ICONCRAFT x The Cloud

ศาสตร์แห่งกลิ่นของไทยนั้นหอมฟุ้งมาช้านาน

ไทยเรามีวิชาความรู้ด้านการทำน้ำอบน้ำปรุงที่พิเศษไม่ซ้ำใคร ส่วนหนึ่งคือวัตถุดิบจากพืชพรรณสมุนไพรที่ชาวต่างชาติแค่ได้ยินชื่อก็เอียงคอสงสัย อีกส่วนคือภูมิปัญญาในการร่ายเวทย์ดึงกลิ่นหอมจากการนำวัตถุดิบไปผ่านกระบวนการ หรือไม่ก็ผสมผสานกับกลิ่นอื่น

หนึ่งในหลักฐานกลิ่นไทยที่ยังหลงเหลือเก็บอยู่ในขวดน้ำหอมของแบรนด์ Butterfly Thai Perfume น้ำหอมกลิ่นไทยๆ อย่างกฤษณากำยาน กุหลาบมอญ ข้าวเหนียวมะม่วง และโคลนสาบควาย ที่ใช้แล้วติดใจกันทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จนขยายสาขาไปถึงเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา และล่าสุดกำลังจะจดลิขสิทธิ์ในมาเลเซีย

ผู้อยู่เบื้องหลังกลิ่นเหล่านี้คือ ชิน-สุชิน แก้วอุดร จอมเวทย์นักปรุงน้ำหอม

Butterfly Thai Perfume

ชินเริ่มชีวิตจากการเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เรียนวิศวกรรมโยธาฯ ตามความต้องการของพ่อแม่ แต่ในใจมีความรักให้งานแฟชั่นอย่างเปี่ยมล้น แรงนั้นผลักดันให้เขาขวนขวายจนกลายเป็นดีไซเนอร์ที่เดินสายประกวดทั่วโลก จนล่าสุด เครื่องแต่งกายที่เขากำลังปักใจหลงใหลอย่างยิ่งคือ น้ำหอม

วิธีการพูด ความกระตือรือร้น และสายตาเป็นประกาย ของเขาทำให้เราเชื่อว่าชินรักธุรกิจนี้จริงๆ ไม่ใช่ทำเพียงเพราะเม็ดเงิน

แล้วเรื่องราวการสร้างสรรค์กลิ่นที่เขาเล่าก็ยิ่งเป็นเครื่องยืนยัน

Butterfly Thai Perfume

01

กลิ่นที่จำได้จากวัยเด็ก

ชินเติบโตมาด้วยการเป็นเด็กเลี้ยงวัวที่ชัยภูมิ

นิสัยวัยเด็กของเขาฉายแววการเป็นนักแยกแยะกลิ่นโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว ชินชอบดม ดม และดม ตั้งแต่กลิ่นที่ว่าหอมอย่างอาหารในครัว ไปจนถึงกลิ่นถุงเท้าเก่าไม่ได้ซัก

“ในกลิ่นถุงเท้ามันเหมือนขยะ บวกกับกลิ่นเลือด กลิ่นความอับ ถ้าดมดีๆ จะมีกลิ่นดอกมะลิด้วยนะ” ชินเล่าถึงสิ่งที่เด็กชายคนนั้นแยกแยะได้

ในชนบท เขาได้ดมกลิ่นของธรรมชาติอย่างไทย เช่น กลิ่นขี้วัวที่เขาเลี้ยงทุกวัน หรือกลิ่นกล้วยไม้ป่า ที่จะออกดอกปีละครั้งในเดือนเมษายน และจะปล่อยกลิ่นเฉพาะเวลา 2 ทุ่ม ทำให้เขาต้องปีนต้นไม้ขึ้นไปรอดมกลิ่นมัน พอดมจน 3 ทุ่มกลิ่นหมดเขาก็กลับบ้าน

เมื่อโตมาเขาก็ค้นพบว่า ความหลงใหลในกลิ่นของเขานำมาใช้งานได้

Butterfly Thai Perfume

Butterfly Thai Perfume

02

หาเรียนรู้กับคนไปทั่ว

วันที่ชินตัดสินใจจะลองทำน้ำหอม เขาเริ่มต้นจากการแสวงหาความรู้

ในแง่หนึ่ง เขาไปศึกษาศาสตร์น้ำหอมแบบสากลด้วยการลงคอร์สเรียนต่างๆ แต่ในอีกด้าน เขาก็พยายามเก็บหอมรอมริบความรู้เรื่องกลิ่นแบบไทยๆ โดยการถามไปทั่ว หากใครดูมีแววจะรู้ เขาก็จะสืบเสาะไปคุยมาจนได้ แล้วเก็บความรู้และแนวคิดต่างๆ ที่ได้มาไว้ในสมุดจด 1 เล่ม

ชินเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า “เราถามทุกคน เราเรียนในห้องเรียนไม่ได้ ต้องศึกษาจากถาม เช่นไปเจอคุณลุงคุณป้าที่ร้านขายยาในเยาวราช เราก็ถามว่า คุณลุงคุณป้าทำน้ำหอมได้มั้ยครับ คุณป้าตอบว่าได้ คุณป้าจะไปสำเพ็งต่อ ผมขอขึ้นแท็กซี่ไปด้วยได้มั้ยครับ ทำยังไงบ้างครับป้า นั่งคุยกันบนแท็กซี่ เขาแนะนำอะไร แนะนำใคร เราก็จดไว้ พอถึงสำเพ็งก็ลง”

การศึกษาตามหามอบทริกเจ๋งๆ ให้ชินหลายประการ เช่น ไขชะมดเช็ดที่มีกลิ่นเหม็นกลายเป็นสิ่งที่หอมได้ด้วยการผสมน้ำมันสกัดจากดอกจำปี ใบเนียมปกติจะไม่มีกลิ่น แต่เมื่อนำไปปิ้งไฟจะมีกลิ่นหอม การใช้กลิ่นไม้กฤษณาจะช่วยเปลี่ยนความเหม็นของกลิ่นประจำเดือนให้กลายเป็นกลิ่นที่เซ็กซี่ได้ เป็นต้น

ด้วยวิธีนี้ ชินก็ได้ศาสตร์กลิ่นแบบไทยๆ มา

Butterfly Thai Perfume Butterfly Thai Perfume

03

อ่านหนังสือเพื่อแรงบันดาลใจ

นอกจากการหาความรู้ด้วยวิธีคุยกับคนแล้ว ชินอ่านหนังสือ

ชินนำเอาสิ่งที่เรียนรู้เช่นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทย มาตีความต่อจนกลายเป็นกลิ่นต่างๆ เพราะเขามองว่ากลิ่นคือการเก็บความทรงจำ เก็บห้วงเวลาที่เราอาจหลงลืมไป เมื่อได้ดมกลิ่นนั้นอีกครั้งก็จะระลึกถึงมันอีก
เช่น กลิ่นโคลนสาบควาย ที่ชินเก็บบรรยากาศของหญ้าที่กำลังโดนควายเล็ม โคลนที่ติดอยู่บนตัวควาย น้ำคลองและท้องนา เมื่อดมแล้วจะเห็นภาพชีวิตชนบทก็จะกระแทกเต็มตา

หรือกลิ่นกฤษณากำยาน กลิ่นสุดฮิตที่เกิดมาจากเมื่อ 200 ปีก่อนไม้กฤษณาคือทองคำของชาวไทย เพราะเป็นของหายาก จะออกกลิ่นแรงให้ตามหาในคืนพระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น ไม้ชนิดนี้มีมูลค่าสูงมาก จะมีแต่กษัตริย์ ราชวงศ์ และชนชั้นสูง เท่านั้นที่ได้ใช้ จนชินอยากนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าให้คนชนชั้นกลางและชนชั้นล่างได้ฟังบ้างผ่านการลองใส่น้ำหอมนี้ดู

หรืออย่างกลิ่นกุหลาบมอญที่ดูเผินๆ แล้วอาจคล้ายกลิ่นกุหลาบทั่วไป แต่มีความพิเศษ เพราะมันเก็บเรื่องราวของครั้งที่สยามไปตีเมืองพม่า และนำกุหลาบนี้กลับมา กุหลาบนี้จะเล็กมาก และหอมหวานกว่ากุหลาบของฝรั่ง
ผลของการอ่านทำให้น้ำหอมไม่ได้แค่หอม แต่มีเรื่องราว

Butterfly Thai Perfume Butterfly Thai Perfume

04

เล่นแร่แปรธาตุจากจินตนาการ

แน่นอนว่าการเสกกลิ่นแบบกุหลาบมอญ หรือโคลนสาบควาย หรือข้าวเหนียวทุเรียน ไม่ได้ทำง่ายๆ
เคล็ดลับของการทำน้ำหอม คือการเลียนแบบกลิ่น

ชินเล่ากระบวนการสร้างกลิ่นว่า ต้องเริ่มจากการจินตนาการแยกแยะว่าถ้าอยากได้กลิ่นแบบนี้จะต้องผสมกลิ่นอะไรลงไปบ้าง โดยชินใช้คำว่าการเลียนแบบองค์ประกอบทางเคมี คือใช้วัตถุดิบอย่างหนึ่ง แต่ผสมจนหลอกให้มีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายวัตถุดิบอีกอย่าง เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง ใช้มะพร้าวแก่ไปคั่วไฟให้กลิ่นเหมือนข้าวเหนียวมูน แล้วก็ใช้กลิ่นกล้วยเจือจางและแต่งกลิ่นจนออกมาคล้ายมะม่วง รวมออกมาแล้วดมเผินๆ จึงเหมือนข้าวเหนียวมะม่วงเลย

การผสมกลิ่นเช่นนี้ช่วยลดราคาต้นทุนได้ด้วย เช่น การน้ำมันแฝกหอมมาผสมกับมะนาว กลายเป็นกลิ่นกุหลาบมอญ ซึ่งหากใช้กุหลาบมอญจริงๆ กิโลกรัมหนึ่งก็ 4 แสนกว่าบาทแล้ว

ชินนำภูมิปัญญาไทยที่ได้จากการสอบถาม หนุนด้วยแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ มาผสมกลิ่นน้ำหอม ผสมแล้วดม ผสมแล้วดมซ้ำๆ อยู่ 300 – 500 ครั้ง กว่าจะได้กลิ่นที่ใช่ที่สุดสักกลิ่นหนึ่ง

“มันคือวิทยาศาสตร์ ผสมกับศิลปะแห่งจินตนาการ” ชินบอก

Butterfly Thai Perfume Butterfly Thai Perfume

05

คนไทยก็ชอบ คนต่างชาติก็ถูกใจ

“จริงๆ น้ำหอมทำเล่นๆ ไม่คิดจะขายเลย” ชินสารภาพให้เราฟังในช่วงท้ายบทสนทนา

แบรนด์นี้เริ่มมาจากการทดลองนั่งทำที่ปลายเตียงและในครัวหลังบ้าน ด้วยบีกเกอร์และถ้วยกาแฟ ก่อนจะมอบให้เพื่อนเป็นของขวัญวันเกิด แล้วเพื่อนแนะนำให้ลองขายดู ขายไปขายมา จากร้อยเป็นพัน รู้ตัวอีกทีก็นำเงินมาซื้อรถได้ 1 คันแล้ว และเมื่อเดินทางไปเปิดบูทที่ฮ่องกง ของทั้งหมดที่หิ้วไปก็ขายหมดเกลี้ยงทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะขายเลยด้วยซ้ำ

เมื่อพบว่าสิ่งที่เขาทำอยู่เป็นมูลค่า เลี้ยงคนจำนวนหนึ่งได้และเลี้ยงครอบครัวตัวเองได้ เขาจึงเริ่มขยายกิจการไปยังต่างประเทศ โดยทำแบรนด์ Butterfly Collection ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีกว่า ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ราคาแพงกว่า
ในขณะเดียวกัน แบรนด์ Thai Perfume ที่อาจทำกำไรไม่ได้มากเท่าเขาก็จะยังคงทำอยู่ เพราะอยากให้ชาวไทยด้วยกันได้ใช้ และเราเชื่อแบบนั้นจริงๆ เมื่อมองเห็นพนักงานในห้างเดินแวะเวียนมาซื้อน้ำหอมของเขาไปใช้

“ความตั้งใจดั้งเดิมของเราคือ เราอยากให้ทุกคนได้สัมผัสมัน ไม่ว่าจะจนหรือจะรวยก็หยิบมันไปใช้ได้ เป็นน้ำหอมที่ทำให้ญาติใช้ ให้เพื่อนใช้ ให้คนจับต้องมันได้ เท่านั้นเอง” ชินบอก

Butterfly Thai Perfume

Butterfly Thai Perfume

06

หอมไกลไม่สิ้นสุด

‘กลิ่นผี’ คือกลิ่นต่อไปที่ชินตั้งใจจะทำ

“เวลาเราคิดถึงผี จะได้กลิ่นอะไรล่ะ ต้องแทนด้วยอะไร เราสื่อสารด้วยกลิ่นศพเหรอ กลิ่นธูป กลิ่นน้ำอบที่เจืออยู่ มันเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ”

เมื่อเราทำหน้าสงสัยว่าจะมีใครใช้กลิ่นที่ว่ามาเหรอ ชินก็รีบอธิบายต่อ

“น้ำหอมก็เหมือนเสื้อผ้า คือเรามี Haute Couture กับ Ready to Wear กลิ่นบางกลิ่นเราทำเพื่อให้ขายแล้วใช้ได้กับทุกคน แต่ก็มีกลิ่นที่แสดงตัวตนเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์เราด้วย”

ชินเชื่อว่าชาวต่างชาติหลายคนที่ซื้อกลิ่นแบบข้าวเหนียวมะม่วงหรือโคลนสาบควายกลับไป เขาต้องการใช้กลิ่นเหล่านั้นในช่วงเวลาที่อยากระลึกถึงความสุขที่เขามีในเมืองไทย เมื่อได้กลิ่นเหล่านี้ก็จะจดจำได้ว่าเมืองไทยมอบอะไรให้แก่พวกเขาบ้าง

“กลิ่นไทยมันไปได้อีกเยอะมาก มันอาจมีกลิ่นราชประสงค์ เป็นกลิ่นของธูปผสมกลิ่นของควันรถ หรืออาจมีกลิ่นของเชียงใหม่ กลิ่นของภูเก็ต

“มันไม่มีจุดจบ มีอะไรให้เล่นอีกเยอะมาก” นักปรุงกลิ่นบอกด้วยความหวัง

Butterfly Thai Perfume

Website: www.butterflythaiperfume.com/
Facebook: Butterfly Thai Perfume

หากอยากไปลองดมกลิ่นข้าวเหนียวมะม่วง โคลนสาบควาย และพวงมาลัย ของ Butterfly Thai Perfume น้ำหอมมีวางขายอยู่ในหมวด Therapist ของโซน ICONCRAFT ชั้น 4 ของ ICONSIAM

และถ้าสนใจเรียนเรื่องการทำน้ำอบน้ำปรุงและศาสตร์กลิ่นไทยๆ เพิ่มเติม สมัครมาที่เวิร์กช็อป สารพัดช่าง 01 : The Therapist ได้เลย โดยในงานนี้ชินจะไปร่วมบรรยายด้วยนะ

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ