ให้เวลา 10 วินาที ลองนึกชื่อเพื่อนบ้านหรือเพื่อนข้างห้อง และคนที่ถัดจากนั้นไปอีกจนครบทั้งหมู่บ้านหรือทั้งชั้น หลายคนอาจไล่ชื่อได้ไม่ครบ บางคนเจอกันข้างนอกยังนึกไม่ออกเลยว่าเราอยู่คอนโดฯ เดียวกัน แต่เมืองแห่งนี้ที่เราบินลัดจอพาไปชม จะทำให้คุณจำเพื่อนบ้านได้จนครบทั้งหมู่บ้าน เพราะ Haveforeningen Harekær เมืองบรอนด์บี้ (Brøndby) ประเทศเดนมาร์ก หรือที่ใครๆ เรียกกันติดปากว่า ‘Brondby Garden City’ ที่สร้างจากแนวคิดยูโทเปีย ซึ่งหลายคนยังไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง แต่สร้างมาแล้วเกือบ 60 ปี

จึงไม่แปลกใจที่โคเปนเฮเกนจะได้รับการประกาศโดย UNESCO ให้เป็น World Capital of Architecture ใน ค.ศ. 2023 

แล้วทำไมที่นี่ถึงวางผังเมืองล้ำไม่ซ้ำใคร โดยแบ่งเป็นบ้านในวงกลมเหมือนตัดพิซซ่าออกเป็นชิ้นๆ และการออกแบบเช่นนี้ ช่วยให้ผู้อยู่เปี่ยมสุขภาพกายใจ พร้อมทำให้สิ่งแวดล้อมของเมืองดีอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เราจะพาย้อนกลับไปฟังเรื่องราวเบื้องหลังหมู่บ้านสีเขียวนอกเมืองพร้อมกัน

01 ทำไมต้องเป็นวงกลม

พูดถึงเดนมาร์ก นอกจากความหนาวหรือโคนม นี่เป็นประเทศที่คิดถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองมาเป็นอันดับแรกๆ และเราเชื่อเหลือเกินว่า Urbanism ที่พวกเขาให้ความสำคัญนักคือหัวใจหลักของการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนได้ 

หรือนี่จะเป็นสาเหตุของการสร้างหมู่บ้านเป็นวงกลม ?

จากแนวคิดเดิมของหมู่บ้านในศตวรรษที่ 18 ที่ชาวเมืองมักสร้างบ่อน้ำและพื้นที่รวมพลตรงกลางไว้ให้ชุมชนได้บอกเล่าเก้าสิบ สังสรรค์และแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของสังคมเพื่อนบ้านในละแวก 

รวมถึงผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเมืองแห่งสวนอย่าง เอเบเนเซอร์ ฮาวเวิร์ด (Ebenezer Howard) เจ้าพ่อแนวคิดยูโทเปียหรือเมืองในอุดมคติ 

Brøndby Garden City หมู่บ้านวงกลมที่อยากเชื่อมสัมพันธ์จากเมืองถึงคนและพื้นที่สีเขียว
ภาพ : Ebenezer Howard

เอเบเนเซอร์ คือผู้เขียนเรื่อง The Three Magnets Diagram ไดอะแกรมแม่เหล็ก 3 อัน สรุปเรื่องเมืองเอาไว้ในหนังสือ Garden Cities of Tomorrow ว่าด้วยทฤษฎีการวางผังเมืองจำลอง บอกเล่าข้อดี-ข้อเสียของการวางผังแบบเมืองและชนบท ก่อนนำไปใช้กับเมืองในสวนว่า เรานำข้อดีและมีเมืองที่อยู่ร่วมกันอย่างสมดุลทั้งแบบชุมชนเมืองและเกษตรกรรม จนสร้างความเป็นอยู่ที่ดีทุกด้านผ่านการวางผังเมืองในฝันเช่นนี้ได้ ขนาด ลูอิส มัมฟอร์ด (Lewis Mumford) นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมชื่อดังชาวอเมริกันยังกล่าวเอาไว้ว่า สิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ยิ่งใหญ่ในยุคต้นศตวรรษที่ 20 มี 2 อย่าง คือเครื่องบินและ Garden City นี่แหละ 

แนวคิดนี้กลายเป็นต้นแบบแลนด์มาร์กที่ล้ำสุดๆ ในยุคนั้น เลยเป็นแนวคิดสร้างหมู่บ้านลักษณะวงกลม-วงรีกันยกใหญ่ จน Oval Community Garden หมู่บ้านสวนวงกลม นำไปใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดสังคมแบบชนบทในเมืองหลวง คือทุกคนในบริเวณรั้วชิดจะได้สนิทกัน

Brøndby Garden City หมู่บ้านวงกลมที่อยากเชื่อมสัมพันธ์จากเมืองถึงคนและพื้นที่สีเขียว
ภาพ : Nicolas Cosedis

ต่อมา เอริก ไมกินด์ (Erik Mygind) ภูมิสถาปนิก เลยหยิบเอาแนวคิดนี้มาพัฒนาต่อยังเมืองบรอนด์บี้ กลายเป็นหมู่บ้านลักษณะเฉพาะตัว และ ค.ศ.1964 ก็ได้รับการอนุมัติจากเทศบาลเมืองให้จัดสรรพื้นที่นี้ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและชุมชน เป็นหูเป็นตาให้กัน และรู้จักมักจี่เพื่อนบ้านทุกคนจนกลายเป็นสังคมเอื้อเฟื้อในอุดมคติขึ้นจริง

ด้วยหน้าตาแปลกประหลาด จินตนาการของผู้คนก็มองเจ้าหมู่บ้านในสวนหลากหลายมาก ทั้งเหมือนพวงองุ่นบ้าง ล้อรถบ้าง คนก็ว่านี่คืออารยธรรมจากนอกโลก 

แต่หลังจากโครงสร้างเสร็จไม่นาน ก็มีหลายบ้านเริ่มถูกจับจอง ปัจจุบันหมู่บ้านมีวงกลมทั้งหมด 24 วง ซึ่งแต่ละวงประกอบด้วยบ้านหลาย 10 หลังในพื้นที่ประมาณ 100 ตารางวา 

Brøndby Garden City หมู่บ้านวงกลมที่อยากเชื่อมสัมพันธ์จากเมืองถึงคนและพื้นที่สีเขียว

02 ทำไมถึงอยากอยู่เมืองนี้

ในระยะแรก การออกแบบเริ่มจากวงกลม 12 หน่วย ประกอบด้วยที่ดินจำนวน 284 ยูนิต ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็นแปลงรูปลิ่ม หรือที่ใครหลายคนมองเหมือนชิ้นพิซซ่า แบ่งตามการจัดสรรของสมาชิกแต่ละกลุ่ม ทำให้ได้ออกมาเป็นพื้นที่อาคารสำหรับสร้างบ้านประมาณ 50 ตารางเมตร และอนุญาตให้ถือครองได้นานถึง 30 ปี 

จากนั้นเมื่อเกิดการประชุมผู้อยู่อาศัยหรือ ‘Folkets Hus’ ก็ลงความเห็นกันว่า ควรมีสวนเพิ่มเติม ขยายไปอีกฟากถนน เกิดเป็นหมู่บ้านวงกลมขบาบสองฟากฝั่ง แถมความน่ารักคือเขาแจกจ่ายอุปกรณ์เพาะปลูกเริ่มต้นและต้นไม้ให้ช่วยกันปลูกเป็นแนวรั้วและล้อมรอบพื้นที่ต่างๆ ส่วนที่ว่างก็ตกเป็นของชุมชนให้แวะเวียนมาทำกิจกรรมร่วมกันได้

Brøndby Garden City หมู่บ้านวงกลมที่อยากเชื่อมสัมพันธ์จากเมืองถึงคนและพื้นที่สีเขียว

ความน่าอยู่แรกคือ หมู่บ้านแห่งนี้ออกห่างจากตัวเมืองที่เสียงดังและแสนวุ่นวาย แถมยังมีสวนหน้าบ้านคอยลดเสียงรบกวนจากการทำกิจกรรม บรรยากาศรอบข้างก็สีเชียวเต็มที่ คนที่อยากดื่มด่ำกับธรรมชาติก็มาสูดอากาศได้เต็มปอด

สำรวจบ้านในวงกลมตามฉบับดินแดนอุดมคติของเดนมาร์ก เพื่อบ้านหลังที่สองของคนเมืองให้ปลูกต้นไม้และได้รู้จักบ้านข้างๆ

ข้อสองคือ แม้พื้นที่ค่อนข้างเล็ก แต่ที่นี่กลับมีความเป็นส่วนตัวและสร้างสัมพันธ์ได้ แม้มีกำแพงต้นไม้ที่กั้นแบ่งพื้นที่สำหรับบ้าน 16 – 24 หลังต่อหนึ่งโซนวงกลม ไม่ให้รบกวนกัน แต่สุดท้ายต้องใช้ทางออก รวมถึงลาดจอดรถหน้าบ้านร่วมกันอยู่ดี และมีลานกิจกรรมใช้จัดปาร์ตี้และแสดงดนตรีสด เพื่อกระชับมิตรฉันเพื่อนบ้านให้แนบแน่น

สำรวจบ้านในวงกลมตามฉบับดินแดนอุดมคติของเดนมาร์ก เพื่อบ้านหลังที่สองของคนเมืองให้ปลูกต้นไม้และได้รู้จักบ้านข้างๆ
สำรวจบ้านในวงกลมตามฉบับดินแดนอุดมคติของเดนมาร์ก เพื่อบ้านหลังที่สองของคนเมืองให้ปลูกต้นไม้และได้รู้จักบ้านข้างๆ
ภาพ : kolonihave.nu
สำรวจบ้านในวงกลมตามฉบับดินแดนอุดมคติของเดนมาร์ก เพื่อบ้านหลังที่สองของคนเมืองให้ปลูกต้นไม้และได้รู้จักบ้านข้างๆ
ภาพ : Per Asbjørn Thanning

ข้อสาม บ้านใน Brøndby Garden City มีระบบน้ำประปา-ไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ครบ พร้อมการออกแบบที่คำนวณองศาการเอียงมาเรียบร้อย ว่าส่วนที่แคบที่สุดของพื้นที่จะรับแสงที่เพียงพอ รวมถึงพุ่มไม้ที่ไล่ระดับเพื่อรับแสงให้สังเคราะห์อย่างเต็มอิ่ม แถมถ้าผู้อยู่อาศัยอยากใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาสร้างเป็นความร้อนหรือไฟฟ้าก็ต่อเติมเองได้ พร้อมมีแปลงสวนจำนวน 284 แปลงให้ทำการเกษตรอีกด้วย 

ถ้าหลังจากฟัง 3 ข้อนี้ แล้วอยากบินไปซื้อบ้านอยู่บ้าง เราต้องแสดงความเสียใจล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ เพราะเขาเปิดให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตรเท่านั้นถึงมีสิทธิ์จับจองแบบถาวรได้ แต่ไม่ได้ให้อยู่ทั้งปี!

Brøndby Garden City หมู่บ้านวงกลมที่อยากเชื่อมสัมพันธ์จากเมืองถึงคนและพื้นที่สีเขียว
ภาพ : Google Earth

แม้จะจับจองเป็นเจ้าของบ้านแล้ว ก็อยู่ได้แค่ช่วงเดือนเมษายน-ปลายเดือนกันยายนเท่านั้น เพราะตามกฎหมายท้องถิ่น จะป้องกันไม่ให้ใครก็ตามเข้าครอบครองทรัพย์สินนานกว่า 6 เดือนในแต่ละปี ดังนั้น ชาวเมืองที่ซื้อบ้านหลังที่สองเอาไว้ที่นี่ มักแวะมาแค่ช่วงหน้าร้อนเพื่อพักผ่อนหรือเพาะปลูก หลังจากนั้นจะกลับบ้านไปในช่วงฤดูหนาว ส่วนถ้าอยากได้สวนก็ต้องเช่าเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกคนได้เวียนกันมาใช้ได้

03 ทำไมอนาคตถึงควรมีเมืองในสวน

เห็นแบบนี้แล้ว ก็มีความคิดหลากหลายเกิดขึ้น บางคนอาจไม่ชอบใจเพราะผังเมืองที่แตกต่างจากบริเวณโดยรอบเหลือเกิน หรือเพราะมีข้อจำจัดบางอย่าง แต่หากลองมองอีกแง่มุม ทางทีมผู้สร้างเองก็พยายามเสนอวิธีการแก้ปัญหา โดยหยิบเอาทฤษฎีการวางผังเมืองในตำรามาบูรณาการชีวิตแบบในเมืองและพื้นที่สีเขียวเข้าไว้ด้วยกัน 

สำรวจบ้านในวงกลมตามฉบับดินแดนอุดมคติของเดนมาร์ก เพื่อบ้านหลังที่สองของคนเมืองให้ปลูกต้นไม้และได้รู้จักบ้านข้างๆ
ภาพ : Per Asbjørn Thanning

และที่สำคัญ หลังจากสืบค้นไปมาก็พบว่ามีหมู่บ้านวงกลมแบบไทยๆ เกิดขึ้นแล้ว ที่ ‘หมู่บ้านทัพไทย’ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกินตามแนวเขตชายแดนได้มีพื้นที่ทำกิน รวมถึงช่วยกันสอดส่องดูแลพื้นที่ร่วมกัน 

Brøndby Garden City หมู่บ้านวงกลมที่อยากเชื่อมสัมพันธ์จากเมืองถึงคนและพื้นที่สีเขียว
ภาพ : Google Earth

ไม่แน่นะว่าวิธีนี้จะทำให้เราอยู่ในชุมชนที่รู้จักกันทั่วถึงและเห็นกันได้ตามแนวรั้ว และสังคมแบบยูโทเปียที่คนรักใคร่แบ่งปันอาจเกิดขึ้นจริงได้ในสักวันหนึ่ง

ข้อมูลอ้างอิง

www.archdaily.com https://haveforeningen-harekaer.dk

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง