The Cloud x Museum Siam

สะพานข้ามคลองคือหนึ่งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหา ไม่ต่างจากอาคารเก่าแก่หรือป้อมปราการที่หลงเหลืออยู่ในพระนคร

ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ การขนส่งและทัศนาจรนิยมใช้ทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ เมื่อต้องขยายอาณาเขตเมืองพระนครให้กว้างขึ้น จึงต้องขุดคลองโดยรอบเพิ่มตามไปด้วย เมื่อคลองแบ่งเป็น 2 ฝั่ง การจะเชื่อมผู้คน วัฒนธรรม การค้าได้ ย่อมต้องมีสะพานพาดผ่าน ในเกาะรัตนโกสินทร์แห่งนี้เต็มไปด้วยสะพานที่เคยมีไว้ให้เกวียนข้าม ม้าเดิน ช้างผ่าน จวบจนคนเดินและพาหนะเดินทางผ่านไปมาในปัจจุบัน

สภาพของสะพานอาจจะดูเอี่ยมอ่องจากสีที่เพิ่งแต่งแต้ม การปรับเพิ่มโครงสร้างให้สะดวกต่อการใช้งานยิ่งขึ้นทำให้ผู้คนที่วนเวียนเดินผ่านไปมาประจำเคยชินราวกับเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับมีเรื่องราวที่น่าค้นหา มีความเป็นมาที่เก่าแก่ซ่อนอยู่ในทุกรายละเอียดการออกแบบ และรอให้คุณทำความรู้จักอยู่

สะพานเจริญรัช 31 

สะพานแรกในสะพานชุดที่ชื่อขึ้นต้นว่า ‘เจริญ’

แกะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ใน 12 สะพานข้ามคลองโบราณทั่ว เกาะรัตนโกสินทร์

ใครเคยมาเดินซื้อดอกไม้ที่ปากคลองตลาดน่าจะพอคุ้นหน้าคุ้นตาสะพานโค้งครึ่งวงกลม ที่มีลูกกรงเป็นปูนปั้นรูปเสือป่าถือดาบหันข้างอยู่บ้าง

สะพานเจริญรัช 31 เป็นสะพานชุดเจริญแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อฉลองพระชนพรรษาครบ 31 ปี ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังยังมีการสร้างสะพานเพื่อฉลองการครองราชสมบัติเพื่อใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ โดยใช้ชื่อนำว่า เจริญ อีกหลายแห่ง ได้แก่ สะพานเจริญราษฏร์ 32 ข้ามคลองมหานาค สะพานเจริญพาศน์ 33 ข้ามคลองบางกอกใหญ่ สะพานเจริญศรี 34 ข้ามคลองคูเมืองเดิม

กิจการเสือป่าที่ทรงสถาปนาคือที่มาของการใช้เสือป่าเป็นสัญลักษณ์ที่กึ่งกลางสะพานเป็นรูป คล้ายโล่จารึกนามสะพาน ล้อมด้วยลายใบไม้แบบยุโรป เหนือราวสะพานมีพระปรมาภิไธยย่อว่า ว.ป.ร. ประดิษฐานอยู่ตรงกลางรัศมี ปลายราวสะพานทั้งสองฝั่งมีแป้นกลมจารึกเลข 31 ซึ่งหมายถึงพระชนพรรษานั่นเอง

ที่อยู่ : หน้าสถานีตำรวจพระบรมมหาราชวัง ถนนจักรเพชร ตัดกับถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง

สะพานฮงอุทิศ 

สะพานของผู้ก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

แกะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ใน 12 สะพานข้ามคลองโบราณทั่ว เกาะรัตนโกสินทร์

ช้อนคู่กับส้อมฉันใด ป่อเต็กตึ๊งก็คู่กับเหตุด่วนเหตุร้ายฉันนั้น แต่ที่สะพานแห่งนี้ไม่ได้เกิดเรื่องอะไรให้ต้องตื่นตกใจ เราเพียงอยากแนะนำให้รู้จักว่าสะพานปูนขนาดเล็กสีเหลืองนวล มีลูกกรงเหล็กดัดรูปดอกบัวสีเขียวเรียบง่าย ที่พาดผ่านคลองบางลำพู เป็นสะพานที่สร้างโดย พระอนุวัตน์ราชนิยม หรือที่รู้จักกันในนาม ยี่กอฮง นายอากรหวยคนสุดท้ายในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยเรามาเนิ่นนาน

เมื่อมาเยือนสะพานแห่งนี้ เราสัมผัสกลิ่นอายของวิถีชีวิตริมคลองเช่นเดียวกับในอดีตได้ ทิวทัศน์สองฝั่งคลองยังคงความเป็นชุมชนดั้งเดิมไว้ น้ำคลองก็สะอาด หรือจะลองนั่งเรือท่องเที่ยวเส้นทางประตูน้ำ-บางลำพูที่อยู่บริเวณตีนสะพานก็น่าสนใจเหมือนกัน

ที่อยู่ : ซอยสามเสน 1 แขวงวัดสามพระยา

สะพานช้างโรงสี 

สะพานช้างข้ามรูปสุนัข

แกะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ใน 12 สะพานข้ามคลองโบราณทั่ว เกาะรัตนโกสินทร์
แกะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ใน 12 สะพานข้ามคลองโบราณทั่ว เกาะรัตนโกสินทร์

สะพานช้างโรงสีมีรูปปั้นหน้าสุนัขที่เสาหัวโค้งต้นสะพาน อยู่บริเวณถนนบำรุงเมือง เยื้องๆ กระทรวงกลาโหม ที่มาของชื่อสะพานมาจากสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สะพานตั้งอยู่ใกล้กับโรงสีข้าวหลวงในขณะนั้น และถูกสร้างเพื่อใช้เป็นทางให้ช้างสัญจรขนของ จึงถูกเรียกว่าสะพานช้างโรงสี

ส่วนรูปปั้นหน้าสุนัขมาจากการแปลงสะพานไม้ซุงที่วางบนตอม่อก่ออิฐกลายเป็นคอนกรีต ใน พ.ศ. 2453 โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดฯ ให้สร้างใหม่ เมื่อสร้างเสร็จก็ปั้นรูปสุนัขไว้เพื่อแสดงปีนักษัตรที่สร้างเสร็จนั้น และจะเป็นปีอะไรไปไม่ได้เลยนอกเสียจากปีจอนั่นเอง

ที่อยู่ : ริมคลองหลอด หลังกระทรวงกลาโหม แขวงพระบรมมหาราชวัง

สะพานปีกุน 

สะพานหมูแสนสง่า

แกะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ใน 12 สะพานข้ามคลองโบราณทั่ว เกาะรัตนโกสินทร์

สะพานนี้ไม่มีชื่อ เพราะเป็นเพียงสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเล็กๆ จึงไม่ได้รับพระราชทานชื่อ แต่ได้ชื่อมาเพียงเพราะอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์หมูตรงเชิงสะพาน จึงถูกเรียกสะพานหมูหรือสะพานปีกุนไปโดยปริยาย และสะพานก็ถูกสร้างขึ้นในปีกุนพอดิบพอดี

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานนี้ขึ้นในโอกาสเจริญพระชนมายุ 4 รอบ การออกแบบในอดีตนั้นเน้นรายละเอียดได้ดี เพราะเชิงสะพานมีเสาคอนกรีตเซาะร่องทั้งสองฝั่ง รวม 4 ต้น ซึ่งหมายถึงเทียนประทีปพระชันษา หัวเสาสลักรูปถ้วยประดับช่อมาลา มีวงรูปไข่ 4 วงทุกเสา หมายถึงรอบปี ซ่อนความหมายของผู้สร้างได้อย่างดี 

แกะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ใน 12 สะพานข้ามคลองโบราณทั่ว เกาะรัตนโกสินทร์

ใครผ่านไปมาก็แวะเข้าวัดทำบุญโดยใช้สะพานปีกุนนี้เป็นทางเชื่อมไปมาหาสู่ระหว่างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามได้

ที่อยู่ : ริมคลองหลอด หลังวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง

สะพานหก  

สะพานยกแบบฮอลันดา

แกะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ใน 12 สะพานข้ามคลองโบราณทั่ว เกาะรัตนโกสินทร์

หก หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งเทลง หรือเอียงลง สะพานหกจึงมีชื่ออย่างตรงไปตรงมา จากการเป็นสะพานที่สร้างให้มีฟังก์ชันยกหกขึ้นหกลงให้เรือที่แล่นในลำคลองผ่านได้ และยังถูกสร้างถึง 6 สะพาน ทั้งในฝั่งธนบุรีและพระนคร

บ้างรู้จักกันในชื่อ สะพานหกแบบวิลันดา เพราะมีรูปแบบการสร้างตามอย่างสะพานฮอลันดา นิยมกันมากในปลายสมัยพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บัดนี้สะพานเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากสะพานไม้เก่าเพื่อให้เรือแล่นผ่าน ได้ถูกเสริมเหล็กเพื่อเดินรถราง และค่อยๆ ถูกรื้อฟื้นสร้างขึ้นใหม่อยู่หลายครั้งหลายคราโดยพยายามคงรูปเดิมไว้ จนกระทั่งให้คนเดินในปัจจุบัน

ที่อยู่ : ริมคลองหลอด ใกล้สวนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง

สะพานสมมตอมรมารค 

สะพานนี้อ่านว่าอะไร

แกะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ใน 12 สะพานข้ามคลองโบราณทั่ว เกาะรัตนโกสินทร์

หากผ่านไปแถวแยกสำราญราษฎร์ย่านประตูผี จะมีสะพานข้ามคลองที่อยากชวนคุณไปดู เชื่อเถอะว่าคุณอาจต้องหยุดเดิน ขยี้ตาสักสองสามที และพยายามอ่านชื่อสะพานนั้นซ้ำๆ อีกครั้ง

สพานสมมตอมรมารค ตามจารึกบนพนักสะพาน อ่านว่า สะ-พาน-สม-มด-อะ-มอน-มาก ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ แรกเริ่มเดิมทีสะพานแห่งนี้เคยเป็นสะพานไม้เก่า โครงล่างเป็นเหล็กแบบเลื่อนให้เรือสัญจรไปมาได้ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกกันว่าสะพานเหล็กประตูผี แต่พอทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จึงสร้างขึ้นใหม่เป็นสะพานคอนกรีตแทน พร้อมลวดลายปูนปั้นประดับที่ตัวสะพานและลูกกรงที่จำลองเสาแบบไอโอนิกกั้นช่อง ถือเป็นหนึ่งในสะพานรอบกรุงที่น่าไปเดินข้าม และสนุกไปกับเปล่งเสียงอ่านชื่อให้ถูก

ที่อยู่ : ข้ามคลองบางลำพู ถนนมหาไชย แขวงบ้านบาตร

สะพานมหาดไทยอุทิศ 

เจ้าของฉายาสะพานร้องไห้ 

สะพานมหาดไทยอุทิศ
สะพานมหาดไทยอุทิศ

จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงหมายมั่นมีพระราชประสงค์จะสร้างสะพานเชื่อมถนนฝั่งวัดสระเกศราชวรมหาวิหารกับถนนฝั่งราชดำเนิน เพื่อเป็นเส้นทางให้ประชาชนได้สัญจรไปมาอย่างสะดวก แต่สวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงร่วมกับกระทรวงมหาดไทยสร้างสะพานจนสำเร็จ เป็นสะพานคอนกรีตที่มีกลิ่นอายสถาปัตยกรรมตะวันตกชัดเจน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 5

ที่มาที่ไปของฉายาสะพานร้องไห้มาจากปูนปั้นกลางสะพานซึ่งเป็นประติมากรรมนูนต่ำรูปชายยืนจับไหล่เด็กและหญิงอุ้มเด็กด้วยท่าทางเศร้าหมอง ขณะที่ด้านบนมีสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 5 ประดับอยู่ เพื่อสื่อถึงความโศกเศร้าของประชาชนที่เคารพและอาลัยแด่กษัตริย์ผู้จากไปผ่านประติมากรรมนี้  

สะพานนี้มีอายุมากกว่า 100 ปี เป็นมรดกอันล้ำค่าที่ผ่านการบูรณะ ซ่อมแซม ปรับปรุง อยู่หลายครั้งตามโครงสร้างเดิม ที่เด่นชัดคือการปั้นกางเกงในเด็กชายขึ้นใหม่ หากผ่านไปย่านผ่านฟ้า ป้อมมหากาฬ ก็ลองไปเดินสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้

ที่อยู่ : ข้ามคลองมหานาค ถนนบริพัตร แขวงคลองมหานาค 

สะพานเฉลิมวันชาติ 

สะพานในย่านค้าธง

สะพานเฉลิมวันชาติ

รอยต่อข้ามคลองบางลำพูจากฝั่งถนนดินสอสู่ถนนประชาธิปไตย สะพานแห่งนี้เป็นแหล่งขึ้นชื่อเรื่องขายธงชาติในพระนคร เพราะมีร้านธงบรรณการ ร้านค้าธงแห่งแรกของไทย อยู่ในย่านนี้ เป็นร้านที่บุกเบิกการทำธงจนมีร้านค้าธงเกิดขึ้นตามมามากมาย พอพูดถึงสะพานเฉลิมวันชาติ ผู้คนในเมืองเก่าก็คงนึกภาพร้านธงตามมาในทันที สะพานสีครีมอ่อนรูปทรงเรียบง่ายพาดยาวข้ามคลอง อำนวยความสะดวกให้การสัญจรไปมาทั้งทางรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ จักรยาน ไปจนถึงผู้คน อีกทั้งใกล้ๆ กันนั้นยังมีร่องรอยประวัติศาสตร์บางส่วนของป้อมปราการยุคนธรให้ได้เดินแวะไปชมด้วย

สะพานถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2483 ในรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และที่มาของชื่อนั้นก็เพื่อเฉลิมฉลองการประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติไทย นอกจากนี้ ในปีเดียวกันยังมีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้น รวมถึงการแทนที่คำว่า สยาม ด้วยคำว่า ไทย อีกด้วย

ที่อยู่ : ข้ามคลองบางลำพู ถนนประชาธิปไตย แขวงวัดบวรนิเวศ

สะพานผ่านฟ้าลีลาศ 

สะพานออกจากชั้นในไปชั้นนอก

สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

เดิมสะพานมีเพียงโครงเหล็ก แต่เมื่อเริ่มสร้างถนนราชดำเนินขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เกิดสะพานเชื่อมต่อถนนราชดำเนินในกับราชดำเนินนอกขึ้นเช่นกัน เป็นสะพานระยะสั้นที่อยู่ใกล้หนึ่งในกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่อย่างป้อมมหากาฬ

สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

สะพานที่ผสมผสานทั้งเหล็กและหินอ่อนเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงผสมผสานศิลปะไทยให้เข้ากับยุโรป โดยมีเชิงสะพานเป็นเสาหินอ่อนสูงประดับรูปหัวแกะไว้ แถมที่ตัวเสายังมีสีดำของสำริดเป็นลวดลายเรือไวกิ้งสุดประณีตอยู่ด้วย หัวเสาเป็นสำริดรูปหล่อพวงมาลา พื้นของสะพานจะเป็นหินอ่อนโค้งลาดลงสู่ถนนซึ่งต่างจากที่อื่นๆ ที่มักเป็นคอนกรีตเสียมากกว่า ส่วนราวสะพานนั้นกลับเป็นลูกกรงที่สลักลวดลายดอกทานตะวันและใบไม้

เพราะเป็นสะพานที่ใช้มีการสัญจรผ่านไปมา และเป็นทางแยกตัดผ่านของถนนหลายสาย จึงถูกปรับขยายผิวสะพานให้กว้างขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังคงความงามของศิลปกรรมสมัยโบราณไว้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่อยู่ : ใกล้ป้อมมหากาฬ แขวงวัดบวรนิเวศ 

สะพานผ่านพิภพลีลา 

สะพานที่ไม่เหมือนสะพาน

สะพานผ่านพิภพลีลา

หากขับรถผ่านโดยไม่สังเกตให้ดีจะไม่ทราบเลยว่าขับผ่านสะพานแห่งนี้ เหตุเพราะสะพานแทบไม่มีความโค้งชัน แบนราบเรียบไปกับถนน และเหลือฝั่งคลองคูเมืองเดิมให้เห็นเพียงด้านเดียว เพราะเมืองที่พัฒนาขึ้นทำให้เกิดการสร้างถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้ามาทับถมคลองอีกด้าน 

เดิมตัวสะพานใช้วัสดุทำจากโครงเหล็ก แต่เพื่อให้รับกับถนนราชดำเนินที่สร้างขยายใหม่ใน พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานขึ้นใหม่ แข็งแรงและกว้างขวางกว่าเดิมเพื่อความสะดวกในการสัญจร ซึ่งสะพานนี้เปรียบเสมือนทางเข้าออกระหว่างราชดำเนินชั้นในและกลางด้วย

ที่อยู่ : เชื่อมระหว่างถนนราชดำเนินในและถนนราชดำเนินกลาง แขวงวัดบวรนิเวศ 

สะพานเจริญศรี 34 

สะพานหมายเลข 4 

แกะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ใน 12 สะพานข้ามคลองโบราณทั่ว เกาะรัตนโกสินทร์

เดินต่อลงมาทางใต้เลียบคลองคูเมืองเดิมตามเส้นถนนอัษฎางค์ จะพบอีกหนึ่งสะพานสีขาวตั้งอยู่เยื้องกับวัดบุรณศิริมาตยารามและศาลฎีกา

สะพานแห่งนี้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เสริมแต่งด้วยปูนปั้นตรงลูกกรง และเชิงสะพานเป็นเสาปูนหล่อ 4 เสา ลักษณะเป็นรูปพาน มีเฟื่องอุบะแบบตะวันตก ซึ่งแท่นเสาจะมีเลข 4 หมายถึงปีที่ 4 แห่งการครองราชย์ และเป็นสะพานลำดับที่ 4 ในชุดสะพานเจริญ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระชนมพรรษา 34 พรรษา เป็นการเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานเงินเพื่อสร้างสะพานชุด ‘เฉลิม’ ทั้ง 16 สะพาน แทนการพระราชทานเงินแก่คนยากจนตามประเพณีเดิม

ที่อยู่ : ถนนบุญศิริ แขวงพระบรมมหาราชวัง

สะพานอุบลรัตน์

สะพานหัวจระเข้

แกะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ใน 12 สะพานข้ามคลองโบราณทั่ว เกาะรัตนโกสินทร์

สะพานข้ามคลองที่ในอดีตรู้จักกันในชื่อ สะพานหัวจระเข้ สันนิษฐานว่าอาจมาจากราวสะพานที่เดิมทำเป็นรูปจระเข้ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กโค้งครึ่งวงกลมสวยงาม ประกอบด้วยลูกกรงลวดลายสลักแบบไทยๆ หากลองสังเกตดีๆ กลางสะพานมีลายดอกบัวในกรอบสี่เหลี่ยมประดับอยู่ด้วย  

ที่อยู่ : ถนนพระพิพิธ ข้ามริมคลองหลอด แขวงพระบรมมหาราชวัง


อ่านเรื่องราวของ 200 ที่เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์เพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer & Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน