วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๙

ผมส่งข้อความถึงเด็กนักเขียนของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ ทั้ง ๓ คน ว่า

“พระเจ้าอยู่หัวไม่สบายมาก เรา ในฐานะคนไทยและนักเขียนบันทึก จะคิดทำอะไรได้บ้าง”

วันรุ่งขึ้น ‘ตินติน’ เขียนบันทึก

ซายูริ เขียนบันทึกขณะอยู่แม่ฮ่องสอน

ในใจ ก็เขียนในวันรุ่งขึ้น

‘ตินติน’ เขียนในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ ว่า

“ฉันเห็นรูปในหลวงบ่อยๆ  ทุกรูปแขวนที่สูงๆ ถ้ารูปในหลวงมีชีวิต ก็เหมือนในหลวงอยู่ทุกที่ของประเทศไทย ในหลวงเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว เพราะพวกเราจะเอาเฉพาะรูปคนที่เรารักมาไว้ในบ้าน ถ้าบ้านที่ฉันไม่เคยเห็นว่ามีรูปในหลวงหรือเปล่า ฉันคิดว่า เขาต้องมีรูปในหลวงในใจแน่ๆ”

ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ‘ตินติน’ เขียนว่า

“เก้าอี้ของพระราชาต้องสูญเสียพระราชามา ๘ พระองค์แล้ว และต้องเสียใจยิ่งนัก เพราะวันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นที่รักของผืนแผ่นดินไทย จากไปแล้ว ตอนนี้ฉันไม่เหลือความสุข”

วันเดียวกันนั้น เธอเขียนบันทึกอีกบทหนึ่งว่า

“ฉันเพิ่งได้รู้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีตาเพียงข้างเดียว ซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุ ฉันสงสัยว่า ตอนที่ท่านทำงานโดยใช้ตาเพียงข้างเดียวมาตั้งหลายสิบปีอย่างไม่ลดละและทำอย่างเต็มที่ มันยากแค่ไหนนะ ฉันเลยลองเอามือปิดตาข้างหนึ่ง ก็เห็นเพียงแค่ครึ่งเดียวและต้องเพ่งมากเพราะเห็นไม่ชัด ฉันเลยได้รู้ว่ามันยากขนาดไหน”

และอีกบทหนึ่งในวันเดียวกันว่า

“ถ้าฉันตาย ฉันจะไปอยู่กับในหลวง หัวใจฉันมีแต่น้ำอันเศร้าโศก อยากให้หัวใจกลับมามีความสุข”

วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ ‘ตินติน’ เขียนบันทึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ มากถึง ๔ บท แต่ละบทมาจากความคิด ความรู้สึก และความปรารถนา มิได้เขียนด้วยข้อมูลค้นคว้าหรือเรื่องราวที่มีอยู่แล้วในประวัติศาสตร์และนำมาเรียบเรียงใหม่อย่างที่เห็นทั่วไปในข้อเขียนของผู้ใหญ่

ความรู้สึกใดๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อได้อ่านบันทึก จึงมาจากความนึกคิด อารมณ์ จิตใจ และหัวใจ ของเด็กวัย ๘ ขวบ

‘ตินติน’ เขียนในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ ว่า

“ฉันเห็นพระจันทร์เต็มดวงสง่างาม ถ้าพระจันทร์ที่เปล่งแสงนวลตาเปรียบเหมือนในหลวง ก็เพราะท่านอยากให้เราเห็นท่านด้วยตาของเราเอง และท่านก็อยากมองกลับมาที่เราว่าเราทำตามที่ท่านทำบ้างไหม”

ความคิดของเด็กอายุ ๘ ขวบ มีมากกว่าที่ผู้ใหญ่คิด ด้วยบันทึกในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๙ ว่า

“ดวงจันทร์ เท่ากับ ในหลวง

ดวงดาว เท่ากับ ประชาชน

ดวงดาวอยู่ต่ำกว่าดวงจันทร์

ดวงจันทร์ให้ความอบอุ่นแก่ดวงดาว

ดวงดาวคอยปกป้องดวงจันทร์

ดวงจันทร์สอนให้ดวงดาวเปล่งแสง

ทำให้ท้องฟ้าสว่างไสว

และทำให้คนที่หลงทางเห็นทาง”

ผู้ใหญ่ส่วนมากลืมวัยเด็กไปหมดแล้ว จำสายตาและการเห็นอย่างเด็กไม่ได้ จำความคิดอันประณีต ละเอียดอ่อนไม่ได้ ลืมไปแล้วว่า เมื่อเห็นสิ่งใดหรือเกิดเรื่องราวใดจนถึงขั้นทำให้ร้องไห้ เคยมีความรู้สึกอะไรอยู่ในใจบ้าง และคิดอะไรบ้าง เส้นไหมอันอ่อนหวานบอบบางในชีวิตวัยเด็กของผู้ใหญ่ทั้งหลายละลายหายไปหมดแล้ว แม้ในความทรงจำ เพราะมิได้จด มิได้จำ จึงไม่อาจรื้อฟื้นได้ว่าเคยงดงามอย่างไร และชีวิตวัยเยาว์ของแต่ละคนช่างมีค่ามากเพียงไหนในขณะนั้น

โชคดี!

ครั้งแรกที่กล่าวคำว่า ‘โชคดี’ ก็เมื่อผมได้เห็นลายมือขยุกขยิกหรือตัวโตเท่าหม้อแกงสะกดผิดเกือบทุกคำในสมุดบันทึกเล่มเล็กซึ่งเด็กๆ ได้รับจากผมในนามคำมั่นสัญญาว่า จะเขียนบันทึกเสมอ ครั้งแรกนั้น ผมคิดเพียงว่า ผมโชคดีที่ได้อ่านความคิดผ่านลายมือของเด็กเหล่านั้น

ต่อมา ผมได้ความคิดว่า ในอนาคต เด็กทุกคนที่เขียนบันทึกเก็บไว้ในสมุดก็จะพูดเมื่อเป็นผู้ใหญ่ว่า

“โชคดี ที่ได้เขียนบันทึกเรื่องราวดีๆ ที่น่าจดจำไว้ในสมุด เพื่อระลึกถึง”

ข้อความในสมุดนั้นอาจกลายเป็นของมีค่า เป็นสมบัติล้ำค่าในชีวิต หากเจ้าของสมุดนั้นระลึกย้อนถึงความสำคัญในวันข้างหน้า หรือกระทั่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ไม่มีนักประวัติศาสตร์คนใดมีโอกาสเขียนถึง

ต่อมาด้วยความหวัง อาจกล่าวได้ว่า การเขียนสมุดบันทึกของเด็ก คือโชคดีของประเทศไทย

เพราะบันทึกเหล่านั้นมีค่ามากพอจะเป็นเล่มหนังสือ

ผมเฝ้าดูสมุดบันทึก ถ้อยคำและข้อความที่เขียนถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของ ‘ตินติน’  

จนถึงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๙

ผมตัดสินใจจะพิมพ์บันทึกลายมือยุ่งบ้าง เรียบร้อยบ้างของ ‘ตินติน’ เป็นหนังสือ!

‘ตินติน’ เขียนบันทึกในวันนี้ว่า

“พระเจ้าอยู่หัวสอนว่า ‘ทำดีเป็นเรื่องยาก ทำชั่วเป็นเรื่องง่าย ทำดีต้องเข้มแข็ง’ ฉันเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เพราะฉันเคยเห็นเวลาเพื่อนทำการบ้านไม่ได้ เขาจะขอลอกเพื่อน งานเสร็จ แต่ไม่ดี เพราะเราไม่ใช่คนคิด ถ้าเป็นฉัน จะพยายามด้วยความคิดของฉัน ถึงจะไม่มีใครรู้ แต่ฉันรู้”

ผมออกแบบหนังสือเล่มนี้ทุกคืน

ร่างในแผ่นกระดาษไม่มากนัก แต่ในหัวสมอง ความคิดทำงานต่อเนื่องมิได้หยุด นับจากวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙

แท้จริงแล้ว ขณะนั้นอาร์ตเวิร์กรูปเล่มหนังสือ อยากให้ทุกสิ่งในโลกนี้มีชีวิต กำลังดำเนินไป

‘ตินติน’ เขียนต้นฉบับเพื่อพิมพ์หนังสือเล่มแรกของเธอไว้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙

พร้อมจะพิมพ์เล่มเพื่อให้ทันเป็นของขวัญปีใหม่ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๙

ประวัติการทำงานของผม ล่าช้า เนิ่นนาน สำนักพิมพ์ผีเสื้อไม่เคยทำหนังสือเล่มใดเสร็จเร็ว ส่วนมาก หรือทั้งหมด นานกว่า ๔ ปี  ๑๐ ปี และถึง ๒๐ ปี  ๒๓ – ๒๔ ปี ก็มี

แต่หนังสือของนักเขียนเด็กเล่มแรกคือ บันทึกส่วนตัว ซายูริ ใช้เวลาไม่ถึงปี

เพราะเหตุใดหรือ

ก็เนื่องแต่ต้นฉบับของนักเขียนเด็กไม่มีอะไรต้องแก้ไข ทุกสิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องสมบูรณ์

ต้นฉบับของ ‘ตินติน’ ก็เช่นเดียวกัน

เราก็แน่ใจว่าจะใช้เวลาไม่เกิน ๒ เดือน

นักเขียนทำงานหนัก

ผมบอก ‘ตินติน’ ว่า เราจะพิมพ์หนังสือนี้ให้เสร็จก่อนสิ้นปี ‘ตินติน’ จึงต้องทำงานหนัก ดังนี้

หนึ่ง ต้องวาดรูปประกอบหรือภาพประดับบันทึกทุกบท และควรลงสีด้วย ‘ตินติน’ เห็นชอบและบอกว่า “หนูชอบระบายสี”

สอง อยากให้หนังสือนี้เป็นผลงานของนักเขียนทั้งหมด ทั้งข้อเขียน คือเนื้อเรื่องหรือบันทึก

และภาพประดับหรือรูปประกอบ ดังนั้น ‘ตินติน’ ต้องวาดรูปและออกแบบปกเองด้วย

การออกแบบปกเป็นเรื่องยากแม้สำหรับผู้ใหญ่ ‘ตินติน’ จึงต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นและนับเป็นงานหนักมาก เพราะเราตั้งใจว่าจะให้หนังสือนี้เสร็จก่อนสิ้นปี แต่เมื่องานของเธอทำด้วยหัวใจ ความยากและเหนื่อยยากก็มิใช่ปัญหา

‘ตินติน’ เขียนบันทึกวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ ว่า

“ฉันวาดรูปในหลวงในกระดาษ เสียไปตั้ง ๕ แผ่น เพราะยังไม่ถูกใจ แต่ฉันคิดว่าไม่เป็นไร ถ้าไม่ย่อท้อ วันใดวันหนึ่งก็จะวาดได้ดีอย่างที่ตัวเองต้องการ รูปสุดท้ายต้องเป็นรูปในหลวงที่สวยงามมากสำหรับฉันแน่ๆ”

ในเวลาเหล่านั้น เรามีงานมากขึ้น

รายการโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ขอสัมภาษณ์นักเขียนเด็กบ่อยๆ หลังจากได้เห็นข้อเขียนลายมือยุ่งๆ ของเด็กนักเขียนในสื่อออนไลน์ที่ผมนำมาเผยแพร่

‘ตินติน’ เขียนบันทึก วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๙ ว่า

“พี่เขามาสัมภาษณ์ฉันครั้งที่ ๔ พอเขาพูดถึงในหลวงน้ำตาของฉันอยากจะออกจากดวงตา แต่ห้ามไว้ทัน น้ำตาที่อยากจะออกจากดวงตาเป็นเพราะความรู้สึกคิดถึงในหลวง ไม่มีใครรู้ เพราะอยู่ในใจ”

วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙  ‘ตินติน’ เขียนบันทึกว่า

“ฉันเห็นรูปในหลวงแทบทุกรูป ที่มีเหงื่อ ฉันคิดว่า เหงื่อของท่านทุกหยดสร้างแผ่นดินและสายน้ำได้ สายน้ำอาจไหลทั่วทั้งโลก ทำให้ต้นไม้ คือความดี เจริญงอกงาม”

ผมอ่านทวนบทนี้หลายครั้ง ผมรู้จักตัวหนังสือและถ้อยคำของ ‘ตินติน’ ตั้งแต่ยังเป็นรูปวาดและมีคำอธิบายรูปซึ่งแม่ของเธอช่วยสะกดให้ ขณะนั้น ‘ตินติน’ อายุเพียง ๕ ขวบเศษ เขียน ก – ฮ ยังไม่ครบและอ่านหนังสือไม่ออกสักคำ แต่ปรารถนาจะเล่าเรื่องด้วยรูปวาด มาบัดนี้ ภาษาของเธอดั่งถ้อยคำของกวี ไปไกลเกินกว่าที่ผมคาดหวังแต่แรกและสุกสกาวดั่งดอกไม้ไฟในคืนมืด

‘ตินติน’ เขียนคำนำสำหรับหนังสือเล่มแรกของเธอว่า

“ฉันเคยเห็นรูปในหลวงก้มลงเกี่ยวข้าว ถ้าในหลวงเป็นชาวนา ท้องนาก็ต้องเป็นประเทศไทย ต้นข้าวก็ต้องเป็นประชาชน—”

ผมอ่านท่อนนี้นับสิบครั้ง นับสิบครั้งที่อ่านแล้วหยุดเพียงบรรทัดที่ ๔ ไม่กล้าอ่านต่อ

ผมเคยอ่านต้นฉบับของนักเขียนผู้มีชื่อเสียงมาก็มาก กระทั่งนักเขียนผู้ที่โลกยกย่อง แต่ไม่เคยรู้สึกเหมือนบินไปในอวกาศและดำดิ่งลงใต้บาดาลได้มากเท่านี้

‘ตินติน’ เขียนคำนำในหนังสือของเธอต่อไปว่า

“ชาวนาปลูกข้าวด้วยความใส่ใจเพื่อหวังว่า ต้นข้าวที่ได้จากการปลูกจะสมบูรณ์ ฉันเป็นเมล็ดข้าวที่มีสมุดพกเล่มเล็กๆ”

ผมอ่านถึงตอนนี้ ก็น้ำตาเอ่อ ลมหายใจฟุ้ง ดั่งได้สูดอากาศภูเขาสูงยามอรุณรุ่ง นึกขอบคุณ ‘ตินติน’ ที่ช่วยให้สายใยแห่งความหวังในตัวเด็กไทยซึ่งเกือบจะขาดไปหมดแล้วจากความหวังอันยิ่งใหญ่และยาวนานของผมได้กลับคืนมาใหม่และแข็งแกร่ง

“เมล็ดข้าวจะพยายามให้ตัวเองงอกออกมาเป็นรวงข้าวเหมือนที่ชาวนาหวัง เวลาเขียนถึงในหลวง ฉันได้รู้ ได้คิด ได้เขียน สิ่งที่อยากบอก ฉันจะทำอย่างที่ในหลวงสอน”

‘ตินติน’ เขียนคำนำในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๙ ขณะอายุ ๘ ปี ๔ เดือน

เธอเขียนอีกต่อมา

๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๙

“ในหลวงเคยสอนว่า จงปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นจะปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง ฉันคิดว่า ‘ต้นไม้’ อาจเปลี่ยนเป็นความดีหรือความรักก็ได้ ถ้าเป็นความรัก—จงปลูกความรักลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นจะปลูกความรักลงบนแผ่นดินและรักษาความรักต่อไปด้วยตนเอง แค่นี้ก็หมายความว่า เรารักประเทศไทยแล้ว”

ก ร า บ  พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙

หนังสือเล่มแรกของ เด็กหญิงติณณา แดนเขตต์ ‘ตินติน’

รูปเล่มปกแข็งริมทอง เพื่อยกย่องให้เป็นหนังสือเล่มสำคัญแห่งยุคสมัยของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ

‘ตินติน’ เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๐ นับเป็นนักเขียนอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลนี้ ตลอดเวลา ๔๕ ปี และเป็นนักเขียนเด็กคนที่ ๒ ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็กๆ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ หนังสือดีเด่น

ในคืนของวันที่ได้รับพระราชทานรางวัล ก่อนนอน ‘ตินติน’ เขียนบันทึกว่า

“ตอนที่ฉันยื่นมือรับรางวัลเจ้าหญิงยิ้มให้ฉัน ฉันทั้งตื่นเต้น ดีใจ จนน้ำตาอยากจะไหลออกมา ฉันยิ้มตอบ หลังจากที่ทุกคนรับรางวัลแล้ว เจ้าหญิงเดินมาหาคนที่ได้หนังสือดีเด่น เจ้าหญิงถามฉันด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ว่า ‘หนูเขียนหนังสือเล่มไหน’ ฉันตอบว่า ‘กราบพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ค่ะ’ ฉันหยิบให้ท่านดู ท่านยิ้ม แล้วเปิดอ่านบางหน้า หัวใจฉันกำลังเต้นระบำ”

ภาพประกอบ: หนังสือพิมพ์ The Nation, สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือฯ, อภิชัย วิจิตรปิยะกุล

Writer

Avatar

มกุฏ อรฤดี

ทำหนังสือมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมจนเรียนจบวิทยาลัยครูสงขลา กระทั่งปัจจุบัน นับได้ 51 ปี เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสาร 3 - 4 ฉบับ ปัจจุบันนับอาชีพของตนว่า บรรณาธิการ

Photographer

Avatar

ตินติน-ติณณา แดนเขตต์

นักเขียนผู้เขียนหนังสือ ‘กราบ’ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่ออายุ 8 ขวบ