ช่วงนี้ฝนตกบ่อย

ผมนั่งจิบกาแฟรอเพื่อนอยู่หน้าบ้านแล้วเหม่อมองสวนไปพลางๆ บรรยากาศหลังฝนหยุดหมาดๆ มีกลิ่นไอความชื้น มีละอองฝนเล็กๆ ที่โปรยมาสาย 

“ไม่ทันแล้วน้อง พวกเม็ดใหญ่ๆ เขาตกกันไปหมดแล้ว” 

“โธ่ พี่ ก็น้องตัวเบานี่ โดนลมเป่าทีก็ปลิวไปปลิวมา กว่าจะลงมาถึงพื้นได้” ละอองฝนแก้ตัว ก่อนจะลอยลงเกาะบนใบสีเขียวสดของดงสะระแหน่ที่แม่ปลูกคลุมดินหน้าบ้านไว้ราวกับสนามหญ้า 

จริงๆ มันไม่ใช่สะระแหน่หรอก แต่ใบมันเหมือนมาก ผมก็ไม่รู้แม่เอามาจากไหนเหมือนกัน รู้แต่เห็นมันมาตั้งแต่เด็กแล้ว บนพรมสะระแหน่มีเฟิร์นเตี้ยๆ ขึ้นแซมเป็นหย่อมๆ แม่ชอบสวนสไตล์นี้ที่มีความเป็นป่าหน่อย และชอบเฟิร์นมากกกกกกก ช่วงหลังๆ ผมเองก็บ้าปลูกต้นไม้ ทุกโอกาสพิเศษเช่นสงกรานต์หรือวันเกิด ผมก็จะเอาใจแม่ด้วยการหาเฟิร์นต้นใหญ่ๆ มาปลูกให้แม่ชื่นชมตรงสวนหน้าบ้านนี่แหละ ล่าสุด ได้ ‘อุ้งตีนหมี’ มาต้นหนึ่ง เป็นเฟิร์นที่มีลำต้นอวบใหญ่ ตั้งตรง ชูชัน สูงประมาณเท่าหัวผมได้ และปกคลุมด้วยขนดกดำรุงรังอันเป็นที่มาของชื่อ ผมนั่งมองขนสีดำของพี่หมีตัดกับใบสีเขียวสดของน้องสะระแหน่ แล้วรู้สึกสดชื่นสายตาดีแท้

แค่นี้การชมสวนก็ชิลล์มากแล้ว แต่บรรยากาศน่าสนใจขึ้นอีก ด้วยแมลงปีกสีดำขนาดประมาณแมลงปอตัวเล็กๆ จำนวนเยอะพอสมควร คอยบินวนไปวนมาช้าๆ ในระดับไล่เรี่ยยอดเฟิร์นและพรมสะระแหน่ เหมือนเติมความเคลื่อนไหวให้ภาพนิ่ง เปล่า มันไม่ใช่แมลงสาบ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นผมคงไม่ชิลล์แล้ว พวกมันคือแมลงเม่า เหล่าความหวังของหมู่บ้านปลวกที่ส่งหนุ่มสาวรุ่นใหม่ออกมาโบยบินหาแฟนยามหลังฝนตก 

ปกติผมมักเห็นแมลงเม่าเฉพาะตอนกลางคืน เวลาพวกมันมาตอมไฟ ซึ่งมาทีเป็นกองทัพ แถมชอบลอดรูมุ้งลวดเข้ามาในบ้านอีก น่ารำคาญใช้ได้ แต่รอบนี้พอเห็นตอนกลางวัน แถมยังออกมาในปริมาณที่พอเหมาะ ผมว่าก็เป็นภาพที่สวยแปลกตาดีเหมือนกันนะ แอบชอบการกระพือปีกของมันที่เฟรมเรทต่ำเมื่อเทียบกับแมลงอื่น ถ้าเป็นผึ้ง แมลงวัน หรือแมลงปอ ตอนบินปีกมันจะขยับเร็วจนเบลอไปเลย แต่แมลงเม่านี่สายตาเรายังพอจับจังหวะการตีปีกได้ แถมปีกของมันยังบอบบางหลุดง่ายยิ่งกว่าปีกนางฟ้าวิคตอเรียซีเคร็ตเสียอีก ช่างเป็นแมลงตัวแทนของความอ่อนแอ อ้อยอิ่ง น่าเอาใจช่วยให้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จยิ่งนัก แต่ขณะเดียวกัน โตมามันไม่น่ากินบ้านกูเลย

ต่อจากซีนแมลงเม่า ผมก็เริ่มสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวบางอย่างบนพื้นดิน เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่แบบดุ๊กดิ๊กๆ แต่เป็นแบบกระดึ๊บๆ และก็ไม่ใช่กระดึ๊บแบบต่อเนื่องเหมือนหนอนหรือหอยทาก แต่เป็นกระดึ๊บแบบว่องไวแล้วหยุด กระดึ๊บ แล้วหยุด กระดึ๊บ แล้วหยุด มันคือคางคกนั่นเอง 

น้องคางคกตัวเล็กๆ ค่อยๆ โดดโผล่ออกมาจากซอกมุมต่างๆ แล้วกระดึ๊บข้ามบริเวณโล่งของสวนซึ่งปูด้วยศิลาแลง เพื่อมุ่งหน้าไปแสวงบุญยังโซนพรมสะระแหน่ ตอนแรกๆ ผมเห็นแค่สองสามตัว ก็รู้สึกว่าน่ารักดี แต่สักพักเริ่มเห็นออกมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนผ่านไป 5 นาทีผมว่าน่าจะถึง 20 ตัวได้ แถมยังมีความหลากหลายด้านขนาด ตั้งแต่คกเล็กเท่าปลายนิ้วก้อย ไปจนถึงคกใหญ่เท่ากำปั้น ผมตะลึงว่าปกติไอ้พวกนี้มันนอนซ่อนกันอยู่ตรงไหนของบ้าน จะอย่างไรก็ตาม จากอารมณ์ชิลล์ๆ ตอนนี้เริ่มกลายเป็นตื่นเต้นแล้ว ดนตรีจูแรสสิกปาร์กเริ่มบรรเลงในหัว คางคกทุกเพศทุกวัยจากทุกสารทิศกรูต่างกันเข้าไปหาเหล่าแมลงเม่าตัวเป้งๆ ราวกับมีบุฟเฟต์เจ้าดังมาเปิดสาขาวันแรกแล้วประกาศให้กินฟรีแถวบ้าน 

ท่ามกลางดงสีเขียวสดของสะระแหน่ อุ้งตีนดำของเฟิร์นพี่หมี และปีกเฟรมเรทต่ำที่จะหลุดมิหลุดแหล่ของเหล่าแมลงเม่า เหล่าคางคกเริงร่ากระโดดผลุบโผล่ ตรงนู้นที ตรงนี้ที คางคกเริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ แมลงเม่าเริ่มลดลงเรื่อยๆ ผมนั่งมองฉากที่เกิดขึ้นตรงหน้าอย่างเพลิดเพลิน นี่มันซีนอะไรของมันวะเนี่ย 

โชคดีที่เพื่อนผมมาช้า ทำให้มีเวลาจินตนาการต่ออีก ผมนึกภาพในหัวว่า ถ้าเป็นฉากแบบนี้แต่เป็นยุคดึกดำบรรพ์จะเป็นยังไง หลายคนอาจจะเคยรู้อยู่แล้วว่าแมลงสมัยก่อนตัวใหญ่มาก ผมไม่รู้ว่าแมลงเม่าใหญ่สุดได้แค่ไหน แต่ถ้าเป็นกลุ่มแมลงปอ มีหลักฐานฟอสซิลบอกว่าชนิดใหญ่สุดกางปีกแล้วกว้าง 75 เซ็นติเมตร (ชื่อสปีชีส์ Meganeuropsis permiana) ส่วนลำตัวก็ให้นึกภาพประมาณตะบองจราจรที่เอาไว้ใช้โบกรถ ลองจินตนาการพวกนี้บินว่อนหลังฝนตก 

Meganeuropsis

ถ้าแมลงปอตัวใหญ่อีปิกขนาดนี้แล้ว คางคกที่จะมากินมันต้องตัวใหญ่อีปิกขนาดไหน ผมจำได้ว่าเคยอ่านข่าวเกี่ยวกับการค้นพบฟอสซิลกบที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มันอาจไม่ใช่คางคก (สกุล Bufo) เสียทีเดียว แต่เอาเป็นว่าในบรรดาสัตว์ตระกูลกบ เขียด ปาด อึ่งอ่าง คางคก จงโคร่ง โจ๋งครึ่ม อะไรก็แล้วแต่ เจ้ากบดึกดำบรรพ์ตัวนี้แหละใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยพบมา มันมีความยาวจากหัวถึงรูตูดประมาณ 42 เซ็นติเมตร ยังไม่นับขา พูดง่ายๆ ก็คือตัวประมาณเท่าโถส้วมได้ ยิ่งคำบรรยายบอกปากมันกว้างมาก ยิ่งนึกภาพการเปิดปิดของฝาโถ เจ้ากบยักษ์นี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Beelzebufo ampinga สมญากบปีศาจ (Devil Frog) เคยมีชีวิตอยู่สมัยปลายยุคครีเตเชียส (65 ล้านปีก่อน) ช่วงที่ไดโนเสาร์กำลังใกล้จะสูญพันธุ์พอดี และนักวิทย์สันนิษฐานด้วยว่ามันอาจกินลูกไดโนเสาร์เป็นอาหาร โดยการงับกลืนคำเดียวทั้งตัว 

Beelzebufo ampinga สมญากบปีศาจ (Devil Frog
Beelzebufo ampinga สมญากบปีศาจ (Devil Frog

อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบแล้วเจ้าแมลงปอยักษ์ของเราเป็นสัตว์จากยุคเปอร์เมียน (275 ล้านปีก่อน) ซึ่งโลกยังไม่ทันมีไดโนเสาร์ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ในความเป็นจริงแล้ว กบยักษ์กับแมลงปอยักษ์คงไม่มีโอกาสได้มาเจอกัน ฮือ แต่โชคดีที่สวนในจินตนาการผมไม่ต้องสมจริงขนาดนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้น คิดต่อ เหลืออีกองค์ประกอบเดียวซีนอีปิกของผมก็จะสมบูรณ์แล้ว 

ผมอยากรู้ว่าทรีเฟิร์นแบบอุ้งตีนหมีในยุคดึกดำบรรพ์ใหญ่สุดได้ขนาดไหน ผลการหาข้อมูลทำให้แปลกใจพอสมควร เพราะต้นเฟิร์นที่สูงที่สุดกลับกลายเป็นเฟิร์นในปัจจุบันไม่ใช่เฟิร์นดึกดำบรรพ์ นั่นก็คือ Sphaeropteris excelsa เฟิร์นยักษ์สูง 20 เมตร ซึ่งขึ้นอยู่ที่เกาะนอร์ฟอล์ก ตรงประมาณกึ่งกลางระหว่างออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ (ผมรู้แล้วว่าของขวัญวันเกิดแม่ปีหน้าจะให้อะไร) 

เอาล่ะ เกร็ดความรู้แค่นี้พอ สรุป เราเซ็ตฉากด้วยป่าเฟิร์นยักษ์ยามหลังฝนตก ทุกอย่างเขียวชอุ่ม จินตนาการว่าเราค่อยๆ เดินย่างเข้าไปแล้วหันมองรอบๆ แมลงปอยักษ์ออกโบยบินเป็นร้อยๆ ตัว เสียงกระพือปีกของพวกมันดังกระหึ่ม สักพัก เสียง โอบบบ… โอบบบ… ดังก้องมาจากไกลๆ แอ่งน้ำขังที่นองอยู่บนพื้นสั่นกระเพื่อมเป็นวงคลื่น กบยักษ์จำนวนหลายสิบตัวกระโดดเข้าฉาก พวกมันอ้าปากกว้างไล่งับกินแมลงปออย่างตะกละตะกลาม แมลงปอหลายตัวว่องไวใช่เล่น บินหลบไปเกาะบนพุ่มไม้บ้าง บนโขดหินบ้าง แต่ทันทีที่มันนอนใจ พุ่มไม้และโขดหินก็อ้าปากเผยให้เห็นลิ้นสีชมพู ที่แท้กบพวกนี้พรางตัวได้ แมลงปอจะบินหนีแต่สายไปเสียแล้ว กบยักษ์ตวัดลิ้นงับปากอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ สิ่งสุดท้ายที่แมลงปอได้สัมผัสคือความตายสีชมพู 

ทว่า ทันใดนั้นเอง ความเคลื่อนไหวสีส้มก็ปลุกผมตื่นจากภวังค์ กลับมาที่โลกแห่งความเป็นจริงหน้าบ้าน มีกิ้งก่าสีอมส้มตัวหนึ่งอยู่ดีๆ ก็โผล่มาจากไหนไม่รู้ ไต่ดุ๊กๆๆๆ ขึ้นไปบนลำต้นของอุ้งตีนหมี สีส้มของมันตัดกับสีดำของขนหมีอย่างดรามาติก จากนั้นมันก็ไปหยุดเกาะโพสต์ท่าสง่างามอยู่ตรงใกล้ๆ ยอด นับเป็นช็อตฟินาเล่ปิดฉากที่อีปิกมากๆ ถ้าเป็นในซีนสมมติของผมก็คงเป็นไดโนเสาร์หรือกิ้งก่ายักษ์สักตัวไต่ขึ้นเฟิร์นยักษ์ไป แล้วหันหน้าอ้าปากคำราม กล้องแพนลงมาเห็นวิวทั้งฉากจากมุมสูง (คิวเพลงจูแรสสิกปาร์ก) 

ทันใดนั้นเอง ความเคลื่อนไหวสีขาวดำก็ปลุกผมตื่นจากภวังค์ในภวังค์ 

“ไอ้อุน มาหน้าบ้านได้ไงฟะเนี่ย!” 

อุนจิคือหมาไซบีเรียนฮัสกี้ซึ่งปกติห้ามออกมาหน้าบ้านเด็ดขาด เพราะมันชอบทำลายต้นไม้ แถมเคยมีประวัติอมคางคก คงมีคนลืมปิดประตูกั้น ไอ้อุนโผล่หน้าออกมายืนโพสต์ท่าสง่าท่ามกลางเฟิร์นอุ้งตีน มวลหมู่แมลงเม่า และคางคกพุงกาง ผมต้องรีบลุกไปพามันกลับเข้าหลังบ้าน ความชิลล์ของวันนั้นจบลง (คิวเพลงจูแรสสิกปาร์ก)  

ไซบีเรียนฮัสกี้
ไซบีเรียนฮัสกี้

Writer

Avatar

แทนไท ประเสริฐกุล

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ผู้เคยผ่านทั้งช่วงอ้วนและช่วงผอมของชีวิต ชอบเรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าจะผ่านงานเขียน งานแปล และงานคุยในรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า WiTcast