28 มิถุนายน 2019
16 K

​ใครๆ ก็น่าจะเคยทานอาหารอีสาน ใช่ไหม

แต่บูรพาจะพาคุณลิ้มรสอาหารอีสานแนวใหม่ แบบที่คุณไม่น่าจะเคยลองที่ไหน

ด้วยความที่อาหารอีสานในความทรงจำของฉันเป็นอาหารรสโดดและเผ็ดจนฉันต้องกระซิบแม่ค้าว่า “เผ็ดน้อยนะคะ” ฉันจึงไม่ได้ทานอาหารอีสานบ่อยนัก แต่วันนี้เป็นอีกวันที่ฉันมีนัดทานอาหารอีสานที่ร้านบูรพา ร้านในห้องตึกแถวย่านสุขุมวิท 11 ร้านที่ต่อยอดมาจากร้านศรีตราด ร้านที่เสิร์ฟอาหารตะวันออกให้คนกรุงทาน

ใช่แล้ว บูรพาคือร้านของคนตะวันออกที่กำลังจะทำอาหารอีสานแบบตะวันออกให้คนกรุงทาน!

แอ็ค-วงศ์วิชญ์ ศรีภิญโญ

นั่นไง คุณแอ็ค-วงศ์วิชญ์ ศรีภิญโญ เจ้าของร้านบูรพา กำลังรอเราอยู่ในร้านแล้ว

แม้จะเป็นตึกแถวธรรมดา แต่บูรพาไม่ธรรมดาอย่างที่คิด ด้านล่างของร้านเป็นบาร์และมีมุมรับประทานอาหารอยู่ประปราย ทีเด็ดของร้านคือบริเวณชั้นสองและชั้นสามที่คุณแอ็คตั้งใจทำให้เป็นรถไฟขบวนงาม เพื่อพานักเดินทางสายชิมข้ามพรมแดนบูรพาไปกับเขา

พร้อมแล้วก็รีบซื้อตั๋ว (สั่งอาหาร) และตามไปข้ามบูรพากับเรา

ค.ศ. 1940
ชานชาลาที่ 26/1948 : รถไฟสายบูรพา

เริ่มเดินทาง

ทันทีที่ฉันนั่งลงและคุณแอ็คเริ่มเล่า คล้ายกับว่าฉันได้ย้อนกลับไปสมัย 1940 ช่วงเวลาก่อนที่คุณแม่ศรีรัตน์ ศรีภิญโญ แม่ครัวหัวเอกและคุณแม่ของคุณแอ็คประจำร้านศรีตราดและบูรพาจะเกิด 8 ปี

รอบกายฉันไม่ใช่ห้องแถวคับแคบย่านสุขุมวิทอย่างที่เข้าใจ แต่กลับกลายเป็นตู้รถไฟที่ประดับด้วยโคมไฟตั้งโต๊ะและติดผนัง ทั้งประดับด้วยที่เก็บสัมภาระของผู้โดยสารมากหน้าหลายตาที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นกระเป๋าเดินทาง บ้างมีหนังสือ บ้างก็มีขวดโหลบรรจุสมุนไพรอบแห้ง โต๊ะไม้ ที่นั่งหนังบุนวมหนานุ่ม ช่างเป็นองค์ประกอบที่ลงตัว  

ฉึกฉัก ฉึกฉัก ฉึกฉัก เสียงรถไฟกำลังเร่งออกจากชานชาลา

“นี่คือร้านที่ต่อยอดจากศรีตราดใช่ไหม” ฉันเริ่มคำถามแรก ร้านศรีตราดเป็นร้านที่คุณแอ็คและคุณแม่ร่วมกันเสิร์ฟอาหารจากความทรงจำของชาวตะวันออกที่ประสบพบชิมตั้งแต่เด็กจนโต

“ผมสร้างทุกอย่างจากคำถาม” คือคำตอบที่คุณแอ็คให้ฉัน คำถามของฉันถูกต้องบางส่วน เพราะแท้จริงร้านนี้เกิดจากความช่างสงสัยและช่างตั้งคำถามของคุณแอ็คว่า “ทำไมจึงไม่มีใครคิดทำอาหารฟิวชันระหว่างอาหารไทยต่างถิ่นบ้าง” เพราะฉะนั้น บูรพาจึงเป็นร้านอาหารฟิวชันระหว่างอาหารตะวันออกที่คุณแอ็คคุ้นเคยกับอาหารอีสานที่คุณแอ็คอยากลอง “แค่มองซ้ายและขวา วัตถุดิบบ้านเรามันเยอะมากกว่าที่คุณจินตนาการไว้ทั้งหมดอีก”

สถานีที่ ๑

ก้าวข้ามพรมแดน

แต่อีสานไม่ใช่ส่วนหนึ่งของภาคตะวันออก ทำไมถึงชื่อบูรพา น่าจะเป็นคำถามที่ฉันสงสัยที่สุด

“เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก ด้านนี้คือตะวันออกทั้งหมด ผมเลยว่างั้นเราไม่แบ่งแยกละกัน ไหนเราลองมาคิดดูซิ มันจะรวมกันยังไง” พี่แอ็คตอบด้วยรอยยิ้ม นั่นหมายความว่า ‘บูรพา’ ของพี่แอ็คไม่ได้นิยามตามความเข้าใจของคนทั่วไป บูรพาไม่ใช่ภูมิภาคที่มีเพียง 7 จังหวัด แต่บูรพาคือส่วนของประเทศไทยที่อยู่ทางตะวันออกของประเทศทั้งหมด ซึ่งรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานบ้านเราเข้าไปด้วย

BURAPHA ร้านอาหารคอนเซปต์ตู้รถไฟที่จะพาข้ามพรมแดนไปลิ้มรสอาหารอีสาน

แล้วทำไมต้องเป็นรถไฟ ฉันถามไปพลางมองรอบกายไปพลาง เสมือนนั่งอยู่ในรถไฟจริงๆ

“วิธีการรวมอาหารคือมันกำลังจะข้ามตะวันออกออกไป ผมเลยคิดว่ามันต้องพูดถึงเรื่องการเดินทางสิ แต่การเดินทางอันนี้ในเวลาที่ผมคิดมันตก ปี 1940 มาจากปีเกิดของแม่ผมย้อนกลับไป 1940 เขาเดินทางด้วยอะไร การที่จะข้ามพรมแดนไปได้ มันไม่ใช่เดิน มันไม่ใช่เกวียน แต่มันต้องนั่งรถไฟไป มันเลยเป็นเรื่องที่เราเอามาผูกกัน”

สถานีที่ ๒

ประสบการณ์ใหม่

ฉึกฉัก ฉึกฉัก

เรื่องราวของร้านบูรพาเริ่มขึ้นเมื่อศรีตราด หญิงงามจากจังหวัดตราดผู้รักการทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ อยากเดินทางออกจากบ้านเกิดเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ในเส้นทางรถไฟสายอีสาน ปกติเธอถนัดทำอาหารภาคตะวันออกโดยเฉพาะอาหารท้องถิ่นจังหวัดตราด

หน้าบ้านเธอมีทะเล หลังบ้านเธอมีภูเขา แต่การเดินทางครั้งนี้ทำให้เธอได้เห็นวัฒนธรรม วิถีชีวิต และอาหาร ที่แปลกแตกต่างไปจากบ้านเธอ ทั้งการใช้เลือด ใช้เนื้อ ปลาร้า การทานอาหารแบบดิบๆ การใช้น้ำมะนาวแทนน้ำมะปี๊ดที่เธอคุ้นชิน หรือแม้กระทั่งการทานปลาน้ำจืดแทนปลาน้ำเค็ม หญิงผู้มีดีที่ปลายจวักนางนี้จึงไม่รีรอที่จะหยิบจับอาหารที่เธอเห็น และวัตถุดิบท้องถิ่นใหม่ที่เธอพบ มาผสมผสานกับความเป็นตะวันออกของเธอ ​เธอทลายกำแพง ก้าวข้ามพรมแดนอาหารไทยแบบไม่น่าจะมีใครทำมาก่อน 

“ศรีตราดอยากทำอาหารอีสานแบบคนตะวันออกให้คนกรุงเทพฯ กิน” นี่คือสิ่งที่เธอจดลงในสมุดบันทึกเล่มโปรดระหว่างทางรถไฟที่เธอนั่ง นับแต่วันที่เธอท่องไปในดินแดนใหม่ที่เธอไม่เคยพบจนวันนี้ วันที่เธอพร้อมเสิร์ฟอาหารอีสานแบบคนตะวันออกให้คนกรุงทาน รสชาติจะเป็นอย่างไร น่าสนใจไม่ใช่น้อย

บูรพา ร้านอาหารอีสานแบบคนตะวันออกแห่งนี้จึงมาในรูปแบบของรถไฟสายบูรพาที่ไม่ได้บรรจุเพียงอาหารอีสานเลิศรส แต่บรรจุประสบการณ์การทำอาหารอีสานแบบฉบับคนตะวันออกไว้เต็มขบวน

“ศรีตราดคือการทำอาหารจากความทรงจำ แต่บูรพาคือการทำอาหารจากประสบการณ์ใหม่” นี่คือข้อสรุปที่คุณแอ็คให้ฉัน ​

สถานีที่ ๓

นัวแบบตะวันออก

คุณแอ็คย้ำกับฉันอีกครั้งว่า ร้านบูรพาไม่ได้ขายอาหารอีสานแบบรสมือคนอีสาน แต่ด้วยรสมือคนตะวันออก

“แล้วรสชาติแบบคนตะวันออกเป็นยังไง” แม้ฉันจะเคยทานอาหารตะวันออกจากร้านศรีตราดบ้างแล้ว แต่ฉันก็ยังสงสัยว่าคุณแอ็คจะรังสรรค์อาหารอีสานที่ไม่คุ้นให้เป็นอาหารตะวันออกแบบร้านบูรพาอย่างไรได้

อาหารรสมือแบบตะวันออกจะมีรสชาติที่กลมกล่อมและซับซ้อน ในอาหารหนึ่งจานส่วนใหญ่จะมีทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ขม แต่จะมีรสหนึ่งที่เป็นพระเอกของจานนั้นๆ หากว่าจานนี้ต้องหวาน รสหวานก็จะเด่นกว่ารสอื่น แต่ไม่ใช่ว่ารสที่เหลือจะหายไป มันยังคงอยู่เพื่อความสมดุลของอาหาร หากให้วาดภาพรสชาติอาหารตะวันออกให้เข้าใจง่าย “เหมือนเป็นลูกกลมๆ 1 ลูกที่มีผมตั้งเด่ขึ้นมาเส้นหนึ่ง” คุณแอ็คบอก

​“แล้วรสชาติแบบอีสานเป็นยังไงล่ะ” ฉันถามต่อ สำหรับพี่แอ็คอาหารอีสานไม่ค่อยมีรสหวาน แต่จะมีรสเค็ม ขม และเผ็ด “มันจะมีลูกโดดเยอะ คำถามคือมันสามารถปรับรสได้มั้ย แต่ผมรู้ว่ามันเป็นแนวทางของเขา (ชาวอีสาน)” คุณแอ็คตอบด้วยรอยยิ้ม 

คุณแอ็คยังเล่าเรื่องตลกให้ฉันฟังว่า ในช่วงทดลองสูตรคนครัวชาวอีสานหมักแหนมไว้นาน 3 วัน รสชาติที่ได้จึงเปรี้ยวโดดแบบที่แหนมควรจะเป็นในความคิดของคนทั่วไป “เราบอกว่าไม่เอา เขาบอกว่า ทำไมอะ บ้านหนูกินอย่างนี้ เราก็บอก เชื่อดิ ปรับให้นิดหนึ่ง ไม่ต้องทิ้งไว้นาน ขอสัก 1 วันได้มั้ย กำลังดีเลย” (หัวเราะ)

สถานีที่ ๔

อีสานอย่างบูรพา

ฉึกฉัก

​เสียงรถไฟเคล้าไปกับกลิ่นอาหารอีสานที่กำลังอบอวลไปทั่วทั้งห้องโดยสาร อาหารหอมฉุยจานแรกที่ได้ลองคือ ‘ยำแหนมข้าวทอด’ ภาพที่ฉันได้เห็นกับสัมผัสที่ฉันได้ลองนั้นต่างกัน เมื่อยำแหนมคำแรกเข้าปาก อื้ม ยำแหนมข้าวทอดเหมือนที่ปกติเคยกิน

แต่เมื่อฉันเคี้ยวเรื่อยๆ รสที่สัมผัสลิ้นบอกกับฉันว่ายำแหนมจานนี้ไม่ธรรมดา “เราใส่แมงกะพรุนย่างน้ำมันงาแทนหนังหมู ใช้น้ำมะปี๊ดแทนมะนาวเพราะว่ามันหอมดี อีกอย่าง บ้านเราถนัดใช้มะปี๊ดมากกว่าด้วย” การใช้แมงกะพรุนแทนหนังหมู เป็นการวักทะเลมาเทใส่จานเพิ่มความแตกต่างแต่อร่อยให้ยำแหนมข้าวทอดธรรมดา

แมงกะพรุนนี่กรุบใช้ได้ เข้าท่าไม่ใช่น้อย น้ำมะปี๊ดนี่อีก ได้รสชาติเปรี้ยวแบบมะนาว แต่ก็ยังได้ความหอมแบบส้ม จานนี้เป็นยำแหนมข้าวทอดที่น่าสนใจทีเดียว

BURAPHA ร้านอาหารคอนเซปต์ตู้รถไฟที่จะพาข้ามพรมแดนไปลิ้มรสอาหารอีสาน

หลังชิมยำแหนมข้าวทอดสุดแปลกแต่อร่อยแล้ว คุณแอ็คก็แนะให้ฉันทาน ‘ต้มเปรต (แกงปลาไหล) แบบตะวันออกของร้านบูรพา คุณแอ็คหยิบแกงปลาไหลกับซุปหางวัวแบบอิสลามที่เขาคุ้นมาผสมผสานกัน แทนที่จะใช้ปลาไหล ปลาน้ำจืดแบบที่ชาวอีสานคุ้นเคย เขาเลือกใส่เนื้อลงไปแทน ใส่ขมิ้นและกะปิ วัตถุดิบจากเคยหมักชั้นเลิศของภาคตะวันออกลงไปด้วย 

เผ็ด เปรี้ยวติดปลายลิ้น แต่ก็มีความกลมกล่อมแบบตะวันออก ฉันซดน้ำอีกครั้ง คราวนี้เลือกตักส่วนเนื้อติดกระดูกอ่อนนั้นเข้าปากด้วย นุ่ม หอมกลิ่นทะเล คือข้อสรุปของฉันต่อจานนี้ที่มีให้บูรพา

BURAPHA ร้านอาหารคอนเซปต์ตู้รถไฟที่จะพาข้ามพรมแดนไปลิ้มรสอาหารอีสาน

ยังไม่อิ่ม มื้อนี้น่าสนุกสำหรับฉัน ทันทีที่คุณแอ็คเสิร์ฟอาหารอีก 2 จานฉันก็รีบเอื้อมมือไปตักทันที ชิ้นนี้เป็นไส้กรอกอีสานแน่นอน ฉันการันตี ไม่มีอะไรยาก จิ้มเข้าปาก ไส้กรอกชิ้นนี้อุดมด้วยข้าว มีเนื้อหมูผสมพอประมาณ “ผมชอบไส้กรอกอีสานที่มีข้าว” เขาบอก ลิ้นลิ้มรส อื้ม เปรี้ยวไม่โดด กลมกล่อมกำลังดี รสชาติอ่อนเปรี้ยวกว่าไส้กรอกอีสานที่ฉันเคยทาน “ไส้กรอกอีสานเราทำออกมาเราก็ไม่อยากให้มันเปรี้ยวเกินไป เราอยากให้รสมันกลมๆ ในแบบของเรา” เขาเสริม

จานถัดไปเป็นลาบ เคี้ยวครั้งแรก หอมกลิ่นน้ำมะปี๊ดอีกแล้ว เชื่อแล้วว่าถนัดใช้และถนัดชอบน้ำมะปี๊ดมากกว่ามะนาวจริงๆ เคี้ยวครั้งต่อมา ฟันกระทบ ลิ้นรับรส นี่ไม่ใช่ลาบหมูหรือลาบเนื้อแต่เป็น ‘ลาบปลากะพง’ ฉันเคยทานลาบปลากะพงมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ความพิเศษของจานนี้น่าจะอยู่ตรงความเปรี้ยวและหอมของน้ำส้มมะปี๊ดกระมัง

BURAPHA ร้านอาหารคอนเซปต์ตู้รถไฟที่จะพาข้ามพรมแดนไปลิ้มรสอาหารอีสาน

ไม่ทันไร เขาก็เสิร์ฟเมนูใหม่ให้ฉันทันที ในถ้วยคือ ‘หมกไก่ไข่อ่อน’ หมกเป็นอาหารอีสานที่ทำจากเนื้อสัตว์กับพริกแกงและปลาร้า ไข่อ่อนที่เสิร์ฟพร้อมหมกทำให้ฉันแปลกใจ ฉันรักความนุ่มนวลแต่ยังเป็นชิ้นของไข่อ่อน ช่างเข้ากันได้ดีกับหมกจานนี้ แต่ส่วนที่ดีที่สุดคงเป็นหมกที่เสิร์ฟแบบน้ำออกครีมๆ 

“เราคิดว่าหมกอร่อยที่สุดตอนที่น้ำจากเนื้อไก่ยังไม่แห้ง เราแปลกใจที่ไม่มีใครทำหมกแบบน้ำจึงอยากเสิร์ฟอาหารนี้ตอนที่อร่อยที่สุดตามที่เราคิด” 

เป็นจริงอย่างคุณแอ็คว่า หมกแบบน้ำนี่ทำให้กินคล่องคอ น้ำจากไก่ที่ออกมาก็อร่อยอย่าบอกใคร ให้สัมผัสแบบครีมเหลวๆ หอมมันกำลังดี ฉันไม่เคยตั้งคำถามแบบเขาสักครั้งว่าทำไมเราไม่ทำหมกน้ำ ฉันเพียงทานไปตามที่มันเคยเป็นมา ฉันเริ่มตกหลุมรักรถไฟสายบูรพานี้ยิ่งขึ้นทุกจาน

‘ข้าวผัดรถไฟ’ ที่ทานเคียงกับแกงเขียวหวาน และ ‘ไก่ย่างแดงที่เสิร์ฟพร้อมข้าวมันกะทิ’ ด้วยความที่เขาเคยบอกว่าอยากทำอาหารอีสานแต่อาหารกลุ่มนี้ไม่ใช่อาหารอีสาน ฉันจึงแปลกใจไม่น้อย คุณแอ็คบอกว่า แม้อาหารเหล่านี้จะไม่ใช่อาหารอีสาน แต่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ระหว่างทางที่เขาและคุณแม่เคยได้รับ

 เขาจึงอยากนำอาหารเหล่านั้นมาเสิร์ฟแก่นักเดินทางเช่นเดียวกับที่เคยได้ทาน เขาแนะฉันว่าข้าวผัดรถไฟสีชมพูจากเต้าหู้ยี้จานนี้ต้องทานคู่กันกับอาจาดและแกงเขียวหวานไก่ อย่างที่คุณแอ็คและคุณแม่ยึดมั่นความเป็นตะวันออกตั้งแต่ทำร้านศรีตราดว่า หากจานนี้ขาดรสใด จะต้องเติมรสนั้นลงไปผ่านการเสิร์ฟคู่กับเครื่องเคียงอื่น และเพราะรถไฟขบวนนี้ออกจากภาคตะวันออก ดินแดนแห่งทะเล คุณแอ็คจึงเสริมกุ้งกรอบเข้ามาเพราะอยากให้อาหารรถไฟจานนี้มีกลิ่นของทะเลติดไปด้วย

BURAPHA ร้านอาหารคอนเซปต์ตู้รถไฟที่จะพาข้ามพรมแดนไปลิ้มรสอาหารอีสาน
BURAPHA ร้านอาหารคอนเซปต์ตู้รถไฟที่จะพาข้ามพรมแดนไปลิ้มรสอาหารอีสาน

ไก่ย่างแดงกับข้าวมันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวแบบที่ฉันอยากยืมนิ้วมือนักเดินทางคนอื่นๆ ช่วยยกให้ ไก่ย่างแดงหมักผงอังคัก วิธีการนี้คุณแอ็คได้จากการหมักหมูแดง เขานำมาปรับใช้กับไก่ย่างแดงเพราะไม่อยากใส่สีลงไป เนื้อไก่นุ่ม ไม่แห้ง ต่างจากไก่ย่างแดงในความทรงจำของฉัน เพราะคุณแอ็คเลือกใช้เนื้อไก่ติดมันที่ทำให้ฉันต้องติดใจ

สังเกตว่าอาหารคาวแต่ละจานของบูรพาจะแนมด้วยผัก “ผักชีลาว ผักชีล้อม มะกอกน้ำ ยอดมะตูม” ผักแนมแบบอีสานๆ ที่คุณแอ็คคัดสรรและเลือกมาแล้วว่า นี่แหละส่วนผสมที่ลงตัวกับอาหารอีสานแบบตะวันออกของบูรพา

สถานีที่ ๔

หวานบูรพา

“ของหวานผมกับแม่ช่วยกันคิดสูตร” คุณแอ็คบอกขณะกำลังเสิร์ฟของหวานเมนูแรก

‘ไอติมน้ำตาลมะพร้าวเสิร์ฟกับทุเรียนเชื่อม’ เมนูนี้นำเสนอความเป็นตะวันออกด้วยการเสิร์ฟทุเรียนเชื่อมเนื้อหนึบ ไม่เละ กับไอติมเนื้อเหนียวที่หมุนจากถังไอติมไม้ รสหวานๆ เค็มๆ เหมือนกะทิ เมนูนี้อร่อยแบบที่คนไม่ชอบทานทุเรียนแบบฉันอยากจะสั่งอีกสักถ้วย แต่ต้องหยุดไว้ก่อน เพราะคุณแอ็คเสิร์ฟกล้วยบวชชีและเมนูของหวาน ‘เรื่องกล้วยๆ’ ให้ฉันทานด้วย

“กล้วยบวชชีฝีมือคุณแม่” กล้วยน้ำว้าเหนียวนุ่ม หอมกะทิ รสชาติกำลังดี ฉันล่ะเป็นแฟนของหวานของคุณแม่ศรีรัตน์จริงๆ

BURAPHA ร้านอาหารคอนเซปต์ตู้รถไฟที่จะพาข้ามพรมแดนไปลิ้มรสอาหารอีสาน

ส่วนเมนูเรื่องกล้วยๆ คุณแอ็คได้แรงบันดาลใจจากการขับรถผ่านดงกล้วย “คนไทยรู้จักใช้กล้วย” นี่คือประเด็นสำคัญที่เขาอยากแฝงมากับของหวานถาดนี้ ‘หนุมานคลุกฝุ่น’ กล้วยเหนียวหนึบโรยน้ำตาลและมะพร้าวขูดถูกวางอยู่ในกระจาดหาบใบจิ๋ว ฝั่งหนึ่งเป็น ‘กล้วยไข่เชื่อมน้ำตาลอ้อย’ แถมกะทิมาให้จิ้มราดกันตามใจ อีกฝั่งเป็นกล้วยปิ้งที่เสิร์ฟคู่กับน้ำตาลอ้อยที่เคี่ยวให้เข้มอย่างคาราเมล ไม่ว่าเมนูไหนกล้วยก็หนึบ น้ำกะทิและน้ำตาลอ้อยก็อร่อยแบบทานเล่นก็ยังได้

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด

แม้อาหารที่คุณแอ็คเสิร์ฟในขบวนรถไฟสายบูรพาขบวนนี้จะเป็นอาหารอีสานแบบใหม่ แบบคนตะวันออก แต่ฉันรู้สึกได้ว่าอาหารทุกจานยังคงมีความเป็นศรีตราดอยู่ไม่น้อย ทั้งรสชาตินัว ความผสมผสานอย่างสร้างสรรค์ การได้ทานอาหารอีสานด้วยรสมือของคุณแม่ศรีรัตน์ คนตะวันออกแท้แต่เดิม บนรถไฟแสนสวยคงเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากและไม่น่าจะหาได้จากไหน

ฉันชอบที่ทั้งคุณแอ็คและคุณแม่ทำในสิ่งที่รักอย่างอาหารตะวันออกในร้านศรีตราดได้ดี แต่ก็ยังไม่หยุดความรักในการทำอาหารจนทำให้เกิดร้านบูรพาแห่งนี้ ท้ายสุด ฉันชอบที่บูรพาพานักเดินทางผู้อยากหาประสบการณ์ใหม่ข้ามพรมแดนอาหารไทยให้แปลกและไกลกว่าเดิม

“อาหารไทยมาจากรากแก้วเดียวกัน ไม่ว่ามันจะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปเท่าไร ผมว่ามันก็คืออาหารไทย ในเมื่อมันคือต้นไม้เดียวกัน ผลสุดท้ายวัตถุดิบมันสามารถผสมผสานและข้ามไปมาได้” คุณแอ็คกล่าวสรุปให้ฉันและมื้ออาหารอีสานสุดพิเศษนี้

BURAPHA ร้านอาหารคอนเซปต์ตู้รถไฟที่จะพาข้ามพรมแดนไปลิ้มรสอาหารอีสาน

ฉึกฉัก ฉึกฉัก 

“รถไฟขบวนนี้สิ้นสุดที่ไหน” ฉันถาม 

หลังจากที่ตาเริ่มจะปิดเพราะอิ่มเต็มที

ฉึกฉัก ฉึกฉัก

“ยังไม่ทราบครับ ผมว่าจะวิ่งไปเรื่อยๆ จะได้นำประสบการณ์ใหม่ๆ ที่พบมาเสิร์ฟให้คุณๆ” คุณแอ็คตอบด้วยรอยยิ้มละไม 

แอ็ค-วงศ์วิชญ์ ศรีภิญโญ

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar By Sri Trat

ซอยสุขุมวิท 11

เปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 18.00 – 01.00 น. ยกเว้นวันจันทร์

Facebook : Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar By Sri Trat

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้