ไม่บ่อย ที่เราจะพบกระเป๋าในแบบทรงที่คล้ายกับเกิดมาเพื่อเป็นของเรา
เรากำลังพูดถึงกระเป๋าของ ‘Heartist’ กระเป๋าที่มีใบเดียวในโลก เพราะทำมาจากผ้าผืนทอมือของเด็กพิเศษ
“กระเป๋าทุกใบคืองานศิลปะที่มาจากศิลปิน” โปสเตอร์-วริศรุตา ไม้สังข์ เจ้าของแบรนด์กระเป๋าเพื่อสังคม Heartist เล่าพร้อมยิ้มต้อนรับเราเข้าสู่สตูดิโอขนาดกะทัดรัดของเธอในย่านแบริ่ง
เชื่อเถอะว่าไม่มีดีไซเนอร์คนไหนกล้าหยิบคู่สีมาใช้อย่างที่ศิลปินของ Heartist ทำแน่ๆ
คู่สีของผ้าบางชิ้นให้สีใกล้เคียงกับแฟชั่นคอลเลกชันสปริง / ซัมเมอร์ปีหน้าอย่างประหลาด บางชิ้นมาก่อนการประกาศ Color of the Year ของสำนัก Pantone บางชิ้นยิ่งใหญ่ระดับโอกูตูร์ห้องเสื้อแบรนด์ดัง
เราไม่ได้กำลังเลือกกระเป๋า แต่กระเป๋าต่างหากที่กำลังเลือกเรา
ในการพบกันครั้งล่าสุด The Cloud คุยกับโปสเตอร์เรื่อง Heartist แบรนด์กระเป๋าเพื่อสังคม ตั้งแต่แรงบันดาลใจที่ได้จากงานอาสา จุดเริ่มต้น กระบวนการสร้างสรรค์กระเป๋า การทำแบรนด์ ไปจนถึงการสร้างผลกระทบทางสังคม
จนเดือดร้อนคุณผู้อ่าน เพราะกระเป๋าขาดตลาดไปชั่วขณะ
มาวันนี้ เราชวนโปสเตอร์คุยเรื่องที่จริงจังขึ้น 3 ระดับ ถึงเวลาแล้วที่จะพูดเรื่องเงินๆ ทองๆ กันบ้าง
กับดักหนึ่งของธุรกิจเพื่อสังคมคือ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ
บริหารจัดการสินค้า ตั้งราคา และหากลุ่มเป้าหมายอย่างไร เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างผลลัพธ์ทางสังคมอย่างที่ตั้งใจ
โปสเตอร์วันนี้ต่างจากโปสเตอร์เมื่อปีก่อนเป็นไหนๆ
จาก ‘แบรนด์กระเป๋าจากผ้าทอของเด็กพิเศษ’ โปสเตอร์ทำให้ Heartist กลายเป็น ‘แบรนด์ที่พัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มาจากการบำบัดของบุคคลพิเศษ’
จาก ‘อาสาสมัครสาวที่ทำงานเพื่อสังคมเป็นงานอดิเรก’ สู่ ‘ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมที่ไม่เคยสอบตก’
โปสเตอร์ทำได้ คุณก็ต้องทำได้
เปลี่ยนมายาคติสินค้าจากคนพิการ ภาคพิเศษ
ขณะที่สินค้าชุมชนหรืองานฝีมือจากชาวบ้านได้รับการให้ค่าจากสังคม ทั้งในรูปแบบตัวเงินและจิตใจที่ชื่นชม เพราะเชื่อว่ากำลังสนับสนุนให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สินค้าและบริการจากคนพิการ กลับติดอยู่ในภาพจำว่าต้องราคาถูก ขายความสงสาร และคนพิการต้องได้ส่วนแบ่ง 100% ทั้งหมดนี้คือมายาคติที่โปสเตอร์อยากจะเปลี่ยน พร้อมๆ กับทำลายมายาคติการทำงานจิตอาสา ผู้อยากช่วยคนอื่นโดยไม่คิดมากเรื่องเงินทอง
ย้อนกลับไปวันที่โปสเตอร์เริ่มทำงานอาสาในโครงการอรุโณทัยเพื่อบุคคลพิเศษ
ชุมชนบำบัด ผ่านงานทอผ้า งานปั้น งานไม้ ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มผู้ปกครองเด็กพิเศษ
วันแรก เธอใช้เวลาทั้งเช้าปั่นเส้นด้ายและทอผ้า แต่ได้ความยาวของผืนผ้าเพียง 3 เส้นทอ ทำให้รู้สึกหงุดหงิดกับตัวเอง จนเมื่อได้เห็นผ้าทอฝีมือของน้องๆ เด็กพิเศษจึงตื่นเต้นตาม เพราะคิดอยากช่วยขายหรือเพิ่มมูลค่าให้ผ้าแสนสวยเหล่านั้น
คบคนให้ดูผ้า
ไม่ต่างจากทุกคน หากโจทย์คือ ผ้าผืนทอมือฝีมือเด็กพิเศษ คุณคงคิดอยากขอซื้อผ้า จ้างคนออกแบบ ตัดเย็บจนสำเร็จแล้วติดแบรนด์เป็นสินค้าจากน้องๆ เด็กพิเศษ
แต่ในความจริงไม่ง่ายอย่างนั้น
ส่วนใหญ่น้องๆ เด็กพิเศษและครอบครัวมักเจอกับการกีดกันของสังคมทำให้ไม่อาจเข้าถึงการศึกษาและโอกาสต่างๆ ในชีวิต และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครคิดอยากเข้าไปทำงานอาสากับน้องๆ เด็กพิเศษก็ทำได้เลย เพราะวิถีชีวิตเรียบง่ายของน้องๆ เด็กพิเศษ และการสร้างความคุ้นเคยอาศัยความอดทนและความจริงใจ หรือแม้แต่การคิดต่อยอดขอนำผ้าไปใช้เพิ่มมูลค่า เพราะที่ผ่านมากลุ่มผู้ปกครองเจอบทเรียนมาไม่น้อย เช่น หาประโยชน์หรือให้ความหวังลมๆ แล้งๆ กับสิ่งที่ทำไม่ได้จริง
แต่เมื่อโปสเตอร์ใช้เวลาปรับตัวเข้ากับน้องๆ เด็กพิเศษและครอบครัวระยะหนึ่ง เธอก็เอ่ยปากกับ ‘แม่เปา’ เจ้าของโครงการว่า “แม่บอกว่าการทอผ้าทำให้น้องมีคุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่แม่และน้องทอแล้วเก็บใส่ตู้ไว้ ก็คงไม่มีใครเห็นคุณค่านี้แบบที่แม่เห็น หนูอยากช่วย”
เวลาที่คนบอกว่า ‘Human is a key success of sustainable.’
Human ที่เขาหมายถึงนั้นนับรวมใครบ้าง คนที่เหมือนกับเราเท่านั้นหรือ
นี่คือสิ่งที่โปสเตอร์และ Heartist ต้องการจะบอกเรา เราไม่ได้กำลังซื้อสินค้าจากคนพิการ แต่กำลังซื้องานศิลปะจาก Heartist
My HEARTIST will go on
“ทำงานผ้าจะยากสักแค่ไหนกันเชียว” โปสเตอร์หัวเราะที่ครั้งหนึ่งเคยคิดทำธุรกิจโดยตัวเองไม่มีความรู้เรื่องผ้าเลยแม้เพียงนิดเดียว เงินกว่าครึ่งแสนที่ใช้ทำซื้อผ้าผืนทอมือ จ้างนักออกแบบ ขึ้นตัวอย่างกระเป๋า และสรรหาวัตถุดิบชั้นดี เป็นบทเรียนผู้ประกอบการบทที่ 1 ก่อนจะตามมาด้วยอีกกว่า 10 บทเรียน บ้างเล็ก บ้างใหญ่
จุดเปลี่ยนสำคัญของ Heartist คือ การเข้าโครงการพัฒนาศักยภาพธุรกิจเพื่อสังคม SET Social Impact ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และได้เข้าอบรมในโครงการ SET Social Impact Gym by mai Executive โครงการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมร่วมกันระหว่าง ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจดทะเบียน และกิจการเพื่อสังคม โดยมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนระดับร้อยล้านพันล้านในตลาดหลักทรัพย์ mai ที่มีจิตอาสาเข้ามาช่วยโค้ชการทำธุรกิจให้กับเหล่าน้องๆ ที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม
หลังจากลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาก่อน ซึ่งปีแรกของการทำ Heartist โปสเตอร์ไม่ยอมออกงานหรือหาหน้าร้านเพื่อขายกระเป๋าเลย เพราะรู้สึกว่ายังไม่ดีพอ แต่พอได้มาเรียนในห้องเรียน SE102 ของโครงการ SET Social Impact Gym by mai Executive เธอกลับถูกโค้ชหลายรายในโครงการแสดงความเป็นห่วงถึงสถานะทางการเงิน ทั้งที่ตัวเธอเองไม่คิดว่าเป็นปัญหาแม้แต่น้อยเพราะมีรายได้จากงานประจำ
“เราไม่อยากให้คนซื้อของเราเพราะสงสาร เรายอมไม่ได้ถ้าได้ยินใครบอกว่าของของเรายังดีไม่พอ” โปสเตอร์เล่าแรงจูงใจของเธอ
ทรงกระเป๋า ก็เป็นอีกหนึ่งในบทเรียนที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ Heartist ซึ่งกว่าจะเป็นกระเป๋าคล้องแขนทรงแปลกแต่สะดุดตาขายดีติดอันดับอย่างทุกวันนี้ โปสเตอร์ต้องต่อสู้กับคำสบประมาทจนเกือบจะเลิก
แต่แล้ววันหนึ่ง อยู่ๆ ก็มีคนส่งข้อความมาสั่งซื้อกระเป๋าเยอะผิดสังเกต สืบดูจึงได้รู้ว่านักแสดงสาว เอ้ก-บุษกร หงษ์มานพ ใช้กระเป๋าของ Heartist และโพสต์ลงอินสตาแกรม จึงทำให้กระเป๋าทรงนี้กลายเป็นที่ต้องการ จากกระแสปากต่อปาก
รับได้ทุกอย่าง
หนึ่งในบทเรียนวิชาผู้ประกอบการธุรกิจสังคมที่ใหญ่ที่สุดคือ นโยบายรับซื้อผ้าทอทุกผืน
เหตุผลที่โปสเตอร์รับซื้อผ้าทุกผืนไม่หยุด ไม่ใช่เพราะมีเงินมากมาย แต่เพราะเธอไม่อยากทำลายความเชื่อมั่นของผู้ปกครองและเด็กๆ ในโครงการอรุโณทัยเพื่อคนพิเศษ และโรงเรียนอุบลปัญญานุกูล จังหวัดอุบลราชธานี แม้พ่อแม่ของน้องๆ จะโทรมาถามสถานการณ์ธุรกิจของเธอด้วยความเป็นห่วง ช่วยเสนอความคิดเห็นให้ขึ้นป้ายว่าเป็นมาจากสินค้าคนพิการไปเลย แต่เธอไม่ยอมให้มีคำว่า ‘สินค้าคนพิการ’ ออกมาจากแบรนด์ Heartist เป็นอันขาด
“แน่นอนว่านโยบายนี้จะขัดใจคนที่คิดทำธุรกิจ ซึ่งถ้าเราอยากรับซื้อผ้าทอมือทุกผืนอย่างที่ตั้งใจโดยไม่ลดต้นทุนอื่นๆ เราต้องมีแผนรายได้” ไม่ใช่เพราะความบังเอิญที่ทำให้โปสเตอร์คิดได้ แต่เพราะรายจ่ายกว่า 6 หลักซึ่งมาพร้อมคลังผ้าทอที่ส่งมาจากอุบลฯ ทุกเดือน เพิ่มขึ้นจนเส้นปลายทางของ Heartist ใกล้เข้ามาทุกที เรียกร้องให้โปสเตอร์เอาจริงเอาจังกับแผนธุรกิจของตัวเอง
ไม่อยากเป็นผู้ประกอบการที่สอบตก
“ธุรกิจก็คือธุรกิจ ถ้าเราไม่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เราก็คงไม่มีหน้าบอกใครว่าจะช่วยเหลือคนอื่น เราไม่อยากสอบตกในการเป็นผู้ประกอบการที่ล้มเหลว” โปสเตอร์ร้องบอก ก่อนจะเสริมว่าสิ่งที่ยากสำหรับเธอ คือ การคิดให้เป็นระบบ
และการทำธุรกิจคือการคิดอย่างเป็นระบบ โดยมีเครื่องมือคือ แผนผังโมเดลธุรกิจ หรือ Business Model Canvas (BMC) ที่ใช้ได้จริง
“เราใช้เวลากลั่น BMC ของตัวเองเป็นปี เพราะส่งการบ้านโค้ชแล้วโดนตีกลับทุกครั้ง หลังจากกวาดตาดูเพียงแว้บเดียวแล้วรู้ว่าสิ่งที่เขียนมาไม่ตรงตามสถานการณ์จริงของธุรกิจเรา” โปสเตอร์เล่าว่า โค้ชสอนเสมอว่าการเป็นเจ้าของกิจการจะเกลียดการเงินไม่ได้
“ไม่ได้เกลียดการรับเงินนะ พวกเราเกลียดการทำความเข้าใจความยุ่งยากเรื่องเงินๆ ทองๆ เคยคิดด้วยซ้ำว่าไม่ต้องมีก็ได้ แต่เมื่อเห็นแผนการในหัวที่อยากทำนู่นนี่เต็มไปหมด แต่ทำ Action Plan ไม่เป็น สิ่งในหัวก็คงเกิดขึ้นจริงไม่ได้” โปสเตอร์เล่าว่า ที่ผ่านมาเธอรู้ความหมายของ BMC แต่ละช่อง แต่ไม่รู้เหตุและผล และความเชื่อมโยงระหว่างกัน
“วันนี้ถ้าใครมาถามเราเรื่องแผน เราตอบได้เลยว่า เดือนหน้าเราจะลงพื้นที่ทำวิจัยเรื่องเด็กกับโรงพยาบาลรามาฯ เพื่อศึกษากระบวนการทอผ้าบำบัด แล้วออกแบบกี่ทอผ้าที่เหมาะกับทุกสรีระเพื่อการบำบัดที่แท้จริง ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะนับรวมกับต้นทุนซึ่งสะท้อนออกมาเป็นราคาขาย
พิเศษนิยม
“วันแรกที่เข้าโครงการ SET Social Impact Gym โค้ชถามว่า สินค้านี้ขายใคร เราตอบว่าขายคนมีเงิน เราไม่ได้กวนนะ เพียงแค่ยังนึกไม่ออก เพราะรู้แค่ว่าเราขายของดีมีคุณภาพในราคาที่อาจจะสูง โค้ชถามกลับทันทีว่า แปลว่าคนมีฐานะทุกคนต้องซื้อกระเป๋าเรานะ ไม่เช่นนั้นแปลว่าเขาไม่มีเงิน” จากวันที่ไม่รู้เรื่องเลย วันนี้โปสเตอร์บอกว่า มั่นใจมาก หากใครมาถามเธอเรื่องแผนผังธุรกิจ
“ตอนแรกเราตั้งกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กนักศึกษา โดยที่ไม่ได้วิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของคนกลุ่มนั้น ขณะที่ลูกค้าจริงกลับเป็นคนวัย 30 – 40 ปีที่มีกำลังซื้อ มีความเข้าใจเพราะผ่านโลกมาประมาณหนึ่ง จึงรู้ซึ้งในคุณค่าของมนุษย์ และเมื่อเราอยากสื่อสารเรื่องราวและสิ่งที่เชื่อ คนกลุ่มนี้นั่นแหละเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ”
กลุ่มเป้าหมายไม่จำเป็นต้องมีเพียงกลุ่มเดียว แต่คิดถึงและแบ่งย่อยตลาดที่อาจเป็นลูกค้าเราในอนาคต ซึ่งยิ่งลงรายละเอียดมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งเจอกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ต้องใช้เวลาลองถูกลองผิดอย่างที่แล้วมา
เช่นเดียวกับพาร์ทเนอร์ของธุรกิจ จากเดิมที่เข้าหาด้วยท่าทีขอความช่วยเหลือ โปสเตอร์เล่าว่า วันนี้ Heartist เปลี่ยนท่าทีใหม่ เดินเข้าหาบริษัท องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ด้วยความมั่นใจ เพราะรู้สึกว่าของของเราเป็นของดี เป็นของที่เราอยากนำเสนอ
กระเป๋าใบนี้ขายกระบวนการ
เริ่มตั้งแต่จัดหาไหมและอุปกรณ์ส่งให้ศิลปินพิเศษ คิดหาวิธีการขยายและช่วยให้น้องๆ มีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้นจากการทอผ้าบำบัดบำบัด รับซื้อผ้า ออกแบบ คิดทำ และผลิตกระเป๋า ทำแบรนด์ ทำธุรกิจ วางแผนการขายและการตลาด ระบบการเงินหลังบ้าน ผลกระทบทางสังคมระหว่างทางและปลายทาง
“จากที่เคยเรามองตัวเองเป็นแม่ค้าขายกระเป๋าคนหนึ่ง แต่วันนี้เราจะเป็นผู้พัฒนาและจัดจำหน่าย เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วยให้เราคิดเป็นระบบ ทำให้เราหลุดจากกรอบการทำงานเพื่อสังคมแบบเดิม รู้จักและเปิดใจกับการคิดทำอย่างนักธุรกิจ จนต่อยอดแผนการในใจให้เกิดขึ้นจริง และสร้างความมั่นใจแก่เรา” กระบวนการคิดทางธุรกิจที่เป็นระบบ ทำให้ตัวตนของโปสเตอร์และ Heartist ยิ่งชัดเจน
จากวันแรก จนถึงวันนี้ Heartist กลายเป็นแบรนด์ที่พัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มาจากการบำบัดของบุคคลพิเศษ เป็นแบรนด์ที่ทำลายมายาคติสินค้าคนพิการ เป็นแบรนด์ที่รวบรวมงานศิลปะพิเศษไว้ด้วยกัน ชิ้นงานมาสเตอร์พีซที่มีชิ้นเดียวในโลก เป็นแบรนด์ที่ทำให้เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์และอยู่ร่วมกันอีกครั้ง
ใช่แล้ว กระเป๋า 1 ใบที่เราซื้อ เรามีส่วนร่วมตั้งแต่การจัดหาไหม มีส่วนในการช่วยเหลือกระบวนการบำบัด สร้างรายได้ สร้างความภาคภูมิใจ นำครอบครัวของน้องๆ เด็กพิเศษกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา สร้างศิลปินหน้าใหม่
ท้ายที่สุดแล้ว Heartist ตั้งใจจะเป็นธุรกิจที่ทำกำไร แม้ใครจะบอกว่า Heartist หากินกับคนพิการ โปสเตอร์ก็ขอยอมรับอย่างเต็มหัวใจ เพราะเหนือสิ่งอื่นใด เธออยากทำให้คนพิการมีอาชีพ อยากให้ Heartist เป็นธุรกิจที่ดำเนินต่อไปแม้ในวันที่ไม่มีเธอ