01

เจอกันหน้าสนามสแตมฟอร์ดบริดจ์

26 องศา ท้องฟ้ามีเมฆมาก และเวลาช้ากว่าเมืองไทย 6 ชั่วโมง

“สวัสดีครับ” ผมกล่าวคำทักทาย คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ของ ปตท. ที่หน้าสนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ของทีมเชลซี ในเช้าวันจันทร์ที่ไม่มีการแข่งขัน

เราเดินทางจากกรุงเทพฯ มาลอนดอนด้วยเครื่องบินลำเดียวกัน ออกจากสนามบินฮีทโธรว์มาพร้อมผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. หลายท่าน และสื่อมวลชนอีกหลายสิบชีวิต

ผมเคยสัมภาษณ์คุณอรรถพลเรื่องวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. ‘Powering life with future energy and beyond’ ที่ทำอะไรไกลกว่าเรื่องพลังงานแบบเดิม ๆ เลยพอจะทราบว่า ปตท. ยุคใหม่ลุยเต็มตัวเรื่องพลังงานสะอาด ทำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครบวงจร ตั้งแต่เปิดโรงงานผลิตรถ EV ไปจนถึงธุรกิจสถานีอัดประจุ และธุรกิจให้เช่ารถ EV

ที่สนุกกว่านั้นคือการรุกงานด้าน Life Science ด้วยการเปิด บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ลงทุนในธุรกิจยา อุปกรณ์การแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมี Plant-based Protien (โปรตีนจากพืช ซึ่งเราเรียกแบบรู้กันว่า แพลนต์เบส) เป็นแม่ทัพนำขบวน

ปตท. มาลงทุนใน Plant & Bean โรงงานผลิตแพลนต์เบสชั้นนำของโลก ที่เมืองบอสตัน และ Wicked Kitchen แบรนด์อาหารแพลนต์เบสชื่อดังของโลกที่ลอนดอน ซึ่งทั้งคู่อยู่ในประเทศอังกฤษ

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไม ปตท. ถึงพาสื่อมวลชนมาดูงาน และพาผู้บริหารมาคุยงานที่แดนผู้ดี

ตอนนี้ยังเร็วเกินกว่าจะเช็กอิน และเช้าเกินกว่าจะมีสถานที่ท่องเที่ยวไหนเปิด ทีมงานเลยพาพวกเรามาเดินเล่นรอบสนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากโรงแรม ให้เราได้ยืดเส้นยืดสายไปพลาง ๆ

ไอ้เราก็ไม่ใช่แฟนทีมเชลซี เลยขอหลบไปเดินเล่นที่สุสานบรอมป์ตันสุดคลาสสิก อายุ 183 ปี ข้าง ๆ สนามแทน

02

บทสนทนาเริ่มต้นบนรถ

23 องศา ฝนไม่มี แดดไม่มา

วันถัดมา หลังจากปิดท้ายมื้อเช้าด้วยชา English Breakfast ผมก็เดินออกจากโรงแรมมาขึ้นรถบัสขนาด 40 ที่นั่ง

คนที่นั่งด้านข้างผมคือ คุณบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ถือเป็นแม่ทัพที่ดูแลงานด้านนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่น้ำมันทั้งหลาย

ผู้บริหารวัย 55 ปีท่านนี้เรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์อาหาร เข้า ปตท. มาก็ได้ทำงานด้าน กำหนดราคาน้ำมัน ทำแผนกลยุทธ์ขายน้ำมันเครื่อง พาปั๊ม ปตท. บุกตลาดต่างประเทศ ผลงานที่คนทั่วไปน่าจะมีส่วนร่วมก็คือ การทำร้าน Café Amazon และเปลี่ยนแนวคิดในการทำปั๊ม ปตท. ร่วมกับคุณอรรถพล

บุรณิน รัตนสมบัติ ผู้ดูงานนวัตกรรมของ ปตท. กับงานทำรถ EV ยา และอาหาร Plant-based

การทำปั๊มด้วยแนวคิด Pump in The Park เปลี่ยนสถานีบริการน้ำมันสำหรับคนเดินทางให้เป็นคอมมูนิตี้มอลล์และเป็นพื้นที่ของคนในชุมชน เป็นบิ๊กไอเดียที่ได้รับรางวัลการตลาดแห่งเอเชีย จนแนวคิดการเอาธุรกิจโน่นนี่ไปใส่ในปั๊มน้ำมันถูกนำไปใช้ต่อในหลายประเทศ

“ถามจริง ๆ นะครับ การมีแผนกนวัตกรรมในบริษัท ถือเป็นการทำตามแฟชั่นไหมครับ” ผมเปิดบทสนทนาในระหว่างรอรถอออก

“ปตท. ไม่ได้ทำเรื่องนวัตกรรมเพราะแฟชั่น” คุณบุรณินตอบทันที “ความสำเร็จของ ปตท. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มาจากการที่เรากล้าทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ ปตท. ตั้ง พ.ศ. 2521 ตอนนั้นเกิดวิกฤตพลังงาน บริษัทน้ำมันที่มีอยู่เป็นของต่างชาติ รัฐบาลก็ตั้ง ปตท. ขึ้นมาแก้ปัญหา ทำมาสักพักเจอก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เราไม่เคยขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติหรือวางท่อก๊าซมาก่อน เราก็ทำ ได้ก๊าซมาแยกทำปิโตรเคมีได้ เราก็ไปทำปิโตรเคมี และที่คนรู้จักกันดีก็คือ เราทำธุรกิจขายกาแฟ”

คุณบุรณินเล่าว่า การขายน้ำมันมีกำไรแค่ 4 – 5 เปอร์เซ็นต์ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็เพิ่มสูงขึ้น จึงต้องหารายได้เสริม ในขณะเดียวกัน ปั๊มคู่แข่งมีมินิมาร์ทขนาดใหญ่ มีร้านกาแฟซึ่งดึงดูดลูกค้าได้มาก ปตท. พบว่า ถ้าปั๊มน้ำมันไม่มีสินค้าอื่นขาย คนก็ไม่อยากเข้า นั่นคือต้นกำเนิด Café Amazon ในปั๊ม ปตท. เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน

“เราไม่กล้าใช้ชื่อ PTT Coffee นะ เพราะคนจะคิดว่า เราไม่มีความชำนาญ กาแฟกับน้ำมันดิบเหมือนกันอย่างเดียวแค่สีดำ ช่วง 3 – 4 ปีแรกเกือบเลิกแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จเลย แต่เราก็ยังพัฒนาต่อ หาพันธมิตรมาช่วยพัฒนา ก็เลยมาถึงวันนี้ได้” คุณบุรณินสรุปดีเอ็นเอของ ปตท. ด้วยวรรคทองว่า

“เราประสบความสำเร็จได้ เพราะเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งเกิดจากเรากล้าทำสิ่งใหม่ ๆ เราอยู่ในธุรกิจที่แข่งขันตลอดเวลา คู่แข่งเราคือบริษัทข้ามชาติที่มี Know how วิธีที่จะชนะได้ก็คือ ต้องทำอะไรที่แปลกกว่าเขา”

03

ติดเครื่อง

การจราจรในลอนดอนชั้นในเคลื่อนตัวแบบไม่คล่องตัว

ชาวคณะนั่งประจำที่ครบทุกคน พนักงานขับรถติดเครื่อง บทสนทนาก็เช่นกัน

นายใหญ่ฝ่ายนวัตกรรมเล่าต่อว่า พอถึงวันที่ ปตท. กลายเป็นที่หนึ่ง สิ่งที่ทำให้องค์กรแห่งนี้ปรับตัวคือ วัฏจักรของธุรกิจน้ำมันที่กำลังเข้าสู่ขาลง เพราะโลกกำลังหมุนไปหาพลังงานสะอาด และอีกเหตุผลที่น่าสนใจก็คือ

“ประเทศไทยอยากพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ก็ต้องหาธุรกิจใหม่ที่มีนวัตกรรม รัฐบาลพูดถึงธุรกิจใหม่ที่จะเป็น S-curve 12 ประเภท แล้วก็ต้องรอต่างชาติมาลงทุน พอเป็นเรื่องนวัตกรรม เขาก็อยากเก็บไว้ในประเทศตัวเอง ปตท. มีศักยภาพที่จะทำเรื่องพวกนี้ได้ และมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศอยู่แล้ว เลยมาถึงจุดที่เราต้องกระโดดจากธุรกิจเดิม จนมีการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่”

บุรณิน รัตนสมบัติ ผู้ดูงานนวัตกรรมของ ปตท. กับงานทำรถ EV ยา และอาหาร Plant-based

ชาว ปตท. วิเคราะห์กันว่า ในบรรดาธุรกิจใหม่ทั้งหลาย มีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับปัญหาที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคต ก็ได้คำตอบว่า Life Science หรือ วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต เพราะเรากำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย และอยู่บนฐานของสิ่งที่เรามีคือความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เป็นธุรกิจที่เราขาด เพราะยา อุปกรณ์การแพทย์ และอาหารเสริม ส่วนใหญ่เราต้องนำเข้า ธุรกิจนี้ต้องการความรู้ความชำนาญ จึงเป็นความท้าทายที่ ปตท. เลือกโดดเข้าใส่ด้วยการเปิด บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด

บุรณิน รัตนสมบัติ ผู้ดูงานนวัตกรรมของ ปตท. กับงานทำรถ EV ยา และอาหาร Plant-based

รถบัสพาคณะแล่นผ่านสวนไฮปาร์ก มุ่งหน้าสู่แม่น้ำเทมส์

“2 – 3 ปีแรกเราถามกันว่า เราจะทำได้เหรอ ต้องใช้เวลาศึกษา เสนอโปรเจกต์ไป อนุมัติบ้าง ไม่อนุมัติบ้าง จนเราเริ่มหาพันธมิตร จับมือกับองค์การเภสัชกรรมทำโรงงานยา ถ้าอยู่ใน ปตท. คงไม่เกิด ก็เลยต้องตั้งเป็นบริษัทใหม่ ดึงคนบางส่วนออกมา หาคนใหม่มาเติม ซึ่งเราระบุไว้ในยุทธศาสตร์เลยว่า คนที่มาอยู่ต้องมีแพสชัน มีอินโนเวชัน ไม่ยึดติดกับกรอบเดิม ๆ และต้องคล่องตัว”

โจทย์ใหม่ ๆ เหล่านี้ท้าทายพนักงานรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยให้ออกมาร่วมใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปด้วยกัน

04

หาเพื่อน

การจราจรในลอนดอนชั้นในยังเคลื่อนตัวแบบไม่คล่องตัว

อากาศเย็นสบายของลอนดอนไหลผ่านช่องลมบนหลังคาเข้ามาหมุนเวียนอยู่ในรถ ตอนนี้รถกำลังข้ามแม่น้ำเทมส์ด้วยสะพานเชลซี ทางด้านขวาคือ อดีตโรงไฟฟ้า Battersea Power Station อายุ 81 ปีที่เพิ่งถูกปรับปรุงให้กลายเป็นอาคาร Mixed-use สุดเก๋ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งในการปรับตัวของวงการพลังงาน

ปตท. เข้าร่วมลงทุนกับ บมจ. เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ตั้งบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน (NRPT) ซึ่งชื่อบริษัทมีความหมายว่า ผู้สร้างโปรตีน

“เราเริ่มจากทำยาก่อน แล้วก็แยกออกมาทำเรื่องสารอาหาร ซึ่งสารอาหารที่คนขาดมากที่สุดก็คือโปรตีน เราก็เลยทำโปรตีนทางเลือก สิ่งที่เล็กกว่าโปรตีนคือ กรดอะมิโน ซึ่งมาจากหลายแหล่ง วันนี้เราสกัดโปรตีนจากพืชผ่านแพลนต์เบส แต่ในอนาคตอาจจะมาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็ได้” คุณบุรณินเน้นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ

บุรณิน รัตนสมบัติ ผู้ดูงานนวัตกรรมของ ปตท. กับงานทำรถ EV ยา และอาหาร Plant-based

NRF พา ปตท. ไปรู้จักเพื่อนอย่าง Plant & Bean UK ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแพลนต์เบสขนาดใหญ่จากถั่วเหลืองและข้าวสาลี ผลผลิตที่ได้คือ ไส้กรอก เนื้อบด และเนื้อต่าง ๆ จุดเด่นของที่นี่คือ รสชาติที่อร่อย และต้นทุนในการผลิตที่ต่ำจนแข่งขันได้ทั้งยุโรป ปตท. ก็เลยเข้าไปร่วมลงทุนกับ Plant & Bean แล้วมาตั้งโรงงานผลิตแพลนต์เบสในประเทศไทย ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บุรณิน รัตนสมบัติ ผู้ดูงานนวัตกรรมของ ปตท. กับงานทำรถ EV ยา และอาหาร Plant-based

“จากนั้น Plant & Bean ก็พาเราไปรู้จัก Wicked Kitchen สิ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจใหม่ก็คือ การสร้างระบบนิเวศ เราต้องไม่ทำคนเดียว ต้องทำกันพันธมิตร ทำให้เป็นแพลตฟอร์ม ถ้ามันเกิด ทุกคนก็จะได้รับประโยชน์ทั้งหมด”

รถบัสของเราแล่นมาถึงย่าน New Covent Garden ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Wicked Kitchen เรียบร้อย

05

อร่อยดีมีประโยชน์

อากาศผ่านเครื่องปรับเย็นสบายเหมือนข้างนอก

สำนักงานของ Wicked Kitchen อยู่ด้านบนของโกดังเก่า มีทั้งส่วนที่เป็น Co-working Space มีครัวรวมให้คนมาใช้ทดลองทำอาหาร และห้องประชุมขนาดใหญ่ที่รอรับคณะของพวกเรา

Pete Speranza ซีอีโอของ Wicked Kitchen ต้อนรับพวกเราด้วยเรื่องเล่าของแบรนด์อาหารแพลนต์เบสร้อยเปอร์เซ็นต์ระดับโลกที่เน้นรสชาติอร่อย อาหารทั้งหมดดูแลโดย Derek และ Chad Sarno เชฟสองพี่น้อง

เยือนโรงงาน Plant & Bean และ Wicked Kitchen บริษัทอาหาร Plant-based ชั้นนำของโลกที่อังกฤษ กับธุรกิจใหม่ของ ปตท.

Chad คนน้อง ตอนนี้อยู่ที่อเมริกา กำลังง่วนกับการทำอาหารทะเลแพลนต์เบส ส่วน Derek คนพี่อยู่กับเราตอนนี้ เขาเคยเป็น Senior Global Executive Chef ของซูเปอร์มาร์เก็ต Whole Foods Market ในอเมริกา เป็นเจ้าของร้านอาหารระดับรางวัลมากมายในอเมริกา เขาถูก Tesco UK ดึงตัวข้ามประเทศมารับตำแหน่ง Executive Chef และ Director of Plant-based Innovation เพื่อเพิ่มยอดขายสินค้าแพลนต์เบสให้เทสโก

Derek พบว่าอาหารแพลนต์เบสส่วนใหญ่ไม่อร่อยและมีให้เลือกน้อยมาก เขาเลยพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย จนเปิดตัวสินค้า 2 ประเภท 20 รายการ ในเทสโกเมื่อปี 2018 แค่ปีเดียวเทสโกก็กลายเป็นผู้นำของอาหารแพลนต์เบสในอังกฤษ จนขยายตลาดไปอเมริกา ฟินแลนด์ และกำลังจะมาใช้ไทยเป็นฐานในการบุกตลาดเอเชีย

สินค้าแพลนต์เบสปัจจุบันของ Wicked Kitchen มี 50 ประเภท กว่า 280 รายการ ทั้งอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ขนม เครื่องดื่ม ไปจนถึงเครื่องปรุง

เยือนโรงงาน Plant & Bean และ Wicked Kitchen บริษัทอาหาร Plant-based ชั้นนำของโลกที่อังกฤษ กับธุรกิจใหม่ของ ปตท.
เยือนโรงงาน Plant & Bean และ Wicked Kitchen บริษัทอาหาร Plant-based ชั้นนำของโลกที่อังกฤษ กับธุรกิจใหม่ของ ปตท.

Pete บอกว่า เนื้อสัตว์ได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อย ๆ สวนทางกับแพลนต์เบสที่คนรุ่นใหม่นิยมเพราะรักโลก ส่วนคนมีอายุก็นิยมเพราะรักสุขภาพ เนื่องจากแพลนต์เบสมีไขมันและคอเลสเตอรอลเท่ากับ 0

เยือนโรงงาน Plant & Bean และ Wicked Kitchen บริษัทอาหาร Plant-based ชั้นนำของโลกที่อังกฤษ กับธุรกิจใหม่ของ ปตท.
เยือนโรงงาน Plant & Bean และ Wicked Kitchen บริษัทอาหาร Plant-based ชั้นนำของโลกที่อังกฤษ กับธุรกิจใหม่ของ ปตท.

Derek เป็นเทพแห่งเห็ด เขาเขียนหนังสือเรื่องเห็ด และรู้ว่าเห็ดแต่ละชนิดมีเส้นใยต่างกันอย่างไร เพื่อที่จะได้สร้างสัมผัสให้เหมือนเนื้อสัตว์ที่สุด เขาบอกว่าเมนูที่อร่อยที่สุดคือ ไอศกรีม ซึ่งทำจากถั่วรูปิน ซึ่งเป็นซูเปอร์ฟู้ดจากสเปน หลังจากได้ชิมแล้วผมเห็นด้วยกับเขาทุกประการ ส่วนเมนูที่มีนวัตกรรมสูงสุด เขาเลือกพิซซ่า เพราะมันคือการทำชีสจากพืชให้ได้ทั้งรสชาติและสัมผัสแบบชีส ซึ่งยากมาก

เยือนโรงงาน Plant & Bean และ Wicked Kitchen บริษัทอาหาร Plant-based ชั้นนำของโลกที่อังกฤษ กับธุรกิจใหม่ของ ปตท.

Derek ชอบไปเมืองไทยมาก และเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาไปเชียงใหม่ เขาต้องไปเจอ Andy Ricker เชฟมิชลินผู้อินกับอาหารเหนือ

“จะมีโอกาสได้เห็นข้าวซอยหรือไส้อั่วแพลนต์เบสบ้างไหม” ผมสงสัย

“น่าสนใจนะ” เชฟชาวอเมริกันผู้นับถือศาสนาพุทธตอบ

06

แพลนต์เบสเมดอินไทยแลนด์

มีตบอลหอมไปทั่วครัว

เพื่อให้แพลนต์เบสเมดอินไทยแลนด์แข่งขันด้านราคาได้ ต้องผลิตให้ได้ 3,000 ตันต่อปี ปริมาณขนาดนี้จะขายใคร ผมยื่นคำถามนี้ให้คุณบุรณินที่เดินเข้ามาทักทาย Derek ในครัว

เยือนโรงงาน Plant & Bean และ Wicked Kitchen บริษัทอาหาร Plant-based ชั้นนำของโลกที่อังกฤษ กับธุรกิจใหม่ของ ปตท.

“คนกินมังสวิรัติมีแค่ 3 – 5 เปอร์เซ็นต์ เราไม่เน้นกลุ่มนั้น เราเน้นคนห่วงใยสุขภาพ กินเพื่อความอร่อยก็ได้ กินร่วมกับเนื้อสัตว์ก็ได้ กินได้ทั้งเด็กที่กินเพื่อให้ร่างกายเติบโต และผู้ใหญ่ที่กินเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เราจะผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับลูกค้า SME แบบ OEM ด้วย เขาไม่จำเป็นต้องทำ R&D เยอะ เพราะเราช่วยบางส่วนได้ แล้วเราก็ทำเนื้อที่ได้มาตรฐานส่งร้านอาหาร ร้านเอาไปปรุงได้เลย ไม่ต้องไปเริ่มต้นตั้งแต่เอาพืชมาทำเอง แล้วก็ต้องส่งออกในเอเชียด้วย ซึ่งตอนนี้กระแสแพลนต์เบสโตขึ้นปีละ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์”

ไม่ใช่แค่นั้น ปตท. ยังสวมหมวกเจ้าของร้านอาหาร ผู้เอาเนื้อเหล่านี้ไปใช้งานด้วย

เยือนโรงงาน Plant & Bean และ Wicked Kitchen บริษัทอาหาร Plant-based ชั้นนำของโลกที่อังกฤษ กับธุรกิจใหม่ของ ปตท.

“โรงงาน Plant & Bean ทำวัตถุดิบตั้งต้นอย่างไส้กรอกอร่อย เราก็คิดว่าจะเอาไปทำอะไรต่อ ทำยำไส้กรอกแบบไทยไหม ถ้าเป็นเนื้อบดก็ทำผัดกะเพราะไหม แล้วอาหารของเราก็จะระบุด้วยว่า มีข้อมูลโภชนาการเท่าไหร่ มีไขมันเท่าไหร่ ไม่ใช่เอาแต่รสชาติ กิน ๆ ไป มีแต่แป้ง แล้วก็อยากบอกด้วยว่าช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้เท่าไหร่”

ฟังแล้วผมก็นึกถึงเวลาที่เหล่าผู้บริหารชิมอาหารแล้วคุยกัน เขาพยายามมองหาโอกาสว่า แพลนต์เบสพวกนี้เอาไปแทนเนื้อสัตว์เมนูไหนที่ขายในปั๊ม ปตท. ได้บ้าง โดยเริ่มคิดจากสินค้าที่ขายดีที่สุด เช่น ลูกชิ้นทอด หมูปิ้ง หรือไส้ซาลาเปา เป็นการพาแพลนต์เบสไปสู่ตลาดที่กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

07

เหตุผลที่ปั๊มน้ำมันต้องเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

แดดมา ลมมี

หลังจากชิมอาหารแพลนต์เบสฝีมือ Derek หลายคนก็เปิดประตูออกมาเดินรับลมที่ระเบียงหน้าห้องประชุม ผมชวนพี่ใหญ่ของฝ่ายนวัตกรรมคุยเรื่อง EV ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่า ปตท. คิดยังไง ถึงเปิดโรงงานผลิตรถ EV

“การสร้างธุรกิจใหม่มันต้องสร้างระบบนิเวศ มีทั้งด้านดีมานด์และซัพพลาย ดีมานด์คือทำยังไงให้คนใช้สะดวก ก็ทำจุดชาร์จ แต่ทำแค่นั้นประเทศไทยอาจจะไม่ได้ประโยชน์ เพราะเราต้องนำเข้ารถ EV เราไปดูระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้ากับยานยนต์สันดาปภายใน พบว่ามีส่วนที่เกี่ยวกันน้อยมาก ตัวถัง ระบบข้างในได้ แต่แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 50 เปอร์เซ็นต์ คือเรื่องแบตเตอรี่กับมอเตอร์ไฟฟ้า 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือ เซมิคอนดักเตอร์กับซอฟต์แวร์ ค่ายรถยนต์บางค่ายอาจจะไม่อยากลงทุนเพราะดีมานด์ไม่เยอะ บังเอิญว่าบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ของไต้หวัน เขาสนใจจะทำสิ่งนี้อยู่แล้ว เราก็เลยไปเจรจา แล้วลงทุนร่วมกัน เป็นการทำงานด้านซัพพลาย”

เยือนโรงงาน Plant & Bean และ Wicked Kitchen บริษัทอาหาร Plant-based ชั้นนำของโลกที่อังกฤษ กับธุรกิจใหม่ของ ปตท.

คุณบุรณินเล่าต่อว่า แค่ทำจุดชาร์จอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะคนไม่กล้าลองใช้ เลยเปิด บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) มาให้คนลองเช่ารถ EV ไปทดลองขับ ซึ่งตอนนี้คนนิยมเช่าระยะยาว และสิ่งสำคัญที่ ปตท. ได้รับกลับมาก็คือข้อมูลการใช้งาน เหมือนอย่างที่พอเปิดปั๊มน้ำมันสาขาใหม่ ก็จะมีข้อมูลสนับสนุนว่า ลูกค้าย่านนี้เป็นใคร เพื่อยืนยันกับร้านที่จะมาเช่าว่า ตรงกลุ่มเป้าหมายแน่นอน

“เราไม่กลัวบริษัทรถยนต์ทั้งหลายจะเปลี่ยนมาทำอีวีในเมืองไทย ถ้าเปลี่ยนแปลว่า มีดีมานด์เยอะแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องดี สิ่งที่เรากลัวคือ เขาจะไปทำเรื่องนี้ที่ประเทศอื่นมากกว่า ประเทศไทยจะไม่ได้อะไรเลย การที่เราลุกขึ้นมาทำ อย่างน้อยก็สร้างความมั่นคงให้ประเทศได้ระดับหนึ่งนะ” คุณบุรณินพูดถึงเป้าที่ใหญ่กว่าผลตอบแทนของบริษัท

08

ใช้แพสชัน ไม่ใช่แฟชั่น

ฟ้าสีน้ำเงินเข้มเหมือนกางเกงนักเรียนประถม

พอเวลาเปลี่ยนมาห้อยท้ายด้วย PM เมฆก็ลอยหายไปจากท้องฟ้า แดดแรงจนคนเมืองร้อนหายคิดถึงบ้าน ผมยังคงยืนคุยกับคุณบุรณินที่ระเบียง บทสนทนาของเรามาถึงความท้าทายในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ตลอดเวลา

“ถึงตรงนี้ เราไม่ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจใหม่ทุกเรื่องนะ เราใช้เครือข่าย ใช้ประสบการณ์ ทำให้เรากล้าตัดสินใจ ส่วนเทคโนโลยีจ๋า ๆ หรือข้อมูลจ๋าๆ ก็ให้น้องๆ ทำไป เรานั่งฟังแล้วคิดตาม โยนคำถามให้เขา ทำยังไงถึงจะทำให้เขาเห็นว่ามันไม่ได้มีแต่แง่ดีทั้งหมด หรือกลัวจนไม่กล้าทำอะไรเลย ผู้บริหารมีหน้าที่ให้ทิศทาง ตัดสินใจ แล้วสนับสนุน ที่สำคัญ การทำธุรกิจใหม่ เราอาจเดินแบบเดิมไม่ได้ ถ้าเจอปัญหาจะมีทางออกอื่นไหม ผู้บริหารต้องนำทางไป พาไปให้ถึงเป้าให้ได้” คุณบุรณินสรุปแบบชัดถ้อยชัดคำว่า “ประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญ”

เราคุยเรื่องความสำเร็จมาเยอะแล้ว อยากคุยเรื่องที่ไม่สำเร็จบ้าง

เยือนโรงงาน Plant & Bean และ Wicked Kitchen บริษัทอาหาร Plant-based ชั้นนำของโลกที่อังกฤษ กับธุรกิจใหม่ของ ปตท.

“มี ช่วงที่ทำ Café Amazon ใหม่ ๆ เราเคยทำบริการ Pick and Drop รับส่งของในปั๊ม ทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ ฝากของที่ปั๊ม แล้วก็ให้คนปลายทางรับที่ปั๊ม ทำ 50-60 สาขา ไม่รอด เพราะตอนนั้นยังไม่มีระบบอีคอมเมิร์ซรองรับ ไม่มีการส่งสินค้าเยอะขนาดนี้” คุณบุรณินเล่าไอเดียที่มาก่อนกาล

เมื่อถามถึงสิ่งที่นวัตกรรมที่สุดที่เคยทำ เขาตอบทันทีว่า

“ยังไม่มี นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น สิ่งที่เราทำแล้วแตกต่างคือเรื่องยา เราเปิดบริษัทมาได้ปีกว่า ไปลงทุนในบริษัท Lotus Pharmaceutical ผู้ผลิตยาและจัดการด้านสิทธิบัตรยาชั้นนำของโลก จนเรามีเครือข่ายทั้งยุโรปและอเมริกา จนเราแตกบริษัทที่เราทำสารอาหารออกมา เรามองเรื่องอาหารสำหรับผู้ป่วย อาหารเป็นยา สิ่งที่เราดีใจที่สุดก็คือ วันนี้พอมีคนคิดเรื่องนวัตกรรมเขาก็จะมาคุยกับ ปตท. ทำให้คนรู้ว่าเราทำเรื่องธุรกิจใหม่ได้นะ นั่นคือสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุด” ผู้บริหารใหญ่ตอบพร้อมรอยยิ้ม

“มันกลับไปคำถามแรกที่เราคุยกัน ว่าทำเรื่องนี้เป็นแฟชั่นหรือเปล่า ถ้าทำเพราะแฟชั่นเดี๋ยวมันก็จะไป เพราะไม่ใช่ทุกเคสจะสำเร็จ มันต้องใช้เงินลงทุนสูง ถ้าทำเป็นแฟชั่นยังไงก็ไม่รอด ทำเรื่องพวกนี้ต้องใช้แพสชัน ไม่ใช่แฟชั่น”

บทสนทนาของเราสิ้นสุดลงตรงนี้ ทีมงานเดินเข้ามาแจ้งโปรแกรมต่อไป ทริปนี้ยังมีอะไรสนุก ๆ รออยู่อีกเยอะเลย

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป