อากาศร้อนเฆี่ยนตีจนผมรู้สึกแสบไปทั้งตัวในระหว่างที่เดินผ่านประตูใหญ่ ก่อนจะผ่านส่วนโรงเรือนเลี้ยงสัตว์เพื่อเข้าไปยังด้านในสุดของ ‘สอนศิริฟาร์มควายไทย’ เพื่อพบเจอกับคนที่นัดหมายไว้

หลังจากเดินเข้าไปถึงตัวบ้าน เจ้าของบ้านเชื้อเชิญให้นั่งในห้องปรับอากาศเย็นสบายและหยิบเครื่องดื่มเย็นๆ มาวางตรงหน้า ก่อนเชื้อเชิญให้เราได้ลองดื่ม

“ไม่เคยทานใช่ไหม ลองดูๆ” เสียงคะยั้นคะยอเอ่ยขึ้น ตรงหน้าเรานั้นคือ นมควายสดแช่เย็นเจี๊ยบ

สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว แค่ได้ยินชื่อนมควายก็คงรู้สึกไม่คุ้นหูเท่าไหร่นักเพราะในท้องตลาดนั้นเต็มไปด้วยนมวัวตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เราแทบนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่ายังมีนมชนิดอื่นที่กินได้อยู่

สอนศิริฟาร์ม, นมควาย

ยอมรับว่าตัวผมเองก็ไม่ต่างกับคนอื่นๆ ที่เมื่อได้ยินว่านมควายก็แอบเบือนหน้าหนี เพราะความรู้สึกว่าสกปรกหรือไม่ก็รู้สึกเหม็นสาบ แต่หลังจากที่ผมจิบนมสดเย็นตรงหน้าหมดแก้ว ความคิดก็เปลี่ยนไป

นมควายตรงหน้านั้นไม่มีกลิ่นสาบหรือกลิ่นคาวใดๆ ตรงกันข้าม กลับมีกลิ่นหอม รสหวานมัน แม้แต่ตอนที่กลืนลงไปแล้วก็ยังคงมีกลิ่นหอมหวานลอยอบอวลอยู่ในลำคอ

นอกจากนมสดแล้วยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ อีกทั้งไอติม โยเกิร์ต และชีสนมควายอีกด้วย ถ้าหลายคนยังคงรู้สึกสงสัยและไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์นมควายอยู่ล่ะก็ ผมก็ขอยืนยันอีกครั้งว่ามันไม่มีกลิ่นแบบนั้นจริงๆ ทำให้นึกถึงเวลาที่กินพิซซ่าเพราะชีสมอซซาเรลลายืดๆ เหนียวๆ บนหน้าพิซซ่านั้นต้นตำรับจริงๆ ทำมาจากนมควายไม่ใช่นมวัว

และนี่คือสาเหตุที่ทำให้วันนี้ผมเดินทางมายังสอนศิริฟาร์มนมควายไทยที่จังหวัดปราจีนบุรี และคนตรงหน้าผมก็คือ คุณเอก-พรหมพิริยะ สอนศิริ ผู้ก่อตั้งสอนศิริฟาร์มนมควายไทย และนายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย ผู้ริเริ่มรีดและแปรรูปนมควายไทยเป็นเจ้าแรกในประเทศ จากผู้ทำฟาร์มวัว ก่อนจะเปลี่ยนมาทำฟาร์มควาย และจากการเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ขาย อะไรทำให้เขามาเริ่มต้นรีดนมควายแบบนี้กันได้ เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

ความวัวหาย ความควายเข้ามาแทรก

เอกเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังก่อนจะมาเลี้ยงควายว่าตัวเองเคยทำฟาร์มเพาะเลี้ยงและจำหน่ายพันธุ์วัวมาก่อน แต่เมื่อเลี้ยงไปได้ระยะหนึ่งก็พบว่าวัวหลากหลายสายพันธุ์นั้นมีถิ่นกำเนิดจากประเทศเมืองหนาว จึงไม่ทนต่ออาหารและสภาพอากาศเมืองร้อนของบ้านเรา ทำให้วัวนั้นเจ็บป่วยและเป็นโรคค่อนข้างมาก จนเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องลงทุนมากมายทั้งด้านอาหารและยาเพื่อให้ได้วัวที่มีคุณภาพ แต่ก็ถูกกดราคาจากผู้รับซื้อทำให้ขายได้กำไรน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ลงทั้งเงินและแรงลงไป จึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเลี้ยงควายไทยควบคู่กับวัวแทนเพื่อทดลองดูความแตกต่าง ก่อนจะพบว่าควายไทยเลี้ยงง่ายกว่าจริงๆ จึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเลี้ยงควายแทนทั้งหมด

สอนศิริฟาร์ม, นมควาย
สอนศิริฟาร์ม, นมควาย

“ควายไทยเป็นสัตว์เลี้ยงที่อดทนมาก เพราะเป็นสัตว์ที่เกิดในไทยเลยชินกับอากาศและสิ่งแวดล้อมของบ้านเรา ต่างกับวัวที่เกิดในย่านอื่นอย่างยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย พอเราเอามาเลี้ยงในไทยที่มีอากาศแตกต่างจากแหล่งกำเนิดก็จะป่วยบ่อย เป็นโรคง่าย

“เวลาฝนตกใหม่ๆ มีหญ้าอ่อนๆ ขึ้น บางตัวไปกินหญ้าอ่อนเข้าซึ่งเป็นส่วนที่มีสารอาหารไม่สมดุลกับในตัววัวก็ทำให้ล้มตายไปเลยก็มี ต่างกับควายไทยที่นอกจากจะทนกว่าแล้วยังฉลาดและเชื่องเป็นที่สุด” เอกเล่าให้ฟังถึงสาเหตุการเปลี่ยนจากวัวมาเลี้ยงควายไทยแทน และการเริ่มต้นเลี้ยงควายของเอกนั้นก็เอาจริงเอาจังมากซะจนมีการไปตามหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีคุณลักษณะที่ดีจากหลากหลายที่ ก่อนจะค่อยๆ เลี้ยงดูและพัฒนาสายพันธุ์ จนกระทั่งเอกมีพ่อพันธุ์ควายที่ชนะการประกวดหลายเวทีอยู่ 2 ตัว ซึ่งค่าตัวของพ่อพันธุ์ทั้งสองตัวนี้นั้นมีราคาหลักหลายล้านบาทเลยทีเดียว

ฟังดูยังห่างไกลจากการมาทำนมควายเลยนะครับ

สอนศิริฟาร์ม, นมควาย
สอนศิริฟาร์ม, นมควาย

หลังจากที่มีแม่ควายตกลูกมาตัวหนึ่ง แล้วเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ลูกควายตัวนั้นตายไป ผู้ที่ไม่เคยเลี้ยงวัวนมควายนมมาก่อนอาจจะไม่รู้ แต่เวลาที่น้ำนมเหลือค้างเต้าอยู่จะทำให้เกิดอันตรายกับสัตว์เหล่านั้นได้ เพราะน้ำนมที่ค้างเต้าอาจทำให้เกิดโรคเต้านมอักเสบ เลยต้องรีดนมจากแม่ควายตัวนั้นออกมา

“ปกติเราก็จะรีดนมทิ้งไป แต่พอดีวันนั้นมีคนงานในฟาร์มเห็นว่าจะทิ้งนมควายไปเขาก็เลยมาขอไปให้ลูกเขากิน พอกินไปแล้วลูกเขาก็เกิดแข็งแรงขึ้นมาจากเดิมที่เป็นเด็กอ่อนแอขี้โรค ผมก็เลยเริ่มมาศึกษาอย่างจริงจัง จนมาพบว่านมควายนั้นนอกจากจะมีรสชาติที่ดีกว่า หวานกว่า หอมกว่า นมวัวแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม โปรตีน ไขมัน สูงกว่า ในขณะที่มีคลอเลสเตอรอลที่ต่ำกว่าอีกด้วย

“นอกจากนี้คนที่แพ้นมวัวก็ทานได้โดยไม่มีปัญหา ปัญหาเดียวที่มีก็คือ ชื่อเสียงด้านลบของนมควาย ซึ่งแม้จะมีชื่อเสียงที่แย่ที่สุดไม่ค่อยดีเท่านมวัว แต่ก็มีคุณภาพที่ดีที่สุด”

นอกจากการศึกษาเรื่องประโยชน์และคุณค่าของนมควายแล้ว เอกยังพบอีกว่าในไทยมีการรีดนมควายดื่มกันอยู่แล้ว แต่เป็นควายอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียชื่อว่า มูราห์ (ซึ่งนี่คือสายพันธุ์ควายที่เลี้ยงกันในอิตาลีและมีการนำนมควายมูราห์มาทำเป็นชีสมอซซาเรลลา) เอกจึงมีความคิดว่าควายไทยก็น่าจะนำมารีดนมได้เช่นเดียวกัน

และจากย่อหน้าแรกสุดที่เราได้ดื่มนมควายไปแล้ว ก็ขอยืนยันว่าเอกคิดไม่ผิดจริงๆ

สอนศิริฟาร์ม, นมควาย
สอนศิริฟาร์ม, นมควาย

นมจากเต้าเราดื่มเอง

“เราทำนมโดยคิดว่าทำให้ตัวเองทานเอง ทุกวันนี้พี่ก็ทานเอง หลานพี่ก็ทาน เราก็เลยทำทุกอย่างให้มันสะอาดและปลอดภัยที่สุด เพราะว่าเราก็ทานเองด้วย โดยเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้เขา”

เอกเล่าขณะพาเราเดินชมบรรดาควายในโรงเรือนถึงวิธีการทำนมควายให้สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่การรีดนม แต่ยังเชื่อมโยงไปจนถึงกระทั่งวิธีการเลี้ยงควายอีกด้วย

วิธีที่เอกเลือกใช้เลี้ยงควายในฟาร์ม คือการเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิด เน้นให้สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น และแยกคอกควายออกจากกัน โดยให้แม่ควายและลูกควายอาศัยอยู่ในคอกด้วยกัน และในแต่ละคอกจะมีช่องใส่อาหาร น้ำดื่ม และมีแผ่นฟองน้ำปูรองพื้นเพื่อป้องกันไม่ให้ควายเป็นแผลจากการคุกเข่าบนพื้นปูน พร้อมติดตั้งระบบพ่นน้ำช่วยคลายร้อนและลดความเครียด นอกจากนี้ ยังมีการพ่นละอองน้ำเป็นหมอกรอบๆ โรงเรือนเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมารบกวนควายอีกด้วย

สอนศิริฟาร์ม, นมควาย
สอนศิริฟาร์ม, นมควาย
สอนศิริฟาร์ม, นมควาย

เรื่องของอาหารก็สำคัญไม่แพ้ที่อยู่อาศัย ที่สอนศิริฟาร์มควายไทยแห่งนี้เลยให้หญ้าและฟางเป็นอาหารแก่ควายเท่านั้น ไม่มีการให้อาหารเสริมหรืออาหารข้นสำหรับวัวขุน เพราะการให้ควายกินแต่หญ้าหรือฟางแบบนี้มีข้อดีคือจะมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เยอะและหลากหลายสายพันธุ์ในระบบย่อยอาหารมากกว่าควายปกติ ซึ่งทำให้สามารถย่อยอาหารให้เกิดสารอาหารได้มากกว่าเดิม รวมไปจนถึงในน้ำนมก็จะมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ออกมาด้วย ซึ่งเอกคัดเลือกหาหญ้าและฟางที่ปลอดยาฆ่าหญ้าและปุ๋ยเคมีต่างๆ ด้วย

“เวลาเลือกซื้อหญ้าหรือฟางก็ต้องเลือกจากแปลงเฉพาะที่รู้ว่าปลอดภัยมาให้ควายกิน โดยในหน้าฝนก็ใช้หญ้าสด แต่ถ้าเป็นหน้าอื่นก็ใช้ฟางแทน ซึ่งควายทั้งหมดที่มีคือ 300 ตัวก็ใช้ฟางทั้งปีประมาณ 4 – 5 หมื่นก้อน โดยการเก็บฟางก้อนเราก็ต้องเก็บในโรงเรือนที่ปิดทึบทั้งหมดไว้ ไม่ให้โดนลมโดนฝน เพื่อให้ฟางยังคงสมบูรณ์และคงคุณภาพดังเดิม”

ที่อยู่อาศัยปลอดภัยแล้ว อาหารปลอดภัยแล้ว ส่วนสุดท้ายก็คือส่วนของการรีดนมที่สำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆ

“แม่ควาย 1 ตัวจะให้นำ้นมได้วันละ 5 – 6 กิโลกรัม คือควายจะผลิตน้ำนมทุกๆ  8 ชั่วโมง แล้วเราเลี้ยงลูกกะแม่ให้อยู่ด้วยกัน ก็จะกั้นแม่กับลูกแค่ช่วง 2 ทุ่มถึง 8 โมงเช้าเพื่อจะรีดนม ซึ่งเราก็รีดนมจากเขาแค่ครั้งเดียวต่อวัน แล้วก็ปล่อยให้แม่ลูกเขาอยู่ด้วยกันต่อลูกก็กินนมแม่ที่เหลือไป นมที่ผลิตออกมาก็ถูกใช้หมดไปแบบพอดีๆ ไม่เหลือค้างเต้า ไม่ทำให้เกิดโรคเต้านมอักเสบ

“พอเลี้ยงให้ไม่มีโรคแบบนี้ก็ทำให้เราไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเลย ทำให้นมที่ได้มามีความปลอดภัยจริงๆ พอเราไม่ได้ตั้งโจทย์บนการผลิตมากๆ ก็ทำให้เราได้น้ำนมคุณภาพ เป็นการต่างตอบแทนกันและกัน ทำให้เราอยู่ได้ยั่งยืนมากกว่า”

สอนศิริฟาร์ม, นมควาย
สอนศิริฟาร์ม, นมควาย

ไม่ใช่ควายทำแทนไม่ได้

นอกเหนือไปจากนมควายพร้อมดื่มแล้ว เอกยังแปรรูปนมควายไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก ประกอบไปด้วยโยเกิร์ต ไอศครีม ชีส ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่มีรสชาติและรสสัมผัสที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์จากนมวัวอย่างชัดเจน โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอ อย. เพื่อวางจำหน่ายตามร้านค้าโมเดิร์นเทรดและที่อื่นๆ ในอนาคต

ในสายตาแสนตื้นที่ไม่ได้เข้าใจชีวิตเกษตรกรอะไรอย่างผม ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกเพราะมันต้องลงทุนเยอะมาก ในยุคที่ทุกคนตามหาความสบายกันแบบนี้ การขายน้ำนมอย่างเดียวหรือขายเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานนำไปแปรรูปต่อ น่าจะสร้างความสบายแก่เกษตรมากกว่าไม่ใช่หรือ

“ในความคิดผมเกษตรกรจะอยู่รอดได้คือต้องเป็น Smart Farmer” เอกตอบอย่างรวดเร็วก่อนจะอธิบายต่อ

“นั่นคือการยืนด้วยขาของตัวเองให้ได้ เป็นการทำทุกอย่างครบวงจรของการเกษตร ตั้งแต่เริ่มต้นจนเก็บเกี่ยวและแปรรูป ไปจนถึงจำหน่ายครบจบในที่เดียว เมื่อผลิตเหลือจากการกินก็ขาย ของที่เหลือในไร่นาก็เอามาต่อยอด อย่างของเราฟาร์มควายก็จะมีมูลเหลือเยอะมาก ถ้าไม่ต่อยอดเราก็เอาไปขายให้เขาทำปุ๋ย แต่ถ้าเราต่อยอดเอามาหมักเพื่อปรุงดินทำแปลงผักออร์แกนิกมันก็จะได้มูลค่ามากขึ้น และมันจะเป็นทางรอดของเกษตรกรจริงๆ

“อย่างโยเกิร์ตและชีสเนี่ยมันก็เป็นการต่อยอดจากนมควายที่ผลิตได้ ตอนเริ่มต้นเราก็พอมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง ก็มาลองผิดลองถูกค่อยๆ เก็บความรู้ต่างๆ สะสมไป ทำอยู่เป็นปี ทำเองชิมเอง ค่อยๆ ปรับสูตรไปเรื่อยๆ จนได้สูตรที่เหมาะกับนมของที่นี่ อย่างชีสเราก็ทดลองจนรู้แล้วว่าการใช้น้ำมะนาวทำให้นมจับตัวกันเป็นก้อนก่อนจะหมักให้กลายเป็นชีสจะทำให้ได้กลิ่นหอมและรสที่ดีที่สุด”

สอนศิริฟาร์ม, นมควาย
สอนศิริฟาร์ม, นมควาย

เปลี่ยนฟาร์มสู่โรงเรียน

ผมถามเอกต่อถึงอนาคตของตลาดนมควาย และอนาคตของฟาร์มควายไทยแห่งนี้

“ผมอยากเปิดให้ที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียนให้คนทั่วไปหรือเกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ศึกษาการเลี้ยงควายแบบปลอดภัยปลอดโรค เพื่อนำเอาความรู้ที่เรามีหยิบไปใช้งานกันต่อได้เลย เพราะผมลองผิดลองถูกมาให้หมดแล้ว ซึ่งก็จะทำให้ควายถูกเลี้ยงแบบปลอดภัยและให้น้ำนมที่มีคุณภาพต่อผู้บริโภค” เอกเล่าถึงสเต็ปถัดไปของฟาร์มแห่งนี้

“เพราะควายทั้งหมดในประเทศเรามีอยู่เกือบๆ 1 ล้านตัว คิดง่ายๆ ว่ามีควายตัวผู้ 5 แสน ตัวเมียอีก 5 แสน แล้วถ้าเรารีดนมควายออกมาแค่ตัวละ 1 กิโล เราก็จะมีนมควาย 5 แสนกิโลต่อวันแล้ว แค่นี้ก็ลดการนำเข้านมวัวได้เยอะแยะ ผมจึงอยากจะส่งเสริมให้ลูกหลานเกษตรกรที่เลี้ยงควายได้ดื่มนมควาย คุณภาพและสารอาหารก็ดีกว่า แล้วยังไม่ต้องเสียเงินแพงๆ ซื้อนมด้วย ในอนาคตถ้าเด็กๆ ลูกหลานเกษตรกรได้มีอาหารที่ดีกิน ก็จะมีร่างกายและสมองเพื่อไปพัฒนาประเทศต่อไปนะ”

ตอนนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์นมแปรรูปต่างๆ ของสอนศิริฟาร์มควายไทยเพิ่งได้ อย. ในอนาคตอีกไม่นานเราน่าจะหาซื้อนมควายกินกันได้อย่างสะดวกมากขึ้น และหวังว่าสิ่งที่เอกวาดฝันไว้มันจะเกิดขึ้นได้ในอีกไม่นานนี้

สอนศิริฟาร์ม, นมควาย
สอนศิริฟาร์ม, นมควาย
 

สอนศิริฟาร์มควายไทย

66/1 หมู่ 2 ตำบลบางยาง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan