วันนี้เรามานั่งคุยกับ เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์ และภรรยานักร้องเสียงดีวา นิว-นภัสสร ภูธรใจ ถึงเรื่องราวในวัยเด็กที่แม้จะเติบโตมาจากคนละที่ แต่มีสิ่งที่พวกเขารักเหมือนกันและคุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน อย่างการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การลุยเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือเรื่องไฟป่าที่ภาคเหนือ กระทั่งร่วมกันสร้างร้านอาหารและคาเฟ่กลางทุ่งข้าวสองสีที่บ้านปง จังหวัดเชียงใหม่ 

ร้าน Brandnew Field Good, เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์, นิว-นภัสสร ภูธรใจ

เป๊กเป็นที่รู้จักในฐานะของพิธีกร นักร้อง นักแสดง ผู้รักในเรื่องท้าทายและสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และเป็นคนที่ไปสุดกับทุกอย่าง แม้กระทั่งโยนตัวเองสุดตัวลงไปในบ่อปลาสวายสมัยยังเป็นเด็ก เขาคนนี้ก็ทำมาแล้ว เป๊กเริ่มต้นเข้าวงการจากการผันตัวเองจากนักฟุตบอลโรงเรียน ที่ได้เชื้อมาจากคุณพ่อนักกีฬาทีมชาติ จนจับพลัดจับผลูได้มาซ้อมร้อง ซ้อมเต้นกระทบไหล่ กอล์ฟ-พิชญะ นิธิไพศาลกุล, ไมค์-พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล และ ชิน-ชินวุฒ อินทรคูสิน

ในขณะที่นิวเป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องจากเวที เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว เด็กสาวที่เติบโตมาท่ามกลางทั้งสังคมในเมืองและสังคมชนบทของเชียงใหม่ จุดเริ่มต้นของเธอมาจากการแอบที่บ้านไปประกวดจนได้รางวัลมากมาย ไปจนถึงการต้องนั่งรอรอออดิชันเพื่อเป็นนักร้องตรงบันไดหนีไฟของสถานีวิทยุโหวต แซทเทิลไลท์ ในสมัยหนึ่ง เธอคนนี้ก็เคยผ่านมาแล้ว

ทั้งคู่พบกันเพราะสิ่งที่เหมือนกันมากกว่าสิ่งที่ต่าง อย่างความชื่นชอบในกล้องฟิล์ม การท่องเที่ยว ความสนใจทำในสิ่งที่ไม่เคยได้ลองทำ อย่างเรื่องข้าวก็เป็นอีกเรื่องที่ทั้งคู่ศึกษากันอย่างเอาจริงเอาจัง จนลงมือปลูกข้าวกว่า 5 ไร่ และสร้างร้านอาหารภายใต้ชื่อ Brandnew Field Good ขึ้นมาในที่นาที่ไม่มีใครเชียร์ให้ซื้อตั้งแต่แรก เพราะภาพแรกที่พวกเขาเห็นคือ ที่นาตรงนั้นเป็นเพียงผืนนาแห้งๆ ปอเทืองออกบ้างไม่ออกบ้าง น้ำก็ไม่มี แต่เพราะพวกเขารู้สึกว่ามันต้องเกิดอะไรที่ดีกว่านี้ได้ ถ้าเข้าไปอยู่และช่วยพัฒนา 

และนี่คือเรื่องราวการปลุกปั้นผืนดินเป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ของเป๊กและนิว

ร้าน Brandnew Field Good, เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์, นิว-นภัสสร ภูธรใจ

คุณสองคนเริ่มต้นเส้นทางบันเทิงจากการเป็นสายประกวดเหมือนกันเลย

นิว : นิวเริ่มมาเป็นนักร้องจากความชอบก่อน ตอนเด็กๆ คุณครูให้โอกาสเราไปเป็นนักร้องนำตามงานต่างๆ แต่ครอบครัวเขาไม่อยากให้เราไปทำอะไรนอกเหนือจากการเรียน แต่ว่าพี่ชายกับเราชอบแอบไป แล้วพี่ชายก็เป็นคนผลักดัน บอกให้ไปประกวดสิ ไปแข่งนู่นแข่งนี่สิ จนได้ทุนการศึกษาให้แม่เห็น มีถ้วยรางวัลให้เขาดู ได้เป็นตัวแทนโรงเรียน ตอนนั้นเราประกวดทุกอย่างเลยนะ ตั้งแต่ประกวดร้องเพลง ประกวดเต้น ประกวดวาดรูปคอมพิวเตอร์กราฟิก ประกวดยำหมูยอ

เป๊ก : อะไรคือประกวดยำหมูยอ

นิว : แต่ละโรงเรียนเขาจะหาแม่ครัวมาประกวดกัน เราทำมาหมดแล้ว 

เป๊ก : ส่วนเป๊กตอนเด็กๆ เราเกิดมาพร้อมกับลูกฟุตบอลเลย

นิว : เห้ย 

เป๊ก : เท่ปะ รู้สึกว่าลูกฟุตบอลก็อยู่กับเรามาตั้งแต่เด็กแล้ว เพราะว่าพ่อเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ แล้วก็ไปเป็นโค้ชทีมชาติ พ่อจะสอนเบสิกให้เรารู้จักหมด ฉะนั้นเราเลยเป็นนักฟุตบอลโรงเรียน เป็นนักวิ่งโรงเรียน แข่งปิงปอง แข่งว่ายน้ำ 

นิว : อ้าว สายประกวดเหมือนกันนี่

เป๊ก : แต่ว่ามันมาจากสิ่งที่พ่อสั่งสมมาไง มันเลยไปทางนี้หมด 

นิว : หลังจากอัดเพลงไปที่สถานีวิทยุแล้วไม่สำเร็จ นิวก็หยุดความคิดเรื่องเป็นนักร้องไป หลังจากนั้นน้าของนิว เขาเปิดร้านอาหารที่ริมแม่น้ำปิง มีคนเขามาที่ร้านแล้วชวนเราไปประกวด ให้ไปออดิชันเป็นนักร้องดู นั่นก็คือเส้นทางแบบเข้าไปเป็นนักร้องอย่างเต็มตัว

เป๊ก : ส่วนเป๊กชอบทำอะไรที่มันท้าทาย ตอนนั้นเพื่อนนักบอลที่สวนกุหลาบมันหนีไปเป็นหลีดก่อน เราก็เลยลองตามเพื่อนไปเป็นหลีดดู ก็รู้สึกว่านี่คือความท้าทายใหม่ของตัวเอง แล้วพอไปเป็นหลีด เราต้องไปหาสปอนเซอร์เอาเอง เลยไปขอสปอนเซอร์ที่แกรมมี่ เลยได้เข้ามาทำงานเป็นพิธีกรตั้งแต่ช่วงมอห้า มอหก จนถึงทุกวันนี้

ร้าน Brandnew Field Good, เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์

ได้ยินมาว่าคุณเจอกันครั้งแรกที่เชียงดาว

นิว : เจอกันจากการทำงานค่ะ เขาเป็นพิธีกรรายการ ฮัลโหลวันหยุด นิวก็เป็นนักร้อง แล้วไปเจอกันที่เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

เป๊ก : จริงๆ นักร้องรุ่นป้าเขาไม่พาไปแล้วนะ เขาเอาแต่วัยรุ่นไป (หัวเราะ) ล้อเล่น กัดกัน แซวกันแบบนี้แหละ

นิว : ก็รู้จักกันช่วงนั้นแหละค่ะ แต่พอเจอก็แค่ อ๋อ คนนั้นหรอ เป๊ก เปรมณัช 

เป๊ก : ตอนนั้นเราเป็นพิธีกรคนเดียวที่ต้องดูแลนักร้องหลายคน มันก็มีเครียดบ้าง มีตึงบ้าง แต่ว่าให้มันรีแลกซ์ไปกับธรรมชาติ จำได้ว่าเรายังกินไวน์ว้าเลย ไวน์หมักจากกล้วยน้ำว้าอะ แต่ละคนก็อ้วกพุ่งคาต้นกล้วยเลย (หัวเราะ) มันหวานๆ แต่กินง่ายเมาง่าย แล้วตอนนั้นนิวจิ๋วเขาก็จะไม่ค่อยไปสุงสิงกับใคร เป็นดีวายังไง ก็จะเป็นดีวาอย่างนั้น

นิว : จะให้ไปกินไวน์ว้าหรอ ไม่ใช่ปะ

เป๊ก : จะได้มาคุยก็ตอนที่ถ่ายรายการ ตอนกินข้าวเท่านั้นเอง

ร้าน Brandnew Field Good, นิว-นภัสสร ภูธรใจ

จากคนร่วมงานกลายมาเป็นคู่รักได้ยังไง

เป๊ก : บอกเขาไปสิว่าเพราะหล่อ หน้าตาดี

นิว : นิวเป็นคนที่ชอบคนที่เป็นผู้นำ ทำงานเก่ง

เป๊ก : เธอเห็นแค่นั้นเนี่ยนะ

นิว : ในช่วงเวลานั้นเราเห็นแค่นั้นจริงๆ หลังจากนั้นไปเราเสียใจมาก 

เป๊ก : หยอกใช่ไหม (หัวเราะ)

นิว : ได้มาคุยกันจริงๆ เพราะเรื่องกล้อง เราคุยกันเรื่องเล่นกล้องโลโม่  

เป๊ก : เขาถ่ายกล้องโลโม่ LCA อยู่แล้วเขามีปัญหา เราเลยหยิบมาแก้ไขแล้วก็ถ่ายให้เขา เลยสนิทกัน ได้คุยกัน อ๋อคนนี้ก็ชอบเล่นกล้องเหมือนกัน พอหลังๆ มาก็เริ่มส่องเฟซบุ๊ก แล้วก็ทักไปถามเขาเรื่องรูปเฟซบุ๊ก

นิว : ถามว่ารูปนั้นถ่ายที่ไหน

เป๊ก : แล้วจำได้ไหมว่ารูปเฟซบุ๊กเธอเป็นรูปอะไร 

นิว : หึ (ส่ายหัว)

เป๊ก : ไม่ได้มีความจำอะไรโรแมนติกเลย รูปที่เธอถ่ายคือรูปดำน้ำ ไปทะเล แล้วเราก็ชอบดำน้ำด้วยตอนนั้นอะ ก็เลยเห้ย ดูมีอะไรที่เหมือนกันมากขึ้นแล้วนะ ซึ่งตอนนั้นเราก็ขอบีบีไว้ทั้งคู่เลยนะทั้งนิวทั้งจิ๋ว แต่ว่านิวตอบก่อนจิ๋ว เลยไม่ได้คุยกับจิ๋ว (หัวเราะ) จากนั้นก็เลยได้คุยกันมายาวๆ มาสิบเอ็ดปี จนถึงแต่งงาน

ตอนแรกเราวางแผนว่าจะไปขอเขาแต่งงานท่ามกลางแสงเหนือ เพราะมันสวย แต่ไปๆ มาๆ เปลี่ยนแผนมาขอที่คอนเสิร์ตแทน ตอนนั้นแต่งเพลงเองเลยนะ เพราะเขาคือเดอะสตาร์ เขาคือดาว แล้วอะไรที่จะอยู่กับเขานานที่สุด ก็คือเคียงดาว ตอนนั้นไปเกาะมันนอกหาแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง ร้องเพลงนี้จบแล้วก็ขอแต่งงาน จากการขอครั้งนั้น เรื่องก็มาถึงจุดนี้เนี่ยแหละ 

ร้าน Brandnew Field Good, เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์, นิว-นภัสสร ภูธรใจ

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตของพวกคุณมีธรรมชาติมาเป็นส่วนประกอบสำคัญคืออะไร

เป๊ก : เทียบตอนนั้นกับตอนนี้ที่เราทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อยู่กับป่าเขา วันแรกที่เราเจอกันก็อยู่ที่เชียงใหม่เหมือนกัน มันก็เป็นเรื่องที่แปลกดีเหมือนกันเนอะ

นิว : มีคนชอบอิจฉาเรานะว่าเป็นคนเชียงใหม่หรอ ร่มรื่นน่าอยู่ดีนะ แล้วครอบครัวนิวอยู่ที่เชียงใหม่อยู่แล้ว แต่ในวันหนึ่งที่เราบินกลับบ้าน แล้วภาพที่เราเห็นทำเราน้ำตาไหลเลย เพราะว่าจากที่เราลงเครื่องมา เราเคยมองเห็นดอยสุเทพ มันหายไปเลยเพราะหมอกควันจากไฟป่า แล้วนิวคนเดียวมันช่วยไม่ได้อะ แล้วทำยังไงดี เราเลยต้องทำให้คนทุกคนรู้แล้วล่ะว่ามันกระทบกับชีวิตของเราจริงๆ รู้สึกว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนที่เราต้องมาช่วยกันอนุรักษ์แล้ว

เป๊ก : นิวทำให้เป๊กเปลี่ยนความคิดเลยแหละ คือเราก็รู้จักเชียงใหม่ในระดับหนึ่ง แล้วด้วยความรู้สึกของเขาที่ส่งผ่านมาถึงเรา ในการที่เขาร้องไห้วันนั้น เขาบอกว่าแม่เขาเคยใช้ชีวิตอย่างนี้นะ พ่อเขาอยู่แบบนี้นะ นิวเป็นคนแบบนี้ที่ถ้ารู้วิถีเกิดของเขาแล้ว เป็นคนที่ซึมซับกับชนบทและต่างจังหวัดมาก แล้วก็ภูมิใจรักบ้านเกิด เราก็รู้สึกว่าธรรมชาติทุกอย่าง เราก็อยากช่วยดูแลมันนะ จากนั้นเราก็ขึ้นมาดูของจริงแล้ว เราก็พยายามศึกษามากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวให้ได้ 

ร้าน Brandnew Field Good, เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์, นิว-นภัสสร ภูธรใจ
ร้าน Brandnew Field Good, เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์, นิว-นภัสสร ภูธรใจ

อะไรทำให้คุณตัดสินใจสร้างบ้านและย้ายมาอยู่เชียงใหม่

นิว : นิวมีความฝันว่าอยากได้บ้านที่เห็นวิวดอยสุเทพ มีอยู่วันหนึ่งเราสองคนขับรถไปตกหล่มที่บ้านปง ฝนตกหนัก ดินลื่น เราต้องตรงนั้นตั้งแต่บ่ายสามยันทุ่มหนึ่ง โชคดีที่มีคนในชุมชนมาช่วยไว้ เราเลยประทับใจพื้นที่ตรงนั้นมาก ต่อมาได้รู้ว่ามีร้านกาแฟร้านหนึ่งแถวๆ นั้นอยากขายกิจการเพราะเขาไปไม่ไหว แล้วมันอยู่กลางธรรมชาติดี มีดอย ดูสงบดี เราเลยตัดสินใจซื้อที่ตรงนั้น และเริ่มต่อเติมเป็นบ้านและร้านในฝัน

เป๊ก : ตอนที่เรามาอยู่บ้านกลางนา ตอนนั้นไม่มีอะไรเลยนะ มีแค่เสียงกบ เสียงเขียด เสียงฝนตก ซึ่งแบบโคตรเฟรช โคตรดีเลยอะ ชอบที่ตรงนั้นมาก มันอยู่กลางหุบเขาเลย ถ้าฮวงจุ้ยเขาจะเรียกว่าโอ่งมังกรเลย แล้วในเมื่อซื้อแล้วมันต้องทำอะไรได้ งั้นก็ประเดิมด้วยการจัดงานแต่งงานของเราตรงนี้เลย

ร้าน Brandnew Field Good, เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์, นิว-นภัสสร ภูธรใจ
ร้าน Brandnew Field Good, เป๊ก-เปรมณัช สุวรรณานนท์, นิว-นภัสสร ภูธรใจ

เป๊ก : หลังงานแต่งงาน เราเลยลองเปิดร้านอาหาร 

นิว : ตอนแรกเราไม่ได้มีความคิดว่าจะเปิดร้านหรอก แค่เปิดให้คนรู้จักแวะเวียนกันเข้ามาหา แต่ปรากฏว่ามีคนมาเยอะกว่าที่คิด (หัวเราะ) เลยกลายเป็น Brandnew Field Good ที่เป็นกิจการแบบจริงๆ จังๆ ขึ้นมา

เป๊ก-นิว คู่รักที่ลงมือดำและทำร้านอาหารในทุ่งนาสองสีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องข้าว
เป๊ก-นิว คู่รักที่ลงมือดำและทำร้านอาหารในทุ่งนาสองสีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องข้าว

Brandnew Field Good ต่างจากคาเฟ่กลางทุ่งนาที่อื่นยังไง

เป๊ก : เราก็ชอบทำอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว ลองทำให้ครบวงจรทั้งการกิน การเที่ยว การเรียนรู้ ที่จริงเราทำมาหลายปีแล้ว แม้จะไม่ค่อยมีคนเห็นก็ตาม ทั้งการออกแบบเมนู การตกแต่งร้าน เราใส่ความครีเอทีฟเข้าไป ให้มันสมัยใหม่มากขึ้น ในไทยมีคาเฟ่กลางนาเป็นห้าสิบที่ แต่จุดเด่นของเราคือมันมีนาอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว เราไม่ต้องมาฝืน

นิว : เราอยากทำให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพราะภาคไหนก็มีนาหมด เราเลยต้องทำให้คนอยากมาเที่ยวนา เพราะอยากให้เขาหันมาสนใจในเรื่องข้าวให้มากขึ้นมากกว่า

เป๊ก : และเรารู้ว่าถ้าเราทำ ชุมชนจะมาช่วยเรา แล้วร้านเราก็จะเป็นพื้นที่ที่ครอบครัว และคนรุ่นใหม่ที่สนใจเกี่ยวกับเกษตร สนใจเกี่ยวกับการปลูกข้าว สนใจอะไรคล้ายๆ เรา มาเจอกันได้

จากการทำร้านอาหาร กลายมาเป็นโมเดลพัฒนาชุมชนละแวกนั้นได้ยังไง

นิว : นิวมาที่นี่แล้วคิดถึงตอนเด็กๆ บ้านคุณตานิวอยู่ติดกับนาข้าวเลย เราได้ไปวิ่งเล่นตามคันนา แล้วพอเรามาอยู่ที่บ้านปง เรารู้สึกว่ามันย้อนกลับไปถึงวัยเด็กของเราด้วย ด้วยความที่เราเป็นคนเหนือและเป็นดารา ชาวบ้านเขาก็รู้จักเรา พูดจาอบอุ่น เราก็เลยกลายเป็นคนของที่บ้านปงไปโดยปริยาย เวลาเขามีอะไรก็เอามาหาสู่ มาแลกกันกิน เราก็เลยถามว่าที่บ้านปลูกอะไร ทำอะไรกันบ้าง พยายามจะดูว่า เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง

เป๊ก-นิว คู่รักที่ลงมือดำและทำร้านอาหารในทุ่งนาสองสีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องข้าว
เป๊ก-นิว คู่รักที่ลงมือดำและทำร้านอาหารในทุ่งนาสองสีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องข้าว

คุณยกให้ชาวนาเป็นครูเลยใช่ไหม

นิว : ใช่ค่ะ คือในรุ่นตารุ่นแม่ เขาเป็นชาวนา แต่รุ่นเรา เราไม่เคยปลูกข้าวเลย พอเราได้มาเป็นเจ้าของผืนนาจริงๆ เราก็ต้องเรียนรู้ แทนที่จะขายกาแฟอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องรู้ว่าทำไมเราถึงมาอยู่นี่ เพราะเรามีนา มีนาแล้วมันยังไงล่ะ ต้องปลูกยังไงล่ะ เราทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเรามีความตั้งใจ มีความสนใจ เกี่ยวกับสิ่งที่เขาทำอยู่ เขาก็จะภูมิใจกับอาชีพของเขา แล้วพอเรารู้จักเขามากขึ้น เขาไม่ใช่แค่อาจารย์ แต่เขาเป็นดอกเตอร์ ศาสตราจารย์เลย เพราะเขาบอกว่าปลูกข้าวตั้งแต่อายุเก้าขวบ จนตอนนี้อายุหกสิบกว่าแล้วอะ นิวก็เลยบอกว่า พ่อเป็นดอกเตอร์ได้แล้วนะ ความรู้เขามีเยอะมากเกี่ยวกับการปลูกข้าว 

เป๊ก : เกษตรกรหรือชาวบ้านที่อยู่แถวนั้น ชาวนาคือวิถีของเขาไปแล้วนะ 

อะไรทำให้คุณหันมาสนใจเรื่องข้าว

เป๊ก : ในมุมเป๊กก็คือ ที่เรามาใส่ใจเรื่องข้าวเพิ่มเติมเพราะว่า COVID-19 แล้วเรารู้สึกว่าคนที่ตกงาน เขาไม่ได้เงินเดือน ไม่มีเงินเดือนก็ไม่มีอะไรกิน ฉะนั้นการที่เราจะมีอะไรกิน ก็คือสิ่งที่เราทำอยู่ ไม่ใช่การเปิดร้านอาหารนะ แต่เราสร้างแปลงเกษตรกันเอง ปลูกข้าวเอง มีผักกินได้ เลี้ยงไก่เก็บไข่กินได้ เราพยายามไม่พึ่งพาใคร อยากให้มันเป็นวิถีเกษตรยั่งยืนมากขึ้น ก็เลยเริ่มตั้งใจในเรื่องข้าวเป็นพิเศษ

นิว : แล้วเราก็ได้ไปเรียนรู้กับศูนย์พันธุ์ข้าวสะเมิง เพื่อให้เขาดูว่าดินของเราไปปลูกข้าวพันธุ์อะไรได้บ้าง ทางเป๊กเองก็ไปคุยกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เขาส่งเสริมเกี่ยวกับเรื่องพันธุ์ข้าวและการแปรรูปข้าวด้วย

เป๊ก-นิว คู่รักที่ลงมือดำและทำร้านอาหารในทุ่งนาสองสีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องข้าว

ตอนนี้ลงมือปลูกข้าวอะไรไปแล้วบ้าง 

เป๊ก : ตอนนี้เราลงมือปลูกสิบกระทงนา ก็ประมาณห้าไร่ ซึ่งยังเป็นแปลงทดลองอยู่นะครับ มีข้าวดอย แล้วก็ข้าวจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกว่าข้าวพ่อแม่ลูก ซึ่งคัดมาแล้วว่าดีที่สุด แม่เป็นข้าวก่ำ พ่อเป็นข้าวหอมมะลิ พอผสมกันลูกออกมาเป็นก่ำดอยสะเก็ด มันก็จะหอมด้วยเป็นซ้อมมือหรือเป็นข้าวก่ำด้วย 

นิว : เราจริงจังกับเรื่องนามาก แล้วเรารู้สึกว่าข้าวที่คัดมาแล้วต้องเป็นสีที่ไม่ใช่สีเขียวอย่างเดียว เราเลยทำนาสองสี ปลูกข้าวก่ำด้วย ข้าวขาวด้วย

ได้ยินมาว่าคุณปลูกข้าวดอยด้วย ทำไมถึงปลูกข้าวที่ไม่ค่อยมีใครอยากปลูก

นิว : อันที่จริงข้าวดอยอร่อยมากเลยนะ แต่ที่ชาวบ้านไม่อยากปลูกเพราะมันปลูกยาก แล้วคนเชียงใหม่แทบไม่ค่อยได้ทาน เพราะมันปลูกข้างบนดอย คนบนดอยเขาก็ปลูกแล้วเขาก็กินกันเอง แล้วแจกจ่ายให้ชนเผ่าของเขา 

เป๊ก : เรายังอยากกินเลยอะ

นิว : แล้วข้าวดอยมันจะมีคุณสมบัติพิเศษตรงที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีความเป็นคาร์โบไฮเดรตสูง 

เป๊ก : พอกินแล้วมันเหนียว มันคือข้าวญี่ปุ่นเลย โอ้โห มันอร่อยว่ะ กินแล้วเราชอบ 

นิว : นี่แหละที่ว่าทำไมคนดอยถึงมีกำลัง มีแรงเยอะ

เป๊ก : ถ้าเราทำข้าวดอย มันก็เป็นการช่วยชาติพันธุ์ข้างบนด้วย แล้วก็ช่วยพวกเราเองด้วย ในเรื่องวิถีเกษตรแบบธรรมชาติ หน้าที่ของเราก็คือทำให้ชาวบ้านเขาเห็นว่าเราปลูกได้นะ นำร่องให้ชาวบ้านได้ดูก่อน 

อุปสรรคและความท้าทายของการทำนาคืออะไร

นิว : ปลูกจริงๆ ไม่ยากนะคะ แต่ดูแลยาก

เป๊ก : น้ำเอย ฝนเอย

นิว : เราเลยรู้ว่าการมาเป็นเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชวนสวน ชาวไร่ เป็นอาชีพที่อยู่กับความคาดหวัง ดินฟ้าอากาศมันบอกไม่ได้ว่าปีนี้ผลผลิตจะดีไหม มันคือการใช้ใจ อยากปลูกอยากทำ แต่ผลผลิตเป็นยังไงไม่รู้ คาดเดาไม่ได้ 

เป๊ก : ชาวบ้านถึงไม่เสี่ยง ที่เขาปฏิเสธไม่เอาพันธุ์ข้าวของเราก็เพราะว่ามันเกี่ยวโยงกับชีวิตเขาเลย ถ้าสุดท้ายผลผลิตมันไม่ออกดีเท่าที่ควร แล้วใครจะรับผิดชอบ ต้องเข้าใจเขาด้วย เราก็เลยต้องลองปลูกให้ดู ให้การกระทำของเราเป็นตัวบอกได้ชัดเจนที่สุด 

เป๊ก-นิว คู่รักที่ลงมือดำและทำร้านอาหารในทุ่งนาสองสีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องข้าว
เป๊ก-นิว คู่รักที่ลงมือดำและทำร้านอาหารในทุ่งนาสองสีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องข้าว

เป้าหมายของ Brandnew Field Good คืออะไร

เป๊ก : เราอยากทำให้ Brandnew Field Good มัน Sustainable แบบระยะยาวไปเลย ถ้าเราชอบเที่ยว รักการท่องเที่ยว นี่คือหนึ่งจุดหมาย ที่คุณถ้ามาเชียงใหม่คุณจะต้องมาเที่ยวร้านเราไปยาวๆ เป็นสิบปี ยี่สิบปี

นิว : เรามีความคิดว่าการท่องเที่ยวมันก็คือการเจริญหู เจริญตา แต่ของเรามีการเจริญอาหารด้วย คือเราก็ต้องนำข้าวไปนำเสนอให้มันเป็นอะไรที่คนอยากจะมาเที่ยวมากิน พยายามเอาพันธุ์ข้าวพวกนี้ไปแปรรูป หรือว่าจะไปทำเป็นเมนูพิเศษที่จะนำเสนอในร้านต่อไป 

ทำไมถึงอยากพัฒนาที่นี่เป็น Eco Tourism

เป๊ก : เรามีโอกาสได้ไปกินข้าวตามเถียงนากับชาวนา ได้กินอ่องปูเอย ผักกาดจอเอย ซึ่งอร่อยมาก พอถามว่าใส่อะไร เขาก็เลยบอกว่าใส่ผงชูรส (หัวเราะ) ธรรมชาติ แล้วเรารู้สึกมีความสุขมาก เดินไปมีกอไผ่ ข้างหลังเป็นเหมืองหิน เดินขึ้นไปมีเผาปูน เรารู้สึกว่าชุมชนมีทุกอย่างที่เราอยากทำเป็น Eco Tourism

สำหรับแผนก่อนแต่งงาน คือเราอยากทำที่นี่เป็นร้านอาหาร พอทำเสร็จเราก็คิดว่าเราอยากจะพัฒนาชุมชน เพราะว่าทุกอย่างมันดูเป็น Eco Tourism ได้ ผมก็ไปเลย ไปประชุมหมู่บ้าน แล้วก็นั่งคุยกับพ่อหลวง พูดเหมือนจะไปเป็นพ่อหลวงเองเลย ว่าคิดไหมครับว่าบ้านปงของเรามีอะไรพิเศษบ้าง ลองคิดดูว่าทำอะไรได้บ้าง อย่างหนองมนเขายังมีข้าวหลาม แล้วเราเคยคิดไหมว่าบ้านปงของเรามีอะไรดี เพื่อที่จะสร้างและพัฒนาชุมชนต่อได้

เป๊ก-นิว คู่รักที่ลงมือดำและทำร้านอาหารในทุ่งนาสองสีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องข้าว

มาถึงตอนนี้แล้ว คุณวาดภาพ Brandnew Field Good ในอนาคตไว้ยังไงบ้าง

นิว : Brandnew Field Good ในปีต่อๆ ไป จะเกี่ยวกับการส่งเสริมและการเรียนรู้ ทั้งเรื่องข้าว เรื่องธรรมชาติ อยากให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แล้วก็วัฒนธรรมที่ดี เป็นศูนย์การเรียนรู้ เราเห็นภาพพ่อแม่มานั่งทานอาหารไป ชมธรรมชาติไป แล้วก็มีเด็กตัวน้อยๆ มาเล่นดินเล่นทราย เรารู้สึกว่าเป็นโมเมนต์ที่ครอบครัวควรมีให้กัน มันเป็นภาพที่นิวอยากให้เป็น มีกิจกรรม มีเดย์แคมป์ นิวรู้สึกว่าการทำกิจกรรมเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาเรียนรู้ มันจะเป็นประสบการณ์ที่พอเขาโตขึ้น เขาจะเอาไปเล่าต่อได้ เหมือนทุกวันนี้ที่เรามาเล่าได้ เพราะว่าเรามีประสบการณ์ ตอนนี้เราก็ยังเป็นนักเรียนอยู่นะ แต่เราเรียนในยุคที่เราโตแล้ว ถ้าเรามีโอกาสได้เรียนตั้งแต่เด็กๆ เราก็อาจจะเจอความสนใจได้เร็วกว่านี้ 

เป๊ก : แล้วเราก็มองในมุมคนที่ชอบเที่ยวด้วย ถ้าเสร็จนาปี ปกติชาวบ้านเขาจะปลูกถั่วกันต่อ แล้วถ้าเราปลูกข้าวบาร์เลย์ต่อล่ะ ทุ่งสีทองสวย ให้คนมาถ่ายรูปได้ มี Chef’s Table อยู่ตรงนั้น มันน่าจะเป็นไปได้ สนุกนะที่คิดเรื่องข้าว แล้วถ้ามีคนที่สนใจมาช่วยกัน มันก็จะเกิดอะไรบางอย่างขึ้นก็ได้

นิว : ใช่ค่ะ อย่างในวันนี้ที่เรามานั่งคุยกัน อาจจะมีหลายๆ อย่างที่มันอาจยังไม่เกิดขึ้น แต่มันเป็นภาพในอนาคตที่เราอยากให้มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เราได้ลงมือทำแล้ว และเราก็คงจะพัฒนามันต่อไปอีก

เป๊ก-นิว คู่รักที่ลงมือดำและทำร้านอาหารในทุ่งนาสองสีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องข้าว

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล