ชามสีขาวขนาดย่อมถูกทยอยนำออกมาจากพื้นที่เก่าเก็บของมันทีละใบ ผมเฝ้ามองกระบวนการกลับคืนมามีชีวิตของมันอย่างตั้งใจ ชามแต่ละใบถูกผู้คนในบริเวณนั้นทำความสะอาด เริ่มจากการล้างน้ำขจัดฝุ่นผง ลงน้ำยาล้างจาน ขัดถูจนขึ้นเงาและเช็ดให้แห้ง มองในด้านหนึ่งมันแทบไม่ต่างจากการนำงานศิลปะล้ำค่าออกจากห้องนิรภัยในพิพิธภัณฑ์ใหญ่เพื่อทำการจัดแสดงให้สาธารณชนได้ประจักษ์ ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยความพิถีพิถัน ทุกกิจกรรมเต็มไปด้วยการปฏิบัติที่แน่นอน

ความแตกต่างมีเพียงว่าผู้ชมงานศิลปะในที่นี้มีแต่เพียงชาวบ้านในบริเวณวัดป่าศรีอุดร บ้านนาเวียงน้อย ที่มีจำนวนไม่กี่ร้อยคนเท่านั้นเอง

การลำเลียงชามเป็นจุดเริ่มต้นของงาน ส่วนจุดสิ้นสุดของพิธีกรรมในวันนี้ยังอีกยาวไกล

คนที่ตื่นเช้าที่สุดในวันสุดท้ายของงานบุญผะเหวด หรืองานเทศน์ 13 กัณฑ์จากเวสสันดรชาดก ไม่ใช่ภิกษุที่ทำหน้าที่ขึ้นธรรมมาสน์สวดกัณฑ์เทศน์ หากแต่เป็นเหล่าแม่ครัวที่ต้องตระเตรียมสำหรับมื้อเช้าหรือจังหัน

งานบุญผะเหวด

พวกเขาเข้าที่วัดป่าศรีอุดรตั้งแต่เวลาตี 3 ชามกระเบื้องตราไก่ที่อายุมากกว่าผมและใครทุกคนในที่นี้ (ว่ากันว่าบางใบมีอายุนับร้อยปี) ซึ่งถูกเก็บไว้ใช้เฉพาะงานพิธีกรรมสำคัญถูกเรียงอย่างเป็นระเบียบ เตาถ่าน 4 เตาถูกติดรอพร้อมสำหรับการปรุงอาหาร หากชามเหล่านั้นมีโอกาสอวดโฉมไม่บ่อยครั้งนัก การรวมตัวของเหล่าแม่ครัวในบริเวณนี้ก็เช่นกัน พวกเขามาพบกันในที่นี่แห่งนี้เพียงปีละ 2 ถึง 3 ครั้งเป็นอย่างมาก บางคนมีงานประจำอยุู่ที่เมืองหลวงและต้องลางานเดินทางไกลมา บางคนเป็นข้าราชการครูที่ต้องจัดสรรภาระการสอนเพื่อวันนี้ บางคนมีเรือกสวนไร่นาที่ต้องฝากผู้อื่นดูแล

งานบุญขนาดใหญ่เช่นนี้เรียกร้องการรวมตัวของพวกเขาไม่ต่างเสียงเรียกร้องให้รวมตัวทีมกู้โลกแบบ Avengers ในภาพยนตร์ยอดนิยม ทุกคนปรากฏตัว ทักทายกัน ก่อนจะพากันแบ่งงานกันทำ แบ่งรายการอาหารที่รับผิดชอบ แบ่งหน้าที่ทั้งประสานงาน จัดหาวัตถุดิบ ดูแลภาชนะและจำนวนอาหารให้เพียงพอกับจำนวนคน ทั้งหมดนี้ดำเนินไปภายใต้แสงนีออนและแสงจันทร์

อาหารชุดแรกสำเร็จเสร็จสิ้นในช่วงตี 5 กว่าๆ ก่อนฟ้าสาง เป็นแกงเขียวหวานไก่หม้อใหญ่ที่จัดลงชามพร้อมกับขนมจีนเส้นสีขาวสะอาด แม่อร หัวหน้าคนครัวหรือเชฟใหญ่ในที่นั่นบอกผมว่า เมื่อก่อนนั้นขนมจีนหรือเส้นข้าวปุ้นจะบีบเส้นกันสดๆ เพื่อให้ได้รสชาติที่อร่อย แต่ปัจจุบันการทำเช่นนั้นก่อให้เกิดความยุ่งยากทั้งการโม่แป้งและการต้มน้ำลวกเส้นซึ่งจะเปลืองกำลังคนขึ้นอีก ทางออกจึงลงเอยด้วยการใช้เส้นขนมจีนสำเร็จรูป

ดังนั้น ความยุ่งยากที่เหลือจึงไปอยู่ที่การทำแกงเขียวหวานแทน ไก่ที่ใช้ต้องเป็นไก่บ้านที่มีเนื้อแน่น กะทิที่ใช้จะต้องเป็นกะทิที่หาได้จากบริเวณนี้ทั้งรับบริจาคมาและทั้งไปซื้อหาเอาจากที่ตลาด เครื่องขูดกะทิไฟฟ้าที่นี่เก่าแก่ไม่น้อยแม้ว่าจะไม่เก่าถึงขนาดชามแกงก็ตาม มันเป็นก้านยาวสีดำที่พอเดาออกได้ว่าอาจเคยเป็นเพลาของรถอะไรมาก่อน ปลายเพลาติดตั้งลูกกลมที่มีหนาม ผู้ขูดซึ่งเป็นแม่ครัวคนหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านจะใช้กะลากะทิวนไปรอบๆ ลูกกลมนั้น ความง่วงเหงาหาวนอนจะมีขึ้นไม่ได้ มิเช่นนั้นอาจพลาดไปให้เครื่องกินเลือดกินเนื้อจากมือ

งานบุญผะเหวด งานบุญผะเหวด

กะทิที่ว่านี้จะถูกนำไปคั้นเพื่อใช้แกงและที่เหลือจะเตรียมไปผสมกับข้าวทิพย์ซึ่งเป็นขนมที่หากินได้เฉพาะงานบุญ

ความเชื่อที่ว่าการกินขนมจีนเป็นการต่ออายุของผู้กินถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกัน

บางเสียงอ้างว่าการต่ออายุไม่ใช่ประเด็นหลักเท่ากับโอกาสที่จะได้ใช้ข้าวใหม่ทำเส้นแป้งอันเป็นการอวดศักดิ์ศรีของนาข้าวในบริเวณนั้นไปกลายๆ ดังมีคำกล่าวว่า “กินข้าวปุ้น บุญมหาชาติ” ดังมีคำเรียกงานบุญผะเหวดอีกอย่างว่า บุญข้าวปุ้น ส่วนบรรดาผู้ที่อ้างว่าการกินขนมจีนเป็นการต่ออายุก็อ้างตามความเชื่อที่ได้รับมาหลังการเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ แล้วหวนกลับมาบ้านเกิด

วัฒนธรรมการกินเส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นขนมจีน มักเกิดในงานมงคลของคนจีน ดังนั้น การกินขนมจีนน่าจะมาจากเรื่องราวที่ว่านี้เอง เพราะกลุ่มแม่ครัวที่เคยเป็นแรงงานพลัดถิ่นในกรุงเทพฯ มีจำนวนไม่น้อย

แม่อรก็เป็นหนึ่งในผู้คนเหล่านั้น 2 รอบกับชีวิตในกรุงเทพฯ ก่อนจะถึงวัย 40 ปีปลายๆ รอบแรกทำงานเป็นลูกจ้างร้านขนมแถวปทุมวัน ก่อนจะโยกย้ายไปประจำร้านอาหารตามสั่ง อยู่บริเวณนั้นหลายปี จากร้านสู่ร้าน นับตั้งแต่สลัดกระโปรงนักเรียนชั้นประถมปลาย ก่อนจะตัดสินใจกลับมาพักที่บ้านและได้พบรักกับหนุ่มในหมู่บ้าน ชักชวนกันกลับไปแสวงโชคในเมืองอีกครา ครานี้ตัดสินใจทำงานเป็นแม่บ้านประจำบ้านคหบดีท่านหนึ่งที่งานเบาสบายกว่าเดิม

งานบุญผะเหวด งานบุญผะเหวด

ประสบการณ์การทำงานร้านอาหารหลายปีทำให้แม่อรรับหน้าที่ทั้งแม่ครัวและแม่บ้านในบ้านหลังนั้น ชีวิตดีขึ้น มีที่พักโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า มีอาหารครบ 3 มื้อ แม้จะต้องทนแยกกับคนรัก แต่การเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจมากกว่า อยู่กรุงเทพฯ ครานี้อีกหลายปีและกลับมาอีกครั้งในวัย 30 ปลายและไม่จากไปไหนอีกเลย ทำไร่ ทำนา ปลูกบ้านที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงตนเอง จนตอนนี้กลายเป็นบุคคลสำคัญในทุกงานสาธารณะประจำหมู่บ้าน

ว่ากันว่าหลายคนมุ่งหวังที่จะเห็นแม่อรสวมบทผู้ใหญ่บ้านซึ่งน่าจะเป็นจริงในไม่นานนี้

อาหารสำหรับจังหันถูกเตรียมใส่ถาดสังกะสีลายดอกไม้ นั่นคือกิจกรรมด้านล่าง ในขณะที่กิจกรรมด้านบนของศาลาการเปรียญไม้มีเสียงอาราธนาศีลก่อนการการขึ้นธรรมาสน์ของพระรูปแรก กัณฑ์ผะเหวดเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันนี้ โดยเริ่มจากการเทศน์สังกาดอันเป็นการเทศนาเล่าเรื่องของอายุพุทธศาสนาหรือพุทธกาลตั้งแต่ต้นจนอวสาน ก่อนจะตามด้วยทศพรกัณฑ์อันเป็นกัณฑ์เทศน์กัณฑ์แรก ทศพรกัณฑ์นั้นเป็นกัณฑ์ที่เล่าถึงพร 10 ประการที่พระอินทร์ทรงมีให้แก่นางผุสดีผู้เป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดรหรือผะเหวด

ช่วงเวลานั้นเองบริเวณลานหน้าวัดคึกคักขึ้น บรรดา อุบาสก อุบาสิกา ที่มีคำเรียกขานกันในภาษาอีสานว่า พ่อออก แม่ออก พากันหอบลูกจูงหลานเดินทางมาที่วัด รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์พากันหาที่จอดกันตามสะดวก แดดเริ่มร้อนแรงตามลำดับ หมดกัณฑ์แรกนี่น่าจะได้เวลาถวายจังหันเช้า บนศาลาการเปรียญเริ่มเนืองแน่นไปด้วยคนที่ลำเลียงอาหารจากการตระเตรียมมาของตนรวมกับอาหารจากครัว

งานบุญผะเหวด งานบุญผะเหวด

ในประเพณีงานบุญของอีสานที่เรียกกันว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ (ที่หมายถึงข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง จารีตสิบสอง ครรลองสิบสี่) งานบุญผะเหวดถือว่าเป็นงานที่สำคัญที่สุด หมู่บ้านใดที่ขาดการจัดงานบุญผะเหวดจะถือว่าต้องประสบภัยพิบัติไม่ว่าจะฝนแล้ง ไฟป่า หรือเหตุหายนะต่างๆ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในงานนี้จึงเต็มไปด้วยผู้มาร่วมงานบุญอย่างเนืองแน่นที่สุด

หลังทศพรกัณฑ์อันเป็นกัณฑ์แรกจบลง ผู้คนบางส่วนลงจากศาลามาเหยียดแข้งเหยียดขาที่เบื้องล่าง หนุ่มสาวที่เพิ่งมางานเอาข้าวเหนียวที่ถูกจัดวางไว้ตามตระกร้าซึ่งผูกไว้กับต้นไม้เขวี้ยงใส่กันให้เกิดสิริมงคล

ข้าวเหนียวเหล่านั้นถูกทำทานมาจากหลายแหล่งและนำมาที่นี่ด้วยขบวนแห่เมื่อวาน มีคำเรียกขานข้าวเหนียวเหล่านี้ว่า ข้าวพันก้อน เป็นข้าวเหนียวที่ถูกปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ให้มีจำนวนมากและนำมาใช้ในงานพิธี ถือว่าเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของงานบุญผะเหวด

งานบุญผะเหวดนั้นมีด้วยกันทั้งหมด 3 วัน โดยในวันแรกนั้นเรียกว่า วันโฮม เป็นวันตระเตรียมการทำพิธี มีทั้งการเริ่มต้นห่อข้าวต้มมัดซึ่งใช้เป็นเสบียงในการฟังเทศน์ในวันที่ 3 บางคนที่ว่างก็มาจัดรอบๆ บริเวณวัดให้มีลักษณะคล้ายป่าที่ปรากฏในเวสสันดรชาดก วันที่ 2 เป็นวันที่ชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ทั้ง 13 กันฑ์จัดตั้งขบวนแห่กัณฑ์เทศน์พิเศษกันเองในแต่ละหมู่บ้าน ที่เรียกว่า กัณฑ์หลอน อันหมายถึงกัณฑ์ที่จัดทำขึ้นหลอกๆ หลังจากนั้นจะแห่กัณฑ์เทศน์นี้ไปรอบหมู่บ้านเพื่อรับเครื่องไทยทานทั้งหลายแล้วแห่กัณฑ์ที่ว่านี้มาไว้ที่วัด และจัดพื้นที่สำหรับใส่ข้าวพันก้อนตามมุมต่างๆ

วันสำคัญสูงสุดนั้นอยู่ที่วันที่ 3 อันเป็นวันที่มีเทศน์ผะเหวดและเป็นวันที่แขกซึ่งมาเยือนจากหมู่บ้านอื่นจะเดินทางมาถึง ในอดีตแขกเหล่านี้มักติดตามพระนักเทศน์ที่เดินทางมาจากถิ่นฐานของตน จึงจำต้องมีการจัดเตรียมที่พักให้กับแขกที่มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างซุ้มหรือปะรำชั่วคราวสำหรับผู้มาเยือน แต่ปัจจุบันเมื่อการเดินทางสะดวก แทบทุกคนมีรถปิคอัพอันเป็นพาหนะสัญจรเยี่ยงกระดูกสันหลังของอีสานไว้ใช้ การค้างคืนจึงหมดความสำคัญอีกต่อไป หลายอย่างที่เคยเห็นเคยทำจึงจากไปทีละสิ่ง

แต่นั่นไม่ได้หมายถึงอาหาร

งานบุญผะเหวด งานบุญผะเหวด งานบุญผะเหวด

ไม่ว่าพิธีกรรมในงานบุญผะเหวดจะถูกปรับเปลี่ยนอย่างไร ผ้าผะเหวดจะถูกเขียนสีด้วยสีเคมีแทนสีจากธรรมชาติ การเดินทางมาร่วมงานบุญด้วยเท้าเปลี่ยนเป็นพาหนะที่สะดวกกว่า ข้าวปุ้นถูกเปลี่ยนจากการทำเส้นสดด้วยมือเป็นข้าวปุ้นจากท้องตลาด

ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป แต่งานบุญยังเป็นแหล่งชุมนุมของเหล่าแม่ครัวฝีมือดีเสมอ

เหตุผลข้อหนึ่งที่เล่าต่อๆ กันมาคือ เมื่อผู้ชายมีโอกาสบวช มีโอกาสประกอบบุญผ่านทางผ้าเหลืองได้ เหล่าผู้หญิงที่ขาดแคลนโอกาสดังที่ว่าจึงเหลือเพียงโอกาสเดียวที่จะได้ทำบุญเช่นนั้นนั่นคือการเข้าร่วมพิธีกรรมงานบุญผ่านทางกิจกรรมต่างๆ บางคนทอผ้าเพื่อใช้ทำผ้าผะเหวด บางคนรับตกแต่งของคายหรือของบูชา แต่หลายคนที่ไม่มีฝีมือทั้งด้านการทอและด้านศิลปะเลือกการทำอาหาร อย่างน้อยแรงงานในครัวมีที่ว่างเสมอ และอย่างน้อยทุกคนล้วนมีฝีมือด้านอาหารในทางใดก็ทางหนึ่ง

ขณะที่มื้อจังหันกำลังดำเนินไป มีคำขอพิเศษมาจากทางบนศาลา พระภิกษุนักเทศน์รูปหนึ่งร้องขอผ่านตัวแทนว่า อยากฉันส้มตำหรือหมากฮุ่งเป็นกรณีพิเศษ นัยว่าถ้าขาดไปจะทำให้การเทศน์ไม่คล่องปาก

เมื่อคำขอนั้นมาถึงครัว แม่อรหยิบครกที่คว่ำอยู่โดยไม่อิดออดก่อนจะตะโกนเรียกให้ใครสักคนในบริเวณใกล้เคียงไปขอหรือหาซื้อมะละกอดิบจากชาวบ้านแถวนี้มาโดยด่วน ราว 10 นาที เสียงรถเครื่องคันหนึ่งก็จอดลงที่ครัวพร้อมมะละกอสีเขียวนวลสามสี่ลูก แม่อรสับมะละกอ ปรุงน้ำปลาร้า ในขณะที่แม่ครัวคนอื่นแกะพริก เตรียมผักข้างเคียง

ไม่กี่อึดใจตำหมากฮุ่งแบบเร่งด่วนชนิดที่เรียกได้ว่า Fast Track ก็ถูกนำไปขึ้นบนศาลาก่อนที่วงฉันจังหันจะยุติลง

ไม่มีเวลาให้แม่ครัวเหล่านี้ได้หยุดพัก ผมยื่นน้ำส้มบรรจุขวดที่รู้ดีว่าหวานเกินพิกัดให้แม่อร อย่างน้อยมันก็เรียกกำลังวังชาก่อนที่อาหารมื้อเพลกำลังจะเริ่มต้นขึ้น แม่ครัวสองสามคนลงมือแล่ปลานิลสำหรับต้มปลา คนที่เหลือเอาแกงเขียวหวานขึ้นอุ่น ส่วนคนครัวที่เป็นชายลงมือทอดไก่ทอด เมนูโปรดของเด็กๆ ในขณะที่อีกคนทำของยาก คือการเอาข้าวเหนียวดำใส่น้ำแล้วตั้งไฟเพื่อทำการกวนข้าวทิพย์อันเป็นงานหนัก เพราะคนกวนจะต้องยืนกวนไปเรื่อยๆ จนกว่าข้าวเหนียวจะนิ่มพอจึงจะเติมกะทิและน้ำตาลลงไป

ของหวานที่เรียกว่าข้าวทิพย์นี้ทำในหม้อขนาดใหญ่เพื่อแบ่งกันกินให้ทั่วถึง อีกทั้งยังใช้เป็นของดับหิวหลังเพลสำหรับผู้ที่ตั้งใจฟังกัณฑ์เทศน์ให้ครบ 13 กัณฑ์ ทุกอย่างดูจะดำเนินไปด้วยดี ก่อนที่จะมีข่าวสำคัญว่าชาวบ้านอีกหมู่บ้านกำลังเดินทางมาสมทบในงานบุญ ความเป็นไปได้ที่อาหารจะไม่เพียงพอเกิดขึ้นในฉับพลัน แม่อรยกหูโทรศัพท์เรียกใครบางคนให้เพิ่มจำนวนปลานิลโดยด่วน

ต้มปลานิลจากหนึ่งหม้อถูกขยายเป็นสองหม้อใหญ๋ เตาถ่านที่ทำหน้าที่เต็มพิกัดกว่าสามเตาไม่สามารถรองรับงานที่มีได้อีกต่อไป เตาใหม่ถูกจุดเพิ่ม ถ่านและฟืนถูกลำเลียงมายังพื้นที่ เวลาเพิ่งผ่านรุ่งสางมาได้เพียง 3 ชั่วโมง กัณฑ์เทศน์ดำเนินต่อไปอย่างสงบเย็น แต่เบื้องล่างของศาลาทุกอย่างดูพลุกพล่านไปด้วยกำลังกายจากแม่ครัวทุกคน

ข้าวทิพย์ถูกกวนจนได้ที่ กะทิที่เตรียมไว้แต่เช้าถูกคั้นและเติมลงไปในหม้อ จาวมะพร้าวถูกแบ่งให้เด็กเล็กๆ ในบริเวณนั้น ปลาที่นึ่งไว้ก่อนถูกนำลงหม้อต้ม ส่วนปลานิลที่มาใหม่ตามคำสั่งของแม่อรถูกนำลงหวดเพื่อนึ่งในทันที นาฬิกาบนผนังบอกเวลา 10 โมงครึ่ง อีกครึ่งชั่วโมงกัณฑ์เทศน์จะพักช่วงเพื่อให้พระภิกษุได้ฉันอาหารเพลและให้อุบาสก อุบาสิกา ได้ยืดเส้นยืดสาย

แต่คำว่าพักไม่มีในบริเวณครัว เสียงตะโกนถามว่าข้าวที่หุงไว้พอเพียงไหม เส้นข้าวปุ่นอีกเล่าจะต้องซื้อหามาเติมหรือไม่ และแทนจะต้องรับมือเหตุการณ์เฉพาะหน้าอีก แม่อรสั่งตำหมากฮุ่งหรือส้มตำอีหหนึ่งถาดใหญ่ “กินกับไก่ทอดนี่แหละ ง่ายดี” เสียงแม่ครัวคนใดคนหนึ่งบอก

ทุกอย่างถูกลำเลียงมาจัดลงถาดอีกครั้ง ภาชนะใส่อาหารบนศาลาถูกนำมาทำความสะอาด มือล้างจานเป็นสาวน้อยคนหนึ่งที่แน่ชัดว่าเธอยังไม่พร้อมสำหรับลงสนามแม่ครัวในงานบุญ “ทำงานโรงงานอยู่แถวพระปะแดง กลับบ้าน 2 ครั้งตอนงานนี้และอยู่ยาวถึงสงกรานต์ กับอีกครั้งหนึ่งตอนวันปีใหม่ เจ้านายเข้าใจ วันลาไม่พอก็อาศัยแลกเอากับเพื่อนร่วมงานหรือไม่ก็ทำโอทีเอา” เธอบอกผม น้ำเสียงใสซื่อระคนใบหน้าอิ่มเอิบในการลงแรงครั้งนี้ทำให้เชื่อแน่ว่าอีกไม่กี่ปีต่อมาเธอคงเป็นหนึ่งในทีมกู้โลกประจำงานบุญเป็นแน่

Writer

Avatar

อนุสรณ์ ติปยานนท์

นักเขียน นักแปล เจ้าของผลงานหนังสือหลายเล่ม อาทิ ลอนดอนกับความลับในรอบจูบ, แปดครึ่งริคเตอร์, จุงกิงเซ็กซ์เพรส, เพลงรักนิวตริโน โดยปัจจุบันเขายังคงจริงจังกับการเขียนและมีผลงานต่อเนื่องในโลกวรรณกรรม