11 มิถุนายน 2021
537

สิงโตทองและยูนิคอร์นขาวโอบโล่ตระการ อุ้งเท้าเหยียบข้อความ Dieu et mon Droit อวดโฉมอยู่หน้าประตู ร้อยปีหลังจากเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรย้ายที่ทำการจากเจริญกรุงไปอยู่เพลินจิต ตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักรกลับมาอยู่บนถนนเจริญกรุงอีกครั้ง 

เปลี่ยนเศษไม้ใหญ่ในสถานทูตอังกฤษเดิม เป็นเฟอร์นิเจอร์ฝีมือนักออกแบบไทย

หลังจากสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยตัดสินใจขายอาคารและพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ ในย่านเพลินจิต สร้างปรากฏการณ์ซื้อขายที่ดินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยใน ค.ศ. 2018 สถานทูตและทำเนียบทูตอังกฤษย้ายไปอยู่ต่างพื้นที่กันเป็นครั้งแรก โดยปัจจุบันสถานทูตอยู่ที่ AIA Sathorn Tower และทำเนียบทูตอยู่ในอาคารสูงย่านเจริญกรุง ซึ่งมองเห็นทิวทัศน์ริมเจ้าพระยาได้ถนัดตา

“การย้ายทำเนียบทูตไม่ใช้สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ปกติทูตจะย้ายบ้านเมื่อย้ายไปประเทศใหม่ ทำเนียบใหม่นี้โมเดิร์นกว่าเดิมมาก”

ท่านทูตไบรอัน เดวิดสัน (Brian Davidson) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร​ประจำประเทศไทย ผู้กำลังจะย้ายไปเป็นกงสุลใหญ่ประจำฮ่องกงและมาเก๊า อธิบายเมื่อเปิดบ้านพักต้อนรับ 

“ที่นั่น (ทำเนียบทูตเดิม) มีความหมายกับเรามาก ตอนเรามาเมืองไทยเมื่อห้าปีก่อน เราไม่มีลูก แต่ตอนนี้เราเป็นครอบครัวที่มีลูกสามคน มีช่วงเวลาที่สวยงามและมีความสุขมากที่ตรงนั้น” สก็อตต์ ชาง (Scott Chang) สามีชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม FREC Bangkok กล่าวสมทบ

เปลี่ยนเศษไม้ใหญ่ในสถานทูตอังกฤษเดิม เป็นเฟอร์นิเจอร์ฝีมือนักออกแบบไทย
ภาพ : Numchok Sawangsri

ก่อนครอบครัวของคุณพ่อ 2 คนและเด็กๆ 3 คนจะย้ายออกจากประเทศไทย พวกเขาตัดสินใจร่วมมือกับกลุ่มช่างไม้รุ่นใหม่ชาวไทย เพื่อเก็บความทรงจำของสถานทูตย่านเพลินจิตในรูปแบบเฟอร์นิเจอร์และประติมากรรม ที่สร้างจากเศษไม้จามจุรีในสวน

The Cloud เคยเล่าประวัติและความพิเศษของสถานทูตอังกฤษเดิมไว้แล้ว ก่อนชิ้นส่วนเหล่านี้จะแยกย้ายไปอยู่ในที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เราจึงขอนำโปรเจกต์ที่ระลึกถึงพื้นที่เก่าแก่แสนสวยมาเล่าสู่กันฟัง 

เปลี่ยนเศษไม้ใหญ่ในสถานทูตอังกฤษเดิม เป็นเฟอร์นิเจอร์ฝีมือนักออกแบบไทย
เปลี่ยนเศษไม้ใหญ่ในสถานทูตอังกฤษเดิม เป็นเฟอร์นิเจอร์ฝีมือนักออกแบบไทย
ภาพ : ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

“เราต้องการเก็บชิ้นส่วนของทำเนียบเดิมไว้ เป็นที่ระลึกว่าอดีตจะอยู่ร่วมกับเราในอนาคต ไม้พวกนี้มีความหมายกับพวกเรามาก มันอยู่ในสวนที่ลูกๆ วิ่งเล่น แต่ละชิ้นจึงเป็นตัวแทนความทรงจำดีๆ แสนพิเศษ เราจะนำชิ้นงานบางส่วนไปกับเราเป็นที่ระลึกถึงบ้านในกรุงเทพฯ บางส่วนมอบเป็นของที่ระลึก และอีกส่วนหนึ่งจะมอบให้สถานทูตที่นี่” 

งานไม้ที่ท่านทูตเอ่ยถึง ได้แก่ ม้านั่ง ประติมากรรม โต๊ะทานข้าว โคมไฟ และแจกัน งานนี้เกิดขึ้น ค.ศ. 2020 เมื่อเกิดการย้ายต้นไม้ใหญ่ในสวนสถานทูตเดิม กิ่งก้านต้นจามจุรีร่วงหล่นเป็นเศษเหลือทิ้ง สก็อตต์เห็นท่อนไม้เหล่านั้นก็เกิดไอเดียให้สหายดีไซเนอร์งานไม้ เฉย-ภาคภูมิ ยุทธนานุกร หรือ นานุ ออกแบบผลงานที่ระลึก เฉยจึงชักชวนเพื่อนฝูงช่างไม้กลุ่ม Grains & Grams ที่เขาก่อตั้ง มาร่วมสนุกออกแบบด้วย

เปลี่ยนเศษไม้ใหญ่ในสถานทูตอังกฤษเดิม เป็นเฟอร์นิเจอร์ฝีมือนักออกแบบไทย

“สก็อตต์โทรมาหาผมบอกว่าเสียดายไม้ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เขาเสียดายมากกว่าคือความทรงจำทั้งหลาย สถานที่ตรงนั้นสวยจริงๆ เขาใช้เวลาอยู่กับมัน แล้วได้เห็นความเปลี่ยนแปลง เขาคงอยากจะเก็บอะไรไว้สักอย่างครับ ผมเลยขนไม้ไปโรงเลื่อย โรงอบ แล้วคิดว่าจะออกแบบของเครื่องใช้ในทำเนียบทูตใหม่ แต่สุดท้ายก็ทำให้เป็นงานศิลปะขึ้นหน่อย บ่งบอกถึงความทรงจำ ถึงความเปลี่ยนผ่านทางกาลเวลามากกว่า”

ดีไซเนอร์หลักโครงการนี้เล่าเสริมว่าทำเนียบนี้มีเครื่องใช้เพียบพร้อม ทั้งเฟอร์นิเจอร์โบราณจากทำเนียบเดิมที่ท่านทูตไบรอันเลือกมา เช่น โต๊ะกลมหินอ่อน ตู้ลายรดน้ำแบบไทย และตู้ไม้ฝังมุกจีน บวกกับเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัยมากมาย ซึ่งนักออกแบบตกแต่งภายในดูแลให้เสร็จสรรพ ข้าวของที่เฉยและพรรคพวกประดิษฐ์ใหม่จึงเป็นของใช้ส่วนตัวที่ครอบครัวปรารถนา

เยือนทำเนียบทูตอังกฤษ สนทนาเรื่องการชุบชีวิตเศษไม้จามจุรีในสถานทูตเก่า เป็นของใช้ที่ระลึกถึงวันวานในย่านเพลินจิต
เยือนทำเนียบทูตอังกฤษ สนทนาเรื่องการชุบชีวิตเศษไม้จามจุรีในสถานทูตเก่า เป็นของใช้ที่ระลึกถึงวันวานในย่านเพลินจิต

พิษณุ นำศิริโยธิน สร้างโต๊ะทานข้าวตัวใหญ่ ซึ่งเป็นของที่ครอบครัวท่านทูตชื่นชอบและอยากนำไปใช้จริง

พิชาญ สุจริตสาธิต ทำโคมไฟรูปเห็ด ที่ได้แรงบันดาลใจจากโคมพลาสติกและแจกัน 33 ใบ หน้าตาไม่ซ้ำกันสักใบ ดึงความงามออกมาจากความสามัญ แจกันเหล่านี้ไม่ต้องใส่น้ำ เพราะตั้งใจว่าดึงดอกไม้ข้างทางหรือดอกไม้แห้งๆ มาใส่ก็สร้างรูปทรงที่สวยงามออกมาได้

ชานนท์ นครสังข์ ออกแบบม้านั่งปลายเตียง ซึ่งเรียบง่ายแต่สวยจับตา คุณสก็อตต์ถูกใจเลยวางไว้ที่โถงทางเข้าซึ่งติดภาพวาดศิลปินไทยที่เล่าเรื่องการทำสมาธิและหายใจ เหมือนเป็นมุมแกลเลอรี่ให้ชมงานศิลป์ ผ่อนคลายก่อนเดินเข้าตัวบ้าน

เยือนทำเนียบทูตอังกฤษ สนทนาเรื่องการชุบชีวิตเศษไม้จามจุรีในสถานทูตเก่า เป็นของใช้ที่ระลึกถึงวันวานในย่านเพลินจิต
เยือนทำเนียบทูตอังกฤษ สนทนาเรื่องการชุบชีวิตเศษไม้จามจุรีในสถานทูตเก่า เป็นของใช้ที่ระลึกถึงวันวานในย่านเพลินจิต
เยือนทำเนียบทูตอังกฤษ สนทนาเรื่องการชุบชีวิตเศษไม้จามจุรีในสถานทูตเก่า เป็นของใช้ที่ระลึกถึงวันวานในย่านเพลินจิต
เยือนทำเนียบทูตอังกฤษ สนทนาเรื่องการชุบชีวิตเศษไม้จามจุรีในสถานทูตเก่า เป็นของใช้ที่ระลึกถึงวันวานในย่านเพลินจิต

ส่วนตัวหัวหน้าโปรเจกต์ เจ้าของสตูดิโอ Republic Nanu สร้างม้านั่งยาวและประติมากรรม 

“ไม้ก้ามปูก็มีลักษณะพิเศษ ลายมันสวยดีนะครับ ถึงแม้ว่าไม่ใช่ไม้เบอร์หนึ่งในการทำเฟอร์นิเจอร์ เพราะเนื้อหยาบกว่าไม้สักที่สัมผัสนุ่มนวล เนื้ออ่อนกว่าไม้แดงหรือไม้เต็งที่ทำโครงสร้างได้ดี แต่ด้วยสถานที่อยู่ มันเลยมีความหมาย ตอนเจอไม้กิ่งหนึ่งซึ่งมันโค้งๆ หน่อย ผมก็รู้แล้วแหละว่าอยากจะทำม้านั่ง ก็เลยผ่าครึ่ง ทำคานแขวน ยึดตรงกลางด้วยท่อนไม้สี่เหลี่ยมคางหมู ภาษาช่างเรียกว่าหางเหยี่ยว ให้แผ่นไม้ทั้งชิ้นแขวนอยู่ ถ้าเปรียบไม้นี้เป็นวิญญาณของสถานที่ มันก็ถูกแขวนเอาไว้เหมือนการแขวนนวม เลิกแล้วก็เหลือแต่ความทรงจำ” 

เยือนทำเนียบทูตอังกฤษ สนทนาเรื่องการชุบชีวิตเศษไม้จามจุรีในสถานทูตเก่า เป็นของใช้ที่ระลึกถึงวันวานในย่านเพลินจิต
เยือนทำเนียบทูตอังกฤษ สนทนาเรื่องการชุบชีวิตเศษไม้จามจุรีในสถานทูตเก่า เป็นของใช้ที่ระลึกถึงวันวานในย่านเพลินจิต

“ส่วนประติมากรรมนี้ชื่อว่า Entropy เป็นคำฟิสิกส์ ถ้าใช้กับชีวิตทั่วไปก็สื่อถึงการที่ทุกอย่างย่อยสลายไปตามกาลเวลา ผมคุยกับสก็อตต์เรื่องความเสียใจต่อสิ่งที่หายไป เลยนึกถึงพระเจ้าสามองค์ของฮินดู คือ พระพรหมผู้สร้าง พระศิวะผู้ทำลาย และพระวิษณุผู้ปกป้องรักษา ในโลกความเป็นจริง คนเราก็หมุนอยู่รอบเรื่องนี้ ทั้งการทำลายล้างและการอนุรักษ์ ถ้าทำงานที่สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกระจ่างน่าจะเป็นสิ่งดี มองสถานการณ์กว้างๆ คือทุกอย่างต้องย่อยสลายเมื่อถึงวาระ ตัวผมเองเป็นทั้งผู้ทำลายและรักษาผ่านภาษาไม้ คือเอาไม้มาเฉาะจริงๆ”

เฉยชี้ให้ดูรอยปริแตกของไม้ชิ้นใหญ่ที่โดนง้างให้ฉีกคาออกจากกัน

เยือนทำเนียบทูตอังกฤษ สนทนาเรื่องการชุบชีวิตเศษไม้จามจุรีในสถานทูตเก่า เป็นของใช้ที่ระลึกถึงวันวานในย่านเพลินจิต

“เฉาะให้มันแยกออก เหมือนเป็นการทำลาย แต่ก็มีตัวไม้ Butterfly รั้งเอาไว้ไม่ให้มันฉีกมากกว่านี้ เพราะฉะนั้น งานนี้เปรียบเสมือนโลกที่เกิดขึ้น ระหว่างความอยากอนุรักษ์ไว้กับการเปลี่ยนแปลง หรือพลังงานธรรมชาติที่มีทั้งการทำลายและรักษา ทั้งหมดอยู่ในนี้ครับ” 

ดีไซเนอร์เล่ารายละเอียด ขณะที่เด็กๆ ตัวจิ๋วกระจายตัวไปหยิบของเล่นรอบๆ ประติมากรรมที่ตั้งเด่นเป็นสง่า 

แล้วเด็กๆ มีส่วนร่วมมากแค่ไหนกับชิ้นงานเหล่านี้ เราชักสงสัย

“เอลเลียต รู้ไหมว่าม้านั่งนี้ทำจากอะไร” สก็อตต์หันไปถามลูกชาย “เอลเลียตโตที่สุด เขาจำบ้านเดิมได้มากที่สุด” 

“มาจากต้นไม้ที่บ้านเก่าของเรา!” เด็กชายตอบอย่างฉะฉานขณะปีนขึ้นโซฟา 

เด็กคนอื่นๆ นั้นอาจยังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจ ถึงอย่างนั้นงานไม้เหล่านี้ก็จะเดินทางไปอยู่ในบ้านใหม่ อยู่ในเรื่องเล่าของพ่อสองคนยามเล่าถึงอดีตเมื่อลูกยังตัวเล็กๆ เมื่อเพลินจิตเคยเป็นบ้านแห่งความสุขสมชื่อ ความทรงจำที่บรรจุในงานไม้จะเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขายามเติบโตขึ้น

เยือนทำเนียบทูตอังกฤษ สนทนาเรื่องการชุบชีวิตเศษไม้จามจุรีในสถานทูตเก่า เป็นของใช้ที่ระลึกถึงวันวานในย่านเพลินจิต
ภาพ : Numchok Sawangsri

“ประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักรมีความงามและเรื่องราวมากมาย ทำเนียบทูตเป็นพื้นที่แสดงทิศทางในอนาคตของสหราชอาณาจักร ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีแง่มุมร่วมสมัยเพิ่มมากขึ้น แต่ละครอบครัวทูตคงมีแนวทางตกแต่งของตัวเอง อย่างบ้านเราก็มีงานศิลปินไทย ครึ่งหนึ่งเป็นศิลปินหญิงรุ่นใหม่ และงานศิลปะที่พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมูลนิธิสติให้ยืมมาจัดแสดงชั่วคราวเพื่อขายให้ผู้สนใจ และรายได้ส่วนหนึ่งจะเข้ามูลนิธิ ต่อไปก็น่าจะมีงานศิลปะจากอังกฤษมาตกแต่งมากขึ้น” ผู้อำนวยการ FREC Bangkok กล่าวตบท้าย

นอกจากเครื่องใช้ไม้จามจุรีที่เก็บเรื่องราวลึกซึ้งในของใช้ประจำวัน ดูเหมือนว่าทำเนียบสหราชอาณาจักรโฉมใหม่ จะสลัดภาพเดิมอันเสมือนพิพิธภัณฑ์เก่าแก่โอ่อ่า เป็นแกลเลอรี่ที่เต็มไปด้วยงานศิลปะและข้าวของหลากหลายยุคสมัยและที่มา โดยถนอมคุณค่าของมรดกประวัติศาสตร์ในมิติอื่นๆ 

น่าจับตามองว่าเรื่องราวของทำเนียบใหม่บนถนนเส้นเดิมเลียบริมเจ้าพระยาจะเป็นอย่างไรต่อไป 

ดูผลงานของกลุ่มดีไซเนอร์ไม้เพิ่มเติมได้ที่ www.grainsandgrams.com

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล