วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๙

เด็กหญิงซายูริ ซากาโมโตะ อายุ ๘ ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนราชินีบน เข้ารับพระราชทานรางวัลหนังสือดีเด่นประเภทหนังสือบันเทิงคดีสำหรับเด็ก อายุ ๖ – ๑๑ ปี ในฐานะผู้ประพันธ์และวาดรูปประกอบ เป็นครั้งแรกในรอบ ๔๔ ปี นับตั้งแต่มีรางวัลนี้เป็นต้นมา ที่เด็กเล็กๆ ได้รับรางวัลชนะเลิศ

ซายูริ ซากาโมโตะ

ก่อนจะได้รางวัล หนังสือนี้เดินทางไปถึงมือ อาจารย์เซซิล บูแลร์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาวรรณกรรมเยาวชนแห่งมหาวิทยาลัยตูร์ ประเทศฝรั่งเศส และ ดร.เซซิล บูแลร์ ได้เขียนบันทึกผ่าน วิริญจน์ หุตะสังกาศ นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทย ซึ่งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับวรรณกรรมเยาวชน หลังจากสนทนาเรื่องหนังสือนี้อย่างสำคัญ

ซายูริ ซากาโมโตะ ซายูริ ซากาโมโตะ

ซายูริ ซากาโมโตะ
เริ่มเขียนต้นฉบับหนังสือที่ได้รับรางวัลจากการเขียนบันทึกประจำวันในสมุดไม่มีเส้นบรรทัด

“ปกติแล้ว ผู้ใหญ่เป็นผู้เขียน วาดภาพประกอบ ผลิต ขาย และซื้อวรรณกรรมเยาวชน ทั้งสิ้น เมื่อลองคิดดูว่า เด็กๆ เขียนหนังสือให้เด็กด้วยกันอ่านได้ และหนังสือเหล่านั้นก็ได้รวบรวมเป็นชุดหนังสือที่เยาวชนเป็นผู้เขียนโดยเฉพาะ อีกทั้งได้พิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มที่ประณีต ราวกับหนังสือของนักเขียนชื่อดัง โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่สร้างสรรค์ เป็น ‘นวัตกรรม’ และควรได้รับความสนใจมากที่สุด”

เซซิล บูแลร์

ซายูริ ซากาโมโตะ

เซซิล บูแลร์
อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีฝรั่งเศสและวรรณคดีเปรียบเทียบ ผู้เชี่ยวชาญสาขาวรรณกรรมเยาวชน และอาจารย์ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์สิ่งตีพิมพ์ประจำศูนย์วิจัยเรอเนสซองส๎ (Centre d’Études Supérieures de Renaissance)  มหาวิทยาลัยตูร๎ (Université de Tours) ประเทศฝรั่งเศส

ถึง วิริญจน์

ตามที่สัญญาไว้ว่า เมื่อปีการศึกษานี้สิ้นสุดลง ฉันจะส่งข้อความถึงอาจารย์มกุฏ อรฤดี โดยขอให้คุณเป็นผู้แปล ฉันได้บอกคุณตอนที่สอบป้องกันวิทยานิพนธ์แล้วว่า ฉันยินดีที่ได้รู้จักโครงการซึ่งริเริ่มโดยอาจารย์มกุฏ สำหรับฉัน นี่เป็นโครงการที่พิเศษมาก ความจริงแล้ว พัฒนาการของวรรณกรรมเยาวชนในหลายๆ ประเทศมีรูปแบบที่คล้ายกัน คือในช่วงแรกนั้นสำนักพิมพ์จะแปลวรรณกรรม ‘คลาสสิก’ จากต่างประเทศ ซึ่งแท้จริงแล้วก็มีเพียงวรรณกรรมคลาสสิกของยุโรปและอเมริกาเท่านั้น เรื่องนี้อธิบายได้โดยเหตุผลสองประการ ประการแรกคือสำนักพิมพ์ทั้งหลายมักยกให้หนังสือเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘วัฒนธรรมวรรณกรรมของโลก’ ดังนั้น เด็กๆ ในประเทศของตนจึงควรได้อ่าน อีกประการหนึ่งคือ หนังสือเหล่านี้ไม่มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง ทางสำนักพิมพ์จึงไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อรับหนังสือมาแปล

หลังจากยุคของการแปลวรรณกรรมคลาสสิก หรืออาจจะเป็นในช่วงเวลาเดียวกัน เรามักพบว่าสำนักพิมพ์ในประเทศเริ่มตีพิมพ์หนังสือวิชาการและหนังสือสอนจริยธรรมเพื่อเยาวชนที่ลดลักษณะเชิงวิชาการลงเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา นักวิจารณ์บางคนมีความเห็นว่าพัฒนาการเช่นนี้พบได้ทั่วไป (วรรณกรรมเยาวชนที่ส่งเสริมวิชาการและจริยธรรมในช่วงแรกอันพัฒนาไปสู่วรรณกรรมที่ไม่เน้นการสั่งสอน ทั้งด้านวิชาการและศีลธรรม แต่จะเน้นความงามเชิงวรรณศิลป์มากขึ้น) เช่นในหลายๆ ประเทศในยุโรป และตั้งแต่มีศาสตร์ด้านวัฒนธรรมศึกษา (cultural studies) นักวิจัยจะไม่ศึกษาวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งอีกต่อไป เราพบว่าพัฒนาการของสำนักพิมพ์และวรรณกรรมเยาวชนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองทั้งในประเทศและนอกประเทศ

ซายูริ ซากาโมโตะ ซายูริ ซากาโมโตะ

มกุฏ อรฤดี
อาจารย์สอนวิชาบรรณาธิการศึกษา ผู้เสนอและเรียกร้องให้ประเทศไทยมีสถาบันหนังสือแห่งชาติและระบบหนังสือสาธารณะ เพื่อดำเนินงานด้านหนังสือและการอ่าน ตลอดจนความรู้ประชาชาติ อย่างเป็นระบบ มิใช่กิจกรรมเฉพาะกาล

อนึ่ง ฉันรู้สึกว่าไม่มีประเทศไหนมีรูปแบบพัฒนาการด้านวรรณกรรมเช่นเดียวกับประเทศไทย ที่เชื่อมั่นในตัวเด็กๆ ว่าจะเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมหนังสือและวงการการพิมพ์ รูปแบบส่วนมากที่ฉันได้พบเห็นจากงานวิจัยของเพื่อนร่วมอาชีพจะเป็นการสร้างและส่งเสริมนักเขียนและนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กในยุคสมัยนั้นๆ เพื่อความสำเร็จทางการตลาดของสำนักพิมพ์เยาวชนในยุคเดียวกัน นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ยินว่า มีหน่วยงานเอกชนที่ตั้งใจสร้างยุคของ ‘เยาวชนผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือ’ และเป็นครั้งแรก ที่หน่วยงานเอกชนส่งเสริมการพิมพ์หนังสือเพราะรัฐบาลมิได้สนใจ แทนที่จะเรียกร้องหรือขอความช่วยเหลือจากรัฐ

แต่กลับสร้างความรู้ในการทำหนังสือให้ประชาชนเอง และปลูกฝังความรักหนังสือให้ประชาชน โดยหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้าง

ซายูริ ซากาโมโตะ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว โครงการสมุดบันทึกของเด็กๆ โดยอาจารย์มกุฏจึงเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับฉัน ฉันคิดว่า โครงการนี้คล้ายกับโครงการในช่วง ค.ศ. ๒๐๐๐ ที่นักวิจัยอังกฤษ (โดยเฉพาะเซบาสเตียง ชาโปล) เรียกว่า ‘childish criticism’ (การวิจารณ์โดยเยาวชน) คือการให้เด็กๆ มีบทบาทในการตีค่าวรรณกรรมเยาวชนด้วยตัวเอง เพราะเด็กคือกลุ่มเป้าหมายของวรรณกรรมประเภทนี้

พวกเขาจะได้แสดงความเห็นเชิงวิจารณ์เกี่ยวกับวรรณกรรมเยาวชน ปกติแล้วผู้ใหญ่เป็นผู้เขียน วาดภาพประกอบ ผลิต ขาย และซื้อวรรณกรรมเยาวชนทั้งสิ้น เมื่อลองคิดดูว่าเด็กๆ เขียนหนังสือให้เด็กด้วยกันอ่านได้ และหนังสือเหล่านั้นก็ได้รวบรวมเป็นชุดหนังสือที่เยาวชนเป็นผู้เขียนโดยเฉพาะ อีกทั้งได้พิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มประณีต ราวกับหนังสือของนักเขียนชื่อดัง โครงการนี้จึงเป็นโครงการสร้างสรรค์ เป็น ‘นวัตกรรม’ และควรได้รับความสนใจมากที่สุด

โครงการนี้ทำให้ฉันนึกถึง ‘การศึกษาแนวใหม่’ ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ – ๑๙๓๐ โดยครูที่ชื่อ เซเลสตัง เฟรเน ซึ่งต่อมาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวทางการศึกษาชื่อเดียวกับชื่อของเขาเอง เขาริเริ่มโครงการ ‘แท่นพิมพ์โรงเรียน’ และเห็นว่า การที่นักเรียนซึ่งเรียนอ่านเขียนอยู่แล้ว เขียน พิมพ์ และขาย หนังสือพิมพ์ของพวกเขาเองได้นั้น เป็นเรื่องธรรมดา

ซายูริ ซากาโมโตะ

ทั้งสองกรณีศึกษาข้างต้น เกิดขึ้นได้ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเด็กๆ ความเชื่อนี้เป็นทั้งการให้อิสรภาพในการเรียนรู้แก่เด็ก และเป็นสัญญาณในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมในวันข้างหน้า

วิริญจน์ ฉันหวังว่า ข้อความสั้นๆ ข้อความนี้ จะสรุปสิ่งที่ฉันได้กล่าวในวันสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของคุณ— ช่วยส่งต่อความนับถือสูงสุดจากฉัน ถึงอาจารย์มกุฏ อรฤดี ผ่านการแปลของคุณด้วย

ซายูริ ซากาโมโตะ

วิริญจน์ หุตะสังกาศ
นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัยตูร๎ ประเทศฝรั่งเศส ผู้แนะนำให้นักวิชาการด้านวรรณกรรมเด็กและประวัติศาสตร์ สิ่งตีพิมพ์ของฝรั่งเศส รู้จักวรรณกรรมที่เด็กเขียนของประเทศไทย

วิริญจน์ หุตะสังกาศ ได้รับทุนศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ และสนใจวรรณกรรมเยาวชนตลอดมา ในวันสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาโท มีหนังสือ บันทึกส่วนตัว ซายูริ ติดมือไปฝากอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย และจึงเป็นจุดเริ่มต้นการสนทนา กระทั่งบันทึกข้ามประเทศถึงโครงการ ‘สมุดบันทึก’ และหนังสือเด็กที่เด็กเขียน

เธอจึงเป็นดั่งทูตผู้ซึ่งนำสารสำคัญนี้ไปมอบแก่ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมเด็กให้ได้เห็นว่า ที่ประเทศเล็กๆ อีกซีกโลกหนึ่ง มีความคิดใหม่เรื่องซึ่งไม่มีใครนึกถึงแต่สำคัญ นั่นคือ ความคิดของเด็กที่ผู้ใหญ่ควรฟังและใส่ใจ  อยู่ในลายมือยุ่งๆ ตัวโตเท่าหม้อแกงในสมุดทุกเล่ม

ปัจจุบัน วิริญจน์กำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และจะกลับมาสอนในสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความสำคัญของวิธีคิดเรื่องสมุดบันทึกอันเชื่อมโยงและนำไปสู่หนังสือและวรรณกรรมที่เด็กเขียน ตลอดจนผลอื่นๆ ที่จะตามมาปรากฏอยู่ในความเห็นของ ดร.เซซิล บูแลร์ ระหว่างการสนทนากับวิริญจน์ว่า

“ฉันทึ่งมากที่ประเทศไทยผลักดันให้เด็กๆ ออกมาเขียนหนังสือ การให้เด็กอ่านเรื่องที่เด็กวัยไล่เลี่ยกันเขียนนี่ ยอดเยี่ยมมาก เพราะในฝรั่งเศส กระทั่งนวนิยายที่วัยรุ่นเขียนยังไม่ได้ตีพิมพ์ด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับงานเขียนของเด็ก

“ฉันคิดว่า เพราะผู้ใหญ่ในประเทศฝรั่งเศสไม่เห็นความสำคัญของความคิดเด็ก การเป็นนักเขียนสำหรับคนฝรั่งเศส จะต้องเป็นผู้ใหญ่ที่เขียนถูกต้องตามหลักภาษา และหลักการเขียน เพื่อเป็นตัวอย่างให้เด็กที่อ่าน สำนักพิมพ์ไม่กล้าเสี่ยงพิมพ์ออกมา เพราะกลัวจะขายไม่ได้ ก็มีบ้างที่ครูให้การบ้านเด็กประถมเป็นการเขียนหนังสือ แต่นั่นก็เพราะครูบังคับ มีการกำหนดหัวข้อ มีการกำหนดความยาว เราจึงไม่ได้เรื่องที่ออกมาจากความคิดของเด็กจริงๆ

“สรุปคือ คนฝรั่งเศสชอบป้อนความคิดให้เด็ก แต่ไม่พร้อมรับฟังความคิดของเด็กเอง”

ซายูริ ซากาโมโตะ

พ.ศ. ๒๕๕๗ ผมประกาศมอบสมุดบันทึกแก่เด็กอายุ ๕ – ๑๑ ปี ทั่วประเทศ

ภายในเวลาไม่กี่เดือน ก็มีจดหมายจากเด็กเขียนถึงคุณตาบ้าง คุณลุงบ้าง คุณปู่บ้าง จำนวน ๑,๑๐๐ คน

เด็กเหล่านั้นให้คำมั่นสัญญาว่าจะเขียนบันทึก และมีบันทึกของเด็กบางคนส่งถึงมือผมในเวลาต่อมา

มีคำถามว่า ทำไมจึงให้สมุดบันทึกแก่เด็ก

แท้จริงแล้วความคิดในการมอบสมุดบันทึกสืบเนื่องจากการอ่านของเด็กไทย เราได้รู้ว่า การสนับสนุนและส่งเสริมการอ่านโดยใช้งบประมาณ ความพยายาม และวิธีการอย่างมากของรัฐบาล ดำเนินมานานกว่าครึ่งศตวรรษอย่างไม่ได้ผล นั่นแสดงว่าวิธีการหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องผิดไปสักอย่างหรือหลายอย่าง

ซายูริ ซากาโมโตะ

ผมจึงคิดว่า น่าจะได้ริเริ่มให้เด็กอ่านด้วยวิธีเขียนบันทึก

ผลลัพธ์คือ เราได้รู้ว่าเด็กเล็กๆ มีความคิดเกินกว่าที่ผู้ใหญ่คาด หรือไม่เคยใส่ใจจะได้เห็น อีกทั้งวิธีให้เด็กเขียนนั้นนำมาซึ่งการอ่านอย่างจริงจัง อย่างใช้ประโยชน์ อย่างครุ่นคิด และที่สำคัญคือ เด็กๆ เหล่านั้นอ่านหนังสือด้วยความอยากอ่านและมีความสุข ไม่นับความสำเร็จในการเป็นนักเขียนที่ปรากฏตามมาอย่างน่าอัศจรรย์

การที่เด็กอายุ ๘ ขวบ ได้รับรางวัลการประพันธ์ในการประกวดหนังสือแห่งชาติ ซึ่งผู้ใหญ่ครอบครองมาตลอดเวลา ๔๔ ปี รัฐบาลในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบเด็กนักเรียนวัยนี้ทั้งประเทศนับล้านๆ คน ควรจะฉุกคิดอะไรบ้างหรือไม่

ขณะที่นักวิชาการในอีกซีกโลกหนึ่งกล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดในประเทศไทยนี้ว่า ‘นวัตกรรม’ ซึ่งเราพยายามตามหากันอย่างยิ่ง จากที่อื่น

ภาพ : อภิชัย วิจิตรปิยะกุล, วิกรัย จาระนัย, วิริญจน์ หุตะสังกาศ

Writer

Avatar

มกุฏ อรฤดี

ทำหนังสือมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมจนเรียนจบวิทยาลัยครูสงขลา กระทั่งปัจจุบัน นับได้ 51 ปี เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสาร 3 - 4 ฉบับ ปัจจุบันนับอาชีพของตนว่า บรรณาธิการ