“หมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอเล็กๆ ซึ่งอยู่ห่างไกลไปจากความเจริญ ย่อมเป็นที่อยู่ของชีวิตเล็กๆ ที่อาจจะไม่มีความหมายอะไรสำหรับคุณหรือใครก็ตามที่ต้องต่อสู้กับเรื่องราวใหญ่โต แต่ความหมายของชีวิต วัดกันด้วยถิ่นที่พวกเขาถือกำเนิด การได้รับการศึกษา การยกย่องจากสังคมอย่างนั้นหรือ เมื่อคุณอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง จะปล่อยเฉยโดยมิได้สนใจไยดีชีวิตอื่นในสังคมอื่นเลยละหรือ”

ข้อความด้านบนเป็นถ้อยคำของ นิพพานฯ ในคำนำของวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก อ่านดูแล้วคล้ายเป็นข้อความตัดพ้อเรื่องความไม่เท่าเทียม แต่ก็ดูเป็นคำเชิญชวนให้ออกเดินทางออกไปทำความรู้จักกับสถานที่และเรื่องราวที่เราไม่คุ้นเคย
The Cloud Journey 05 : ผีเสื้อและดอกไม้ เป็นการเดินทางที่เกิดขึ้นก่อนฝนจะทิ้งช่วง เราชวนผู้อ่านกลุ่มเล็กๆ ไปทำความรู้จักเรื่องราวเล็กๆ ที่เป็นฉากหลังของวรรณกรรมเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ที่จังหวัดสงขลา

ทริปนี้เราเดินทางพร้อม อาจารย์มกุฏ อรฤดี เจ้าของนามปากกานิพพานฯ ผู้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เจ้าของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และผู้นำทางกิตติมศักดิ์ให้แก่พวกเรา โดยมี ม.ล.วราภา อุกฤษณ์ ผู้ตัดต่อภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ เป็นแขกรับเชิญพิเศษที่จะมาเล่าเบื้องหลังของหนังเรื่องนี้
ผีเสื้อและดอกไม้ ได้รับยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่มีคุณค่าที่สุดเล่มหนึ่งของไทย วรรณกรรมเล่มนี้กวาดรางวัลมากมาย และภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรมเล่มนี้ก็ได้รางวัลทั้งในและต่างประเทศมากมายเช่นกัน

แต่ในทริปนี้สิ่งเหล่านั้นกลับกลายเป็นรายละเอียดเพียงส่วนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเรื่องราวเบื้องหลังของนักเขียนหนุ่ม (ในขณะนั้น) ที่เขาอยากจะเล่าผ่านน้ำหมึก ตัวตนของเขาที่ถูกสะท้อนออกมาในงานวรรณกรรมชิ้นสำคัญชิ้นนี้ และวันเวลาครึ่งศตวรรษในอาชีพคนทำหนังสือที่มีเรื่องเล่าสนุกสนานไม่แพ้นิยายดีๆ
ในวันแรกของทริป พวกเราล้อมวงที่ Misiem’s อาคารเก่าแก่ที่ได้รับการอนุรักษ์โดย พี่เหมียว-เกล้ามาศ ยิบอินซอย เพื่อฟังเรื่องราวของอาจารย์มกุฏเมื่อครั้งยังเป็นเด็กชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ ณ อำเภอเทพา อำเภอเล็กๆ ในจังหวัดสงขลา
การนั่งสนทนาครั้งนั้น หลายคนมองหาความเป็นเด็กชายฮูยันในตัวของอาจารย์

เด็กชายมกุฏ
“พ่อของผมไม่รู้หนังสือและแม่ของผมก็เรียนหนังสือถึงแค่ประถมสอง ผมเป็นลูกคนเดียวที่ได้เรียนหนังสือ เพราะพี่ๆ โชคร้ายเกิดมาตอนที่มีสงครามและครอบครัวก็ยากจน” อาจารย์พูดถึงตัวเองว่าเป็นคนที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมคุณสมบัติในการที่จะเป็นคนสลักสำคัญ แต่ยังโชคดีที่มีพ่อและแม่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าการเกิดมาในสถานะไหนก็ไม่สำคัญเท่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไร
แม่ของอาจารย์เป็นนักค้าขายข้ามชาติทั้งๆ ที่ฟังภาษาต่างประเทศใดๆ ไม่ออกทั้งสิ้น แต่อาศัยว่าอำเภอเทพาอยู่ติดชายแดน จึงรับคลื่นวิทยุจากสิงคโปร์ได้ เมื่อฟังซ้ำๆ ทุกวัน เธอจึงจับใจความจากภาษาจีนได้ว่ามันเป็นการบอกราคารับซื้อยางพาราที่สิงคโปร์ เธอก็เลยรู้ว่าราคายางพาราที่สิงคโปร์ต่างจากไทยเท่าไหร่ แล้วทำราคาจากตรงนั้น จนกอบกู้ฐานะครอบครัวจากที่ยากจนขึ้นมาได้
ถึงแม้ตัวจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่แม่ของอาจารย์ก็เห็นความสำคัญของการศึกษา เมื่อครอบครัวมีฐานะดีขึ้นแล้ว แม่ก็เลยส่งอาจารย์ไปเรียนที่โรงเรียนแสงทองวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำในอำเภอหาดใหญ่ แม้จะเป็นโรงเรียนฝรั่งที่เข้มงวด แต่ก็มีขุมทรัพย์ใหญ่โตคือห้องสมุดประจำโรงเรียนที่มีนิตยสาร วารสารใหม่ๆ มาส่งทุกสัปดาห์

เมื่อได้ไปอยู่ในเมืองอาจารย์เลยมีโอกาสได้ไปร้านหนังสือ หนังสือเล่มแรกที่เด็กชายมกุฏซื้อก็คือ ศรีธนญชัย ซื้อที่ร้านแพร่พิทยาในอำเภอหาดใหญ่ และก็เลือกซื้อแบบปกแข็งด้วย เพราะมันสวยกว่า
“แม่ไม่ได้รวยแต่ก็ส่งไปเรียนโรงเรียนดีๆ เพราะคิดว่าควรจะให้ลูกไปได้แบบที่ควรจะไป แม่เข้าใจด้วยว่าชอบอ่านหนังสือ แต่ที่เทพาไม่มี ผมไปอยู่โรงเรียนประจำสามปี รู้สึกว่าเป็นสวรรค์ของเด็กเลย” อาจารย์พูดประโยคนี้ด้วยแววตาเป็นประกาย
หลังจากเรียนที่โรงเรียนประจำได้ 3 ปี อาจารย์ก็ขอแม่กลับบ้าน เพราะเกรงใจที่ค่าเล่าเรียนแพง อาจารย์มกุฏได้ไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมในอำเภอเทพาซึ่งเปิดมาได้แค่ 2 ปี และไม่มีห้องสมุด
“ผมไปถามครู ครูบอกว่าไม่มีงบประมาณ ผมก็ยังไม่เข้าใจหรอกว่าคำว่างบประมาณคืออะไร ผมรู้แต่ว่าที่นี่ควรจะมีหนังสือ สัปดาห์ต่อมาผมก็เริ่มรวบรวมค่าขนมจากเพื่อนที่อยากอ่านหนังสืออีก 8 คน สมัยนั้นเราได้วันละ 1 บาท ทุกวันมันต้องใช้ มันจำเป็น เด็กต้องกินขนม แต่ก็ยอมอดขนมแล้วเรี่ยไรกันมาได้เงิน 9 บาท ไปซื้อนิตยสารได้ 4 ฉบับ นั่นเป็นห้องสมุดแรกที่ผมทำ ตอนนั้นอายุ 13 ปัจจุบันนี้โรงเรียนนั้นมีหนังสือเป็นหมื่นเล่มจากการเรี่ยไรกันเอง โดยใช้เวลาทั้งหมด 25 ปี มันไม่ยุติธรรมเลย เด็กในเมืองมีหนังสืออ่านเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เด็กในเทพาไม่มีสิทธิ์อ่านหนังสือ ไม่มีหนังสือให้อ่าน เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณให้แก่โรงเรียนในชนบท
“จากนั้นผมก็ตั้งใจว่าผมจะทำให้ทุกคนในประเทศไทย อ่านหนังสือให้ได้”
คนทำหนังสือ
เราเรียกอาจารย์มกุฏว่าอาจารย์ แต่กว่าครึ่งชีวิตการทำงาน อาจารย์ไม่ได้เป็นอาจารย์แม้จะจบวิชาครูมาก็ตาม อาจารย์ตั้งใจเดินทางบนเส้นทางของนักเขียนผู้พยายามจะไปสู่การเป็นบรรณาธิการ เพื่อที่จะทำให้ทุกคนอ่านหนังสือ
เด็กหนุ่มชื่อมกุฏในวัย 16 ปี หอบหิ้วความรู้สึกไม่ยุติธรรม ที่ชาวบ้านไม่มีหนังสืออ่าน มาทำงานที่หนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง แล้วต่อมาก็ได้เป็นนักเขียนบทความเรื่องการเมือง และใช้นามปากกาว่า นิพพานฯ

อาจารย์เล่าถึงนามปากกานี้ว่า “เมื่อเรียนอยู่ที่วิทยาลัยครูสงขลาผมทำหน้าที่บรรณาธิการ พอต้องหานามปากกาใหม่ก็เปิดพจนานุกรม เจอคำว่านิพพาน เป็นคำที่ดูสวยและเสียงก็เพราะ พอเปิดดูความหมายก็เห็นว่าเรายังไปไม่ถึง แต่ว่าอยากจะใช้แล้ว ก็เลยเอาอย่างนี้ดีกว่า ยังไม่นิพพานก็ใส่ไปยาลน้อยเข้าไป ขณะนั้นอายุ 17 – 18 ปี เริ่มเขียนให้สำนักพิมพ์การเมืองทั้งหลายแล้ว ตอนแรกตั้งใจว่าจะใช้กับต้นฉบับการเมืองเท่านั้น แต่พอใช้ไปแล้วมันดังมาก ขนาดจอมพลประภาสส่งคนมาตาม ก็เลยคิดว่าควรใช้หากินต่อไป พอเขียนหนังสือเล่มแรกเรื่อง ทุ่งดอกไม้ก็ เลยใช้นามปากกานี้และก็ใช้เรื่อยมา
“ผลงานชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์ ผมเขียนตอนอายุ 19 และเขียนแบบที่เป็นชาวบ้าน ผมเป็นคนต่างจังหวัด ก็เลยมีสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ไม่เห็น แต่ผมเห็น ผมเห็นว่าคนของเราขาดโอกาส ไม่มีหนังสืออ่าน ไม่มีความรู้ จึงต้องเป็นกรรมกรที่ต้องแบกของจนกระทั่งแก่ และตายไป ไม่มีโอกาสให้เขาได้ทำอย่างอื่นเลย มันไม่ยุติธรรม”

เมื่อเริ่มออกเดินก้าวแรกตอนอายุ 19 ปี อาจารย์ก็เริ่มมีความหวังว่าอยากจะเขียนจนเปลี่ยนแปลงอะไรได้ “แต่ความหวังนั้นก็เหมือนลูกคลื่น” อาจารย์บอก “เดี๋ยวก็มีหวังเดี๋ยวก็หมดหวัง ผมมีความหวังมาเป็นระลอกจนถึงวันนี้ ด้วยเรื่องเดียวคืออยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือ”
คลื่นความหวัง
ช่วงปี 2514 – 2528 อาจารย์ได้เปลี่ยนบทบาทจากคนทำบทความการเมืองในหนังสือพิมพ์ไปเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ซึ่งก็ยังคงตอบโจทย์เรื่องการอยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือ แล้วก็ยังเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์เขียนและพิมพ์วรรณกรรม ผีเสื้อและดอกไม้ เป็นครั้งแรก จนได้รับรางวัลและมีชื่อเสียงมากในเวลาต่อมา
“ผีเสื้อและดอกไม้เปลี่ยนชีวิตอาจารย์ไปอย่างไรบ้าง” มีคนถาม

“มันทำให้ผมต้องเปิดเผยตัวมากขึ้น ทำให้ผมไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอีกต่อไป แต่มันก็เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้หนังสือมีชื่อเสียง และทำให้คนได้อ่าน” อาจารย์ตอบ
ปี 2521 วรรณกรรม ผีเสื้อและดอกไม้ ตีพิมพ์ครั้งแรก และได้รับรางวัลจากการประกวดหนังสือแห่งชาติในปีเดียวกัน
ปี 2528 ผีเสื้อและดอกไม้ กลายมาเป็นภาพยนตร์ โดย ยุทธนา มุกดาสนิท และได้รับรางวัลตุ๊กตาทองถึง 7 รางวัล รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีเดียวกันกับที่ออกฉาย
ปี 2562 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกหยิบยืมจากหอภาพยนตร์แห่งชาติโดย ม.ล.วราภา อุกฤษณ์ เจ้าของรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่องนี้ มาฉายให้พวกเราหลายคนได้ดูเป็นครั้งแรก และหลายคนก็ถือโอกาสได้นึกถึงวันเก่าๆ ณ a.e.y.space ของ เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีอายุ 35 ปีแล้ว แม้บรรยากาศในเรื่องจะดูเก่าไม่คุ้นตา แต่เรื่องราวในภาพยนตร์ก็ยังเข้ายุคเข้าสมัย เรื่องราวของระบบการศึกษาที่มีกฎเกณฑ์และข้อจำกัดในการเข้าถึงมากมาย จนทำให้แม้คนที่อยากจะลืมตาอ้าปากก็เรียนหนังสือไม่ได้ เรื่องราวของชาวมุสลิมที่มีความเชื่อและความหมายที่งดงาม เรื่องความรักแบบเด็กๆ ของฮูยันและมิมปี ก็ยังทำให้คนดูยิ้มเขินได้ไม่ว่าจะยุคไหน และฉากกองทัพมดบนหลังคารถไฟตอนพระอาทิตย์กำลังจะตก ก็ทำให้ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องในยุคนี้ถึงกับต้องอาย
หลังจากฉายภาพยนตร์จบ อาจารย์มกุฏถึงกับบอกว่า “ผมไม่เคยผิดหวังเลย ทุกครั้งที่ได้ดูก็ยังรู้สึกว่าดีอยู่ มีภาพยนตร์น้อยเรื่องที่ทำให้วรรณกรรมดีขึ้น และภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้วรรณกรรมดีขึ้นมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้มีส่วนทำให้หนังสือมีชื่อเสียง ได้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียน และก็ได้ตีพิมพ์ซ้ำมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้”
บ้านเกิดของผีเสื้อ
วันที่สองของการเดินทาง อาจารย์มกุฏพาพวกเราไปที่อำเภอเทพา บ้านเกิดของอาจารย์ และบ้านเกิดของ ผีเสื้อและดอกไม้
ระหว่างทาง อาจารย์พาพวกเราไปหยุดที่ทุ่งกว้างแห่งหนึ่งที่ปัจจุบันไม่มีอะไร แต่เมื่อปี 2518 มันมีความเงียบ ที่อาจารย์บอกว่ามันทำให้เขามีความสุขมาก

บ้านกลางทุ่ง ที่ด้านหลังเป็นภูเขาและด้านหน้าเป็นทะเล อยู่ในพื้นที่ซึ่งยุคนั้นเรียกว่าพื้นที่สีชมพู เนื่องจากบริเวณชายแดนอย่างอำเภอเทพามีการจับกุมการขนยาเสพติดเป็นจำนวนมาก รัฐจึงกำหนดให้เป็นพื้นที่อันตราย แต่สำหรับคนในพื้นที่ มันยังเป็นบ้านและชุมชนที่ยังคงต้องช่วยเหลือและดูแลกันและกัน
“ชาวบ้านจะจัดเวรกันมานอนเป็นเพื่อนผมวันละสองคน เย็นๆ ก็จะเดินข้ามทุ่งมา มีปืนคนละกระบอก ผมอยู่ตรงนี้เวลามีคนจะคลอดลูกก็ชอบมีคนมาตามให้ผมไปช่วย ใครทำผิดมาก็ชอบมาขอหลบ แต่รวมๆ แล้วที่นี่เป็นบ้านที่เงียบ สงบ ผมอยู่ที่นี่แล้วมีความสุขมาก”

หลังจากอยู่ที่นี่เพื่อจะได้ใกล้ชิดแล้วก็เฝ้าดูความเป็นอยู่ของผู้คนนาน 1 ปี อาจารย์ก็ใช้เวลาเพียง 11 คืนในการเขียนต้นฉบับ ผีเสื้อและดอกไม้ และบ้านหลังนี้ก็โดนรื้อออกตามคำสั่งของแม่ของอาจารย์ ตอนที่อาจารย์เข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปส่งต้นฉบับ
แม้บ้านกลางทุ่งจะไม่อยู่แล้ว แต่หลายฉากสำคัญและเรื่องราวของ ผีเสื้อและดอกไม้ ยังคงอยู่
โรงเรียน
ที่ต่อมาที่พวกเราไปแวะคือโรงเรียนเทพา ซึ่งเป็นโรงเรียนของฮูยัน ที่ที่ฮูยันเอาไอศครีมแท่งมาขายและเป็นที่ที่ทำให้ฮูยันได้รู้จักกับมิมปี

ในเรื่อง ฮูยันได้ปลูกต้นหูกวางเอาไว้ที่โรงเรียนต้นหนึ่ง ในวันที่ทางโรงเรียนกำหนดให้เป็นวันต้นไม้ เขาดูแลรักษาต้นหูกวางต้นนั้นจนวันที่เขาต้องออกจากโรงเรียนไป

ที่โรงเรียนวันนี้ก็มีต้นหูกวาง แต่ก็ไม่มีอะไรบอกได้ว่ามันเป็นต้นหูกวางของฮูยันหรือเปล่า
สถานีรถไฟ
ห่างจากโรงเรียนไป 1 กิโลเมตรเป็นสถานีรถไฟเทพา และบ้านที่อยู่ในวัดของฮูยัน พ่อ และน้องๆ ของเขา สถานีรถไฟเทพาเป็นสถานีเล็กๆ แม้เราจะไม่ได้เจอกองทัพมด และความคึกคักของสถานีที่บรรยายในหนังสือก็แทบไม่เหลือให้เห็น แต่เรื่องสนุกคือการนั่งมองรถไฟขบวนต่างๆ ที่ยังคงผ่านมาและผ่านไปเพื่อขนผู้คน สัมภาระ ความหวัง และความฝัน ขึ้นเหนือล่องใต้ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง


ทางรถไฟที่ผ่านสถานีเทพาเป็นทางรถไฟสายมลายูที่ผ่านจากชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ไปจนถึงช่องเขาขาดที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเส้นทางขนอาวุธในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเส้นทางที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย แต่ทุกวันนี้สถานีเทพาก็เป็นเพียงจุดเล็กๆ บนเส้นทางที่ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว
นอกจากพวกเรา อาจารย์จึงได้เชิญผู้บริหารจากกระทรวงวัฒนธรรมให้มารู้จักสถานีรถไฟเทพาด้วย เพื่อจะเสนอให้พัฒนาอำเภอเทพาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม โดยการบูรณะของเดิมให้น่าท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้อำเภอเทพาไม่ใช่เพียงแค่ทางผ่าน ชาวบ้านก็จะได้มีรายได้มากขึ้น ผู้คนก็จะได้มีโอกาสมากขึ้น

สถานีรถไฟเทพาเป็นสถานีที่สวยมาก ทางเข้าสถานีเป็นทางโค้ง และทางออกก็เป็นทางโค้ง ซึ่งเมื่อพ้นโค้งไปจะเห็นสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเทพาสีดำตัดกับฟ้าใสๆ เป็นภาพที่น่าลงอินสตาแกรมสุดๆ

สะพานนี้มีความพิเศษและเป็นผลงานทางวิศวกรรมที่น่าทึ่ง ทั้งในสมัยนั้นและในสมัยนี้ เพราะว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่ไม่มีตอม่อกลางสะพาน แต่ยังรับน้ำหนักมหาศาลของรถไฟได้ สะพานนี้สร้างโดยวิศวกรชาวเยอรมัน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ขนของจากเมืองหลวงไปขายที่ประเทศมาเลเซีย
อาจารย์มกุฏบอกว่า “สมัยผมเป็นเด็ก สะพานนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ในโลกของผมเลย แล้วถ้าคุณยืนตรงใต้สะพาน เวลาที่รถไฟวิ่งผ่าน คุณจะได้ยินเสียงที่แรงสั่นของสะพานไปกระทบกับน้ำทำให้เป็นเสียงบรรเลงที่ไพเราะมาก”
คนเทพา
ผู้คนที่อำเภอเทพาตื่นเต้นมากกับการมาเยือนของคนสำคัญอย่างอาจารย์มกุฏ ทุกคนที่เราพบ ล้วนแต่เล่าให้ฟังถึงความเกี่ยวข้องของเขา หรือคนที่เขารู้จัก กับภาพยนตร์ ผีเสื้อและดอกไม้ กันทั้งนั้น บางคนอยู่ในหนัง บางคนเคยเดินผ่านฉาก บางคนเคยได้ยินเรื่องเล่า บางคนถึงกับเคยทำอาหารส่งกองถ่าย

ถึงเราจะเห็นว่าวันนี้ทุกคนดูมีความสุข แต่อาจารย์กลับบอกว่า “คนเทพาเคยมีความสุขกว่านี้ วันนี้ผมเห็นว่าเขามีความทุกข์ เพราะการพัฒนาที่ไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของชาวบ้าน”
ตอนนั่งเรือเที่ยวแม่น้ำเทพา พวกเรามีแขกพิเศษเป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อปกป้องเทพา ทั้งคุณหมอ นักข่าวท้องถิ่น และชาวบ้านธรรมดาที่กำลังจะถูกยึดบ้านเพื่อเอาพื้นที่ไปสร้างโรงไฟฟ้า คนธรรมดาเหล่านี้ต้องต่อสู้กับอำนาจและความสำคัญของเรื่องที่คนทั่วไปบอกว่ายิ่งใหญ่และสำคัญกว่า แต่ใครจะคิดบ้างว่าอะไรจะยิ่งใหญ่และสำคัญไปกว่าบ้าน และอนาคตของลูกหลานของตัวเอง
ช่วงนี้ทำให้เราเห็นความไม่ยุติธรรมที่อาจารย์พูดถึง และเห็นความตั้งใจแก้ปัญหาจากคนที่สร้างโอกาสขึ้นมาด้วยตัวเองอย่างอาจารย์มกุฏ

อาจารย์บอกตัวแทนชุมชนที่มาพบว่า “ถ้าทุกคนในชุมชนทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์บอกว่าไม่เอา ก็คงไม่มีใครทำอะไรได้ แต่วันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะยังมีคนที่ยังไม่ได้ข้อมูลของสิ่งที่จะเกิดขึ้น และไม่มีความรู้ความเข้าใจ มันไม่ใช่ความผิดของเขา มันเป็นความไม่ยุติธรรมที่ทุกคนไม่เท่าเทียม พวกเราต้องส่งเสริมความรู้ แทนที่จะใช้ความรุนแรง เพราะความรุนแรงมันไม่ช่วยอะไรเลย”
“แด่ความรักต่อกัน ความหมาย และการมีชีวิต” เป็นคำโปรยที่อยู่ในหนังสือ ผีเสื้อและดอกไม้ เป็นสิ่งที่อาจารย์บอกว่าอยากบอกผ่านตัวละคร และเราว่ามันเป็นบทสรุปของสิ่งที่พวกเราได้มาพบเจอที่เทพาวันนี้ “ถ้าเราเข้าใจสามอย่างนี้เราก็คงจะอยู่กันอย่างปกติสุข” อาจารย์ฝากไว้ให้คิด

พวกเราเที่ยวเล่นอยู่ที่เทพากันทั้งวัน จนทำให้คิดถึงเด็กๆ ในเรื่องที่ไม่ควรจะต้องมีความกังวลอะไร แต่สถานการณ์ชีวิตไม่อนุญาตให้พวกเขาเป็นอย่างนั้น แม้ทั้งวันจะมีแดดจ้าเป็นส่วนใหญ่ แต่ฮูยันก็มาทักทายเราบ้างเป็นระยะๆ ในรูปแบบของสายฝน (ฮูยัน แปลว่า ฝน แต่มิมปีแปลว่าอะไรอาจารย์บอกว่าจำไม่ได้) คนที่นั่นบอกว่าเป็นปกติของภาคใต้ที่ฝนจะมาเร็วไปเร็ว ฟังดูคล้ายกับความเจริญอันไม่ยั่งยืนที่ใครก็ตามพยายามจะยัดเยียดให้เทพา
ร้านหนังสือเล็กๆ
วันสุดท้ายของการเดินทาง หลังจากพลาดข้าวยำโบราณที่พวกเราหมายมั่นปั้นมือเพราะร้านปิดวันจันทร์ เราก็ไปรวมตัวกันที่ร้านหนังสือเล็กๆ ของ อริยา ไพฑูรย์ อดีตบรรณาธิการวรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของประเทศ เพื่อฟังเรื่องราวของ ผีเสื้อและดอกไม้ กันต่อ

ราว 20 ปีก่อน มีร้านหนังสือเล็กๆ เกิดขึ้นที่ถนนพระอาทิตย์ ในกรุงเทพฯ ความลับหนึ่งซึ่งไม่เคยมีใครรู้มาก่อนก็คือ อาจารย์มกุฏมีส่วนสำคัญกับร้านนี้ คือเป็นคนตั้งชื่อร้าน ช่วยออกทุน และเป็นคนขนหนังสือไปวางขาย
“ชื่อร้านผมว่ามันต้องแปลก ก็เลยให้ชื่อว่าร้านหนังสือเล็กๆ ซึ่งผมคิดว่าดี แต่ชื่อที่แปลกนี้กลับกลายเป็นอุปสรรค เพราะเวลาสั่งซื้อหนังสือจากสายส่ง สายส่งจะลดเปอร์เซ็นต์ให้เราน้อย เพราะคิดว่าร้านหนังสือเราเล็ก” อาจารย์เล่าให้ฟังสนุกๆ พร้อมบอกว่าถ้าเปิดร้านหนังสืออีกจะตั้งชื่อว่า “ร้านหนังสือใหญ่ๆ”
Know a book from its cover
ที่ร้านหนังสือเล็กๆ อาจารย์มกุฏเล่าให้เราฟังเรื่องการทำหนังสือ ผีเสื้อและดอกไม้ ผ่านเรื่องของ ‘ปก’ ทั้งที่ใครๆ ก็บอกว่าอย่าเอาปกมาตัดสินหนังสือ แต่อาจารย์มกุฏบอกว่า “หนังสือที่ดีต้องงามตั้งแต่หน้าปกไปจนถึงเรื่องราวข้างใน”
เราคนหนึ่งล่ะ ที่ไม่เคยรู้ว่าการทำปกหนังสือมันจะมีเรื่องราวมากมายขนาดนี้

ปกที่สร้างคนสำคัญ
การพิมพ์ครั้งที่หนึ่งของ ผีเสื้อและดอกไม้ อาจารย์มกุฏเปิดโอกาสให้คนอย่างน้อย 2 คนได้กลายมาเป็นคนสำคัญในวงการหนังสือทุกวันนี้
คนแรกคือ ช่วง มูลพินิจ ผู้วาดรูปประกอบให้ และเขาเพิ่งจะได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติไปเมื่อ 2 ปีก่อน และ ปกรณ์ พงศ์วราภา (ผู้ก่อตั้งนิตยสาร GM) ผู้ดูแลรูปเล่ม ผู้กลายมาเป็นหนึ่งในตำนานคนทำหนังสือในปัจจุบัน
ตอนนั้นทั้งสองยังคงเป็นมือใหม่ในวงการ อาจารย์มกุฏยังยอมรับเองว่าทั้งปกและการวางรูปเล่มก็ยังไม่ได้ถูกใจที่สุด แต่มันก็มีเรื่องที่ให้ทั้งเขาและทีมงานได้เรียนรู้มากมาย

อีกคนหนึ่งที่ได้โอกาสครั้งแรกๆ เป็นการทำปกหนังสือผีเสื้อและดอกไม้คือ อภิชัย วิจิตรปิยกุล เขาเข้ามาทำงานตอนเป็นศิลปินรุ่นใหม่ เพิ่งจบจากศิลปากร ปกที่เขาทำแม้อาจารย์จะรู้สึกว่ามันไม่ลงตัว แต่อาจารย์ก็ให้โอกาส และสิบกว่าปีต่อมา อภิชัยก็ได้ฝากผลงานมาสเตอร์พีซเอาไว้อีกเยอะมาก พวกปกของผีเสื้อที่เป็นภาพคนของสำนักพิมพ์ผีเสื้อล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของเขา
อาจารย์เล่าว่า เวลาที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อทำปกจะวาดรูปขนาดใหญ่มากด้วยสีอะคริลิกหรือไม่ก็วาดสีน้ำมัน
“เราคงจะเป็นสำนักพิมพ์เดียวที่เหลือในโลกนี้กระมังที่ใช้รูปวาดสีน้ำมันเป็นปก ด้วยวัตถุประสงค์ให้มันเป็นปก ไม่ใช้วาดไว้ทำอย่างอื่นแล้วค่อยเอามาใช้ มันละเอียดเสียจนบางทีศิลปินกลัว มีหลายแห่งไม่รับทำงานให้ เพราะบอกว่าเราจู้จี้เกินไป”
ปกที่ผิดพลาด
แม้จะตั้งใจทำปกด้วยความประณีตบรรจง แต่บางทีก็ยังเกิดความผิดพลาด อย่างในการพิมพ์ครั้งที่ 2 ที่ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โทรมาขอพิมพ์ 300 เล่ม เพื่อเอาเข้าห้องสมุดทั่วกรุงเทพฯ การพิมพ์ครั้งนั้นอาจารย์พิมพ์ทั้งหมด 500 เล่ม และทำเป็นปกแข็งพิมพ์ทอง แต่ด้วยความเร่งรีบเลยมีความผิดพลาดเรื่องการจัดวางโลโก้สันปกซึ่งควรจะอยู่ส่วนบนของสัน กลับโดนเลื่อนลงมาด้านล่างจนผิดสัดส่วน แต่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เมื่อจัดพิมพ์เสร็จแล้ว อาจารย์ก็ส่งให้พลตรีจำลอง 300 เล่ม ตามที่สั่ง และอาจารย์เก็บไว้เอง 200 เล่ม แม้ผลที่ออกมาอาจารย์จะไม่ค่อยพอใจ แต่ด้วยครั้งนี้พิมพ์จำนวนน้อย แถมมีตำหนิ ก็เลยทำให้เป็นของหายาก

ในเวลาต่อมา หนังสือเล่มนี้มีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 122 บาทเมื่อปี 2534 ในขณะที่เมื่อปีที่พิมพ์ปี 2522 หนังสือเล่มนี้ราคาเพียงราคา 22 บาท
การพิมพ์ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2533 ก็เป็นเล่มที่หายากที่สุดในบรรดา ผีเสื้อและดอกไม้ ทั้งหลาย เนื่องมาจากรูปปกที่อาจารย์เลือกใช้ดูผิดจาก ผีเสื้อและดอกไม้ ที่เคยมีมา คือเป็นรูปคล้ายจริงของผู้ชายที่มีปีกผีเสื้อ อาจารย์บอกว่าเลือกมาตามความชอบของตัวเอง โดยลืมไปว่าสิ่งที่ตัวเองชอบมักจะล่วงหน้าไป 10 ปี การพิมพ์ครั้งนั้นสายส่งสั่งมา 10,000 เล่ม โดยไม่รู้ว่าเป็นปกแบบนี้ เมื่อสายส่งเห็นปกหนังสือที่พิมพ์เสร็จแล้วก็มาขอลดราคา อาจารย์จึงไม่ขายและขอคืนทั้งหมด หนังสือล็อตนี้โดนฝังดินไป 9,900 เล่ม
“ผมโกรธร้านหนังสือ ที่เอาสิ่งผิดปกติของหนังสือไปเป็นเครื่องต่อรองราคา” อาจารย์เล่าเหตุผลให้ฟัง
แล้วอาจารย์ก็เริ่มขาดทุนในเรื่องการทำหนังสือตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะเมื่อไม่พอใจอะไร ก็เอาหนังสือไปฝัง (สถานที่ฝังคือ ในสำนักงานที่สุขุมวิท ซอย 24 ตอนนี้ที่ดินตรงนั้นแพงมาก) แต่สิ่งที่ไม่โดนฝังไปด้วยคือแรงใจในการทำหนังสือต่อไปของอาจารย์ “ความผิดพลาดมันก็มีทุกปี ทำให้เรียนรู้ในการแก้ปัญหา”
ปี 2538 สำนักพิมพ์ผีเสื้อและดอกไม้ขาดทุนอย่างหนักและเป็นหนี้อยู่ 19,053,000 บาท เวลานั้นอาจารย์ยอมรับความช่วยเหลือจาก ‘พี่ปู’ นักธุรกิจที่รักหนังสือ และได้รับอนุญาตให้เข้ามาช่วยเหลือโดยมีเงื่อนไขว่าห้ามมีเงื่อนไขกับการช่วยครั้งนี้ พี่ปูเคลียร์หนี้ให้อาจารย์เพียงชั่วข้ามคืน และขอให้อาจารย์มกุฏทำหนังสือเพื่อคนอ่านต่อไป อาจารย์บอกว่า “ตอนนั้นเองที่ทำให้ผมรู้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธ์มีจริง และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมจะเลิกทำหนังสือไม่ได้แล้ว”
ปกแบบญี่ปุ่น
ปี 2528 ผีเสื้อและดอกไม้ ถูกพิมพ์เป็นครั้งที่ 6 เป็นการพิมพ์หลังจากที่มีภาพยนตร์แล้ว ในหนังสือที่พิมพ์ครั้งนั้นปรากฏชื่อคนออกแบบปกและรูปเล่มว่า ‘โคบุตะ’

โคบุตะคือใคร
“คือก่อนหน้านั้นมีหนังสือพิมพ์วิจารณ์ว่าสำนักพิมพ์ผีเสื้อทำหนังสือเชย ออกแบบปกก็เชย ผมก็เลยเปลี่ยนชื่อคนออกแบบให้เป็นโคบุตะ”
แล้วได้ผลไหม

“ในอีกสองเดือนต่อมาคนวิจารณ์คนเดิมเขียนว่าหลังๆ นี้หนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อออกแบบดีขึ้นมาก หลังจากได้นักออกแบบมาจากญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่คนออกแบบก็คนเดิมนั่นแหละ ผมแค่เปลี่ยนชื่อให้เขา”
ปกแบบญี่ปุ่น (จริงๆ)
ในการพิมพ์ครั้งที่ 7 ปี 2530 ผีเสื้อและดอกไม้ ใช้รูปของ CHIHIRO IWASAKI เป็นปก อาจารย์บอกว่าชอบเพราะรู้สึกว่ารูปของเขามีชีวิต แล้วการพิมพ์อีกหลายครั้งต่อมาก็มีการหยิบรูปของ CHIHIRO มาใช้อีกบ้าง ความน่าสนใจของการใช้ภาพจากศิลปินคนนี้อยู่ตรงการไม่ใช่รูปที่วาดขึ้นมาใหม่ตามการตีความหนังสืออย่างการออกแบบปกหนังสือปกติ แต่เป็นการเลือกรูปที่มีอยู่แล้วและเข้ากับหนังสือมาใช้แทน อย่างไรก็ตาม ในการพิมพ์ครั้งที่ 9 อาจารย์ก็ได้จัดการรวมตัวของศิลปินญี่ปุ่นสองท่านเอาไว้ด้วยกัน การพิมพ์ครั้งนั้นใช้ภาพของ CHIHIRO และออกแบบรูปเล่มโดย โคบุตะ เจ้าเก่า
ผีเสื้อและดอกไม้ ตีพิมพ์มาแล้วทั้งหมด 21 ครั้ง

พิมพ์ครั้งล่าสุด
ในโอกาสครบรอบ 44 ปี และโอกาสที่จะมีการจัดทริปตามรอย ผีเสื้อและดอกไม้ เป็นครั้งแรก อาจารย์ก็เลยจัดพิมพ์ ผีเสื้อและดอกไม้ ครั้งใหม่เพื่อเอามาแจกในทริป เป็นการพิมพ์หนังสือที่มีคอนเซปต์เยอะมากตามประสาคนช่างคิดและช่างประดิษฐ์หนังสือ

ความพิเศษเริ่มมาตั้งแต่ปกติแล้วสำนักพิมพ์ผีเสื้อจะไม่แปลและพิมพ์หนังสือที่ต้องแข่งกับเวลา เพื่อให้เห็นภาพ อาจารย์เล่าว่า “เคยมีคนเสนอต้นฉบับ Harry Potter ให้สำนักพิมพ์ผีเสื้อพิมพ์ ผมดูแล้วบอกว่าออกเร็วไม่ได้ หนังสือแบบนี้ต้องใช้เวลาสิบปีในการทำ” แต่สำหรับ ผีเสื้อและดอกไม้ เล่มพิเศษนี้อาจารย์ทำให้พวกเราได้ในเวลาเพียง 1 เดือน
เนื่องจากทริปนี้เป็นการมาเยือนจุดเริ่มต้นของ ผีเสื้อและดอกไม้ อาจารย์จึงเลือกการเอาหนังสือที่พิมพ์ครั้งที่ 1 มาชุบชีวิตใหม่ โดยวิธีสแกนหนังสือทีละหน้าเพื่อไปสั่งพิมพ์เท่าจำนวนที่เราต้องการ ร้านที่รับพิมพ์ให้ก็ใช้ความประณีตบรรจงในการรีทัช เก็บร่องรอยทุกหน้าจนกริบเหมือนหนังสือที่พิมพ์ใหม่
สำหรับหน้าปกก็เช่นกัน อาจารย์ใช้วิธีสแกนและรีทัชเพื่อเก็บรายละเอียด และคิดวิธีพิมพ์ใหม่ๆ อย่างการเล่นกับแสงมุม ที่จะต้องพลิกหนังสือให้กระทบแสงจึงจะเห็นเส้นขาวๆ บนปกสะท้อนขึ้นมาเป็นรูป
“ผมก็ไม่ค่อยชอบ เพราะไม่ชอบอะไรที่มันเห็นไม่ชัด มันจะรู้สึกอึดอัด แต่ก็ยอมเพราะอยากทำให้เห็นว่าจะให้ทำอะไรเวลาสั้นๆ ผีเสื้อก็ทำได้” อาจารย์กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ความพิเศษอีกอย่างคือสันโค้งที่มีสี อาจารย์เล่าว่า ช่างทำริมแบบนี้มีที่ฝีมือดีเหลืออยู่คนเดียว และราคาขึ้นทุกวัน ถ้ารีบด่วนจะแพงมาก นอกจากจะเป็นเรื่องของความสวยงามแล้ว สันที่โค้งๆ ยังทำให้จับง่าย เวลานอนอ่านแล้วทำตกก็ไม่จิ้มตา หนังสือที่มีน้ำหนักถ้าสันไม่โค้งเวลาจับแล้วจะเจ็บ สันโค้งทำให้เราถือหนังสือได้นานขึ้นแล้วก็ไม่เจ็บ เป็นวิธีโบราณมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6
และกิมมิกสุดท้ายที่เรียกเสียงฮือฮาไปไม่น้อยคือ ริบบิ้นมีสองเส้น สีชมพู และสีฟ้า สีชมพูหมายถึงดอกไม้ และสีฟ้าก็คือสีที่มิมปีชอบ เพิ่มความโรแมนติกเข้าไปอีกด้วยคำอธิบายของอาจารย์ที่บอกว่า “ริบบิ้นสองเส้นเพิ่งค้นพบปีนี้เอง เพราะรู้มาว่าหนังสือ 1 เล่มถ้าอ่าน 2 คนริบบิ้นเส้นเดียวมันไม่พอ”

ก่อนจะแยกย้ายกันที่ร้านหนังสือเล็กๆ พวกเราหลายคนก็ได้อุดหนุนหนังสือกันไปกองใหญ่ พร้อมทั้งมองหนังสือในมือเปลี่ยนไปกันทุกคน
ทริปนี้เราไม่ได้แค่มารู้จักกับเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ แต่ยังได้มาสัมผัสความตั้งใจของอาจารย์มกุฏที่อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการทำหนังสือ
ทุ่งดอกไม้ที่ฮูยันตั้งใจจะปลูกก็คงเหมือนหนังสือดีๆ มากมายที่อาจารย์มกุฏตั้งใจสร้างให้ผีเสื้ออย่างพวกเรา หน้าที่ของผีเสื้อที่ทำได้หลังจากชื่นชมดอกไม้ก็คือ ช่วยเอาเกสรไปกับตัว แล้วก็พามันไปทำประโยชน์ให้แก่ดอกไม้ดอกอื่นต่อๆ ไป
แล้วไปเที่ยวกันอีกนะ