17 มีนาคม ค.ศ. 2020 ประตูของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอน (The Natural History Museum) ได้ปิดลงอีกครั้งอย่างไม่มีกำหนดจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หลังจากที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ปิดไม่ให้เข้าชมจากเหตุสุดวิสัยครั้งล่าสุดคือสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
75 ปี มาแล้วนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1945 เป็นสงครามที่สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย ในภาวะสงครามทำให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในยุโรปปิดให้บริการ มีการขนย้ายวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไปซ่อนไว้ในที่ปลอดภัย ไม่เพียงแต่พิพิธภัณฑ์ในยุโรปเท่านั้น ความวุ่นวายนี้ยังส่งผลถึงพิพิธภัณฑ์ในอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกรุกรานโดยกองทัพญี่ปุ่นอีกด้วย

ที่สุดท้ายคือจุดเริ่มต้น
“PENINSULAR SIAM, NAKHON SRI TAMARAT, KHAO LUANG”
ข้อความที่ปรากฏบนกระดาษแผ่นน้อยระบุที่มาของตัวอย่างผึ้งหึ่ง (Bumblebee) จำนวนหนึ่งที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอน ข้อความนี้ทำให้นักศึกษาปริญญาเอกที่พิพิธภัณฑ์และเป็นลูกหลานชาวสยามที่กำลังศึกษาวิจัยผึ้งกลุ่มนี้ใจเต้นอย่างประหลาด สงสัยว่าตัวอย่างนี้ข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองคอน สยามประเทศ มาสู่มหานครลอนดอนได้อย่างไร
ตัวอย่างผึ้งนี้คงต้องเรียกว่าคุณทวด วันที่เก็บนั้นระบุไว้ว่าในช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1922 หรือเกือบ 100 ปีมาแล้ว ผู้เก็บ คือ H. M. Pendlebury คนนี้เขาคือใครกัน เป็นอีกคำถามที่ต้องหาคำตอบ คำใบ้คือกระดาษแผ่นน้อยอีกใบที่ระบุว่าผึ้งตัวนี้เคยเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายู (The Federated Malay States (F.M.S.) Museums) และข้อสังเกตสุดท้ายอีกหนึ่งอย่างคือเลขแรกเข้า (Accession Number) ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอน
โดยปกติแล้วตัวอย่างแมลง จะมีกระดาษแผ่นเล็กๆ (Label) ซึ่งระบุข้อมูลทั้งที่มา วันที่เก็บ ชื่อคนเก็บ หรือข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชื่อชนิดของตัวอย่างนั้น กระดาษเล็กๆ เหล่านี้จึงสำคัญมากต่อการศึกษา การวิจัยทางด้านอนุกรมวิธาน ธรรมชาติวิทยา รวมถึงทางประวัติศาสตร์อีกด้วย
ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอนจะเพิ่มกระดาษที่ระบุเลขแรกเข้า นั่นคือเลข BM หรือ Brit. Mus. ซึ่งย่อมาจาก The British Museum หรือพิพิธภัณฑ์บริติช (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอนเคยเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์บริติช ก่อนแยกตัวออกมา ใน ค.ศ. 1963) เลขแรกเข้านี้เองที่ระบุ ค.ศ. ที่มีการเข้ามาเก็บในพิพิธภัณฑ์ เช่น “BM 1937-XX” หมายความว่าตัวอย่างนี้เข้ามาในมิวเซียมตอน ค.ศ. 1937 ส่วน XX จะแตกต่างกันไปตามการตามสำรวจหรือตัวอย่างที่เข้ามาพร้อมกัน ซึ่งใช้เลขตัวเดียวกันหมด
ในปัจจุบันเนื่องจากตัวอย่างมีมากขึ้นและระบบจัดเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น มีเทคโนโลยีและฐานข้อมูล ทำให้พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอนมีการให้ตัวเลขใหม่ เรียกกว่า เลข NHMUK เป็นตัวเลข 9 หลัก พร้อมด้วยคิวอาร์โค้ด ซึ่งสะดวกต่อการเก็บข้อมูลในอนาคต หนึ่งตัวอย่างจะมีเลขเฉพาะเพียงหมายเลขเดียว
ทีนี้เรากลับมาดูตัวอย่างผึ้งหึ่งจากนครศรีธรรมราชที่เก็บมาช่วงเวลาเดียวกัน พบว่ามีเลขแรกเข้าที่แตกต่างกัน นั่นคือ BM 1926 และ BM 1955 แสดงว่าตัวอย่างเหล่านี้ไม่ได้มาถึงพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอนในครั้งเดียว แล้วมันมาได้อย่างไร

จากป่าฝนบนคาบสมุทรสยามสู่มาเลย์
บ่ายวัน 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922 ขบวนรถไฟขบวนหนึ่งจากปาดังเบซาร์ข้ามชายแดนสยามมุ่งหน้าสู่หาดใหญ่ รถไฟขบวนนั้นบรรทุกคณะนักสำรวจจากพิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายูและพิพิธภัณฑ์แรฟเฟิลส์ (The Raffles Museum) สิงคโปร์ ที่วางแผนมาสำรวจธรรมชาติบนคาบสมุทรแห่งนี้
หนึ่งในคณะนี้คือ เฮนรี่ มัวริซ เพนเดลเบอรี่ (Henry Maurice Pendlebury) นักกีฏวิทยาหนุ่มวัย 30 ชาวอังกฤษ ที่ถูกส่งมาประจำพิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายูผู้สนใจผีเสื้อ และเป็นทหารยศร้อยเอก (Captain) ผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 1 คณะสำรวจได้พักที่หาดใหญ่ก่อน และวันรุ่งขึ้นจึงออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังสถานที่ในการสำรวจครั้งนี้ ‘ทิวเขานครศรีธรรมราช’
เพนเดลเบอรี่และคณะสำรวจใช้เวลาในช่วงแรกของการสำรวจตลอดวันที่เหลือของเดือนกุมภาพันธ์ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทางกายภาพ ตัวอย่างแมลงและสิ่งมีชีวิต ในบริเวณอำเภอร่อนพิบูลย์ ร่วมกับคณะสำรวจก่อนหน้าจากกรุงเทพฯ นำโดย ดร.มัลคอล์ม สมิธ (Dr.Malcolm Smith) ผู้มาสำรวจสัตว์เลื้อยคลานในบริเวณนี้เช่นเดียวกัน
เรือเป็นพาหนะหลักที่พาเพนเดลเบอรี่ล่องตามคลอง และเขาได้จดบันทึกสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นตลอดริมฝั่งคลอง ช่วงปลายเดือน คณะของ ดร.สมิธ ได้เดินทางกลับไปยังกรุงเทพฯ พร้อมด้วยคณะนักสำรวจจากพิพิธภัณฑ์แรฟเฟิลส์ จึงทำให้คณะที่เหลืออยู่มีขนาดเล็กลง
เมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม เพนเดลเบอรี่ตัดสินใจไปสำรวจบริเวณเขาหลวง ซึ่งถือได้ว่าเป็นยอดเขาสูงที่สุดของคาบสมุทรสยามแห่งนี้ ทางที่เหมาะสมที่สุดคือทางขึ้นวัดคีรีวง จุดเริ่มต้นของเขาอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช โดยเขาได้บันทึกไว้ว่า
“…ตัวเมืองประกอบไปด้วยถนนที่ยาวจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ โดยทางทิศใต้จะผ่านวัดใหญ่หรือวัดพระธาตุ…”
เพนเดลเบอรี่ได้เดินชมกำแพงเมืองเก่าริมแม่น้ำ ในมุมนั้นเองเขาจึงสังเกตเห็นเขาหลวงเด่นตระหง่านอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง
เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อม ในวันที่ 10 มีนาคม เพนเดลเบอรี่ออกเดินทางจากตัวเมืองไปยังเส้นทางสู่วัดคีรีวง จุดเริ่มต้นของการเดินขึ้นเขาหลวง ตลอดทางขึ้นเขาเพนเดลเบอรี่พบทากดูดเลือดเป็นจำนวนมาก ด้วยหนทางที่ลำบากในการขึ้นถึงยอด จึงจำเป็นต้องค้างแรมเป็นระยะๆ พร้อมหยุดในแต่ละจุดพัก เพื่อเก็บตัวอย่างและจดบันทึกธรรมชาติที่ซับซ้อนของป่าฝนเขตร้อน
วันที่ 16 มีนาคม เพนเดลเบอรี่และคณะได้ขึ้นถึงยอดของเขาหลวง สภาพอากาศไม่ค่อยเป็นใจมากนักเพราะมีฝนตกหนัก ยากต่อการเดินทาง พวกเขาเดินขึ้นไปจนถึงยอดเขาซึ่งปกคลุมด้วยหมอก เมื่อยืนอยู่บนที่สูงกว่า 1,800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทันใดนั้นเอง เพนเดลเบอรี่ได้พบผึ้งหึ่งสีดำจำนวนหนึ่ง
เพนเดลเบอรี่เดินทางลงจากเขาหลวงในวันที่ 3 เมษายน เขาใช้เวลาสำรวจบนเขาหลวงทั้งหมดเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน ขึ้นลงตามระดับความสูงต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มแมลงผีเสื้อที่เขาสนใจเป็นพิเศษ เพนเดลเบอรี่กลับถึงตัวเมืองนครฯ ในวันที่ 5 เมษายน และ 2 วันถัดมาจึงเดินทางออกจากเมืองพร้อมด้วยตัวอย่างที่เขาเก็บมาครั้งนี้ส่งกลับไปยังกัวลาลัมเปอร์ โดยที่เพนเดลเบอรี่ยังไม่รู้เลยว่าตัวอย่างผึ้งหึ่งที่เขาเก็บมาเป็นชนิดไหนกันแน่

ภาพ : Library and Archives, The Natural History Museum, London




ภาพ : จิรัฐิ สัตถาพร
จากพิพิธภัณฑ์ที่สลังงอร์สู่พิพิธภัณฑ์ที่เคนซิงตัน
เพนเดลเบอรี่กลับมาทำงานที่พิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายูหรือพิพิธภัณฑ์สลังงอร์ (The Selangor Museum) กัวลาลัมเปอร์ (ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1887) เมื่อตรวจผึ้งหึ่งที่เก็บมา เขาพบว่าผึ้งหึ่งตัวนี้น่าจะยังไม่ได้ตั้งชื่อ ใน ค.ศ. 1923 เขาจึงตีพิมพ์การค้นพบตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ผึ้งหึ่งตัวนี้ว่า Bombus discrepans หมายถึงผึ้งหึ่งที่มีลักษณะเด่นและแตกต่าง โดยตัวอย่างผึ้งหึ่งที่เขาเก็บมานั้นเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ค.ศ. 1926 พิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายูเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ โดยจัดส่งตัวอย่างที่สำคัญเช่นตัวอย่างต้นแบบ (Types) ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์บริติช เพื่อการค้นคว้าวิจัยและง่ายต่อการเก็บรักษา จากนโยบายนี้ ตัวอย่างต้นแบบของผึ้งหึ่งที่เพนเดลเบอรี่ตั้งชื่อส่วนหนึ่งจึงข้ามน้ำข้ามทะเลมายังลอนดอนเป็นส่วนแรก
เวลาล่วงเลยไป เพนเดลเบอรี่ได้ออกสำรวจอีกหลายครั้ง เช่นที่เขาคินาบาลู (Mount Kinabalu) บนเกาะบอร์เนียว เป็นต้น และมีผลงานตีพิมพ์มากมาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับผีเสื้อบนคาบสมุทรมาเลย์ จากประสบการณ์ทำงานทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เมื่อ ค.ศ. 1938 ในวัย 45 ปี โดยเขาไม่รู้เลยว่าอีก 1 ปีต่อมา โลกได้ก้าวเข้าสู่ภาวะสงคราม และเขาคือผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คนสุดท้าย
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1939 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกคุกคามโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น ฝ่ายอักษะ สิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ฝ่ายสัมพันธมิตรในขณะนั้นย่อมตกเป็นที่เพ่งเล็งของญี่ปุ่นแน่นอน เพนเดลเบอรี่ในฐานะผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ต้องการรักษาตัวอย่างอันทรงคุณค่าเหล่านี้ ไม่ให้สูญสลายไปด้วยไฟและดินปืนของระเบิด
เพนเดลเบอรี่จึงตัดสินใจขนย้ายหนังสือและตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาของพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญบางส่วน โดยเฉพาะตัวอย่างแมลงที่มีความเปราะบาง รวมถึงตัวอย่างผึ้งหึ่งส่วนที่เหลืออยู่กลับไปยังกระทรวงเกษตรของอังกฤษในกรุงลอนดอน (ก่อนที่ตัวอย่างจะโอนย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์บริติช เมื่อเปิดทำการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2)
เดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 เพนเดลเบอรี่ได้หนีออกมาจากมาเลเซียแต่ถูกกองทัพญี่ปุ่นจับที่ได้ที่สิงคโปร์ เขาตกเป็นเชลยสงครามร่วม 3 ปี เมื่อสงครามจบลง เพนเดลเบอรี่ไม่ได้กลับสู่มาตุภูมิ เขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลที่บังกาลอร์ อินเดีย ระหว่างทางที่เขากลับสู่อังกฤษด้วยวัย 52 ปี หนึ่งสัปดาห์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ในเดือนกันยายน ค.ศ.1945
อย่างที่เพนเดลเบอรี่กังวลเอาไว้ อาคารเก่าของพิพิธภัณฑ์ถูกทำลายลง จากความวุ่นวายในช่วงสงครามเนื่องด้วยปีกหนึ่งของอาคารเสียหายจากระเบิดที่ผิดพลาดจากทางฝั่งอเมริกา อาคารพิพิธภัณฑ์คล้ายกับอาคารหนึ่งที่กองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นฐานบัญชาการทำให้เกิดความเข้าใจผิด ระเบิดในครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับวัตถุบางส่วนในพิพิธภัณฑ์ จากนั้นวัตถุที่เหลือทั้งหมดที่ไม่เสียหายจึงถูกย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์เปรัก (The Perak Museum) เมืองไทปิง พิพิธภัณฑ์ในเครือของพิพิธภัณฑ์สหพันธรัฐมลายู เมื่อมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลมาเลเซียได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (The Muzium Negara) ขึ้น และเปิดทำการใน ค.ศ. 1963 จนมาถึงปัจจุบัน




บ้านหลังสุดท้าย
นักศึกษาปริญญาเอกละสายตาลง จากการอ่านประวัติของเพนเดลเบอรี่ จากไฟล์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาลอนดอนส่งมาให้ทางอีเมล เอกสารเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยาเกือบทุกมุมโลกเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดแห่งนี้ ตัวอย่างผึ้งหึ่งที่เขาได้ส่องใต้กล้องวันก่อนมีประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ รอคอยคนที่จะมาค้นหาและปะติดปะต่อเรื่องราวขึ้น
ประวัติศาสตร์ที่แลกมาด้วยความกล้าหาญและเลือดของผู้ที่สูญเสียจากความรุนแรง ความขัดแย้ง จากสงคราม การเดินทางต่างกรรมต่างวาระของตัวอย่างชุดนี้ สุดท้ายก็กลับมาอยู่รวมกันที่นี่ บ้านหลังสุดท้ายของผึ้งหึ่งจากคาบสมุทรสยาม พิพิธภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งอันทรงคุณค่าไม่ให้สูญสลาย เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของนักธรรมชาติวิทยาอย่างเพนเดลเบอรี่ ให้คงอยู่ไม่หายไปกับร่างของเขาและกาลเวลา
แม้ว่าในปัจจุบันชื่อผึ้งหึ่งที่เพนเดลเบอรี่ตั้งขึ้นจะเป็นชื่อซ้ำกับผึ้งหึ่งชนิดเดียวกับที่พบมาก่อนหน้านี้ ที่ชื่อว่า Bombus eximius ผึ้งหึ่งขาส้ม ที่พบทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะบนยอดดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ ก็ตาม แต่ตัวอย่างของเขาเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่บอกว่าผึ้งชนิดนี้ก็อาศัยอยู่บนภูเขาสูงในภาคใต้ของประเทศไทยได้เช่นกัน นักศึกษาปริญญาเอกคนนี้หวังว่า เมื่อจบปริญญาเอกแล้วจะได้ตามรอยสำรวจของเพนเดลเบอรี่ ซึ่งจะครบ 100 ปี ในอีก 2 ปีข้างหน้า



ข้อมูลอ้างอิง
- Carpenter, G. D. H. (1946) The President’s remarks. Proceedings of the Royal Entomological Society, London (C). 10, 51 – 57.
- Pendlebury, H. M. (1923) An expedition to some hills in Nakon Sri Tamarat, Peninsular Siam. Journal of the Federated Malay States Museums. 11, 1 – 20.
- Pendlebury, H. M. (1923) Four new species of Bombus from the Malay Peninsula. Journal of the Federated Malay States Museums. 11, 64 – 67.
- Williams, P. H. (1998) An annotated checklist of bumble bees with an analysis of patterns of description (Hymenoptera: Apidae, Bombini). Bulletin of The Natural History Museum (Entomology). 67, 79 – 152.
- Low, M. E. Y. et al. (2019) 200 : points in Singapore’s natural history . Singapore: Lee Kong Chian Natural History Museum.
- Tan, K. (2015) Of whales and dinosaurs : the story of Singapore’s Natural History Museum. Singapore: NUS Press.
- www.nhm.ac.uk
- www.bumblebeeconservation.org
Write on The Cloud
Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ และเบอร์โทรติดต่อ มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งหมวกรุ่นพิเศษจาก Calm Outdoors แบรนด์แฟชั่นสายแคมป์แบรนด์แรกของไทยที่ทำเสื้อผ้าตอบโจทย์คนเมืองแต่ใจลอยไปอยู่ในป่า ซึ่งสกรีนลวดลายพิเศษที่ไม่มีจำหน่ายที่ไหนให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ