18 มิถุนายน 2019
118 K

ท่ามกลางตัวเลือกอาหารเช้ามากมาย เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะมีแซนด์วิชเป็นของโปรด ไม่ว่าจะชอบเพราะมันทำง่าย กินสะดวก หรืออร่อย ขาประจำขนมปังแถวคงเคยได้ลิ้มลองขนมปัง ‘ฟาร์มเฮ้าส์ ’ มาแล้วทุกคน

ในวัย 37 ปีนี้ ฟาร์มเฮ้าส์ได้รับเลือกเป็นแบรนด์ขนมปังที่ครองใจผู้บริโภคสูงสุดในประเทศไทย พวกเราที่ The Cloud จึงเข้าไปขอฟังเรื่องราวจาก คุณอภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการสร้างตัวตนให้คงเสน่ห์มัดใจผู้คน ในวัยที่ไม่เด็กไม่แก่ แต่มากประสบการณ์แบบนี้

ฟาร์มเฮาส์

เรื่องที่เรารู้อยู่แล้วคือคนไทยกับฟาร์มเฮ้าส์อยู่กันมาจนชินและเห็นว่าเป็นของธรรมดาสามัญ เป็นแบรนด์ที่ไม่ค่อยมีอะไรหวือหวา เป็นของที่คนตื่นมาเจอทุกเช้าแบบไม่ได้ตื่นเต้นอะไร แต่เรื่องที่ทำให้เราประทับใจกันก็คือ เบื้องหลังที่ทำให้ฟาร์มเฮ้าส์ยังอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้มีคีย์เวิร์ดคือ ‘ความพยายาม’

ในระหว่างคุยกับคุณอภิเศรษฐ เขาพูดคำว่า ‘พยายาม’ หลายรอบมาก ‘พยายามไม่ให้พลาด’ ‘พยายามไม่ให้มีปัญหา’ ‘พยายามทำให้ทุกคนพอใจ’ ‘พยายามคุมต้นทุน’ ‘พยายามทำให้มีขายทุกวัน’

อภิเศรษฐยืนยันว่าขนมปังทำไม่ยาก แต่การทำให้ขนมปังมีคุณภาพดีและสม่ำเสมอมา 37 ปี จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ามันไม่ง่าย เขาบอกว่า “ลูกค้าอาจจะนึกไม่ออกว่าขนมปังที่ดีมันเป็นยังไง แต่ผมเชื่อว่าเขาจะรู้สึกได้ ฟาร์มเฮ้าส์เลยต้องขยัน หยุดไม่ได้ ต้องหาของใหม่ๆ ไปเสนอผู้บริโภคเสมอ”

ความพยายามอย่างสม่ำเสมอแม้จะยากลำบากในแง่ของการทำกำไรให้สูงติดเพดาน แต่จากผลสำรวจทางการตลาดล่าสุดบอกให้ชาวฟาร์มเฮ้าส์ใจฟูเหมือนขนมปังนุ่มๆ ว่า ผู้บริโภคในประเทศไทยเคยได้ยินเกี่ยวกับขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม

แม้ผลสำรวจจะบอกว่า ไม่มีใครไม่รู้จักฟาร์มเฮ้าส์ แต่นี่คือ 20 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับขนมปังยี่ห้อนี้

ฟาร์มเฮาส์

1. ฟาร์มเฮ้าส์เป็นแบรนด์ยุค 80 ที่เกิดจากนักธุรกิจอาหารผู้อยากให้คนไทย ‘ทันสมัย’

ช่วงยุค 80 เป็นช่วงที่ประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครกำลังเปิดรับเรื่องใหม่ๆ จากต่างชาติอย่างเต็มที่ ความ ‘ทันสมัย’ เป็นเรื่องที่พูดถึงกันโดยทั่วไป และอาหารการกินก็เป็นเรื่องหลักเรื่องหนึ่งที่คนไทยผู้อยากจะทันสมัยเปิดรับของใหม่กันอย่างสนุกสนาน

ในปี 1982 (พุทธศักราช 2525) ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งบริษัทเครือสหพัฒน์และผู้บริหารในตอนนั้น ก็เห็นว่าขนมปังเป็นเรื่องที่ทันสมัย และคนไทยน่าจะได้บริโภคเหมือนๆ กับผู้คนในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ยุโรป หรืออเมริกาบ้าง จึงก่อตั้งขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ ที่แม้ไม่ใช่ขนมปังเจ้าแรก แต่ก็ถือว่าเป็นของใหม่มากๆ ในยุคนั้น

ถึงอยากจะทันสมัยอย่างไรเขาก็ยังอยากเอาใจคนไทยมากกว่า ดร.เทียม เห็นว่าขนมปังในแถบยุโรปและอเมริกาเป็นขนมปังที่แห้งและเหนียว ซึ่งคนไทยไม่น่าจะชอบแน่ๆ ก็เลยคิดค้นสูตรที่คล้ายกับทางญี่ปุ่นคือ ขนมปังที่เคี้ยวง่าย กลืนง่าย และมีความนุ่มเด้ง เป็นเนื้อสัมผัสที่คนไทยคุ้นเคย เหมือนเนื้อสัมผัสของข้าวและซาลาเปา

2. การเอาขนมปังมาผลิตแบบอุตสาหกรรมในเมืองไทยเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะเมืองไทยมีความชื้นและอุณหภูมิเป็นขั้วตรงข้ามกันกับภูมิภาคต้นกำเนิดของขนมปัง

การผลิตขนมปังไม่เหมือนกับการผลิตของอื่นที่เรารับมาจากต่างประเทศเพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นอย่างรถยนต์หรือเสื้อผ้า ขนมปังเป็นสินค้าที่ต้องใช้ความร่วมมือจากอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม เพื่อให้แป้งขึ้นฟูได้อย่างที่มันควรจะเป็น ฟาร์มเฮ้าส์จึงต้องลงทุนสร้างเครื่องจักรที่จะเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดนี้ รวมทั้งลงแรงระดมสมองวางแผนการจัดการขายขนมปังในประเทศไทยให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น เพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อน

“มันดูเหมือนง่าย แต่มันไม่ง่ายนะครับ” อภิเศรษฐกล่าว และเราก็เห็นด้วย

ฟาร์มเฮาส์

3. การทำขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ต้องพึ่งพาทั้งศาสตร์และศิลป์

แม้ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์จะเป็นอาหารที่ผลิตโดยเครื่องจักร แต่สภาพอากาศในแต่ละวันก็มีผลต่อวัตถุดิบที่เอามาใช้ผลิต อย่างแป้งสาลีในวันที่ฝนตก ก็มีความหนักและชื้นมากกว่าวันที่แดดเปรี้ยง พนักงานในโรงงานของฟาร์มเฮ้าส์จึงต้องมีทักษะในการตรวจสอบสภาพของวัตถุดิบ เพื่อจะได้วางแผนการผลิตในวันนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม และเพราะความแรนดอมที่ว่านี้นี่แหละ ฟาร์มเฮ้าส์เลยต้องมีการตรวจคุณภาพของขนมปังโดยการเก็บตัวอย่างไปเพาะเชื้อ เข้าแล็บ และตรวจคุณภาพกันทุกวันก่อนส่งออกขาย

4. สูตรของฟาร์มเฮ้าส์เอาไปผลิตที่ประเทศอื่นก็ไม่ได้รสชาติแบบฟาร์มเฮ้าส์

ด้วยความเป็นสินค้าไทยแต่กำเนิด แม้วัตถุดิบหลักอย่างแป้งสาลีและยีสต์จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่น้ำและอากาศที่เป็นวัตถุดิบสำคัญเช่นกันนั้นเป็นของไทยซึ่งไม่สามารถพกไปไหนต่อไหนได้ รสชาติของฟาร์มเฮ้าส์เลยมีเอกลักษณ์แบบที่ต้อง Made in Thailand เท่านั้น

5. ขนมปังเป็นของสด และฟาร์มเฮ้าส์ก็เป็นเจ้าแรกที่ติดวันผลิตและวันหมดอายุบนแพ็กเกจ

แม้จะควบคุมอุณหภูมิและความชื้นจนผลิตขนมปังที่หอมนุ่มออกมาได้สำเร็จแล้ว ฟาร์มเฮ้าส์ก็ยังต้องเจอความท้าทายของสภาพอากาศในระหว่างขนส่งสินค้าและวางขายอีก ด้วยความที่ขนมปังโดยธรรมชาติเป็นของสด เสียง่าย และอาจทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจซื้อไปกิน เพราะไม่รู้ว่าขนมปังนี้จะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ ฟาร์มเฮ้าส์จึงเป็นเจ้าแรกที่ติดวันผลิตและวันหมดอายุของขนมปังบนขนมปังทุกแบบที่วางขาย

ฟาร์มเฮาส์

6. ตัวล็อกบนถุงขนมปังแถวของฟาร์มเฮ้าส์มีทั้งหมด 7 สี สำหรับวันที่ออกวางขาย 7 วันต่อสัปดาห์

ถ้าคุณสามารถจำสีประจำวันได้ คุณก็จะสามารถเลือกหยิบขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ได้เพียงแค่มองแวบเดียว เพราะสีของคลิปที่เห็นบนถุงฟาร์มเฮ้าส์หมายถึงวันที่ขนมปังถุงนั้นถูกเอามาวางไว้ตรงนี้นั่นเอง

ก่อนหน้านี้วันผลิตและหมดอายุก็ถูกพิมพ์ไว้บนตัวล็อกเล็กๆ อันนี้นี่แหละ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้บริโภคบ่นมาบ่อยๆ ว่าทำตัวล็อกหล่นหาย เลยจำไม่ได้ว่ามันจะหมดอายุเมื่อไหร่ ฟาร์มเฮ้าส์ก็เลยปรับเครื่องจักรใหม่เพื่อพิมพ์วันหมดอายุลงบนถุงเสียเลย

7. อายุของขนมปังฟาร์มเฮ้าส์จริงๆ คือ 5 วันสำหรับขนมปังที่มีไส้ และ 7 วันสำหรับขนมปังแถว แต่คุณจะไม่ได้เห็นขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ที่อยู่มานาน 5 – 7 วันบนชั้นวางหรอก เพราะแค่ 3 วันมันก็จะถูกเก็บไปเสียก่อนแล้ว

ฟาร์มเฮ้าส์เคร่งครัดเรื่องความสดและคุณภาพของขนมปังมากๆ อภิเศรษฐบอกว่า การที่ลูกค้าจะมาเห็นของหมดอายุบนชั้นวางขายนั้นเป็นสิ่งที่ฟาร์มเฮ้าส์รับไม่ได้ พนักงานฟาร์มเฮ้าส์เลยมีหน้าที่ต้องเช็กและเก็บขนมปังที่อายุ 3 วันออกจากชั้นวางทุกวัน ไม่ปล่อยให้มันอยู่ถึงวันหมดอายุด้วยซ้ำ

“ฉะนั้น แม้แต่คนที่รีบหยิบจนไม่ได้ดูวันหมดอายุก่อนก็ยังมั่นใจได้ว่าขนมปังที่หยิบไปจะยังกินได้ ไม่หมดอายุแน่นอน” อภิเศรษฐเล่าแบบภูมิใจสุดๆ

8. ในขณะที่บริษัทอื่นจะตั้งเป้าสูงๆ ให้กับพนักงานขาย แต่ฟาร์มเฮาส์ตั้งเป้าให้ทุกคนแข่งกันทำตัวเลขให้ต่ำที่สุด

อภิเศรษฐบอกเคล็ดลับว่า ถ้าอยากซื้อฟาร์มเฮ้าส์ต้องไปซื้อแต่เช้า ไม่อย่างนั้นของอาจหมด เพราะพนักงานจะพยายามไม่วางเผื่อ

การมองธุรกิจของฟาร์มเฮ้าส์นั้นชัดเจนมากว่าไม่เน้นการขายเข้าร้านค้าให้เยอะเพื่อทำยอด แต่เน้นการวางแผนวางสินค้าให้พอดีกับความต้องการ เพื่อให้มียอดการเก็บกลับน้อยที่สุด และนั่นก็เป็นตัวตัดสินประสิทธิภาพของพนักงานขายคนนั้นๆ

9. ฟาร์มเฮ้าส์เสียเงินไปไม่น้อยกับการเก็บของกลับแม้มันจะยังไม่หมดอายุ แต่มันก็จำเป็นเพราะขนมปังจะตกถึงท้องผู้บริโภคโดยตรงแบบไม่ผ่านกระบวนการอะไรเลย

แม้อายุจะสั้นแต่ขนมปังก็เป็นของที่กินง่าย จะว่าไปมันกินง่ายและสะดวกกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ต้องมีน้ำร้อน แล้วก็กินแบบไม่ต้องอุ่นได้อร่อยกว่าพวกอาหารกระป๋องอีก นั่นเป็นสาเหตุที่ฟาร์มเฮ้าส์ให้ความสำคัญกับการควบคุมความปลอดภัยเรื่องนี้มาก เพราะเวลากินขนมปังเรามักกินแบบไม่ผ่านกระบวนการอะไรเลยนั่นเอง

สินค้าที่มีอายุเลย 3 วันที่เก็บกลับมาฟาร์มเฮ้าส์จะนับและจัดระบบรับคืน และขายต่อให้กับคนเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ มารับซื้อไป

10. ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์เป็นยุทธปัจจัย เป็นหมอนที่กินได้ และเป็นขวัญใจคนขับแท็กซี่

ด้วยความกินง่ายนี่เอง ทหารตระเวนชายแดนเลยมักเอาขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ไปบี้ให้เป็นก้อนเล็กๆ พกไว้กินเวลาลาดตระเวน ถือว่าเป็นของให้พลังงานกับรั้วของชาติเลยก็ว่าได้ ช่วงที่มีเหตุการณ์ทีมหมูป่า อะคาเดมี่ ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ก็เป็นหนึ่งในเสบียงที่ทีมช่วยเหลือมีไว้ติดเต็นท์ แถมยังมีภาพออกมาว่าเจ้าหน้าที่เอาขนมปังฟาร์มเฮ้าส์แบบแถวไปหนุนนอนแทนหมอนอีกต่างหาก

ขนมปังแพของฟาร์มเฮ้าส์ก็มีแฟนคลับอยู่เหมือนกัน ทางฟาร์มเฮ้าส์แอบรู้มาว่าขนมปังแพเป็นที่นิยมในหมู่คนขับแท็กซี่เพราะกินง่าย ไม่เลอะเทอะ ไม่มีกลิ่น แถมยังอิ่มได้ในราคาไม่แพงด้วย

11. ปัจจุบันฟาร์มเฮ้าส์มีสินค้าอยู่ร้อยกว่าชนิด

แม้คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับขนมปังแซนด์วิชแบบต่างๆ ของฟาร์มเฮ้าส์ แต่ความจริงแล้วฟาร์มเฮ้าส์มีขนมปังที่หลากหลาย และล้วนแต่ทำออกมาเพื่อเอาใจชาวไทยเป็นหลัก อย่างขนมปังสอดไส้แบบไทยๆ เช่น หมูหยองน้ำพริกเผา สังขยาใบเตย เผือกมะพร้าว แล้วก็มีขนมปังเปิดหน้าที่กินได้เลยไม่ต้องทา หรือเมื่อตอนโดราเอมอนเอาขนมโดรายากิมาแนะนำให้คนไทยรู้จักผ่านทางทีวี ฟาร์มเฮ้าส์นี่แหละที่ไปซื้อเครื่องจักรจากญี่ปุ่นแล้วก็ทำโดรายากิออกมาวางขายให้หาซื้อกันง่ายๆ

และที่ไม่ค่อยจะมีใครรู้ ฟาร์มเฮ้าส์ยังมีสินค้าอย่างโดนัทสอดไส้ เกล็ดขนมปัง เค้กโรล คุกกี้ พายสับปะรด ขนมปังกรอบอีก หลายบริษัทออกสินค้ามาขายเคียงข้างกับสินค้าหลักเพื่อเป็นการบริหารต้นทุน โดยใช้ส่วนที่ไม่ต้องการแล้วจากสินค้าหลักมาทำเป็นสินค้ารองออกขาย แต่ฟาร์มเฮ้าส์ไม่ทำอย่างนั้น แม้แต่เกล็ดขนมปังของฟาร์มเฮ้าส์ก็เป็นเกล็ดขนมปังจริงๆ ไม่ใช่การเอาเศษขนมปังมาทำเป็นเกล็ด มันเลยกรอบ เนื้อแน่น และไม่อุ้มน้ำมันเหมือนกับยี่ห้ออื่น

ฟาร์มเฮ้าส์เชื่อว่าการทำสินค้าใหม่ออกมาขายต้องถูกปากและถูกเวลา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยากและอาศัยทั้งความเชี่ยวชาญและโชคชะตาไปพร้อมๆ กัน ฟาร์มเฮ้าส์ก็เลยมีสินค้าที่เคยออกมาวางขายแต่หลายคนไม่ทันได้รู้จัก อย่างเช่นขนมปังสอดไส้เมล่อน ที่รสชาติน่าจะไม่ถูกปากคนไทยแล้วก็ขนมปังโอ๊ตมีลที่แม้จะดีต่อสุขภาพกายมากๆ แต่รสชาติของเนื้อขนมปังยังไม่ค่อยเป็นมิตรกับสุขภาพใจเท่าไหร่ เป็นต้น

แม้จะผิดบ้างพลาดบ้าง แต่ฟาร์มเฮ้าส์ก็ไม่เคยเสียขวัญในการที่จะออกขนมปังแบบใหม่ๆ มาให้คนไทยได้กิน ล่าสุดฟาร์มเฮ้าส์ออกแซนด์วิชไส้เผ็ดเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย เราได้ชิมแล้ว รสชาติเผ็ด อร่อยกำลังดี หวังว่าเราจะยังคงได้เห็นมันไปอีกนาน

12. ฟาร์มเฮ้าส์เป็นผู้ผลิตขนมปังแห่งประเทศไทยที่ส่งขายให้ร้านอาหารตะวันตกต่างๆ ที่ต้องการขนมปังไปทำให้เมนูต่างๆ ที่มีขนมปังเป็นส่วนประกอบ

นอกจากสินค้าที่วางขายบนชั้นวางแล้ว ขนมปังที่ผลิตมาเพื่อคนไทย และพยายามอย่างมากที่จะก้าวผ่านข้อจำกัดต่างๆ ของการผลิตขนมปังในเมืองร้อนแบบนี้ เลยได้เข้าไปเป็นตัวละครลับในร้านอาหารดังๆ หลายร้านที่ล้วนแล้วแต่จริงจังเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบที่เลือก เช่น แมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง แดรี่ควีน หรือแม้แต่ร้านข้าวหมูทอดซาโบเตน ที่มีฟาร์มเฮ้าส์เป็นเจ้าของก็ใช้เกล็ดขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ที่ทำให้หมูทอดกรอบนอกนุ่มใน เป็นที่ติดใจของหลายๆ คนด้วย

13. เมนูเด็ดจากฟาร์มเฮ้าส์ที่อภิเศรษฐอยากให้ทุกคนลองคือ ขนมปังเย็นราดน้ำแดง

14. สายส่งฟาร์มเฮ้าส์วิ่งทำเวลาไม่ต่างจากสายส่งหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์มีโรงงานผลิตอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันและนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังเพื่อส่งไปขายทั่วประเทศ ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ผลิตใหม่เพื่อส่งไปยัง 50,000 กว่าร้านค้าทุกวัน โดยมีรถส่งประมาณ 1,000 คัน ผ่าน 40 ศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่รถพอจะวิ่งไปถึงได้ใน 1 วัน

15. เพราะว่าผลิตทุกวันและส่งทุกวัน ใน 1 ปีพนักงานฟาร์มเฮ้าส์จะมีวันหยุดแค่ 4 วัน คือช่วงปีใหม่ 2 วัน และวันสงกรานต์ 2 วัน

ในช่วงวันหยุด 2 ช่วงนี้ คุณจะเจอขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ที่ถูกเอามาวางไว้แล้วก่อนหน้าวันหยุดแบบมีแค่ไหนแค่นั้น ไม่มีการผลิตเพิ่มและไม่มีการขยายวันหมดอายุ และเมื่อพนักงานกลับมาทำงานก็จะมาเก็บของเก่ากลับไปและเอาของใหม่ที่เพิ่งผลิตในวันนั้นเข้ามาแทน การผลิตเผื่อไม่มีในพจนานุกรมของฟาร์มเฮ้าส์

ฟาร์มเฮาส์

16. ถ้าจำเป็นจะต้องตุน ฟาร์มเฮ้าส์แนะนำว่าลูกค้าสามารถเอาขนมปังแช่ช่องฟรีซก็จะอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน และก่อนเอามากินก็พรมน้ำก่อนเข้าเตาปิ้งเสียหน่อย ขนมปังก็จะกลับมานุ่มเหมือนเดิม  

17. แต่วันหยุดต่างๆ ก็ไม่ค่อยจะเป็นปัญหา เพราะโดยสถิติแล้วขนมปังฟาร์มเฮ้าส์จะขายดีในวันที่วุ่นวาย และขายไม่ค่อยได้ในฤดูกาลท่องเที่ยว

ฟาร์มเฮ้าส์เป็นอาหารที่โตตามวิถีชีวิตคนเมือง มีเมืองที่ไหนฟาร์มเฮ้าส์ก็จะตามไปขายที่นั่น วันที่ขายดีของฟาร์มเฮ้าส์คือวันเปิดเทอมและวันทำงาน ส่วนวันสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาวนั้นมันก็จะเหงาๆ หน่อย

18. ฟาร์มเฮ้าส์ทำธุรกิจแบบพึ่งพาตัวเองสุดๆ เลยทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ดีแม้จะทำธุรกิจแบบใจกว้างขนาดนี้ก็ตาม

ฟาร์มเฮ้าส์ผลิตเอง เป็นเจ้าของสายส่งเอง มีศูนย์กระจายสินค้าของตัวเอง และมีทีมขายเป็นของตัวเอง การบริหารต้นทุนเลยสามารถทำได้อย่างรัดกุม และฟาร์มเฮ้าส์ก็ยังเชื่อเรื่องการลงทุนในนวัตกรรม ว่าเป็นการลงทุนไปก่อน เหนื่อยไปก่อน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว

ฟาร์มเฮ้าส์สร้างนวัตกรรมทั้งในการผลิตโดยการซื้อเครื่องจักรมาเพิ่มขีดความสามารถไปสู่การทำขนมปังแบบใหม่ๆ และลงทุนในนวัตกรรมสำหรับการจัดการอย่างรถเข็นที่ใช้ในโรงงานที่เบา และสามารถเข็นได้ด้วยเท้า ถาดใส่ขนมปังที่ออกแบบให้เคลื่อนย้ายได้ง่าย และใช้พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ฟาร์มเฮาส์

19. ในร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-ELEVEN ก็มีแค่บริษัทส่งน้ำแข็งกับฟาร์มเฮ้าส์เท่านั้นแหละที่ส่งของเอง และจัดชั้นวางสินค้าเอง

ปกติแล้วเจ้าของสินค้าจะส่งสินค้าไปตามร้านและมีพนักงานของร้านเป็นผู้จัดเรียงขึ้นชั้นวางให้ แต่ในกรณีของขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ พนักงานของฟาร์มเฮ้าส์จะเป็นคนจัดของขึ้นชั้นเองในทุกช่องทาง

อภิเศรษฐยังบอกเราด้วยว่า “คนฟาร์มเฮ้าส์จริงๆ ต้องเรียงขนมปัง รูดคลิป และคลี่ถุงเป็นใบพัดได้สวยงาม”

ทำเยอะขนาดนี้อภิเศรษฐเลยฝากบอกมาด้วยว่า เวลาเจอพนักงานฟาร์มเฮ้าส์ที่ร้านก็ได้โปรดอย่าชวนคุย เพราะพนักงานแต่ละคนจะต้องดูแลร้านค้ามากมายและมีรายการสิ่งที่ต้องทำเต็มไปหมด คำนวณออกมาแล้ว พนักงาน 1 คนมีเวลาเพียง 12  นาทีสำหรับการเยี่ยมร้านค้าแต่ละร้าน รวมเวลาเดินทางด้วย  

20. มันใช้เวลา

ถ้าใครเคยทำขนมปังจะรู้ว่าการทำขนมปังนั้นไม่มีทางลัดสักเท่าไหร่ กระบวนการส่วนใหญ่ใช้ไปกับการให้เวลาและให้กระบวนการทางธรรมชาติทำงานของมัน

แบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์ก็เช่นกัน เริ่มจากการผลิตสินค้าที่คนไม่รู้จักว่ามันคืออะไร และต้องกินในโอกาสไหน ในเมื่อมันไม่ได้อยู่ในจานเหมือนข้าวหรืออยู่ในชามเหมือนก๋วยเตี๋ยวคนก็เลยเข้าใจกันไปว่ามันเป็นขนม ฟาร์มเฮ้าส์ต้องใช้เวลาทำตลาด สร้างความคุ้นเคยแล้วก็ให้ความรู้กับผู้บริโภคว่าขนมปังกินเป็นอาหารได้ กินแล้วอิ่ม และมีสารอาหารครบไม่แพ้ข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ ความพยายามในการควบคุมคุณภาพแบบที่จะหย่อนไม่ได้เลยสักวันเดียว เพื่อธุรกิจจะยังอยู่ได้มาจนทุกวันนี้

ใครๆ ก็รักคนที่รู้ใจ หวังดีและทุ่มเทเพื่อเรา นี่แหละมั้งเสน่ห์มัดใจของอาหารฝรั่งเลือดไทยยี่ห้อนี้

ฟาร์มเฮาส์

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographers

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู

Avatar

กรริน วิจิตรประไพ

อดีตนักเรียนออกแบบที่สนใจการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระ ศึกษาปริญญาโทด้านการถ่ายภาพที่มิลาน

Avatar

อัครักษ์ ยิ้มสอาด

เพิ่งเรียนจบจากมัธยมปลาย รักในการใช้ชีวิต ใช้ชีวิตไปกับการดูหนัง ใช้ชีวิตไปกับการถ่ายรูป ใช้ชีวิตไปกับการเดินเรื่อยเปื่อย และอีกไม่นานจะไปใช้ชีวิตกับเมืองเชียงใหม่