“ไปทำไมสิงคโปร์ ที่นั่นไม่มีอะไรเลยนอกจากแหล่งช้อปปิ้ง ข้าวของก็แพง ถ้าชอบประวัติศาสตร์ อยากดูเมืองเก่า ไปเที่ยวประเทศอื่นไม่ดีกว่าเหรอ”

เนื้อถ้อยกระทงความที่ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้เมื่อหลายปีก่อน เป็นดั่งสายเบรกที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่ใฝ่ใจในเรื่องราวสมัยเก่าเช่นผมต้องห้ามความคิดตัวเองจากการจองตั๋วเครื่องบิน ‘กรุงเทพ-สิงคโปร์’ ทุกครั้งในรอบสิบกว่าปีที่ล่วงมา

ชั่วชีวิต 25 ปีนี้ ผมเคยเหินฟ้าไปต่างประเทศมาถึง 19 หน กว่าครึ่งหนึ่งในนั้นมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กลุ่มประเทศและดินแดนที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีน พูดจีนเป็นภาษาแม่ คงเป็นด้วยความคุ้นเคยส่วนตัว อาหารถูกลิ้น และอุดมไปด้วยประวัติความเป็นมาที่น่าค้นหา

ลัดเลาะไชน่าทาวน์ ขอพรวัดพระเขี้ยวแก้วเสริมสิริมงคลรับปีใหม่จีน ณ ประเทศสิงคโปร์

หลังจากได้โลดแล่นลั้นลาในจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า ตลอดจนรัฐที่มีสัดส่วนจำนวนประชากรจีนมากที่สุดในมาเลเซียอย่างปีนังมานับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดต้นปีนี้ ดวงท่องเที่ยวของผมก็โคจรมาชนกับสิงคโปร์จนได้ ช่างประจวบเหมาะกับตรุษจีนปีนี้ที่มาเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้บ้านเมืองอยู่ในบรรยากาศของการเฉลิมฉลองยาวนานตั้งแต่ปีใหม่สากลจนถึงปีใหม่จีน

เพื่อเสริมดวงชะตาให้กับตัวเองในวัยเบญจเพส สถานที่แรกที่วาบขึ้นมาในความคิดของผมก็คือ ‘Buddha Tooth Relic Temple and Museum’ ที่คนไทยนิยมแปลชื่อนี้กันว่า ‘วัดพระเขี้ยวแก้ว’ วัดใหญ่ใจกลางไชน่าทาวน์ของประเทศเกาะแห่งนี้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบันทึกการเดินทางฉบับนี้จะเพิ่มตัวเลือกใหม่ ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวไทยที่อยากไปสิงคโปร์ แต่เบื่อสิงโตพ่นน้ำ ยักไหล่ให้ไฟในสวน เฉย ๆ กับสวนสนุก หรือขี้เกียจช้อปปิ้งนะครับ

ลัดเลาะไชน่าทาวน์ ขอพรวัดพระเขี้ยวแก้วเสริมสิริมงคลรับปีใหม่จีน ณ ประเทศสิงคโปร์

Chinese Singaporeans Community
ชุมชนชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน

เวลาต้องนึกถึงประเทศและเขตปกครองที่พูดภาษาจีนเป็นหลัก คนไทยอย่างเราคงต้องหันหน้าขึ้นไปทางเหนือ คือภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งมีจีนเป็นพี่ใหญ่ พ่วงด้วยดินแดนเกาะและคาบสมุทรเล็กน้อยอย่างไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า ที่ประชากรหมู่มากเป็นชาวจีนเหมือนกัน

แต่อีกประเทศหนึ่งที่ผู้คนมักละเลย ลืมไปว่าต้องหันหน้าลงใต้ด้วย ก็คือสิงคโปร์ ประเทศเกิดใหม่อายุไม่ถึง 60 ปี ซึ่งแยกตัวออกจากส่วนอื่น ๆ ของมาเลเซียที่คนส่วนใหญ่เป็นจีน

ชาวจีนรู้จักเกาะสิงคโปร์มาเป็นพันปี หลักฐานเก่าสุดที่จีนบันทึกถึงเกาะนี้เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 10 และเริ่มเดินเรือจากแผ่นดินใหญ่มาค้าขายตั้งแต่ยุคกระโน้น

เมืองสิงคโปร์เพิ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 1819 ภายใต้การนำของ เซอร์ โทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Raffles) ข้าหลวงชาวอังกฤษ แต่ก่อนหน้าเซอร์โทมัสกับพลพรรคชาวแดนผู้ดีของเขาจะล่องเรือมายึดเกาะนี้ มีชาวจีนจำนวนหนึ่งอพยพมาอยู่ก่อนแล้ว พวกเขามาที่นี่เพื่อเพาะปลูกสีเสียดบ้าง พริกไทยบ้าง

ลัดเลาะไชน่าทาวน์ ขอพรวัดพระเขี้ยวแก้วเสริมสิริมงคลรับปีใหม่จีน ณ ประเทศสิงคโปร์
รูปปั้น เซอร์ โทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ ริมแม่น้ำสิงคโปร์

ครั้นเมื่ออังกฤษพัฒนาสิงคโปร์เป็นอู่ต่อเรือและเมืองท่าเสรี ชาวจีนจำนวนมหาศาลจึงลงเรือมาตายเอาดาบหน้า ณ เกาะเล็กปลายแหลมมลายูแห่งนี้ ภายในเวลาไม่กี่ปี ตัวเลขประชากรจีนก็แซงหน้าทั้งผู้ปกครองชาวอังกฤษ ชาวมลายูที่อยู่บริเวณนี้มาก่อน รวมถึงชาวอินเดียที่อพยพมาพร้อม ๆ กัน

ในปี 1822 แค่ 4 ปีหลังการสถาปนาเมืองสิงคโปร์ แรฟเฟิลส์ผู้เป็นพ่อเมืองต้องวางผังเมืองสิงคโปร์เสียใหม่ ให้ผู้คนแต่ละเชื้อชาติใต้ปกครองของเขาได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง สำหรับชุมชนคนจีนนั้น ได้รับการจัดสรรที่ดินให้อยู่ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำสิงคโปร์ เรียกว่า Chinese Campong มีความหมายว่า หมู่บ้านจีน (Campong มาจาก Kampung ในภาษามลายู แปลว่า หมู่บ้าน)

ลัดเลาะไชน่าทาวน์ ขอพรวัดพระเขี้ยวแก้วเสริมสิริมงคลรับปีใหม่จีน ณ ประเทศสิงคโปร์
แผนที่เก่าสมัยก่อตั้งเมืองสิงคโปร์ ชุมชนจีนจะอยู่ทางซ้ายมือของภาพ
ภาพ : National Museum of Singapore

ภายใน Chinese Campong หรือ ‘กำปงจีน’ นั้นยังแยกย่อยออกเป็นหลาย ๆ โซนเพื่อรองรับผู้อพยพชาวจีนต่างภูมิลำเนากัน จีนที่อพยพมามักเป็นคนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน และกวางตุ้ง ทั้ง 3 กลุ่มก็จะถูกจัดให้อาศัยอยู่ในโซนที่พูดภาษาเหมือนกัน มาจากภูมิลำเนาเดียวกัน มีถนนกำหนดขอบเขตชัดเจน ไม่ย้ายข้ามกลุ่มไปอยู่ปะปนกับจีนกลุ่มอื่น

ชุมชนจีนในสิงคโปร์เจริญเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป มันเริ่มมีลักษณะและขอบเขตที่ชัดเจนว่าเป็นย่านจีนประมาณปี 1843 เมื่อมีการปล่อยเช่าและขายที่ดินแก่ผู้อพยพชาวจีนมากขึ้น จนเป็น ไชน่าทาวน์ (Chinatown) ตามความรับรู้ของคนสมัยนี้

อัตราส่วนเชื้อชาติของประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบันระบุว่ามีคนจีนอยู่ถึงร้อยละ 75.9 หรือราว 3 ใน 4 ของประชาชนสิงคโปร์ทุกหมู่เหล่า ถึงคนสิงคโปร์เชื้อสายจีนจำนวนหนึ่งจะย้ายออกไปอยู่ตามเขตเมืองใหม่หรือพื้นดินที่เพิ่มเติมมาจากการถมทะเล แต่ไม่ว่าเขาจะอยู่แห่งหนใดในประเทศแห่งนี้ ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษผู้มาจากแดนไกลของเขาก็น่าที่จะเคยพักอาศัยในย่านนี้มาก่อน

ลัดเลาะไชน่าทาวน์ ขอพรวัดพระเขี้ยวแก้วเสริมสิริมงคลรับปีใหม่จีน ณ ประเทศสิงคโปร์
บรรยากาศประดับตกแต่งฉลองตรุษจีนปี 2566 ซึ่งเป็นปีเถาะ (กระต่าย)

Kreta Ayer, Heart of the Chinatown
ย่านเกรตา อาเยอร์ หัวใจแห่งไชน่าทาวน์

ขอบเขตของไชน่าทาวน์กรุงเทพฯ อยู่ตรงไหน หลายคนคงตอบไม่ได้ บางคนนับแค่ถนนเยาวราช บางคนรวมสำเพ็งหรือทรงวาดเข้าไปด้วย และอีกมากอาจตีเส้นไปถึงตลาดน้อย หัวลำโพง วงเวียน 22 วรจักร ฯลฯ แต่ภาพจำที่เราทุกคนมีต่อย่านชาวจีนในกรุงเทพก็น่าจะเหมือน ๆ กัน คือเป็นภาพของถนนเยาวราชที่มีร้านทอง ร้านอาหาร ภัตตาคาร มากมายแข่งกันประชันแสงป้ายไฟนีออนเหนือท้องถนน

ไชน่าทาวน์ของสิงคโปร์อาจจะกำหนดขอบเขตได้ชัดเจนกว่าบ้านเรา ด้วยเหตุที่บ้านเขาแบ่งย่านจีนออกมาเป็น 4 พื้นที่ย่อย ได้แก่ Telok Ayer, Bukit Pasoh, Tanjong Pagar และ Kreta Ayer

ลัดเลาะไชน่าทาวน์ ขอพรวัดพระเขี้ยวแก้วเสริมสิริมงคลรับปีใหม่จีน ณ ประเทศสิงคโปร์

ทั้ง 4 ย่านนี้ ถนนเกรตา อาเยอร์ (Kreta Ayer Road) คือส่วนที่เทียบได้กับเยาวราช ชื่อของย่านนี้เป็นภาษามลายู แปลว่า ‘เกวียนลำเลียงน้ำ’ ส่วนภาษาจีนจะเรียก หนิวเชอสุ่ย (牛车水) แปลว่า ‘เกวียนวัวขนน้ำ’ เนื่องจากในศตวรรษที่ 19 อันเป็นยุคก่อตั้งชุมชนชาวจีนนั้น น้ำประปาในย่านนี้ยังขาดแคลน ต้องพึ่งรถเกวียนเทียมโคกระบือเป็นที่ขนลำเลียงน้ำประปาเข้ามาสู่ย่านบ้านเรือน

ทุกวันนี้ เกรตา อาเยอร์ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์โดยรัฐบาลสาธารณรัฐสิงคโปร์ แม้ที่นี่จะได้ชื่อว่าเป็นหัวใจแห่งไชน่าทาวน์สิงคโปร์ ทำนองเดียวกับถนนเยาวราชของกรุงเทพ แต่ในความคล้ายก็มีความต่างกันตรงที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกรตา อาเยอร์ ดูเงียบสงบ ทางรถวิ่งเป็นเพียงถนนสายเล็ก 4 เลน เต็มไปด้วยร้านค้า ภัตตาคาร บ้านเก่าซึ่งถูกสร้างขึ้นในสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน ซึ่งทางสากลจะรู้จักสถาปัตยกรรมแนวนี้ในชื่อ Strait Eclectic Shophouses กันมากกว่า

ลัดเลาะไชน่าทาวน์ ขอพรวัดพระเขี้ยวแก้วเสริมสิริมงคลรับปีใหม่จีน ณ ประเทศสิงคโปร์

แม้ว่าตึกแถวทรงชิโน-ยูโรเปียนของสิงคโปร์จะไม่เก่าแก่เท่าในมะละกาซึ่งเป็นเมืองโบราณ มีน้อยกว่าปีนังชนิดทิ้งห่างกันอย่างไม่เห็นฝุ่น แต่ก็เยอะกว่าภูเก็ตรวมถึงอีกหลายจังหวัดในไทย หลายตึกมีรูปแบบสวยงามเฉพาะตัว ไม่เหมือนเมืองไหน ๆ ที่สำคัญคือตึกแถวในย่านนี้ได้ถูกผู้ปกครองอังกฤษสมัยอาณานิคมกำหนดให้สร้างทางเดินหน้าบ้านให้มีมาตรฐานเดียวกันตั้งแต่ปี 1822 คือต้องมีระยะความกว้าง 5 ฟุตเท่ากัน ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ‘หง่อคาขี่’ ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานในการสร้างตึกแถวประเภทนี้ในอีกหลาย ๆ ที่ เป็นต้นว่าย่านเมืองเก่าภูเก็ต

ช่วงที่ผมท่องเที่ยวอยู่นั้น ชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนเริ่มประดับประดาบ้านเรือนรอรับตรุษจีนกันแล้ว ร้านค้าในตึกแถวทั่วเกรตา อาเยอร์ ได้พากันปรับโฉมเป็นร้านขายสินค้าสำหรับเทศกาลปีใหม่จีน ไม่ว่ามองไปทางใด นัยน์ตาก็ต้องพร่าเบลอกับสีแดงของสินค้า ทั้งโคมไฟ กระดาษอักษรมงคล กระดาษกลอนคู่ (ตุ้ยเลี้ยง) รวมถึงซองอั่งเปาแบบต่าง ๆ ที่ขายกันทีต้องเหมาพื้นที่หน้าร้านไปทั้งแถบ

ลัดเลาะไชน่าทาวน์ ขอพรวัดพระเขี้ยวแก้วเสริมสิริมงคลรับปีใหม่จีน ณ ประเทศสิงคโปร์
ลัดเลาะไชน่าทาวน์ ขอพรวัดพระเขี้ยวแก้วเสริมสิริมงคลรับปีใหม่จีน ณ ประเทศสิงคโปร์

ทุกร้านมีลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อของเยอะเสียจนแม่ค้าแม่ขายไม่ต้องเหนื่อยตะโกนเชียร์ให้เปลืองน้ำลาย เรื่องหนึ่งซึ่งผมเพิ่งเอะใจได้ระหว่างเดินดูของอยู่แถวนั้นก็คือการใช้ภาษาของชาวจีนสิงคโปร์ดูจะแตกต่างจากชาวจีนมาเลเซียที่เคยสัมผัสมา

เพื่อนชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนเคยเล่าให้ผมฟังว่า เวลาคนจีนมาเลเซียคุยกันเองจะพูดภาษาจีนกลางเสมอ ไม่ว่าครอบครัวนั้นจะเป็นจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน แคะ ไหหลำ หรือกวางตุ้ง ทุกคนต้องเรียนจีนกลางจนฟังพูดอ่านเขียนได้ แต่เมื่อไปพบชาวมลายูที่เป็นคนส่วนใหญ่ของมาเลเซีย หรือคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย พวกเขาจึงจะสลับไปพูดภาษามลายูหรืออังกฤษ

ลัดเลาะไชน่าทาวน์ ขอพรวัดพระเขี้ยวแก้วเสริมสิริมงคลรับปีใหม่จีน ณ ประเทศสิงคโปร์

แต่ที่สิงคโปร์นั้นต่างออกไป ต่อให้เป็นคนเชื้อสายจีนด้วยกันแล้วไซร้ ทุกคนก็นิยมคุยกันเป็นภาษาอังกฤษอยู่ดี กระนั้นก็ยังไม่ใช่อังกฤษแท้ ๆ แบบที่ฝรั่งเจ้าของภาษาฟังเข้าใจ แต่เป็นอังกฤษที่มีสำเนียง คำศัพท์ และไวยากรณ์จีนปน อันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ซิงลิช’ (Singlish) หรืออังกฤษแบบสิงคโปร์นั่นเอง

ภาษานี้เพื่อนคนไทยที่เคยทำงานเป็นไกด์จีนของผมเคยกล่าวถึงด้วยสีหน้าปูเลี่ยน ๆ ว่า “มึงรู้มั้ย กูรับแขกจีนมาทุกกลุ่ม กูไม่เคยมีปัญหา แต่ความมั่นใจในภาษาจีนของกูมาถดถอยลงเพราะเจอสิงคโปร์ กูไม่รู้ว่าแขกกลุ่มนั้นมันพูดจีนหรือพูดอังกฤษกับกูกันแน่!”

ระหว่างที่ผมกำลังเดินดูของขายตรุษจีน ถ่ายภาพตึกชิโน-ยูโรเปียน และเงี่ยหูฟังคนคุยกันเป็นภาษาซิงลิชเพลิน ๆ อยู่นั้น เท้าทั้งสองก็นำพาผมมาถึงจุดหมายสำคัญประจำทริปนี้ คือจัตุรัสเกรตา อาเยอร์ (Kreta Ayer Square) อันมีวัดพระเขี้ยวแก้วสูงเด่นอยู่ตรงหน้า

Buddha Tooth Relic Temple
วัดพระเขี้ยวแก้ว

ลัดเลาะไชน่าทาวน์ ขอพรวัดพระเขี้ยวแก้วเสริมสิริมงคลรับปีใหม่จีน ณ ประเทศสิงคโปร์

เมื่อมาถึงไชน่าทาวน์แห่งนี้แล้ว ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาใดก็ควรจะได้มาเยี่ยมยลวัดพุทธที่ได้ชื่อว่างามและขึ้นชื่อที่สุดในสิงคโปร์เป็นบุญตา

วัดนี้เป็นวัดสาขาของวัดเจดีย์ทอง หรือ Golden Pagoda Buddhist Temple ในเขต Tampines ที่อยู่ห่างออกไป ต่อมาช่วงต้นปี 1997 การท่องเที่ยวสิงคโปร์ได้ทาบทาม พระอาจารย์ชื่อฝ่าจ้าว (Venerable Shi Fa Zhao) พระเถระชั้นผู้ใหญ่และเจ้าอาวาสประจำวัดนี้ ให้สร้างวัดแห่งใหม่ขึ้นบนที่ดินแปลงใหญ่ในไชน่าทาวน์ที่ยังว่างเปล่า แม้ทางวัดจะลองเขียนแบบแปลนและส่งข้อเสนอไปในปีถัดมา ทว่าแบบวัดดังกล่าวก็ไม่ได้รับการอนุมัติ

แต่แล้วในปี 2002 วัดเจดีย์ทองได้รับมอบพระทาฐธาตุ หรือพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นเขี้ยวของพระพุทธเจ้ามา แผนจะสร้างวัดหลังใหม่ที่ไชน่าทาวน์จึงได้รับการนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง

ภายหลังการหารือที่กินเวลานานปี ในที่สุดวัดแห่งใหม่ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อปี 2005 โดยใช้ชื่อว่า Buddha Tooth Relic Temple and Museum

ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์

ว่ากันว่าแต่เดิมวัดนี้จะสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ที่บรรพบุรุษของพุทธศาสนิกชนชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมา แต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อชื่อฝ่าจ้าวได้ปรับแบบแปลนใหม่ โดยให้สร้างเป็นวัดสูง 4 ชั้น โดยยึดตามวัดใหญ่สมัยราชวงศ์ถังซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของพุทธศาสนาในจีน และผสมองค์ประกอบบางอย่างของวัดทิเบตเข้าไปด้วย

หลายคนเห็นสีสันและหน้าตาวัดนี้ภายนอก อาจรู้สึกว่าดูเหมือนวัดญี่ปุ่นมากกว่าวัดจีน ซึ่งก็ไม่ผิดที่คุณจะเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกอย่างนั้น แต่ต้องอธิบายว่าวัดญี่ปุ่นที่หน้าตาละม้ายแบบนี้เพิ่งมีในสมัยนาระและเฮอัน ซึ่งก็ถอดแบบมาจากสถาปัตยกรรมสมัยถังของจีนอีกทอดหนึ่ง

ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์

วัดนี้เปิดค่อนข้างเช้า คือประมาณ 07.00 น. และปิดตอน 17.00 น. ถึงตอนที่ผมไปจะยังเช้าอยู่มาก แต่ภายในวัดก็เริ่มคึกคักแล้ว มีสาธุชนชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาเดินทางมาไหว้ขอพรไม่ขาดสาย และเพราะภายในวัดติดแอร์ การจุดธูปสักการะจึงทำได้แค่ด้านนอกเท่านั้น

ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์

นอกเหนือจากความเย็นฉ่ำของเครื่องปรับอากาศที่พรูมาปะทะร่าง ไม่ว่าใครที่เข้ามาในวัด บริเวณที่เรียกว่า ‘หอร้อยมังกร’ หรือ ไป๋หลงเตี้ยน (百龍殿) ก็คงจะรู้สึกแบบเดียวกัน คือตะลึงงันกับความโอ่อ่าของโถงที่มีความสูงจากพื้นถึงเพดานกว่า 27 ฟุต ตกแต่งด้วยลวดลายและวัสดุสีแดงและทอง ที่นี่เป็นพระอุโบสถ มีพระประธานคือพระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าในอนาคตซึ่งมีความสูงถึง 15 ฟุตในปางนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวาทำท่าอภัยมุทราอันแสดงถึงความเมตตาและกรุณา มีพระโพธิสัตว์ 2 องค์ประทับขนาบข้าง เป็นพระพุทธรูปที่แลดูสงบ แต่แฝงด้วยความยิ่งใหญ่ ดูน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก

ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์
ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์

กราบพระประธานประจำวัดเสร็จแล้ว สิ่งต่อไปที่น่าจะทำก็คือเดินชมผนังโดยรอบโถงที่ตกแต่งด้วยพระพุทธรูปองค์เล็กองค์น้อยนับร้อยนับพัน เป็นภาพแทนของคติมหายานที่เชื่อว่าในจักรวาลมีพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มากมายดั่งเม็ดทราย 

แต่ละจุดจะมีพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้าองค์สำคัญ ๆ ของชาวจีนแทรกอยู่เป็นระยะ ทุกองค์มีความหมาย คือเป็นผู้คุ้มครองคนที่เกิดในปีนักษัตรต่าง ๆ

ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์
ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์

เมื่อเดินตามพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ประจำปีเกิดไปเรื่อย ๆ ผมก็มาถึงโถงด้านหลัง เรียกว่า หอปัญญาจักรวาล หรือ เหยวียนทงเตี้ยน (圓通殿) ซึ่งมีพระประธานคือ จินดามณีจักรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือพระกวนอิมที่เราคนไทยรู้จักดี

ระหว่างเดินชมความงามของพุทธศิลป์ในวัดอยู่นั้น มีชาวสิงคโปร์แวะเวียนมากราบไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมองค์นี้อยู่เนือง ๆ บางคนให้พระสงฆ์ภายในวัดสวดมนต์ให้ด้วย

ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์

รอไปอีกสักพัก ก็ได้เวลาทำวัตรเช้าประจำวันพอดี พระสงฆ์ในวัดหลายรูปเดินเรียงแถวหน้ากระดานมาร่วมกันสวดมนต์ที่เบื้องหน้าพระศรีอริยเมตไตรยองค์โต มีพระสงฆ์นั่งลงหน้ากลองจีน ทำให้ได้รู้ว่าพระที่นี่ทำวัตรสวดมนต์กันเป็นท่วงทำนอง และสวดเป็นภาษาจีนกลาง ซึ่งจะแตกต่างจากพระจีนเมืองไทยตรงที่พระจีนบ้านเรายึดถือจารีตแบบพระในมณฑลกวางตุ้ง สวดมนต์เป็นภาษาเก่าของแถบมณฑลกวางตุ้ง

ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์

ฟังพระที่นี่สวดมนต์เป็นทำนองแบบเทปบทสวดมนต์จีน จิตใจผมรู้สึกแช่มชื่นแจ่มใสอย่างบอกไม่ถูก จึงยกมือขึ้นพนมไหว้ ตั้งจิตอธิษฐานต่อบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในที่นี้ด้วยความศรัทธาเต็มเปี่ยม ขอพรให้การเดินทางต่อจากนี้มีแต่ความราบรื่นปลอดภัย และมีสิ่งดี ๆ เข้ามาตลอดปีใหม่นี้

…and Museum
…และพิพิธภัณฑ์

ไหว้พระเสริมสิริมงคลเสร็จเรียบร้อย ความอิ่มเอมที่ได้รับทำผมเกือบลืมไปเลยทีเดียวว่าวัดนี้ยังมีอีกหลายชั้นที่ยังไปไม่ถึง ที่ได้สำรวจมานี้ก็แค่ชั้น 1 เพียงชั้นเดียว

และเกือบลืมด้วยว่าชื่อเต็มของวัดนี้ยังมีคำว่า ‘And Museum’ ห้อยท้าย นั่นหมายความว่าชั้นบน ๆ ขึ้นไปต้องเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของชิ้นสำคัญเป็นแน่

เริ่มจากชั้นลอยซึ่งเป็นที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้ง ชีวประวัติ และของเนื่องในพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงหลายรูป ทั้งพระสงฆ์ชาวสิงคโปร์และต่างประเทศ ผมเดินดูรอบชั้น พบว่ามีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของไทยปนอยู่มาก

ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพระอาจารย์ชื่อฝ่าจ้าว เจ้าอาวาสผู้ก่อตั้งวัดพระเขี้ยวแก้วแห่งนี้มีสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นกับประเทศไทยมาก ท่านยังเคยได้รับประทานยศ ‘เจ้าคุณ’ และสมณศักดิ์แบบไทยมาแล้ว เดินทางมาไทยก็หลายหน บางครั้งเดินดูของในพิพิธภัณฑ์วัดนี้ก็หลงคิดว่าตัวเรายังอยู่แถวบ้านหรือเปล่า เพราะมีทั้งภาษาไทยและข้าวของที่มาจากเมืองไทยเยอะจนนับชิ้นไม่ถ้วน

ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์
พระอาจารย์ชื่อฝ่าจ้าว รับพระราชทานพัดยศจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ของไทย

ตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไปจนถึงชั้นหลังคา แทบทุกชั้นจะซอยพื้นที่แบ่งเป็นบริเวณสำหรับสักการะและพิพิธภัณฑ์ เมื่อมาถึงที่นี่ทั้งที ก็ต้องไม่ลืมไปที่ชั้น 4 ที่มีไว้ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว ที่มาของชื่อวัดนี้ด้วย

In Chinatown, Singapore

ในไชน่าทาวน์ สิงคโปร์

เที่ยวชมความงามของศิลปกรรมภายในจนหนำใจ ผมพกพาความอิ่มบุญออกจากวัดพระเขี้ยวแก้ว แล้วเริ่มออกเดินทางต่อ ไปยังบริเวณอื่น ๆ ของไชน่าทาวน์ที่ยังไปไม่ทั่ว

ถ้าไม่นับวัดแห่งนี้ ในชุมชนชาวจีนก็ยังมีศาลเจ้าและศาสนสถานของชนชาติจีนอีกหลายแห่งที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในแต่ละถนน บางแห่งเป็นของชาวแต้จิ๋ว บางแห่งเป็นของชาวฮกเกี้ยน กวางตุ้ง หรือไหหลำ แต่ที่มีเหมือนกันคือความคึกคักคับคั่งด้วยเหล่าบรรดาผู้ศรัทธาชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนที่ต้องการมาสร้างบุญเสริมกุศลรับปีใหม่ตามความเชื่อของพวกตน

ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์
ศาลเจ้าเทียนฮกเก็ง ย่าน Telok Ayer เป็นศาสนสถานอีกแห่งที่มีผู้คนมาสักการะจำนวนมาก

นอกจากชาวจีนที่เป็นกลุ่มประชากรส่วนมากของย่านนี้และประเทศสิงคโปร์แล้ว ในไชน่าทาวน์แห่งนี้ยังมีบ้านเรือน ร้านค้า และศาสนสถานของชาวทมิฬจากภาคใต้ของอินเดียที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับชาวจีนอย่างสันติสุขตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน แต่ถ้าให้เล่าเรื่องราวของคนกลุ่มนี้อีก เห็นทีจะต้องแยกข้อเขียนออกเป็นอีกหนึ่งบทความ

ท่ามกลางความสบายใจที่ได้จากการรับพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนวันขึ้นปีใหม่จีน อีกหนึ่งความรู้สึกที่เบียดแทรกเข้ามาคือความดีใจที่วันหนึ่งตัวเองได้มาเที่ยวประเทศนี้

ไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว (Buddha Tooth Relic Temple) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า วัดเขี้ยวแก้ว ท่องย่านเก่าในเมืองทันสมัยที่สิงคโปร์

“ไปทำไมสิงคโปร์ ที่นั่นไม่มีอะไรเลยนอกจากแหล่งช้อปปิ้ง ข้าวของก็แพง ถ้าชอบประวัติศาสตร์ อยากดูเมืองเก่า ไปเที่ยวประเทศอื่นไม่ดีกว่าเหรอ” ถ้อยคำในวันเก่าลอยมาตามลม ผมบอกตัวเองได้แล้วว่าคำพูดนี้ไม่เป็นความจริง ประวัติศาสตร์ที่ผมสนใจมีอยู่ทุกที่ อยู่ที่เราจะมองเห็นมันหรือเปล่า เหมือนเช่นคำสอนว่า “ทุกที่มีดีมีร้าย ขึ้นอยู่กับสายตาเราจะเลือกมอง”

และตอนนี้ผมพูดได้เต็มปากว่า สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผมชอบมาก และอยากกลับไปเยือนครั้งใหม่ไว ๆ เลยครับ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย