17 มิถุนายน 2020
10 K

17 มีนาคม ค.ศ. 2020 ประตูของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอน (The Natural History Museum) ได้ปิดลงอีกครั้งอย่างไม่มีกำหนดจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หลังจากที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ปิดไม่ให้เข้าชมจากเหตุสุดวิสัยครั้งล่าสุดคือสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

75 ปี มาแล้วนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1945 เป็นสงครามที่สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย ในภาวะสงครามทำให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในยุโรปปิดให้บริการ มีการขนย้ายวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไปซ่อนไว้ในที่ปลอดภัย ไม่เพียงแต่พิพิธภัณฑ์ในยุโรปเท่านั้น ความวุ่นวายนี้ยังส่งผลถึงพิพิธภัณฑ์ในอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกรุกรานโดยกองทัพญี่ปุ่นอีกด้วย 

แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอน

ที่สุดท้ายคือจุดเริ่มต้น

“PENINSULAR SIAM, NAKHON SRI TAMARAT, KHAO LUANG” 

ข้อความที่ปรากฏบนกระดาษแผ่นน้อยระบุที่มาของตัวอย่างผึ้งหึ่ง (Bumblebee) จำนวนหนึ่งที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอน ข้อความนี้ทำให้นักศึกษาปริญญาเอกที่พิพิธภัณฑ์และเป็นลูกหลานชาวสยามที่กำลังศึกษาวิจัยผึ้งกลุ่มนี้ใจเต้นอย่างประหลาด สงสัยว่าตัวอย่างนี้ข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองคอน สยามประเทศ มาสู่มหานครลอนดอนได้อย่างไร 

ตัวอย่างผึ้งนี้คงต้องเรียกว่าคุณทวด วันที่เก็บนั้นระบุไว้ว่าในช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1922 หรือเกือบ 100 ปีมาแล้ว ผู้เก็บ คือ H. M. Pendlebury คนนี้เขาคือใครกัน เป็นอีกคำถามที่ต้องหาคำตอบ คำใบ้คือกระดาษแผ่นน้อยอีกใบที่ระบุว่าผึ้งตัวนี้เคยเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายู (The Federated Malay States (F.M.S.) Museums) และข้อสังเกตสุดท้ายอีกหนึ่งอย่างคือเลขแรกเข้า (Accession Number) ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอน

โดยปกติแล้วตัวอย่างแมลง จะมีกระดาษแผ่นเล็กๆ (Label) ซึ่งระบุข้อมูลทั้งที่มา วันที่เก็บ ชื่อคนเก็บ หรือข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชื่อชนิดของตัวอย่างนั้น กระดาษเล็กๆ เหล่านี้จึงสำคัญมากต่อการศึกษา การวิจัยทางด้านอนุกรมวิธาน ธรรมชาติวิทยา รวมถึงทางประวัติศาสตร์อีกด้วย 

ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอนจะเพิ่มกระดาษที่ระบุเลขแรกเข้า นั่นคือเลข BM หรือ Brit. Mus. ซึ่งย่อมาจาก The British Museum หรือพิพิธภัณฑ์บริติช (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอนเคยเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์บริติช ก่อนแยกตัวออกมา ใน ค.ศ. 1963) เลขแรกเข้านี้เองที่ระบุ ค.ศ. ที่มีการเข้ามาเก็บในพิพิธภัณฑ์ เช่น “BM 1937-XX” หมายความว่าตัวอย่างนี้เข้ามาในมิวเซียมตอน ค.ศ. 1937 ส่วน XX จะแตกต่างกันไปตามการตามสำรวจหรือตัวอย่างที่เข้ามาพร้อมกัน ซึ่งใช้เลขตัวเดียวกันหมด 

ในปัจจุบันเนื่องจากตัวอย่างมีมากขึ้นและระบบจัดเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น มีเทคโนโลยีและฐานข้อมูล ทำให้พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอนมีการให้ตัวเลขใหม่ เรียกกว่า เลข NHMUK เป็นตัวเลข 9 หลัก พร้อมด้วยคิวอาร์โค้ด ซึ่งสะดวกต่อการเก็บข้อมูลในอนาคต หนึ่งตัวอย่างจะมีเลขเฉพาะเพียงหมายเลขเดียว 

ทีนี้เรากลับมาดูตัวอย่างผึ้งหึ่งจากนครศรีธรรมราชที่เก็บมาช่วงเวลาเดียวกัน พบว่ามีเลขแรกเข้าที่แตกต่างกัน นั่นคือ BM 1926 และ BM 1955 แสดงว่าตัวอย่างเหล่านี้ไม่ได้มาถึงพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอนในครั้งเดียว แล้วมันมาได้อย่างไร

แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
ตัวอย่างผึ้งหึ่งจากประเทศไทย

จากป่าฝนบนคาบสมุทรสยามสู่มาเลย์

บ่ายวัน 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922 ขบวนรถไฟขบวนหนึ่งจากปาดังเบซาร์ข้ามชายแดนสยามมุ่งหน้าสู่หาดใหญ่ รถไฟขบวนนั้นบรรทุกคณะนักสำรวจจากพิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายูและพิพิธภัณฑ์แรฟเฟิลส์ (The Raffles Museum) สิงคโปร์ ที่วางแผนมาสำรวจธรรมชาติบนคาบสมุทรแห่งนี้ 

หนึ่งในคณะนี้คือ เฮนรี่ มัวริซ เพนเดลเบอรี่ (Henry Maurice Pendlebury) นักกีฏวิทยาหนุ่มวัย 30 ชาวอังกฤษ ที่ถูกส่งมาประจำพิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายูผู้สนใจผีเสื้อ และเป็นทหารยศร้อยเอก (Captain) ผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 1 คณะสำรวจได้พักที่หาดใหญ่ก่อน และวันรุ่งขึ้นจึงออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังสถานที่ในการสำรวจครั้งนี้ ‘ทิวเขานครศรีธรรมราช’ 

เพนเดลเบอรี่และคณะสำรวจใช้เวลาในช่วงแรกของการสำรวจตลอดวันที่เหลือของเดือนกุมภาพันธ์ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทางกายภาพ ตัวอย่างแมลงและสิ่งมีชีวิต ในบริเวณอำเภอร่อนพิบูลย์ ร่วมกับคณะสำรวจก่อนหน้าจากกรุงเทพฯ นำโดย ดร.มัลคอล์ม สมิธ (Dr.Malcolm Smith) ผู้มาสำรวจสัตว์เลื้อยคลานในบริเวณนี้เช่นเดียวกัน 

เรือเป็นพาหนะหลักที่พาเพนเดลเบอรี่ล่องตามคลอง และเขาได้จดบันทึกสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นตลอดริมฝั่งคลอง ช่วงปลายเดือน คณะของ ดร.สมิธ ได้เดินทางกลับไปยังกรุงเทพฯ พร้อมด้วยคณะนักสำรวจจากพิพิธภัณฑ์แรฟเฟิลส์ จึงทำให้คณะที่เหลืออยู่มีขนาดเล็กลง

เมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม เพนเดลเบอรี่ตัดสินใจไปสำรวจบริเวณเขาหลวง ซึ่งถือได้ว่าเป็นยอดเขาสูงที่สุดของคาบสมุทรสยามแห่งนี้ ทางที่เหมาะสมที่สุดคือทางขึ้นวัดคีรีวง จุดเริ่มต้นของเขาอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช โดยเขาได้บันทึกไว้ว่า

“…ตัวเมืองประกอบไปด้วยถนนที่ยาวจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ โดยทางทิศใต้จะผ่านวัดใหญ่หรือวัดพระธาตุ…” 

เพนเดลเบอรี่ได้เดินชมกำแพงเมืองเก่าริมแม่น้ำ ในมุมนั้นเองเขาจึงสังเกตเห็นเขาหลวงเด่นตระหง่านอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง

เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อม ในวันที่ 10 มีนาคม เพนเดลเบอรี่ออกเดินทางจากตัวเมืองไปยังเส้นทางสู่วัดคีรีวง จุดเริ่มต้นของการเดินขึ้นเขาหลวง ตลอดทางขึ้นเขาเพนเดลเบอรี่พบทากดูดเลือดเป็นจำนวนมาก ด้วยหนทางที่ลำบากในการขึ้นถึงยอด จึงจำเป็นต้องค้างแรมเป็นระยะๆ พร้อมหยุดในแต่ละจุดพัก เพื่อเก็บตัวอย่างและจดบันทึกธรรมชาติที่ซับซ้อนของป่าฝนเขตร้อน

 วันที่ 16 มีนาคม เพนเดลเบอรี่และคณะได้ขึ้นถึงยอดของเขาหลวง สภาพอากาศไม่ค่อยเป็นใจมากนักเพราะมีฝนตกหนัก ยากต่อการเดินทาง พวกเขาเดินขึ้นไปจนถึงยอดเขาซึ่งปกคลุมด้วยหมอก เมื่อยืนอยู่บนที่สูงกว่า 1,800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทันใดนั้นเอง เพนเดลเบอรี่ได้พบผึ้งหึ่งสีดำจำนวนหนึ่ง

เพนเดลเบอรี่เดินทางลงจากเขาหลวงในวันที่ 3 เมษายน เขาใช้เวลาสำรวจบนเขาหลวงทั้งหมดเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน ขึ้นลงตามระดับความสูงต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มแมลงผีเสื้อที่เขาสนใจเป็นพิเศษ เพนเดลเบอรี่กลับถึงตัวเมืองนครฯ ในวันที่ 5 เมษายน และ 2 วันถัดมาจึงเดินทางออกจากเมืองพร้อมด้วยตัวอย่างที่เขาเก็บมาครั้งนี้ส่งกลับไปยังกัวลาลัมเปอร์ โดยที่เพนเดลเบอรี่ยังไม่รู้เลยว่าตัวอย่างผึ้งหึ่งที่เขาเก็บมาเป็นชนิดไหนกันแน่

แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
แผนที่การสำรวจของเพนเดลเบอรี่
ภาพ : Library and Archives, The Natural History Museum, London
แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
ทิวเขานครศรีธรรมราชและสภาพป่าดิบเขาที่ปกคลุม
ภาพ : จิรัฐิ สัตถาพร

จากพิพิธภัณฑ์ที่สลังงอร์สู่พิพิธภัณฑ์ที่เคนซิงตัน

เพนเดลเบอรี่กลับมาทำงานที่พิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายูหรือพิพิธภัณฑ์สลังงอร์ (The Selangor Museum) กัวลาลัมเปอร์ (ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1887) เมื่อตรวจผึ้งหึ่งที่เก็บมา เขาพบว่าผึ้งหึ่งตัวนี้น่าจะยังไม่ได้ตั้งชื่อ ใน ค.ศ. 1923 เขาจึงตีพิมพ์การค้นพบตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ผึ้งหึ่งตัวนี้ว่า Bombus discrepans หมายถึงผึ้งหึ่งที่มีลักษณะเด่นและแตกต่าง โดยตัวอย่างผึ้งหึ่งที่เขาเก็บมานั้นเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ 

ค.ศ. 1926 พิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายูเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ โดยจัดส่งตัวอย่างที่สำคัญเช่นตัวอย่างต้นแบบ (Types) ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์บริติช เพื่อการค้นคว้าวิจัยและง่ายต่อการเก็บรักษา จากนโยบายนี้ ตัวอย่างต้นแบบของผึ้งหึ่งที่เพนเดลเบอรี่ตั้งชื่อส่วนหนึ่งจึงข้ามน้ำข้ามทะเลมายังลอนดอนเป็นส่วนแรก

เวลาล่วงเลยไป เพนเดลเบอรี่ได้ออกสำรวจอีกหลายครั้ง เช่นที่เขาคินาบาลู (Mount Kinabalu) บนเกาะบอร์เนียว เป็นต้น และมีผลงานตีพิมพ์มากมาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับผีเสื้อบนคาบสมุทรมาเลย์ จากประสบการณ์ทำงานทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เมื่อ ค.ศ. 1938 ในวัย 45 ปี โดยเขาไม่รู้เลยว่าอีก 1 ปีต่อมา โลกได้ก้าวเข้าสู่ภาวะสงคราม และเขาคือผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คนสุดท้าย

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1939 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกคุกคามโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น ฝ่ายอักษะ สิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ฝ่ายสัมพันธมิตรในขณะนั้นย่อมตกเป็นที่เพ่งเล็งของญี่ปุ่นแน่นอน เพนเดลเบอรี่ในฐานะผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ต้องการรักษาตัวอย่างอันทรงคุณค่าเหล่านี้ ไม่ให้สูญสลายไปด้วยไฟและดินปืนของระเบิด 

เพนเดลเบอรี่จึงตัดสินใจขนย้ายหนังสือและตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาของพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญบางส่วน โดยเฉพาะตัวอย่างแมลงที่มีความเปราะบาง รวมถึงตัวอย่างผึ้งหึ่งส่วนที่เหลืออยู่กลับไปยังกระทรวงเกษตรของอังกฤษในกรุงลอนดอน (ก่อนที่ตัวอย่างจะโอนย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์บริติช เมื่อเปิดทำการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) 

เดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 เพนเดลเบอรี่ได้หนีออกมาจากมาเลเซียแต่ถูกกองทัพญี่ปุ่นจับที่ได้ที่สิงคโปร์ เขาตกเป็นเชลยสงครามร่วม 3 ปี เมื่อสงครามจบลง เพนเดลเบอรี่ไม่ได้กลับสู่มาตุภูมิ เขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลที่บังกาลอร์ อินเดีย ระหว่างทางที่เขากลับสู่อังกฤษด้วยวัย 52 ปี หนึ่งสัปดาห์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ในเดือนกันยายน ค.ศ.1945

อย่างที่เพนเดลเบอรี่กังวลเอาไว้ อาคารเก่าของพิพิธภัณฑ์ถูกทำลายลง จากความวุ่นวายในช่วงสงครามเนื่องด้วยปีกหนึ่งของอาคารเสียหายจากระเบิดที่ผิดพลาดจากทางฝั่งอเมริกา อาคารพิพิธภัณฑ์คล้ายกับอาคารหนึ่งที่กองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นฐานบัญชาการทำให้เกิดความเข้าใจผิด ระเบิดในครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับวัตถุบางส่วนในพิพิธภัณฑ์ จากนั้นวัตถุที่เหลือทั้งหมดที่ไม่เสียหายจึงถูกย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์เปรัก (The Perak Museum) เมืองไทปิง พิพิธภัณฑ์ในเครือของพิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายู เมื่อมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลมาเลเซียได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (The Muzium Negara) ขึ้น และเปิดทำการใน ค.ศ. 1963 จนมาถึงปัจจุบัน

แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
ตัวอย่างต้นแบบของผึ้งหึ่ง Bombus discrepans
แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติมาเลเซีย

บ้านหลังสุดท้าย

นักศึกษาปริญญาเอกละสายตาลง จากการอ่านประวัติของเพนเดลเบอรี่ จากไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอนส่งมาให้ทางอีเมล เอกสารเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาเกือบทุกมุมโลกเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดแห่งนี้ ตัวอย่างผึ้งหึ่งที่เขาได้ส่องใต้กล้องวันก่อนมีประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ รอคอยคนที่จะมาค้นหาและปะติดปะต่อเรื่องราวขึ้น 

ประวัติศาสตร์ที่แลกมาด้วยความกล้าหาญและเลือดของผู้ที่สูญเสียจากความรุนแรง ความขัดแย้ง จากสงคราม การเดินทางต่างกรรมต่างวาระของตัวอย่างชุดนี้ สุดท้ายก็กลับมาอยู่รวมกันที่นี่ บ้านหลังสุดท้ายของผึ้งหึ่งจากคาบสมุทรสยาม พิพิธภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งอันทรงคุณค่าไม่ให้สูญสลาย เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของนักธรรมชาติวิทยาอย่างเพนเดลเบอรี่ ให้คงอยู่ไม่หายไปกับร่างของเขาและกาลเวลา 

แม้ว่าในปัจจุบันชื่อผึ้งหึ่งที่เพนเดลเบอรี่ตั้งขึ้นจะเป็นชื่อซ้ำกับผึ้งหึ่งชนิดเดียวกับที่พบมาก่อนหน้านี้ ที่ชื่อว่า Bombus eximius ผึ้งหึ่งขาส้ม ที่พบทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะบนยอดดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ ก็ตาม แต่ตัวอย่างของเขาเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่บอกว่าผึ้งชนิดนี้ก็อาศัยอยู่บนภูเขาสูงในภาคใต้ของประเทศไทยได้เช่นกัน นักศึกษาปริญญาเอกคนนี้หวังว่า เมื่อจบปริญญาเอกแล้วจะได้ตามรอยสำรวจของเพนเดลเบอรี่ ซึ่งจะครบ 100 ปี ในอีก 2 ปีข้างหน้า 

แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
หนังสือในห้องสมุดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอน 
แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอน
แกะรอย Bumblebee ผึ้งสีดำ ในมิวเซียมลอนดอน ที่มาจากนครศรีธรรมราชเมื่อเกือบร้อยปีก่อน, The Natural History Museum
ผึ้งหึ่งบนดอยอินทนนท์ เชียงใหม่

ข้อมูลอ้างอิง

  • Carpenter, G. D. H. (1946) The President’s remarks. Proceedings of the Royal Entomological Society, London (C). 10, 51 – 57.
  • Pendlebury, H. M. (1923) An expedition to some hills in Nakon Sri Tamarat, Peninsular Siam. Journal of the Federated Malay States Museums. 11, 1 – 20.
  • Pendlebury, H. M. (1923) Four new species of Bombus from the Malay Peninsula. Journal of the Federated Malay States Museums. 11, 64 – 67.
  • Williams, P. H. (1998) An annotated checklist of bumble bees with an analysis of patterns of description (Hymenoptera: Apidae, Bombini). Bulletin of The Natural History Museum (Entomology). 67, 79 – 152. 
  • Low, M. E. Y. et al. (2019) 200 : points in Singapore’s natural history . Singapore: Lee Kong Chian Natural History Museum.
  • Tan, K. (2015) Of whales and dinosaurs : the story of Singapore’s Natural History Museum. Singapore: NUS Press.
  • www.nhm.ac.uk
  • www.bumblebeeconservation.org

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ชวธัช ธนูสิงห์

อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชื่นชอบพิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์ สอนวิชานิเวศวิทยาและวิจัยผึ้งเป็นหลัก