“ชายคนหนึ่งตั้งพรรคขึ้นมา ประกาศว่าจะหยุดบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่มากในประเทศ”

15 มีนาคม พ.ศ. 2561 คือวันที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เริ่มต้นทำสิ่งนั้น

“ถ้าคุณทำสารคดีเป็นแล้วมีประเด็นนี้ผุดขึ้นมา เราว่ามันเป็นความรับผิดชอบของคนทำสารคดีไทยไม่คนใดก็คนหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องไปถ่ายเขาแบบ No Matter What”

5 เดือนให้หลัง เอก-เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ และ สนุ๊ก-ธนกฤต ดวงมณีพร คว้ากล้องคู่ใจ ลงมือตามติดชีวิตของธนาธร พร้อมความเชื่อสุดแรงเกิดว่า Breaking the Cycle จะเป็นหนังสารคดีที่ประเทศนี้ไม่มีไม่ได้

พวกเขาตั้งต้นจากโจทย์ที่เรียบง่าย เพียงตามไปดูว่าชายคนหนึ่งจะทำฝันยิ่งใหญ่ให้สำเร็จได้ไหม คำถามคือ เมื่อไหร่สารคดีเรื่องนี้จะจบลง หากต้นเรื่องของเขาต้องเผชิญขวากหนามไม่เว้นวัน มีบททดสอบจากกระแสสังคมที่คอยบีบคั้น มีความคาดหวังของประชาชนผู้ลุกฮือเป็นเดิมพัน เลยเถิดจนทั้งคู่ต้องเปลี่ยนแผนกลางคัน เพราะการเลือกตั้งที่เคยเป็นบทสรุปของหนัง กลับเป็นเพียงแค่ครึ่งแรก

21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 คือวันที่พรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ – ถ้าเป็นเราก็คงจบแค่นี้ แต่พวกเขาตัดสินใจถ่ายต่อ 

สารคดีเรื่องนี้มีอายุ 5 ปี ถ่ายทำตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่เพิ่งก่อตั้ง จนถึงวันที่คณะก้าวหน้าถือกำเนิด โดยปราศจากแหล่งเงินทุนในประเทศ ไม่มีใครคอยชักใย ด้วยฝีมือผู้กำกับหน้าใหม่ไฟแรงสองคนที่ตั้งคำถามว่า ทำไมหนังการเมืองไทยถึงไม่เคยถูกเล่าอย่างตรงไปตรงมา 

ทั้งสองยืนยันว่า ไม่ว่าคุณจะยืนอยู่ข้างไหน สวมเสื้อสีอะไร Breaking the Cycle ก็เป็นหนังสารคดีแห่งยุคสมัยซึ่งบันทึกภาพการเมืองไทยที่คุกรุ่นมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ 

และเมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนไทยคงได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์พร้อม ๆ กัน

ตามติดธนาธรและพรรคอนาคตใหม่กับ 2 ผกก.สารคดี Breaking the Cycle ที่ไม่ดูก็ได้ แต่ไทยต้องมี

คุณสองคนเป็นคนทำหนังเต็มเวลาไหม

สนุ๊ก : มันมีด้วยเหรอ (หัวเราะ) เราเป็นฟรีแลนซ์ ทำเป็น Job by Job แต่งานหลักที่เอาไว้หาเงินก็เป็นงานโฆษณา ถ่ายสารคดี เพราะการทำโปรเจกต์นี้ไม่ได้เงินก็เลยต้องออกไปทำงานข้างนอก

เอก : เราว่า Full-time คนทำหนังหายาก ถ้าลองไปเปิดดูชื่อผู้กำกับที่เรารู้จัก เช่น พี่บาส พูนพิริยะ ที่เราว่าท็อปที่สุดของไทยในตอนนี้ เขาทำเรื่อง เคาท์ดาวน์ ตอนปี 2012 กว่าจะได้ทำอีกทีก็ 2017 อาชีพผู้กำกับหนังในประเทศไทยมันยากมาก ๆ แต่คนตัดต่อ คนถ่าย อาจจะยังพอมีอยู่บ้าง เพราะหนังยาวที่ถูกผลิตในแต่ละปีมันยังพอหมุนเวียนให้ทำเป็นประจำทั้งปีได้ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกคนต้องรับงานโฆษณากระจุกกระจิก เพราะการทำหนังทีหนึ่งใช้เวลานาน

มองว่าการเป็น Full-time Filmmaker ควรจะยากอย่างนั้นไหม

เอก : (หัวเราะ) ถ้ามีเงินก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำหนัง Full-time แต่งบการทำภาพยนตร์ไทยในตอนนี้ไม่ได้เอื้อให้เราทำหนังเพียงอย่างเดียวแล้วใช้ชีวิตอยู่ได้ เราเพิ่งมาทำ Full-time เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วเอง คือการตัดสารคดีเรื่องนี้ เราก็รับเงินจากโปรเจกต์อื่น ๆ ซึ่งไม่เพียงพอหรอก แต่จำเป็นต้องทำ

จุดเริ่มต้นในการทำหนังสารคดีเรื่อง Breaking the Cycle คืออะไร 

เอก : เริ่มมาจากปี 2018 ที่พรรคอนาคตใหม่เพิ่งตั้ง ในช่วงแรกมีงานที่เรียกว่า ‘จิบกาแฟกับธนาธร’ เป็นงานเปิดตัวพรรค แต่ด้วยเหตุผลกลใดของรัฐบาล คสช. ทำให้ต้องจัดงานภายใต้ชื่อนั้น สิ่งที่จับใจเราคือ เห็นคนในพรรค ในระดับผู้ก่อตั้ง เป็นตัวแทนของคนหลาย ๆ กลุ่มจริง ๆ 

ถ้านึกถึงคำว่า ส.ส. หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในรัฐสภาไทย เราจะเห็นภาพคนแก่ ๆ ใส่สูท เข้าไปทะเลาะกัน แต่ตอนเปิดพรรคนี้ เราเห็นตัวแทน LGBTQ เห็น พี่กอล์ฟ ธัญญ์วาริน ตัวแทนคนทำหนัง ตัวแทนคนพิการ แล้วก็ไปกระตุกตรงไอเดียว่า เราต้องยกเลิกอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือการรัฐประหาร เพื่อแก้ปัญหาการเมืองไทยในอนาคต ถามว่าทำไม 

เราเรียนมาว่าประเทศไทยอยู่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราไปเลือกตั้ง เลือกผู้แทนฯ เขาทำงานให้เรา แล้วรัฐประหารมาเกี่ยวอะไรด้วย หลังจากนั้นก็พบว่าคุณธนาธรมีเสน่ห์เวลากล่าวสุนทรพจน์ ในยุคนั้นไม่มีใครวิจารณ์ทหารหรือ คสช. ตรงเท่าคนนี้

ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ในตอนนั้นดูเป็นพรรค Underdog มาก แล้วเราก็นึกว่า ถ้าเป็นหนังสารคดีได้ ก็คงเป็นหนังที่ดี ทั้งคาแรกเตอร์และพล็อต 

ชายคนหนึ่งตั้งพรรคขึ้นมา ประกาศว่าจะหยุดบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่มากในประเทศ ถ้าคุณทำสารคดีเป็นแล้วมีประเด็นนี้ผุดขึ้นมา เราว่ามันเป็นความรับผิดชอบของคนทำสารคดีไทยไม่คนใดก็คนหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องไปถ่ายเขาแบบ No Matter What เรารู้สึกว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในอนาคต 

ตามติดธนาธรและพรรคอนาคตใหม่กับ 2 ผกก.สารคดี Breaking the Cycle ที่ไม่ดูก็ได้ แต่ไทยต้องมี

เล่าเหตุการณ์วันที่ตัดสินใจลงมือทำให้ฟังหน่อย

เอก : เรากำลังนั่ง BTS กลับบ้าน ความคิดที่ผุดขึ้นมาคือ เอก มึงจะไปถ่ายไหม ถ้าไม่ไป มีเหตุผลอะไรที่มึงกลัว หนึ่ง กลัวโดนด่าว่าได้ประเด็นดีมาก ๆ มา แต่ทำไมทำหนังห่วยขนาดนี้ สอง ถ้าถ่ายแล้วถูกหาว่าเป็นเครื่องมือของนักการเมือง มึงโดนหลอก เรารับได้ไหม ในขณะเดียวกันก็คิดว่าถ้าไม่ทำ ชีวิตต่อไปจะเป็นยังไง เราก็คงวนลูปเหมือนที่เคยทำมา มันสบายดี แต่เราไม่ต้องการชีวิตแบบนั้น 

สนุ๊ก : เราเข้ามาตรงนี้แหละ ช่วงนั้นอยากลาออกจากงานประจำ ทุก ๆ วันหลังเลิกงานก็จะนัดพี่เอกมาเพื่อบ่นให้ฟัง (หัวเราะ) เรากับพี่เอกคุยกันเยอะมาก พอพี่เอกชวนทำหนัง เราเลยคิดน้อยมาก ถ้าพี่อยากทำ อยากถ่ายคนนี้ ผมพอถ่ายได้ งั้นเราถ่ายกัน ไม่มีอะไรซับซ้อน อีกอย่างคือเพราะเราห่างกับการเมืองไทยมาก ใช้คำว่าอินโนเซนส์ก็ได้ แล้วธนาธรป๊อปอัปที่สุด ณ เวลานั้น ก็แค่นั้นเอง

เอก : จริง ๆ เรามีปรัชญาการทำหนังที่ตรงกันด้วย คือคิดว่าหนังควรเป็นตัวแทนความเชื่อของเราจริง ๆ ทั้งดี แย่ หรือตัวตนที่น่าเกลียดจนไม่อยากเล่าให้ใครฟัง จะมีหนังประเภทที่เล่าไม่หมด คือดูก็รู้ว่าพยายามปิดหรือเปิดบางอย่าง แล้วเรากับสนุ๊กอยากทำหนังที่ตัวเองเชื่อ ตัวเองเป็น เราก็ตัดสินใจทำ ‘หนังการเมือง’ ที่เวลาพูดแล้วทุกคนจะกลัวกันว่าเราเป็นใคร เราคิดยังไง 

นั่นสิ คิดว่าเพราะอะไรคนมักกลัวเวลาพูดถึงหนังการเมือง

สนุ๊ก : เป็นผลจากภาพจำที่สะสมกันมาจากอดีต เราจะสนใจหรือไม่สนใจก็ตาม มันจะวนเวียนอยู่ในสังคม ถามว่าตอนนั้นกลัวไหม ไม่ใช่ว่าไม่กลัวนะ ก็มีคิดว่า เห้ย เราจะทำแบบนี้เลยเหรอ หนังการเมืองแบบ No Layer พูดเรื่องพรรคการเมือง นักการเมืองแบบตรงไปตรงมา แต่เรารู้สึกตรงกันว่าหนังแบบนี้ต้องมีได้ อยากพูดเรื่องการเมืองก็พูดออกมาแบบตรง ๆ ไม่ต้องเก็บซ่อนหรือหาท่าทางให้มันลึกลับ

การเข้าถึงตัวธนาธรเพื่อขอทำหนังเรื่องนี้ยากไหม

เอก : (หัวเราะ) ไม่ยากนะ ตอนที่พรรคเพิ่งเริ่มตั้งเขาก็พยายามกวาดคนทุกรูปแบบทุกอาชีพ ซึ่งมีคนที่เรารู้จักอยู่ด้วย วันที่อยากไปถ่ายก็ติดต่อผ่านคนนี้ เขาก็ทักแชตธนาธรไป แล้วธนาธรตอบว่า ได้เลยครับ สะดวก อนุญาตให้ถ่ายส่วนไหนก็ได้ แล้วไม่เกิน 1 อาทิตย์ก็เริ่มถ่ายเลย 

ตอนไปถึงพรรค ธนาธรแนะนำกับคนในออฟฟิศว่า เขาจะมาติดตามการเดินทางของพวกเรา 

สนุ๊ก : พอสิ้นสุดคำนั้น แม่งคือมหกรรมของความมั่วซั่วทางการเมือง คนโคตรเยอะ เกิด 3 – 4 เหตุการณ์ใน 1 วัน เราแทบไม่มีเวลาได้คุยกับธนาธรอีกต่อไป จนเลือกตั้งเสร็จ (หัวเราะ)

ตามติดธนาธรและพรรคอนาคตใหม่กับ 2 ผกก.สารคดี Breaking the Cycle ที่ไม่ดูก็ได้ แต่ไทยต้องมี

สถานการณ์พรรคอนาคตใหม่ในตอนนั้นเป็นยังไง

เอก : เกินจากพรรคเล็กมานิดหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ใหญ่มาก ที่แน่ ๆ คือเขายุ่งมาก พื้นฐานคือธนาธรเป็นนักธุรกิจที่จัดสรรตารางเวลาชีวิตได้เต็มพิกัด ต้องใช้เวลาของชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด มันยุ่งเพราะเขาเป็นคนอย่างนั้น จนช่วงกระแส ‘ฟ้ารักพ่อ’ เราถึงจะเริ่มรู้สึกได้ว่ามีความตึงเครียดที่ต้องคอยระแวดระวังอะไรบางอย่าง

ตึงเครียดจนนำพาให้ไปถึงความคิดที่ว่า พรรคนี้จะถูกยุบ เลยรึเปล่า

สนุ๊ก : สำหรับเรา ไม่เลย 

เราก็ติดตามแบบวันต่อวัน รู้พร้อม ๆ กับประชาชนนั่นแหละ ไม่ได้คิดถึงขั้นจะถูกยุบพรรคเลย จริง ๆ แพลนแรกที่สุดคือจะถ่ายถึงแค่เลือกตั้งด้วยซ้ำ เราคิดกันง่าย ๆ ว่าเลือกตั้งเสร็จก็คงรู้ว่าใครแพ้ใครชนะ หนังก็คงจะจบได้แล้ว แต่ในความเป็นจริง การเลือกตั้งเป็นแค่หนังครึ่งแรกเท่านั้น 

ถ้าตั้งใจจะหยุดถ่ายแค่ตอนเลือกตั้งเสร็จ มีความรู้สึกว่าหนังเริ่มเลยเถิด ใหญ่เกินจะควบคุมอยู่บ้างไหม

สนุ๊ก : จำไม่ได้ว่ารู้ตัวอีกทีว่าหนังมันใหญ่กว่าที่คิดตอนไหน แต่ช่วงหลังเลือกตั้งก็มีโมเมนต์หนึ่งที่เราสองคนรู้สึกว่า หนังแม่งใหญ่สัส ๆ จนไม่รู้ว่าเราสองคนจะเอามันอยู่ไหม 

เอก : ส่วนเราไม่มีความคิดว่าสิ่งที่กำลังถ่ายจะเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเลย คิดแค่ว่าจะเข้าสภายังไง เพราะเราไม่มีบัตรสื่อ หรือซีนนี้ในเวลานั้นเราจะถ่ายอะไรดีเพื่อให้คนดูรู้เรื่อง แต่จังหวะที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังทำเรื่องที่ใหญ่มาก ๆ คงเป็นตอนที่เราไปเจอใครบางคนขณะถ่าย แล้วเขาก็บอกเราว่า รู้ไหมว่าการเมืองไทยเป็น One Game มาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ก็เลยเป็นความรู้สึกอยู่ในหัวว่า เรากำลังทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ตามนักการเมืองคนหนึ่งอีกแล้ว (หัวเราะ)

เพราะเราคิดง่าย ๆ แค่ผู้ชายคนหนึ่ง ฝันสิ่งหนึ่ง ทำสิ่งหนึ่ง เราก็ไปตามดูว่าเขาทำได้ไหม จุดเริ่มต้นเราคิดแค่นั้น

ตามติดธนาธรและพรรคอนาคตใหม่กับ 2 ผกก.สารคดี Breaking the Cycle ที่ไม่ดูก็ได้ แต่ไทยต้องมี
ตามติดธนาธรและพรรคอนาคตใหม่กับ 2 ผกก.สารคดี Breaking the Cycle ที่ไม่ดูก็ได้ แต่ไทยต้องมี

ถ้าการเลือกตั้งเป็นเพียงหนังครึ่งแรก แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าเมื่อไหร่จะเป็นตอนจบของหนัง

เอก : จริง ๆ เราเคยมีแพสชันกับโปรเจกต์นี้มาก ๆ ช่วงแรก ๆ ของการถ่ายคิดว่าเราจะตามไปถึงการเลือกตั้ง ดูว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แล้วนิยามคำว่าสำเร็จคืออะไร ถ้ามันคือการหยุดวงจรรัฐประหาร เราคิดว่าจะถ่ายไปจนถึง 10 ปีด้วยซ้ำ 

แล้วการไม่สำเร็จคือจุดไหน ไม่ใช่การเลือกตั้งแพ้แล้วไม่ได้เป็นรัฐบาล เราเลยถ่ายต่อไปเรื่อย ๆ เพราะไม่มีจุดคอนเฟิร์มสักทีว่าเขาทำไม่สำเร็จ รอลุ้นไปเรื่อย ๆ จนเขาโดนยุบพรรคก่อน (หัวเราะ) แล้วหลังยุบพรรคก็เกิดคลื่นการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชน แล้วธนาธร คุณช่อ พรรณิการ์ อาจารย์ปิยบุตร ก็ไปตั้งกลุ่มคณะก้าวหน้า ซึ่งโมเมนต์ของการถ่ายภาพพวกเขาถือเสื้อคณะก้าวหน้าขาย เรารู้สึกว่า ไอ้เชี่ย แชปเตอร์แรกมันจบไปแล้วว่ะ เราพอแล้วกับการตามถ่ายคนคนนี้

คำว่า ‘Breaking the Cycle’ เกิดขึ้นมาได้ยังไง

เอก : พอถ่ายมาถึงจุดหนึ่ง เรากับสนุ๊กก็รู้ว่าคงไม่มีทางถ่ายหนังเรื่องนี้จบโดยใช้เงินตัวเองได้ ต้องไปหาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้ขาดจากข้อครหา เป็นอิสระทั้งปวงจากทุกเงื่อนไขที่ประเทศเรามี ทุนแรกที่ยื่นไปคือทุนสิงคโปร์ แล้วตอนส่งก็ต้องมีชื่อหนัง เราก็ ไอ้เชี่ย ชื่อหนังเราคืออะไรวะ เราคิดแค่จะถ่ายธนาธร (หัวเราะ)

พอคิดว่าเราอยากหยุดวงจรรัฐประหาร ก็เลยเกิดเป็นชื่อ Breaking the Cycle ซึ่งมีคนแนะนำ ถามถึงเรื่อง Tense ว่าต้อง Break the Cycle รึเปล่า แต่พอเวลาผ่านไป เราว่าชื่อนี้มันเมกเซนส์ เพราะมันคือการกำลังทำ (In Progress) 

ทำไมพวกคุณถึงสนใจเรื่องรัฐประหารมากเป็นพิเศษ

สนุ๊ก : ช่วงแรก ๆ ของการพูดของธนาธร เขาใช้สถิติการรัฐประหารมาอธิบายการเมืองไทย เป็นเหตุผลว่าทำไมเขาต้องมาทำพรรคการเมือง คือ 88 ปีของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง มีรัฐประหาร 13 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ แสดงว่าประเทศนี้ไม่ปกติ ต้องการใครสักคนมาแก้สิ่งนี้ให้กลับสู่ความปกติ ซึ่งสถิตินี้แหละที่ทำให้เรารู้สึกว่าประเทศมันมีปัญหาจริง ๆ เพราะนี่เป็น Fact เป็นความจริง เขาก็แค่พูดให้ฟัง ซึ่งน่าแปลกใจนะที่ในการรับรู้ของเราไม่มีใครเคยพูดหรือพยายามแก้ไขความจริงนี้เลย

เอก : มันทำให้เรารู้ว่า ความปกติที่เราเข้าใจ ไม่ใช่ความปกติในสากลโลก

ตามติดธนาธรและพรรคอนาคตใหม่กับ 2 ผกก.สารคดี Breaking the Cycle ที่ไม่ดูก็ได้ แต่ไทยต้องมี

พูดถึงความไม่ปกติ มีความไม่ปกติอะไรที่ต้องเจอในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้บ้าง

(ทั้งคู่หัวเราะ) ทุกอย่าง 

เอก : มีประเด็นหนึ่งที่ถูกถามบ่อย ๆ คือหนังเรื่องนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองรึเปล่า กูไม่เชื่อว่ามึงทำเอง พรรคจ้างมึงแน่ ๆ ต้องมีผู้ชักใยเบื้องหลัง (หัวเราะ) นี่คือความไม่ปกติ ทุกคนมานั่งคิดอย่างนี้เพราะกูทำหนังเรื่องนี้เหรอ 

คนมันไม่เคยเห็นหนังการเมือง ทั้งที่ต่างประเทศมีหนังแบบนี้เยอะแยะ บางประเทศก็มีตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว แต่พออยู่ในประเทศไทย เขาไม่เข้าใจว่าเราทำทำไม ช่วงแรก ๆ เราก็ต้องพยายามอธิบายกับคนใกล้ตัว พอตัวอย่างหนังเผยแพร่ออกมา เราเห็นความคิดของคนในสังคมกลุ่มหนึ่งก็รู้สึกรำคาญ แบบ มึงไม่เชื่อเหรอว่ากูเริ่มทำกัน 2 คน มึงไม่เชื่อเหรอว่าคนทำหนังเรื่องนี้ ตอนนี้มีกัน 4 คน แล้วคนที่แก่สุดก็อายุ 31 เท่านั้น 

คือพอคุณอธิบายไม่ได้ว่ามันคืออะไร คุณก็หยิบคำอธิบายเก่า ๆ มานิยามมัน เชื่อในความคิดเก่า ๆ เราว่ามันประหลาดที่คนเห็นหนังเรื่องนี้แล้วให้คำอธิบายการเกิดขึ้นของมันแบบเดิม ๆ 

โต้ตอบไหม

เอก : ไม่ครับ ผมโต้ตอบผ่านการให้สัมภาษณ์ (หัวเราะ)

ระหว่างถ่ายทำ เผชิญเรื่องที่เสี่ยงกับความปลอดภัยบ้างไหม

สนุ๊ก : ไม่มี เพราะเราไม่ได้บอกใคร

(ทั้งคู่หัวเราะ)

สนุ๊ก : ไม่รู้ว่าเก็บไว้ได้ยังไงตั้งหลายปีเหมือนกัน เราพยายามไม่บอกใครเลย จะบอกก็แค่วงแคบ ๆ เพื่อนยังไม่ค่อยบอก เหมือนแบบ จะเกิดอะไรขึ้นกูไม่รู้นะ แต่กูไม่บอกก่อนแล้วกัน มันจะได้ไม่เกิด (หัวเราะ) ไม่ใช่เพราะกลัวว่าจะโดนอะไร แต่กลัวทำหนังไม่เสร็จถ้ามีอะไรมาขัดขวางการทำงาน คือหนังเสร็จแล้วค่อยว่ากัน เอามาเลย ใครจะฟ้องก็ว่ากันไป

เอก : อีกเหตุผลที่ทำให้ข่าวของการทำไม่แตกออกมา เพราะไม่มีใครคิดมั้งว่าเราจริงจังขนาดนี้ มีเพื่อนเราหลายคนที่เคยเล่าให้ฟัง เขาก็ไม่อะไรจนเห็นตัวอย่างหนัง เขาก็เพิ่งรู้ว่า มึงเอาจริงว่ะ มึงทำหนังจริง ๆ ด้วย เป็นอีกจุดที่รำคาญนิดหน่อยว่า อ้าว ก็กูบอกว่ากูจะทำหนัง (หัวเราะ) มึงคิดว่ากูจะทำอะไร 

เวลาบอกว่าจะทำหนัง เราก็อยากทำแบบที่เคยเห็น แบบที่เราเติบโตมา มีเส้นมาตรฐานที่เราพยายามแตะไปให้ถึง แต่พอเราพูดกับคนใกล้ตัว เขาไม่คิดว่าเราจะไปจุดนั้นได้ สำหรับเรามันแอบรู้สึกเหมือนโดนดูถูก

ความตั้งใจแรกคือคิดว่าจะฉายโรงเลยเหรอ

เอก : ถูกต้องครับ

สนุ๊ก : ซึ่งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอาหนังเข้าโรงต้องทำยังไงบ้าง แต่เราเรียนหนัง เป็นคนทำหนัง วัยกำลังห่าม เพราะฉะนั้น ปลายทางของการทำหนังสักเรื่องมันอัตโนมัติว่าฉายโรง ไม่รู้หรอกว่าเงื่อนไขจะเป็นยังไง

ยังไงก็จะเอาเข้าโรงภาพยนตร์ให้ได้ 

มันแสดงให้เห็นถึงความไม่ปกติของสังคมนิดหนึ่งที่พอปล่อยตัวอย่างแล้ว จะมีกลุ่มคนที่บอกว่า อยากดูนะ แต่จะได้ฉายเหรอ ไม่น่าได้ฉายหรอก โดนแน่ เอาไปลงเน็ตฟลิกซ์ดีกว่า แต่แล้วทำไมถึงไม่คิดว่าหนังจะฉายโรงได้ มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา เราทำหนังก็อยากเอาไปฉายในโรง ทำไมถึงต้องเป็นประเด็น

เอก : เราไม่ได้คิดว่าเราจะเจออะไร แค่คิดว่าทำหนัง เอาไปฉาย คนจะได้ดูเยอะ ๆ (หัวเราะ) ยิ่งพูดก็ยิ่งดูโง่นะ แต่ไม่เห็นมีอะไรแปลกประหลาดหรือพิเศษตรงไหนเลย มันไม่มีแน่ ๆ หรอกทำหนังเสร็จแล้วมึงมาดูที่บ้านกูนะ ไม่มีใครคิดในหัวหรอกว่า ถ้ามึงทำหนังเสร็จแล้วกูจะไปดูที่บ้านมึง ไม่มี 

กลัวไหมที่จะไม่ได้ฉายในโรงจริง ๆ

เอก : อืม ไม่รู้ว่าเราคิดเหมือนสนุ๊กไหม แต่เราไม่กลัว เพราะหนังเรื่องนี้เป็นเงินของเรากับสนุ๊ก แล้วก็เงินทุน บางคนอาจจะเสียดายเงิน อุตส่าห์ทำมาแล้วไม่ได้ฉาย แต่เราไม่เสียดาย เพราะรู้สึกว่ายังไงก็ต้องมีทางไปแน่ ๆ มีคนอยากดูอีกตั้งเยอะแยะ มีช่องทางอีกมากมายบนโลกใบนี้ที่จะทำให้คนได้ดู ถ้ารัฐไทยบอกว่าหนังเรื่องนี้ฉายโรงไม่ได้ เราไม่เสียดาย แล้วเราก็ไม่แคร์ด้วย

สนุ๊ก : สำหรับเรา หนึ่ง คือถ้าการไม่ได้ฉายคือการถูกจัดเรตหรือถูกเซ็นเซอร์ เรารู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนไหนของหนังที่จำเป็นต้องถูกเซ็นเซอร์ตามกฎหมาย สอง โรงหนังเป็นแค่ช่องทางหนึ่งในการเข้าถึงคนดู คือเป้าหมายของเรากับโปรเจกต์นี้ ตั้งแต่วันแรก คืออยากให้ไปถึงคนดูให้ได้มากที่สุด

ถ้าเกิดไม่ได้ฉายจริง ๆ ชวนคิดเล่น ๆ ว่าเหตุผลอะไรที่เขาจะใช้ขัดขวางคุณ

สนุ๊ก : ก็อาจจะหมั่นไส้ (หัวเราะ) 

เอก : อาจจะเป็นข้อหายุยง ปลุกปั่น ทำให้รัฐไทยแตกแยก อะไรประมาณนี้ (หัวเราะ)

ยืนยันได้ไหมว่า ไม่ว่าจะยืนอยู่ข้างไหนก็ดูหนังเรื่องนี้ได้หมด

(ตอบพร้อมกัน) ดูได้

เอก : เราทำมาให้ทุกคนดู ดูแล้วด่าก็ได้ เราไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการด่า หรือจะทำอีกเวอร์ชันหนึ่งของคุณมา เราก็ไม่มีปัญหา 

จากตอนแรกที่ค่อนข้างอินโนเซนส์มากกับเรื่องการเมือง หลังถ่ายทำหนังจบ มุมมองที่มีต่อการเมืองไทยเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

สนุ๊ก : เราเข้าใจการเมืองมากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงกับทั้งหมด เราใกล้ชิดกับมันมากขึ้นเยอะมาก ๆ ทั้งในแง่ระยะทางจริง ๆ คือการเอากล้องไปจ่อหน้านักการเมือง และในแง่ความเข้าใจด้วย อย่างน้อยที่สุด เราก็ไม่ปฏิเสธมัน มีระยะห่างน้อยลงมาก ๆ 

เอก : มันอาจจะทำให้เรารู้สึกว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องสกปรกมั้ง 

ก่อนหน้านี้เราเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องของคนอยากมีอำนาจ เกี่ยวกับกิเลส ความดำมืด ความโลภของมนุษย์ แต่หลังจากถ่ายเรื่องนี้ เราพบว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตัวเองกับการเมือง เหมือนคบกับแฟนแล้วพบมุมที่คบกับเขาได้อย่าง Healthy เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรอำนาจ 

จากที่คิดแง่ลบกับคำว่าเจรจาต่อรองอำนาจ เราก็รู้สึกว่าคือเรื่องธรรมชาติที่จะต้องทำ มันเกิดขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่ในบ้านด้วยซ้ำ เรากับแฟน กับพ่อแม่ กับเพื่อน ทัศนคติของเรากับคำว่าการเมือง กับคำว่าอำนาจ มันเฟรนด์ลี่ขึ้น

ถ้าในหลัก 5 ปี 10 ปี ธนาธรหรือพรรคมีจุดยืนทางการเมืองเปลี่ยนไปจะรู้สึกยังไง

สนุ๊ก : ถ้าหนังไม่ได้ติดสัญญากับใคร เราอาจจะปล่อยหนังลงยูทูบ (หัวเราะ) เพื่อเอาให้เขาดูว่า คุณเคยพูดอย่างนี้ไว้ เคยสัญญาแบบนี้ไว้ ทำไมทำแบบนี้กับประชาชนวะ คงใช้หนังเป็นเครื่องมือ เอาไว้เป็นตัวประกัน (หัวเราะ)

เอก : เอางี้ เราไม่ได้มีความ Loyalty กับเขาขนาดนั้น ทุก ๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้งเราก็ต้องคิดใหม่อยู่ตลอดว่ามีใครน่าสนใจ มีใครคิดก้าวหน้าก้าวล้ำกว่านี้ไหม เราคงไม่ได้รู้สึกอะไรถ้าวันหนึ่งเขาจะเปลี่ยนขั้ว หรือเปลี่ยนความคิดไป เพราะ 4 ปีก็ได้เลือกใหม่ทุกครั้ง แล้วหนังเรื่องนี้คงเป็นประวัติศาสตร์ เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าวันหนึ่งเราเคยเชื่ออะไร อุดมคติที่เราพยายามไปถึงมันคืออะไร มันคือธรรมชาติของหนังที่จะเล่าถึงแนวคิดบางอย่างของคนทำ 

ถามหน่อยว่าทำไมคนไทยถึงต้องดูหนังเรื่องนี้

สนุ๊ก : ในฐานะคนทำเอง เวลาไปถ่าย นอกจากเราจะเป็น Filmmaker แล้ว ยังมีหมวกของประชาชนอยู่ด้วย ซึ่งหมวกนี้ถอดออกไปจากหัวเราไม่ได้ เราเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ที่เราบันทึก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเราเป็นประชาชนไทย 

เวลาเข้าไปดูหนัง สิ่งที่อยู่ในหนังมักไม่ใช่สิ่งที่ส่งผลกระทบกับเราในชีวิตจริง แต่หนังเรื่องนี้ สิ่งที่อยู่ในจอกับสิ่งที่อยู่ในชีวิตมันส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหนก็ตาม เราว่านั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนไทยถึงต้องไปดูหนังเรื่องนี้

เอก : เราอาจไม่ได้ตอบว่าทำไมคนต้องดู เพราะเราคิดว่าดูก็ได้ ไม่ดูก็ได้ แต่เรากำลังอธิบายในแง่คนไทย เราว่า Filmmaker ไทยจำเป็นต้องทำ ประเทศไทยต้องมีมัน 

เราว่าประวัติศาสตร์ไทยในกระแสกำลังเล่าถึงเรื่องเล่าแบบหนึ่ง มีคำที่เรียกว่า Master Narrative หรือเรื่องเล่าแบบแผน ว่าด้วยประเทศไทยที่มีความสงบสุข ทุกคนรักกัน มีอะไรก็แบ่งกัน แต่ความสงบสุขเหล่านี้มักจะถูกสั่นคลอนด้วยสิ่งเร้าภายนอก เช่น วัฒนธรรมต่างชาติ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือกษัตริย์ผู้ทรงธรรมหรือผู้สืบทอดที่มีคุณธรรมต้องมาจัดการปัญหานี้ แล้วประเทศไทยก็จะสงบสุขอีกครั้ง

หนังไทยทุกวันนี้กับเพดานความคิดของคนดูตามกันไม่ทัน อาจจะมีพูดถึงเรื่องชนชั้นบ้าง ก่อนหน้านี้ก็มีหนังสั้นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของประชาชน แต่ยังไม่มีเป็นภาพยนตร์ที่เป็นบทบันทึกของยุคสมัย หนังเรื่องนี้คือชีวิตจริง คือความเจ็บปวด คือความผิดหวังของยุคสมัย แล้วมันก็พูดเรื่องที่เราเผชิญอยู่ทุกวินาทีที่เราดำเนินไป ตื่นมาก็เห็นข่าวการเมืองแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกเล่าออกมาตรง ๆ ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของไทยเลย มันจำเป็นต้องมีเพื่อให้วงการหนังไทย Keep Up กับสิ่งที่ประชาชนเจอ จะดูหรือไม่ดูก็แล้วแต่ แต่เรายืนยันว่ามันต้องมี ไม่มีไม่ได้ 

มองความไม่ปกติของการเมืองไทยกับ 2 ผู้กำกับ Breaking the Cycle สารคดีตามติดธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ที่ประเทศไทยต้องมี

ในฐานะคนทำหนังสารคดีไทย การได้ทำหนังเรื่องนี้เติมเต็มชีวิตยังไงบ้าง

สนุ๊ก : แม่งเหมือนเอาชีวิตเราไปมากกว่า (หัวเราะ) 

เป้าหมายชีวิตเราก่อนจะทำหนังเรื่องนี้เล็กกว่านี้ เราไม่ใช่คนฝันใหญ่ สิ่งที่เติมเต็มเราได้ก็เหมือนทุกคน มีบ้าน มีรถ มีครอบครัว มีเงินพอใช้ เข้าร้านอาหารแล้วไม่ต้องคิดว่าเท่าไหร่ อยากกินอะไรก็ได้กิน แต่หลังทำหนังเรื่องนี้ ในวันแรกที่ถ่ายเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหนังมันใหญ่ เป็นสิ่งที่เข้ามาแทรกไทม์ไลน์ชีวิตที่เราแพลนไว้ ซึ่งแม่งเป็นก้อนใหญ่สัส ๆ จนคิดว่าต้องเป็นกูเหรอวะที่ทำสิ่งนี้ มีคนเก่งกว่าเรา ถ่ายดีกว่าเรา เล่าเรื่องได้ดีกว่าเรา แต่ทำไมต้องเป็นกู ถามว่าเติมเต็มไหม เติมเต็มมาก แต่เกินความคาดหมายเราไปเยอะ

เอก : คำว่า Fulfill ไม่เคยผุดขึ้นมาในหัวเรา ประเด็นของการทำหนังเรื่องนี้คือประเทศไทยต้องมีหนังเรื่องนี้ แล้วไม่มีใครทำ มันเป็นหน้าที่ในฐานะที่คุณเป็นคนทำสารคดีในประเทศไทย แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง เราก็มานั่งคิดว่ามันจะเป็นจุดไหนในชีวิตเรา สิ่งที่เราต้องการจากหนังเรื่องนี้ก็คือ มันคงจะเป็นใบเบิกทางให้เราไปสู่เวทีโลก ให้การทำหนังเรื่องต่อไปไม่ต้องมาอธิบายตัวเองเยอะขนาดนี้อีกว่าทำไมคุณต้องให้ทุนสนับสนุนเรา เราอยากมีชื่อในเวทีโลก ซึ่งจะนำไปสู่การคุยกันเรื่องค่าแรงของคนทำงานสร้างสรรค์ 

หนังสารคดีคือการตามติดชุดความจริงไปเรื่อย ๆ ถ้าออกแบบตอนจบเวอร์ชันตัวเองได้ ตอนจบของหนังเรื่องนี้จะเป็นยังไง

เอก : เราอยากให้จบแบบที่มันจบอยู่นะ เราชอบมาก (หัวเราะ) เราชอบที่เกิดการยุบพรรค แล้วเราก็ชอบที่เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชน เราชอบสิ่งนี้มาก ๆ มันเป็นตอนจบที่เพอร์เฟกต์มาก ๆ 

การที่เราจะพัฒนาจากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่ง มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เจอเรื่องที่ทำให้เราผิดหวัง ทำให้เราขัดใจ เจอเรื่องที่เราไม่อยากจะเจอ แต่มันต้องเจอ เพื่อจะไปสู่จุดต่อไป เราว่าชีวิตต้องมีอย่างนี้กันบ้าง คุณไม่มีทางที่จะใช้ชีวิตแล้วเจอแต่สิ่งที่อยากเจอ ทำในสิ่งที่คุณอยากทำ ได้เป็นในสิ่งที่คุณอยากเป็น มันไม่ใช่ชีวิต เราก็เลยพอใจกับตอนจบที่เป็นอยู่

สนุ๊ก : คล้าย ๆ กันนะ แต่เราจะขยายต่อไปอีกหน่อย คำว่า Breaking the Cycle ไม่ใช่แค่รัฐประหารอย่างเดียว สังคมไทยยังมีอีกหลาย ๆ Cycle ที่ต้องจัดการ และเราเชื่อมั่นว่าการจบแบบนี้จะนำพาไปสู่การแก้ไขปัญหาอีกมากมายที่มีอยู่ในสังคม

มองความไม่ปกติของการเมืองไทยกับ 2 ผู้กำกับ Breaking the Cycle สารคดีตามติดธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ที่ประเทศไทยต้องมี

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว