ถ้าถามว่า บุสก้า-สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์ เป็นใคร คำตอบที่ได้ก็น่าจะบ่งบอกตัวตนของเขาในช่วงปีต่าง ๆ รวมไปถึงสถานะของตัวผู้ตอบได้ไม่มากก็น้อย

ถ้าคุณเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระหว่าง พ.ศ. 2530 – 2534 เขาอาจเป็นเพื่อนนิสิตจากคณะอักษรศาสตร์น้อยคนที่เลือกศึกษาในวิชาเอกภาษาอิตาเลียนซึ่งเพิ่งเปิดสอนไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น

แต่ถ้าคุณได้เข้าเรียนที่นั่นตั้งแต่ พ.ศ. 2535 – 2561 เขาอาจเป็นอาจารย์ใจดีที่สอนให้คุณพูดคำว่า ‘เชา (Ciao)’ หรือ ‘บวนจอร์โน (Buongiorno)’ ในวิชาอิตาเลียนตัวแรก

และถ้าคุณรู้จักเขาจากหน้าจอมือถือ เขาอาจเป็นแอดมินเพจและยูทูบเบอร์ที่คอยให้ความรู้ด้านประเทศ ภาษา รวมถึงวัฒนธรรมเบ็ดเตล็ดของอิตาลีอยู่เนือง ๆ

หรือถ้าคุณเป็นแฟนตัวยงของ The Cloud ‘ครูก้า’ คนเดียวกันนี้ก็คือเจ้าของคอลัมน์ Miss Italy ที่เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับอิตาลีแบบรายเดือนมานานกว่า 3 ปี

ไม่ว่าคุณจะรู้จักบุสก้าจากบทบาทใด ทุกช่วงชีวิตของเขามักจะเชื่อมโยงกับอิตาลีเสมอ

เขาเกิดมาพร้อมชื่อเล่นที่เผอิญตรงกับคำศัพท์และชื่อเมืองในแดนมะกะโรนี

โบกมือลาภาษาที่รักมาเรียนภาษาที่ไม่เคยแม้แต่รู้จัก

เป็นนักเรียนไทยรุ่นแรกคว้าทุนรัฐบาลอิตาลีไปซึมซับภาษานี้เพื่อนำกลับมาสอนคนรุ่นหลัง ก่อนจะพบว่ามันคือภาษาที่ตนหลงรักมานานเนาโดยไม่รู้ตัว

นี่คือบทสัมภาษณ์ชีวประวัติของเจ้าของสมญา ‘ครูก้าผู้อารี’ ที่ศิษย์เก่าวิชาเอกภาษาอิตาเลียนคัดสรรแง่มุมชีวิตของอาจารย์ตัวเองมาให้ผู้อ่านได้รับรู้กัน!

ตัวตนของ ‘ครูก้า’ ผู้เขียนคอลัมน์ Miss Italy ด้วยรักและคิดถึงมิตรแท้ที่ชื่ออิตาลี

มีหลายคนสงสัยว่าชื่อ ‘บุสก้า’ ของครู เกี่ยวข้องกับอิตาลีไหมครับ

ไม่เกี่ยวเล้ย! ‘บุสก้า’ นี่เป็นชื่อของหุ่นยนต์ในรายการทีวีของญี่ปุ่นที่ดังมากสมัยครูเกิด ตัวครูเองก็ยังไม่เคยดูเลย แต่พี่สาวติดงอมแงมมาก พี่สาวครูเลยตั้งชื่อน้องว่า ‘บุสก้า’ ครูก็มีชื่อนี้มาแต่เกิด

ต่อมาพอเข้าอักษรศาสตร์ พวกที่เรียนสเปนก็มาบอกว่า ‘Busca’ มันแปลว่า ค้นหา นะ พอตัวเองได้เรียนอิตาเลียน อาจารย์ก็บอกว่ามันเป็นคำปรามเด็กในอิตาลี ทำนองว่า “เดี๋ยวถูกตีน้า” ฉะนั้นเวลาครูเจอคนอิตาเลียน ทุกคนเลย ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว จะหัวเราะและทำมือท่าเดียวกันหมด คือท่าขู่จะตีก้น

จากนั้นก็มีคนมาบอกว่าชื่อนี้เป็นชื่อเมืองในอิตาลีด้วย รายละเอียดอ่านได้ในคอลัมน์ Miss Italy ครูเรียกมันว่าตอน Busca Busca Busca แปลว่า ‘บุสก้าตามหา(เมือง)บุสก้า’ นั่นเองฮะ

แล้วครูไม่มีชื่อภาษาอิตาเลียนชื่ออื่นเลยหรือครับ

แค่ชื่อนี้ก็พอแล้ว (หัวเราะ) คนจะชอบคิดว่าครูตั้งเอง แต่เปล่าจ้ะ เป็นชื่อตั้งแต่เกิด

ครูก้ารู้จักอิตาลีครั้งแรกจากอะไร

ถ้าหมายถึงประเทศอิตาลีก็คงรู้จักมาจากโรงเรียนนั่นแหละ ภาพจำคือมันเป็นประเทศที่เป็นรูปรองเท้าบูต แค่นั้นจบ ไม่มีความรู้ใด ๆ มากไปกว่านั้นเลย

นอกจากรองเท้าบูต อีกอย่างที่เด็กไทยน่าจะรู้จักอิตาลี ก็น่าจะเป็นเรื่อง พิน็อกคิโอ

เรื่อง พิน็อกคิโอ (Pinocchio) นี่ก็มีความขลัง เชิงสายมูเล็ก ๆ กับครูเหมือนกันนะ

ยุคครูยังไม่มีการ์ตูนดิสนีย์เข้ามา แต่ พิน็อกคิโอ นี่ทุกคนรู้จัก เพียงแต่คนไทยบางคนยังไม่ได้รู้ว่าเป็นนิทานของอิตาลี ตัวครูได้ยินตอนเด็ก ๆ ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอิตาเลียน ตอนนั้นหนังสือไทยจะใช้ชื่อว่า ‘พิโนเชียว’ อ่านออกเสียงแบบไม่ใช่ภาษาอิตาเลียนเลย

หนังสือเล่มแรกที่แม่ครูซื้อให้ครูอ่านเป็นหนังสือปกแข็งชื่อ ตุ๊กตาเนรมิต ซึ่งก็มาจาก พิน็อกคีโอ เรื่องนั้นก็อ่านไปเรื่อย ๆ ไม่รู้เลยจนกระทั่งตอนมาเรียนอิตาเลียน ถึงได้รู้ว่ามันแปลมาจาก พิน็อกคีโอ ถ้าคิดทางสายมูก็ขนลุกเหมือนกัน เหมือนฟ้าดินได้กำหนดเส้นบาง ๆ ให้เราแล้ว ว่าเดี๋ยวเรามาเจอกันในอีกสิบปีข้างหน้า อะไรอย่างนี้

ตัวตนของ ‘ครูก้า’ ผู้เขียนคอลัมน์ Miss Italy ด้วยรักและคิดถึงมิตรแท้ที่ชื่ออิตาลี

ตอนเด็กครูเคยคิดไหมครับว่าจะได้มาเรียนภาษาอิตาเลียน

ไม่เคยเลยฮะ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีภาษาของตัวเอง นึกว่าพูดภาษาอังกฤษ (หัวเราะร่าเริง)

เพราะอะไรครูก้าถึงได้เลือกเรียนภาษานี้ตอนอยู่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ

มันแบ่งเป็น 2 ตอนที่สำคัญนะเรื่องนี้ ตอนแรกคือ “ทำไมถึงเลือกเรียน” กับตอนสองคือ “ทำไมถึงเลือกเรียนเป็นวิชาเอก”

เรื่องเลือกเรียน ตอนนั้นกำลังเมาหมัดกับภาษาฝรั่งเศสมาก ตอนมัธยมปลายครูเคยรู้สึกว่าภาษาฝรั่งเศสตัวเองเจ๋งสุดในโรงเรียน แล้วพอมาเรียนในคณะอักษรฯ กลายเป็นไม่รู้อะไรเลย รู้สึกพ่ายแพ้ สู้เพื่อนไม่ได้ เรียนไปยังไงก็ไม่ทันเพื่อน คิดว่าเด็กอักษรฯ จุฬาฯ เกือบทุกคนคงเคยเป็น ไม่ใช่ห่วงว่าเกรดจะไม่ A นะ กลัวว่าจะติด F ถ้าเราฟิตมาก ๆ ก็จะได้แค่เสมอกับเพื่อน เรื่องโดดเด่นนี่รางเลือนมาก เห็นเลยว่าถ้ายังเรียนต่อ อีก 4 ปีนี้ต้องเหนื่อยมากแน่ ๆ แล้วอาจจะพาลเกลียดภาษาฝรั่งเศสที่ตัวเองรักก็ได้

ตอนนั้นก็เลยอยากเรียนภาษาใหม่บ้าง บังเอิญเดินผ่านหน้าสาขาภาษาอิตาเลียนแล้วเห็นป้าย ก็หยุดนิ่งดูแล้วก็คิดว่ามันสวย สะดุดตาเลยนะ เป็นป้ายพื้นสีน้ำเงิน ตัวอักษรสีขาว สาเหตุที่อยากลองเริ่มเรียนสำหรับครูก็คือป้ายนั้นป้ายเดียว พอเรียนแล้วก็รู้สึกถูกจริตกัน

ตอนจะต้องเลือกวิชาเอก ครูก็เลยเลือกเอกอิตาเลียนแล้วกัน เพราะดูท่าทางจะเข้ากันง่าย แล้วก็ค่อนข้างจะเรียนได้ดี

บรรยากาศวิชาเอกอิตาเลียนสมัยครูยังเป็นนิสิตเป็นอย่างไรบ้าง

เอกอิตาเลียนเริ่มเปิดสอนครั้งแรกในปี พ.ศ 2524 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ที่เปิดสอนภาษาอิตาเลียนเป็นวิชาเอก ส่วนปีที่ครูเข้าคือ พ.ศ. 2530 มีอาจารย์ประจำ 2 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ชัตสุณี สินธุสิงห์ เป็นอาจารย์คนไทย กับ อาจารย์กรัซเซียลลา ซานอน (Graziella Zanon) เป็นชาวอิตาเลียน 

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์พิเศษอีก เช่น ศาสตราจารย์กุลวดี มกราภิรมย์ ซึ่งต้องเดินทางจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาสอน มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง รุ่นพี่ที่จบไปแล้วกลับมาช่วยสอนก็มี คือ พี่ป้อม-อัทยา ตระกูลเลิศเสถียร ส่วนอาจารย์ต่างชาติที่ครูเรียนด้วยบ่อยสุดคือ อาจารย์เปาโล ปิอัซซาร์ดี (Paolo Piazzardi)

รุ่นครูเรียนยังไม่ค่อยมีคนไทยเรียนภาษาอิตาเลียน คนเรียนก็น้อย ทั้งรุ่นมีเด็กวิชาเอก 2 คน เด็กวิชาโทมี 5 คน รุ่นพี่ขึ้นไปหนึ่งรุ่นไม่มีคนเลือกเรียนเป็นเอกเลย แต่หลังจากครูเลือกเป็นเอกแล้ว คนเรียนก็เยอะขึ้นเรื่อย ๆ มีคนบอกว่าเพราะครูเป็นนางกวักเรียกคนมาเข้าเอก เขาบอกว่าเห็นพี่บุสก้าเรียนแล้วอยากเรียนบ้าง (หัวเราะ)

ตัวตนของ ‘ครูก้า’ ผู้เขียนคอลัมน์ Miss Italy ด้วยรักและคิดถึงมิตรแท้ที่ชื่ออิตาลี

ตอนครูก้าเป็นนิสิต มีวิชาไหนที่ชอบมาก และวิชาไหนที่ไม่ชอบเลย

วิชาที่ชอบสุดคงเป็นวิชาอิตาเลียนเพื่อการท่องเที่ยว ชอบมาก เป็นวิชาเดียวที่ขอเพิ่มสมุดคำตอบเวลาสอบ ส่วนวิชาที่ไม่สันทัดสุดเลยคือวิชาอารยธรรม คือมันยาวมาก และต้องเรียนเป็นภาษาอิตาเลียนด้วย จะหาหนังสือภาษาอื่นอ่านประกอบ ชื่อคนชื่อเมืองก็ไม่ตรงกันอีก ต้องนั่งเทียบชื่อกันวุ่นไปหมด 

ใครที่คิดว่าจะไปเที่ยวกับครูก้าแล้วหวังจะได้ประวัติศาสตร์แน่น ๆ เนี่ย คิดใหม่นะ ความรู้ทางประวัติศาสตร์อิตาเลียนของครูมีเท่าคนธรรมดา ไม่ใช่เอตทัคคะทางประวัติศาสตร์เลย

หลังจากที่เป็นอักษรศาสตรบัณฑิต เอกภาษาอิตาเลียนแล้ว ชีวิตครูไปทางไหนต่อ

ชีวิตเปลี่ยนไปจากเด็กริมคลองสายบันเทิง กลายเป็นไฮโซขรึมทันที! (หัวเราะ)

ล้อเล่น ไม่จริงหรอก พอเรียนจบครูก็ไปเป็นมัคคุเทศก์อยู่ 3 เดือนตามความฝัน จากนั้นพอจวนจะเปิดเทอม อาจารย์ชัตก็ถามว่า “อยากมาช่วยสอนหนังสือไหม” ครูปากคอสั่น รับปากทันที ก็เป็นอาจารย์พิเศษในปีการศึกษาถัดไปหลังเรียนจบเลย

ต่อมาครูก็ได้ไปอิตาลีครั้งแรกในชีวิตสินะครับ

มันช้าไปปีนึง ที่จริงตอนครูอยู่ปี 4 ทุนรัฐบาลอิตาลีเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก ครูได้ทุนนี้แล้ว เป็นเด็กทุนรุ่นแรก แต่ว่าตอนนั้นเขาบอกว่าครูจะต้องดรอปเทอมสอง แล้วไปอิตาลีปีนึง ทุนปีเดียว แล้วก็กลับมาเรียนต่อให้จบ เขาบอกต้องจบ 5 ปี 

แต่ถ้าไปเช็กประวัติศาสตร์ดูใน ค.ศ. 1990 – 1991 มันมีสงครามอ่าวเปอร์เซียอยู่ ทุนก็ระงับ เกือบไม่จบ คืออาจารย์บอกว่าเทอมสองไม่ต้องลงทะเบียน ก็ไม่ลง ปรากฏว่า เอ้า! ทุนระงับ โห กลับมาเรียนแทบตาย ก็ต้องมานั่งเรียน ในที่สุดก็ต้องจบปี 4 

แล้วพอจบปี 4 ก็เป็นอาจารย์ ระหว่างเป็นอาจารย์ทุนมันก็อนุมัติแล้ว ก็ต้องไป เลยต้องหยุดสอน ปิดเทอมสอง หยุดสอนเทอมนั้นเพื่อไปอิตาลี

ครูก้ายังจำวันแรกที่ไปถึงอิตาลีได้อยู่ไหม

ครูเหยียบแผ่นดินอิตาลีครั้งแรกในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1991 นี่จำได้โดยไม่ต้องเปิดโพยเลย ไปด้วยทุนของรัฐบาลอิตาลี ซึ่งนับเป็นนักเรียนทุนกลุ่มแรกของไทยที่ได้ทุนนี้ เขาให้เลือกเรียนได้เป็นคอร์ส 1 ปี ครูเลือกเรียนวรรณคดีที่มหาวิทยาลัยโบโลญญา (Università di Bologna)

ตัวตนของ ‘ครูก้า’ ผู้เขียนคอลัมน์ Miss Italy ด้วยรักและคิดถึงมิตรแท้ที่ชื่ออิตาลี

เมืองโบโลญญาในสายตาครูมีลักษณะเป็นอย่างไร

โบโลญญาในขณะนั้น และน่าจะคงยังเป็นขณะนี้ด้วยเช่นกัน เป็นเมืองที่เป็นอิตาเลี้ยน-อิตาเลียน แทบไม่เห็นนักท่องเที่ยวหรือคนต่างชาติเลย รู้สึกอยู่ท่ามกลางคนอิตาเลียนจริง ๆ เมืองก็ขรึม สง่า ไม่ฉูดฉาดโลดโผน ถูกจริตมาก

แต่นอกเหนือจากความชอบในตัวเมืองแล้ว โบโลญญายังเป็นเมืองที่ทำให้ครูเติบโตขึ้นนิด ๆ นะ คือได้เห็นชีวิตของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เข้าใจความลำบากในการเรียน ในการเข้าห้องสมุด เข้าใจความทุกข์ของการฝ่าหิมะไปนั่งเรียนสิ่งที่ตั้งแต่ต้นคอร์สจนเกือบจะปลายคอร์ส ก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี เข้าใจการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นจากการนอนอยู่ในห้องรับแขกตลอด 5 เดือนที่อยู่ ตอนนั้นเข้าโบสถ์ซันเปโตรนิโย (San Petronio) ทุกวันเลย ไปนั่งนิ่ง ๆ พนมมือขอพรให้โบโลญญาปรานีกับลูกด้วยเถิด เจ้าประคู้ณ!

เสร็จจากนั้น ครูก็ย้ายไปเรียนที่เมืองเซียนาต่อใช่ไหมครับ

ถูก ตอนแรกครูเจ็บช้ำใจกับโบโลญญามาก เพราะชีวิตลำบาก อัตคัด แสนเข็ญเหลือเกิน เงินทุนไม่ออก พอออกก็ต้องจ่ายค่าเรียนเอง บ้านก็หาไม่ได้ ต้องนอนอยู่ห้องรับแขกของบ้านหนึ่ง เรียนก็ไม่รู้เรื่อง ขนาดอัดเทปออกมาฟังก็ยังไม่รู้เรื่อง พอได้โอกาส ครูจึงเก็บข้าวของย้ายไปเรียนที่เมืองเซียนา (Siena) เพราะคิดว่าน่าจะเหมาะกับตัวเองมากกว่า ซึ่งจริง

ที่เซียนานั้น ชีวิตครูร่าเริงแจ่มใสมาก มหาวิทยาลัยที่เรียนเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับคนต่างชาติ ซึ่งเขาพร้อมที่จะสอนเราอยู่แล้ว เราซึ่งตอนนั้นโหยหาความรู้มากเข้าเรียนทั้งเช้าทั้งบ่าย ทั้งที่จริง ๆ ตามหลักสูตรให้เรียนแค่ตอนเช้า แต่ตอนบ่ายเป็นคอร์สพิเศษ สำหรับนักเรียนอีกระดับหนึ่ง แต่ให้เข้าฟังได้

ครูเรียนไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ภาษาอิตาเลียนของครูเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก เมืองก็สวย เดินได้ทั้งวันไม่มีเบื่อ เซียน่าจึงเป็นเมืองที่สำหรับครูแล้ว สวยงาม ร่าเริง เหมือนทุ่งดอกไม้กลางเดือนพฤษภาคม

ในยุคที่ครูไปเรียนที่อิตาลี ยุคนั้นมีนักศึกษาไทยในอิตาลีบ้างหรือยังครับ

ก็อาจจะมีนะ แต่ครูไม่รู้ แล้วครูก็ไม่เห็นเลย ถ้ามีคงน้อยมาก ไปอยู่มิลานอะไรอย่างนี้มั้ง

ชีวิตการเรียนภาษาเพิ่มเติมที่อิตาลีได้บอกอะไรกับครูบ้าง

ได้เห็นโลกกว้างขึ้นถ้ามองในแง่นั้น มันเป็นครั้งแรกที่ได้ไปอยู่เมืองนอกในฐานะนักเรียน เพราะฉะนั้นครูก็ได้ดูแลตัวเองเป็นครั้งแรก ได้สัมผัสกับคำว่า ‘นักเรียนนอก’ โอ้โห! มันเป็นอย่างนี้เองหรอ มันไม่ได้แบบสวยหรูปูพรม ภาพคนอื่นเราไม่รู้ แต่ภาพเราที่นึกถึงคือภาพตอนเราไปซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วก็เดินแบกของกลับมา เรียนไปปาดเหงื่อไป ทำให้ได้เห็นโลกจริงของนักเรียนนอก

อีกอย่างที่นึกถึงตลอดเวลาคือครูคิดว่าเราต้องเก็บมาสอน ครูต้องเก็บความรู้กลับมาสอนนะ ถ้าเรากลับมานี่คนทั้งประเทศไทยต้องหวังพึ่งเราหรือเปล่าวะ? ใครจะไปอิตาลีต้องมาหาเราหรือเปล่าวะ? ไม่รู้ว่าถ้าตอนนั้นไม่ได้เป็นอาจารย์จะคิดอย่างนี้หรือเปล่า ก็เครียดอยู่เหมือนกัน เป็นความตีตนไปก่อนไข้อย่างแรง แต่ก็ส่งผลดีคือทำให้ครูขยันมาก

หลังกลับมาจากอิตาลีแล้ว ครูก้ามั่นใจมากขึ้นไหม

ก็มั่นใจมากขึ้น แต่ก็ไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่นะ กลับมาก็สอนอย่างเดียว สอนบุคคลภายนอกด้วย สอนตอนเย็นด้วย ซึ่งมันก็ช่วยได้มาก เพราะว่าแต่เดิมก่อนครูจะไปอิตาลี อาจารย์ในคณะยังไม่ให้ครูสอนบุคคลภายนอกตอนเย็น

แต่กลับมาก็ถึงได้เข้าใจว่าบุคคลภายนอกหรือว่าคนที่มาเรียนตอนเย็นนี่เขาจะมีเป้าหมายชัดมาก ไม่เหมือนสอนนิสิตจุฬา เขาจะไม่เรียนภาษาเพื่อไปสอบ แต่เขาจะเรียนภาษาจริง ๆ จะถามทุกอย่างที่ต้องไปใช้ในการอยู่อิตาลีจริง ๆ เขาจะถามทั้งภาษา วัฒนธรรม ตอนหลังก็เลยขอบคุณตัวเองที่ตอนอยู่อิตาลีเก็บทุกอย่าง ถ้าไม่เคยอยู่อิตาลีมาก่อนจะสอนศิษย์กลุ่มนี้ลำบาก สิ่งที่เปลี่ยนไปหลังจากกลับมาก็คือได้เจอบุคคลภายนอก ได้รู้จักชุมชนคนที่ต้องการใช้ภาษาอิตาเลียนมากขึ้น มั่นใจขึ้น

ตัวตนของ ‘ครูก้า’ ผู้เขียนคอลัมน์ Miss Italy ด้วยรักและคิดถึงมิตรแท้ที่ชื่ออิตาลี

ในมุมมองคนไทยทั่วไป พอรู้ว่าครูก้าสอนภาษาอิตาเลียน เขาแสดงออกอย่างไรกัน

ไม่มีใครปล่อยผ่านเลย แทบทุกคนตาพองร้องว้าว แต่คำถามที่ตามมาก็มักจะแนวเดียวกัน เช่น “มีคนเรียนเหรอ?” หรือ “เขาเรียนกันไปทำไม?”

แต่จริง ๆ แล้ว ตอนที่เป็นอาจารย์ใหม่ ๆ ครูไม่กล้าบอกใครเลยนะ ถ้าไม่ซักไซ้ไล่เลียงจะไม่รู้เลย เช่น พอมีคนถามว่า “ทำอะไร” ก็จะตอบว่า “เป็นครู” สอนที่ไหน? “สามย่าน” วิชาอะไร? ก็ตอบ “ภาษาต่างประเทศ” จากนั้นก็จะหลบฉากหนีหรือชวนคุยเรื่องอื่นทันที คือเขินมาก (ยิ้ม)

ที่คณะอักษรศาสตร์ ครูก้าสอนวิชาอะไรบ้าง

วิชาที่รับผิดชอบสอนหลัก ๆ คือ อิตาเลียน 1 ทุกคนในสาขาจะชอบบอกว่าให้เรียกแขก อิตาเลียน 1 ตัวพื้นฐาน แต่ครูก็เอนจอยกับอิตาเลียน 1 มากนะ ครูมีความสุขกับการได้เห็นเด็กที่ไม่รู้เลยวันแรกเป็นศูนย์ แล้วพอจบคอร์สแล้วเริ่มพูดได้ มันเหมือนกับเป็นรางวัลที่มากกว่าเงินเดือนหรืออะไรอย่างนี้

ด้วยความที่สาขาวิชาเรามีอาจารย์ชาวต่างชาติด้วย เราจึงมักจะจัดให้อาจารย์เหล่านั้นสอนวิชาที่ตนเองถนัด และเป็นคอร์สขั้นสูง ครูก็จะสอนวิชาที่มีความอิตาเลียนปนไทย เช่น ภาษาอิตาเลียนพื้นฐาน ในส่วนของการอธิบายไวยากรณ์ วิชาอิตาเลียนเพื่อการแปลซึ่งหลัก ๆ ก็จะเน้นให้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากกว่า กับชี้ชวนดูว่าบางครั้งที่เราใช้ภาษาอิตาเลียนไม่ได้คล่องก็เพราะเรามัวแต่จะแปลภาษาไทยเป็นอิตาเลียนตรง ๆ นี่ละ

อีกวิชาที่ชอบมาตั้งแต่เป็นนิสิตแล้วก็คืออิตาเลียนสำหรับการท่องเที่ยว ซึ่งชอบจัง แต่พอพักหลัง ๆ เริ่มเหนื่อย เพราะต้องเที่ยวกลางแดดกันมาก วันดีคืนดี หากเทอมไหนมีวิชาวรรณคดีให้สอนก็จะลิงโลดมาก ไม่ได้เก่งหรอกนะ แต่อยากให้เด็กรู้วรรณคดีไว้บ้าง มันดีจริง ๆ

ลูกศิษย์ครูก้ามาเรียนอิตาเลียนด้วยสาเหตุใด

อันนี้ต้องถามลูกศิษย์ครูมากกว่าไหม (หัวเราะ)

ครูมีลูกศิษย์อยู่ 3 กลุ่มใหญ่นะ กลุ่มแรกคือนิสิตอักษรฯ จุฬาฯ กลุ่มที่สองคือนิสิตต่างคณะ กลุ่มที่สามคือบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผู้เรียนกับครูในคอร์สออนไลน์ตอนนี้ด้วย

เด็กอักษรฯ รุ่นก่อนส่วนหนึ่งเรียนเพราะตามครู อาจจะคิดไปเองว่าเรียนอิตาเลียนไม่ยาก เพราะดูครูก้าแกยังร่าเริงแก่นแก้ว แต่พอเรียนไปแล้วก็มักจะกลับตัวไม่ทันเลยต้องเลยตามเลย ฮ่า ๆๆ ส่วนรุ่นหลัง ๆ บางคนมีความสนใจที่ชัดมาก เช่น ชอบวัฒนธรรมอิตาเลียน ชอบศิลปะ ไม่กลัวภาษา มาเพื่อมาเรียนวัฒนธรรม อย่างนี้นาน ๆ เจอทีก็จะแอบว้าว

ส่วนนิสิตคณะอื่นนั้น เคยถามนะ ส่วนใหญ่เรียนเพราะอยากไปอิตาลี แล้วก็เรียนกันแค่ตัวเดียว อาจจะเป็นเพราะภาษามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เวลาเรียนไม่ได้แยกกลุ่มเด็กอักษรฯ ที่ตั้งใจจะเรียนเป็นเอก กับเด็กต่างคณะที่เรียนเป็นวิชาเลือกเสรี ความคาดหวังในการเรียนของคนสองกลุ่ม มันต่างกันจริง ๆ

ส่วนบุคคลภายนอกนั้นน่าสนใจมาก ทุกคนโหยหาวิชา พุ่งมาเรียนอย่างมีเป้าหมาย ตั้งใจเรียนมากเพื่อจะไปพูดกับคนใกล้ตัว มีบ้างที่เรียนเอาเพลิน แต่พอเรียน ๆ ไป ก็จะเริ่มอิน

ตัวตนของ บุสก้า-สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์  ผู้เขียนคอลัมน์ Miss Italy ด้วยรักและคิดถึงมิตรแท้ที่ชื่ออิตาลี

ปรัชญาในการสอนของครูก้า

ทุกคนต้องรู้เรื่อง”

แต่ถ้าในการทำงาน มีสิ่งที่ปฏิญาณกับตัวเองตั้งแต่วันแรกที่เป็นครูจนกระทั่งวันนี้ก็คือ “ถ้ามีนักเรียนมาหา จะวางงานทุกอย่างไม่ว่างานนั้นจะสำคัญอย่างไรก็ตาม”

อะไรที่ครูก้าคิดว่าทำให้ลูกศิษย์ชอบและติดใจในการสอนของครู

ครูคิดว่าครูเป็นคนพูดรู้เรื่อง และพูดด้วยใจ คนที่เรียนกับครูอาจจะรู้สึกอย่างหนึ่งว่าครูสนุกกับไวยากรณ์บ้าบอพวกนี้ไปได้ยังไง ครูเชื่อว่าทุกคนสัมผัสได้นะว่าครูไม่ได้อ่านมาสอน กับอีกเรื่องซึ่งตอนแรกครูนึกว่ามันจะเป็นข้อด้อยของครูในการสอนนะ แต่ปรากฏแทบทุกคนชอบและอยากให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ คือ การออกนอกเรื่อง ทุกคนดูจะชอบมากเวลาครูเล่าเรื่องประเทศและวัฒนธรรมอิตาเลียน บางคนถึงขั้นขอให้หยุดสอนแล้วเล่าเรื่องชีวิตครูในอิตาลีให้หนูฟังหน่อยค่ะ (หัวเราะอย่างมีความสุข)

ตอนนี้ครูก็รีไทร์ตัวเองจากงานสอนที่มหาวิทยาลัยแล้ว ปัจจุบันครูก้ายังทำอะไรเกี่ยวข้องกับอิตาลีบ้างครับ

ตั้งแต่ครูออกมาจากงานประจำก็มีงานเข้ามาหลายงาน ครูก็จะเปิดโฟลเดอร์ในคอมพิวเตอร์เอาไว้นะว่ามีโปรเจกต์อะไรบ้าง เชื่อไหม โฟลเดอร์หมายเลข 1 คือ ‘The Cloud’ (ยิ้ม)

ครูเป็นคอลัมนิสต์ เป็นครูสอนออนไลน์ เป็นนักแปลนวนิยาย เป็นผู้นำทัวร์ไปอิตาลี เป็นเจ้าของเพจ ครูก้า เป็นเจ้าของช่องใน youtube ชื่อ ครูก้า เช่นกัน คิดว่ามีแค่นี้นะ

ตัวตนของ บุสก้า-สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์  ผู้เขียนคอลัมน์ Miss Italy ด้วยรักและคิดถึงมิตรแท้ที่ชื่ออิตาลี

นวนิยายอิตาเลียนที่ไทยโดยครูก้า

ดั่งใจปรารถนา จากเรื่อง Va’ Dove Ti Porta il Cuore ของ ซูซานนา ตามาโร (Susanna Tamaro)

หยัดยืน จากเรื่อง Resto Qui ของ มาร์โค บัลซาโน (Marco Balzano)

ส่วนที่กำลังอยู่ในขั้นตรวจเกลา และยังไม่ได้ตั้งชื่อไทย คือ Caro Michele ของ นาตาเลีย กินซ์บูร์ก (Natalia Ginzburg)

ครูไปอิตาลีมาแล้วกี่ครั้ง ครั้งไหนที่ประทับใจมากสุด

ไปมากี่ครั้งนี่ยอมนะ ตอบไม่ได้จริง ๆ มีอยู่ช่วงหนึ่งไม่ได้ไปเป็นสิบปี เพราะเบื่อพิธีการต่าง ๆ ในสนามบิน ถ้าให้สุ่ม ๆ คิดว่าน่าจะ 15 – 20 ครั้งเห็นจะได้

มีอย่างหนึ่งที่ครูเพิ่งรู้ตัวได้ไม่นาน คือ ครูไม่ใช่นักท่องเที่ยวนะ คืออิตาลีเป็นประเทศเดียวที่ครูอยากไป ถ้าถามว่าเคยไปประเทศไหนมาแล้วบ้าง รู้คำตอบจะผิดหวัง เพราะถ้ามีเวลาและมีเงิน ประเทศเดียวที่นึกถึงคืออิตาลี การไปอิตาลีของครูก็ไม่เชิงไปเที่ยวด้วย แต่เป็นการกลับไปหาวัยรุ่นของครู ไปสูดกลิ่นกาแฟ เดินเมือง ชมตลาด เข้าโบสถ์ ฟังเสียงระฆัง อยากจะบอกว่าเป็นเหมือนบ้านที่สองก็เกรงใจ กลัวคนหมั่นไส้ แต่มันเหมือนกลับบ้าน กลับไปโรงเรียนเก่าจริง ๆ

ครั้งที่ประทับใจที่สุดก็คงเป็นครั้งแรกนั่นละ เพราะมันมีทั้งสุขทั้งทุกข์ ได้ความรู้ประสบการณ์หอบกลับมาสอน มาแบ่งปัน มาทำมาหากิน ถ้าไม่ได้ไปในครั้งนั้น ก็คงจะไม่ได้เป็นครูก้าอย่างทุกวันนี้

มีที่ไหนในอิตาลีที่อยากไป แต่ยังไปไม่ถึงบ้างหรือไม่

เกาะซาร์เดญญา (Sardegna) ภาษาอังกฤษเรียกว่า ซาร์ดีเนีย (Sardinia) มันต้องใช้เวลามากเลย แล้วก็ฉีกออกไป ไม่สามารถเที่ยวร่วมกับเส้นทางอื่นได้

อีกที่คือแคว้นอบรุซโซ (Abruzzo) อันนี้คือเนิร์ดมาก อยากไปดูเมืองที่นักเขียนคนโปรด คือ นาตาเลีย กินซ์บูร์ก ถูกเนรเทศไปอยู่ในช่วงรัฐบาลฟาสซิสต์

คอลัมน์ Miss Italy ที่เขียนให้ The Cloud เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นคนตั้งชื่อนี้

เกิดขึ้นได้จาก คุณก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารของ The Cloud เลยฮะ เขามาขอให้เขียน แล้วก็ให้ตั้งชื่อคอลัมน์ให้ด้วย ก็ได้ชื่อนี้ ซึ่งแปลได้ 2 อย่างคือ (I am) Miss Italy ที่หมายถึง “ฉันคือตัวแทนจากประเทศอิตาลี” เพื่อโชว์ความสวยงามและสติปัญญาของประเทศ กับอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งตั้งใจมากกว่า คือ (I) Miss Italy คือ ‘ฉันคิดถึงอิตาลี’

ถ้าเขียนด้วยความคิดถึงอิตาลี ครูก้าเขียนคอลัมน์นี้ที่อิตาลีได้ไหม

ไม่เคยสำเร็จเล้ย! มันต้องโหยหาหน่อย ไม่ใช่มองไปแล้วเห็น ‘Duomo’ หรือมหาวิหารของอิตาลีอยู่ตรงหน้า มันไม่ได้ ต้องมีอารมณ์แบบ Nostalgia ความระลึกถึงอะไรอย่างนี้

ตัวตนของ บุสก้า-สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์  ผู้เขียนคอลัมน์ Miss Italy ด้วยรักและคิดถึงมิตรแท้ที่ชื่ออิตาลี

ในการเขียนคอลัมน์นี้ ครูต้องทำอย่างไรครับ

โจทย์แรกที่พี่ก้องบอกมาคืออยากให้เขียนเกี่ยวกับเที่ยวอิตาลี แต่ไม่อยากให้เขียนเมืองแล้วนำเที่ยว ไม่อยากให้เป็นคอลัมน์นำเที่ยว เขาก็แนะนำว่าให้ครูเจาะไปเลย จุดใดจุดหนึ่งของเมือง แล้วก็เล่าเรื่องนั้น เล่าด้วยสำนวนครูก้าแหละ เขาบอกว่าครูก้ามีความสามารถอย่างหนึ่งคือพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ พอโจทย์เป็นอย่างนี้ ครูก็จะนึกถึงเมืองที่ครูคุ้นเคย เมืองที่ครูเคยไป หรือเรื่องบางเรื่องที่มีความรู้อยู่ แล้วก็เจาะไปที่ใดที่หนึ่งเหมือนที่พี่ก้องว่าจริง ๆ มันก็เวิร์ก ก็เลยทำตามนั้น

แล้วในนั้นมันจะมีความเป็นครูอยู่หน่อยหนึ่ง อย่างที่บอกว่าสิ่งที่นักเรียนชอบในห้องเรียนคือตอนที่ครูออกนอกเรื่อง คือมีเล่าประสบการณ์ส่วนตัว เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดนอกเรื่องอะไรก็ตามที่ครูมีประสบการณ์ส่วนตัว ครูจะใส่เข้าไปสักหน่อย ในทุกคอลัมน์จึงจะมีบางมุม มีบางพารากราฟที่ครูจะเล่าว่าครูเคยเจออย่างนี้ที่เมืองนี้หรือเรื่องนี้

ส่วนช่วงที่สองนั้น เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ กล่าวคือตอนนั้นจะพูดถึงประสบการณ์การเข้าร้านกาแฟของตัวเอง ซึ่งไม่ได้เป็นสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งด้วย ปรากฏว่าคนอ่านเยอะมาก พี่ก้องบอกและแนะนำว่า ครูมาถูกทางแล้วครับ เราพูดถึงวัฒนธรรมอิตาเลียนที่ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นสถานที่ก็ได้ ดังนั้น ช่วงหลัง ๆ จึงเป็นวัฒนธรรมอิตาเลียนมากกว่า

พอเลือกเรื่องที่พอจะเขียนได้แล้ว ก็จะนึกว่าตัวเองมีประสบการณ์อะไรกับเรื่องที่เขียนหรือเปล่า อันนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการสอนนั่นละที่ลูกศิษย์ชอบให้เล่าเรื่องตัวเอง เพราะฉะนั้น แทบทุกเรื่องจะต้องมีตัวครูก้าแทรกอยู่นิดหนึ่ง ไม่มากก็น้อย

บทความใดที่ครูประทับใจเป็นพิเศษ และบทความใดที่ไม่ประทับใจเอาเสียเลย

จริง ๆ ก็รักทุกบทความนะ เพราะเลือดตาแทบกระเด็น (หัวเราะ)

บทความที่ประทับใจเป็นพิเศษ และกลับไปอ่านอยู่บ่อย ๆ คือ ‘ระเบียงรัก ระเบียงลวง’ อันเป็นเรื่องของระเบียงจูเลียตที่เมืองเวโรนา ที่ชอบอันนี้เพราะขอบคุณตัวเองที่นึกขึ้นได้ว่า เมื่อนานมาแล้ว เคยอ่านบทความแบบผ่าน ๆ ด้วยนะ ไม่ใช่อ่านละเอียด ว่าใน Romeo and Juliet ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ ไม่มีระเบียง คำว่าระเบียงไม่มีอยู่ในภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ ก็เลยเริ่มหาว่า ตัวเองเข้าใจไปเองหรือเปล่า แล้วยิ่งหาก็ยิ่งเจอเรื่องน่าสนใจ

เรื่องที่ไม่ประทับใจเหรอ อืม เอาเป็นว่าเรื่องที่ไม่มั่นใจเลยคือเรื่องเกี่ยวกับกาแฟ พิซซ่า และอาหารนี่ละ ไม่ใช่ไม่ชอบที่ตัวเองเขียนนะ แต่พอส่งงานไปแล้วกลัวทัวร์ลง เพราะดูเหมือนคนอื่นจะรู้มากกว่าครูอยู่หลายขุม แต่ที่เขียนเพราะคิดว่า บางคนอาจจะอยากรู้แค่ความรู้พื้นฐาน…เหมือนอย่างครู แล้วก็บางคนอาจจะอยากอ่านเรื่องเดิม ๆ ในสำนวนที่เป็นครูก็ได้

ตัวตนของ บุสก้า-สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์  ผู้เขียนคอลัมน์ Miss Italy ด้วยรักและคิดถึงมิตรแท้ที่ชื่ออิตาลี
ตัวตนของ บุสก้า-สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์  ผู้เขียนคอลัมน์ Miss Italy ด้วยรักและคิดถึงมิตรแท้ที่ชื่ออิตาลี

พูดถึงอาหารแล้วก็นึกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยชอบความเป็นอิตาเลียนกันเยอะ อาหารอิตาเลียนที่ครูชอบที่สุด 3 เมนูมีอะไรบ้าง แล้วสาเหตุที่ชอบมีอะไรบ้างครับ

สาเหตุนี่พูดยากนะ เขาก็บอกว่าเวลาเราเกลียดใคร มันต้องมีเหตุ แต่ถ้าเวลาเรารักใครเนี่ย ไม่ต้องมีเหตุผล เพราะฉะนั้นว่ารักอิตาเลียนตรงไหนก็ตอบไม่ได้ รักอาหารมื้อนี้ตรงไหนก็ตอบไม่ได้

แต่สิ่งแรกที่นึกออกเลยคือ ปันนาคอตตา (Panna Cotta) ต่อมาคือ อารันชีโน (Arancino) เป็นข้าวปั้นห่อซอสแล้วเอาไปทอด ให้อารมณ์เหมือนกินข้าวแกง Take Away อีกอันขอเป็นเครื่องดื่มนะ ลัมบรูสโก (Lambrusco) เป็นไวน์ซ่าแถวโบโลญญา เพราะครูแยกไวน์ไม่ออกอันไหนดี อันไหนเลว กาแฟก็แยกไม่ออก แต่ลัมบรูสโกนี่รู้ว่าชอบรู้ว่าอร่อย

อะไรคือแพสชันที่ทำให้ครูก้ายังรักและผูกพันกับอิตาลีมาจนถึงวันนี้

มันเป็นเหมือนเพื่อนแล้วละ ตอนเรียนอิตาเลียนในเบื้องต้น ไม่ได้เรียนเพราะความรักนะ 

คือตอนนี้ครูรู้ 3 ภาษา มีอังกฤษ อิตาเลียน และฝรั่งเศส ครูจะบอกว่าภาษาอังกฤษนี่เรียนเพราะความจำเป็น เรียนเพราะว่าต้องใช้งาน ฝรั่งเศสเรียนด้วยความรัก อิตาเลียนเรียนด้วยความสนุก ถึงเรียนไปจนเป็นอาจารย์ก็ยังรู้สึกว่าภาษาที่ตัวเองรักที่สุดคือภาษาฝรั่งเศส 

แต่กลายเป็นว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เรารักมาโดยตลอดแล้วเราไม่รู้ตัว ไม่ได้รักมาก แต่รักนานคือภาษาอิตาเลียน มันเหมือนเพื่อนอะ เหมือนอยู่ด้วยกันแล้วไปคือดี

มันไม่ได้เป็นภาษาที่เลิศลอย แต่เวลาพูดอิตาเลียนแล้วให้ความรู้สึก Feel At Home รู้สึกว่าเป็นภาษาที่พูดได้สบาย ๆ เราอยู่ในขั้นที่เราอาจจะไม่ต้องคิดมากแล้วแหละกับภาษานี้

ท้ายที่สุดนี้ ครูก้าอยากขอบคุณอิตาลีในเรื่องใดบ้าง

ขอบคุณที่ให้ความรู้ ขอบคุณที่มีคนน่ารัก แต่จะขอบคุณมากกว่านี้ถ้าจะส่งคนรัก และให้วีซ่าระยะยาวมาให้ด้วย (หัวเราะชอบใจ)

เอาจริง ๆ สิ่งที่แอบขอบคุณในใจมาตลอดคือ ขอบคุณคนอิตาเลียนทุกคนที่ได้พบเจอ คือถ้าพวกคุณไม่น่ารักขนาดนี้ ครูคงปั้นตุ๊กตาฟางพันธงชาติอิตาลีตอกตะปูตรึงกับต้นไม้ไปนานแล้ว

ขอขอบคุณสถานที่ : ร้านอาหารอิตาเลียน Ailati Resto

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ