ช่วงราวปี 2524 ยุคที่ทุกบ้านนั่งล้อมรอบดูทีวีจอตู้เล็ก ๆ ตอนนั้นรายการ ‘ครอบจักรวาล’ ของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นรายการโด่งดังมากในยุคนั้น ได้นำวงดนตรีไทยแปลก ๆ วงหนึ่งมาออกรายการ มีฝรั่งหนุ่มชาวอเมริกันคนหนึ่งกับครูดนตรีไทยอาวุโสเล่นดนตรีด้วยกัน โอโห…วงนี้แปลกจัง ดูนักเปียโนคนนั้นสิ เขาเล่นได้อย่างไรกัน เสียงประสานกับแนวทำนองที่สอดรับกับเครื่องดนตรีไทยที่ฟังแปลกประหลาด แต่ไพเราะมีเสน่ห์ เสียงดนตรีเคลื่อนไหวอย่างมีพลังซ่อนเร้น แต่อธิบายไม่ได้…”

ไกวัล กุลวัฒโนทัย ศิลปิน นักแต่งเพลงชื่อดังเล่าว่า นั่นคือวงฟองน้ำในยุคเริ่มต้น และเป็นจุดเริ่มต้นที่คิดอยากไปเรียนดนตรีกับนักเปียโนคนนี้ ผู้กลายเป็นตำนานของวงการดนตรีไทยร่วมสมัยไปแล้ว

“ถ้าจะมีใครสักคนที่เรียกได้ว่าเป็นนักดนตรียิ่งใหญ่ ผู้มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีไทยร่วมสมัยยุคใหม่แล้ว คงจะมีแต่ชื่อของ บรูซ แกสตัน นักดนตรีฝรั่งหัวใจไทยคนนี้เท่านั้น”

“เล่นทั้งตัว ทำอะไร ทำทั้งตัว” ชีวิตของบรูซ แกสตัน ผู้ต่อชีวิตดนตรีไทยร่วมสมัยยุคใหม่

ชาวต่างประเทศผู้หลงรักเครื่องดนตรีไทยและทำงานหนักมาตลอดระยะเวลา 50 กว่าปี จนสามารถผสมผสานเสน่ห์ของดนตรีไทยเข้ากับดนตรีสากล กลายมาเป็นเสียงเพลงแห่งความสุข สนุกสนาน และทั่วโลกยอมรับ

บรูส แกสตัน เกิดที่เมืองเกลนเดล รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2489 เขาเป็นอัจฉริยะทางดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ๆ เล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลาย โดยเฉพาะเปียโน จากการฝึกซ้อมและเคี่ยวกรำอย่างหนักของครอบครัวนักดนตรี จนจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านดนตรีที่มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย

ในช่วงเวลานั้นเอง เกิดสงครามกลางเมืองในเวียดนาม ซึ่งเวลานั้นยังแบ่งเป็นประเทศเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามใต้ และได้เกณฑ์ชาวอเมริกันเข้าร่วมสงครามถึง 5 แสนคน ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงของคนหนุ่มสาวที่ต่อต้านสงครามไปทั่วประเทศ รวมถึงบรูซ แกสตัน ในวัยหนุ่มด้วย และไม่ยอมถูกเกณฑ์ทหาร

บรูซ แกสตัน เคยให้สัมภาษณ์ว่า

“ผมเข้ามาประเทศไทยเมื่อ ค.ศ. 1969 ไม่เห็นด้วยกับสงครามเวียดนาม ไม่ยอมเป็นทหาร…ไม่อยากฆ่า…แล้วก็ผมเป็นมังสวิรัติ กฎหมายอเมริกันก็เปิดโอกาสให้ ผมจึงเลือกมาสอนดนตรี ใช้เวลาสองปีเท่ากับการเป็นทหาร รับค่าจ้างถูก ๆ ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมแบบนี้…”

“เล่นทั้งตัว ทำอะไร ทำทั้งตัว” ชีวิตของบรูซ แกสตัน ผู้ต่อชีวิตดนตรีไทยร่วมสมัยยุคใหม่

ใน พ.ศ. 2512 เมื่ออายุ 22 ปี รัฐบาลอเมริกันได้ส่ง บรูซ แกสตัน มาเมืองไทย แลกเปลี่ยนกับการถูกเกณฑ์เป็นทหาร เขาเป็นครูอาสาสมัครสอนดนตรีในโรงเรียนผดุงราษฎร์ ภายใต้การดูแลของคริสตจักรแห่งหนึ่งที่จังหวัดพิษณุโลก ในระหว่างนั้นหนุ่มฝรั่งผิวขาวปริญญาโทด้านดนตรี แว่วเสียงดนตรีพื้นบ้านปี่พาทย์นางหงส์ที่บรรเลงขณะเผาศพในป่าช้า รู้สึกถึงเสน่ห์ของดนตรีพื้นบ้านขึ้นมาทันที จนไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หัดเล่นเครื่องดนตรีไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมาอาจารย์บรูซได้รับเชิญให้ไปสอนที่วิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ (มหาวิทยาลัยพายัพในปัจจุบัน) จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลา 10 กว่าปี ทำให้เขามีโอกาสได้ซึมซับดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านอย่างจริงจัง เริ่มต้นการหัดระนาดเอกอย่างจริงจัง และนำวงดนตรีไทยและนักแสดงไทยไปแสดงที่รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นเวลาเดือนกว่า

อาจารย์บรูซ หรือชื่อไทยว่า บุรุษ เกศกรรณ เป็นครูสอนนักเรียนในเชียงใหม่นับสิบปี จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้ยินเสียงปี่พาทย์ของชาวบ้านในงานแห่งหนึ่ง

“วันนั้นมีมหกรรมดนตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวงดนตรีไทยหลายวงมาบรรเลง ผมกำลังนั่งคุยกับเพื่อน กระทั่งได้ยินเสียงเพลง ‘ชเวดากอง’ จากวงดนตรีไทยวงหนึ่ง ฟังแปล๊บเดียว โอ้โห มีสำเนียงไพเราะวิเศษมาก ผมรู้ว่าเป็นเพลงที่แต่งในปัจจุบัน เลยอยากรู้ว่าใครแต่ง ไปสืบมาจนรู้ว่าเป็น ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูดนตรีไทยอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมก็นั่งรถไฟเข้ากรุงมาพบแก บอกว่าฟังเพลงนี้แล้วประทับใจมาก อยากต่อเพลงนี้ และขอเป็นลูกศิษย์”

เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของนักดนตรีฝรั่งคนนี้ เขาทุ่มเทชีวิตฝึกฝนการตีฆ้องวง ระนาดเอก รวมไปถึงทฤษฎีดนตรีไทยกับครูบุญยงค์ เกตุคง ปรมาจารย์ระนาดเอก จนกลายเป็นนักดนตรีไทยมืออาชีพคนหนี่ง และเป็นจุดเริ่มต้นเมื่อทั้งสองคนร่วมกันก่อตั้งวง ‘ฟองน้ำ’ (Fong-Naam) ขึ้นใน พ.ศ. 2523 เป็นวงดนตรีร่วมสมัย ผสมผสานดนตรีไทยกับดนตรีตะวันตก โดยมีแนวคิดปรัชญาพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานสำคัญ สร้างสรรค์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ

“เล่นทั้งตัว ทำอะไร ทำทั้งตัว” ชีวิตของบรูซ แกสตัน ผู้ต่อชีวิตดนตรีไทยร่วมสมัยยุคใหม่

ต่อมามีสมาชิกที่สำคัญในช่วงแรกนอกเหนือจาก 2 ท่านที่กล่าวไปแล้ว ประกอบด้วย บุญยัง เกตุคง, จำเนียร ศรีไทยพันธุ์, จิรพรรณ อังศวานนท์, เทวัญ ทรัพย์แสนยากร, พิณ เรืองนนท์ และมีนักดนตรีอีกมากมายเข้ามาร่วมงาน ทั้งนักดนตรีไทย นักดนตรีพื้นบ้าน นักดนตรีสากล นักดนตรีรุ่นเก่า นักดนตรีรุ่นใหม่ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างสรรค์บทเพลงออกมาจำนวนมาก จนเป็นที่กล่าวขวัญทั้งภายในและนอกประเทศ

ชื่อของวงฟองน้ำ มาจากชื่อของเพลงไทยโบราณเพลงหนึ่ง ชื่อว่าเพลง ‘ฟองน้ำ’

“แม้ฟองน้ำจะเป็นเพียงอากาศธาตุในมวลน้ำ เกิดจากความว่างไร้แก่นสารที่ถูกธรรมชาติปรุงแต่งจนมองเห็น รู้สึกในรูปทรงอุปมาสมมติได้จากอากาศธาตุภายใน เคลื่อนย้ายคลี่คลายไปสู่อากาศธาตุภายนอก กระทบความว่างเปล่าที่ไพศาลกว่าเบื้องบนผิวน้ำจนแตกดับสลาย ว่างเปล่าไร้ตัวตน ทุกอย่างเกิดและดับในระยะเวลาอันแสนสั้น

“เช่นเดียวกับชีวิตที่ไม่อาจตั้งอยู่ได้ตลอดกาล แต่ฟองน้ำนั้นก็ยังถูกธรรมชาตินำพาย้อนกลับมาทำหน้าที่ครูของชีวิตให้เราได้ตระหนักถึงความไม่จีรังยั่งยืน สิ่งสมมติที่ไม่อาจยึดเหนี่ยวรักษาเอาไว้ตามกฎไตรลักษณ์ สิ่งที่ใครไม่อาจยึดครองเป็นเจ้าของได้ วัฏจักรของฟองน้ำสอนให้เห็น”

“เล่นทั้งตัว ทำอะไร ทำทั้งตัว” ชีวิตของบรูซ แกสตัน ผู้ต่อชีวิตดนตรีไทยร่วมสมัยยุคใหม่

ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปี บรูซ แกสตัน และวงฟองน้ำ ได้ผลิตผลงานออกมามากมาย ตั้งแต่การแสดงคอนเสิร์ต แต่งเพลงประกอบละคร ภาพยนตร์ ผลิตแผ่นบันทึกเสียง และเดินทางไปแสดงต่างประเทศ ร่วมงานกับศิลปินมีชื่อมากมาย ด้วยการนำเพลงไทยเดิมมาเรียงเรียงใหม่ให้น่าสนใจ จนได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมทั่วโลก ถึงเสน่ห์ของเพลงไทยเดิมที่แทบจะกลายเป็นเพลงล้าสมัยไปแล้ว

วงฟองน้ำเป็นตัวอย่างที่ดีของการรักษาวัฒนธรรมไทย ที่ไม่ได้ล้มหายตายจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ด้วยการดัดแปลงประยุกต์ให้เพลงไทยเดิมกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

ในช่วงเวลานั้น บรูซ แกสตัน ยังเป็นอาจารย์ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนหลักการเปล่งเสียง การแต่งเพลงประกอบละคร ข้ามไปสอนทฤษฎีดนตรี การเรียบเรียงเสียงประสานให้กับคณะศิลปกรรมศาสตร์ด้วย อาจารย์เคยพูดเสมอว่า

“ทางของการประสานเสียงโน้ตเพลง ไม่ได้ไปตามกฎเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความไพเราะงดงามในระหว่างทางด้วยเสมอ”

“เล่นทั้งตัว ทำอะไร ทำทั้งตัว” ชีวิตของบรูซ แกสตัน ผู้ต่อชีวิตดนตรีไทยร่วมสมัยยุคใหม่
“เล่นทั้งตัว ทำอะไร ทำทั้งตัว” ชีวิตของบรูซ แกสตัน ผู้ต่อชีวิตดนตรีไทยร่วมสมัยยุคใหม่

สมพล ชัยสิริโรจน์ อดีตผู้บริหารของบริษัทไอซีซี และลูกศิษย์การละครเคยกล่าวว่า

“จะรู้ว่าครูบาอาจารย์ให้อะไรกับเราไว้ เมื่อเราตระหนักได้ว่า ปราศจากอะไรที่ครูให้ไว้นั้น เราจะไม่มีวันเป็นเรา เช่นที่เราเป็นในวันนี้ หากปราศจากถ้อยคำที่ครูบรูซ เคยตอกย้ำซ้ำ ๆ ว่า ‘เล่นทั้งตัว ทำอะไร ทำทั้งตัว’

10 กว่าปีที่เป็นอาจารย์ บรูซมีส่วนสำคัญผลักดันให้ละครเวทีของคณะฯ หรือเรียกติดปากว่า ละครอักษร ในเวลานั้นกลายเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของละครเวที อาทิ คนดีที่เสฉวน, พรายน้ำ, นิมิตมายา, ราโชมอน, กามนิต-วาสิฎฐี ฯลฯ

เช่นเดียวกับที่เขาได้สร้างสรรค์บทเพลงใหม่ ๆ ขึ้นมา อาทิ ‘เจ้าพระยาคอนแชร์โต’ เป็นบทเพลงสายน้ำและแฝงเร้นแนวคิดวัฏสงสารของพุทธปรัชญาที่บรูซ แกสตัน มีความสนใจปรัชญาตะวันออกมานาน นอกเหนือจากการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยชื่อดังหลายเรื่อง อาทิ ไผ่แดง (2522) เงาะป่า (2523) หลวงตา (2523) เงิน เงิน เงิน (2526) นวลฉวี (2529)

ฟองน้ำ อาจจะเป็นวงดนตรีไทยวงเดียว ที่มีโอกาสเดินทางไปร่วมแสดงดนตรีในต่างประเทศกับศิลปินชื่อดังทั่วโลกบ่อยครั้งที่สุด ไม่ว่าหลายประเทศในยุโรป อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฯลฯ ด้วยเอกลักษณ์ของวงที่สามารถผสมผสานเพลงไทยเดิมเข้ากับเพลงสากล เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของดนตรีไทย ทำให้ท่วงทำนองเพลงไทยได้รับการยกย่องว่า เป็นเพลงฟังแล้วมีเสน่ห์ลึกซึ้งหลากหลายอารมณ์ สนุก สงบ และสร้างชื่อเสียงให้กับวงการดนตรีไทยตลอดระยะเวลาร่วม 40 ปีจนถึงปัจจุบัน

อาจารย์บรูซ แกสตัน เคยให้สัมภาษณ์ถึงวงฟองน้ำว่า

จากแคลิฟอร์เนียถึงเมืองไทย ชีวิตนักดนตรีของ ‘บรูซ แกสตัน’ ผู้ก่อตั้งวงฟองน้ำ และทุ่มเทพาดนตรีไทยไปสากล

“จุดประสงค์ในการทำเพลงของวงฟองน้ำ คือการทดลอง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป คือแทนที่จะทิ้งดนตรีไทยแล้วไปเล่นดนตรีฝรั่งเลย หรือคิดว่าเล่นดนตรีไทยเชย ดนตรีฝรั่งไม่เชย ก็ไม่จำเป็น หรือถ้าเป็นดนตรีไทยแต่เป็นเล่นแบบฝรั่ง คือต้องเป็นวงขนาดใหญ่ มีนักดนตรีมาก ก็ไม่จำเป็น เพราะไม่ใช่ลักษณะของเครื่องดนตรีไทยที่มีความเฉพาะตัว แต่ก็ไม่เหมือนดนตรีอินเดียที่เล่นคนเดียว

ดนตรีอินเดียมีความเป็นตัวตนสูง เล่นคนเดียวไปแสวงหาสวรรค์ แสวงหาสัจจะ ขณะที่ดนตรีไทยเล่นเป็นวง ร่วมประสาน ร่วมบรรเลง ไปถึงจุดอันไพเราะมีสุนทรีย์ ไม่ใช่เล่นคนเดียว แต่ในบางช่วงก็มีอิสระในการเล่นคนเดียว ไปคนเดียว และสุดท้ายก็มาประสานกันได้”

พ.ศ. 2542 โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ได้รับเกียรติจากอาจารย์บรูซ แกสตัน และวงฟองน้ำ มาเล่นประจำบนเวที จนกลายเป็นเสน่ห์ของโรงเบียร์ที่มีแฟนเพลงติดตามจำนวนมาก ทำให้คนไทยจำนวนมากที่ไม่เคยฟังเพลงแนวนี้ ได้รู้จักและซาบซึ้งกับเพลงไทยร่วมสมัย ตั้งแต่เพลงไทยเดิม เพลงลูกทุ่ง เพลงแจ๊ส วัฒนธรรมต่างยุคต่างสมัย ที่นำมาเรียบเรียงและบรรเลงได้อย่างกลมกล่อม ตลอดระยะเวลา 20 ปี จนกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของที่แห่งนี้

อานันท์ นาคคง สมาชิกสำคัญของวงฟองน้ำ ได้เคยเขียนถึงอาจารย์ว่า

บรูซ แกสตัน เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับสังคมไทย เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ต่อการสร้างสรรค์ศิลปะดนตรี เกิดสุนทรียภาพใหม่ ๆ ในการเสพชมดนตรี เกิดคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเดินต่อไป และการค้นพบพื้นที่เติบโตใหม่ของสิ่งที่เคยถูกเรียกว่า ดนตรีไทยเดิม นี่คือประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่เชื่อมโยมให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ ถึงความอัศจรรย์ของศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน”

เช้าวันที่ 17 ตุลาคม 2564 บรูซ แกสตัน ได้เดินทางไกลไปสู่สรวงสวรรค์ ทิ้งไว้แต่ตำนานนักดนตรีร่วมสมัย ที่น้อยคนจะใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าในช่วงเวลาบนโลกมนุษย์

จากแคลิฟอร์เนียถึงเมืองไทย ชีวิตนักดนตรีของ ‘บรูซ แกสตัน’ ผู้ก่อตั้งวงฟองน้ำ และทุ่มเทพาดนตรีไทยไปสากล

เป็นร้อยวันพันปีจะมีหนึ่ง

บุรุษซึ่งพากเพียรรู้เรียนร่ำ

ดนตรีทั้งไทย-เทศเป็นธงนำ

ทั้งรู้จำ รู้จริง ไม่ทิ้งรอย”

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว