นี่คือการไปจีนครั้งที่ 2 ของผู้เขียน ทิ้งระยะเวลาห่างจากรอบแรกถึง 7 ปี หลายอย่างเปลี่ยนไป แต่บางอย่างยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะประสบการณ์ในจีนที่ความพีกของเรื่องมักไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ

ปัจจุบัน ไม่ต้องสังเกตก็เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าหลายแบรนด์กำลังวิ่งอยู่บนถนนทั่วเมืองไทย หลังได้รับคำเชิญอันน่าสนใจจาก BYD RÊVER Thailand ให้ไปทัวร์โรงงานผลิต ประกอบ และทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าในอาณาจักรต้นกำเนิด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เปิดให้ชาวไทยเข้าไปชม

เราตอบตกลงโดยไม่ลังเล 

และค้นพบว่าประโยค ‘ของจีนคือของปลอม’ เป็นภาพจำที่ใช้ไม่ได้กับ BYD แม้แต่น้อย โดยเฉพาะเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกยานยนต์ที่แม้แต่ อีลอน มัสก์ ยังต้องการ

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
ภาพ : BYD

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปถึงแล้ว เราต้องเปลี่ยนแผนนิดหน่อย เพราะภายในโรงงานไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ แต่เราจะพยายามอธิบายให้ทุกท่านเห็นภาพที่สุดในมุมมองของผู้ใช้รถทั่วไปที่ไม่ใช่เซียนเรื่องยานยนต์ พร้อมเรื่องราวความอลังการของกระบวนการผลิต การทดสอบการชนมูลค่า 5 แสนบาท การลอยฟ้าไปบนโมโนเรลที่แทบจะจูบกับผนังตึก รวมไปถึงประสบการณ์รายทางที่ต้องเผชิญตลอดทางกว่า 2,000 กิโลเมตร บังเกิดเป็นทริปที่ผู้เขียนรู้สึกสนุก และจะขอเก็บไว้ในความทรงจำตลอดไปด้วยความยินดี

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
ภาพ : BYD

The Real BYD

Headquarters, Shenzhen, Guangdong

เครื่องบินลงจอดที่กวางโจวประมาณตี 4 เรานั่งริมหน้าต่างดูเลขเกตเคลื่อนผ่านไปจนถึงเลข 158 มีเพื่อนร่วมทริปติด ตม. จีนตั้งแต่เช้า แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดีอย่างช้า ๆ จนเวลาใกล้ 6 โมง

เราเดินเข้าห้องน้ำไปแปรงฟัน และพบว่ามีบางคนไม่ปิดประตูห้องน้ำเพื่อทำธุระส่วนตัว แถมส่วนบนของร่ายกายยังเปลือยเปล่าอย่างไม่ทราบสาเหตุ เห็นแบบนั้นเราก็รีบเบือนหน้าหนี

หลังจากที่เธอคนนั้นทำธุระเสร็จ เราได้สบตากันแวบหนึ่งผ่านกระจก ดูท่าทางเธอจะรู้ว่าเราเห็นจากสายตาเคือง ๆ ที่ส่งมา ปิดท้ายการ ‘จิ๊’ ปากและจากไป

การทัวร์วันแรกเริ่มที่สำนักงานใหญ่ของ BYD บริเวณลานหน้าตึกอันกว้างใหญ่เต็มไปด้วยรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่นตั้งแต่รถบ้านไปจนถึงรถบัส ทั้งที่ขายในเมืองไทยแล้วและยังไม่มีวี่แววจะนำเข้าในอนาคต เหนือหัวยังมีรางที่ลดเลี้ยวผ่านตึกสำหรับ SkyShuttle บริการทั่วโรงงาน

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
ภาพ : BYD

ที่ประเทศไทย Atto 3 ลงถนนเป็นที่เรียบร้อย และจะตามมาอีกเรื่อย ๆ กับรุ่น Dolphin และ Seal จาก Ocean Series แต่หากย้อนกลับไปถึงการพูดคุยเพื่อทำตลาดในไทย จริง ๆ แล้วเกิดขึ้นตั้งแต่ 10 ปีก่อน โดยเริ่มแรกเป็นการส่งรถบัสไฟฟ้าและรถแท็กซี่ BYD e6 EV Taxi VIP เข้ามาทดลองตลาด

ในปีที่แล้ว BYD มีการผลิตรถถึง 1,860,000 คัน มากกว่า พ.ศ. 2564 ถึง 3 เท่า ถือว่ามาไกลเกินใครจะนึกฝันนอกจาก Wang Chuanfu เจ้าของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ประเภทใช้งานในโทรศัพท์ ผู้พาทุกคนเข้าสู่ตลาดแบตเตอรี่ลิเทียม ไอออน จนถึงตอนที่เขาตัดสินใจบอกผู้ถือหุ้นด้วยวิสัยทัศน์อันก้าวไกลว่า ต้องการทำรถยนต์ไฟฟ้า

รถรุ่นแรกที่ผลิตออกมายังใช้น้ำมัน แต่ภายหลังมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เองก็ร่วมเป็นผู้ถือหุ้น จนมาถึงยุคของไฮบริด และประกาศเลิกผลิตรถยนต์สันดาปตั้งแต่ปีก่อนอย่างเป็นทางการ

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show

ความก้าวไกลของพวกเขาสะท้อนผ่านผนังลิขสิทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกประมาณ 1,250 ฉบับ จากที่ส่งไปพิจารณาราว 40,000 ฉบับ ผ่านการพิจารณา 28,000 ฉบับ โดย 12,000 ฉบับเป็นเทคโนโลยีเรื่องยานยนต์

นอกจากผนังมหึมา อีกส่วนที่ไม่ดูไม่ได้คือสิ่งที่เรียกว่า ‘e-Platform’ หรือโครงสร้างด้านล่างซึ่งเป็นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า ทาง BYD ใช้เทคโนโลยีแบบ CTB หรือ Cell to Body ซึ่งแบตเตอรี่จะถูกรวมเข้ากับโครงสร้างด้านล่าง ข้อดีคือเป็นการเพิ่มความแข็งแรง ลดพื้นที่ และลดน้ำหนัก

(รถไฟฟ้าทั่วไปจะต้องมีโมดูลที่มีลักษณะเหมือนเคส เพื่อใส่แบตเตอรี่เข้าไป แล้วเอาแต่ละโมดูลไปจัดเรียงอีกที ขณะที่ CTB นำ Blade Battery ไปจัดเรียงในชุดแบตเตอรี่ได้เลย หลังจากนั้นจึงนำโครงรถมาครอบ สำหรับหลายค่ายที่จับมือกันพัฒนา e-Platform ก็อาจแตกต่างกันแค่ภายนอกและฟังก์ชันอื่น ๆ)

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
e-Platform

จุดสุดท้ายในสำนักงานใหญ่คือการขึ้นไปลอง SkyShuttle ที่เต็มไปด้วยพนักงานเจ้าถิ่น ทุกคนมีสีหน้าตกใจและสงสัยว่าแขกเหรื่อมากมายเหล่านี้คือใคร แต่สงสัยไปก็ไม่มีคำตอบ เพราะพวกเราพูดภาษาจีนไม่ได้

เราใช้เวลาในการเมากลางอากาศราว 15 – 20 นาที ความเร็วของ SkyShuttle กำลังดี แต่ความเหวี่ยงของห้องโดยสารแรงเกินคาดเป็นญาติสาย 8 ได้อยู่ ทุกครั้งที่มองผ่านหน้าต่างแล้วเห็นรางหักศอกอย่างที่ไม่ค่อยเห็นในไทยจะทำให้รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้ง ประกอบด้วยความเสียวที่สีข้างรถไฟฟ้าจะชนกับผนังตึก

ไม่ได้โม้นะ อีกไม่กี่นิ้วต้องได้จุ๊บกันแน่ ๆ

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show

ความลับในที่ทดสอบการชน

Crash Test Lab, Shenzhen, Guangdong

ความทรมานส่วนตัวเกิดจากการที่เมารถไฟฟ้าแล้วมาเมารถบัสต่อ ยิ่งจ้องถนนก็ยิ่งใจหาย เพราะหลายคันขับเบียดกันเสมือนวิ่งอยู่คันเดียวบนโลก

มอเตอร์ไซค์ที่เห็นส่วนใหญ่บนท้องถนนเป็นระบบไฟฟ้า ชาวจีนมีแฟชั่นประกอบการขี่ที่หลากหลาย ทั้งถุงมือกันแดดที่ลักษณะเหมือนถุงมือจับของร้อนเวลาทำอาหาร ถุงแขนกันลมที่ลักษณะเหมือนเอาผ้านวมมาคลุมตัวเอาไว้แล้วใช้แขนสองข้างสอดเข้าไปเพื่อจับแฮนด์ นอกจากนี้ยังมีการติดร่มเอาไว้กับหัวมอเตอร์ไซค์เพื่อบังแดด บางคนก็นำโครงหลังคามาครอบรถทั้งคัน อารมณ์คล้ายตุ๊กตุ๊กแต่มี 2 ล้อ

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show

ความน่าสนใจบนท้องถนนยังไม่หมดเท่านั้น ที่นี่แยกประเภทการใช้พลังงานยานพาหนะด้วยสีป้ายทะเบียน โดยป้ายสีฟ้าคือรถยนต์สันดาป และป้ายสีเขียวคือรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังออกนโยบายกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้คนที่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนได้ทันที ขณะที่ผู้ต้องการรถน้ำมันจะต้องรอผู้ใช้เดิมเลิกใช้และคืนป้าย ป้ายนั้นจึงจะตกเป็นของผู้ที่รอ เนื่องจากไม่มีการออกป้ายรถน้ำมันใหม่ให้

จากสำนักงานใหญ่ประมาณ 20 นาทีก็ถึง Battery Factory ในเครือ BYD ชื่อว่า FinDreams Battery ซึ่งไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ

ก่อนหน้านี้ที่ Headquarters เราได้ดูการทดสอบแบตเตอรี่ที่เรียกว่า ‘สุดขั้ว’ ที่สุด นั่นคือการใช้เข็มทิ่มทะลุ BYD Blade Battery (แบตเตอรี่ใบมีด) และ NCM Battery ซึ่งอย่างหลังเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถ EV ทั่วไป เมื่อเจอแรงกระแทกอย่างหนักจะระเบิดและลุกเป็นไฟ ขณะที่แบตเตอรี่ใบมีดไม่เกิดการลุกไหม้จึงถือว่าปลอดภัยกว่ามาก ทั้งยังใช้งานได้นาน ควบคุมราคาในการผลิตได้ หลังถอดออกจากเครื่องก็นำไปรีไซเคิลหรือเป็นแหล่งเก็บไฟฟ้าในบ้านก็ได้เช่นกัน ไม่แปลกใจเลยหาก อีลอน มัสก์ จะอยากเจรจาด้วย

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
ด้านหลังคือ Blade Battery ด้านหน้าคือ NCM Battery

จากโรงงานแบตเตอรี่ เราหันไปโฟกัสกับการทดสอบการชนที่ละลายเงิน 5 แสนบาทไปในเวลาไม่ถึง 5 นาที ณ Crash Test Lab สถานที่ที่มีความลับสุดยอดเก็บงำเอาไว้ ถึงขั้นที่พนักงาน BYD ผู้เป็นวิทยากรและวิศวกรประจำบริษัทยังได้ชมเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน

พวกเรายืนอยู่บนชั้น 2 เกาะติดราวเหล็กกั้นเพื่อหาจุดดูการทดสอบที่ดีที่สุด วิทยากรบรรยายว่า Crash Test Lab มีการทดสอบการชน 500 – 800 ครั้งต่อปี ทดสอบตั้งแต่รถบ้านไปจนถึงโมโนเรล ซึ่งมูลค่าการจับโมโนเรลมาชนกันอยู่ที่ 20 ล้านหยวน หรือประมาณ 98 ล้านบาทต่อครั้ง

รถ 1 รุ่นมีการทดสอบ 30 – 50 ครั้ง เป็นการใช้คันใหม่บ้าง ใช้คันเดิมที่นำไปซ่อมกลับมาบ้าง และจะมีการทดสอบการชนให้ครอบคลุมทุกความเป็นไปได้ ตั้งแต่การปล่อยรถในมุม 0 – 90 องศา เพิ่มความเร็วได้สูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้รถพลิกคว่ำหลายตลบ ทำให้รถหงายหลังตีลังกา นอกจากนี้ยังมีการทดสอบแบตเตอรี่ในสถานที่เปิดโล่ง เพื่อป้องกันการระเบิดภายในอาคาร

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
ภาพ : BYD

กลับมาที่ปัจจุบัน วิทยากรเริ่มนับถอยหลัง 5 4 3 มีรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นหนึ่งพุ่งเข้าไปที่จุดทดสอบด้วยความเร็ว 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 2 1 ตู้ม!

“เอาล่ะค่ะ การทดสอบจบแล้ว 5 แสนหายไปแล้วค่า” วิทยากรชาวจีนเอ่ยเป็นภาษาไทย เธอพาเราเดินลงชั้นล่างและอ้อมไปยังโรงพยาบาลหุ่น

BYD ถือว่าหุ่นเหล่านี้เป็นพนักงานของพวกเขาเช่นกัน หลังจากนั่งในรถเป็นตัวแทนคนขับและผู้โดยสารที่มีตั้งแต่เด็กจนถึงคนชรา หากหุ่นเกิดอาการบาดเจ็บจะถูกนำส่งโรงพยาบาลเพื่อซ่อมแซม โดยหุ่นตัวที่เก่าที่สุดประจำการมาแล้ว 10 ปี ส่วนหุ่นตัวที่แพงที่สุดกำลังนอนเอนหลังสบาย ๆ มองเราอยู่ ค่าตัวของเธออยู่ที่ 19 ล้านหยวน หรือราว 93 ล้านบาท ซึ่งแพงจากเซ็นเซอร์จำนวนมากที่ไว้จับแรงกระแทกที่กระทำต่อหุ่น เพื่อให้ใกล้เคียงเวลาคนจริงประสบอุบัติเหตุมากที่สุด

ห้องต่อมาที่ได้เข้าไปเสมือนฉากในภาพยนตร์ Sci-Fi สักเรื่อง เพดานห้องสูงนับสิบเมตร ทั่วทั้งห้องเต็มไปด้วยวัสดุลักษณะเป็นหนามแหลมแท่งใหญ่พุ่งออกมา รถคันหนึ่งจอดนิ่งอยู่ตรงกลาง นี่คือห้องทดสอบเสียงที่วิทยากรบอกว่าเป็นห้องที่เงียบที่สุด เพื่อใช้ฟังเสียงรถยนต์ไฟฟ้า โดยรถที่ดีต้องไม่มีเสียง

อีกห้องหนึ่งมีลักษณะคล้ายกัน แต่หนามแหลมถูกตัดจนทู่ รอบข้างเต็มไปด้วยอุปกรณ์ก้างปลาคล้ายเสาอากาศ เป็นห้องทดสอบคลื่นไฟฟ้าที่อาจมารบกวนการทำงานของรถ รวมไปถึงดูคลื่นไฟฟ้าจากรถที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พวกเขาจะทดสอบโดยทำเสมือนขับผ่านเสาไฟ ตู้ส่งสัญญาณ และคลื่นไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ

จบการเดินทางวันแรกที่ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
ร้าน Hutaoli Music Restaurant & Bar แอบกระซิบว่าเป็นการปิดวันได้ดี เพราะอาหารอร่อยทุกอย่าง

รถไฟความเร็วสูงสู่โรงงานประกอบ

Shenzhenbei to Changshanan

เราคิดว่าไกด์ที่วิ่งอยู่ด้านหน้ายังวิ่งไม่เร็วพอ แถมทิศทางยังจับไม่ถูกว่าห้องน้ำอยู่ทางไหน ความในใจจึงสั่งการให้สมองรื้อฟื้นภาษาจีนอีกครั้งแล้วตะโกนอย่างสุภาพออกไปดัง ๆ ว่า

“หว่อ เย้า ชวี่ สี โส่ว เจียนนนนน!!!”

(ฉันอยากเข้าห้องน้ำ!!!)

เหตุการณ์ด้านบนเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดภารกิจทัวร์โรงงานวันที่ 2 ซึ่งเช้าของวันนี้ เราได้นั่งรถไฟความเร็วสูงของจีนเป็นครั้งแรก และน่าจะเป็นการเดินทางที่ยาวที่สุดในชีวิต

เราออกจากโรงแรมตอน 5.30 น. สู่สถานี Shenzhenbei สถานีรถไฟความเร็วสูงขนาดใหญ่จนหลายคนอุทานว่า นี่มันสุวรรณภูมิ!

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
ภาพ : BYD

ก่อนเข้าสู่อาคาร มีการสแกนกระเป๋าเดินทาง เราควรถึงหน้าเกตประมาณ 15 นาทีก่อนเวลา เพราะหากช้าจะไม่มีการรอ ขบวนของเราออกเดินทางเวลา 7.24 น. ทำความเร็วสูงสุด (เท่าที่ดูป้ายประกาศ) คือ 306 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นั่งยาว ๆ สู่เมืองฉางชาราว 800 กิโลเมตร ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง งวดนี้ตั๋วราคา 388.5 หยวน หรือเกือบ 2,000 บาท มีปลั๊กไฟให้ชาร์จเสร็จสรรพ

มหรสพฟรีบนขบวนทำเอานอนไม่หลับ ส่วนใหญ่เป็นการแสดงจากชาวจีนทั้งเด็กร้องไห้ ผู้ชายคุยโทรศัพท์เสียงดังนานนับชั่วโมง ผู้หญิงท่องโซเชียลแบบเปิดเสียงพาคนรอบข้างไปด้วยกัน พีกที่สุดคือพ่อแม่ลูกที่นั่งอยู่ด้านข้าง ลูกชายส่งตาหวานให้พี่สาวที่เดินผ่านไปมา ส่วนเพื่อนของเราแอบเห็นว่าผู้เป็นพ่อแคะขี้ฟันด้วยมือและทำการดีดชิ้นเนื้อก้อนใหญ่จากปากลงพื้น โชคดีที่ไม่โดนใคร

สำหรับห้องน้ำของขบวน ถ้าไม่รีบเข้าตั้งแต่ตอนยังสะอาดก็ขอให้อดทนจนกว่าจะถึงปลายทางดีกว่า หรือหากเดินไปเข้าโบกี้อื่นก็ระวังเจอประติมากรรมสีน้ำตาลที่ถูกผลิตทับถมกันจนไม่มีใครกล้าเข้าไปทลาย

หากใครหิว มีบริการรถเข็นขนม เครื่องดื่ม และอาหารไม่ต่างจากบ้านเรา หรือใครอยากเดินชมวิวไปจนถึงโบกี้ห้องอาหารก็ทำได้ ซึ่งถ้าจำไม่ผิดจะอยู่กลาง ๆ ขบวน

นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show
นั่งรถไฟความเร็วสูงไกล 2,000 km เที่ยวจีน จากโรงงานรถไฟฟ้า BYD สู่ Shanghai Auto Show

ถึงสถานีปลายทาง เรานั่งบัสต่อราว 40 นาที โรงงานประกอบไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพเช่นเดิม โดยที่ฉางชาเป็น 1 ใน 8 แหล่งประกอบในจีน แต่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ซีอาน 

โรงงานแห่งนี้ผลิตรถรุ่นฉิน (Qin PLUS DM-i) จาก Dynasty Series ที่ตั้งชื่อตามราชวงศ์จีน BYD T3 และ Denza D9 รวม ๆ แล้วผลิตได้ราว 56,000 คันต่อเดือน ใช้แรงงานคนเป็นหลักผสมกับเครื่องจักร ส่วนใหญ่ที่เห็นค่อนข้างเป็นคนหนุ่มสาว

เซกชันสุดท้ายคือการทดสอบรถยนต์ เสียงแตรดังขึ้นเป็นระยะ เสียงปิดประตูกระแทกดังปั้ง! ค้อนยางทุบลงบนตัวรถ เพื่อเป็นการเทสต์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตจริง จากนั้นจึงมีคนขับออกไปจากบริเวณโถงประกอบ

ใช้เวลาที่นี่แค่ 2 ชั่วโมงก็เดินทางสู่สถานีแห่งเดิมเพื่อเดินทางต่อไปยัง Shanghai Hongqiao ราคาตั๋วอยู่ที่ 478 หยวน หรือราว 2,360 บาท คราวนี้นั่งจนรากงอกตั้งแต่ 17.35 น. – 00.40 น. รวม 6 ชั่วโมง ระยะทาง 1,100 กิโลเมตร พร้อมมหรสพฟรีจากชาวจีนเช่นเคย

อีกสิ่งที่พอมีเวลามากขึ้นจึงได้สังเกต คือพนักงานทำความสะอาดบนขบวนขยันมาก เธอมักเดินหิ้วถุงดำถามหา ‘ลาจี’ แปลว่า ขยะ ในทุกสถานี และเธอจะวิ่งเอาขยะถุงใหญ่ออกไปทิ้งนอกขบวนทุกครั้งที่จอด ก่อนกระโดดกลับขึ้นมาได้ทันเวลา รับไปเลย 10 คะแนนเต็ม

คนไทยกลุ่มแรกทัวร์โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ดูห้องแห่งความลับในอาณาจักรยานยนต์จีน ยาวถึงงาน Shanghai Auto Show
ขนมรสหมาล่าอร่อยเผ็ดจากโบกี้อาหาร

เรื่องพีกของรอบนี้ยังไม่จบ เพื่อนร่วมทริปของเราไปถึงที่นั่งตามบัตร แต่กลับมีชาวจีนนั่งอยู่ การเจรจาเพื่อขอที่นั่งคืนจึงเริ่มต้น แต่ไม่รู้เรื่อง สุดท้ายชายชาวจีนยกบัตรขึ้นมาแสดงตัวว่าเป็นตำรวจ บอกว่ามากับผู้ต้องหา

ใช่ค่ะ ตำรวจจีนจับผู้ต้องหาใส่ขบวนรถไฟความเร็วสูงที่เต็มไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัย พอเห็นกุญแจมือที่สวมเป็นหลักฐานเท่านั้น ชาวไทยก็แยกย้ายไปนั่งที่โบกี้อาหารแทน

ส่วนเรื่องน่ารักบนขบวน คือคำขอบคุณจากสาวน้อยที่เราหลบทางให้ “เซี่ย เซี่ย” เธอพูดเบา ๆ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่ได้ยินนอกจากที่ชาว BYD และเหล่าพ่อค้าแม่ค้าเอ่ย แต่บอกเลยว่ามาที่นี่ห้ามใจดี เพราะหลายคนพร้อมจะแซงคิวและชนคุณอย่างไม่ใยดี

เรื่องน่ารักต่อมา คือเจ้าหน้าที่บนขบวนเห็นว่าพวกเราไปรวมกลุ่มกันที่โบกี้อาหารอยู่นาน เขาพยายามสื่อสารเป็นภาษาจีนเพื่อถามว่า “คุณได้วางของมีค่าเอาไว้ที่ที่นั่งไหม อาจจะมีคนมานั่งที่คุณได้ถ้าคุณหายไปนาน” พอเพื่อนของเรากลับไปดู ก็มีคนมานั่งที่ของเราจริง ๆ ทั้งยังนั่งแบบไม่สนใจว่ามีกระเป๋าของเราวางอยู่บนเบาะ อย่างไรก็ตาม ไม่มีของหาย และเขาก็จากไปด้วยดี

คนไทยกลุ่มแรกทัวร์โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ดูห้องแห่งความลับในอาณาจักรยานยนต์จีน ยาวถึงงาน Shanghai Auto Show
คนไทยกลุ่มแรกทัวร์โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ดูห้องแห่งความลับในอาณาจักรยานยนต์จีน ยาวถึงงาน Shanghai Auto Show

ถือเป็นอีกครั้งที่อยู่ข้ามวันจนแทบครบ 24 ชั่วโมง ตื่น 04.30 น. ถึงโรงแรม 01.30 น. แถมโดนแกงหม้อใหญ่จากไกด์จีนที่บอกว่าแค่ 30 นาทีก็ถึง ทำให้เราอดใจไม่ผจญภัยในห้องน้ำของสถานี เพื่อรอไปเข้าที่โรงแรม แต่ที่ไหนได้ นั่งบัสปาเข้าไปชั่วโมงกว่า แถมธุระที่ว่าก็หนักหนาจนนั่งไม่ติดเบาะเสียด้วย 

หลังไปถึงโรงแรม เหตุการณ์เป็นไปอย่างที่เกริ่นไว้ในบรรทัดแรกของบทนี้ ไกด์วิ่งนำทางเราไปยังห้องน้ำที่โชคดีมาก ๆ เพราะสะอาดอย่างที่สมควรเป็น

จบภารกิจเร่งด่วน เราต่อคิวรอสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันการเข้าพักจนเกือบตี 2 แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะเพื่อนข้างห้องได้บัตรผิดใบ จึงมาเคาะห้องของเราเพื่อขอความช่วยเหลือ ด้วยความเป็นห่วง เรารีบพุ่งตัวออกไป ก่อนประตูจะปิดตามหลังเสียงดัง แกร๊ก! ตื้อดือดื๊อ ทีนี้ไม่มีใครเข้าห้องได้

เราเดินเท้าเปล่าพร้อมเพื่อนลงไปขอคีย์การ์ดใหม่ ได้เอนตัวลงนอนจริง ๆ ก็ตี 3 พอดี 

จบการเดินทางที่ 2,000 กิโลเมตร รวมการเดินทางด้วยบัสทั้งหมด

คนไทยกลุ่มแรกทัวร์โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ดูห้องแห่งความลับในอาณาจักรยานยนต์จีน ยาวถึงงาน Shanghai Auto Show
บรรยากาศนอกหน้าต่างรถไฟฟ้าความเร็วสูงหลังฝนหยุดตก

Shanghai Auto Show 2023

National Exhibition and Convention Center, Shanghai

เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับการจองรถที่ Motor Expo หรือ Motor Show แต่สำหรับ Shanghai Auto Show มหกรรมจัดแสดงรถยนต์บนพื้นที่ 1 ล้านตารางเมตร นี่คืองาน ‘โชว์ของ’ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดมาเป็นครั้งที่ 20 นับจากปี 1985

ลงจากบัสเดินไปไม่กี่นาทีก็เห็นแบนเนอร์ขนาดใหญ่ติดอยู่เหนือบันไดเลื่อนเข้างาน ได้ยินพี่ในทริปพูดกันว่า Audi ทุ่มทุนจ่ายถึง 6 ล้านหยวนเพื่อแบนเนอร์นี้

ภายในงานมี 8 ฮอลล์ แบ่งเป็นฮอลล์ละ 2 ชั้น ยกเว้นฮอลล์ที่ 3 มีเพียงชั้นเดียว ส่วน BYD กระจายอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ BYD Auto ฮอลล์ 7.1, Denza ฮอลล์ 4.1 และ Yanwang ฮอลล์ 8.1

คนไทยกลุ่มแรกทัวร์โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ดูห้องแห่งความลับในอาณาจักรยานยนต์จีน ยาวถึงงาน Shanghai Auto Show

เราเดินสายดูเบื้องหลังการผลิตมาหลายวัน ครั้งนี้จะได้เห็นโฉมหน้างาม ๆ ของยานยนต์หลากรุ่นหลายแบรนด์ รวมไปถึง Concept Car ที่โชว์จุดยืนของแต่ละค่าย

บนเวทีบูท BYD คือรถ Hatchback สีขาวสะอาดตาชื่อ ‘ซ่ง แอล’ (Song L) ส่วนสีชมพูข้างกันคือรถซีดานนามว่า ‘จูว เจี่ยน’ หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Destroyer ซึ่งคาดว่าจะเปิดขายในจีนไตรมาสที่ 4

คนไทยกลุ่มแรกทัวร์โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ดูห้องแห่งความลับในอาณาจักรยานยนต์จีน ยาวถึงงาน Shanghai Auto Show

ด้านล่างเวทียังมีเพื่อนคันเล็กสีเขียวสดใสที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ขนาดของ ‘Seagull’ ใน Ocean Series เล็กกว่า Dolphin ที่เข้าไทย มาเพื่อตีตลาดรถราคาประหยัด แต่วิ่งได้ 300 – 400 กิโลเมตร ก็หวังว่าจะมีเข้ามาบ้านเราบ้าง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ต้องการในอนาคต

คนไทยกลุ่มแรกทัวร์โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ดูห้องแห่งความลับในอาณาจักรยานยนต์จีน ยาวถึงงาน Shanghai Auto Show
คนไทยกลุ่มแรกทัวร์โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ดูห้องแห่งความลับในอาณาจักรยานยนต์จีน ยาวถึงงาน Shanghai Auto Show
ภาพ : BYD

ตอนนี้ถือว่า BYD ฝังตัวอยู่ทั้งในอุตสาหกรรม Auto, Rail Transit, New Energy และ Electronics (โทรศัพท์) เป็นที่เรียบร้อย แถมยังผลิตแบตเตอรี่ใช้เองแบบไม่ต้องพึ่งคนนอก จะมีล่าสุดที่จับมือกับ TOYOTA พัฒนาออกมาเป็นรุ่น bZ3 พร้อม Blade Battery ที่ใครต่างก็ฝันหา

คนไทยกลุ่มแรกทัวร์โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ดูห้องแห่งความลับในอาณาจักรยานยนต์จีน ยาวถึงงาน Shanghai Auto Show
TOYOTA bZ3

ท่ามกลางยานยนต์จากทั่วโลก เราเห็นชื่อแบรนด์แปลกตามากมาย ซึ่งจีนเองมีแบรนด์รถไฟฟ้าในมือถึง 156 แบรนด์ บางชื่ออาจเข้าไทยในอนาคตและบางชื่อเราเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็น Geely, Chery, Changan, GAC Group, Lynk & Co, Hongqi, JAC เป็นต้น 

ไม่ใช่แค่ความยิ่งใหญ่ของกระบวนการผลิตที่ทำให้ยานยนต์จากจีนก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ แต่การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการและการใช้ชีวิตของผู้ซื้อก็เป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ตอนนี้ BYD บอกว่าของเขาดีที่สุดในโลก รวมไปถึงหน้าตารถที่คนมองสบายตา คนใช้สบายใจ

จากที่เห็นเบื้องหลังทั้งหมด BYD จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันน่าสนใจที่ตอบโจทย์โลกและคนในอนาคตแน่นอน ส่วนทริปนี้ก็จะอยู่ในความทรงจำที่ไม่มีวันลืม และแน่นอนว่าเรื่องไร้สาระรายวันอื่น ๆ ถ้าเจอใครก็คงเล่าให้ฟังเพิ่มอีก (เพราะยังไม่จบเพียงแค่นี้)

กรึ๊บหน้าเจอกันใหม่

คนไทยกลุ่มแรกทัวร์โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD ดูห้องแห่งความลับในอาณาจักรยานยนต์จีน ยาวถึงงาน Shanghai Auto Show

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า