บ้านเลขที่ ๕ ซอยเกษม ถนนสุขุมวิท ๒๔ กรุงเทพฯ

คนสามคน ทำนิตยสาร

คนหนึ่งเป็นครู เป็นนักเขียน เป็นนักแปล และผู้ริเริ่มนิตยสารบางฉบับ ชื่อ ผกาวดี เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหลานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) มีเหตุบางประการที่ต้องเอ่ยถึงชื่อหลังนี้ ประการหนึ่งคือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นนักหนังสือและเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ด้วย

ผกาวดี เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ ผกาวดี อุตตโมทย์ เป็นบรรณาธิการ

อีกคนหนึ่งเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น แม้จะร่ำเรียนมาทางวรรณกรรมเด็ก ชื่อ ผุสดี นาวาวิจิต

อีกคนหนึ่ง ทำหนังสือมาทั้งชีวิต แม้จะเรียนมาทางครู เขียนหนังสือและทำสิ่งอื่นๆ เกี่ยวกับหนังสือทั้งหมด ชื่อ มกุฏ อรฤดี

ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ คนทั้งสามช่วยกันทำนิตยสารอยู่ที่เรือนไม้ชั้นเดียว เก่า สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ ด้วยไม้ประมูลงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ จากท้องสนามหลวง ผู้ออกแบบคือ คุณสายสวาท เทพหัสดิน ณ อยุธยา ภริยาคุณกำธร บุตรชายเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี นิตยสารฉบับนั้นชื่อ กะรัต

นิตยสาร กะรัต เป็นนิตยสารรายเดือน ทำอย่างตั้งใจขาดทุนถึงปีที่ ๙ และในปีที่ ๙ นั้น ก็ได้ต้นฉบับเรื่องแปลที่น่าตื่นเต้นจนโฆษณาหน้าสีเต็มอัตรา เห็นกำไรอยู่แค่เอื้อมมือ

การทำนิตยสาร ปีนี้ขณะนี้ หรือปีโน้นเมื่อครั้งกระโน้น คือเมื่อ ๓๐ – ๔๐ ปีก่อน ก็ต้องพึ่งพาโฆษณา จึงจะอยู่รอดได้ และการจะได้โฆษณานั้นล้วนแล้วแต่มีเรื่องราว เพียงแต่ใครจะเล่าจะเขียนถึง เช่น เมื่อต้องนำค่าคอมมิชชั่นใต้โต๊ะไปมอบอย่างทำหล่นกันในห้องน้ำบริษัทโฆษณา เป็นต้น

ในปีนั้น ปีที่ทุกคนเหนื่อยเพราะต้องกู้เงินนอกระบบรายเดือนดอกเบี้ยร้อยละ ๕ เพื่อพยุงฐานะทางการเงินไปซื้อกระดาษพิมพ์นิตยสาร บรรณาธิการก็ไปเห็นหนังสือเยาวชนชื่อแปลก ภาษาอังกฤษ วางอยู่ในร้านหนังสือญี่ปุ่น หนังสือนั้นชื่อ Totto-Chan The Little Girl at the Window หนังสือมีอยู่เล่มเดียว เพราะขายดีจนเกือบหมด หรือสั่งมาน้อยก็มิรู้ได้

บรรณาธิการยอมซื้อหนังสือเล่มสุดท้ายที่เยินเล็กน้อยเล่มนั้น และอ่านมาในรถ ตัดสินใจว่าจะแปลเพื่อพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร กะรัต แต่เมื่ออ่านไปได้ไม่กี่บทและย้อนดูหน้าสารบบ จึงได้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้แปลจากภาษาญี่ปุ่น เป็นเรื่องของเด็กหญิงญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เวลานั้น เรื่องสำหรับเด็กและเยาวชนจากญี่ปุ่นยังไม่แพร่หลาย แม้ดูท่าว่าจะสนุกมาก บรรณาธิการก็รีรอ แต่กระนั้นก็ลงมือลองแปล

ต้นฉบับบทสั้นๆ ที่แปลจากภาษาอังกฤษ แม้จะเป็นเรื่องเด็กญี่ปุ่น และ Dorothy Britton ก็ได้รับยกย่องว่าแปลดี แต่เมื่อบรรณาธิการผู้ร่ำเรียนมาจากประเทศอังกฤษเป็นผู้แปล ก็ให้รู้สึกว่าไม่รู้สึกถึงกลิ่นอายของเด็กญี่ปุ่น และสิ่งทั้งหลายอันเป็นญี่ปุ่น แม้กระทั่ง หมาอัลเซเชี่ยนที่มีนิสัยญี่ปุ่น

สัปดาห์ต่อมา เราจึงหารือกันว่า น่าจะต้องหาต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นมาแปล แทนที่จะแปลจากภาษาที่สอง

ทฤษฎีการแปลเก่าบอกว่า การแปลเป็นไทยไม่ควรให้เหลือกลิ่นนมเนย

แต่คราวนี้ กรณีนี้ เรากลับถวิลหากลิ่นวาซาบิในต้นฉบับแปล ทำนองเดียวกันกับเมื่ออ่านหนังสือแปลจากภาษาจีน เรามักเห็นภาพและได้กลิ่นจากคำ เสี่ยวเอ้อ หมั่นโถว ในโรงเตี๊ยม

ผู้แปลเรื่องนี้แทนที่จะเป็น สาลินี คำฉันท์ หรือ ปาริฉัตร เสมอแข ก็กลายเป็น ผุสดี นาวาวิจิต

การติดต่อเพื่อขอลิขสิทธิ์และสั่งหนังสือภาษาญี่ปุ่นจากโตเกียวจึงดำเนินไปในเวลาไม่นาน

ผุสดี นาวาวิจิต ผู้แปลเดินทางไปญี่ปุ่นและได้พบกับผู้เขียน คือ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ในเวลาต่อมาก็ได้รับบันทึกของผู้เขียนถึงผู้อ่านชาวไทย อาจจะเป็นหนังสือแปลภาษาเดียวของเรื่องนี้กระมังที่ได้รับเกียรติเช่นนั้น

ปีนั้นลงวันที่ไว้ เดือนธันวาคม 1984 หรือ พ.ศ. ๒๕๒๗

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่างคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ

จากผู้เขียนถึงผู้อ่านชาวไทย

ดิฉันดีใจมากที่ผู้อ่านชาวไทยสนใจอ่านเรื่อง ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’

ดิฉันตั้งใจมานานแล้วว่า จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนประถมศึกษา และคุณครูใหญ่ที่แสนวิเศษ ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ในขณะที่ดิฉันยังจำเรื่องราวเหล่านั้นได้อยู่ แต่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีผู้อ่านเรื่องของดิฉันมากมายเช่นนี้ ฉบับภาษาญี่ปุ่นได้พิมพ์ไปแล้ว 6 ล้านเล่ม มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการพิมพ์ในประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และเกาหลี ส่วนประเทศโปแลนด์และฟินแลนด์ กำหนดพิมพ์เรื่องนี้ใน ค.ศ. 1985

ดิฉันดีใจที่สุด ถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านฉบับแปลภาษาไทย สำนวนแปลของคุณผุสดี นาวาวิจิต และรู้จักเด็กญี่ปุ่น และชาวญี่ปุ่นมากขึ้นอีก แม้เพียงเล็กน้อย เพราะเราทุกคนเป็นเพื่อนกัน

คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ

ธันวาคม 1984

คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ

การจัดรูปเล่มหนังสือนี้ค่อนข้างยุ่งยาก ด้วยเหตุแต่ละบทสั้นยาวไม่เท่ากัน และแม้จะออกแบบอย่างดี แต่เมื่อพิมพ์เล่มเสร็จเรียบร้อย ถึงเวลาก็เสร็จทั้งหมด ไม่มีตัวอย่าง ทุกคนเกือบเป็นลม ปรากฏว่าโรงพิมพ์กำหนดขนาดผิดไปจากที่วางรูปเล่มไว้ หนังสือเล็กไป ๑ เซนติเมตร ด้วยคุ้นเคยรูปแบบเดิม

การทำหนังสือของเราจึงมีบทเรียนมาแต่ครั้งนั้นว่า อย่าวางใจใครไปเสียทั้งหมด แม้มืออาชีพก็ตาม

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง พิมพ์ครั้งแรกจำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม ส่งผ่านสายส่งและขายหมดภายในสัปดาห์เดียว

สัปดาห์ที่สอง มีคนมารอหน้าประตูสำนักพิมพ์ ด้วยความหวังว่าจะมีหนังสือเหลือพอจะแบ่งให้เขาไปขาย และทุกคนกำเงินสดมา บอกว่า “อยากได้ร้อยเล่ม” ขณะที่การฝากขายหน้าร้านส่งกันด้วยจำนวนเพียง ๕ เล่ม ๑๐ เล่ม เท่านั้น

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

ไม่ถึงเดือน หลังจาก โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง พิมพ์ครั้งแรกและจำหน่ายหมด วงการหนังสือและหนังสือพิมพ์ ตลอดจนนิตยสาร พูดถึงปรากฏการณ์ครั้งนี้

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

วรรณกรรมเยาวชนเริ่มฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งอย่างกระตือรือร้น แทบไม่น่าเชื่อ วงการหนังสือรับรู้เรื่องนี้ในขณะที่ก่อนหน้านั้นตลาดหนังสือมีแต่หนังสือผู้ใหญ่

การจัดรูปเล่มหนังสือ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง นับว่าประสบความสำเร็จ เพราะมีคนของโรงพิมพ์อย่างน้อยสองแห่งเล่าให้ฟังว่า “มีคนมาจ้างพิมพ์หนังสือ เขาเอาต้นฉบับที่ไม่ได้จัดหน้ามาให้ พร้อมกับหนังสือ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง และบอกว่า ทำให้เหมือนแบบนี้ทุกอย่าง”

๓๒ ปี ต่อมา

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง พิมพ์ใหม่อีกครั้ง การจัดรูปเล่มและรูปประกอบทำใหม่หมด คราวนี้พิมพ์รูปสี่สีปกแข็ง ริมกระดาษทุกด้านสีชมพู

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

เมื่อ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ได้เห็นเล่มใหม่ เธอกล่าวกับผู้แปลว่า “สวยที่สุด”

การทำหนังสือให้บุคคลในวงการหนังสือของประเทศทำหนังสือเก่งและอ่านหนังสือกันทั้งประเทศอย่างญี่ปุ่นชอบจนกล่าวชื่นชมได้นั้น นับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งสำหรับคณะผีเสื้อ

ภาพ:อิวาซากิ ชิฮิโระ, อภิชัย วิจิตรปิยะกุล, พจนีย์ ธารประดับ และสำนักพิมพ์ผีเสื้อ 

Writer

Avatar

มกุฏ อรฤดี

ทำหนังสือมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมจนเรียนจบวิทยาลัยครูสงขลา กระทั่งปัจจุบัน นับได้ 51 ปี เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสาร 3 - 4 ฉบับ ปัจจุบันนับอาชีพของตนว่า บรรณาธิการ

Photographer

Avatar

นพดล เลิศเอกสิริ

นักศึกษาฝึกงานที่เรียนภาพยนตร์และภาพถ่าย ชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบเขียน และกำลังพยายามชอบพูด