สึกของกายองจึงเริ่มขึ้น เพื่อสืบหาความรู้สึกและเรื่องราวที่เกิดขึ้น
เราค่อนข้างตกใจที่ได้เห็นพื้นที่แบบนั้นในคืนแรกที่ไปถึง แต่ก็ยังรู้สึกว่าโอเคที่จะจับกล้องและบันทึกภาพทุกคนที่พยายามฟังกายองและพูดคุยกัน ทั้งๆ ที่ทุกคนดูเหนื่อยมาก และมีบางคนก็ผลอยหลับไป
จนเกือบถึงเวลาตีหนึ่ง เรื่องได้คลี่คลาย ไม่มีความรู้สึกของใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และได้เห็นพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอที่ทุกคนจะแชร์ความรู้สึกของแต่ละคนออกมา
ก่อนทุกคนจะแยกย้ายกันไป ถึงแม้จะเป็นเวลาตีหนึ่งแล้ว ทุกคนก็ต้องทำกิจวัตรประจำวัน คือก้มลงคำนับฟ้าดิน 108 ครั้ง เพื่อแสดงความระลึก ขอบคุณ เชื่อมโยงกับทุกพลังงานในแต่ละวันที่พวกเขาได้รับและส่งออกไป
03
ทักษะชีวิตที่ไม่ได้อยู่ในวิชา
เช้าวันแรกของที่นั่น เราได้เกาะติดกิจวัตรประจำวันของเด็ก ตื่น 6 โมงเช้า ออกไปวิ่งในป่า ทำโยคะ ทำความสะอาด กินข้าว แยกย้ายกันไปตามสายงาน โรงเรียนที่นี่ให้เด็กใช้ทักษะชีวิตไปในทุกวัน ไม่ได้แยกออกมาเป็นวิชาเรียน ทักษะการใช้ชีวิตกับเรื่องที่เรียนเป็นเรื่องเดียวกัน เด็กๆ ต้องทำอาหารกินเอง หุงอาหาร และสร้างโรงเรียนของพวกเขาเอง
ยางจามูบอกว่าเธอมีความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัวในโซล และเธอก็มีความสุขที่ได้นอนและเล่นอย่างสบายๆ แต่ที่นี่มีเรื่องที่ทำให้เธอได้หัวเราะมากกว่า มีความสุขที่ได้ทำอะไรด้วยร่างกายของตัวเอง และเธอมีช่วงเวลาที่มีความสุขมากกว่าการทำอะไรที่จับต้องไม่ได้เลยในโซล
ทุกๆ ภาคการศึกษา นักเรียนจะต้องทำโปรเจกต์ใหญ่ร่วมกันหนึ่งโปรเจกต์ ปีนี้เด็กตัดสินใจสร้างห้องเรียนชุมชน เพราะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พวกเขาได้สร้างบ้านหินในโรงเรียนของเขาเอง และพวกเขาได้ใช้เป็นห้องเรียน ห้องประชุม ใช้งานได้อเนกประสงค์ อีกหนึ่งเหตุผลที่เราสร้างบ้านชุมชนหลังใหม่นี้ เพราะมีเด็กที่จบการศึกษาแล้วต้องการอยู่ในเกาะเชจูต่อไปไม่อยากกลับไปที่โซล แต่โรงเรียนของเขามีมีพื้นที่เล็กนิดเดียว
เมื่อ ผอ.ยังยีลี ได้ยินเรื่องนี้เข้า เธอร่วมคิดเรื่องนี้พร้อมแนะนำว่าควรสร้างเป็นชุมชน รวมกลุ่มของผู้ปกครองของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาที่ต้องการทำชุมชนร่วมกับเราขึ้น ซื้อที่ดินผืนใหญ่ และภายในพื้นที่นั้น พวกเขาตัดสินใจสร้างบ้านสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาและขยายพื้นที่โรงเรียน
งานนี้ใหญ่กว่าที่คาดคิดไว้มาก ก่อนหน้านี้เขาต้องการเพียงสร้างบ้านหลังเล็กๆ แต่ตอนนี้เรากำลังสร้างบ้านหลังใหญ่มาก
วันแรกที่เราได้เห็นอาคารหินที่เด็กๆ สร้างด้วยตัวเองก็ตกใจ มันใหญ่กว่าที่เราเห็นในภาพมากและเป็นอาคารที่จริงจัง สิ่งแรกที่เราถามเด็กๆ เมื่อได้ไปเหยียบไซต์งานจริงของพวกเขาคือ “มีวิศวกรคุมงานรึเปล่า อาคารใหญ่ขนาดนี้” เด็กๆ บอกว่า มีพี่ๆ วิศวกรมาสอนพวกเราให้รู้จักคุมงาน ดูเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเป็นประจำสัปดาห์ แต่หลักๆ ทุกวันเด็กๆ ทำงานก่อสร้างทุกอย่างกันเอง ตั้งนั่งร้าน สกัดหิน ผสมปูน ก่อหิน ฉาบ อ๊อกเหล็ก ติดตั้งประตูหน้าต่าง
โฮจุนบอกกับเราว่าพวกเขาต้องทำงานหนัก นอนน้อย พักผ่อนน้อย เราถามเขาง่ายๆ ว่าทำไมต้องทำล่ะ เขาตอบแบบไม่ลังเลเลยว่า “เพราะเราเป็นคนคิด ออกแบบ และตัดสินใจกันเองว่าเราจะทำสิ่งนี้ เราจะสร้างบ้านหินนี้ ชุมชนนี้ขึ้นมา เราต้องรับผิดชอบกับการตัดสินใจของพวกเรา และเราต้องทำให้เสร็จก่อนจบการศึกษาสิ้นปีนี้ ก่อนที่หิมะจะมา เลยอาจจะดูเร่งรีบไปหน่อย แต่เราก็เป็นคนสร้างตารางเวลาที่เร่งรีบนี้ขึ้นมาเอง
“แม้บางวันยากแสนยากที่จะตื่นขึ้นมา แต่ว่าทุกวันเราตื่นมาวิ่ง โยคะ เพื่อปลุกให้ร่างกายเราพร้อม แข็งแกร่ง สำหรับเราตารางเวลาแบบนี้มีชีวิตชีวามากนะ แม้บางครั้งมันจะเหนื่อยมากๆ ท้อมากๆ”
04
รายละเอียดที่น่ารัก
รายละเอียดโดยสังเกตที่เราเห็นจากการใช้ชีวิตอยู่กับเด็กๆ และครูในโรงเรียนนี้ คือตอนกินอาหาร จะมีการร้องเพลงคล้ายๆ บทสวดเมื่อทุกคนมาพร้อมกัน ถามว่าเนื้อเพลงหมายความว่าอย่างไร เขาก็บอกว่าเป็นการขอบคุณข้าวทุกเมล็ด เพราะเมล็ดข้าวเป็นเหมือนของขวัญจากสวรรค์ที่ให้ชีวิตให้ทุกพลังชีวิต เราจะต้องแบ่งปันพลังชีวิตนี้ให้กันและกัน เหมือนเราได้แบ่งปันของขวัญจากสวรรค์ให้กันและกัน
เมื่อร้องเพลงจบ แต่ละคนจะตักกับข้าวที่อยากกินที่สุดให้คนข้างๆ ก่อน เป็นการย้ำเตือนตัวเองในทุกมื้อว่า สิ่งที่อร่อยที่สุด ดีที่สุด ไม่ใช่อาหารตรงหน้า แต่คือความสัมพันธ์จากการรู้จักแบ่งปัน
โรงเรียนนี้ได้ฉายาว่าเป็น ‘โรงเรียนนางฟ้า’ ในเกาะเชจูเลยทีเดียว ใครๆ ในชุมชนต่างเอ็นดูเด็กๆ และมีส่วนร่วมช่วยเหลือโรงเรียน อย่างเช่นบ่ายและค่ำวันนี้จะมีเวิร์กช็อปงานไม้และหมอทางเลือก ครูช่างไม้จากชุมชนบนเกาะมาสอนให้เด็กๆ ฟรี เด็กๆ เรียนกันจนมืดค่ำ พวกเขาตั้งใจว่าจะได้ใช้ทักษะนี้ในการทำเฟอร์นิเจอร์ของอาคารหินที่พวกเขาสร้างอยู่
ช่วงค่ำ เวิร์กช็อปหมอฝังเข็มจากบนเกาะเข้ามา ตอนแรกเราคิดว่ามาสอน แต่จริงๆ คือเข้ามาตรวจรักษาให้กับเด็กๆ ที่ทำงานสร้างอาคารหินกันมาอย่างหนัก ตากล้องหญิงเหล็กอย่างเราก็ไม่พ้นสายตาคุณหมอ คุณหมอเรียกให้เราเข้าไปหา แล้วก็วางกล้อง บีบไหล่ซ้ายแล้วถามว่าปวดตรงนี้ใช่มั้ย เราไม่ทันได้ร้องโอดโอยแต่ก็ได้ฝังไปหลายเข็ม เด็กๆ หัวเราะชอบใจ ขอกล้องไปบันทึกภาพเราโดนเข็มทิ่มบ้าง
05
ครูผู้ไม่มีอำนาจเหนือ
“เมื่อไรที่ฉันต้องการเลือกทางที่สะดวกสบายและง่าย ฉันจะคิดถึงเด็กๆ เสมอ ฉันจำสิ่งที่ฉันเคยบอกพวกเขาได้ ฉันพยายามที่จะเป็นคนที่ดีขึ้นให้พวกเขารู้สึกได้อยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งนั้นทำให้เรามีชีวิตที่ดีเพื่อคนอื่นบ้าง”
ผอ.ยังยีลี บอกกับเราว่า ในอดีตครูพยายามปกป้องความศักดฺ์สิทธิ์ของพวกเขาโดยไม่แสดงข้อบกพร่องให้นักเรียนเห็น นั่นทำให้ครูเป็นกังวลและต้องคอยใช้อำนาจเหนือเด็กนักเรียน แต่ที่นี่ ครูกับนักเรียนใช้ชีวิตแบบเดียวกัน กิน นอน บนพื้นแข็งๆ เหมือนกัน ใช้ห้องน้ำเดียวกัน ล้างจานในกะละมังเดียวกัน ทำทุกอย่างเหมือนกัน ครูต้องแสดงให้เด็กเห็นว่า เด็กทำอย่างไรได้ ครูก็ทำได้
“บางครั้งฉันก็อยากจะพักผ่อนมากกว่านี้ แต่มันก็ยากจริงๆ เพราะนักเรียนกำลังมองฉันอยู่ตลอดเวลา เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่เป็นคนพิเศษเลิศเลอกว่าใคร เพื่อให้นักเรียนเห็นและเรียนรู้จากสิ่งที่ฉันเป็น”
06
นิยามความสุขอยู่ที่ไหน
เมื่อเราถามถึงว่า ‘ความสุข’ ที่นี่นิยามกันอย่างไร
คำตอบที่ได้คือ ไม่แน่ใจ ไม่สามารถกำหนดความสุข ความสนุก แต่พูดได้ว่ามีความสุขอยู่พอสมควรทีเดียว
แม้ทำงานอย่างหนักและบางครั้งหลายคนก็ต้องการหลีกเลี่ยง แต่นั่นก็ทำให้พวกเขาเห็นข้อบกพร่องของตัวเองและเมื่อพวกเขาได้เห็นตรงนั้น กลับเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความสุข เพราะเขารู้สึกว่า ถ้าเขาไม่เห็นข้อบกพร่องของตัวเอง ชีวิตคงไม่เปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้น
บางคนบอกว่า ชีวิตก่อนที่จะมาที่เชจูเรียบง่ายและธรรมดา ไป-กลับ ระหว่างบ้านและโรงเรียน ติวสอบเตรียมเข้ามหาลัย แต่ที่นี่ทำให้พวกเขาได้มีมีเวลามองเดือน มองดาว และรู้สึกว่า เราอาจจะเป็นดวงดาวดวงใดดวงหนึ่งที่ตกลงมาจากฟ้าก็ได้
โซจูฮี กัปตันของโรงเรียนบอกกับเราว่า ก่อนมาเรียนที่นี่เธอเคยเป็นคนที่ชอบท้าตีกับเพื่อนๆ เพราะคิดว่าไม่มีใครรัก แต่ที่นี่ทำให้เธอกลับความคิดได้ว่า เธอควรเป็นคนที่มอบความรักให้กับผู้อื่นก่อน ถึงจะได้ความรักนั้นมา ไม่ใช่การท้าตีท้าต่อยกัน
ฤดูหนาวใกล้เข้ามา วันนี้เด็กบอกว่าจะได้แผงโซลาร์เซลล์ใหม่ เพื่อมาติดตั้งบนหลังคาห้องอาบน้ำสำหรับทำน้ำอุ่น เด็กๆ ต้องสร้างโครงรับแผงโซล่าร์กันเอง ฤดูหนาวนี้ เด็กๆ ก็คงไม่ต้องต้มน้ำอาบกันอีกต่อไป
แต่สำหรับน้ำล้างจาน ผอ.ยัง ยืนยันว่าจะต้องใช้น้ำเย็นธรรมดาๆ ล้างจานกันต่อไป
07
โรงเรียนพึ่งตัวเองได้
จินยอง ครูที่อยู่โรงเรียนนี้มา 10 ปีแล้ว เหมือนเป็นพี่สาวคนโตของโรงเรียนบอกว่า ที่นี่ไม่มีการทำแบบทดสอบ เหตุผลดั้งเดิมที่มีการทำแบบทดสอบในโรงเรียนคือเพื่อยืนยันว่านักเรียนมีการเรียนรู้ และตรวจสอบว่านักเรียนเรียนรู้ไปมากน้อยแค่ไหน แต่ในปัจจุบันระบบการศึกษาของเกาหลีมีการทำแบบทดสอบเพื่อจัดอันดับและแข่งขัน และโรงเรียนนี้เชื่อว่าสิ่งที่เราเรียนรู้ที่นี่ ไม่สามารถตรวจสอบจากการทำแบบทดสอบหรือข้อสอบจากรัฐ การฝึกฝนสิ่งที่เรียนรู้ในชีวิตแต่ละวันที่นี่มีคุณค่าสาระและรายละเอียดที่สำคัญกว่านั้น
ซูมินยืนยันกับเราว่า ในแต่ละวันที่เขาเขียน อ่าน บันทึกประจำวันด้วยกัน บทสนทนาที่เกิดขึ้นหลังการอ่านบันทึกนั่นมันจริงยิ่งกว่าแบบทดสอบใดๆ ในโลกนี้
เพราะความหัวแข็งของโรงเรียนที่นี่ในเรื่องนี้ โรงเรียนจึงไม่ได้รับเงินสนับสนุกจากรัฐเลย แต่พวกเขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องนั้้น เงินทำโรงเรียนมาจากผู้ปกครองจ่ายค่าเทอม ซึ่งก็ไปเป็นค่าอยู่กินอย่างเรียบง่าย ปลูกอาหารกันเอง ทำอาหารกันเอง สร้างโรงเรียนกันเอง ค่าเงินเดือนครูเพียง 2 คน นอกจากนั้นยังมีการหารายได้พิเศษ เก็บผลิตภัณฑ์ขาย มีชาวบ้านในเกาะให้สวนส้มเด็กๆ ไปเก็บมาขาย
เด็กๆ สร้างโรงเรียนของพวกเขาเองจากก้อนหินภูเขาไฟ เติบโตเป็นผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ในเกาะเล็กๆ อย่างภาคภูมิใจ และมีความสุขแบบนิยามไม่ได้ในตำราเรียนไหนๆ
ติดตามเรื่องราวของโรงเรียนทางเลือกนานาชาติได้ทางรายการบินสิ ThaiPBS