“มันเจ็บจนต้องร้องไห้ เพราะหัวใจแบกรับไม่ไหว สิ่งเดียวที่รับรู้ได้ คือฉันกลายเป็นคนที่เธอไม่เอา” เพลง ทางผ่าน – PURE

“การอยู่คนเดียวก็รู้ว่ามันต้องเหงา แต่ว่าฉันคงไม่อาจฝืนใจเธอ ฉันเลยถอยไปอยู่ตรงนั้น ตรงที่ไม่มีใครให้กอด” เพลง ถอย – Gliss

“แล้วเธอมีใครหรือยัง ทำไมเธอน่ารักจัง เอาเป็นแบบนี้แล้วกัน ให้ฉันได้เป็นแฟนเธอ” เพลง มีแฟนยัง – LOTTE

“หนูเป็นคนวางแพลน พี่คือแฟนในอนาคต หนูยังอยู่ในโหมด เป็นเจ้าของพี่ไม่ได้” เพลง แฟนในอนาคต – RedSpin

นี่คือ 4 เพลงดังจากค่ายเพลง BH BrickHouse ที่ยังไงก็ต้องเคยได้ยินผ่านหู แถมเผลอๆ อาจจะร้องได้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว BH BrickHouse ค่ายเพลงป๊อปหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็น Pop R&B, Pop Rock, Pop Ballad และ Pop Dance ที่เชื่อว่าทุกคนมีพรสวรรค์และมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง สร้างศิลปินที่เริ่มจากศูนย์และให้โอกาสศิลปินได้เรียนรู้พัฒนาเติบโตไปพร้อมๆ กับค่าย ท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น

แต่ใครกันที่จะเลือกทำค่ายเพลงในยุคที่ใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์หรือแม้กระทั่งเป็นศิลปินด้วยตัวเองได้

เรามีนัดคุยกับ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล หนุ่มนักสร้างคนไฟแรงวัย 32 ปี อดีตผู้อยู่เบื้องหลัง YouTube Creator ชื่อดังมากมาย และเป็นผู้ก่อตั้งค่ายเพลงแห่งนี้ ถึงเรื่องราวความเป็นมาของเขา กลยุทธ์ธุรกิจ การบริหารคน การบริหารค่ายเพลงในยุคดิจิทัล ว่าอะไรทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จจนมีแฟนเพลงมากกว่า 1 ล้านผู้ติดตาม รวมคนฟังกว่า 1,000 ล้านวิวโดยใช้เวลาเพียง 4 ปี

BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน คำว่า User Generated Content (UGC) หรือการที่ผู้บริโภคผลิตคอนเทนต์ขึ้นมาด้วยตัวเอง ยังไม่แพร่หลายในวงกว้าง YouTube ถือเป็นหนึ่งในบรรดาแพลตฟอร์มแรกๆ ที่เปิดโอกาสให้คนสร้างเนื้อหาได้ในรูปแบบวิดีโอ และอัปโหลดขึ้นไปบนนั้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คลิปส่วนใหญ่ในช่วงแรกที่เราได้ดูกันมักมาจากต่างประเทศ

หลายปีผ่านไป ประเภทของวิดีโอใน YouTube มีความหลากหลายขึ้นมาก การขยายตัวแบบก้าวกระโดดทำให้ YouTube กลายเป็นอีกปัจจัยที่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคสื่อไปตลอดกาล เราสามารถสร้างวิดีโอที่ทำหน้าที่มากไปกว่าการให้ความรู้ ให้ความบันเทิง แต่คือ ‘การสร้างตัวตน’ ของคนธรรมดาๆ ให้ไม่ธรรมดา

ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล นักศึกษาปริญญาโทที่เพิ่งเรียนจบหมาดๆ ในเวลานั้นเองก็นึกไม่ถึงมาก่อน ว่าตัวเองจะได้มาทำงานเกี่ยวกับการ ‘ปั้นคน’ ผ่าน YouTube และเป็นผู้ก่อตั้งค่ายเพลง ‘ปั้นศิลปิน’ ที่ใช้วิธีคิดแบบเดียวกันในเวลาต่อมา

ทุกคนมีพรสวรรค์

ภาคย์เติบโตขึ้นมาในครอบครัวของนักกฎหมาย เลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และฝึกงานในตำแหน่งนักวางแผนกลยุทธ์ของบริษัทหลักทรัพย์ในตลาดการเงิน ก่อนจะไปศึกษาต่อปริญญาโทในสาขา MBA ที่สหรัฐอเมริกาและเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เกรดเฉลี่ย 4.00

เขาได้จับพลัดจับผลูเริ่มงานที่อเมริกากับบริษัทที่ดูแลการเติบโตของช่อง YouTube เรียกว่า Multi-Channel Network (MCN) ในตำแหน่ง Head of Talent Development หรือแปลตรงตัวคือ ‘นักพัฒนาบุคคลที่มีพรสวรรค์’ ไม่ว่าคุณจะเป็น Vlogger คนทำอาหาร คนทำรายการท่องเที่ยว แล้วอัปคลิปขึ้น YouTube จะถือว่าเป็น Talent ทั้งสิ้น

หลังจากที่ภาคย์บุกเบิกการสร้างตลาด YouTube ในประเทศไทยสำเร็จ เขาขยายธุรกิจจากที่อเมริกามาตั้งสาขาที่ประเทศไทย และได้ร่วมงานกับ Youtubers ที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นอย่าง VRZO, Bie The Ska, Softpomz, KNN, Mojiko, mintchyy และได้บริหารจัดการดูแลมากกว่า 400 ช่อง โดยหน้าที่ของเขาคือให้คำปรึกษา วางแผนการสร้างรายได้ การทำงานโฆษณาร่วมกับแบรนด์ รวมถึงการพัฒนาให้ช่องช่องนั้นมีผู้ติดตามมากขึ้น

BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน

“ผมเชื่อว่าคนที่มีความสามารถมีอยู่เยอะ แต่ละคนมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน เราได้เห็น Content Creators ในแบบที่หลากหลาย พอบอกว่า ‘คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก’ มันก็จริงนะ มีเยอะด้วย แต่คนที่ประสบความสำเร็จบางทีเขาไม่รู้ว่า ตั้งแต่ Day 1 ว่าเขาต้องการอะไร

“โลกตอนนี้เป็นโลกแห่งการ Optimize คุณไม่จำเป็นต้องหน้าตาดี เสียงดี รสนิยมดี เต้นดี ตั้งแต่แรก เราเชื่อว่าสกิลล์พัฒนาได้ Personal Branding สร้างให้ชัดได้ หน้าที่ของผมคือให้โอกาสเขาได้ใช้จินตนาการและความเป็นศิลปินของตัวเอง ทำในสิ่งที่เขารัก และค่อยๆ พัฒนามาเป็นอาชีพในรูปแบบที่ยั่งยืนแข็งแรง”

เรียนรู้จากดาต้า 

ก่อนหน้าที่ภาคย์จะมาสร้างค่ายเพลงของตัวเอง เขาได้มีโอกาสทำ Digital Transformation ให้กับ GMM Grammy ซึ่งในสมัยก่อนค่ายเพลงจะเน้นการขายเทปและซีดีเป็นหลัก แต่เมื่อเข้าสู่ยุคออนไลน์ คนฟังเพลงฟรีกันได้อย่างเสรีและมีทางเลือกมากขึ้น บรรดาค่ายเพลงจำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล หนึ่งในโปรเจกต์ที่เขาได้รับมอบหมายสำหรับการหาช่องทางรายได้ใหม่ให้กับองค์กร คือการทำ Music Sticker ตัวแรกของประเทศไทย บน Chat Platform ที่คนไทยใช้มากที่สุดอย่าง LINE โดยใช้เพลงที่มีอยู่อย่างมหาศาลของค่ายนำมาต่อยอด ซึ่งการเลือกท่อนเพลงที่ใช้ก็มีกลยุทธ์ของมัน

งานดนตรีคืองานศิลปะ และความนิยมของเพลงเพลงหนึ่งอาจจะไม่สามารถประเมินด้วยตัวเลขอย่างเดียวได้ เขาเริ่มเห็นความเชื่อมโยงระหว่างดนตรีที่เน้นความเข้มข้นของอารมณ์ในการสื่อสาร ซึ่งเมื่อผูกเข้ากับข้อมูลสถิติที่มาจาการวิเคราะห์พฤติกรรมของคนฟังในแต่ละยุคแต่ละสมัย ก็ยิ่งดูสมเหตุสมผล

“ผมตั้งคำถามเล่นๆ ว่า โมเมนต์ไหนบ้างที่ผมจะส่งสติกเกอร์ และจะส่งอะไร เพลงแรกที่ผุดมาในหัวเลย ‘ออก อย่างนี้ต้องลาออก’ ฮาๆ แล้วตอนนั้น คลังเพลงของค่ายมีประมาณสองหมื่นถึงสามหมื่นเพลง ปริมาณมันเยอะมาก ผมต้องจัดวาง กรอง และเรียงลำดับความสำคัญมันทั้งหมด ว่าอะไรที่สื่อสารได้บ้าง ตอนนั้นนั่งฟังเกือบทุกเพลง กลายเป็นว่าเพลงที่สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายใน LINE ตอนนั้นอยู่ในยุค 90 หรือ 2000 หมดเลย

“สมัยก่อนทางเลือกในการรับสื่อมีไม่เยอะ ช่องทางมีแค่วิทยุและโทรทัศน์ ที่ผ่านการเลือกสรรมาแล้ว คนส่วนใหญ่จึงมีโอกาสได้รู้จักแค่เพลงดัง แต่สมัยนี้ที่ YouTube เปิดให้ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้คนฟังมีตัวเลือกมากขึ้น อัลกอริทึมมันก็คอยป้อนแนวเพลงที่คาดว่าแต่ละคนจะชอบฟังมาให้ เพลงที่เราชอบและรู้สึกว่าดัง คนอื่นอาจจะไม่รู้จักเลยก็ได้ ยิ่งเราต่างเพศ ต่างอายุ ต่างสถานะ ต่างรสนิยม ต่างพื้นที่ เราอาจจะฟังเพลงไม่เหมือนกันเลยก็ได้

“ดังนั้น การนำเสนอเนื้อหาแบบเดิมๆ คนอาจจะเบื่อ คนรุ่นใหม่เปิดกว้างมากขึ้น ฟังอะไรที่แปลกไปกว่าเดิม เกิด Sub-culture เยอะขึ้น จริงๆ มันเป็นเรื่องปกตินะ มันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามค่านิยม และวิธีการสื่อสารของคนยุคนั้นๆ”

ค่ายเพลงที่เกิดขึ้นในยุคที่ใครๆ ก็เป็นศิลปินได้

แม้จะพาโมเดลธุรกิจใหม่ของค่ายเพลงใหญ่แห่งนั้นไปเปิดตัวได้อย่างงดงาม เขากลับค้นพบว่าสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบคือการสร้างคน การวางแผนชีวิตให้คน และมองเห็นคนเหล่านั้นเติบโตไปสู่ความสำเร็จ เป็นความท้าทายที่เขาโหยหา จึงได้เริ่มสร้างบ้านหลังเล็กๆ เป็นค่ายเพลง BH BrickHouse ขึ้นมา โดยหวังว่าจะทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่มั่นคงสำหรับใครหลายๆ คนที่มีฝัน

การทำค่ายเพลงนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาจากโจทย์ที่ว่า ‘ต้องการให้เพลงดัง’ หากเริ่มจากความชอบส่วนตัวของเขา ทีมผู้ร่วมก่อตั้ง ทีมบริหาร ทีมงาน และศิลปินในค่ายทุกคน อยากสื่อสารถ่ายทอดความเป็นตัวเองออกมา

“พวกเราเป็นคนเรียบง่าย จริงใจ เข้าถึงได้ เราชอบการสื่อสารแบบ Mass Communication ตอบโจทย์คนฟังส่วนใหญ่ บวกกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ตัวเลข และการฝึก Mindset เพื่อดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของศิลปินออกมาเป็นผลงาน เมื่อสิ่งเหล่านี้ถ่ายทอดออกไป ก็ดึงดูดให้คนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันได้กลับเข้ามาฟัง

“ตอนผมเรียนที่อเมริกา ผมมีเพื่อนเป็นศิลปินอินดี้ Jez Dior เขาทำเพลงแนว Grunge Rap พังก์ร็อกผสมเฮฟวี่เมทัลและฮิปฮอป มันใหม่มากในตอนนั้นและผมพยายามจะเรียนรู้ ทำความเข้าใจ พอถึงวันหนึ่งเรารู้สึกว่า เราต้องใช้ความพยายามมากเกินไป ก็คิดว่าเรากลับมาสู่อะไรที่เราฟังแล้วสบายใจดีกว่า ฟังแล้วมันทัชเรา ไม่ต้องทำความเข้าใจมากก็รับรู้ได้”

BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน

และแม้ว่าการมาถึงของ UGC จะทำให้คนเชื่อว่าธุรกิจค่ายเพลงจะซบเซา เพราะใครๆ ต่างก็ทำเพลงเองได้กันหมดแล้ว ภาคย์ไม่คิดเช่นนั้น เขามองว่าโมเดลการทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเองคนเดียวทั้งหมด ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสมอไป โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องการทำอะไรที่สเกลใหญ่กว่าเดิม อยากเติบโตก้าวหน้าไปได้ไกลกว่าเดิม เราต้องการ ‘เพื่อนคู่คิด พาร์ตเนอร์ ทีมสนับสนุน สภาพเเวดล้อม’ ซึ่งเป็นทั้งแรงใจและแรงผลักดันในการสร้างผลงานระยะยาว

“ชีวิตคนเรามันไดนามิก มีขึ้นมีลง แต่ลงยังไงให้มันยังดำเนินชีวิตต่อได้โดยที่ยังมีไฟอยู่ อันนี้คือหัวใจสำคัญ เมื่อไหร่ที่ลงแล้วอาจจะเสียกำลังใจ ไฟหมด การกลับมาจะค่อนข้างยาก ทุกคนล้มได้ เพราะงานค่ายผมก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทั้งหมดเสมอไป แต่ถ้าเรารู้ว่ามันเฟลเพราะอะไร แล้วรู้ว่าจะทำยังไงต่อไป ก็จะเกิดเป็นการพัฒนา”

ไม่ใช่แค่ร้อง เต้น เล่นดนตรี แต่ต้องมีทักษะในการจัดการด้วย

ศิลปินในค่ายแต่ละคนมีศักยภาพ มีจุดเด่น มีเสน่ห์ ไม่เหมือนกัน สิ่งที่เขาช่วยสร้างเพิ่มคือการสร้าง Mindset ให้ทุกคนในค่ายภูมิใจในความเป็นตัวเอง ดึงเอกลักษณ์ เกลาศักยภาพของแต่ละคน ให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีใจที่เปิดกว้าง และรักการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ศิลปิน แต่รวมถึงทีมงานในค่ายด้วยเช่นกัน

“ผมเอาประสบการณ์จากที่เคยทำ Talent Development มาดูแลน้องๆ ศิลปินในค่าย ถ้าตัดสกิลล์พื้นฐานการร้อง การเต้นออกไป สิ่งที่สอนศิลปินเพิ่มคือ ‘ศิลปะแห่งการจัดการ’ (The Art of Management) มีสี่เรื่องสำคัญ เพราะมันจะทำให้การใช้ชีวิตมีเป้าหมาย มีความสมดุล และเป็นบ่อเกิดของพลัง”

หนึ่ง Life Management การจัดการชีวิตตนเอง เช่น การนั่งแต่งเพลงอยู่บ้านทั้งวันอย่างเดียวอาจไม่เป็นผลดี จึงสนับสนุนให้ทั้งศิลปินและทีมงานได้ออกไปข้างนอก ใช้ชีวิต พบเจอและพูดคุยกับผู้คนรอบๆ ข้าง เราก็จะได้อะไรใหม่ๆ เติมเต็มชีวิตมากขึ้น

สอง Passion Management หากรู้สึกหมดไฟ ภาคย์จะใช้วิธีสร้าง Challenge Mission และ Inspiration ใหม่ ให้ศิลปินได้เติมไฟ เพื่อให้พัฒนาตัวเอง หลายๆ ครั้งเขาพลิกจากจุดที่แย่ที่สุดขึ้นมาเป็นจุดที่ไฟติดแรงที่สุด

สาม Expectation Management เขามักบอกศิลปินเสมอว่า การอยู่ค่ายไม่ได้แปลว่าคุณจะดังอย่างรวดเร็ว คุณต้องรู้เป้าหมายในการทำเพลงของคุณ คุณทำเพื่ออะไร ทำเพื่อตอบสนองคนฟัง หรือต้องการถ่ายทอดอารมณ์หรือตัวตนของศิลปิน หากต้องการทำเพื่อนำเสนออัตลักษณ์ทางดนตรีของตัวเองที่อาจไม่ตอบโจทย์ของตลาด ก็จะมีการประเมินและทำให้เกิดความเข้าใจแต่เนิ่นๆ สุดท้ายเขาจะให้ศิลปินเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง

สี่ Success Management มักมาคู่กับความคาดหวัง ถึงจะทำให้เกิดความพึงพอใจที่พอดีกัน ศิลปินบางคนต้องการน้อย บางคนต้องการมากกว่านั้น ก็ต้องมีการปรับวิธีการสร้างสรรค์ผลงานให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ถ้าวันนี้ Success แล้ว เราจะสร้าง New Success ไหม วันนี้เหนื่อยแล้วหรือยัง จะพอหรือจะไปต่อ

แต่ละคนมีขีดความสามารถ มีพลัง มีความฝันที่ไม่เหมือนกัน แต่เขาต้องพาทุกคนให้ไปถึงจุดสูงสุดของความสามารถของพวกเขา และได้เติบโตไปพร้อมกับการทำงานที่เขารัก ซึ่งนั่นจะส่งผลให้บริษัทของเขาเติบโตไปด้วยพร้อมๆ กันอย่างยั่งยืน

BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน

ก่อร่างสร้างบันไดด้วยวิธีคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์

ทุกครั้งในการออกผลงานใหม่ๆ เขาจะออกแบบ ‘บันไดที่มองไม่เห็น’ เพื่อใช้ประเมินแนวทางการสร้างและผลลัพธ์ของแผนงานของศิลปินแต่ละคน โดยจะเปรียบเทียบในลักษณะการสร้างบันไดที่มีหลากหลายรูปแบบ แต่ละแบบจะมีกลยุทธ์การสร้างที่ไม่เหมือนกัน เล็ก ใหญ่ ยาว สั้น สูง ต่ำ หนัก เบา ผ่อน เร่ง บันไดที่สร้างไม่จำเป็นต้องมีขั้นบันไดที่เท่ากันเหมือนที่เราเดินอยู่ทุกวันก็ได้ บ่อยครั้งการออกแบบมันก็มาจากจังหวะและโอกาสที่เข้ามาอย่างไม่คาดคิดก็มี

เล็ก ใหญ่ = การประเมินภาพรวมของสเกลงาน

ยาว สั้น = การคาดหวังระยะเวลาที่เพลงจะทำงาน

สูง ต่ำ = การคาดหวังความสำเร็จ

หนัก เบา = การลงทุนลงเงิน

ผ่อน เร่ง = การสร้างโมเมนตัมของการทำการตลาดเพื่อให้เพลงเป็นที่รู้จัก

“สมมติเรามีเพลงที่ใช้สื่อสารกับคนส่วนมาก ถ่ายทอดอารมณ์มาก น่าจะเดินทางถึงคนได้เยอะ คล้ายคาแรกเตอร์ของคนบางประเภทที่เดินไปคุยกับใครแล้วคนจะชอบเขาหมด แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะกับการเป็นคนของคนทุกคน เพลงบางประเภทจะตอบโจทย์กับแค่บางคอมมูนิตี้ เมื่อมันเดินทางไปสู่พื้นที่ที่ไม่ได้สื่อสารภาษาแบบเดียวกันกับเขา เพลงนั้นก็กลายเป็นเพลงที่แปลกออกไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางที่จะเข้าไปไม่ได้เลย พอเป็นเรื่องเพลงมันเป็นเรื่องศิลปะ Music has no boundaries. ถ้าเพลงมันเพราะมันก็มีสิทธิ

“การประเมินเป็นเพียงเครื่องช่วยทำให้เราตั้งต้นความคาดหวังได้ การที่ผมรู้ว่าเพลงมีเป้าหมายอะไร ก็จะรู้ว่าต้องใช้การตลาดยังไง ลงเม็ดเงินของการตลาดจะสูงแค่ไหน เราจะเร่งอัดโปรโมตในช่วงแรกไหม หรือจะค่อยๆ ให้มันเติบโต พอประเมินได้ว่าบันไดแต่ละขั้นมันมีความสูงแค่ไหน ก็สามารถบอกศิลปินได้ด้วยว่า ถ้าปีนบันไดไปสูงขึ้น สิ่งที่คุณจะต้องเจอคืออะไร ซึ่งถ้าหากเราไม่ทำความเข้าใจเรื่องความคาดหวังของเรากับศิลปินให้ตรงกันแต่แรก สุดท้ายจะเกิดปัญหาว่า ผลลัพธ์ที่แต่ละคนได้นั้นมีค่าความพึงพอใจไม่เท่ากัน ก็จะรู้สึกไม่ดีต่อกัน ถ้าเรามีการประเมินแต่แรก เราจะรู้ว่าเราทำแล้วเราได้อะไร นอกเหนือจากการแค่ได้ปล่อยเพลง เราจะเห็นถนนชีวิตของเราชัดขึ้น เราจะไม่ไขว้เขว่หรือเสียสมาธิไปกับอะไรที่มันไม่ส่งเสริมตัวเรา”

BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน
BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน

การประเมินว่าเพลงเพลงหนึ่งจะไปอยู่จุดไหนสามารถดูได้จากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นตัวศิลปิน นักร้องผู้ส่งสาร เนื้อหาในเพลง แนวเพลงแนวดนตรี ฐานแฟนคลับ เทรนด์คนฟัง หรือกลยุทธ์การโปรโมต การที่เขาจบเศรษฐศาสตร์ ทำให้เขามองเห็นภาพกลไกตลาด

“สิ่งที่ผมเจอเวลาคุยกับโปรดิวเซอร์ที่ไม่ค่อยเข้าใจกันคือ เพลงบางเพลงอาจไม่ใช่เพลงที่ไม่ดี มันอาจจะถูกต้องตามหลักการ แต่วิธีเล่าวิธีการเรียบเรียงมันอาจจะไม่ตอบโจทย์สังคมไทยในยุคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เป็น Digital Native ในยุคนี้ พูดง่ายๆ คือ เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้สื่อสารกันแบบนี้แล้ว แต่ผู้ใหญ่เขายังฟังอะไรแบบนี้อยู่”

การทำเพลงเพื่อให้ตอบโจทย์คนฟังในทุกเจนเนอเรชันจึงเป็นเรื่องยากในยุคปัจจุบัน การที่เพลงจะเดินทางจากบนลงล่าง (อายุเยอะลงมาอายุน้อย) หรือล่างขึ้นบน (อายุน้อยไปอายุเยอะ) หรือในออกนอก (เมืองออกต่างจังหวัด) หรือนอกเข้าใน (ต่างจังหวัดเข้าเมือง) หรือซ้ายไปขวา (ผู้ชายหรือผู้หญิง) หรือขวาไปซ้าย (ผู้หญิงหรือผู้ชาย) ต้องอาศัยความลงตัวของเพลงและพลังของการสื่อสารสำหรับคนหมู่มากค่อนข้างสูง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย

ให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง

ถึงแม้ว่าวิธีการทำงานส่วนหนึ่งของค่ายจะอิงสถิติและฐานข้อมูล แต่ธุรกิจเพลงจัดอยู่ใน Creative Industry เขาจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาความคิดของศิลปิน ปกติการเปิดรับศิลปินในค่ายมีทั้งแบบออดิชันและแบบเปิดรับ Demo มีรูปแบบที่เป็นศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปอย่าง RedSpin ศิลปินเดี่ยวอย่าง PURE, LOTTE และศิลปินวงดนตรีอย่าง Gliss ซึ่งโดยปกติแต่ละรูปแบบจะมีการเซ็ตวิธีการทำงานหรือวิธีคิดที่ต่างกัน แต่ของ BH BrickHouse ไม่ได้เป็นแบบนั้น เขาสอนให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง

“กว่าจะมาเป็น RedSpin วันนี้ พวกเขาต้องผ่านระบบการออดิชันเพื่อเข้าเป็นศิลปินฝึกหัดในโครงการ BHX ของเราและผ่านอุปสรรคต่างๆ มากมายที่ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ เราไม่เคยมอง RedSpin เป็นแค่ Entertainer เมื่อไหร่ที่คิดแบบนั้น พวกเขาจะโฟกัสอยู่แต่ว่า ‘ทำยังไงก็ได้ให้ฉันดัง’ สำหรับผม ทุกคนที่ขึ้นเวทีต้องมีความเป็น Entertainer ในตัวอยู่แล้ว แต่เราต้องสร้างให้เขามีทัศนคติแบบศิลปิน ดึงตัวตนเขาออกมา เขาจะได้ภูมิใจว่าคนจะจำเขาได้ในแบบที่เขาเป็นจริงๆ ตัวตนคือสิ่งที่เราให้คุณค่ามากที่สุด และมันยั่งยืนกว่า”

BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน
BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน

“หรือ Gliss เข้ามาหาเราแล้วบอกว่าส่งเพลงไปหลายที่มาก แต่ไม่ได้มีที่ไหนให้โอกาสเขา ผมว่าเขาเป็นวงที่มีศักยภาพและมีพลังความเป็น Rock Band ในอุดมคติที่เชื่อมระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ได้อย่างเหลือเชื่อ เราก็ให้โอกาสเขา

“LOTTE ช่วงนี้เขาหายจากการทำเพลง เพราะเขาสนุกกับการทำ TikTok จนวันนี้เขากลายเป็นเดือน TikTok ไปแล้ว ทุกๆ วันจะต้องเห็นเขาอยู่บนหน้าฟีดอยู่ตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่เขาอยากร้องเพลง เขาก็กลับมาทำเพลง

“ส่วน PURE เราไปเห็นคลิปเขาจากใน Facebook และ YouTube เขามีเสียงและวิธีการร้องที่ทรงคุณค่า เขาเล่นกีตาร์ได้ไพเราะ และเป็นอัจฉริยะในด้านการแต่งเพลง ในช่วงแรกๆ เขาก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร มีรสนิยมแบบไหน เวลาผ่านไป ตัวตนความสนุกของเขาก็ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ มันก็ทำให้เราสามารถส่งเขาได้มากขึ้น

“ส่วนตัวผมจะสนับสนุนให้คุณทำอะไรก็ได้ที่รู้สึกว่าเป็นตัวคุณ แล้วคุณสบายใจ ไม่แบก อยู่แล้วแฮปปี้ จุดนั้นคือจุดที่ดีที่สุด”

BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน

ปรับตัวตามโลกที่ไม่หยุดนิ่ง

เป็นเรื่องธรรมดาที่การทำธุรกิจทุกประเภทต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบันเทิงซึ่งนำเสนอตัวบุคคลโดยตรง การที่คนคนหนึ่งจะอยู่ในวงการได้ในระยะเวลานานและอย่างยั่งยืนนั้น ต้องมีความเข้าใจในการเติบโตไปตามช่วงวัยของกลุ่มผู้ชม ผู้ฟัง และตัวเอง

“ศิลปินทุกคนมักจะมีพฤติกรรมการเสพเพลงในแต่ละช่วงอายุที่ไม่เหมือนเดิม ตอนเด็กฟังเพลงหนึ่ง โตมาฟังเพลงอีกแบบหนึ่ง บางทีรสนิยมการฟังก็พัฒนาขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว รสนิยมการทำเพลงของเขาอาจไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการอีกต่อไป มันเป็นเรื่องยากเหมือนกัน วันไหนอยากเป็นตัวเขาและไม่สนเรื่องรายได้ต่อไปแล้ว อันนี้โอเค แต่ถ้าบอกว่าอยากมีอาชีพ อยากสร้างโอกาส บางครั้งการเติบโตไปพร้อมๆ กับแฟนเพลงก็เป็นสิ่งจำเป็น หลายครั้งเราเจอว่าการโตเร็วไปก็ไม่ได้เป็นเรื่องดี

“ผมชอบบอกศิลปินว่าโอกาสเป็นสิ่งที่หายากครับ ส่วนใหญ่เสียดายโอกาสแทนเขาด้วย ความสำเร็จที่ใหญ่มากๆ บางทีผิดพลาดไปแล้ว มันกู้กลับมาไม่ได้ แต่ผมเข้าใจว่าคนทุกคนอยากมีพื้นที่ตัวเอง เราก็เคารพสิ่งนั้น ผมมีหน้าที่ได้แค่บอกว่าในสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ ส่วนที่เหลือผมจะปล่อยให้เขาเลือกทางของเขาเอง และผมจะคอยช่วยดูอยู่ห่างๆ เมื่อไหร่ที่เขาล้ม ผมจะเป็นเบาะทรายที่อยู่ตรงนั้นและพาเขาลุกขึ้นมา ถ้าเขาประสบความสำเร็จ ผมก็เตรียมออกแบบขั้นบันไดให้เขาเดินขึ้นไปต่อ”

BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน
BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน

สิ่งจำเป็นในการสร้างคนคือ การหาจุดกึ่งกลางที่เป็นรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน หากไม่มีการวางแผนที่ดี รอยต่ออันเปราะบางเหล่านี้จะหัก และแฟนคลับที่ติดตามอยู่จะปรับตัวไม่ทัน จะว่าไปก็เหมือนกับการทำ Business Transformation ที่ต้องค่อยๆ เปลี่ยน เปลี่ยนอย่างมีศิลปะ ค่อยๆ ทำให้คนรับรู้และเติบโตไปพร้อมกับเรา

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเป็น YouTuber เด็ก รีวิวของเล่นไป พอโตขึ้นก็อยากสวย อยากหล่อ ให้นั่งรีวิวของเล่นเหมือนเดิมอาจจะเขินเพื่อน แต่ถ้าเปลี่ยนไปรีวิวเครื่องสำอางเลย แฟนคลับที่ตามของเล่นก็อาจตามไม่ทันและเปลี่ยนไปตามคนอื่น ในมุมการสร้างศิลปินก็เช่นเดียวกัน เราต้องเข้าใจแฟนเพลงเรา เราต้องจริงใจกับเขาด้วย สุดท้ายเขาก็จะไม่ทิ้งเรา”

ลองผิด ลองถูก แล้วเรียนรู้ไปด้วยกัน

ค่าย BH BrickHouse เป็นค่ายใหม่ที่ศิลปินทุกคนใหม่ การเติบโตจำเป็นต้องใช้เวลาให้ได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูก

“อย่างศิลปินหน้าใหม่หรือคนที่ประสบความสำเร็จเร็ว เขาจะมีความเชื่อของเขา ถ้าเป็นความเชื่อที่ถูกทางก็ดีไป ถ้ายังไม่ใช่ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้เขาทดลองในสิ่งที่อยากทำ ทุกคนเป็นศิลปินหน้าใหม่ เราไม่สามารถไปบอกว่าอะไรดี ไม่ดีได้ แต่พยายามให้เขาเรียนรู้ว่า นี่คือสิ่งที่คุณต้องรับผิดชอบ จะเดินตรง เดินอ้อม เดินล้ม แล้วลุกกลับมาใหม่ ตรงนั้นมีคุณค่า เพราะวันนั้นที่คุณล้ม คุณได้เรียนรู้แล้ว”

BH BrickHouse ค่ายเพลงยุคดิจิทัลของ ภาคย์ ศรีพงษ์ธนากุล ที่มุ่งสร้างทั้งผลงานและคน

Lesson learned

“สิ่งที่เราเรียนรู้พัฒนามาตลอดระยะเวลาสามถึงสี่ปี คือการพัฒนาทีม พัฒนาศิลปินให้มีทัศนคติเปิดกว้าง แลกเปลี่ยนความคิด ให้เข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่น Passion Management เป็นเรื่องสำคัญมากในการสร้างคน นึกถึงเวลาตอนสอบพ่อแม่เราชอบบอกให้อ่านหนังสือก่อนเนิ่นๆ ซึ่งเราจะรู้ตัวเราเองว่าถ้าเราอ่านเร็ว จะหมดไฟก่อน แต่ถ้าเราบริหารจัดการการอ่านหนังสือของเราได้เอง ไปอ่านตอนใกล้ๆ แบบไฟลนก้น เราจะมีแพสชัน แล้วเราจะทำข้อสอบได้ คนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องสอนให้เขากล้าออกแบบชีวิตของเขาเอง สุดท้ายเขาจะภูมิใจในความเป็นเขา”

5 เพลงเด่นที่ BH BrickHouse อยากชวนให้คุณฟัง
  1. Gliss – ถอย
  2. PURE – ทางผ่าน
  3. Gliss – เอาไว้ค่อยคุย
  4. LOTTE – มีแฟนยัง
  5. RedSpin – แฟนในอนาคต

Writer

Avatar

มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์

อดีตบรรณาธิการ Fungjaizine ที่นอกจากเรื่องเหล้าแล้ว ก็ชอบเล่าเรื่อง ดนตรี ภาพยนตร์ และอาหาร เป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ