รอยพระพุทธบาทเปรียบเสมือนเครื่องยืนยันการประดิษฐานของพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ และในบรรดารอยพระพุทธบาทมากมาย ทั้งรอยพระพุทธบาทธรรมชาติและรอยพระพุทธบาทที่มนุษย์สร้างขึ้น จะมีรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพนับถือทั้งกับคนในพื้นที่และผู้คนที่อยู่ไกลออกไป

หากประเทศไทยมีรอยพระพุทธบาท ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารและวัดพระพุทธบาทสี่รอย

ศรีลังกาก็มีรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมณกูฎ และเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ก็มีเช่นกัน เราจะไปทำความรู้จักรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์แห่งเมียนมา ชเวเสตตอ กันครับ

ชเวเสตตอ สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา
ชเวเสตตอ สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

ชเวเสตตอ (Shwesettaw) ตั้งอยู่ห่างจากเมืองมินบู (Minbu) ไปทางทิศตะวันออกราว 50 กิโลเมตร ริมแม่น้ำมาน (Man River) ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำอิรวดี

คำว่า ชเวเสตตอ มีความหมายว่า รอยพระพุทธบาททองคำ

ทีนี้ เรื่องราวของชเวเสตตอจะขอเล่าเป็น 2 ส่วนนะครับ เริ่มจากส่วนที่เป็นตำนานก่อน

ตำนานท้องถิ่นเล่าว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมายังวัดไม้จันทน์หอม (Sandalwood Monastery) พร้อมพระสงฆ์สาวก 499 รูป บนพลับพลาเหาะ ท่านได้หยุดลงที่เขาชื่อสัจจพันธ์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัจจพันธ์ นายพรานผู้ต่อมากลายเป็นฤๅษี

พระพุทธเจ้าโปรดสัจจพันธ์ฤๅษีจนยอมรับนับถือพุทธศาสนาและให้ติดตามไปยังวัดไม้จันทน์หอมด้วย

ขากลับ พระพุทธเจ้าหยุดที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทาเพื่อโปรดพญานาค ในครั้งนั้น พระองค์ได้ประทับรอยพระพุทธบาทลงบนก้อนหินริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อให้เหล่าพญานาคได้สักการะ

พระองค์ยังได้เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำไปประทับรอยพระพุทธบาทลงบนก้อนหินบนเขาสัจจพันธ์ เพื่อให้สัจจพันธ์ฤๅษีได้นมัสการก่อนจะเสด็จกลับ

มีใครเคยได้ยินตำนานหรือเรื่องเล่าคล้ายๆ เรื่องนี้ไหมครับ

ใช่แล้วครับ คล้ายเรื่องราวของรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทราชวรวิหาร จังหวัดสระบุรี เลยครับ เพราะตำนานทั้งสองเรื่องมีที่มาจากคัมภีร์ชื่อ ปปัญจสูทนี ในปุณโณวาทสูตรเหมือนกัน แต่ถูกประยุกต์ใช้และดัดแปลงเนื้อหาให้เข้ากับรอยพระพุทธบาทในรัฐของตนเอง ซึ่งตามคัมภีร์ระบุว่า มีรอยพระพุทธบาท 2 แห่ง คือบนยอดเขา และริมฝั่งแม่น้ำ ของเมียนมาจะตรงในประเด็นนี้ ของไทยมีเพียงรอยเดียว แต่อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจอะไรนะครับ ลองมาดูเรื่องราวในส่วนที่ 2 ที่ผมจะเล่าให้ฟังก่อนครับ

หลักฐานส่วนถัดมาจะอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 

ในยาซะวิน จอ (Yazawin Kyaw) พระราชพงศาวดารพม่าเล่าว่า ในรัชกาลของพระเจ้าตลุนมิน (Thalun) แห่งราชวงศ์นยองยาน (Nyaungyan) (อ่านควบเสียงว่า นยอง-ยาน) มีการค้นพบรอยพระพุทธบาทแห่งชเวเสตตอ โดยกลุ่มคนจำนวน 500 คน และพระภิกษุผู้ใหญ่อีก 4 รูป เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2181

เรื่องนี้ถูกนำไปขยายโดยคนในท้องถิ่น มีการเพิ่มจำนวนคนจาก 500 เป็น 5,000 และขยายความไปว่านำทางโดยสุนัขสีดำ อีกทั้งรอยพระพุทธบาทยังถูกค้นพบด้วยความช่วยเหลือของอีกาด้วย

เรื่องนี้อาจจะฟังดูไกลตัว เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่ช่วงเวลาที่รอยพระพุทธบาทแห่งชเวเสตตอถูกค้นพบครับ

นอกจากความสอดคล้องกับตำนานแล้ว ปีที่ถูกค้นพบก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะใน พ.ศ. 2149 มีการค้นพบรอยพระพุทธบาทบนเขาสัจจพันธคีรีที่จังหวัดสระบุรีโดยพรานบุญ ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

เมื่อนำ 2181 – 2149 จะเท่ากับ 32 ปี หมายความว่ามีการพบรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์รอยเดียวกัน บนสองดินแดน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญใช่ไหมครับ บังเอิญจนน่าประหลาด บังเอิญจนน่าสนใจ

อะไรเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์นี้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันขนาดนี้ เราลองมาดูประวัติของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์กันครับ

นอกจากทั้งสองพระองค์จะขึ้นครองราชย์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันแล้ว ทั้งสองพระองค์ยังมีจุดเริ่มต้นที่เหมือนกันอีกประการหนึ่งคือ ต่างปราบดาภิเษกหรือแย่งชิงราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงสำเร็จโทษสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ พี่น้องต่างพระมารดาของพระองค์ ในขณะที่พระเจ้าตลุนมินทรงสำเร็จโทษพระเจ้ามินเยเดปปา (Minyedeippa) พระราชนัดดาของพระองค์เพื่อขึ้นครองราชย์

เนื่องจากไม่ได้ขึ้นครองราชย์อย่างถูกต้อง (แม้ว่าพระเจ้าตลุนมินจะปราบดาภิเษกแทนพระเจ้ามินเยเดปปาที่ปราบดาภิเษกมาอีกทีก็ตาม) จึงอาจเป็นเหตุให้พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์พยายามจะกระทำบางสิ่งเพื่อแสดงสิทธิ์และความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ 

การค้นพบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในราชอาณาจักรของพระองค์ถือเป็นวิธีการที่ดีและใช้ได้ผลมากทีเดียว เพราะจนถึงปัจจุบัน ความศรัทธาต่อรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนสองดินแดนก็ยังไม่เสื่อมคลาย ยิ่งในประเทศเมียนมาแล้ว รอยพระพุทธบาทจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นในภายหลัง ถึงขนาดต้องมีพญานาคล้อมอยู่เสมอ เพื่อจำลองรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์นี้ไปเลยทีเดียว

ทีนี้ กลับมาที่เมียนมาต่อ ชเวเสตตอเคยประสบไฟไหม้ครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2458 ซึ่งทำลายอาคารฝั่งเขาสัจจพันธ์ไปเกือบทั้งหมด แต่ได้รับการบูรณะฟื้นฟูอย่างรวดเร็วในปีต่อมา ก่อนจะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2463 ด้วยความช่วยเหลือของผู้คนที่หลั่งไหลกันมา แสดงให้เห็นว่าศรัทธาของชาวเมียนมาต่อรอยพระพุทธบาทนี้ไม่ธรรมดา

ถ้าใครไม่เชื่อหรือนึกภาพไม่ออก ผมมีหลักฐานที่บันทึกเป็นภาพมาให้ชมครับ เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่วัดมหามุนี เมืองมัณฑะเลย์ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 บันทึกภาพเหตุการณ์การไปนมัสการรอยพระพุทธบาททั้งสองรอยนี้ไว้บนผนังบริเวณทางเข้าอย่างละเอียดมาก เปรียบเสมือนเป็นบันทึกของเมื่อ 130 ปีก่อน

รอยพระพุทธบาทที่ชเวเสตตอหน้าตาประมาณไหน ใครไปวัดพระมหามุนีลองหาดูให้ดี ในบรรดาทางเดินเข้าไปนมัสการพระมหามุนีทั้งสี่ทาง มี 2 ทางที่มีจิตรกรรมฝาผนัง หนึ่งในนั้นมีภาพนี้ ลองไปตามหาดูกันได้ครับ

ชเวเสตตอ สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

เราฟังเรื่องราวกันมาเยอะแล้ว พูดถึงที่โน่นที่นี่กันเยอะแล้ว ได้เวลาที่เราจะไปชมของจริงกันแล้วครับ

พอไปถึง รถจะจอดที่ฝั่งของเขาสัจจพันธ์ ดังนั้น เราจะเดินขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขากันก่อน

รอยพระพุทธบาทนี้เป็นรอยพระพุทธบาทธรรมชาติที่ถูกปิดทองแล้ว ไม่มีลวดลายภายใน มีกรงครอบเอาไว้ทำให้เข้าไปใกล้มากไม่ได้ แต่ยังพอมองลอดกรงไปได้ ผมจึงแค่กราบนมัสการจากข้างนอก แต่เท่านั้นก็เพียงพอแล้วครับ

ผมสังเกตว่านอกจากรอยพระพุทธบาทนี้แล้ว มีเจดีย์ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ซึ่งชาวพม่าจะไปกราบนมัสการเช่นกัน แม้แต่นายสารถีที่ขับรถพาเรามาที่นี่ก็ยังไปกราบนมัสการด้วย

ที่สำคัญ พอลองสังเกตบนองค์เจดีย์ ผมเห็นว่ามีเหรียญติดอยู่ แถมไม่ใช่แค่เหรียญเดียวด้วย มีหลายเหรียญพอสมควรเลย เรื่องนี้ก็น่าสนใจ แต่ขอสารภาพตามตรง ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเหรียญเหล่านี้ถูกนำมาติดตั้งแต่เมื่อไหร่และติดทำไม เพราะเท่าที่สังเกต ชาวเมียนมาจะปิดทองบนเจดีย์ ไม่เห็นมีใครปิดเหรียญบนเจดีย์เลย

ชเวเสตตอ สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

จากมุมนี้ถ้ามองออกไปก็จะเห็นชัยภูมิฝั่งตรงข้ามที่เป็นที่ตั้งของรอยพระพุทธบาทริมน้ำ ซึ่งบอกได้เลยว่าภูมิประเทศสุดยอดมาก เลยเป็นอันเข้าใจว่าทำไมคนเมียนมาถึงได้เชื่อและศรัทธารอยพระพุทธบาทแห่งนี้ เพราะนอกจากตำนานและเรื่องราวที่ทำให้สิ่งบางสิ่งมีความพิเศษ องค์ประกอบโดยรอบ ภูมิประเทศเองก็ส่งผลเช่นกัน แบบเดียวกันกับรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมณกูฎ ที่สถานที่ประดิษฐานส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ให้สิ่งที่ประดิษฐานอยู่

ชเวเสตตอ สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

อีกสิ่งที่ผมเห็นในบริเวณใกล้ๆ คือลิงครับ

ใช่ครับ อ่านไม่ผิด ลิงครับ

เหมือนลิงที่เขาวังเพชรบุรีหรือลิงที่เขาหลวงเลย แต่ลิงที่นี่ไม่ค่อยจู่โจมก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ก็มีอาหารลิงขายให้คนซื้อเลี้ยงลิงอยู่เหมือนกัน ใครสนใจ ให้อาหารลิงได้ครับ

พอเห็นลิง ก็ถึงบางอ้อว่าทำไมรอยพระพุทธบาทถึงต้องมีกรง แม้แต่เจดีย์ข้างๆ กันยังอยู่ห้องกระจกพลาสติกที่มีประตูปิด เขาคงจะทำไว้กันลิงกระมังครับ

สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

พอนมัสการเสร็จ ผมแนะนำให้เดินต่อขึ้นไปอีกสักนิด เพราะ ณ จุดที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทยังไม่ใช่จุดสูงสุดของเขาลูกนี้ ยังมีจุดที่สูงกว่า แต่ไม่ต้องห่วงครับ ตลอดทางเดินมีหลังคากันแดด เพราะฉะนั้น เดินยังไงก็ไม่ร้อน

พอขึ้นไปถึงด้านบนจะมีเจดีย์แบบพม่าอีกองค์ พร้อมจุดชมวิวอีกฝั่งหนึ่ง รวมถึงทางสำหรับเดินขึ้นมานมัสการรอยพระพุทธบาทจากท่าน้ำอีกด้านหนึ่ง ไม่แน่ใจว่ายังใช้อยู่ไหม แต่อย่างน้อยเมื่อก่อนน่าจะใช้ครับ 

ที่น่าสนใจคือมีประติมากรรมของสัจจพันธ์เวอร์ชันนายพรานอยู่ และสุนัขดำที่อาจจะเป็นสุนัขที่นำทางคณะผู้ค้นพบรอยพระพุทธบาทในสมัยของพระเจ้าตลุนมินก็ได้

อ้อ แถมให้อีกเรื่อง

ถ้าขึ้นไปยืนตรงนี้ มองกลับมาจะเห็นปยาทาด (ปราสาทแบบเมียนมา) ยอดสูงยอดหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าจุดนั้นก็คือสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนั่นเอง นี่ถือเป็นทริคในการชมศิลปะเมียนมาทั้งในประเทศไทยและประเทศพม่าเลยครับ

ใต้ปยาทาดที่มียอดสูงที่สุดคือสถานที่ประดิษฐานสิ่งสำคัญที่สุดของวัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูป แต่ที่นี่เป็นรอยพระพุทธบาทแทน ลองเอาไปใช้กันดูนะครับ

สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

หลังจากนมัสการรอยพระพุทธบาทบนเขาเสร็จ ก็ได้เวลาที่เราจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทริมน้ำกันแล้วครับ เนื่องจากช่วงที่ผมไปน้ำมาก ข้ามไปไม่ได้ เราจึงต้องนั่งเรือข้ามไป

โชคดีที่ตอนผมไปคนขับรถเดินมาด้วยกัน เลยวานให้เขาไปติดต่อคนพายเรือข้ามฟากมาจนได้ เรือที่ใช้ข้ามฝั่งเป็นเรือเครื่อง นั่งได้ประมาณ 4 คน ไม่รวมคนขับเรือ ใช้เวลาไม่นานก็ข้ามฝั่งได้สำเร็จ

ระหว่างทางไปยังท่าเรือก็แวะไปนมัสการพระมหามุนีจำลองได้ พระพุทธรูปนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยอูขันติ ฤๅษีที่ชาวพม่านับถือ องค์นี้ถือว่าทำออกมาได้งามและใกล้เคียงต้นฉบับที่เมืองมัณฑะเลย์มากทีเดียว

สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

ระหว่างนั่งเรือเราจะเห็นกลุ่มอาคารริมน้ำ ซึ่งรอยพระพุทธบาทย่อมจะต้องประดิษฐานอยู่ใต้อาคารที่มียอดสูงที่สุดแน่นอน เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม ยอดเป็นปยาทาดที่สอง มองเห็นจากฝั่งตรงข้ามหรือระหว่างข้ามแม่น้ำ รอยพระพุทธบาทริมน้ำจะมีพลาสติกอัดสุญญากาศครอบเอาไว้อย่างดี คนแถวนั้นเล่าให้ฟัง (แล้วนายสารถีเป็นคนแปลให้) ว่าถ้าเป็นช่วงหน้าน้ำ รอยพระพุทธบาทจะจมลงไปในน้ำ จึงต้องครอบไว้เพื่อเก็บรักษารอยพระพุทธบาท

สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

ทีแรกคิดว่าคงท่วมไม่เยอะ แต่พอเงยหน้าขึ้นไปเจอเส้นที่บอกความสูงของน้ำที่เคยท่วมสูงสุด แม่เจ้า 11.4 เมตร สูงมาก สูงเหนือที่ครอบเสียอีก

สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

ผมกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทจากด้านนอก ก่อนจะเดินเข้าไปด้านใน ที่ครอบพระพุทธบาทมีไอน้ำเกาะเต็ม มองรอยพระพุทธบาทไม่ได้ชัดนัก แต่ยังถือว่าพอมองเห็นอยู่

สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

ตัวรอยพระพุทธบาทริมน้ำมีลักษณะคล้ายรอยพระพุทธบาทบนเขา คือเป็นรอยพระพุทธบาทธรรมชาติที่ถูกปิดทองแล้ว และไม่มีลวดลายมงคลครับ 

หลังจากนมัสการรอยพระพุทธบาทเสร็จ เมื่อหันหลังกลับมาจะเห็นอีกหนึ่งสุดยอดภูมิประเทศของรอยพระพุทธบาทบนเขา ที่แม้จะถูกดัดแปลงไปมากตามกาลเวลา แต่สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่ตรงนี้เป็นทวีคูณ ยิ่งเห็นก็ยิ่งทึ่ง ทั้งในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและความยอดเยี่ยมของคนโบราณที่พบความยอดเยี่ยมนี้ แล้วดัดแปลงจนกลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่คุณสัมผัสได้

สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

พอนมัสการเสร็จ ผมก็นั่งเรือข้ามกลับไปขึ้นรถและออกเดินทางต่อ ถือเป็นการเดินทางไกลที่คุ้มค่ามาก เป็นอีกครั้งที่รู้สึกปีติเต็มตื้นอยู่ข้างในที่ได้มาเห็น ได้มานมัสการอีกหนึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แม้จะไม่อยู่ใน 5 มหาบูชาสถาน แต่สำหรับผม ที่นี่สำคัญไม่แพ้กันเลย ถึงจะไกลและมายากสักหน่อย แต่ผมเอาหัวเป็นประกันเลยว่า คุณจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

 สองรอยพระพุทธบาทธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์บนภูมิประเทศพิเศษแห่งเมียนมา

สุดท้ายนี้ ผมไม่ได้จะมาบอกว่า รอยพระพุทธบาทบนเขาสัจจพันธ์คีรีและรอยพระพุทธบาทริมแม่น้ำนัมมทา สองรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์แห่งเมียนมาอยู่ในกลุ่มรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 เพราะเราต่างมีความเชื่อและศรัทธาของใครของมัน

เรามีสิทธิ์ที่จะเชื่อและศรัทธาในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ เพราะในท้ายที่สุด จะตำนานหรือคัมภีร์ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้นทั้งสิ้น จึงไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด ไม่มีของจริง ไม่มีของปลอม ทั้งหมดเป็นของจริงได้ หากคุณมีความเชื่อและความศรัทธาในสิ่งนั้น เหมือนอย่างพระพุทธสิหิงค์ในเมืองไทยที่ทุกองค์ต่างเป็นพระพุทธสิหิงค์องค์จริงทั้งสิ้น ไม่มีองค์ใดเป็นองค์ปลอม ดังนั้น ผมอยากให้เราเลิกเถียงกันว่าของฉันจริง ของเธอปลอม เพราะในท้ายที่สุดแล้วมันไม่มีประโยชน์อะไร คงเป็นเรื่องยากที่เราจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คนคนหนึ่งเชื่อถือและศรัทธามาอย่างยาวนาน ตราบเท่าที่ความเชื่อและความศรัทธาไม่ทำร้ายใคร ผมเชื่อว่าไม่มีความเชื่อและความศรัทธาใดที่ผิดครับ

ป.ล. เนื่องจากคำหลายคำในบทความนี้เป็นภาษาพม่า และผมมีความสามารถในการอ่านออกเพียงน้อยนิด ดังนั้น หากสะกดคำใดผิดพลาดไปก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ

เก็บตก

  1. การเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งชเวเสตตอ แนะนำให้เหมาแท็กซี่ครับ จะตั้งต้นที่พุกาม เมืองแห่งทะเลเจดีย์ก็ได้ หรือจะตั้งต้นที่มักเว เมืองที่มีกู่วุดจีกูพญา ที่มีจิตรกรรมอิทธิพลช่างอยุธยา หรือมินบูที่อยู่ฝั่งตรงข้ามก็ได้ครับ ราคาอยู่ที่การต่อรอง หรือจะตั้งต้นที่เมืองใดเมืองหนึ่งแล้วเหมารถไปส่งที่อีกเมือง โดยแวะชมที่นี่ระหว่างทางก็ได้ครับ
  2. ใกล้ๆ กับรอยพระพุทธบาทจะมีวัดไม้จันทน์หอม (Sandalwood Monastery) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีตำนานผูกพันกับรอยพระพุทธบาทแห่งชเวเสตตอ แถมยังมีภาพจิตรกรรมสมัยใหม่เล่าตำนานการประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนี้ด้วย ถ้ามานมัสการรอยพระพุทธบาทแล้วก็ควรแวะนะครับ
  3. รอยพระพุทธบาทแห่งนี้มีประเพณีการนมัสการเช่นเดียวกับที่สระบุรี แต่ที่นี่จะจัดกันในช่วงตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายน ใครสนใจลองไปให้ตรงกับช่วงเวลาดังกล่าวดูครับ ถ้าจังหวะเหมาะ น้ำแห้งจะเดินข้ามไปชมรอยพระพุทธบาทริมน้ำได้โดยไม่ต้องใช้เรือเลยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ