1

กว่า 2 ชั่วโมงแล้ว ที่ผมเฝ้าดูนกเป็ดผีเล็กนั่งฟักไข่อยู่อย่างสงบในรังของเขาเอง

แม้นาน หากนกเป็ดผีเล็กก็คลายความเหนื่อยล้าด้วยการสะบัดหัวขับไล่ความง่วงงุน หรือบ้างก็เหยียดปีกไซร้ขน ไม่มีแม้สักเสี้ยวนาทีที่จะลุกยืนเพื่อปรับเปลี่ยนท่าทาง นั่นหมายเพื่อให้ตนได้กกฟักสร้างความอบอุ่นแก่ไข่ทั้ง 3 ใบได้อย่างต่อเนื่อง

เป็นผมเองที่ความเหนื่อยล้าจากการรอคอยเริ่มเข้าคุกคาม

แต่ก่อนจะทันได้ละสายตาเช่นที่คิดไว้ นกเป็ดผีเล็กก็ยกคอตั้งตรง คล้ายสัมผัสถึงบางสิ่ง

ผมแนบสายตาเข้ากับช่องมองภาพ ด้วยหวังว่าอาจมีนาทีสำคัญของชีวิตเกิดขึ้น 

ขณะลุ้นแทบกลั้นหายใจ จู่ ๆ นกเป็ดผีเล็กอีกตัวก็โผล่จากใต้น้ำขึ้นมาในตำแหน่งใกล้รัง เพียงเท่านั้น เจ้าตัวที่ฟักไข่มาอย่างยาวนานก็ลุกยืนสะบัดขน สะบัดตัวไล่ความเมื่อยล้า ก่อนจะกระโดดผลุงลงน้ำและดำหายไปทันที ปล่อยให้อีกตัวขึ้นไปบนรังและเป็นผู้ทำหน้าที่ฟักไข่ต่อไป

กว่า 1 สัปดาห์แล้วที่ผมเฝ้ามองการผลัดกันฟักไข่ของนกเป็ดผีเล็กคู่นี้ และเป็น 1 สัปดาห์เต็มกับพฤติกรรมซ้ำ ๆ โดยไร้วี่แววที่จะได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงใด ๆ

ครั้นเวลาอันมีจำกัดหมดลง ผมจึงจำต้องยุติการเฝ้ารอภาพชีวิตของนกเป็ดผีเล็กไว้เพียงเท่านี้ หากยังหวังใจว่าอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า พวกเขาจะยังคงอยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง

บึงละหาน อาณาจักรนกน้ำแห่งชัยภูมิ กับนกที่เพิ่งค้นพบและถ่ายภาพได้เป็นครั้งแรกในไทย
บึงละหาน อาณาจักรนกน้ำแห่งชัยภูมิ กับนกที่เพิ่งค้นพบและถ่ายภาพได้เป็นครั้งแรกในไทย

2

เมื่อวันที่รอคอยเดินทางมาถึง

ผมรีบลงเรือตั้งแต่เช้าตรู่ มุ่งหน้าไปสู่จุดหมายตามตั้งใจ

ขณะเรือลอยลำในบึงกว้าง หัวใจกลับเร่งร้อนต่างไปจากที่เคยเป็น

พลันมาถึงบังไพรลอยน้ำ ผมกระโจนลงน้ำและเร่งติดตั้งกล้องถ่ายภาพทันที

ครั้นแนบสายตากับช่องมองภาพ บางสิ่งที่ปรากฏในนั้นกลับเปลี่ยนแปลงไป

สาหร่าย จอกแหน ที่นกเป็ดผีเล็กเคยนำมาคลุมไข่ในรังเช่นคราวก่อน ๆ วันนี้มันหายไป

ใจหายกับสิ่งที่เห็น หากก็ยังพยายามคิดต่ออย่างมีความหวัง

นัยหวังดีนั้น ผมเห็นภาพลูกนกเป็ดผีเล็กฟักออกจากไข่ไปหมดแล้ว

บึงละหาน อาณาจักรนกน้ำแห่งชัยภูมิ กับนกที่เพิ่งค้นพบและถ่ายภาพได้เป็นครั้งแรกในไทย

หากนัยหวังร้ายนั้น ผมเห็นไข่ทั้ง 3 ใบโดนทำลายจากศัตรูทางธรรมชาติ จนกระทั่งพ่อและแม่ต้องทิ้งรังไป

กระนั้น ผมยังคงเฝ้ารอ

เฝ้ารอ ด้วยหวังลึก ๆ ว่า คงจะมีโอกาสได้เห็นภาพชีวิตของนกเป็ดผีเล็กครอบครัวนี้

การรอคอยผ่านไปเพียงครึ่งชั่วโมง นกเป็ดผีเล็ก 2 ตัวก็ปรากฏขึ้นใกล้ ๆ รังอันว่างเปล่า

จากกำลังขยายของเลนส์ถ่ายภาพ ช่วยให้ผมได้เห็นถึงความผิดปกติบางอย่างบนหลังของนกเป็ดผีเล็กตัวหนึ่ง ดูฟูฟ่องต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด

ไม่นานนักความสงสัยก็คลี่คลาย เมื่อมีชีวิตเล็ก ๆ โผล่หัวออกมาจากขนอันฟูฟ่องบนหลังของเจ้านกเป็ดผีเล็กตัวนั้น

ผมกดชัตเตอร์บันทึกภาพด้วยมืออันสั่นเทา ด้วยตื่นเต้นที่ได้เห็นพฤติกรรมเช่นนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต 

และจากภาพใบแรกในชีวิตนี้เอง ที่นำผมมารู้จักบึงน้ำอันเป็นแหล่งอาศัยของนกเป็ดผีเล็กครอบครัวนี้อย่างจริงจัง

บึงน้ำที่เป็นบ้านอันอบอุ่นของทั้งนกเป็ดผีเล็กและผองเพื่อนนกน้ำ มีนามว่า ‘บึงละหาน’

บึงละหาน อาณาจักรนกน้ำแห่งชัยภูมิ กับนกที่เพิ่งค้นพบและถ่ายภาพได้เป็นครั้งแรกในไทย

3

บึงละหาน ที่ผมถือเอาว่าเป็นอาณาจักรของนกน้ำ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 18,000 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบลใหญ่ของอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ ตำบลละหาน ตำบลหนองบัวใหญ่ ตำบลหนองบัวบาน และตำบลลุ่มลำชี

ด้วยขนาดพื้นที่อันกว้างขวาง ที่นี่จึงถูกยกให้เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ก่อนนั้นบึงละหานหาได้มีสภาพเป็นบึงใหญ่เช่นที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม ซึ่งภายในมีบ่อน้ำขนาดใหญ่กระจายกันอยู่ห่าง ๆ แต่ละบึงแต่ละบ่อเชื่อมร้อยถึงกันด้วยคลองเล็ก ๆ

เมื่อฤดูฝนมาถึง น้ำจากห้วยลำคันฉูจะไหลล้นเข้าท่วมทับบ่อต่าง ๆ จนกลายเป็นผืนน้ำเดียวกัน แต่มวลน้ำจะคงอยู่ราว 1 – 2 เดือน จากนั้นปริมาณน้ำทั้งหมดจะไหลลงสู่แม่น้ำชี เปิดพื้นที่เดิมให้พืชพันธุ์ต่าง ๆ ได้เจริญเติบโตเพื่อรอการกลับมาของฤดูน้ำหลากในปีถัดไปอีกครั้ง

ละหานเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนาน…

จนกระทั่งระหว่าง พ.ศ. 2545 – 2547 จังหวัดชัยภูมิมีนโยบายพัฒนาพื้นที่บึงละหาน เริ่มจากการยกคันดินให้เป็นถนนล้อมรอบ พร้อมกับสร้างประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ชุมชนรายรอบได้ใช้ประโยชน์ ทั้งการอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรม การพัฒนาในครั้งนั้น ทำให้สภาพพื้นที่เดิมเกิดการเปลี่ยนแปลงจนกลายมาเป็น ‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’ ขนาดใหญ่เช่นทุกวันนี้

ด้วยบึงละหานมีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความลึกตลอดทั่วทั้งบึงประมาณ 1.5 – 2.5 เมตร พื้นที่ลักษณะนี้จึงเหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชพรรณมากมายที่ต่างพากันเกิดขึ้นตามชายน้ำ ใต้น้ำ หรือตามริมตลิ่งเป็นอย่างยิ่ง ไม้น้ำเหล่านี้กลายมาเป็นทั้งแหล่งอาศัย แหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ให้แก่กุ้ง หอย ปู ปลา หรือบรรดานกน้ำนานาชนิด รวมไปถึงผู้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบอีกด้วย

ความอุดมสมบูรณ์ของบึงละหานดำรงอยู่เช่นนี้มาเนิ่นนาน แต่ใยความสำคัญนัยคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำกลับถูกมองข้ามมาโดยตลอด กระทั่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โครงการขุดลอกขนาดใหญ่จากบางหน่วยงานของรัฐกำลังจะเกิดขึ้นในบึงน้ำแห่งนี้

เมื่อใดก็ตามที่เครื่องจักรเริ่มต้นเดินเครื่องทำงาน เมื่อนั้นพื้นที่อันแสนพิเศษเช่นนี้จะหายไปจากผืนแผ่นดินไทยในทันที

บึงละหาน อาณาจักรนกน้ำแห่งชัยภูมิ กับนกที่เพิ่งค้นพบและถ่ายภาพได้เป็นครั้งแรกในไทย
บึงละหาน อาณาจักรนกน้ำแห่งชัยภูมิ กับนกที่เพิ่งค้นพบและถ่ายภาพได้เป็นครั้งแรกในไทย

4

ธรรมชาติคล้ายรอเวลาอันเหมาะสม

ราวต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ทีมถ่ายทำสารคดีธรรมชาตินาม อาชิแคลน ที่นำโดย ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ได้เข้ามาสำรวจบึงละหาน ด้วยหมายอยากมาถ่ายทำชีวิตของบรรดานกน้ำที่มีอยู่อย่างมากมาย

เพียงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2565 วันแรกของการสำรวจหาพื้นที่ถ่ายทำ เต้ย-ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน หนึ่งในทีมที่ลงเรือออกสำรวจ ก็ได้ค้นพบ Red-breasted Merganser (นกเป็ดปากยาวอกแดง) และถ่ายภาพได้สำเร็จเป็นคนแรกของประเทศไทย

การพบเจ้า Red-breasted Merganser ซึ่งถือเป็นรายงานแรกของประเทศไทย ไม่ได้ทำให้บึงละหานกลายเป็นที่รู้จักของนักดูนกทั่วประเทศเพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น แต่เจ้านกชนิดใหม่ของไทยยังนำนักวิชาการ นักธรรมชาติวิทยา และผู้สนใจอีกมากมาย เข้ามาเห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ด้วยตาของพวกเขาเอง

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ผู้คนมากมายกล่าวถึงบึงละหาน คุณค่าความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำกระจายกันออกไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เช่นนี้เอง จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันของผู้สนใจที่หมายจะศึกษาที่นี่อย่างเป็นระบบ จนได้เริ่มต้นพูดคุยและวางแผนการสำรวจกันอย่างจริงจัง

กระทั่งวันที่ 2 – 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ทางจังหวัดชัยภูมิ ด้วยการนำของ ไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัด วรศิษย์ พุฒจีบ นายอำเภอจัตุรัส ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยกุ่ม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงละหาน และชาวบ้าน ได้ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ทีมอาชิแคลน ที่นำโดย ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ พร้อมด้วยอาสาสมัครนักดูนกจากทั่วประเทศกว่า 60 คน ลงพื้นที่สำรวจนกทั้งทางน้ำและทางบกกันอย่างเข้มข้น

ผลการสำรวจตลอดทั้ง 2 วัน เราพบนกทั้งสิ้น 105 ชนิด ซึ่งถือเป็นข้อมูลชุดล่าสุดที่ครอบคลุมพื้นที่แทบทุกตารางนิ้วของบึงละหานเลยทีเดียว

และกิจกรรมการสำรวจนกในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมเริ่มต้น นับจากนี้เรายังหมายจะสำรวจบึงละหานในทุกมิติ ทั้งพันธุ์พืช ดิน น้ำ และปลา เพื่อให้ชุดข้อมูลจากระบบนิเวศเป็นสิ่งยืนยันว่า พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้มีความสำคัญ ควรค่าแก่การรักษาไว้ให้อยู่คู่กับผืนแผ่นดินแห่งนี้มากมายเพียงใด

บึงละหาน อาณาจักรนกน้ำแห่งชัยภูมิ กับนกที่เพิ่งค้นพบและถ่ายภาพได้เป็นครั้งแรกในไทย
บึงละหาน สวรรค์ของนักดูนกแห่งชัยภูมิ มีนกกว่าร้อยชนิด และ Red-breasted Merganser ที่เพิ่งพบเป็นครั้งแรกในไทย

5

กว่า 3 ชั่วโมงที่ได้เฝ้าดูนกเป็ดผีเล็กทั้งสองตัวแบกลูกน้อยไว้บนหลังว่ายน้ำหากิน…

การแบกลูก ๆ เอาไว้บนหลังเช่นนี้ เนื่องจากลูกน้อยที่เพิ่งออกจากไข่ยังอ่อนเยาว์เกินกว่าจะปล่อยให้เขาว่ายน้ำกันเอง การให้ลูกอ่อนขึ้นไปซุกอยู่บนหลังของพ่อและแม่จึงเป็นการดูแลความปลอดภัย เพื่อให้รอดพ้นจากสายตาของนักล่าในธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย

ภาพนกเป็ดผีเล็กทั้งสองตัวที่กำลังผลัดกันให้ลูก ๆ ขี่หลัง เพื่อให้อีกตัวเป็นฝ่ายไปหาอาหารมาป้อนลูกน้อยนั้น เกิดขึ้นไม่ไกลจากรังของพวกเขา

รัง… ที่แม้วันนี้ไม่ได้ใช้เป็นที่ฟักไข่อีกแล้ว หากพวกเขาก็ยังคงวนเวียนกลับมาใช้เป็นที่พัก เพื่อให้ลูก ๆ ได้ลงจากหลังไปหัดว่ายน้ำใกล้ ๆ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้จะดำรงอยู่ต่อไปอีกราว 1 สัปดาห์ ลูกน้อยจึงแข็งแรงพอที่จะว่ายน้ำติดตามพ่อแม่ออกไปหากินด้วยกัน

เมื่อลูกน้อยแข็งแรงมากพอ นั่นก็ถึงเวลาที่เส้นทางของเด็กน้อยจะต้องแยกจากพ่อแม่ เพื่อไปเรียนรู้ให้ชีวิตเติบโตได้ด้วยตีนและปีกของตนต่อไป

ขณะเฝ้ามองครอบครัวนกเป็ดผีเล็ก… นกอีแจว นกอีโก้ง ต่างก็บินผ่านเข้ามาหากินรวมกันอยู่ใกล้ ๆ

ภาพนกน้ำที่เดินท่องไปบนใบบัวสายที่กำลังบานดอกสีชมพูเข้มนั้น งดงามยิ่งนัก

ความงามของสรรพชีวิตในบึงละหานที่วันนี้ไม่ได้ถูกมองข้ามเหมือนเช่นวันที่ผ่านมาอีกต่อไป

ความสำคัญและคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำบึงละหานที่พวกเราได้รับรู้นั้น ล้วนมาจากการได้เห็นลีลาของชีวิตอันเสรี ทั้งบรรดานกน้ำ พืชพันธุ์ และฝูงปลามากมายที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้

วันนี้เราต่างก็หวังว่า ผู้เป็นเจ้าของกุญแจเครื่องจักรมากมายที่กำลังจะเข้ามาขุดลอกบึงละหานในอีกไม่ช้า คงจะได้เห็นความสำคัญของพื้นที่ เช่นเดียวกับที่เราและคนส่วนใหญ่เห็นมาก่อนหน้านี้นานแล้ว

บึงละหาน สวรรค์ของนักดูนกแห่งชัยภูมิ มีนกกว่าร้อยชนิด และ Red-breasted Merganser ที่เพิ่งพบเป็นครั้งแรกในไทย

ขอขอบคุณ

ท่านไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ

นายวรศิษย์ พุฒจีบ นายอำเภอจัตุรัส

ทีมอาชิแคลน โดย ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

นายอภิรัฐ ทัดกลาง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงละหาน

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยกุ่ม

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

พี่ ๆ น้อง ๆ ชาวบ้านโนนหัวช้างทุกท่าน

Writer & Photographer

Avatar

มนตรี คำสิงห์

เมื่อโควิดระบาด ก็หันเหจากงานฟรีแลนซ์ทั้งถ่ายภาพและเขียนบทความ มุ่งหน้ากลับเข้าสวนเข้านาในที่ดินของครอบครัว เพื่อปลุกปั้นที่อยู่ที่กินบนแผ่นดินผืนสุดท้ายนามปางกระโดนแห่งนี้ นอกจากนั้นก็กำลังพยายามปลุกบึงละหานให้เป็นแหล่งดูนกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของบ้านเรา