วันหนึ่งในโลกที่หมุนเข้าใกล้ยุคสังคมไร้กระดาษ ข้อมูลหลั่งไหลสู่รูปแบบออนไลน์ และ ‘สิ่งพิมพ์ตายแล้ว’ กลายเป็นประเด็นถกเถียงหนาหู ฉันได้นั่งลงข้างๆ ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่รอบตัวเต็มไปด้วยกระดาษนานาชนิด

ทสึโยชิ โองิทสึ (Tsuyoshi Ogitsu) คือกรรมการผู้จัดการสาขาประเทศไทยของ TAKEO บริษัทกระดาษญี่ปุ่นที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1899 กิจการอายุนับร้อยนับพันปีอาจไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ทำให้ทาเคโอะพิเศษ คือธุรกิจนี้ตั้งอยู่บนวัสดุที่กำลังทยอยสูญหายจากชีวิตผู้คน

ทสึโยชิ โองิทสึ (Tsuyoshi Ogitsu)

ที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ยังอยู่รอด โองิทสึบอกฉันว่า ยอดขายของทาเคโอะไม่ตกลงเสียด้วย

ฉันพิจารณา Fine Paper หรือ ‘กระดาษชนิดพิเศษ’ หลากแบรนด์หลายลักษณะที่เป็นสินค้าหลักของทาเคโอะด้วยสายตาและปลายนิ้ว ก่อนเงยหน้าขึ้นถามถึงวิธีการแล่นเรือฝ่าคลื่นลมของบริษัทกระดาษเก่าแก่

ด้านล่างนี้คือคำตอบจากทาเคโอะผู้นิยามตนเองว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดาษ

ยืนหยัดเพราะไม่มีใครแทนที่ได้

หนึ่งในเหตุผลการอยู่รอดของทาเคโอะคือ ประเภทสินค้า

จริงอยู่ว่า กระดาษปกติซึ่งเอาไว้ขีดเขียนหรือพิมพ์เอกสารจำเป็นน้อยลงทุกที แต่ Fine Paper หรือกระดาษแบบพิเศษที่ทาเคโอะจำหน่ายคือกระดาษที่คนอาจไม่ค่อยรู้จักและหยิบใช้

แต่เพราะความพิเศษนั้นทำให้ตอบสนองความต้องการของตลาดเฉพาะและยืนหยัดได้อย่างมั่นคง

Fine Paper เกิดขึ้นเพื่อรองรับการสร้างสรรค์ผลงานพิเศษหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่หน้าปกหนังสือ ชุดเครื่องเขียนของโรงแรม จนถึงหีบห่อขวดสาเก ผู้ใช้กระดาษพิเศษเหล่านี้คือ นักสร้างสรรค์ที่ไม่ได้มองกระดาษในฐานะสิ่งบันทึกข้อมูล แต่มองมันเป็นวัสดุซึ่งช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์เป็นรูปธรรม

Fine Paper จึงแทบไม่ได้รับผลกระทบจากการมาถึงของโลกออนไลน์ เพราะสีสัน ผิวสัมผัสอันเป็นเสน่ห์จับต้องได้ของกระดาษ ย่อมต้องมาจากของจริง

“เราเปลี่ยนความต้องการบริโภคสื่อของคนไม่ได้ แต่มันก็ถือเป็นโอกาสดี เพราะกระดาษเราไม่ใช่กระดาษทั่วไป ยังไงนักสร้างสรรค์ก็ยังมองหาวัสดุที่ดี” โองิทสึกล่าว

สิ่งที่น่าสนใจขึ้นไปอีกคือ ขณะที่โลกทุกวันนี้ใช้กระดาษธรรมดาน้อยลง หลายคนกลับหันมาหากระดาษชนิดพิเศษมากขึ้น เช่น สำนักพิมพ์ที่ยอดขายหนังสือเล่มตกลง ก็หันมาพิถีพิถันกับกระดาษหน้าปกเพื่อดึงดูดนักอ่าน ซึ่งคนรักหนังสือที่เติบโตทันยุคก่อนเว็บไซต์และ e-book ก็คงไม่กังขาถึงแรงดึงดูดของสิ่งพิมพ์กระดาษแสนประณีต

จะว่าไป ถ้ามองเทรนด์โดยรวม Fine Paper ก็ตอบโจทย์กระแสย้อนกลับที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย คุณคงเห็นได้ว่าขณะเทคโนโลยีเดินไปข้างหน้าเร็วจี๋ สิ่งของจับต้องได้ที่ให้ความรู้สึกละเมียดละไมกลับกลายมีเสน่ห์จับใจ

ไม่น่าแปลกใจที่โองิทสึจะบอกว่าตลาดของทาเคโอะยังคงมีอยู่เสมอ

ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงถาโถม การเป็นสิ่งที่ไม่อาจทดแทนและตอบโจทย์คือความได้เปรียบและเหตุผลในการอยู่รอดอย่างแท้จริง

กระดาษ กระดาษชนิดพิเศษ

กระดาษ TAKEO

เป็นเพื่อนที่รับฟัง

แม้มีสินค้าที่มาถูกทาง แต่กระดาษพิเศษก็มีด้วยกันหลายแบบหลายแบรนด์

ทาเคโอะพบตัวเลือกที่ใช่ได้อย่างไร?

ถึงตรงนี้ คงต้องพูดถึงจุดเด่นหนึ่งของบริษัทแห่งนี้ นั่นคือ ‘สายสัมพันธ์’

โองิทสึบอกเราว่า ทาเคโอะเป็นผู้จัดจำหน่ายที่ไม่ได้มีโรงงานผลิตกระดาษของตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับโรงงานผลิตกระดาษฝีมือเยี่ยมทั้งในและนอกประเทศ ทำงานกับแต่ละแห่งมายาวนาน และอีกฟากหนึ่ง ก็สนิทสนมลึกซึ้งกับเหล่านักสร้างสรรค์ผู้ใช้งานจริง

เมื่อมีสายสัมพันธ์อันดี สิ่งที่ทาเคโอะทำก็คือถามและฟังให้มาก

คุณต้องการกระดาษแบบไหน? ลองใช้กระดาษแบบนี้แล้วรู้สึกอย่างไร?

บริษัทรู้ข้อมูล ความถนัดเรื่องกระดาษจากโรงงาน จากนั้นก็หันมาถามคำถามเหล่านี้กับนักออกแบบ เมื่อพวกเขาบอกความต้องการ ทางบริษัทก็สรรหากระดาษมาให้ บางครั้งก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วจากโรงงาน บางครั้งก็ผลิตขึ้นใหม่

นี่ยังไม่นับการที่ทาเคโอะมีสายสัมพันธ์อันดีกับโรงพิมพ์ ซึ่งทำให้การเลือกและสร้างสรรค์กระดาษเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น บางทีก็เป็นเทคโนโลยีล้ำๆ เช่น กระดาษ Pachica ที่มีการใช้เทคนิคทำให้โปร่งแสง หรือหมึกพิมพ์นำไฟฟ้า

กระดาษที่ดีคืออะไร? ระหว่างการสนทนา ฉันถามคำถามนี้กับโองิทสึ

กระดาษที่ดีคือกระดาษที่ดีสำหรับลูกค้า-เขาตอบ

กระดาษ TAKEO กระดาษ

แตกกิ่งก้านอย่างชาญฉลาด

ความเป็นเอกลักษณ์ทำให้ Fine Paper มีตลาดเฉพาะ แต่ปัญหาคือ ขนาดตลาดก็เล็กตามไปด้วย

นี่คือโจทย์ที่ทาเคโอะขบคิดและทดลองแก้อยู่เสมอ

วิธีแรก บริษัทค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ให้สินค้า

อย่างที่บอกว่าทาเคโอะมีมิตรภาพยาวนานกับนักสร้างสรรค์ ชนิดที่บางครั้งเจอกระดาษที่ไม่รู้จะนำไปใช้อย่างไร ก็หันไปถามพวกเขาได้ จากผู้ขายและผู้ซื้อ บริษัทจึงยื่นมือชวนลูกค้ามาร่วมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หนึ่งในตัวอย่างน่าทึ่งคือ การร่วมงานกับดีไซเนอร์ชื่อ Oki Sato และสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการพิมพ์

จากกระดาษที่ใช้เพื่อตีพิมพ์ ถูกนำมาต่อยอดกลายเป็น ‘ไฟฉาย’ ด้วยหมึกพิมพ์นาโนชนิดพิเศษที่เรียกว่า Silver Nanoparticle Ink

ไม่ใช่แค่มองหาความเป็นไปได้ใหม่ให้กระดาษแผ่นเก่า ทาเคโอะยังรู้ว่าอีกเหตุผลที่ตลาด Fine Paper เล็ก เพราะคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก เช่น เหล่านักศึกษาอาจต้องการใช้แต่ไม่เคยรู้ว่ามีกระดาษแบบนี้อยู่

การแนะนำตัวกระดาษแก่ลูกค้า จึงเป็นวิธีแก้โจทย์แบบที่ 2

ทาเคโอะเปิดโชว์รูมกระดาษขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เพื่อจัดแสดงตัวอย่างกระดาษ นั่นคือ MIHONCHO HONTEN,  Aoyama MIHONCHO, TAKEO MIHONCHO Ginza at Itoya และ Osaka MIHONCHO นอกจากนั้น บริษัทยังตั้งโจทย์ท้าทายความเป็นไปได้ของกระดาษจนกลายเป็นนิทรรศการสนุก มีทั้งที่จัดขึ้นเองในธีมหมุนเวียน และการไปเป็นสปอนเซอร์ให้นิทรรศการเจ้าอื่น รวมถึงมีการเปิดคลาสเพื่อสอนวิธีใช้กระดาษแก่ผู้สนใจ

นี่ยังไม่รวมถึงการจัด TAKEO PAPER SHOW โชว์กระดาษหนึ่งเดียวของวงการกระดาษญี่ปุ่น ที่จัดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อแสดงศักยภาพและอนาคตของสิ่งที่เรียกว่ากระดาษ เป็นงานที่คนมาเดินอัพเดตเทรนด์วัสดุชนิดนี้ได้สบายๆ

ฉะนั้น ถึงไม่ใช่นักสร้างสรรค์ แต่งานที่สอดรับความสนใจหลากหลายก็ย่อมทำให้ชื่อทาเคโอะคุ้นหูคนมากขึ้น และแม้แต่คนที่โตมากับโลกออนไลน์ก็อาจรักสิ่งจับต้องได้นี้ผ่านหีบห่อสนุกด้านบน

ทีนี้ก็มาถึงวิธีแก้โจทย์แบบสุดท้าย นั่นคือการบุกตลาดนอกประเทศ

ต้องย้อนเล่าก่อนว่า ทาเคโอะไม่ใช่ Fine Paper เจ้าเดียวในญี่ปุ่น หากที่บริษัทอยู่ได้และเติบโต แม้มีคู่แข่งซึ่งหลายเจ้าก็ทำงานกับนักออกแบบเหมือนกัน นั่นเพราะคู่แข่งในประเทศมีไม่เยอะและแม้มีสินค้าซ้ำกันบ้าง ต่างคนก็ต่างมีซิกเนเจอร์ โรงงานกระดาษบางที่ก็ผลิตกระดาษส่งให้ทาเคโอะเท่านั้น

แต่เมื่อก้าวออกไปสู่สนามใหญ่นอกบ้าน สถานการณ์ก็ต่างไป

TAKEO กระดาษพิเศษ TAKEO

โองิทสึเล่าว่า วัฒนธรรมกระดาษแต่ละประเทศเบ่งบานไม่เท่ากัน ถ้าไปประเทศที่รู้จักและใส่ใจกระดาษ การทำงานจะง่ายกว่าเพราะคนใช้กระดาษเป็น สนใจคุณภาพไม่ใช่ต้องการของถูกที่สุด แต่ปัญหาคือ ประเทศที่คุ้นเคยกับกระดาษชนิดพิเศษซึ่งมักเป็นแถบยุโรปมีโรงงานผลิตกระดาษเยอะ มีคนจัดจำหน่ายกระดาษพิเศษก็เยอะ หนำซ้ำบางโรงงานซึ่งถือเป็นซัพพลายเออร์ที่ดีของทาเคโอะยามอยู่ในญี่ปุ่น ก็กลายเป็นคู่แข่งที่ส่งกระดาษขายในพื้นที่อยู่แล้ว  

แต่ถ้ายังอยากออกไปข้างนอกล่ะ จะทำอย่างไร?

โองิทสึบอกว่า ทาเคโอะเลือกหันมาขยายตลาดแถบเอเชีย เช่น ฮ่องกง จีน มาเลเซีย และไทย ที่ถึงไม่ได้ใช้กระดาษพิเศษแพร่หลายเท่ายุโรป แต่ก็มีผู้ใช้ที่รู้จักสนใจ และกระดาษที่ขายให้ประเทศเหล่านี้จะต่างกันไปตามรสนิยมแต่ละพื้นที่ เหมือนเสื้อผ้าแบรนด์เดียวกันในห้างแต่ละสาขาที่คัดสรรมาให้ตอบโจทย์คนแถวนั้น

ส่วนตลาดยุโรป บริษัทก็ยังโดดเข้าไปเล่น แต่เลือกชูจุดเด่นที่ไม่เหมือนผู้เล่นในพื้นที่

“เรามีตัวเลือกกระดาษแบบญี่ปุ่นที่หลากหลาย มาจากโรงงานกระดาษญี่ปุ่นที่มีเทคนิคพิเศษคุณภาพสูง และกระดาษของเรามีเอกลักษณ์ เช่น เรื่องสีสัน ปกติตลาดยุโรป กระดาษสีแดงก็คือกระดาษสีแดง แต่สีแดงของกระดาษญี่ปุ่นเรานั้นมาจากสีแดงหลายชนิด หลายโทน บางเฉดมาจากดอกซากุระ เป็นสีของธรรมชาติ” ไดเรกเตอร์ของทาเคโอะสาขาเมืองไทยอธิบาย

ด้วยวิธีนำโจทย์มาแก้ในหลายระดับ ทาเคโอะจึงเป็นต้นไม้เล็กๆ ที่แตกกิ่งก้านเติบโตต่อได้ไม่หยุด

ทสึโยชิ โองิทสึ (Tsuyoshi Ogitsu)

กระดาษ TAKEO

มองไกลกว่าแค่ตัวเรา

ถ้าลองเสิร์ชเทรนด์ผู้บริโภค หนึ่งในเทรนด์ยุคนี้คือการที่คนซื้ออย่างพวกเราเลือกจ่ายเงินให้แบรนด์ที่ไม่ใช่แค่ขายสินค้า แต่ยังใส่ใจและรับผิดชอบต่อสังคมรอบตัว

หันมามองที่ทาเคโอะ โองิทสึหยิบตัวอย่างกระดาษชนิดหนึ่งของบริษัทมาให้ฉันดู

‘สิ่งแวดล้อม (Environment)’ คือชื่อของมัน

“การทำกระดาษสร้างผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมไม่น้อย ซึ่งถ้าเราสร้างผลกระทบต่อป่ามากเกินไป ก็จะไม่ดีต่อมนุษย์ เราเลยต้องผลิตกระดาษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ไดเรกเตอร์หนุ่มอธิบายตรรกะเรียบง่าย

ในคอลเลกชันกระดาษพิเศษของทาเคโอะประเทศไทยจึงมีกระดาษรีไซเคิลหลากชนิด บ้างเป็นกระดาษรีไซเคิลแบบผสม บ้างเป็นรีไซเคิลร้อยเปอร์เซนต์อย่างเจ้ากระดาษสิ่งแวดล้อมในมือโองิทสึ อ้อ นอกจากรีไซเคิลเยื่อกระดาษมาใช้ใหม่ ทาเคโอะยังร่วมมือกับโรงงานผู้ผลิตกระดาษปลูกป่าทดแทนด้วย

ทั้งหมดนี้คือความรับผิดชอบที่แสดงตัวอยู่ในแผ่นกระดาษของทาเคโอะ

แน่นอน สิ่งนี้สร้างความประทับใจให้คนซื้อได้ไม่ยากเลย

กระดาษชนิดพิเศษ

กระดาษ TAKEO

ไม่หยุดนิ่งตลอด 100 ปีและจากนี้ไป  

พวกคุณทำยังไงให้บริษัทอยู่มาเป็นร้อยปี-ฉันถามโองิทสึเอาดื้อๆ ในท้ายบทสนทนา

เราพยายามตามความต้องการตลาดให้ทันและสร้างตลาดใหม่ คือคำตอบของเขา

เราจึงเห็นบริษัทเก่าแก่นี้ปรับตัวสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่ฟังว่าลูกค้าต้องการกระดาษแบบไหน แต่กระดาษที่ผู้ใช้ยุคนี้ไม่ต้องการแล้ว ก็ย่อมต้องจากไป ต่อให้เป็นกระดาษที่เคยขายดีก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น นอกจากนี้ ก็ยังมีการนำกระดาษเก่ามาปรับโฉมก่อนนำออกขายอีกครั้ง สำหรับในเมืองไทย ทาเคโอะเริ่มขายกระดาษรุ่น VENT NOUVEAU V และสร้างตลาดให้กับ Rough and Gloss ซึ่งเป็นกระดาษชนิดใหม่สำหรับประเทศไทย อีกทั้งยังมีกระดาษแบบปั๊มนูนชื่อ TS ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ถือเป็นความท้าทายในการสร้างค่านิยมใหม่ๆ

มากกว่า 100 ปีที่ผ่านมาจึงไม่ใช่การยืนนิ่งท้าคลื่นลม แต่คือการไปข้างหน้าพร้อมปรับตัวกับคลื่นแต่ละลูกที่ซัดสาดมา

แล้วต่อจากนี้มีเป้าหมายอย่างไร-ฉันถามต่อ

“เราวางแผนอยากจะขยายตลาดสู่ประเทศอื่นมากขึ้น และถ้าในทุกตลาด ทุกสถานที่บนโลก ผมเจอกระดาษของทาเคโอะได้ ผมจะรู้สึกดีมาก เพราะรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของตลาด ของสังคม เป็นการยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของเราช่วยสนับสนุนพวกเขาได้” ชายหนุ่มผู้มาร่วมงานกับทาเคโอะเพราะตกหลุมรักกระดาษของบริษัทนี้บอกฉัน

นี่คือเรื่องราวของบริษัทกระดาษจากแดนอาทิตย์อุทัยที่อยู่กับคนรักกระดาษมาเกินศตวรรษ

และจะอยู่ต่อไป ด้วยความไม่บังเอิญ

TAKEO

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล