11 พฤศจิกายน 2022
10 K

หากใครชอบดูหนังฝรั่ง คงเคยเห็นฉากที่พระเอกยืนอยู่ในห้องเก็บไวน์ที่มีไวน์หลายร้อยชนิด แต่ละขวดจะมีปีที่ผลิตเขียนอยู่ ยิ่งเก่ายิ่งมีมูลค่า

ลองจินตนาการถึงฉากห้องเก็บไวน์แบบนั้น แต่เปลี่ยนไวน์เป็นน้ำผึ้ง และเปลี่ยนสถานที่จากโลกตะวันตกเป็นบ้านสวนเกษตรอินทรีย์ ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย

เบนซ์-วุฒิชัย อินทร์ประยงค์ คือเจ้าของห้องนั้น เขาคือนักสะสมน้ำผึ้งหนึ่งในไม่กี่คนของเมืองไทยที่มีน้ำผึ้งไม่ต่ำกว่า 130 รสชาติ ทั้งหมดเป็นน้ำผึ้งป่าที่รับมาจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงน้ำหวานจากชันโรง และเขานำเสนอน้ำผึ้งสุดพิเศษเหล่านั้นให้ผู้คนรู้จักในแบรนด์ ‘บำรุงสุขฟาร์ม’

“หัวใจหลักของแบรนด์เราคือ อยากให้คนไทยได้กินน้ำผึ้งดี ๆ ที่ไม่ใช่แค่น้ำผึ้งดอกลำไย จุดเด่นของเราคือความหลากหลายเยอะ ลูกค้าอยากได้รสประมาณไหน เราจะสอนให้เขาชิม เวลาไปออกบูท ลูกค้าเลือกชิมได้ทุกตัว ไม่ซื้อไม่ว่า บางคนก็มานั่งคุยเป็นชั่วโมง บางงานเรามีจัดเวิร์กชอปสอนชิมน้ำผึ้งด้วย เราอยากให้คนไทยมีโอกาสเรียนรู้น้ำผึ้งไทยดี ๆ และเรียนรู้มิติอื่น ๆ ของน้ำผึ้งนอกจากแค่ความหวานกับหอม”

มิติอื่น ๆ ของน้ำผึ้งมีอะไรบ้าง ความหลากหลายของน้ำผึ้งไทยมีมากขนาดไหน น้ำผึ้งแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร และอะไรทำให้เขามาสนใจน้ำผึ้ง ไปฟังเขาเล่ากันเลย

บำรุงสุขฟาร์ม ผู้เปิดจักรวาลน้ำผึ้งป่าให้รู้ว่าเมืองไทยมีน้ำผึ้งกว่า 130 รสชาติ

ลองลิ้มชิมรส

“น้ำผึ้งที่ดีในความหมายของผมมีอยู่ 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ เป็นน้ำผึ้งแท้ ไม่มีสิ่งเจือปน และมีมิติที่ซับซ้อน น้ำผึ้งที่ดีจะมี 4 มิติ โดยมีความหวานเป็นวงกลมตรงกลาง ซ้อนมาคือความเปรี้ยว ความหอม และความขม แต่ละชนิดก็จะมีระดับของแต่ละมิติไม่เท่ากัน”

เบนซ์เริ่มต้นเล่าถึงการแยกแยะรสชาติน้ำผึ้ง โดยอธิบายว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อรสชาติมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน อย่างแรกคือชนิดของผึ้ง ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือผึ้งและชันโรง โดยในกลุ่มของผึ้งก็มีหลายชนิด เช่น ผึ้งหลวง ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม ส่วนชันโรงก็มีหลากหลายเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีชันโรงที่ได้รับการจำแนกทั้งหมด 35 ชนิด

“น้ำหวานจากชันโรงบางชนิดมีรสคล้ายน้ำผึ้ง เช่น พันธุ์ขนเงิน ถ้วยดำ บางชนิดก็จะออกไปทางน้ำส้ม เช่น อุ้งหมี อีตาม่า ส่วนชันโรงดินจะมีความเป็นยาสูง พวกนี้อาศัยในโพรงดิน ซึ่งชันโรงแต่ละชนิดกินอาหารต่างกัน ทำให้รสชาติน้ำหวานก็ต่างกัน”

บำรุงสุขฟาร์ม ผู้เปิดจักรวาลน้ำผึ้งป่าให้รู้ว่าเมืองไทยมีน้ำผึ้งกว่า 130 รสชาติ

ปัจจัยต่อมาที่ส่งผลต่อรสชาติก็คือแหล่งที่มาของน้ำผึ้ง สำหรับน้ำผึ้งป่านั้น แม้จะมาจากจังหวัดเดียวกันแต่ต่างอำเภอ รสชาติก็ไม่เหมือนกันแล้ว

“แค่ป่าเดียวกันก็มีหลายรส แต่รวม ๆ ก็บอกได้ว่าป่าโซนนี้รสจะเป็นแบบนี้ น้ำผึ้งทางเหนือจะหอมชัด หวานแน่นอน บางที่อาจมีติดเปรี้ยวและขมบ้าง ส่วนทางใต้มักติดเปรี้ยวและมีกลิ่นเฉพาะ ซึ่งเป็นกลิ่นเอกลักษณ์ของพื้นที่ เช่น ป่าพรุก็อาจมีติดกลิ่นทะเล”

แน่นอนว่าชนิดดอกไม้ที่ผึ้งไปตอมย่อมมีผล ดอกไม้ที่หลากหลายก็ส่งผลต่อความซับซ้อนของรสชาติและคุณค่าทางอาหาร แต่ในบางพื้นที่ก็มีดอกไม้ที่เป็นจุดเด่นเฉพาะ เช่น น้ำผึ้งดอกเสม็ดขาวของป่าภาคใต้ น้ำผึ้งดอกเถาวัลย์ของอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก หรือน้ำผึ้งจากสวนลิ้นจี่พันธุ์ค่อมของอัมพวา

ปัจจัยต่อมาที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ก็คืออายุของน้ำผึ้ง น้ำผึ้งขวดเดียวกัน ถ้าเราชิมปีนี้กับชิมปีหน้า รสชาติก็ต่างกัน ยิ่งเก็บนานยิ่งมีราคา น้ำผึ้งที่อายุเกิน 5 ปี เขาจะคิดค่าเก็บปีละ 100 บาท โดยน้ำผึ้งที่เก่าที่สุดที่เขามีในปัจจุบันคือน้ำผึ้งของ พ.ศ. 2542 รองลงมาคือน้ำผึ้งอายุ 10 ปีจากอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเขาบอกว่าตัวนี้อร่อยมาก

“น้ำผึ้งคล้ายกับไวน์ตรงการบ่ม ไวน์ที่บ่มนานจะมีรสฝาดจากสารแทนนินในถังไม้โอ๊ก ส่วนน้ำผึ้งเป็นการบ่มอีกแบบ เพราะผึ้งเก็บน้ำหวานไว้ในกระเพาะ ซึ่งในนั้นมียางไม้ที่มีสารแทนนินเช่นกัน ทำให้มีพรีไบโอติกสูง โบราณบอกว่าน้ำผึ้งเก่าเป็นยา ส่วนใหญ่ลูกค้าจีนกับอินเดียจะชอบ”

บำรุงสุขฟาร์ม ผู้เปิดจักรวาลน้ำผึ้งป่าให้รู้ว่าเมืองไทยมีน้ำผึ้งกว่า 130 รสชาติ

ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลต่อน้ำผึ้งก็คือสภาพภูมิอากาศในปีนั้น ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ปริมาณฝน รวมถึงความชื้นในอากาศ ซึ่งส่งผลต่อชนิดของดอกไม้ที่บานด้วย ทำให้น้ำผึ้งจากป่าเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกัน รสชาติก็ไม่เคยซ้ำในแต่ละปี และนั่นก็นำมาสู่ปัญหาที่ว่า สภาวะโลกรวนในปัจจุบันทำให้ผึ้งอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง ไม่ใช่แค่ในแง่คุณภาพน้ำผึ้งเท่านั้น แต่รวมถึงการอยู่รอดของพวกมันด้วย เพราะถ้าหากอุณหภูมิสูงเกินถึงจุดหนึ่ง ผึ้งบางชนิดอาจตายยกรัง และถ้าผึ้งหายไป ผู้ผสมเกสรดอกไม้ก็จะหายไปด้วย

“อย่างปีนี้ เดือนมีนาคมฝนเยอะผิดปกติ ความชื้นสูง น้ำผึ้งปีนี้เลยรสชาติไม่ค่อยหลากหลาย แต่ละตัวรสชาติใกล้เคียงกันหมด แล้วบางพื้นที่ชาวบ้านก็บอกผึ้งไม่ค่อยเข้า คือไม่มาทำรังในพื้นที่ ล่าสุดจ่ายไป 90,000 บาท แต่ได้มาแค่ 5 รส”

สำหรับน้ำผึ้งบางล็อตที่เมื่อเขาชิมแล้วรู้สึกว่าคุณภาพไม่ถึงมาตรฐานที่ตั้งไว้ ก็จะแปรรูปเป็นน้ำผึ้งหมักผลไม้ ซึ่งเขาเรียกว่า ‘ไทยฮันนี่โซดา’ คล้าย ๆ อิตาเลียนโซดาเวอร์ชันไทยที่นำมาชงเป็นเครื่องดื่มได้ ซึ่งเขาจะเลือกใช้ผลไม้ไทยทั้งหมด เช่น มะแปม ผลไม้ภาคตะวันออกที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ไปจนถึงขิง บ๊วย กล้วย กุหลาบ ซึ่งเมื่อน้ำผึ้งมาผสมกับพืชเหล่านี้ ก็จะได้รสชาติและกลิ่นที่แปลกใหม่ ร้านกาแฟหลายแห่งที่เป็นลูกค้าประจำของเขาก็นำน้ำผึ้งเหล่านี้มาชงกาแฟ

บำรุงสุขฟาร์ม ผู้เปิดจักรวาลน้ำผึ้งป่าให้รู้ว่าเมืองไทยมีน้ำผึ้งกว่า 130 รสชาติ
บำรุงสุขฟาร์ม ผู้เปิดจักรวาลน้ำผึ้งป่าให้รู้ว่าเมืองไทยมีน้ำผึ้งกว่า 130 รสชาติ
บำรุงสุขฟาร์ม ผู้เปิดจักรวาลน้ำผึ้งป่าให้รู้ว่าเมืองไทยมีน้ำผึ้งกว่า 130 รสชาติ

“น้ำผึ้งมีทั้งเปรี้ยว หอม หวาน ขม บางชนิดออกแนวฟรุตตี้ บางชนิดรสหนักแน่น ไปใส่กาแฟคั่วอ่อนคั่วกลางแล้วจะกลายเป็นรสชาติอีกแบบ มันอร่อยขึ้น พิเศษขึ้น แต่ต้องชงกับกาแฟอุ่น ไม่ใช่กาแฟร้อน ไม่งั้นจุลินทรีย์ดี ๆ ในน้ำผึ้งจะตาย”

ตลอดการคุยกัน เขาเน้นย้ำเรื่องความหลากหลายของรสชาติมาก นั่นคือจุดเด่นสำคัญที่ทำให้น้ำผึ้งป่าต่างกับน้ำผึ้งฟาร์ม

“น้ำผึ้งฟาร์มมี 2 แบบ คือเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินละแวกบ้านกับแบบอุตสาหกรรม ซึ่งแบบหลังนี้เราไม่ค่อยชอบเพราะมีแค่ 2 มิติ คือหวานกับหอม เขาเลี้ยงด้วยไซรัปหรือน้ำตาลทรายขาวละลายน้ำ เคยคุยกับเพื่อนที่ทำงานในแล็บที่ตรวจน้ำผึ้งเวลาขอ อย. เขาบอกว่าน้ำผึ้งอุตสาหกรรมมีโมเลกุลน้ำตาลสังเคราะห์อยู่ ลองสังเกตว่าพวกน้ำผึ้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนก็รสชาติเหมือนกันหมด จะซื้อปีไหนก็ได้รสเดียวกัน ต่างจากของเราที่แต่ละล็อตหมดแล้วหมดเลย คือกินแบบนับถอยหลัง”

ความเป็นสินค้าที่มีจำนวนจำกัดของน้ำผึ้งป่านี้ก็คือสิ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่า เพราะต่อให้อยากได้รสนี้อีก ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าปีหน้าจะได้เหมือนเดิม ซึ่งจุดเด่นนี้ก็ถูกส่งต่อไปยังร้านกาแฟที่สั่งซื้อน้ำผึ้งจากเขา เพราะกาแฟที่ชงด้วยน้ำผึ้งล็อตนี้ จะชงได้จำนวนแก้วที่จำกัด หมดแล้วหมดเลย

“เราทำเรื่องความยั่งยืนทางอาหารด้วย เราเชื่อว่าการกินอาหารที่หลากหลายมันดี น้ำผึ้งแต่ละรสก็เหมาะกับอาหารที่ต่างกัน ใส่สลัดใช้รสหนึ่ง ชงกับเครื่องดื่มใช้อีกรสหนึ่ง กินกับผลไม้ก็ใช้อีกรสหนึ่ง นี่คือเอกลักษณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้”

บำรุงสุขฟาร์ม ผู้เปิดจักรวาลน้ำผึ้งป่าให้รู้ว่าเมืองไทยมีน้ำผึ้งกว่า 130 รสชาติ

น้ำผึ้งหยดแรก

“เคยมีลูกค้าคนหนึ่งเคยทานน้ำผึ้งมานูกาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ขวดละ 3,000 บาท แต่มาต่อราคาน้ำผึ้งไทยขวดละ 300 บาท เราก็คิดว่าทำไมน้ำผึ้งไทยจะสู้ไม่ได้ เราอยู่เขตร้อน ความหลากหลายทางอาหารเราก็เยอะ”

เบนซ์เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่ยืนยันว่าคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักน้ำผึ้งไทย และนั่นก็คือเหตุผลที่เขาอยากมาทำหน้าที่นำเสนอคุณค่าของน้ำผึ้งไทยให้คนทั่วไปรู้จัก

“เคยมีดอกเตอร์ที่ทำวิจัยเรื่องนี้บอกว่า น้ำผึ้งหลวงของไทยมีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับน้ำผึ้งมานูกาเลย แล้วตัวที่มีคุณค่าทางอาหารมากยิ่งกว่าคือน้ำหวานจากชันโรง เพียงแต่น้ำผึ้งไทยไม่มีใครมานำเสนอว่าของเราดี คนก็เลยไปฟังแต่ฝรั่ง”

ก่อนที่จะมาทำเรื่องน้ำผึ้ง เบนซ์คือหนึ่งในคนที่ทำงานด้านความยั่งยืนทางอาหาร ทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ สอนเรื่องระบบนิเวศในแปลงเกษตร การทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ ไปจนถึงทำวิสาหกิจชุมชน หนึ่งในนั้นก็คือการขายผลิตภัณฑ์จักสาน ซึ่งวันหนึ่งเขากับเพื่อนวางแผนกันว่าจะทำกระเช้าปีใหม่ขาย จึงสั่งน้ำผึ้งจากชุมชนมาจำนวนมาก แต่ด้วยปัญหาที่ไม่คาดคิดบางอย่างทำให้โปรเจกต์นั้นล่มไป จึงมีน้ำผึ้งค้างสต็อกอยู่จำนวนมาก

บำรุงสุขฟาร์ม ผู้เปิดจักรวาลน้ำผึ้งป่าให้รู้ว่าเมืองไทยมีน้ำผึ้งกว่า 130 รสชาติ

“ประกอบกับช่วงนั้นเครื่องจักสานขายไม่ค่อยดีด้วยเพราะคนเลิกฮิต เราก็มาคิดว่าจะทำอะไรที่มันยั่งยืน เสียหายยาก และเราอยากทำ ซึ่งเราสนใจเรื่องปัจจัยสี่อยู่แล้ว ก็เลยนึกถึงเรื่องเกลือกับน้ำผึ้ง เรื่องเกลือน่าสนุกเพราะในไทยมีสายเกลือเยอะ แต่มันสร้างมูลค่าเพิ่มยาก เราก็เลยมาทำเรื่องน้ำผึ้ง”

จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียงแค่ 8 รสชาติ เขาเริ่มออกบูทตามงานต่าง ๆ และค่อย ๆ เรียนรู้ศาสตร์ของน้ำผึ้ง หัดชิม หัดแยกรส สังเกตสี กลิ่น ลักษณะน้ำผึ้งแบบต่าง ๆ จนถอดรหัสได้ว่า แบบไหนคือแท้ แบบไหนคือปลอม ซึ่งบางครั้งแค่ดมกลิ่นก็บอกได้แล้ว และเมื่อเข้าสู่ปีที่สอง เขาก็มีน้ำผึ้งมาขายเพิ่มเป็น 16 รสชาติ ปีที่สาม 37 รสชาติ จนกระทั่งปัจจุบันซึ่งเป็นปีที่หก น้ำผึ้งในแบรนด์บำรุงสุขฟาร์มมีอยู่ทั้งหมดกว่า 130 รสชาติ

“เราเองก็เริ่มต้นจากที่ไม่รู้อะไร ช่วงแรก ๆ ซื้อผิดซื้อถูก เสียเงินเป็นหมื่น ๆ แล้วพบว่าปลอม น้ำผึ้งล็อตนั้นก็ต้องไปอยู่ในถังหมักจุลินทรีย์เป็นปุ๋ยต้นไม้”

บำรุงสุขฟาร์ม ขายน้ำผึ้งเหมือนไวน์ มีน้ำผึ้ง 20 กว่าปี กว่า 130 รสชาติ ไม่มีหน้าร้าน ไม่ขายออนไลน์ แต่ลูกค้าเพียบ

ทุกวันนี้ เวลาซื้อน้ำผึ้งจากชุมชน เขาจะสุ่มชิมอย่างน้อยลังละ 5 ขวด เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นน้ำผึ้งคุณภาพดี บางครั้งชิมแล้วรู้ว่าเป็นน้ำผึ้งปลอมก็ต้องนำไปคืน และบอกผู้ขายไปตามตรงว่านี่ปลอม และถามว่ารับมาจากไหน ตีเองหรือเปล่า ถ้าไม่เชื่อมาลองทดสอบด้วยกันได้นะ ที่บ้านมีตัวอย่างมากมายให้เปรียบเทียบ

“เราเชื่อว่าซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน เพราะเราเองก็ไม่ได้ขายถูก ลูกค้าซื้อแล้วต้องเชื่อมั่นในเรา”

ความไม่เหมือนใครอีกอย่างของน้ำผึ้งแบรนด์นี้ก็คือการไม่ขายออนไลน์ ยกเว้นลูกค้าเก่าที่สั่งซื้อประจำและรู้จักน้ำผึ้งที่ต้องการดีอยู่แล้ว แต่สำหรับลูกค้าหน้าใหม่จะซื้อได้ตามงานออกบูทเท่านั้น

“เหตุผลคือเราต้องสอนให้ลูกค้าชิมด้วย คือถ้าไม่รู้จักกันแล้วมาบอกว่าอยากได้น้ำผึ้งดี ๆ สักขวด ผมหันกลับไปมีอยู่ 50 กว่ารส ผมไม่รู้ว่าพี่ชอบรสไหน สไตล์การขายเราจะไม่มองที่ตัวเงิน แต่เรามองเรื่องความประทับใจ”

บำรุงสุขฟาร์ม ขายน้ำผึ้งเหมือนไวน์ มีน้ำผึ้ง 20 กว่าปี กว่า 130 รสชาติ ไม่มีหน้าร้าน ไม่ขายออนไลน์ แต่ลูกค้าเพียบ
บำรุงสุขฟาร์ม ขายน้ำผึ้งเหมือนไวน์ มีน้ำผึ้ง 20 กว่าปี กว่า 130 รสชาติ ไม่มีหน้าร้าน ไม่ขายออนไลน์ แต่ลูกค้าเพียบ

และนั่นก็อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลให้แบรนด์เล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยประชาสัมพันธ์ตัวเองในโลกออนไลน์นี้ ถูกเล่าขานปากต่อปาก จนมีลูกค้าประจำติดใจจำนวนมาก มีทั้งเชฟ เจ้าของร้านกาแฟ และลูกค้าบางคนก็กลายมาเป็นนักสะสมน้ำผึ้งตามเขา

“เวลาไปออกบูทก็เจอกับคนที่หลากหลาย ลูกค้าบางคนเดินเข้ามาเหมือนจะมาลองของ ไหนดียังไง มาลองชิมสิ เราก็เลยให้ลองชิมน้ำผึ้งป่าชายเลนที่เขาไม่เคยได้กลิ่นแน่นอน หรือน้ำผึ้งขม จากเสียงแข็ง ๆ ก็เสียงอ่อนลง และคุยกันนาน จนสุดท้ายซื้อกลับไปหลายขวด หรือบางคนก็มาขอบคุณเราที่หาข้อมูลน้ำผึ้งดี ๆ ให้เขาได้รู้จัก”

บำรุงสุขฟาร์ม ขายน้ำผึ้งเหมือนไวน์ มีน้ำผึ้ง 20 กว่าปี กว่า 130 รสชาติ ไม่มีหน้าร้าน ไม่ขายออนไลน์ แต่ลูกค้าเพียบ

น้ำผึ้งดีไม่ได้มีแค่เดือนห้า

เดือนห้าหรือเดือนเมษายนตามการนับแบบไทย คือเดือนที่มีความชื้นต่ำและเป็นช่วงที่มีดอกไม้หลากสีสันบานมากที่สุดในรอบปี เพราะเมื่อต้นไม้ผ่านช่วงแล้งมานาน และได้รับฝนแรกจากพายุฤดูร้อนปลายเดือนมีนาคม ต้นไม้หลายชนิดก็เริ่มผลิดอก น้ำผึ้งป่าที่เก็บในเดือนนี้จึงมาจากดอกไม้หลากหลายและมีคุณค่าทางอาหารสูง

“คำโบราณบอกว่า น้ำผึ้งที่จะมาเข้ายา ต้องเป็นน้ำผึ้งเดือนห้าจากเกสรร้อยแปด คือจากดอกไม้หลากชนิด นี่คือความพิเศษของเดือนห้า แต่ก็ไม่ใช่ว่าน้ำผึ้งเดือนอื่นไม่ดี จริง ๆ แล้ว น้ำผึ้งดีทุกเดือน เพียงแต่เดือนอื่น ๆ เขาไม่ค่อยตีผึ้งกัน เพราะพอเข้าฤดูฝน ชาวบ้านก็เริ่มทำไร่ไถนา เป็นช่วงเวลาของการเกษตร พอเข้าหน้าหนาวก็ถึงฤดูเก็บเกี่ยว กว่าที่เขาจะเริ่มตีผึ้งก็ช่วงหน้าแล้ง”

หนุ่มนักสะสมน้ำผึ้งเล่าถึงเหตุผลที่น้ำผึ้งที่ขายกันส่วนใหญ่มีเพียงน้ำผึ้งเดือนห้า จนกระทั่งคำนี้กลายเป็นคำโฆษณาทางการตลาด

บำรุงสุขฟาร์ม ขายน้ำผึ้งเหมือนไวน์ มีน้ำผึ้ง 20 กว่าปี กว่า 130 รสชาติ ไม่มีหน้าร้าน ไม่ขายออนไลน์ แต่ลูกค้าเพียบ

“อย่างช่วงเดือนหก เดือนเจ็ด จะมีน้ำผึ้งดอกบอระเพ็ด ดอกเถาวัลย์ ซึ่งมีรสขม เราอยากได้แต่ชาวบ้านไม่ค่อยตีให้ พอถึงเดือนเจ็ด เดือนแปด ก็จะมีน้ำผึ้งจากทางใต้ เพราะเป็นช่วงที่ต้นเสม็ดขาวออกดอก พอถึงเดือนเก้า เดือนสิบ ก็จะเป็นดอกส้มโอ ดอกผลไม้ ถึงความชื้นสูงแต่ก็อร่อย”

นอกจากนั้น เขาเล่าว่ายังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับน้ำผึ้งอีกหลายอย่าง เช่น หลายคนคิดว่าน้ำผึ้งที่ดีจะต้องหนืด ไม่มีฟอง และไม่ตกตะกอน แต่ในความเป็นจริงแล้ว น้ำผึ้งที่ดีอาจไม่ต้องหนืดก็ได้ มีฟองได้ ตกตะกอนได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมาดูอีกว่าตกตะกอนแบบไหนคือน้ำผึ้งแท้ แบบไหนคือน้ำผึ้งปลอม

“พวกการตรวจน้ำผึ้งปลอมด้วยการจุดไม้ขีดไฟ หรือการหยดน้ำลงไปแบบที่เห็นกันในยูทูบ จริง ๆ แล้วมันใช้ไม่ได้ มันต้องใช้ประสบการณ์ในการแยกแยะ”

ส่วนข้อมูลที่บางคนอาจเคยได้ยินว่า น้ำผึ้งเป็นอาหารที่ไม่มีวันหมดอายุ เขาก็บอกว่าเป็นเรื่องจริง พร้อมเล่าเกร็ดความรู้ให้เราฟังว่า น้ำผึ้งที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการค้นพบก็คือในสมัยอียิปต์ที่ขุดพบในพีระมิด มีอายุ 3,000 ปี และยังกินได้

“คำโบราณบอกว่าน้ำผึ้งเก่าเป็นยา ที่ต่างประเทศน้ำผึ้งเก่าราคากิโลละเป็นแสน แต่ก็มีข้อมูลจากงานวิจัยที่บอกว่า น้ำผึ้งที่เก็บนานจะมีคุณค่าทางสารอาหารลดลง ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นเพราะงานวิจัยนั้นใช้น้ำผึ้งฟาร์ม ซึ่งเลี้ยงด้วยไซรัป คุณค่าเลยเสื่อมไปตามกาลเวลา ไม่เหมือนน้ำผึ้งจากดอกไม้จากธรรมชาติ”

บำรุงสุขฟาร์ม ขายน้ำผึ้งเหมือนไวน์ มีน้ำผึ้ง 20 กว่าปี กว่า 130 รสชาติ ไม่มีหน้าร้าน ไม่ขายออนไลน์ แต่ลูกค้าเพียบ
บำรุงสุขฟาร์ม ขายน้ำผึ้งเหมือนไวน์ มีน้ำผึ้ง 20 กว่าปี กว่า 130 รสชาติ ไม่มีหน้าร้าน ไม่ขายออนไลน์ แต่ลูกค้าเพียบ

เมื่อถามว่าการเก็บน้ำผึ้งป่าถือเป็นการรบกวนสิ่งแวดล้อมและผึ้งหรือไม่ เขาก็มองว่าไม่ได้เป็นการรบกวนขนาดนั้น เพราะชาวบ้านที่ตีผึ้งในแต่ละชุมชนจะมีฤดูตีผึ้งและไม่ได้ตีทั้งปี และตามธรรมชาติ ผึ้งก็มีการย้ายรังอยู่แล้วหลังจากอาหารในที่หนึ่งหมด แต่ถ้าเป็นน้ำหวานจากชันโรงจะต่างออกไป เพราะชันโรงบางชนิดทำรังในโพรงไม้ ถ้าจะเก็บรังก็ต้องโค่นต้นไม้ซึ่งไม่คุ้ม ทำให้น้ำหวานจากชันโรงส่วนใหญ่มาจากรังเลี้ยงมากกว่า ซึ่งเขาเองก็เลี้ยงชันโรงเช่นกัน และเล่าให้ฟังว่าต้นพริกขี้หนูสวนของเขาสูงถึง 2 เมตร จากปุ๋ยหมักน้ำผึ้ง และเก็บพริกได้เป็นพันเม็ดจากผลงานการผสมเกสรของชันโรง

“เราไม่ได้เชียร์ว่าน้ำผึ้งเราดีที่สุด ขึ้นกับว่าคุณไปใช้กับอะไร ถ้าบางชนิดเหมาะชงกาแฟ บางชนิดก็เหมาะกับกินกับขนมปัง กินกับอโวคาโด แต่ถ้าคุณเป็นเบาหวานก็ไม่ควรกินเยอะ หรือถ้าแพ้เกสรก็กินไม่ได้”

บำรุงสุขฟาร์ม ขายน้ำผึ้งเหมือนไวน์ มีน้ำผึ้ง 20 กว่าปี กว่า 130 รสชาติ ไม่มีหน้าร้าน ไม่ขายออนไลน์ แต่ลูกค้าเพียบ

Facebook | BUM RUNG SUUK artisan natural honey

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ